sportpooltoday

แชมป์โลกการันตี : ความหลากหลายทางเชื้อชาติที่ทำให้ “ฝรั่งเศส” แข็งแกร่ง


แชมป์โลกการันตี : ความหลากหลายทางเชื้อชาติที่ทำให้ "ฝรั่งเศส" แข็งแกร่ง

ฝรั่งเศส เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากมาย ทั้งจากอิทธิพลในยุคอาณานิคม จนกระทั่งมาถึงยุคการอพยพ และสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่ยังคงมีอยู่ในประเทศ

 

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความพยายามที่จะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ให้หมดไปจากทั้งภาครัฐและเอกชน และถ้าหากจะบอกว่ามีองค์กรไหนในฝรั่งเศสที่ทำเรื่องนี้สำเร็จแล้วบ้าง คงตอบได้อย่างเต็มปากว่า “ฟุตบอล” 

ทีมชาติที่อุดมไปด้วยความหลากหลาย กลายเป็นแชมป์โลก 2 สมัยได้เช่นไร ? ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand

ปัญหาที่ทุกชาติต้องเจอ  

ฝรั่งเศส คือหนึ่งในประเทศที่เรืองอำนาจที่สุดในยุคอาณานิคม หลังปี 1800 เป็นต้นมาพวกเขาพิชิตทวีปแอฟริกา ทั้ง เซเนกัล, ไอวอรี่โคสต์, โตโก, กาบอง, แอลจีเรีย และอีกหลาย ๆ ประเทศก่อนนำมาเป็นประเทศราช ซึ่งกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ภายในประเทศมีผู้คนเชื้อสายแอฟริกันมากมาย 

และเรื่องยังไม่ได้จบแค่ชาวแอฟริกันเท่านั้น เพราะฝรั่งเศสยังเปิดรับผู้อพยพที่หวังพึ่งใบบุญแสวงหาชีวิตที่ดีกว่ามากมาย ตั้งแต่ ชาวโปแลนด์, อิตาเลียน, สเปน รวมถึงชาติอดีตอาณานิคมของพวกเขาเอง

อย่างไรก็ตามความจริงกับมายาคตินั้นต่างกัน แม้ฝรั่งเศสจะเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติมานานหลายปี แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นปัญหาเหมือนกับทุก ๆ ประเทศคือการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งยังคงมีให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ แม้จะรณรงค์เรื่องนี้ขนาดไหนก็ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะหายไปได้ง่าย ๆ 

 

รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยในเดือนมิถุนายน 2018 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของฝรั่งเศสลงมติให้ถอดคำว่า “เชื้อชาติ” ออกจากรัฐธรรมนูญ โดยใช้คำว่า “เพศ” แทนเพื่อความเสมอภาคสำหรับการใช้ในทางกฎหมาย ดังนั้นเรื่องของเชื้อชาติและการนับจำนวนประชากรจากศาสนาในฝรั่งเศสจึงไม่มีอีกต่อไปแล้วในทางทฤษฎี ทว่าในทางปฏิบัติแน่นอนว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด 100% อย่างแน่นอน 

ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสอย่าง เอ็มมานูเอล มาครง ได้พยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในวิธีที่มาครงพยายามทำให้ชาวฝรั่งเศสทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกันได้ก็คือ “ฟุตบอล” แม้ที่สุดแล้วจะมีการวิจารณ์ในกลุ่มหัวอนุรักษ์ว่า “ฝรั่งเศส ชุดแชมป์โลกปี 1998 และ 2018 มีนักเตะเชื้อชาติฝรั่งเศสแท้น้อยเกินไป” ทว่าในวันที่ทีมชาติฝรั่งเศสทั้ง 2 ชุดชูถ้วยแชมป์เวิลด์คัพ มีคำกล่าวที่ว่า “ไม่ว่าคุณจะมีผิวสีอะไร คุณสามารถออกมาร่วมฉลองบนท้องถนนได้โดยที่ไม่ต้องกลัวใครทำร้าย” … เพราะความหลากหลายทางเชื้อชาตินี่แหละที่ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งในแบบที่ประเทศอื่นทำตามไม่ได้

