sportpooltoday

“โฮเซ่ หลุยส์ ชิลาเวิร์ต” : นายทวารคนแรกที่ตั้งคำถามว่า “ทำไมโกลขึ้นมายิงฟรีคิกไม่ได้?”


"โฮเซ่ หลุยส์ ชิลาเวิร์ต" : นายทวารคนแรกที่ตั้งคำถามว่า "ทำไมโกลขึ้นมายิงฟรีคิกไม่ได้?"

“ตลอดอาชีพค้าแข้ง โฮเซ่ หลุยส์ ชิลาเวิร์ต ยิงประตูได้ 60 ลูกจากการเล่นตำแหน่งผู้รักษาประตู และมันน่าเหลือเชื่อที่ประตูที่เขายิงได้มาจากฟรีคิกมากกว่าการยิงจุดโทษ”

นี่คือคำกล่าวชื่นชมถึง โฮเซ่ หลุยส์ ชิลาเวิร์ต ตำนานประตูทีมชาติปารากวัย ผู้สร้างเทรนด์ใหม่ของโลกฟุตบอลในยุค 90s

จากเดิมที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นโกลเเค่เซฟได้ก็พอแล้ว ชิลาเวิร์ต เริ่มตั้งคำถามและแก้สมการนี้ได้ด้วยตัวเอง

ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่

ความมันยุค 90s

ไม่มีใครเถียงแน่นอนหากคุณจะบอกว่าศาสตร์ของโลกฟุตบอล ณ เวลานี้เดินทางมาไกลมาก ๆ จากเมื่อสัก 20-30 ปีก่อน ฟุตบอลปัจจุบันเป็นเรื่องของคุณภาพนักเตะ ระบบ วิธีการ ความเข้าใจเกม และการเล่นเป็นทีม สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นหลายทีมที่เล่นฟุตบอลได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจบนมาตรฐานที่สูงลิบ อาทิ ยอดทีมแห่งยุคอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา และ ลิเวอร์พูล ของ เยอร์เกน คล็อปป์

1ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมาแม้มันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ของเรื่องมาตรฐานที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน ทว่าในอีกมุมหนึ่งฟุตบอลยุคปัจจุบันได้ “ฆ่า” บางสิ่งบางอย่างหรืออาจจะหลายสิ่งหลายอย่างจากฟุตบอลยุค 90s ไปเรียบร้อยเเล้ว เช่น นักเตะหมายเลข 10 ที่เป็นนักฟุตบอลเซนส์สูงแต่เป็นศิลปินลูกหนังวิ่งน้อย หรือการเล่นฟุตบอลตามความรู้สึกของตัวเองมากกว่าทำหน้าที่ตามโค้ชสั่ง เช่น ฮริสโต สตอยคอฟ สุดยอดตัวรุกชาวบัลแกเรียที่มีปัญหากับ เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน สมัยอยู่บาร์เซโลน่า และชัดเจนที่สุดอย่าง ดิเอโก้ มาราโดนา ที่เป็นพระเจ้าและอยู่ในสถานะจะเล่นแบบไหนก็ได้ตอนที่เขาอยู่กับนาโปลี

นอกจากตำแหน่งเบอร์ 10 แล้ว สิ่งที่หายไปจากฟุตบอลยุค 90s ยังมีอีกไม่น้อย มิดฟิลด์ฮาร์ดแมนตัวเตะแหลกเล่นทั้งบอลเล่นทั้งคนพร้อมมีเรื่อง กองหน้าเบอร์ 9 ที่ปักหลักรอเล่นลูกกลางอากาศเพียงอย่างเดียว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เราจะพูดถึงในวันนี้นั่นคือการใช้ผู้รักษาประตูมายิงฟรีคิกหรือแม้กระทั่งยิงจุดโทษ 

