จบลงไปแล้วสำหรับ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2021 ที่ท้ายที่สุด กลายเป็น เซเนกัล ที่แม่นกว่า หลังดวลจุดโทษเอาชนะ อียิปต์ ไปได้ 4-2 คว้าแชมป์สมัยแรกไปครองได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน ก็มีทีมที่คว้าแชมป์ครั้งแรกได้เช่นกัน นั่นคือแอฟริกาใต้ เพียงแต่ว่าแชมป์ครั้งนั้น ไม่ได้ทำให้พวกเขาสร้างประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ หลังยุคการแบ่งแยกสีผิว
เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ยุคมืดของฟุตบอล
แม้จะเป็นชาติอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน แต่ในอดีตฟุตบอลของแอฟริกาใต้ ได้แต่ซ่อนตัวอยู่หลังอิทธิพลของรักบี้ โดยเฉพาะในช่วงที่พวกเขาใช้นโยบายถือผิว (Apartheid) นโยบายที่แบ่งแยกคนผิวขาวและคนดำออกจากในช่วงทศวรรษที่ 1940s-1990s
มันคือนโยบายหลักของพรรคแห่งชาติ (National Party) พรรคการเมืองขวาจัด ที่เน้นความยิ่งใหญ่ของคนผิวขาว หลังชนะการเลือกตั้งในปี 1948 ที่ทำให้คนผิวขาวซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศถูกจัดอยู่ในสถานะสูงสุด
ขณะที่คนผิวดำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ กลับอยู่ในลำดับต่ำสุด พวกเขาไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ของคนผิวขาวได้ รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการศึกษา พยาบาล บริการสาธารณะ และสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ในแบบเดียวกับคนผิวขาว ซึ่งสร้างความเจ็บแค้นให้กับคนผิวดำเป็นอย่างมาก
แน่นอนว่าฟุตบอลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ด้วยนโยบายถือผิว ทำให้ในตอนนั้นแอฟริกาใต้ มีสมาคมฟุตบอล 2 สมาคมที่แยกออกจากกัน นั่นคือสมาคมฟุตบอลแอฟริกาใต้ (South Africa Football Association – SAFA) ที่ก่อตั้งโดยคนผิวขาว และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และสหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกาใต้ (South African Soccer Federation – SASF) ที่เป็นของคนผิวดำ และไม่ได้การรับรอง
ทั้งนี้ การมีสมาคมฟุตบอล 2 สมาคม ก็ทำให้พวกเขามีปัญหา เพราะแม้ว่า SAFA จะได้เป็นตัวแทนของฟีฟ่า ร่วมกับ เอธิโอเปีย อียิปต์ และซูดาน ในการก่อตั้งสมาพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา (Confederation of African Football – CAF) เมื่อปี 1956 แต่ด้วยความที่พวกเขายืนยันที่จะส่งทีมที่มีผู้เล่นผิวขาวล้วนลงแข่งใน แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ครั้งแรก ทำให้ แอฟริกาใต้เขาถูกแบนออกจากการแข่งขันของปี 1957
นอกจากนี้ในปี 1958 แอฟริกาใต้ยังถูกขับออกจาก CAF ก่อนถูกฟีฟ่าแบนในปี 1961 อันเนื่องมาจากนโยบายแบ่งแยกสีผิว แม้ว่าฟีฟ่าจะปลดแบนชั่วคราวเมื่อปี 1963 แต่สุดท้ายแอฟริกาใต้ก็ถูกแบนยาวตั้งแต่ปี 1964 ก่อนจะถูกขับออกจากฟีฟ่าในปี 1976 จากการกระทำที่โหดร้ายในเหตุการณ์ “การประท้วงที่โซเวโต” การประท้วงของนักเรียนที่มีคนผิวดำเสียชีวิตกว่าหลายร้อยคน