จัดการแบบฝรั่งเศส 

อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น แม้ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลายของเชื้อชาติ และพวกเขาเลิกนับจำนวนไปแล้วเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม แต่ความจริงยังมีอีกหลายคนไม่พอใจที่ทีมชาติฝรั่งเศสที่ใช้นักเตะเชื้อสายแอฟริกันและแข้งมุสลิมมากเกินไป 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะความหลากหลายนี้เองที่ทำให้ฝรั่งเศสแข็งแกร่ง นักเตะฝรั่งเศสชุดทีมแชมป์โลก 1998 ถูกเรียกอีกชื่อว่า “black-blanc-beur” เป็นการเล่นคำที่หมายถึงความหลากหลายของนักเตะทีมชาติชุดนั้นได้แก “ดำ-ขาว-อาหรับ”  

 

ความหลากหลายนำมาซึ่งความแข็งแกร่ง นักเตะเชื้อสายแอฟริกันเต็มไปด้วยพละกำลังและความเร็วในแบบของชนชาติที่เกิดมาเพื่อเป็นนักกีฬาโดยเฉพาะ พวกเขาเริ่มเข้ามาติดทีมชาติฝรั่งเศสมากขึ้นในช่วงยุค 1980s อับดูราห์มาน วาเบรี่ นักเขียนและนักวิชาการชาวฝรั่งเศส-จิบูตี ให้เหตุผลว่าเป็นช่วงเวลาที่ชาวฝรั่งเศสต้องเปิดรับนักเตะจากเชื้อชาติอื่น ๆ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้คนอพยพเข้ามาในประเทศมากมาย แม้กระทั่งคนผิวขาวก็ยังมีเชื้อสายอื่น ๆ ที่มาจากผู้อพยพในช่วง 30-40 ปีก่อนหน้านี้ 

“ทีมชุดฟุตบอลโลกปี 1998 คือจุดเริ่มต้นของการยอมรับก็ไม่ผิดนัก นักเตะจากทีมชุดนั้นจำนวนมากมาจากครอบครัวผู้อพยพรุ่นแรกและรุ่นที่สอง เรื่องราวย้อนไปยุค 1950s พวกเขาส่วนใหญ่เป็นชาวโปแลนด์ ขณะที่ในทศวรรษที่ 1960s-1970s ก็ยังมีชาวอิตาลีและชาวสเปน ยิ่งเมื่อรวมกับกลุ่มชาวแอฟริกันที่อพยพมาหลังยุคอาณานิคม มันจึงทำให้เราเห็นความหลากหลายมากมายในทีมชาติฝรั่งเศสชุดปี 1998” อับดูราห์มาน วาเบรี่ อธิบาย 

ก่อนหน้าจะถึงทีมชุดฟุตบอลโลกปี 1998 นั้น ฝรั่งเศสประสบปัญหาไปไม่ถึงฝันมาตลอดไม่ว่าจะทัวร์นาเมนต์ไหน ๆ เพราะหลังจากหมดยุค มิเชล พลาตินี่ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพวกเขามีนักเตะพรสวรรค์มากมาย แต่พอรวมเป็นทีมมันกลับกลายเป็นทีมที่ไม่สมบูรณ์และไม่ดีพอที่จะเป็นแชมป์ กล่าวคือเป็นทีมที่มีเทคนิคแต่ไร้ซึ่งพละกำลังและความเป็นหนึ่งเดียว นักเตะที่พวกเขาบอกกันว่าเป็น “ฝรั่งเศสแท้” อย่าง ฌอง ปิแอร์ ปาแป็ง, เอริค คันโตนา และ ดาวิด ชิโนลา กลับกลายเป็นนักเตะที่ปกครองยาก และต่างคนต่างก็มีปัญหาส่วนตัวกัน 