เมื่อฟุตบอลเป็นระบบระเบียบชัดเจน การปล่อยให้เกิดความเสี่ยงเพียงน้อยนิดคือสิ่งที่โค้ชทุกคนไม่มีทางยอมให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ และการใช้ผู้รักษาประตูขึ้นมาเป็นคนเตะลูกนิ่งทั้งฟรีคิกและจุดโทษถือเป็นความเสี่ยง … ในระดับที่มากพอที่คุณจะไม่ได้เห็นการทำแบบนี้เลยในทุกวันนี้ 

“เอแดร์สันเป็นคนที่ดีที่สุด เชื่อผมสิ เขาเป็นคนยิงจุดโทษที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ เขาเลือดเย็น เขานิ่งมาก เขาทำได้แน่นอน” เป๊ป กวาร์ดิโอลา เคยพูดถึงมือยิงจุดโทษที่ดีที่สุดในทีมของเขา ก่อนเขาจะบอกชื่อของ เอเเดร์สัน ที่เป็นผู้รักษาประตู … ทว่าถึงอย่างนั้น เอเเดร์สัน ก็ไม่เคยได้โอกาสยิงจุดโทษในเวลา 90 นาทีเลยแม้แต่ครั้งเดียว … นี่แหละคือความละเอียดและมีระเบียบของฟุตบอลยุคปัจจุบัน ซึ่งมันทำให้เราไม่มีโอกาสได้เห็นผู้รักษาประตูในเกมระดับสูงขึ้นมาเตะลูกนิ่งเหมือนที่ โฮเซ่ หลุยส์ ชิลาเวิร์ต นายทวารตำนานทีมชาติปารากวัย เคยทำเอาไว้

กำเนิดนายทวารจอมยิงฟรีคิก 

โฮเซ่ หลุยส์ ชิลาเวิร์ต เป็นนักเตะตามแบบฉบับอเมริกาใต้ขนานแท้ นั่นคือต้องผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็กจากปัญหาความยากจน โดยตัวเขานั้นเคยให้สัมภาษณ์ว่าในหมู่บ้านของเขาที่เมืองลูเก้ ประเทศปารากวัย ที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำปศุสัตว์อย่างเลี้ยงวัวนมและวัวเนื้อนั้น  เด็กคนไหนมีรองเท้าใส่คือเท่แบบสุด ๆ ยิ่งมีรองเท้าฟุตบอลยิ่งเท่ระดับสิบ เพราะตัวของ ชิลาเวิร์ต เองก็ยอมรับว่าเขาต้องเดินเท้าเปล่าจนถึงอายุ 7 ขวบ ถึงจะได้รองเท้าผ้าใบมือสองต่อจากพี่ชายเอามาใส่เป็นรองเท้าคู่แรกที่จำได้ไม่ลืม

2คาแร็กเตอร์ของ ชิลาเวิร์ต คือเป็นคนที่ตัวใหญ่กว่าคนอื่น ๆ มาตั้งแต่เด็ก เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นหัวหน้าแก๊งก็คงไม่ผิดนัก และคาแร็กเตอร์นี้ก็ติดตัวเขาเรื่อยมาจนกระทั่งได้เล่นฟุตบอลครั้งแรก เขามาเป็นนักเตะเยาวชนของทีม สปอร์ติโว่ ลูเกนโญ่ (Sportivo Luqueño) และ โมเดสโต้ ซานโดวัล (Modesto Sandoval)

เรื่องราวของเขาในสมัยที่เล่นในลีกปารากวัยนั้นไม่ได้ปรากฏชัดเจนนัก มีแต่เพียงคำบอกเล่าว่าเขาเป็นผู้รักษาประตูในแบบที่เล่นในยุโรปได้ ตัวใหญ่ (สูง 188 เซ็นติเมตร) มีความเป็นผู้นำ มีปฏิกิริยาที่ดีพอใช้ และออกมาตัดลูกกลางอากาศได้ดี  