หลังจากนั้นพวกเขาก็อยู่ในสภาวะไร้ทั้งสมาคม ไร้ทั้งทีมชาติ บวกกับความที่ฟุตบอลเป็นกีฬาของคนผิวดำอยู่แล้ว ทำให้รัฐปล่อยปะละเลย และทำให้ชื่อของ แอฟริกาใต้ หลุดไปจากวงโคจรของการแข่งขันระดับนานาชาติกว่า 15 ปี
จนกระทั่งการเป็นอิสระของชายคนหนึ่งก็ทำให้วงการฟุตบอลมีความหวัง รวมไปถึงคนผิวดำในประเทศ ชื่อของเขาคือ “เนลสัน แมนเดลา” หรือที่คนแอฟริกาใต้เรียกว่า “มาดิบา”
บุรุษผู้ใช้กีฬาเป็นสื่อ
เนลสัน แมนเดลา คือชายผิวดำ ที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับไม่ใช่มนุษย์ของคนผิวขาว เขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (African National Congress) และเป็นแกนนำประท้วงนโยบายถือผิว ก่อนขึ้นมาเป็นผู้นำของกองกำลังติดอาวุธที่ชื่อว่า Umkhonto we Sizwe หรือ หอกแห่งชาติ ในภาษาซูลู (ภาษาของชนเผ่าหนึ่งในแอฟริกาใต้) ในปี 1961
ทว่า หลังจากเคลื่อนไหวได้ไม่นาน แมนเดลา ก็ถูกจับกุมในปี 1964 ก่อนจะถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และถูกส่งไปยังเกาะร็อบเบน รวมทั้งทางการยังสั่งห้ามเผยแพร่ภาพถ่ายของเขา รวมถึงการอ้างอิงคำพูดของเขาในที่สาธารณะซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ในตอนนั้น นานาชาติพยายามเรียกร้องให้แอฟริกาใต้ปล่อยตัวเขา รวมทั้งมีการแต่งเพลงและจัดคอนเสิร์ตเพื่อเรียกร้องอิสรภาพให้แก่เขา แต่ด้วยความที่ชาติมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ไม่ยอมรับในการเคลื่อนไหวของแมนเดลา แถมยังโจมตีเขาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่คุมขังเป็นเวลาเกือบ 30 ปี
จนกระทั่งการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ทำให้เกิดการเรียกร้องเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันทางสีผิวไปทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1990s ที่สุดแล้ว แมนเดลา จึงถูกปล่อยตัวออกมาในปี 1991
3 ปี หลังจากนั้น แอฟริกาใต้ ก็ได้จัดการเลือกตั้งที่คนผิวดำมีสิทธิ์ออกเสียงได้เท่าเทียมกับคนผิวขาวเป็นครั้งแรก และทำให้ แมนเดลา ได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ ในปี 1994
อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายถือผิวจะสลายไปตั้งแต่ปี 1991 แต่ผลพวงของมันยังคงส่งผลกระทบมาจนถึงตอนนั้น เมื่อคนดำยังคงเกลียดคนผิวขาว ส่วนคนผิวขาวก็มีอคติต่อคนดำ ทำให้งานหลักของแมนเดลา คือการหล่อหลอมคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว
เขาเลือกที่จะใช้กีฬาเป็นสื่อ โดยเริ่มจากรักบี้ กีฬายอดนิยมของคนผิวขาว และสัญลักษณ์ของการกดขี่ แมนเดลา เข้ามาปฏิวัติกีฬาชนิดนี้ใหม่ ด้วยการเปลี่ยนทั้งโลโก้และสีประจำทีม และประกาศว่าเขาจะสนับสนุนรักบี้ทีมชาติแอฟริกาใต้ ที่จะลงแข่งรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 1995
