sportpooltoday

เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น : เชลซี เอาตัวรอดอย่างไรก่อนจะได้เจ้าของใหม่


เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น : เชลซี เอาตัวรอดอย่างไรก่อนจะได้เจ้าของใหม่

เป็นเวลาเกือบสองเดือนแล้วที่สโมสรเชลซีถูกควบคุมกิจการโดยรัฐบาลอังกฤษ หลัง โรมัน อบราโมวิช ถูกลงโทษโดยกลุ่มชาติตะวันตก เพื่อเป็นการตอบโต้ที่ประเทศรัสเซียรุกรานยูเครน

ท่ามกลางความวิตกกังวลถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนของสโมสรแห่งนี้ กลับกลายเป็นว่าทุกอย่างยังคงดำเนินไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เชลซียังคงเดินหน้าล่าแชมป์ และล่าสุดพวกเขาได้รับการยืนยันแล้วว่าจะเดินหน้าในตลาดซื้อขายต่อไปไม่ว่าจะได้เจ้าของใหม่หรือไม่

 

Main Stand จะลองมาอธิบายว่าทำไมเชลซีที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลจึงเอาตัวรอดได้ก่อนที่เจ้าของใหม่จะมาถึง ทั้งที่ถูกปิดกั้นไม่ให้แสวงหาผลกำไรมากมายเหมือนเมื่อก่อน

ควบคุมกิจการโดยรัฐบาลอังกฤษ

การแทรกแซงและเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสรเชลซีถือเป็นหนึ่งในมาตรการตอบโต้การบุกรุกยูเครนของประเทศรัสเซียโดยรัฐบาลของประเทศฝั่งตะวันตก ซึ่งผู้เป็นเจ้าของสโมสรเชลซีอย่าง โรมัน อบราโมวิช ที่ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโอลิการ์ก (Oligarch) หรือมหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่มีส่วนช่วยในการผูกขาดอำนาจของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของแดนหมีขาว

ประเทศฝั่งยุโรปตะวันตกจึงดำเนินการยึดทรัพย์สินทั้งหมดของกุ่มโอลิการ์กกลับคืนมาเป็นของรัฐบาล โดยหนึ่งในทรัพย์สินของ โรมัน อบราโมวิช คือ สโมสรฟุตบอลเชลซี จึงเป็นเหตุผลให้ในวันที่ 10 มีนาคม 2022 รัฐบาลอังกฤษประกาศลงโทษอบราโมวิชอย่างเป็นทางการ พร้อมกับตัดสิทธิ์การเป็นเจ้าของเชลซี และกำหนดให้สโมสรแห่งนี้ถูกบริหารภายใต้ใบอนุญาตพิเศษจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

การเข้ามาควบคุมสโมสรเชลซีของพรีเมียร์ลีกส่งผลให้แผนการขายทีมของอบราโมวิชที่ประกาศไปไม่กี่วันก่อนหน้าคำสั่งดังกล่าวหยุดชะงัก และรัฐบาลอังกฤษจะเป็นผู้ดูแลการซื้อขายสโมสรนับจากนี้ โดยพรีเมียร์ลีกยืนยันว่าการเข้ามาแทรกแซงการดำเนินกิจการสโมสรฟุตบอลแห่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลงานในสนามของทีม โดยอำนาจในการฝึกซ้อมและส่งทีมลงแข่งขันจะอยู่ที่บุคลากรเดิมทั้งหมด

อย่างไรก็ตามภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือการหากำไรเข้าสู่สโมสรจะถูกแทรกแซงโดยส่วนกลางใหม่ทั้งหมด เชลซีจะถูกสั่งห้ามในเบื้องต้นไม่ให้รับเงินจากตั๋วที่ยังไม่ได้ขายให้กับแฟนบอล, ไม่สามารถรับเงินจากการขายสินค้าในช็อปสโมสร และไม่อนุญาตให้ซื้อขายนักเตะหรือแม้กระทั่งเสนอสัญญาใหม่ให้กับผู้เล่นในทีม

การเข้ามาแทรกแซงกิจการตรงนี้ของรัฐบาลอังกฤษไม่ได้เป็นไปเพื่อบ่อนทำลายสโมสรเชลซี แต่เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจตกสู่มือของ อบราโมวิช ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐบาลอังกฤษคว่ำบาตรอยู่ ในทางกลับกันรัฐบาลอังกฤษจะมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของสโมสรเชลซีให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรักษามูลค่าของสโมสรแห่งนี้ไว้ให้ได้มากที่สุด ก่อนการขายสโมสรจะเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า