ซึ่งตัว ชิลาเวิร์ต เองก็ขยายความว่าตัวของเขานั้นแม้จะเป็นผู้รักษาประตูมาตั้งแต่เล่นให้ทีมเยาวชน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทำมาตลอดคือเวลาที่ทีมได้ฟรีคิกหรือลูกจุดโทษคือเขาจะเป็นคนอาสายิงเป็นคนแรก เขาจะรีบวิ่งผ่านเส้นกลางสนาม และมาคุยกับคนที่กำลังตั้งท่าจะยิง จากนั้นก็ใช้อภิสิทธิ์ของความเป็นหัวหน้าแก๊งเอาสิทธิ์ในการยิงลูกนิ่งนั้นมา 

ช่วงนั้นไม่มีใครว่าเขาได้เท่าไหร่นัก เพราะเขาไม่ได้เล่นในระดับสูง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเยาวชนที่เน้นเรื่องการพัฒนาคาแร็กเตอร์และฝีเท้าของนักเตะมากกว่าเรื่องของผลการแข่งขันก็ยิ่งไม่มีใครห้ามเขาได้ ชิลาเวิร์ต วิ่งขึ้นมาจับจองสิทธิ์ทุกครั้งที่มีโอกาส และน้อยครั้งมากที่เขาจะยอมวิ่งกลับมาที่ปากประตูของตัวเองโดยที่เท้าไม่ได้สัมผัสลูกฟุตบอล

วิธีการเล่นแบบนั้นบวกกับการมีมาตรฐานในการใช้มือที่เป็นหน้าที่หลัก ทำให้ชิลาเวิร์ตได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งฝีมือและฝีเท้าของเขาก็ไปไกลกว่าที่เคย เรื่องดังกล่าวดังไกลไปถึงสเปน และทำให้ เรอัล ซาราโกซา ทีมในลีกสูงสุด (ลา ลีกา) ณ เวลานั้นยอมซื้อตัวเขาไปร่วมทีมด้วยราคาสถิติสโมสร ในปี 1988 

3ชิลาเวิร์ต ไปที่นั่นด้วยทัศนคติแบบเดิม แม้ ซาราโกซา จะซื้อเขามาเพราะอยากให้เขาเซฟประตู แต่ ชิลาเวิร์ต บอกว่าของแบบนี้มันต้องแพ็คคู่กันไป อยากให้เขาเซฟก็ต้องให้เขาเป็นคนยิงลูกนิ่งด้วย เพียงแต่ว่าการเเข่งระดับลา ลีกา นั้นไม่ได้เปิดกว้างให้เขาทำอะไรตามใจชอบได้อย่างที่ปารากวัยบ้านเกิดของเขา ซึ่งจุดนี้ ชิลาเวิร์ต ก็ยอมบ้างไม่ยอมบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่มีความสุขเท่าไรนัก 

“แฟนบอลที่นั่นกรี๊ดคอแทบแตกเวลาเห็นผมตั้งท่าจะวิ่งออกจากโกลไปขอนักเตะคนอื่นยิงฟรีคิก พวกเขาบอกว่า เฮ้ย เอ็งรีบกลับไปเฝ้าประตูเลยโว้ย แล้วบังเอิญว่าผมเองก็ไม่ชอบฟังเสียงนกเสียงกาซะด้วย ผมก็แค่มั่นใจว่าให้ผมขึ้นไปยิงเหอะ ผมทำได้ดีแน่ ๆ” ชิลาเวิร์ต กล่าว

ทางแก้ของ ชิลาเวิร์ต ไม่ใช่การโต้เถียงและด่าใครผ่านสื่อ เขากลับไปแสดงให้เห็นการยิงฟรีคิกของเขาแบบที่ตัวเองถนัดตลอดการซ้อมของทีม จนทำให้เมื่อการซ้อมทำออกมาได้ดีแล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ใครจะขวางทางเขา เมื่อเขาเป็นคนยิงฟรีคิกได้ดีที่สุดในทีม แล้วทำไมเขาถึงจะทำได้แค่ยืนดูผู้เล่นคนอื่นยิง ?