“เรามีสุดยอดผู้นำที่มองเห็นว่ากีฬาชนิดนี้สำคัญกับคนผิวขาวในแอฟริกาใต้มากแค่ไหน เขาได้รับความเคารพและความเชื่อใจจากพวกเราเพราะเรื่องนี้” ฟรองซัวส์ พีนาร์ กัปตันทีมรักบี้แอฟริกาใต้ในตอนนั้นกล่าว
“แต่อีกด้าน ผมเคารพแมนเดลากับสิ่งที่เขาทำ เพราะทีมสปริงบอกส์คือสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกสีผิว ชาวแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่ไม่เคยสนับสนุนรักบี้ทีมชาติตัวเอง เพราะฉะนั้น การขอให้พวกเขาหันกลับมาเชียร์ทีมของเรา คือเรื่องใหญ่สำหรับใครหลายคน”
และมันก็ได้ผล เมื่อท้ายที่สุดแอฟริกาใต้เป็นฝ่ายคว้าแชมป์ไปได้ หลังเอาชนะนิวซีแลนด์ ในรอบชิงชนะเลิศ และเป็นแชมป์โลกครั้งแรกของพวกเขา แต่ที่สำคัญมันคือหมุดหมาย ที่ทำให้เห็นว่าคนที่มีสีผิวแตกต่างกัน สามารถร่วมเชียร์ทีมชาติไปด้วยกันได้
อย่างไรก็ดี นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
ทัวร์นาเมนต์แห่งความเปลี่ยนแปลง
แม้ว่าการคว้าแชมป์ของแอฟริกาใต้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนผิวขาวและคนผิวดำเริ่มเปิดใจ แต่แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกสีผิว ก็ยังไม่ได้หายไปในทันที อันเนื่องมาจากการฝังรากลึกจากนโยบายถือผิวที่กัดกินประเทศมานานหลายสิบปี
โดยเฉพาะฟุตบอล ที่ถูกมองว่าเป็นกีฬาของคนผิวดำ และไม่ได้รับความสนใจจากคนผิวขาวมากนัก แถมผลงานในช่วงแรก หลังก่อตั้งสมาคมขึ้นมาใหม่ในปี 1991 ยังไม่น่าประทับใจ ทั้งตกรอบคัดเลือก แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 1994 และฟุตบอลโลกในปีเดียวกัน
จนกระทั่งในปี 1996 วงการฟุตบอลก็เริ่มมีความหวัง เมื่อแอฟริกาใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ แทนที่ เคนยา ที่ถอนตัวไป แมนเดลา จึงหมายมั่นปั้นมือที่จะใช้รายการนี้เป็นที่รวมใจคนในชาติ เหมือนกับที่ทีมรักบี้เคยทำได้
“นั่นเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เราพูดถึง” นีล โทเวย์ อดีตกองหลังกัปตันทีมแอฟริกาใต้ในตอนนั้นกล่าวกับ BBC
“เรารู้ว่าหน้าที่ของเราคือการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในชาติของเราได้รวมกัน และมาดิบารู้ว่าถ้าเราทำได้ดี ก็จะทำให้คนในประเทศสามัคคีขึ้น”
“พูดก็พูดเถอะนะ ความปิติยินดีต่อชัยชนะของทีมรักบี้มันเป็นเพียงแค่ 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเราประสบความสำเร็จได้แบบเดียวกับพวกเขา”
ก่อนลงสนามนัดแรก แมนเดลา เอาฤกษ์เอาชัย ด้วยการไปเยี่ยมทีมชาติแอฟริกาใต้ถึงค่ายเก็บตัว ในตอนนั้นเขาเป็นเหมือนพระเจ้าของประเทศ ที่ช่วยเสริมสร้างกำลังชั้นดีให้แก่ผู้ที่ได้พบเจอ
