หากไม่นับห้าลีกใหญ่แห่งยุโรป เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ หรือ MLS ย่อมเป็นลีกฟุตบอลที่น่าจับตามากที่สุดในขณะนี้ เพราะไม่เพียงจะยกระดับเป็นหนึ่งในลีกกีฬาสำคัญของสหรัฐอเมริกา แต่ยังก้าวมาเป็นคู่แข่งของหลายลีกฟุตบอลในยุโรป
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทีมชาติสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น ความล้มเหลวในการตีตั๋วเข้าฟุตบอลโลก 2018 และยังไม่สามารถพูดได้ว่าคือทีมอันดับหนึ่งของโซนคอนคาเคฟอย่างเต็มปาก นี่คือผลงานในระดับต่ำกว่ามาตรฐานกีฬาทีมชาติในสายตาชาวอเมริกันอย่างชัดแจ้ง
Main Stand หาคำตอบว่าทำไมการพัฒนาของ MLS ถึงไม่ส่งผลต่อทีมชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาลีกแบบไม่สนใจนักเตะในชาติ และความจริงที่ฟุตบอลยังคงเป็นกีฬาสำหรับพลเมืองระดับรองในสังคมอเมริกัน
พัฒนาลีกจนลืมนักเตะในชาติ
ย้อนกลับไปยังปี 2015 สโมสร ซีแอทเทิล ซาวน์เดอร์ส ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในวงการฟุตบอลโลก หลังพวกเขาทำค่าเฉลี่ยยยอดคนดูตลอดฤดูกาลที่ 43,734 คน เมื่อเทียบกับสโมสรพรีเมียร์ลีกในเวลานั้น ซีแอทเทิล ซาวน์เดอร์ส จะเข้ามาเป็นอันดับ 6 ของตาราง และมีจำนวนผู้ชมมากกว่าทีมดังอย่าง เชลซี กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้
การแสดงภาพของสโมสรที่มีแฟนบอลจงรักภักดีมากที่สุดทีมหนึ่งของโลกโดยซีแอทเทิล ซาวน์เดอร์ส สะท้อนภาพว่า MLS กำลังเติบโตเป็นหนึ่งในลีกกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หากเทียบยอดคนดูของซีแอทเทิล ซาวน์เดอร์ส กับทีมอเมริกันฟุตบอลประจำเมือง ซีแอตเทิล ซีฮอว์กส์ จะพบว่าซาวน์เดอร์ส มียอดคนดูเฉลี่ยน้อยกว่าซีฮอกส์ แค่ราวหนึ่งหมื่นคน
น่าประหลาดใจไปมากกว่านั้น ซีแอทเทิล ซาวน์เดอร์ส มียอดคนดูเหนือทีมเบสบอลประจำเมืองถึงเกือบสองหมื่นคน เพราะ ซีแอตเทิล มารีนเนอร์ส มียอดคนดูเฉลี่ยตลอดฤดูกาล 2015 อยู่ที่ 27,081 คน ยิ่งเมื่อถอยออกมาในภาพรวมของลีกซึ่ง MLS มียอดเฉลี่ยนคนดูในฤดูกาล 2015 อยู่ที่ 21,574 คน เทียบกับ MLB ซึ่งอยู่ที่ 30,517 คน ข้อมูลตรงนี้คงทำให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า MLS ขยับเข้าใกล้หนึ่งในลีกกีฬาที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐอเมริกามากแค่ไหน
นับจากวันนั้น MLS มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ การลงทุนและทุ่มงบประมาณเพื่อแย่งชิงความสำเร็จในลีกฟุตบอลแห่งสหรัฐอเมริกามีความเข้มข้นไม่แพ้ฟุตบอลยุโรป ไม่ว่าจะเป็น การเข้ามาสู่ลีกอีกครั้งของ เดวิด เบ็คแฮม เพื่อก่อตั้งสโมสร อินเตอร์ ไมอามี่ ในปี 2020 หลังเคยสร้างกระแสบูมกับการเป็นนักเตะให้ แอลเอ กาแลคซี่ ระหว่างปี 2007-2012 หรือ ลอสแอนเจลิส เอฟซี ที่เพิ่งคว้าตัว แกเร็ธ เบล และ จอร์โจ้ คิเอลลินี่ ซูเปอร์สตาร์ระดับโลกเข้ามาสู่ทีม