“ผมเอาจริงมาก ผมรีบกลับไปซ้อมให้หนักกว่าที่เคย ซ้อมทั้งยิงจุดโทษ ซ้อมทั้งยิงฟรีคิก ผมซ้อมจนชนิดที่ว่าต้องทำให้คนอื่นยอมและบอกว่าให้ผมเป็นคนยิงลูกนิ่งตัวหลัก … นี่แหละงานของผม” ชิลาเวิร์ต ที่ยืนยันว่าเขาซ้อมฟรีคิก 120 ลูก และมีถึง 80 ลูกที่เข้าประตูแน่ ๆ จากทุกระยะ 

แม้จะพูดไว้ดิบดีแต่ความจริงก็คือความจริง เพราะฟรีคิกไม่ใช่ของง่าย จะให้ยิงดีแค่ไหนแต่ถ้าไม่เข้าก็คือไม่เข้า ในเกมระดับลา ลีกา หาก ชิลาเวิร์ต ยิงฟรีคิกไม่เข้าและคู่แข่งได้บอลสวนกลับมา มันมีโอกาสที่ทีมของเขาจะเสียประตูได้ง่าย ดังนั้น ชิลาเวิร์ต จึงได้เล่นในสเปนแค่ 3 ปีเท่านั้น โดยยิงไป 1 ลูก และในปีสุดท้ายที่เขาอยู่กับซาราโกซา เขาได้ลงเล่นแค่ 7 เกมเท่านั้น

ไม่อยากใช้ก็ไม่ต้องใช้ ไม่อยากไว้ใจไม่ใช่ปัญหา ชิลาเวิร์ต ขอกลับไปค้าแข้งที่อเมริกาใต้อีกครั้ง เพราะเขาเชื่อว่าที่นั่นคือฟุตบอลในแบบที่ทำให้เขามีความสุข และต่อให้ไม่ใช่ลีกใหญ่ระดับโลก แต่ตราบใดที่เขายังได้เล่นฟุตบอลในแบบที่เขาอยากเล่น สิ่งนั้นต่างหากที่สำคัญที่สุด 

4ชิลาเวิร์ต ย้ายกลับมาเล่นที่ เบเลซ ซาร์สฟิลด์ ทีมในระดับลีกสูงสุดของอาร์เจนตินา ที่นั่นเขากลายเป็นตำนานและเป็นกัปตันทีมที่แฟนบอลทุกคนรักเป็นอย่างมาก ไม่มีอีกเเล้วการตะโกนให้ ชิลาเวิร์ต ถอยกลับมาเฝ้าเสาเพราะกลัวโดนสวนกลับ ทุกคนที่นี่ยอมรับเขาจากใจจริง เมื่อทีมได้ฟรีคิกระยะได้ลุ้นหรือจุดโทษ พวกเขาแทบจะกวักมือเรียก ชิลาเวิร์ต มายิงเลยด้วยซ้ำไป นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมช่วงปี 1997-98 ชิลาเวิร์ต ถึงซัดไปถึง 12 ลูกจากการลงสนาม 35 นัด

สถิติเหมือนกับกองหน้าแต่ว่าเล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูแบบนี้ทำให้เขาดังระเบิดโดยเฉพาะวันที่ฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศสมาถึง … ทุกคนได้เห็น ชิลาเวิร์ต เล่นแบบที่กล่าวมาทั้งหมด … นี่คือเกมระดับฟุตบอลโลก แต่ปารากวัยก็พร้อมเสี่ยง และ ชิลาเวิร์ต เองก็พร้อมรับหน้าที่ด้วยความมั่นใจ แน่นอนว่าเรื่องนี้มีที่มา

ทำไม ชิลาเวิร์ต จึงยิงลูกนิ่งโหดนัก? 