“พอเราโตขึ้น เราก็ไม่รู้จักหน้าของเขา เรามีแต่รูปเก่า ๆ ของเขา ตอนเขายังหนุ่ม แต่เมื่อเขามาหาเราที่ค่ายเก็บตัว มันคือ ‘Madiba Magic’ เขามีออรา เราไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกับเขา” ลูคัส ราเดเบ ย้อนถึงเหตุการณ์ในวันนั้นกับ BBC
“วันนั้นถ้าเราต้องเจอบราซิล เราก็น่าจะสามารถเอาชนะพวกเขาได้ สิ่งนี้บอกได้ว่าเราได้แรงบันดาลใจมากขนาดไหน การปรากฏตัวของเขาทำให้เราอยู่ในระดับสูงสุด ในทุกเกมที่เราเล่น เราเล่นเพื่อมาดิบา และแอฟริกาใต้”
แน่นอนว่ามันก็ได้ผลไม่น้อย กำลังใจจากแมนเดลา ทำให้ แอฟริกาใต้ ประเดิมสนามได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการไล่ถล่มแคเมอรูนไปถึง 3-0 ก่อนจะเฉือนชนะแองโกลา 1-0 ในนัดต่อมา แม้นัดสุดท้ายจะพ่ายต่ออียิปต์ แต่มันก็ยังดีพอที่ทำให้พวกเขาเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่ม
“จนถึงทุกวันนี้ แค่พูดเรื่องของยอดคนอย่างแมนเดลา ก็ทำให้ผมขนลุกแล้ว” ฌอน บาร์เล็ตต์ ย้อนความหลัง
“ทุกครั้งที่ผมเจอเขา จับมือกัน มันเหมือนเขาส่งต่ออะไรบางอย่างมาให้คุณ”
อย่างไรก็ดี ความยอดเยี่ยมของแอฟริกาใต้ ไม่ได้เกิดจากแรงใจเท่านั้น เพราะก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้น พวกเขากำลังอยู่ในฟอร์มที่ดี ภายใต้การทำทีมของบาร์เกอร์ด้วยสถิติไร้พ่ายถึง 13 นัด รวมถึงการเสมอทีมระดับโลกอย่าง อาร์เจนตินา และเยอรมนี
นอกจากนี้ พวกเขายังอุดมไปด้วยนักเตะที่มีประสบการณ์ในยุโรป ทั้ง ราเบเด และ ฟิล มาซิงกา ที่เล่นให้กับ ลีดส์ ยูไนเต็ด, มาร์ค วิลเลียมส์ จาก วูล์ฟแฮมตัน วันเดอเรอร์ส หรือ มาร์ค ฟิช ที่กำลังมีข่าวกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก่อนจะไปเซ็นสัญญากับ ลาซิโอ และย้ายมา โบลตัน วันเดอเรอร์ส ในเวลาต่อมา
“เขา (บาร์เกอร์) ค้นพบศักยภาพของนักเตะแต่ละคนของเรา และปล่อยให้พวกเราทำในสิ่งที่พวกเราทำได้ดี” โทเวย์ กล่าว
สร้างประวัติศาสตร์
ในรอบก่อนรองชนะเลิศ แอฟริกาใต้ยังคงฟอร์มแรง หลังเฉือนเอาชนะแอลจีเรียไปได้อย่างหวุดหวิด จากประตูชัยของ จอห์น ‘ชูส์’ โมชู ในนาทีที่ 86 ช่วยให้ทีมทะลุเข้าไปในรอบรองชนะเลิศ เพื่อพบกับกานา เจ้าของฉายา “บราซิลแห่งแอฟริกา”
ในตอนนั้น กานา คือทีมเต็งของทัวร์นาเมนต์ และเป็นทีมเดียวที่ยังไม่แพ้ใคร แถมยังเต็มไปด้วยผู้เล่นชั้นนำ ทั้ง ซามูเอล คูฟฟูร์ ของ บาเยิร์น มิวนิค, อเบดี เปเล กองกลางของ โตริโน (พ่อของ อังเดร และจอร์แดน อายิว) และ โทนี เยบัวห์ ดาวยิงอันตรายของลีดส์
แต่สุดท้ายกลายเป็นแอฟริกาใต้ ที่เล่นได้ดีกว่า หลังไล่ถล่มไปอย่างยับเยิน 3-0 จากสองประตูของ โมชู ในนาทีที่ 22 และ 87 ส่วนอีกประตูมาจาก บาร์เล็ตต์ ในนาทีที่ 46 ทะลุผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศ ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
“เกมกับกานา น่าจะเป็นหนึ่งในเกมที่เราทำผลงานได้ดีที่สุดเท่าที่เคยเล่นมา” โทเวย์ กล่าวกับ BBC