คนที่เห็นปัญหานี้มานานคือ เอเม ฌาคเกต์ กุนซือชุดแชมป์โลกปี 1998 เพราะฌาคเกต์ทำงานในตำแหน่งมือขวาของ เชราร์ อุลลิเยร์ มาตั้งแต่ปี 1994 เขาเห็นปัญหาสปิริตทีมและการเป็นทีมที่สื่อฝรั่งเศสบอกว่า “ทีมตายน้ำตื้น” กล่าวคือเมื่อถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มถึงเกมสำคัญ ทีม ๆ นี้กลับไม่เคยเรียกฟอร์มที่ดีที่สุดของตัวเองมาได้

 

เหตุผลก็เพราะว่านักเตะตัวความหวังที่ทีมให้ค่าในฐานะฝรั่งเศสแท้อย่าง ปาแป็ง เป็นนักเตะที่ไม่มีวินัยเรื่องการรักษาความฟิต ขณะที่ คันโตนา ก็ขี้โมโหและทำให้บรรยากาศในห้องแต่งตัวแย่ ฌาคเกต์จึงสร้างทีมของเขาขึ้นมาใหม่สำหรับฟุตบอลโลกปี 1998 ที่แข่งขันในบ้านของตัวเองด้วยการสร้างทีมโดยใช้ “สปิริต” เป็นหลัก  

ทุกคนต้องทำงานหนัก ต้องเล่นเกมรับกันอย่างแข็งขัน ความขี้เกียจไม่มีในพจนานุกรม เริ่มตั้งแต่ให้คนที่มีความเป็นผู้นำที่แท้จริงอย่าง ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ ขึ้นมาเป็นกัปตันทีม และจากนั้นก็ตามมาด้วยนักเตะหน้าใหม่มากมายหลายคน และแต่ละคนก็มาจากต่างเชื้อชาติดังฉายา “black-blanc-beur” อาทิ ซีเนดีน ซีดาน, ลิลิยอง ตูราม, บิเซนเต้ ลิซาราซู, ยูริ จอร์เกฟฟ์, ปาทริก วิเอร่า และ เธียร์รี่ อองรี 

นักเตะฝรั่งเศสที่มีพื้นฐานมาจากเชื้อชาติอื่น ๆ นั้นนอกจากจะมีความแข็งแรงและความเร็วแล้ว สิ่งที่พวกเขามีคือความมุ่งมั่นอุตสาหะ นักเตะเหล่านี้ส่วนใหญ่เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานในฝรั่งเศส พวกเขามาจากครอบครัวที่อยู่ได้ด้วยสวัสดิการจากภาครัฐ ขณะที่บางคนมาที่ฝรั่งเศสด้วยเหตุผลด้านฟุตบอลล้วน ๆ ดังนั้นการได้เล่นให้ทีมชาติฝรั่งเศสและการเติบโตในฐานะนักฟุตบอลคือหนึ่งในเส้นทางอนาคตที่จะทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับและยกระดับครอบครัวขึ้นมาได้ เพื่อความสำเร็จนั้นพวกเขาอาจจะต้องเผชิญเรื่องการโดนเอาเปรียบ ความท้อแท้ การถูกเหยียดเชื้อชาติ แต่มันก็คุ้มที่จะพยายามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น 

เรื่องความพยายามไม่มีการแบ่งสัญชาติ แต่แน่นอนว่าคนที่มาจากเคยยากลำบากนั้นจะเป็นคนที่เห็นความสำคัญของโอกาสมากเป็นพิเศษ นักเตะฝรั่งเศสหลายคนก็เป็นเช่นนั้น ดังนั้นเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับโอกาสพวกเขาก็จะไม่ปล่อยให้มันหลุดมือไปง่าย

 

ฌาคเกต์ บอกว่าทีมชาติฝรั่งเศสชุดปี 1998 ของเขาคือทีมที่เต็มไปด้วยความสามัคคีอย่างที่สุด และเหนือสิ่งอื่นใดคือคนที่เป็นเจ้านายของนักเตะเหล่านี้อย่าง ฌาคเกต์ นี่แหละที่คอยปฎิบัติกับพวกเขาในฐานะนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส โดยเขาออกหน้ารับแทนนักเตะทุกคนที่โดนวิจารณ์ และนั่นทำให้ทีมชุดนั้นเป็นทีมที่มีเป้าหมายชัดเจนจนพิชิตแชมป์โลกสมัยแรกมาได้