ปฏิเสธไม่ได้ว่านักเตะจำนวนมากเดินทางเข้ามาสู่ MLS เพื่อเงินเดือนมหาศาลที่พวกเขาไม่สามารถหาที่ไหน แต่นักเตะฝีเท้าดีจากยุโรปรวมถึงอเมริกาใต้เหล่านี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความนิยมของ MLS พุ่งขึ้นมากในช่วงหลายปีหลัง เมื่อบวกกับสโมสรที่มีแต่จะเพิ่มงบประมาณทำทีมขึ้นทุกวัน จึงกล่าวได้ว่า สโมสรในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ กำลังทำตัวเป็นเหมือนทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก คือ ทุ่มแหลกเพื่อสร้างความน่าตื่นเต้นแก่แฟนบอลในทุกฤดูกาล
อ้างอิงตามเว็บไซต์ประเมินค่าตัวนักเตะชื่อดัง Transfermarkt ขณะนี้ MLS มีมูลค่านักเตะในลีกมากกว่า 1 พันล้านยูโร และเมื่อนำมูลค่าตรงนี้ไปเทียบกับลีกยุโรป พวกเขาจะรั้งอันดับ 7 ของตาราง โดยเป็นรองเพียงห้าลีกใหญ่แห่งยุโรป และลีกโปรตุเกสเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่มีลีกไหนในยุโรปที่จะมีมูลค่านักเตะสู้ MLS ได้อีกแล้ว
MLS จึงประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่ของการสร้างมูลค่าของลีกและสโมสรฟุตบอลในเครือ พวกเขาอยากจะเป็นฟุตบอลมหาเศรษฐีที่มีเงินสะพัดในตลาดซื้อขายไม่แพ้พรีเมียร์ลีก และหลายสโมสรก็อยากจะเป็นแบบ บาร์เซโลน่า หรือ เรอัล มาดริด ที่มีแฟนบอลเหนียวแน่นทั้งในและนอกประเทศ แต่การพัฒนาลีกในลักษณะนี้ ไม่ได้มีแต่ผลดีอย่างเดียวแน่นอน
เช่นเดียวกับที่พรีเมียร์ลีกประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงต้นทศวรรษ 2010s ที่นักฟุตบอลฝีเท้าดีจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาจนปิดโอกาสแข้งในประเทศเสียหมด MLS กำลังประสบปัญหาเดียวกัน เพราะนักเตะตัวชูโรง 20 คนแรกของ MLS (อ้างอิงตามราคาในตลาด) ต่างไม่ใช่นักเตะชาวอเมริกันแม้แต่คนเดียว
นักฟุตบอลตัวชูโรงของ MLS ยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่คือนักฟุตบอลจากอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็น แข้งจากอาร์เจนตินา, บราซิล, โคลอมเบีย หรือ เปรู ทั้งหมดต่างครองพื้นที่ในฐานะซูเปอร์สตาร์ของลีกไว้ทั้งสิ้น ส่วนนักเตะอเมริกันที่ค่าตัวสูงสุดของลีก ได้แก่ เฮซุส เฟร์เรย์ร่า กองหน้าแห่ง เอฟซี ดัลลาส ซึ่งมีค่าตัวเพียง 6 ล้านยูโร เท่านั้น ทั้งที่เขากำลังครองตำแหน่งดาวซัลโวของ MLS ฤดูกาล 2022
เหตุผลที่นักเตะอเมริกันมีค่าตัวตามการประเมินน้อยเอาเสียมาก ๆ แม้จะมีผลงานดีในปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะพวกเขาถูกมองข้ามโดยตลอด มีนักเตะน้อยคนที่จะได้รับโอกาสอย่างแจ่มแจ้งตั้งแต่ดาวรุ่ง โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญอย่างผู้เล่นตัวรุก การจะก้าวขึ้นมาเป็นแข้งแถวหน้าใน MLS ของนักเตะอเมริกันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ตรงนี้ถูกยึดครองโดยนักเตะอเมริกาใต้ที่ดังกว่า, ฝีเท้าดีกว่า และมีมูลค่ามากกว่า
