กลายเป็นประเด็นที่โลกลูกหนังพูดถึงอย่างกว้างขวางอย่างมากในขณะนี้ กับไอเดียของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ที่ต้องการ “จัดฟุตบอลโลกทุก 2 ปี”
และเมื่อเป็นที่พูดกันมากมายเช่นนี้ ไม่แปลกที่จะมีเสียงวิจารณ์ ทั้งฝ่ายเห็นด้วยหรือแม้แต่เห็นต่าง
ไอเดียนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? ใครจะได้ ใครจะเสีย ? Main Stand จะพามาเจาะลึกถึงที่มาและสิ่งที่อาจเกิดขึ้น หากฟุตบอลโลกต้องจัดทุก 2 ปีขึ้นมาจริง ๆ
แนวคิดนี้มาจากไหน ?
ก่อนอื่นต้องชี้แจงว่า ไอเดีย “ฟุตบอลโลกทุก 2 ปี” นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด เพราะมีการเสนอแนวคิดนี้มานานแล้ว
ถึงตรงนี้คุณ ๆ คงพอเดาได้ว่าจุดแรกเริ่มของไอเดียนี้มาจากใคร … เซปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธาน FIFA จอมอื้อฉาวเจ้าโปรเจ็กต์ชาวสวิสนั่นเอง เขาคิดถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1999 หรือ 1 ปีเท่านั้นหลังขึ้นดำรงตำแหน่งนี้แทน โจอัว ฮาเวลานจ์
“ฟุตบอลโลก 4 ปีมีครั้งน่ะล้าสมัยไปแล้ว มันมาตั้งแต่ยุค 1930s ที่ทีมต้องเดินทางข้ามทวีปด้วยเรือเลยนะ” อดีตประธานจอมโปรเจ็กต์เคยว่าไว้
แนวคิดของแบล็ตเตอร์ในตอนนั้น คือนอกจากฟุตบอลโลกจะจัดแข่งทุก 2 ปี ใน ค.ศ. เลขคู่แล้ว ก็จะปรับโปรแกรมศึกชิงแชมป์ทวีปมาจัดทุก 2 ปี ใน ค.ศ. เลขคี่ไปด้วยเลย โดยถือเป็นรอบคัดเลือกของชาติต่าง ๆ เพื่อไปแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
อย่างไรก็ตามการผลักดันไม่ประสบผล เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลชาติต่าง ๆ ไม่ซื้อไอเดียของแบล็ตเตอร์มากพอ ทำให้แผนดังกล่าวถูกพับไป
แม้จะมีเชื้อไฟปะทุอีกครั้งในปี 2018 โดย อเลฮานโดร โดมิงเกซ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ หรือ CONMEBOL ชาวปารากวัย ที่กล่าวถึงไอเดียฟุตบอลโลกทุก 2 ปีอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า “หากเรายังยึดแนวคิดเดิม นักเตะมากมายคงได้เล่นฟุตบอลโลกแค่ 2 สมัยเท่านั้น” แต่เรื่องก็เงียบไปเช่นเคย
แต่เหตุผลดังกล่าวกลายเป็นสารตั้งต้นให้บุคคลสำคัญในวงการฟุตบอลอีกคน ที่เสนอไอเดียฟุตบอลโลกทุก 2 ปีอีกครั้ง และด้วยชื่อของเขา ถ้าเขาพูดอะไรใคร ๆ ก็ต้องฟัง
เขาคนนั้นคือ อาร์แซน เวนเกอร์ อดีตยอดผู้จัดการทีมของ อาร์เซน่อล ซึ่งปัจจุบันรับงานกับ FIFA ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาฟุตบอลระดับโลก
“ผมเชื่อว่านักเตะล้วนต้องการเล่นเกมใหญ่ และรายการใหญ่ ๆ คือสิ่งที่พวกเขาอยากมีส่วนร่วม หลายคนต้องรอคอยทั้งชีวิตแต่ก็ไม่มีโอกาสได้เล่นฟุตบอลโลก ผมว่าเรื่องนี้ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เพราะประเด็นที่ผมพูดไปเท่านั้น แต่ทุกวันนี้การรับรู้ของผู้คนในเรื่องเวลาเปลี่ยนไป และคนรุ่นใหม่ต้องการอะไรที่มีความบันเทิงมากขึ้น” นี่คือสิ่งที่อดีตกุนซือชาวฝรั่งเศสว่าไว้
เวนเกอร์ยืนยันว่า ความงดงามและคุณค่าของการแข่งขันขึ้นอยู่กับคุณภาพของการแข่งขัน มากกว่าระยะเวลาของการรอคอย การแข่งขันทุก 2 ปี จะทำให้เกมทีมชาติมีความเข้มข้นและเป็นที่น่าจดจำมากกว่า
ใครจะได้ ?