อยู่รอดด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐ

ความจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้แต่มีน้อยคนนักจะสังเกตเห็นคือ ยิ่งรัฐบาลอังกฤษถือครองสิทธิ์การบริหารเชลซีนานเท่าไหร่พวกเขาก็มีแต่จะเสียผลประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น 

เนื่องจากรัฐบาลต้องอัดฉีดเงินมากมายเข้าไปผยุงกิจการให้มีสถานภาพไม่ต่างจากช่วงเวลาที่มี โรมัน อบราโมวิช เป็นเจ้าของ ซึ่งอย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่ารัฐบาลอังกฤษปิดช่องทางทุกอย่างไม่ให้สโมสรเชลซีมีรายได้ เพื่อขัดขวางไม่ให้ผลกำไรตกถึงกระเป๋านักธุรกิจชาวรัสเซีย

ดังนั้นแล้วรัฐบาลอังกฤษจะไม่ได้กำไรหรือผลประโยชน์ใดจากการถือครองสโมสรเชลซีเช่นเดียวกัน ซ้ำร้ายพวกเขามีแต่จะต้องนำงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือทีมฟุตบอลแห่งนี้ เนื่องจากการแข่งขันฟุตบอลยังคงดำเนินต่อไป ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเหนื่อยนักเตะ, ค่าจ้างทีมงาน หรือค่าเดินทาง จึงอยู่ในการดูแลของรัฐบาลอังกฤษแต่เพียงผู้เดียว

รัฐบาลอังกฤษได้มีคำสั่งมอบเงินสนับสนุนแก่สโมสรเชลซีในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายใต้ใบอนุญาตพิเศษที่ถูกแก้ไขเพื่อทีมโดยเฉพาะ แบ่งเป็นเงิน 9 แสนปอนด์สำหรับการจัดแมตช์ในบ้าน และเงินประมาณ 2 หมื่นปอนด์สำหรับค่าเดินทางในแมตช์เยือน

 

เงิน 9 แสนปอนด์ หรือ เกือบ 40 ล้านบาทต่อการเล่นในบ้านหนึ่งนัด ถือเป็นเงินที่เชลซีสามารถนำไปอุดรอยรั่วในเรื่องค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการมอบเงินตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลอังกฤษที่จะรักษาสถานภาพการเงินของสโมสรแห่งนี้เอาไว้

เพราะในตอนแรกมีการอนุมัติงบให้เชลซีใช้จ่ายเพียง 5 แสนปอนด์ต่อหนึ่งเกมเหย้า หรือราว 22 ล้านบาท แต่หลังจากผ่านไปเพียงสองวันมีการประเมินแล้วว่าเงินเพียงเท่านี้จากรัฐบาลจะไม่สามารถพยุงสถานะของสโมสรได้จึงมีการเพิ่มเงินสนับสนุนแก่เชลซีเกือบเท่าตัวภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษยังอนุญาตให้เชลซีรับเงินรางวัลจากการแข่งขันทุกรายการได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็น พรีเมียร์ลีก หรือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เนื่องจากเงินตรงนี้จะไม่สร้างผลประโยชน์ให้กับ โรมัน อบราโมวิช แต่จะเข้าสู่คลังของสโมสรเชลซีโดยตรง เพื่อเตรียมพร้อมให้กับเจ้าของคนถัดไป

ความพยายามของรัฐบาลอังกฤษในการรักษาสถานะทางการเงินของสโมสรเชลซีคือหลักประกันชั้นดีที่จะช่วยยืนยันว่าทีมฟุตบอลแห่งนี้จะไม่ได้รับผลกระทบขนาดใหญ่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเจ้าของ และเป็นเหตุผลที่ทำให้เชลซียังคงเดินหน้าไปได้ตลอดรอดฝั่งราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ไม่ล่มสลาย แต่สร้างความหวาดกลัว

ความกังวลที่มีต่อสโมสรเชลซีในปัจจุบันในสายตาบุคคลทั่วไปจึงเกิดจากการแทรกแซงสู่บริษัทเอกชนโดยรัฐบาล ซึ่งเป็นวิธีการตรงข้ามกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่ลดบทบาทรัฐบาลในการเข้าบริหารธุรกิจทั้งหมดและผลักธุรกิจเหล่านั้นสู่มือเอกชนหรือกลุ่มทุนนานาชาติ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากเศรษฐกิจในระบบตลาดให้ได้มากที่สุด

การเข้ามาครอบครองสโมสรเชลซีของ โรมัน อบราโมวิช เกิดขึ้นจากการเดินหน้านโยบายเสรีนิยมใหม่ของอังกฤษเช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้วการที่อยู่ดี ๆ รัฐบาลอังกฤษจะเข้ามาแทรกแซงทีมฟุตบอลแห่งนี้จึงสร้างความรู้สึกในแง่ลบและไม่มั่นคงแก่แฟนบอล ไม่เพียงเพราะมีการกำจัดเจ้าของทีมอันเป็นที่รักออกไป แต่วิธีการบริหารยังตรงกันข้ามกับแนวทางทุกอย่างที่พาเชลซีก้าวไปสู่แถวหน้าของวงการฟุตบอล

ขณะนี้ เชลซี ยังคงดำเนินกิจการต่อไปโดยไม่แสวงหากำไรเป็นหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ตรงนี้ไหลเข้าสู่กระเป๋าของ โรมัน อบราโมวิช ซึ่งการดำเนินธุรกิจโดยไม่ให้ความสำคัญแก่การหากำไรตรงข้ามกับแนวคิดของโลกปัจจุบันที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ากำไรคือเรื่องสำคัญ และภาวะขาดทุนคือเรื่องคอขาดบาดตาย

 

หากย้อนกลับไปในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การบริหารกิจการต่าง ๆ โดยรัฐบาลถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นแล้วการที่สโมสรเชลซีจะล่มสลายหรือไม่สามารถเอาตัวรอดได้ภายในระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมา จึงเป็นไปไม่ได้เลย ยิ่งบวกกับความตั้งใจของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการพยุงสโมสรแห่งนี้เอาไว้ เชลซีแทบไม่ต้องเป็นกังวลกับชะตากรรมของพวกเขาในระยะสั้นเลย

ฝ่ายเดียวที่จะได้รับผลกระทบหากสโมสรเชลซียังดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ต่อไปคือรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งนั่นเป็นเพราะรัฐบาลต้องชดเชยเงินมหาศาลแก่ทีมฟุตบอลแห่งนี้ นี่คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติของโลกทุนนิยม อันนำมาสู่การล่มสลายของแนวคิดประชาธิปไตยสังคมนิยม และการกำเนิดของเสรีนิยมใหม่

เพราะรัฐบาลไม่อยากแบกรับภาระหรือการชดเชยแก่ธุรกิจใดที่มีแต่จะทำให้รัฐบาลสูญเสียเงิน จึงนำมาสู่การผลักทุกธุรกิจให้ดำเนินไปในระบบเอกชน นำมาสู่การเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากการขยายตัวของตลาดและความพยายามในการแสวงหาผลกำไรอย่างเสรี

มีการประเมินว่า โรมัน อบราโมวิช ต้องการเงินเป็นค่าตอบแทนจากการขายสโมสรเชลซีจำนวน 3 พันล้านปอนด์ แต่หลังจากรัฐบาลอังกฤษเข้าแทรกแซงกิจการสโมสรแห่งนี้ ราคาได้ลดเหลือราว 2 พันล้านปอนด์ เนื่องจากต้องการหาเจ้าของใหม่ให้ได้ภายในเส้นตาย 31 พฤษภาคมที่ได้ขีดเส้นไว้ เพื่อกำจัดภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องแบกรับไว้ในช่วงเวลานี้

เชลซีไม่มีทางล่มสลายหากอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลอังกฤษ แต่รัฐบาลอังกฤษจะเสียเงินมหาศาลเพื่อพยุงสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ขณะนี้มีการผลักดันทุกทางเพื่อให้การซื้อขายสโมสรเชลซีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อผลักทีมฟุตบอลแห่งนี้กลับเข้าสู่โลกเสรีนิยมใหม่อีกครั้ง

นี่คือเหตุผลว่าทำไมเชลซีถึงยังเอาตัวรอดได้ในช่วงก่อนเจ้าของใหม่ นั่นเพราะการเข้ามาแทรกแซงธุรกิจโดยรัฐบาลและชะลอการแสวงหาผบกำไรของกิจการ ฃไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายแบบที่หลายคนเข้าใจ 

แต่ถึงอย่างไร เชลซี จำเป็นต้องรีบกลับสู่การบริหารโดยเอกชนให้เร็วที่สุด เพราะพวกเขาคือแกะดำท่ามกลางแกะขาวในโลกเสรีนิยมขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะอดทนถือสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ได้อีกนานแค่ไหน 

ดังนั้นแล้ว เจ้าของรายใหม่คือสิ่งที่เชลซีต้องการ ไม่ใช่เพื่อปัจจุบัน แต่เป็นเพื่ออนาคตของสโมสรเอง