“ราเดเบ กับ เยบัวห์ ดวลกันอย่างดุเดือด แต่ทุกพื้นที่ในสนาม เราชนะการดวลตัวต่อตัวได้หมด”
อย่างไรก็ดี ชัยชนะของพวกเขาในรอบรองชนะเลิศ ไม่เพียงแต่กลายเป็นข่าวพาดหัวตัวโตบนหน้าหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่มันยังทำให้อคติที่มีต่อฟุตบอลของคนผิวขาวเริ่มจางลงไปอีกด้วย
“ตอนที่แอฟริกาใต้เอาชนะกานา คนที่อยู่ในย่านคนผิวขาว ต่างหลั่งไหลเข้ามาดูฟุตบอล ในจำนวนที่ไม่เคยเห็นมาเป็น 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นเกมระดับท้องถิ่น หรือเกมระดับทวีป” Business Day หนังสือพิมพ์สายเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ระบุ
ก่อนที่วันดีเดย์ของพวกเขาจะมาถึง มันคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1996 ในวันนั้นผู้ชมกว่า 80,000 คน รวมถึงแมนเดลา ที่สวมเสื้อทีมชาติแอฟริกาใต้ ที่ปักหมายเลข 9 ของ โทเวย์ รวมไปถึง กูดเวล สเวเลตินี กษัตริย์แห่งซูลู และ เปเล่ ต่างเข้ามาเป็นสักขีพยานในสนามซ็อคเกอร์ซิตี้ ถึง 3 ชั่วโมงก่อนการแข่งขัน
คู่ต่อกรของ แอฟริกาใต้ คือ ตูนีเซีย ที่เอาชนะ ซาอีร์ (ดีอาร์ คองโก ปัจจุบัน) ในรอบ 4 ทีมสุดท้าย แต่หลังจากเริ่มเขี่ยลูก โอกาสเดียวใน 45 นาทีแรก คือลูกยิงของ บาร์เล็ตต์ ที่ถูกผู้รักษาประตูของตูนีเซียปัดข้ามคานไปได้ หลังเกมส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กลางสนาม
อย่างไรก็ดี ครึ่งหลังก็เป็นแฟนบอลแอฟริกาใต้ ที่ได้เฮ เมื่อวิลเลียมส์ ที่ถูกเปลี่ยนลงมาแทนมาซิงกา แผลงฤทธิ์ ด้วยการโหม่งไม่กี่หลาหน้าปากประตูให้แอฟริกาใต้ออกนำ 1-0
แม้ว่าหลังจากนั้น ตูนีเซีย พยายามเปิดเกมแลก แต่ในอีก 2 นาทีต่อมา เจ้าบ้านก็มาได้ประตูเพิ่ม จากจังหวะยิงด้วยซ้ายของ วิลเลียมส์ คนเดิม ก่อนที่มันจะกลายเป็นประตูปิดกล่อง ช่วยให้แอฟริกาใต้ คว้าแชมป์ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
“ผมยังจำได้ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ในประเทศของเรา เท้าของทุกคนแทบไม่ได้แตะพื้น” ราเดเบ กล่าวกับ BBC
“คุณสามารถได้ยินเสียงจากโซเวโต ไม่ใช่แค่ในสนาม แฟนนอกสนามในเมืองต่างร้องไห้ และตะโกนดังลั่น”
“มันเหลือเชื่อมาก ผมคิดว่านี่แหละ ความภาคภูมิใจของชาติเรา”
และสิ่งนี้ก็ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เดินต่อไป
มรดกที่ส่งต่อ
“กีฬามีพลังที่จะเปลี่ยนโลก มันมีพลังที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ มันมีพลังในการรวมผู้คนในแบบที่สิ่งอื่นทำไม่ได้” แมนเดลาเคยกล่าวเอาไว้
“กีฬาสามารถสร้างความหวัง ในที่ที่มีแต่ความสิ้นหวัง มันมีพลังมากกว่ารัฐบาลในการทำลายกำแพงทางเชื้อชาติ”
และคำกล่าวของเขาก็ได้รับการยืนยันเป็นอย่างดี หลังแอฟริกาใต้สามารถคว้าแชมป์ระดับทวีป โดย จอห์น โมชู รองดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์ บอกว่าเขาถึงกับร้องไห้ เมื่อมีแฟนบอลผิวขาวคนหนึ่งเข้ามาขอลายเซ็นเขา ขณะที่ราเดเบ ก็สังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงหลังเกมวันนั้น