ประการแรกอย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น ของทั้งหมดเกิดจากการซ้อมอย่างหนักโดยเฉพาะการฝึกเฉพาะทางที่ทำซ้ำ ๆ ทุกวัน ชิลาเวิร์ต ซ้อมแบบผู้รักษาประตูเสร็จ ก็มาซ้อมยิงฟรีคิกและจุดโทษอีกก่อนกลับบ้าน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ทุกคนยอมรับการยิงของเขาว่ามันมีคุณภาพจริง ๆ ไม่ใช่ให้เขายิงเพราะเกรงใจในความเป็นรุ่นใหญ่หรือกัปตันทีมอะไรแบบนั้น 

5Marius Fischer นักวิเคราะห์ฟุตบอลเคยนั่งคิดนั่งวิเคราะห์ว่าทำไมนักเตะอย่าง ชิลาเวิร์ต จึงยิงฟรีคิกเข้าบ่อยนัก โดยเขาได้เปิดย้อนฟรีคิกทั้งหมด 20 ประตู (ยิงจุดโทษได้อีก 42 ประตู) และเขาพบว่ามันไม่ใช่เรื่องของการพยายามสร้างคาแร็กเตอร์หรือความบังเอิญแต่อย่างใด 

ฟิสเชอร์พบว่าทุกลูกที่ ชิลาเวิร์ต ยิงจะเป็นการยิงแบบเต็มเท้าและติดไซด์โป้งทุกลูก 100% ทุกลูกที่ยิงได้ใช้ความแรงเป็นหลัก และแตกต่างจากการเตะด้วยข้างเท้าสไตล์ เดวิด เบ็คแฮม อย่างสิ้นเชิง 

สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่านอกจากความกล้าและการซ้อมหนักแล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือการจับจุดและเข้าใจวิธีการยิงของตัวเองอย่างถ่องแท้  

“การยิงฟรีคิกของ ชิลาเวิร์ต เป็นอะไรที่แปลกมาก ทุกประตูที่มาจากฟรีคิกของเขามาจากการวางเท้าและลูกบอลก็พุ่งเป็นลักษณะเดียวกันหมดนั่นคือการติดไซด์โป้งจากเท้าซ้าย ถ้ามีกำแพงก็คือการยิงอ้อมกำแพงมากกว่าจะเป็นการยิงอัดไปยังมุมที่เปิดกว้าง”

“ผมว่ามันไม่ใช่มุกตลกหรือเรื่องการตลาดอะไรหรอก เขายิงได้ก็เพราะว่าเขาเป็นคนที่มีเทคนิคยิงฟรีคิกที่ยอดเยี่ยมและบังเอิญเขาเป็นผู้รักษาประตูเท่านั้นแหละ” ฟิสเชอร์ ว่าไว้เช่นนั้น 

6ประการที่สองคือ ชิลาเวิร์ต คือผู้รักษาประตูผู้มาก่อนกาล เขามองอะไรแตกต่างกับผู้รักษาประตูในช่วงปลายยุค 80s ต่อ 90s อย่างชัดเจน เขาเชื่อว่าผู้รักษาประตูไม่จำเป็นจะต้องยืนบนเส้นและคอยเอามือปัดบอลไม่ให้บอลเข้าโกลเท่านั้น แต่ผู้รักษาประตูควรจะใช้เท้าได้ดี ควรมีโอกาสได้ใช้ปฏิภาณไหวพริบในการออกบอล หรือแม้กระทั่งการเสี่ยงทำอะไรยาก ๆ เช่น การยิงจากเเดนตัวเองดู … ซึ่ง ชิลาเวิร์ต ก็เคยมาเเล้ว 

เกมดังกล่าวเกิดขึ้นสมัยเขาเล่นให้ ซาร์สฟิลด์ ในเกมพบกับ ริเวอร์เพลท ทีมหัวแถวของประเทศ โดยในเกมนั้นมี โรมัน บูร์โกส ผู้รักษาประตูดีกรีทีมชาติอาเจนตินาเป็นนายด่านของ ริเวอร์เพลท อยู่ด้วย 