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแนวคิดการจัดฟุตบอลโลกทุก 2 ปี นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและเผ็ดร้อน ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายสนับสนุนนั้นมีอยู่ไม่น้อย
ฝ่ายที่ไม่ว่าอย่างไรเสียก็ได้ประโยชน์แน่ ๆ ก็หนีไม่พ้นทาง FIFA เอง เพราะทุกคนทราบดีว่า ฟุตบอลโลกเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
แค่ยกตัวอย่างการแข่งขันครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 ก็ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนแล้ว เพราะฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซีย ทำเงินให้ FIFA สูงถึง 5.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 178,000 ล้านบาท หักลบค่าใช้จ่าย 1.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 60,000 ล้านบาท เท่ากับว่า FIFA ได้กำไรเน้น ๆ ถึง 3.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 117,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ซึ่งอันที่จริงไม่ต้องยกตัวเลขมาให้ดูก็คงเห็นภาพว่า การเพิ่มความถี่ในการแข่งขันคือโอกาสในการสร้างรายได้อันมหาศาลให้เกิดบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งฝ่ายที่จะได้ประโยชน์สูงสุดก็หนีไม่พ้น FIFA นั่นเอง
นอกจากนี้หลายชาติก็จะได้ประโยชน์จากไอเดียนี้เช่นกัน เพราะการมีฟุตบอลโลกทุก 2 ปี เท่ากับว่าพวกเขาจะมีโอกาสได้ลุ้นไปเล่นในรอบสุดท้ายมากขึ้น เช่นเดียวกับชาติที่มีแนวคิดเสนอตัวเป็นเจ้าภาพที่จะมีลุ้นมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ซึ่งถึงตอนนี้ ไอเดียฟุตบอลโลกทุก 2 ปีได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา หรือ CAF รวมถึงอีกหลายชาติในทวีปเอเชีย ทำให้ FIFA ไม่หัวเดียวกระเทียมลีบอีกต่อไป
และอีกกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ก็หนีไม่พ้น สโมสรฟุตบอล เพราะนอกจากไอเดียฟุตบอลโลกทุก 2 ปีแล้ว อาร์แซน เวนเกอร์ ยังเสนออีกว่า การปรับเปลี่ยนช่วงเบรกทีมชาติเสียใหม่ จากเดิมที่แบ่งเป็นช่วงเล็ก ๆ 5 ช่วง ในเดือนมีนาคม, มิถุนายน (ซึ่งบางปีตรงกับรอบสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์ทีมชาติ), กันยายน, ตุลาคม, พฤศจิกายน มาเป็นเบรกใหญ่ 2 ช่วงต่อปี และตัดพวกโปรแกรมทีมชาติอย่าง เนชั่นส์ ลีก ออกไป จะช่วยให้สโมสรต่าง ๆ พอใจที่จะปล่อยนักเตะมาร่วมทีมชาติมากกว่า
เพราะแม้เบรกทีมชาติแต่ละช่วงจะนานขึ้น แต่พวกเขาจะเจอกับการขัดจังหวะน้อยลง ทำให้สามารถโฟกัส วางแผนงานรับมือเกมตรงหน้าได้อย่างราบรื่นขึ้น อีกทั้งนักเตะก็น่าจะกลับมาฟิตสมบูรณ์พร้อมรับมือศึกหนักได้ดีขึ้น เพราะอดีตนายใหญ่ของทีมปืนใหญ่ ยังเสนอให้มีช่วงพักร้อน 25 วันหลังเกมทีมชาติ เพื่อฟื้นสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนกลับมาแข่งเกมลีกอีกครั้งอีกด้วย
ใครจะเสีย ?