“การได้ยินคนผิวขาวพูดว่า ‘คุณคือฮีโร่ของผม’ สะเทือนใจผมมาก เพราะว่าผมจำได้ว่าเราต้องผ่านอะไรมาบ้างตลอดหลายปี นี่คือแอฟริกาใต้ยุคใหม่” อดีตกองหลังลีดส์กล่าวกับ BBC
“จิตใจของเราสดใสขึ้น ตาของเราเห็นบางสิ่งมากกว่าสิ่งที่เราเคยเห็นมาก่อน มันจับใจอย่างสมบูรณ์ เพียงเพราะฟุตบอล”
ส่วนโทเวย์บอกว่า ความเปลี่ยนแปลง ทำให้เขารู้สึกดีใจยิ่งกว่าการคว้าแชมป์เสียอีก เมื่อมันทำให้ทำให้อคติและการแบ่งแยกค่อย ๆ เลือนหายไป
“ตอนนี้มีคนผิวขาวมาดูฟุตบอลสนามมากขึ้น ทั้งเกมของทีมใหญ่และทีมชาติ การสนับสนุนเติบโตขึ้น และมากยิ่งขึ้นไปจากกลุ่มหลากหลายเชื้อชาติ”
“มันยิ่งใหญ่มาก สิ่งที่เราทำกับประเทศ ราว 10-12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสนใจรักบี้ แต่ฟุตบอลมันเป็น 90-95 เปอร์เซ็นต์ แม้กระทั่งชาวนาคนผิวขาวยังรู้จัก บาฟานา บาฟานา ในตอนนี้”
“แต่มันไม่ได้ด้อยค่าสิ่งที่นักรักบี้ทำให้แก่ประเทศ พวกเขาคือกลุ่มแรกที่ทำได้ในปี 1995 พวกเขาทำมันอย่างมหัศจรรย์”
ขณะเดียวกัน หลังปี 1996 แอฟริกาใต้ ยังคงมีผลงานที่โดดเด่น เมื่อสามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในปี 1998 และอีกครั้งในปี 2002 รวมถึงรองแชมป์ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ อีก 2 ครั้งในปี 1998 และ 2000 ก่อนที่ในปี 2004 พวกเขาจะได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ซึ่งถือเป็นชาติแรกของทวีปแอฟริกา
พวกเขาจึงมองว่าการคว้าแชมป์เมื่อปี 1996 จึงไม่ใช่แค่การสร้างประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่คือหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ประเทศของพวกเขา ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่อย่างแท้จริง
“ผู้คนอาจไม่ตระหนักว่า ฟุตบอลได้ทำลายกำแพงมากกว่าสิ่งที่นักการเมืองทำเสียอีก ฟุตบอลได้เริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ มาตั้งแต่ยุค 70s เรากำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยฟุตบอล กีฬานี่แหละ นำพาความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมาสู่แอฟริกาใต้” คลิฟ บาร์เกอร์ กล่าวกับ FIFA.com
แน่นอน สิ่งนี้อาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ หากไม่มีชายที่ชื่อ “เนลสัน แมนเดลา”
“ในฐานะนักกีฬา คุณแค่ทำงานของคุณ แต่ตลอด 26 ปี ทุกครั้งที่ผมนึกถึงตอนที่ได้พบกับเขา ผมรู้สึกว่ามันพิเศษมาก มันพิเศษมากจริง ๆ “ โทเวย์ ซึ่งเป็นผู้รับถ้วยแชมป์จากมือของแมนเดลาย้อความหลัง
“รูปถ่ายยังคงอยู่บนฝาผนังในบาร์ของผม มันคือบันทึกประวัติศาสตร์”
“เราคงไม่มีทางไปถึงจุดนั้น ถ้าเขาไม่ได้ออกมาจากเรือนจำ และพาเรากลับไปสู่ฟุตบอลระดับนานาชาติ”