จังหวะนั้น ซาร์สฟิลด์ ได้ฟาวล์จากระยะ 60 หลา ผู้เล่นของ ซาร์สฟิลด์ ยังนอนเจ็บอยู่ ขณะเดียวกัน ชิลาเวิร์ต ก็รีบวิ่งออกมาจากหน้าประตูในช่วงที่ทุกคนกำลังสนใจคนเจ็บ จากนั้นเขาก็ยิงเปรี้ยงเดียวจากตรงนั้น บอลลอยข้ามหัว บูร์โกส เข้าไปอย่างพอดีเป๊ะระดับเช็ดคานเข้าเลยทีเดียว


“การยิงไกลไม่ใช่เรื่องของดวง มันคือเรื่องของความเสี่ยงที่ต้องแบกรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตำแหน่งของผม นักเตะบางคนอาจจะยิงไกลแบบนี้เข้าประตูไปบ้าง แต่มันเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญเป็นส่วนใหญ่ แต่ของผมมันแตกต่างออกไป ผมเห็น บูร์โกส เดินออกมาไกลเกือบ ๆ นอกกรอบ เท่านั้นผมก็รูแล้วว่าผมต้องทำยังไง” ชิลาเวิร์ต เล่า 

“ผมวิ่งอย่างเร็วจี๋จากหน้าปากประตูตัวเอง จังหวะนั้นกรรมการยืนขวางบอลดูคนเจ็บอยู่เลยด้วยซ้ำ พอใกล้จะถึงผมตะโกนบอกกรรมการว่า “หลบโว้ย” โชคดีที่กรรมการได้ยินแล้วหลบให้ผม เพราะถ้าเขาไม่หลบเขาโดนผมเตะอัดกระเด็นเข้าโกลแทนบอลแน่นอน” 

“ตอนแรกผมคิดว่าผมอาจจะเตะแรงจนบอลมันโด่งไปหน่อย แต่สักพักบอลมันฮุกลงไวมาก กว่าที่ บูร์โกส จะรู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว ลูกยิงลูกนั้นเเม้แต่นักเตะของ ริเวอร์เพลท ยังอดดีใจกับผมไม่ได้เลยด้วยซ้ำ” ชิลาเวิร์ต กล่าว 

8
9และท้ายที่สุดเหตุผลที่ทำให้ ชิลาเวิร์ต เป็นยอดนักยิงฟรีคิกจากตำแหน่งผู้รักษาประตูได้ นั่นคือการทำหน้าที่หลักได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หน้าที่ของผู้รักษาประตูคือการป้องกัน เขาทำมันได้ดี และมันไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะลองคิดต่อยอดจากสิ่งที่เป็นเพื่อทำให้ผลงานนั้นออกมาดียิ่งกว่าเดิม 

แม้ภาพจำของ ชิลาเวิร์ต อาจจะมาจากการยิงฟรีคิก แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเขาเป็นผู้รักษาประตูที่ดีคือการคว้ารางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมของโลก ในปี 1995, 1997 และ 1998 รวมทั้งหมด 3 สมัย เป็นรองเพียง อิเคร์ กาซิยาส, จานลุยจิ บุฟฟ่อน และ มานูเอล นอยเออร์ (5สมัย) เท่านั้น 

10ก่อนที่จะทำในสิ่งที่หวือหวาจงอย่าลืมถามตัวเองว่าพื้นฐานแน่นหรือยัง? นี่คือทั้งหมดที่ ชิลาเวิร์ต สะท้อนมันออกมาผ่านอาชีพค้าแข้งของเขา ผู้รักษาประตูทำไมจะเล่นด้วยเท้าไม่ได้ ทำไมจะยิงจุดโทษไม่ได้ และทำไมจะขึ้นมายิงฟรีคิกไม่ได้? เขาคิดคำถามนี้และหาคำตอบให้กับมันได้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง