ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของกลุ่มทุนกาตาร์ ได้ทำให้แฟนบอลของ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง คึกคัก เมื่อเม็ดเงินจำนวนมหาศาลแปรเปลี่ยนให้ทีมรักของพวกเขาก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการฟุตบอลระดับทวีป
อย่างไรก็ดีในอีกด้านหนึ่งของเมือง กลับมีทีมเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง แต่กล้าท้าชนกับ PSG ในแง่การดึงดูดแฟนบอล ที่ไม่ใช่แค่ในปารีส แต่เป็นทั่วโลก
เรด สตาร์ เอฟซี คือชื่อของทีมนี้ พวกเขาคือใคร ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
สโมสรเก่าแก่ในย่านเสื่อมโทรม
Rue du Dr. Bauer ของ แซงต์ ตวน (Saint Ouen) อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหู เมื่อเขตที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของปารีสแห่งนี้ คือย่านที่พักอาศัยที่รายล้อมไปด้วยแฟลตห้าชั้นและมีร้านค้าอยู่ประปราย
มันคือย่านที่มีรถจอดเรียงรายแน่นขนัดอยู่ข้างถนน แถมตามหน้าต่างหรือประตูยังเต็มไปด้วยภาพกราฟฟิตี้ ทำให้ย่านนี้ดูเสื่อมโทรมมากกว่าเก๋ไก๋ และอยู่ห่างไกลจากคำว่า “ย่านที่น่าอยู่ที่สุดของปารีส” อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดีย่านที่ไม่ค่อยสำคัญแห่งนี้กลับเป็นที่ตั้งของหนึ่งในสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ชื่อของพวกเขาคือ เรด สตาร์ เอฟซี
Photo : athletamag.com
สโมสรแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1897 ด้วยความคิดของ จูลส์ ริเมต์ (ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ) กับเพื่อน ที่ปิ๊งไอเดียตอนนั่งเล่นอยู่ในคาเฟ่แห่งหนึ่งในกรุงปารีส
พวกเขาได้ก่อตั้งทีมที่มีชื่อว่า เรด สตาร์ คลับ ฟรองเซส์ ขึ้นมา และเปลี่ยนชื่อเป็น เรด สตาร์ อมิคอล คลับ ในปี 1904 ก่อนจะย้ายมาเล่นใน สตาเด บัวร์ รังเหย้าปัจจุบันในเขตแซงต์ ตวน มาตั้งแต่ปี 1910
พวกเขามีผลงานที่โดดเด่นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสามารถคว้าแชมป์ คูป เดอ ฟรองซ์ (เทียบได้กับ เอฟเอ คัพของอังกฤษ) ถึง 5 สมัยจากการเข้าชิงชนะเลิศ 5 ครั้ง
ทว่าเมื่อไฟสงครามมอดลง เรด สตาร์ ก็ไม่สามารถกลับไปจุดเดิมได้อีกเลย
Photo : beyondthelastman.com
เพราะนอกจากการเข้าชิงชนะเลิศ คูป เดอ ฟรองซ์ อีกครั้งในปี 1946 (และทำได้เพียงแค่รองแชมป์) เรด สตาร์ ก็กลายเป็นโยโย่ทีมที่ขึ้นๆ ลง ๆ ระหว่างลีกสูงสุดและลีกรอง แถมยังมีปัญหาด้านการเงินจนถูกควบรวมกิจการกับทีม ตูลูส เอฟซี (ไม่ใช่ทีมตูลูสในปัจจุบัน) ในปี 1967
1974-75 คือฤดูกาลสุดท้ายที่แฟนบอลได้เห็น เรด สตาร์ ลงเล่นในลีกสูง เพราะหลังจากนั้นพวกเขาหายหน้าไปอย่างสมบูรณ์ แถมในปี 2005 ยังกระเด็นตกลงไปเล่นในลีกระดับ 6 และวนเวียนอยู่ในลีกระดับ 2 และ 3 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีแม้จะมีสถานะเช่นนี้ แต่ เรด สตาร์ ก็มีเป้าหมายที่จะทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยที่ไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอลเท่านั้น แต่รวมไปถึง “ตัวตน” ของพวกเขา
พื้นที่แห่งความเท่าเทียม
“เรด สตาร์ มีสิ่งที่สวยงามและประวัติศาสตร์อันยาวนานที่สมควรให้ผู้คนได้ยิน” ดาวิด เบลลิยง อดีตแข้ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่รั้งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ เรด สตาร์ กล่าวกับ BBC
Photo : www.leparisien.fr
เรด สตาร์ ถือเป็นสโมสรที่คุ้นเคยกับความหลากหลายทางสังคมมาตั้งแต่อดีต เมื่อย่าน แซน แซงต์ เดนิส ในเขตแซงต์ ตวน ที่สโมสรตั้งอยู่คือแหล่งพักพิงของผู้อพยพจากอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส ที่เต็มไปด้วยผู้คนเชื้อสายแอฟริกาและแคริบเบียน
จิตสำนึกในเรื่องการยอมรับความแตกต่าง จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตสำนึกของคนในย่านนี้ รวมไปถึงแฟนบอลของ เรด สตาร์ ที่ถึงขนาด ฟรองซัวร์ โอลอง อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเคยมาเยือน สตาเดอ บัวร์ สมัยเด็กยังพูดว่า เรด สตาร์ มีความสำคัญในการสะท้อนว่าฝรั่งเศสเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
“มันเคยเป็นเรื่องเพ้อฝันมาตลอด ริเมต์ก่อตั้งทีมขึ้นมาด้วยแนวคิดของการไม่มีสถานะทางสังคม ให้มันเป็นสมาคมของกีฬาและวรรณคดี มันไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่มันส่งเสริมความสมดุลระหว่างชนชั้น” อดีตเยาวชนฝรั่งเศสกล่าวต่อ
แนวคิดดังกล่าวยังคงสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่นชุดแข่งของพวกเขาในฤดูกาลนี้ ก็ใช้วิธีออกแบบให้ตรงตราสโมสรเป็นตีนตุ๊กแก เพื่อให้แฟนบอลสามารถเอาตรามาปิดทับได้ให้สามารถใช้เป็นชุดลำลอง และหนึ่งในตราที่มีให้เลือกคือตราที่มีข้อความว่า “ยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัย”
Photo : footballpink.net
หรือสปอนเซอร์คาดอก พวกเขาก็ได้ LinkedOut โครงการช่วยเหลือคนไร้บ้านและคนพิการให้มีงานทำมาเป็นผู้สนับสนุน ขณะที่ชุดแข่งฤดูกาลที่แล้วก็มาในแนวให้ความรู้ ด้วยการมีรูปสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในชุมชน เพื่อเชิดชูความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่
นอกจากนี้อีกหนึ่งความโดดเด่นในชุดแข่งของพวกเขาในฤดูกาลก่อน คือรูปของ ริโน เดลลา เนกรา อดีตนักเตะของ เรด สตาร์ และนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ที่ถูกนาซีประหารชีวิตตอนเข้ายึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทำให้ทีมมีภาพลักษณ์ที่เอียงไปทางฝ่ายซ้าย
Photo : the18.com
Photo : www.sportbible.com
“เราพัฒนาไอเดียบางอย่างที่ดีมาก ๆ เพราะเราไม่ต้องกลัวว่ามันจะถูกตีความว่าอย่างไร สิ่งที่เราต้องการก็แค่จริงใจก็พอ” เบลลิยง อธิบาย
“มันลึกมากจริง ๆ และเราก็ไม่ได้แสร้งทำ เราไม่ได้ซื้อวัฒนธรรมเพราะว่าเราไม่สามารถทำได้ แต่เรารักที่จะสร้างวัฒนธรรม นั้นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงทำต่างออกไป”
Photo : www.humanite.fr
และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ เรด สตาร์ กล้าที่จะท้าชิงความนิยมจาก ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทีมมหาเศรษฐีของเมือง ที่ไม่ใช่แค่ระดับประเทศแต่เป็นระดับโลก
แข่งกันด้วยเรื่องนอกสนาม
เมื่อมองจากภายนอก เรด สตาร์ กับ เปแอสเช อาจจะดูต่างกันราวฟ้ากับเหว โดยเฉพาะหลังจากปี 2012 ที่ เปแอสเช ยกระดับขึ้นมาเป็นทีมระดับทวีป หลังการเข้ามาเทคโอเวอร์ของกลุ่มทุนจากตะวันออกกลางอย่าง Qatar Sports Investment (QSI)
เม็ดเงินจำนวนมหาศาลสามารถเนรมิตรให้ เปแอสเช กลายเป็นกาลาคติกอส ด้วยนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ที่ถูกซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เนย์มาร์ เจ้าของสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดในโลก คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ว่าที่ยอดดาวยิงแห่งยุค หรือล่าสุด ลิโอเนล เมสซี่ นักเตะที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดในโลก
Photo : psgtalk.com
สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ เปแอสเช มีผลงานที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ยังทำให้พวกเขาสามารถดึงดูดแฟนบอลจากทั่วโลก เพราะหลายคนก็อยากจะเห็นนักเตะระดับโลกเล่นด้วยกัน และไม่แปลกที่มันทำให้ชื่อเสียงของ PSG ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เช่นเดียวกันกับ เรด สตาร์ พวกเขาก็มีเป้าหมายที่จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ด้วยแนวทางที่ต่างออกไป นั่นคือการนำเสนอ “ตัวตน” ของสโมสร ด้วยการนำปรัชญาและแนวคิดมาแปรเปลี่ยนให้เป็นสินค้าสุดเท่ ที่ไม่ว่าใครก็อยากได้ และบางครั้งก็ผลิตออกมาแบบจำกัดจำนวน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับมัน
“วันหนึ่งผมอยู่ที่โตเกียวแล้วเล่นฟุตบอลที่นั่น และผมก็เห็นผู้ชายสวมเสื้อสีส้มของ เรด สตาร์ เราผลิตแค่ 20 ตัวให้กับ Colette ร้านค้าในปารีส” เบลลิยง กล่าวกับ BBC
“นั่นไม่ได้ทำให้เรารวย แต่เมื่อคุณมองไปที่มัน นึกถึงความรักและความหลงใหลที่เราทำให้มันอยู่เคียงข้างสโมสร แน่นอนคุณจะรู้สึกถึงความสุขและพูดได้ว่ามันได้ผล บางคนรู้สึกโดนใจกับเรื่องราวเหล่านี้”
นอกจากนี้ เรด สตาร์ ยังได้จับมือกับเหล่าผู้คนในหลากหลายอาชีพ ทั้ง ศิลปิน นักดนตรี ช่างภาพ ดีไซเนอร์ มาผลิตผลงานร่วมกัน เบลลิยงเชื่อว่าการนำเสนอในรูปแบบใหม่ ๆ จะสามารถเชื่อมต่อแฟน ๆ ได้มากขึ้น เป็นวิธีการที่จะเชื่อมต่อพวกเขาไปสู่ระดับโลก
Photo : www.theguardian.com | footpack.fr
“ผมอยากแสดงให้เห็นว่า เรด สตาร์ ไม่ใช่แค่สโมสรฟุตบอลแต่เป็นวิถีชีวิต เราจับมือกับ Racket Paris สตูดิโอแฟชั่นในปารีสให้ออกแบบเสื้อแข่งให้กับเรา และเราก็กำลังทำงานกับนักออกแบบหลายกลุ่มเพื่อดูแลเสื้อผ้าและอุปกรณ์เสริมของเรา” เบลลิยง กล่าวกับ The Guardian
“เรากำลังทำงานกับ Hotel Radio Paris และ Airplane Mode V1 ที่ดูแลเพลงในสนาม และในกิจกรรมของเรา เราเอา เลโอ มาร์ซอล ผู้กำกับศิลป์ และ ยาน เลวี ช่างภาพฝีมือเยี่ยมมาทำงานด้วย ภาพของเขาสวยงามด้วยมุมมองทางสังคม เขาคือ เคน โลช ในโลกการถ่ายภาพ ผมกำลังทำงานกับผู้คนมากมายเพื่อแฟนของเรา และทั้งหมดนี้ก็ทำให้มันน่าสนใจ”
“ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ เป้าหมายของผมคือเป็นสะพานระหว่าง เรด สตาร์ กับโลกของศิลปะ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ ทั้ง ดนตรี แฟชั่น การถ่ายรูป อาหาร กิจกรรม แต่เป็นมุมมองใหม่ ๆ”
อย่างไรก็ดียังมีอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
ส่งต่อวัฒนธรรม
นอกจากในเรื่องการตลาดแล้ว เบลลิยงมองว่าการให้ความรู้และหล่อหลอมนักเตะเยาวชนในทีมให้เป็นพลเมืองที่ดีคือหนึ่งในพันธกิจของสโมสรที่สำคัญกว่าผลงานในสนามเสียอีก
“แน่นอนว่าการทำผลงานให้ดีและพยายามเลื่อนชั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่เรามีเด็กอยู่ราว 500 คน ในทีมรุ่นอายุไม่เกิน 6 ปี ที่จะขึ้นไปอยู่ในทีมสำรอง ดังนั้นการสร้างวัฒนธรรมและให้การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตของพวกเขา” เบลลิยง ที่แขวนสตั๊ดกับ เรด สตาร์ เมื่อปี 2016 บอกกับ BBC
“เราอยากจะใช้สโมสรฟุตบอลเป็นตัวส่งข้อความออกไปว่า เราอยากให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ดี เราต้องสอนพวกเขาทั้งเรื่องร่างกายและความคิด”
Photo : www.redstar.fr
ด้วยแนวคิดนี้ทำให้ เรด สตาร์ มีโครงการที่ชื่อว่า เรด สตาร์ แล็บ หรือโครงการที่พวกเขาจะเป็นเจ้าภาพเวิร์กช็อปในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องฟุตบอล
“ช่วงปิดเทอมในทุกวันพุธ เด็ก ๆ จะมีโอกาสได้เล่น เรียนรู้ และทดลองสาขาวิชาต่าง ๆ มันอาจจะเป็นการถ่ายภาพ สตรีทอาร์ต ทำอาหาร หรือการเต้น” เบลลิยง กล่าวกับ The Guardian
“พวกเขาทำแฟนซีน (Fanzine) ของ เรด สตาร์ เราได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนมากมาย ทั้งช่างภาพ นักหนังสือพิมพ์ ศิลปิน และใครก็ตามที่สามารถช่วยเด็กในเชิงสร้างสรรค์ มันคือวิธีที่ทำให้เด็กได้พบกับแพชชั่นในด้านอื่น”
เบลลิยงย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เยาวชนของสโมสรมีทางเลือกหากไม่ประสบความสำเร็จในสายฟุตบอล แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจ
“ถ้า 10 ปีหลังจากนี้คุณได้เห็นเด็กพวกนี้บอกว่าฉันได้ทำงานที่ BBC เพราะฉันชอบสื่อ คนหนึ่งบอกว่าฉันทำงานที่ไนกี้ อีกคนบอกว่าที่ StockX ส่วนอีกคนได้แสดงงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้คือชัยชนะที่มีค่ามากกว่าการคว้าแชมป์หรือได้ชูถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีกเสียอีก” เบลลิยง กล่าวกับ BBC
Photo : www.facebook.com/RedStarFC.Officiel
อย่างไรก็ดี เบลลิยง ก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้มีปัญหากับแนวทางการทุ่มเงินซื้อนักเตะเพื่อดึงดูดแฟนบอลของ PSG เพราะสโมสรก็ต่างเคารพจุดยืนซึ่งกันและกัน เพียงแค่สิ่งที่ เรด สตาร์ กับ PSG คิด นั้นแตกต่างกันด้วยรากเหง้าของสโมสร
“ลูกชายของผมชอบดู คีลิยัน เอ็มบัปเป้ และ เนย์มาร์ และมันก็เป็นเรื่องปกติ การได้ดูเกมใหญ่มันสนุกอยู่แล้ว แต่มันเป็นเหมือนหนังทำเงินในแง่การตลาด” เบลลิยง อธิบาย
“แม้ว่าเรามีเงินเราก็ไม่ได้ทำแบบนั้น เพราะเราน่าจะทำในแบบอินดี้มากกว่านั้น แต่เราก็ร่วมงานกับ Foot Locker ร่วมงานกับ Vice เราไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นคนเย่อหยิ่งเพราะว่าเราลงลึกไปในวัฒนธรรมเหล่านี้ แต่นั่นคือสิ่งที่เราชอบ”
“เรามีวิธีคิดที่ต่างออกไป วิธีสื่อสารที่ต่างออกไป”
Photo : www.facebook.com/RedStarFC.Officiel
“เราดึงดูดผู้คนจำนวนมากที่เราอยากดึงดูด เรายินดีต้อนรับทุกคน ยกเว้นคนที่เกลียดคนเพศที่สาม พวกนั้นคือฟาสซิสต์ ถ้าเขาแสดงกิริยาเกลียดชังอะไรในสนาม พวกเขาจะไม่เป็นที่ต้อนรับอีกต่อไป แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนะ”
ปัจจุบัน เรด สตาร์ กำลังต่อสู้อยู่ใน Championnat National ลีกระดับ 3 ของแดนน้ำหอม ท่ามกลางการสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นจากแฟนที่จงรักภักดี และสิ่งที่พวกเขาทำก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สำหรับธุรกิจฟุตบอลมันมีอะไรมากกว่ารายได้จากการถ่ายทอดสด สัญญาจากบริษัททีวี หรือเงินค่าตัวจากการย้ายทีมของนักเตะ
Photo : www.facebook.com/RedStarFC.Officiel
“เรามีแฟนที่เป็นเอกลักษณ์มากที่สุด พวกเขามีส่วนร่วมทางสังคมจริง ๆ ช่วยเหลือผู้คนในยามยาก ใช่ พวกเขาทำกิจกรรมทางการเมือง แต่พวกเขาก็ทำไปเพื่อปลูกฝังการยอมรับความคิดเห็นคนอื่นไปสู่ทุกคน” เบลลิยง กล่าวกับ The Guardian
“พวกเขาร้องเพลงและส่งเสียงเชียร์ผู้เล่นไม่ว่าจะทำประตูได้หรือไม่ สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติมากในฝรั่งเศส”
นั่นเป็นเพราะสำหรับ เรด สตาร์ แล้ว ฟุตบอลไม่ใช่แค่คน 11 คนมาเตะบอลด้วยกัน