สำหรับใครที่เก่งจริง ๆ อย่าง เฮซุส เฟร์เรย์ร่า ย่อมสามารถก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติสหรัฐอเมริกาได้สบาย แต่ความจริงที่เรารู้กันดีคือ ฟุตบอลทีมชาติต้องยกระดับกันทั้งระบบไม่ใช่แค่สร้างนักเตะเก่ง ๆ ขึ้นเพียงสองสามคน เมื่อมองไปยังความจริงที่เกิดขึ้นใน MLS ตอนนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การพัฒนานักเตะชาวอเมริกันอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นบนลีกแห่งนี้
ย้อนกลับไปยังปี 2015 มีการประเมินว่า MLS จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของลีกยูเครน, เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ตัดภาพกลับมายังปัจจุบัน พวกเขาแซงยูเครนกับเนเธอร์แลนด์ แถมยังมีโอกาสไม่น้อยที่จะโค่นลีกโปรตุเกสในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี แต่ทางลัดที่ MLS ยกระดับลีกอย่างรวดเร็วแบบที่เห็นกันนี้ แลกมากับเวลาการพัฒนานักเตะชาวอเมริกันที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
มองข้ามรากฐานฟุตบอลรากหญ้า
ปัญหาที่กล่าวมาก่อนหน้านี้เป็นเพียงยอดปีระมิดของปัญหาเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว MLS ทราบดีถึงความจริงที่นักเตะดาวรุ่งชาวอเมริกันไม่มีพื้นที่ลงสนามบนลีกฟุตบอลระดับสูงสุด ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงสร้างความร่วมมือกับลีกระดับรองลงมา อย่าง USL หรือ ยูไนเต็ด ซอคเกอร์ลีก เพื่อให้ลีกตรงนี้กลายเป็นพื้นที่ให้แข้งดาวรุ่งปล่อยของ จนกระทั่งทีมจาก MLS เห็นแวว และดึงตัวพวกเขาไปร่วมทีม
ฟังดูเหมือนเป็นไอเดียที่ใช้ได้ เหมือนกับนักฟุตบอลดาวรุ่งจากทีมดังในพรีเมียร์ลีก ถูกส่งตัวไปเก็บประสบการณ์ยังเดอะ แชมเปี้ยนชิพ ก่อนจะกลับมาเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการในภายหลัง แต่ความจริงแล้ว แนวคิดนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเลยในวงการฟุตบอลอเมริกัน สืบเนื่องจากธรรมชาติของลีกกีฬาในประเทศแห่งนี้ ซึ่งไม่มีระบบเลื่อนชั้น-ตกชั้นเหมือนในทวีปยุโรป
แฟนบอลที่เคยลงไปนั่งดูฟุตบอล USL ด้วยตาตัวเอง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาเหมือนกับตายทั้งเป็น เพราะนี่คือฟุตบอลที่ขาดแรงบันดาลใจ แม้กระทั่งความพยายามที่จะเอาชนะ เนื่องจากการคว้าแชมป์ไม่ได้พาพวกเขาสู่ MLS และความพ่ายแพ้ทุกนัดก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาตกชั้นเช่นกัน นี่คือฟุตบอลที่เตะไปเพื่อให้ผ่านพ้นวัน แถมยังขาดการสนับสนุนและการลงทุนจากทุกภาคส่วน
นักเตะที่จะยกระดับตัวเองขึ้นจาก USL สู่ MLS จึงมีน้อยมากในความเป็นจริง เมื่อบวกกับการที่สโมสรใน MLS เป็นผู้ควบคุมรายชื่อนักเตะที่จะถูกคัดเลือกเข้าสโมสรในแต่ละปี (talent pool) ยิ่งทำให้สโมสรเหล่านั้นคัดเลือกนักเตะชาวอเมริกันได้มากตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องสนใจนักเตะนอกเหนือจากนั้นที่ถูกมองข้าม หรือรอคอยโอกาสอยู่เลย
เหมือนที่กล่าวไปในบทก่อนหน้า ไม่มีทางที่ระบบของ MLS ในปัจจุบันจะสามารถสร้างสรรค์นักเตะชาวอเมริกันฝีเท้าดีได้อย่างยั่งยืน สโมสรฟุตบอลในสหรัฐอเมริกายังใช้ระบบพัฒนาและคัดเลือกดาวรุ่งไม่ต่างจากกีฬาเบสบอล คือการปล่อยนักเตะเหล่านี้ออกไปยืมตัวเรื่อย ๆ จนกว่าพวกเขาจะถูกประเมินว่าพร้อมเล่นให้กับสโมสร หากไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะถูกปล่อยตัวไปแบบไม่ใยดี
สิ่งที่แตกต่างจากกีฬาเบสบอลคือ Minor League Baseball เป็นพื้นที่ซึ่งสามารถสร้างเสริมประสบการณ์ของนักเบสบอลดาวรุ่ง ก่อนก้าวเป็นผู้เล่นตัวหลักใน MLB ได้จริง แต่สำหรับลีกรองในวงการฟุตบอลอเมริกัน ทั้ง USL หรือ NPSL (เนชั่นแนล พรีเมียร์ ซอคเกอร์ลีก) พวกเขาเป็นแค่พื้นที่ของนักเตะที่ดีไม่พอจะเล่นใน MLS
นี่คือการวางแผนอย่างผิดพลาดของ MLS ที่นำโมเดลของพรีเมียร์ลีกมาใช้โดยไม่ศึกษาให้ดีว่า รูปแบบดังกล่าวสามารถเข้ากับธรรมชาติของกีฬาอเมริกันหรือไม่ เพราะขณะนี้สัดส่วนของนักเตะในพรีเมียร์ลีกที่ถูกส่งไปยืมตัวกับทีมล่าง เท่ากับนักเตะจาก MLS ที่ถูกส่งไปเล่นยังลีกอื่น คือ 35 เปอร์เซ็นต์
แต่ในทางกลับกัน ทีมจากพรีเมียร์ลีกยอมควักเงินจากกระเป๋าเพื่อซื้อนักเตะจากเดอะ แชมเปี้ยนชิพ ถึง 15 คน ในฤดูกาล 2021-22 คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์จากนักเตะที่ถูกซื้อทั้งหมด ส่วน MLS ดึงนักเตะจาก USL หรือลีกฟุตบอลอื่นในสหรัฐอเมริกาเพียง 5 คน จากการย้ายทีม 287 ครั้ง คิดเป็นแค่ 1.7 เปอร์เซ็นต์
เมื่อลีกฟุตบอลระดับล่างไม่สามารถสนับสนุนการสร้างนักเตะระดับท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา เท่ากับว่าความหวังในการพัฒนานักเตะของชาติขึ้นอยู่กับ MLS เพียงแห่งเดียว และด้วยโมเดลการพัฒนาลีกแบบที่กล่าวไปข้างต้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่นักฟุตบอลในสหรัฐอเมริกาจะได้พัฒนาฝีเท้าอย่างเป็นระบบเหมือนกับนักฟุตบอลในยุโรป
นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา นั่นคือ การพัฒนาฟุตบอลในระดับรากหญ้ายังคงเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม หรือถึงจะไม่มองข้าม การแก้ปัญหาก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะวงการฟุตบอลในประเทศแห่งนี้ถูกผลักดันให้เดินหน้าด้วยเม็ดเงินใน MLS เท่านั้น หมายความว่า ตราบใดที่ MLS ยังไม่มีนโยบายผลักดันการใช้งานนักเตะชาวอเมริกันอย่างเป็นรูปธรรม อย่าได้ฝันว่านักเตะท้องถิ่นจะถูกพัฒนาอย่างจริงจังบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา
ยังคงเป็นกีฬาเพื่อคนชั้นสอง
ความจริงอีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้โชคชะตาของฟุตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกายังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ อย่างทุกวันนี้ คือความสนใจของแฟนกีฬาในประเทศต่อกีฬาฟุตบอลระดับนานาชาติที่ลดน้อยลงไป สืบเนื่องจากความผิดหวังครั้งใหญ่ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของฟุตบอลโลก 2018
หลังจากความล้มเหลวที่น่าอับอาย แฟนกีฬาโดยทั่วไปในสหรัฐอเมริกาต่างเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่า ทีมชาติสหรัฐฯ ยังดีไม่พอจะแข่งขันในวงการฟุตบอลระดับโลก และที่แย่ไปกว่านั้น ชาวอเมริกันต่างพากันคิดว่าฟุตบอลทีมชาติของพวกเขาแสดงผลงานที่ “ต่ำกว่ามาตรฐาน” ซึ่งมาตรฐานที่พูดถึงไม่ใช่มาตรฐานของวงการฟุตบอล แต่เป็นมาตรฐานของกีฬาในอเมริกันโดยภาพรวม
กีฬาฟุตบอลในสหรัฐอเมริกาจึงถูกทิ้งเอาไว้เป็นพื้นที่ของแฟนฮาร์ดคอร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะดู MLS แต่ยังติดตามลีกฟุตบอลจากประเทศอื่น เช่น ลา ลีกา หรือ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มคนในสหรัฐอเมริกาที่ดูฟุตบอลอย่างจริงจัง คือผู้มีเชื้อสายละตินอเมริกาหรือชาวฮิสแปนิก ซึ่งแน่นอนว่า เป็นพลเมืองชั้นสองในสหรัฐอเมริกา
ชาวอเมริกันผิวขาวต่างยึดมั่นในกีฬาที่มีรากฐานยึดโยงกับวัฒนธรรมอเมริกัน อย่าง เบสบอล และอเมริกันฟุตบอล ส่วนชาวอเมริกันผิวดำมีฮีโร่มากมายเกินจะนับบนเวทีบาสเกตบอล แต่สำหรับชาวฮิสแปนิกเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะมีฮีโร่แห่งวงการกีฬาในระดับทีมจับต้องได้ จนกระทั่ง การเข้ามามีอิทธิพลของ MLS ในวงการกีฬาสหรัฐอเมริกา
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายสโมสรใน MLS ถึงพาเหรดดึงตัวจากนักเตะอเมริกาใต้ มากกว่าจะทุ่มซื้อซูเปอร์สตาร์จากฝั่งยุโรปในปัจจุบัน เพราะแข้งจากละตินอเมริกาไม่เพียงแต่จะทำผลงานได้ดีในสนาม แต่ยังช่วยดึงดูดแฟนท้องถิ่นให้เข้ามามีความผูกพันกับสโมสร ผ่านการสร้างฮีโร่ในโลกกีฬาที่พวกเขาสามารถจับต้องได้
ความจริงตรงนี้สร้างการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดใน MLS แต่สำหรับการสร้างนักเตะชาวอเมริกัน มันเป็นคนละเรื่อง … แม้จะมีเยาวชนนับล้านคนที่เติบโตมาด้วยความฝันอยากเป็นนักฟุตบอล แต่ด้วยความจริงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ความยากลำบากในการหาสวนสาธารณะหรือถนนสักเส้นเพื่อเตะฟุตบอล หรือเม็ดเงินในกีฬาฟุตบอลที่ยังต่างจากกีฬาแนวหน้าของประเทศอยู่มาก ความฝันที่อยากเป็นนักฟุตบอลจึงมักเลือนหายตามกาลเวลา
สถิติในปี 2020 เปิดเผยว่า ฐานเงินเดือนเฉลี่ยของ 4 ลีกกีฬาหลักในสหรัฐอเมริกา จะอยู่ที่ 2-8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สำหรับ MLS พวกเขามีเงินเดือนเฉลี่ยของนักเตะในลีกอยู่ที่ 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น ถือเป็นตัวเลขที่น้อยกว่า NHL ถึง 5 เท่า, น้อยกว่า MLB ถึง 10 เท่า และน้อยกว่า NFL ถึง 20 เท่า
ความจริงตรงนี้แทบจะบอกได้ทันทีว่า ไม่มีทางที่ผู้มีพรสวรรค์ทางกีฬาจะเลือกเล่นฟุตบอลเป็นแน่ เพราะถ้าพวกเขามีทางอื่นให้เลือกเดินไป บุคคลผู้นั้นย่อมเลือกที่จะลงเล่นในกีฬาชนิดอื่นอย่างแน่นอน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ คู ยองฮเว ผู้เล่นตำแหน่งตัวเตะของทีม แอตแลนต้า ฟอลคอนส์ ซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้โดยกำเนิด ก่อนย้ายมาเติบโตและใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับชาวเกาหลีใต้ทั่วไป คู ยองฮเว หลงรักกีฬาฟุตบอล แถมยังเป็นนักเตะฝีเท้าดีเสียด้วย แต่เมื่อเขาย้ายมาใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา เมื่ออายุ 12 ปี ยองฮเวตัดสินใจเปลี่ยนมาเล่นกีฬาอเมริกาฟุตบอลแทน ซึ่งไม่เพียงจะทำให้เขามีชีวิตที่ดีเหมือนในปัจจุบัน แต่ยังช่วยให้เขาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกัน และได้การยอมรับจากเพื่อน ๆ ในฐานะตัวเตะฝีเท้าดีประจำทีมอเมริกันฟุตบอลของโรงเรียน
กีฬาฟุตบอลในสหรัฐอเมริกาจึงไม่ใช่พื้นที่สำหรับพลเมืองชั้นหนึ่งของประเทศ นักเตะชาวอเมริกันฝีเท้าดีใน MLS ก็มีมากมายที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันแท้ เฮซุส เฟร์เรย์ร่า สืบเชื้อสายโคลอมเบีย, คริสเตียน โรลดาน สืบเชื้อสายกัวเตมาลา, เคด โคเวล สืบเชื้อสายเม็กซิกัน และ จอร์จี้ มิไฮโลวิช สืบเชื้อสายเซอร์เบีย
นี่คงเป็นภาพสะท้อนชัดเจนว่ากีฬาฟุตบอลในสหรัฐอเมริกามีไว้เพื่อคนกลุ่มไหนของสังคม ความจริงคือชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงติตดามทีมชาติสหรัฐอเมริกาก็ต่อเมื่อได้ลงแข่งขันในฟุตบอลโลกเท่านั้น และถึงจะมีชาวอเมริกันหลายคนที่เปิดใจยอมดูฟุตบอล ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เลือกดู MLS ด้วยภาพจำที่ติดตามว่าฟุตบอลอเมริกันในวันนี้กำลังต่ำกว่ามาตรฐาน
เมื่อบวกกับที่ฟุตบอลเป็นกีฬาของคนชั้นสองก็เป็นเรื่องยากที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะชาวอเมริกันเลือกจะ “ไม่แคร์” แทนจะเป็นเรียกร้องให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจัง ท้ายที่สุด ฝ่ายที่จะขับเคลื่อนความเป็นไปของวงการฟุตบอลอเมริกัน ย่อมเป็น MLS ซึ่งจนถึงตอนนี้ พวกเขาไม่สนใจว่าฟุตบอลทีมชาติจะเป็นอย่างไร ตราบใดที่แบรนด์ของลีกและสโมสรยังเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ทั้งนี้ ฟุตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกายังมีโอกาสที่ดีรออยู่เบื้องหน้า นั่นคือ บทบาทเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2026 ซึ่งน่าจะปลุกกระแสการพัฒนาฟุตบอลระดับชาติอย่างจริงจังขึ้นมาอีกครั้ง แต่กว่าจะถึงวันนั้น นี่คือความจริงที่วงการฟุตบอลอเมริกันต้องเผชิญ กับความจริงที่ทีมชาติของพวกเขาต้องยืนอย่างโงนเงนต่อไป ไม่ว่า MLS จะเติบโตมากแค่ไหนก็ตาม