เมื่อมีฝ่ายที่ได้ประโยชน์ ก็ย่อมมีฝ่ายเสียประโยชน์ จึงไม่แปลกที่จะมีผู้คัดค้านไอเดียการจัดฟุตบอลโลกทุก 2 ปีอยู่ด้วย
ฝ่ายที่เสียผลประโยชน์และออกมาคัดค้านอย่างหนักหน่วงที่สุด คือ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ UEFA ซึ่งไอเดียของ FIFA กระทบต่อพวกเขา ทั้งกับฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร ที่จะต้องขยับออกไปไม่ให้ชนกับฟุตบอลโลก ซึ่งเตรียมแทรกเพิ่มในปีที่มีการแข่งขันปกติ รวมถึง เนชั่นส์ ลีก ที่ อาร์แซน เวนเกอร์ เสนอให้ยกเลิกไปเลยอีกด้วย
“ฟุตบอลโลกทุก 2 ปีจะสร้างความเสียหายให้กับวงการฟุตบอลในทุกรูปแบบ ทั้งลดคุณค่าชองการแข่งขัน ทำให้แฟนบอลเสียเปรียบทางการเงิน และขัดขวางการพัฒนาฟุตบอลหญิงและเยาวชนทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีเหตุผลมากมายที่สโมสร ลีก และแฟนบอลจะต่อต้านมัน” แถลงการณ์ของ UEFA ระบุ
ข้อความข้างต้นอาจทำให้หลายคนสงสัย ไหนตอนแรกบอกว่าสโมสรจะได้ประโยชน์ แล้วทำไม UEFA ถึงพูดเช่นนี้ ? ช่วงเบรกทีมชาติที่น้อยครั้งแต่ยาวนานกว่าเดิมอาจเป็นคำตอบ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ปัญหาคลาสสิก “สโมสร vs ทีมชาติ” อาจรุนแรงขึ้น จากการที่ช่วงทีมชาติและเบรกพัก ไปเบียดบังช่วงเวลาที่เตรียมความพร้อมของนักเตะมากกว่าเดิม
ขณะเดียวกันรูปแบบการแข่งขันในรอบคัดเลือกที่อาจต้องเปลี่ยนไป โดยในหลายโซนอาจต้องมีรอบคัดเลือกเบื้องต้นก่อน (เช่นเดียวกับที่ทวีปเอเชียทำอยู่ในตอนนี้) อาจเป็นการตัดโอกาสของชาติเล็ก ๆ ในการได้เจอกับชาติยักษ์ใหญ่เพื่อพัฒนาฝีเท้าผ่านการลงสนามจริงเช่นกัน
อีกฝ่ายที่ดูจะเสียผลประโยชน์ก็คือ นักฟุตบอล โดยหนึ่งคนที่ออกมาส่งเสียงแล้วคือ ธิโบต์ กูร์กตัวส์ ผู้รักษาประตูทีมชาติเบลเยียมและ เรอัล มาดริด
“เรามีโปรแกรมลงสนามมากเกินไป นักเตะเจ็บคนแล้วคนเล่า แต่ดูจะไม่มีใครสนใจพวกเราเลย คุณได้ยินแล้วใช่ไหมว่าพวกเขาอยากให้มีศึกยูโรกับฟุตบอลโลกจัดสลับกันทุกปี แล้วเมื่อไหร่พวกเราจะได้พัก ? ไม่น่าจะมีวัน สุดท้าย นักเตะเก่ง ๆ ก็คงเจ็บกันตลอดเวลา และนั่นจะทำให้ทุกอย่างพังกันหมด เราไม่ใช่หุ่นยนต์นะเว้ย”
นอกจากนี้ มหกรรมกีฬาโอลิมปิก อาจเป็นอีกฝ่ายที่เสียผลประโยชน์ โดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ได้ออกมาวิจารณ์แนวคิดดังกล่าวแล้ว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหากจัดฟุตบอลโลกทุกปี ค.ศ. เลขคู่ ก็จะชนกับโอลิมปิกแบบเต็ม ๆ หรือหากฟุตบอลโลกจะไปจัดปี ค.ศ. เลขคี่ ศึกชิงแชมป์ทวีปก็ชนโอลิมปิกอยู่ดี และก็น่าคิดเช่นกันว่า กระแส “เวิลด์คัพ ฟีเวอร์” ก็อาจทำให้กีฬาอื่น ๆ ต้องเสียผลประโยชน์จากไอเดียดังกล่าวด้วย
“เทนนิส, จักรยาน, กอล์ฟ, ยิมนาสติก, ว่ายน้ำ, กรีฑา, F1 และกีฬาอื่น ๆ อีกมากมายจะได้รับผลกระทบจากการมีฟุตบอลโลกบ่อยครั้งขึ้น นี่จะเป็นการบ่อนทำลายความหลากหลาย และพัฒนาการของกีฬาอื่น ๆ ซึ่งดูจะมีแค่ฟุตบอลกีฬาเดียวเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้” IOC ระบุผ่านแถลงการณ์
บทสรุปที่ยังไม่มีคำตอบ
ถึงตรงนี้คงมีคำถามว่า แล้วแฟนบอลอย่างเรา ๆ จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากไอเดียฟุตบอลโลกทุก 2 ปี ? ซึ่งก็มีทั้งผลดีและผลเสีย
แน่นอนว่าแฟนบอลล้วนอยากเห็นเกมฟุตบอลที่เข้มข้น การมีรายการใหญ่เช่นฟุตบอลโลกทุก 2 ปี ทำให้ได้ดูเกมลูกหนังสนุก ๆ จนตาแฉะกันเลยทีเดียว
แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วย เพราะมีแฟนบอลจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่รู้สึกว่า การมีฟุตบอลโลกทุก 2 ปี จะทำให้พวกเขามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่ไหว สุดยอดอีเวนต์ที่หลายคนใฝ่ฝันอาจเจอกับภาพแฟนบอลไม่เต็มสนาม และคุณภาพการแข่งขันที่เมื่อเกิดขึ้นจริงอาจไม่ดีอย่างที่คิด
สภาพ ณ ขณะนี้ จึงเป็นภาวะเสียงแตก มีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ฝ่ายเสนอไอเดียฟุตบอลโลกทุก 2 ปีนี้ ได้เปิดเผยแค่เพียงคอนเซ็ปต์หลักเท่านั้น ยังไม่ได้นำเสนอพิมพ์เขียวรูปแบบการแข่งขันที่ชัดเจนว่าจะออกมาเป็นแบบไหน รายการชิงแชมป์ทวีปจะต้องขยับอย่างไร หรือแม้กระทั่งช่วงเบรกทีมชาติที่น้อยครั้งลงแต่ยาวนานขึ้น แถมยังมีช่วงพักให้นักเตะอีก จะออกมาอย่างไร
อาร์แซน เวนเกอร์ เคยกล่าวว่า เรื่องทุกอย่างน่าจะได้ข้อสรุปในเดือนธันวาคม 2021 แต่จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ไม่น่าเป็นไปได้ที่เรื่องนี้จะได้ข้อสรุปในระยะเวลาอันสั้น
ตารางการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาติ ณ เวลานี้ มีพิมพ์เขียวที่ชัดเจนแล้วอย่างน้อย ๆ ก็ถึงฟุตบอลโลก 2026 ที่สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และเม็กซิโกเป็นเจ้าภาพร่วม และอาจลากยาวถึงปี 2028 ที่มีศึกยูโร ดังนั้นพิมพ์เขียวใหม่จึงน่าจะได้ใช้งานจริงเร็วสุดในฟุตบอลโลก 2030
ถึงตรงนี้การโหวตเพื่อเปลี่ยนแปลงกำหนดการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกอาจเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดในปี 2022 กว่าจะถึงตรงนั้น FIFA คงต้องรีบศึกษาให้ตกผลึก และเปิดเผยรูปแบบของการแข่งขัน รวมถึงปฏิทินทีมชาติและสิ่งอื่น ๆ โดยเร็ว
ฟุตบอลเป็นกีฬาของคนทั้งโลก และหากการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น แม้ทุกฝ่ายอาจต้องเสียประโยชน์ไปบ้าง แต่ก็ควรจะต้องได้ประโยชน์มากกว่าสิ่งที่เสียไปเช่นกัน