“ฌาคเกต์เริ่มออกมารับแทนพวกเราทั้งหมดในแง่ของคำวิจารณ์ เขาทำมันเพื่อที่จะแน่ใจว่าเราจะมีสมาธิกับสิ่งเดียวคือการแข่งขัน เขาเป็นคนมีเกียรติอย่างที่สุด เขาวางเป้าหมายชัดเจนและมีแผนการที่ไม่โลเล ไม่ว่าจะโดนกระทบกระทั่งจากอะไร เขาจะอยู่บนแผนของเขาเสมอ พวกเรารวมใจและตั้งใจกันซ้อมที่ศูนย์ฝึกแกลร์ฟ็องแต็งที่ห่างไกลจากทุกสิ่ง เราถูกฝึกให้ปล่อยวางไม่สนใจโลกภายนอก และยิ่งเวลาผ่านไปเราก็รู้ดีว่าการแข่งขันครั้งนี้พวกเรามีโอกาสจะไปถึงจุดสูงสุดจริง” ลิซาราซู แบ็กซ้ายของทีมผู้มีเชื้อสายบาสก์ ยืนยันเรื่องการเอาชนะความกดดันภายใต้การนำของฌาคเกต์ 

สุดท้ายคุณก็ได้เห็นทีมชาติฝรั่งเศสชุดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ความหลากหลายเชื้อชาติไม่ใช่ปัญหา พวกเขามีนักเตะเชิงรับอย่าง ลิลิยอง ตูราม, มาร์กแซล เดอไซญี่, คริสติยอง การอมเบอ, ปาทริก วิเอร่า และมดงานอีกหลายคนที่ทำหน้าหน้าที่ของตัวเองได้อย่างแข็งขัน ขณะที่แดนกลางมี ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ เป็นหัวใจที่ฌาคเกต์บอกว่า “เป็นตัวแทนของเขาในสนาม” ขณะที่แดนหน้ามีนักเตะที่มีความเร็วจัดอย่าง เธียร์รี่ อองรี และเหนือสิ่งอื่นใดคือจอมเทคนิคเชื้อสายแอลจีเรียอย่าง ซีเนดีน ซีดาน … ความหลากหลายทำให้ฝรั่งเศสลงตัว ภายใต้การนำของโค้ชที่หยิบจับวัตถุดิบมาเติมเต็มจนกลายเป็นทีมที่สมบูรณ์แบบ

ฝรั่งเศสเล่นด้วยความแน่นอนตลอดทัวร์นาเมนต์ เสียประตูแค่ 2 ลูก และมีนักเตะถึง 9 คนที่ยิงประตูได้ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น (มากที่สุดเหนือทุกทีม) สุดท้ายพวกเขาจบด้วยการเป็นแชมป์โลกสมัยแรกในประวัติศาสตร์ 

การเปลี่ยนแปลงถึง 2018 

ทีมชุด 2018 นั้นมีบริบทที่แตกต่างจากทีมชุดปี 1998 พอสมควร เพราะเมื่อทีมชุด 1998 ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติกลายเป็นทีมชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติด้วยการคว้าแชมป์โลกและแชมป์ยูโร 2000 ก็ไม่มีใครจะสนใจอีกแล้วว่าทีม ๆ นี้จะใช้นักเตะแอฟริกันหรือเชื้อชาติอื่น ๆ มากเกินไป พวกเขาเอาความสำเร็จเป็นที่ตั้ง และแน่นอนทางภาครัฐก็พยายามทำให้เป็นนั้นมาตลอด 

นักเตะฝรั่งเศสชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2018 จึงประกอบไปด้วยนักเตะเชื้อสายแอฟริกันทั้งหมด 12 คน มากที่สุดเหนือทุกทีมในฟุตบอลโลก 2018 จนถึงขั้นที่สื่อแอฟริกาตั้งฉายาว่า “แอฟริกันทีมที่ 6” เลยด้วยซ้ำ 

นั่นไม่ใช่ปัญหาอะไร เมื่อนักเตะจากเชื้อสายอื่นกลายเป็นกำลังสำคัญในโลกยุคปัจจุบันที่การเหยียดเชื้อชาติลดน้อยลง และการมีนักเตะที่สร้างความแตกต่างได้อย่าง ปอล ป็อกบา, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ และคนอื่น ๆ อีกหลายคน คุณจะหาใครมาแทนนักเตะพวกนี้ได้ ? 

ความคล้ายกันของทีมชุด 1998 และ 2018 คือพวกเขามีกุนซือที่เป็นเหมือนโล่ให้กับนักเตะในทีม ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ ในฐานะกุนซือทำเหมือนกับที่อดีตเจ้านายของเขาอย่างฌาคเกต์เคยทำ นั่นคือการรวมทีมให้เป็นหนึ่งและเล่นเพื่อเป้าหมายเดียวกันให้ได้

“ทีมฟุตบอลชาติฝรั่งเศสปี 2018 มีผู้เล่นที่หลากหลายจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่จะบอกว่านี่คือฝรั่งเศสยุคใหม่ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้คนจำนวนมากที่เป็นชาวฝรั่งเศสที่และสมควรได้รับความเคารพและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน” อลัน แบร์เนอร์ (Alan Bairner) ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีกีฬาและสังคมแห่งมหาวิทยาลัยลัฟเบอระ (Loughborough University) กล่าวถึงความเปลี่ยนไปของแนวคิดของผู้คนในฝรั่งเศสที่ฟุตบอลมีส่วนช่วยไม่มากก็น้อย 

ในภาพกว้าง ๆ ไม่มีการกล่าวโทษนักเตะแอฟริกันอีกแล้วในวันที่ฝรั่งเศสผลงานแย่ และเช่นเดียวกันในวันที่พวกเขาได้รับชัยชนะและเดินออกมาบนท้องถนน นั่นคือวันที่ความหลากหลายของเชื้อชาติแทบจะถูกลืมไปชั่วขณะ ไม่ว่าคุณจะเป็นมุสลิม เอเชีย หรือแอฟริกัน คุณก็สามารถฉลองชัยชนะได้อย่างปลอดภัย 

“เราสามารถปาร์ตี้บนท้องถนนได้โดยไม่ถูกคุกคาม ไม่มีใครสนว่าคุณจะมาจากแอลจีเรีย, แอฟริกา, อินเดีย หรือแม้แต่ตะวันออกกลาง … ขณะที่ในสนามคุณจะเป็นแอฟริกา, อาหรับ, คนขาว หรือมุสลิม ไม่มีใครกล้าสงสัยในตัวคุณแน่ตราบใดที่พวกเขายังเป็นทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จ” ทิม แฟนบอลชาวฝรั่งเศสเชื้อสายไอวอรี่โคสต์กล่าวกับสื่ออย่าง อัลจาซีรา 

แม้จะยังไม่ใช่โลกในอุดมคติที่การเหยียดผิวและเชื้อชาติจะหมดไป 100% แต่ฝรั่งเศสก็ทำให้เห็นว่าการเชื่อมั่นในความแตกต่างและการเป็นทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จทำให้เกิดแง่บวกในเรื่องเหล่านี้ได้มากแค่ไหน ถ้าทุกคนสามารถมีเป้าหมายที่ตรงกันเชื้อชาติก็เป็นเรื่องรองเท่านั้น ดังที่ทีมฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศสทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

“นักเตะเหล่านี้มีรากฐานมาจากประเทศและวัฒนธรรมที่แตกต่างและเฉพาะเจาะจง พวกเขาภูมิใจในมรดกของตัวเอง และที่สำคัญกว่านั้นคือพวกเขาภูมิใจในมรดกของกันและกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นชาวฝรั่งเศส ซึ่งต้องขอบคุณทีมชาติฝรั่งเศสที่ทำให้พวกเขาได้เห็นโลกในอุดมคติที่ควรจะเป็น” เกรกอรี่ เปอร์โรต์ (Gregory Pierrot) ศาสตราจารย์และนักเขียนกล่าวทิ้งท้าย