sportpooltoday

เป็นร้อยเลยเหรอพี่? : หากฟุตบอลแข่งกัน 100 นาทีจะช่วยเพิ่มเวลาลงแข่งในสนามได้จริงไหม?


เป็นร้อยเลยเหรอพี่? : หากฟุตบอลแข่งกัน 100 นาทีจะช่วยเพิ่มเวลาลงแข่งในสนามได้จริงไหม?

กลับมาอีกแล้วกับข่าวลือว่า ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ อาจถูกเพิ่มเวลาแข่งขันไปอีก 10 นาที ให้มีเวลาลงแข่งรวมต่อหนึ่งแมตช์เป็น 100 นาทีด้วยกัน

แม้ในตอนนี้ ประเด็นดังกล่าวจะเป็นเพียงข่าวลือ แต่อะไรคือต้นเหตุจริงๆที่ทำให้เกิดข่าวดังกล่าวขึ้นมาได้? และการเพิ่มเวลาเล่นจาก 90 เป็น 100 นาที สามารถช่วยแก้ปัญหาอย่างเวลาลงเล่นน้อยเกินได้ไหม? โลกฟุตบอลจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใดหากกฎดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง?

มาลองวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หากฟุตบอลถูกต่อเวลาเพิ่มไปอีกว่าจะบรรลุสมดั่งเป้าหมายหรือจะเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ “ทำไปทำไม? ทำไปเพื่ออะไร?” กันแน่

ฟุตบอลเตะกี่นาที?

ฟุตบอลต้องเตะกัน 90 นาที โดยแบ่งเป็นสองครึ่ง ครึ่งละ 45 นาที เป็นกฎที่แฟนบอลหลายท่านเริ่มเรียนรู้กันมาตั้งแต่แรกเข้าวงการ แต่คำถามคือ ใครล่ะเป็นคนนิยามว่าฟุตบอลต้องเตะกันแบบนี้? อิงมาจากอะไรเป็นหลัก?

1คำตอบแบบขวานผ่าซากของประโยคข้างต้นคงไม่พ้นคำว่า “เขาทำมาตั้งนานแล้ว” เพราะการแข่ง 90 นาที แบบครึ่งละ 45 นาทีนั้น ถูกระบุไว้ใน กฎเชฟฟิลด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นต้นแบบที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวงการลูกหนังยุคปัจจุบัน

ถึงกระนั้น แมตช์ฟุตบอลก็ไม่เคยแข่งขันถึง 90 นาทีเต็มได้อยู่แล้ว เพราะไม่เหมือนฟุตซอลหรือบาสเกตบอล ที่นาฬิกาจะหยุดเดินเมื่อมีจังหวะฟาวล์หรือเมื่อบอลออกไปนอกขอบเขตสนาม นาฬิกาของฟุตบอลนั้นดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยจะนำส่วนที่เกมหยุดเล่นไปทดเพิ่มในช่วงทดเวลาบาดเจ็บหลังแต่ละครึ่งแทน

มีการทดเพิ่ม 30 วินาทีสำหรับการเปลี่ยนตัวผู้เล่นหนึ่งคนและสำหรับการฉลองหลังทำประตูหรืออาการบาดเจ็บที่ต้องได้รับการปฐมพยาบาลในสนาม แต่นั่นไม่ได้รวมถึงช่วงเวลาที่ต้องได้ลูกทุ่ม ตั้งเตะจากประตู ฟรีคิก หรือ เตะมุม ที่ต่างเป็นตัวหยุดเวลาชั้นดีระหว่างเกมการแข่งขันเลยทีเดียว

Opta บริษัทเก็บบันทึกสถิติชื่อดังเปิดเผยว่า ในช่วง 110 นัดแรกของพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2021/22 มีค่าเฉลี่ยการเล่นบอลในสนามอยู่รวมแค่ 54 นาที 43 วินาทีเท่านั้น น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในฤดูกาล 2013/14 ถึง 2 นาทีเต็มๆด้วยกัน

นั่นคือ เราสูญเสียเวลาไปอย่างน้อย 35 นาทีโดยที่ลูกฟุตบอลไม่ได้กลิ้งอยู่ในสนาม โดยตัวเลขดังกล่าวนับรวมช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อช่วยลดจังหวะเสียเวลาเหล่านี้แล้วด้วย

2หากคิดว่าค่าเฉลี่ยของพรีเมียร์ลีกนั้นน้อยแล้ว ค่าเฉลี่ยของลีกรองลงมานั้นยิ่งลดหลั่นลงไปตามลำดับเพิ่มขึ้นอีก อย่างของแชมเปี้ยนชิพนั้นมีจังหวะเล่นบอลแค่ 51 นาที 41 วินาที, ลีกวันเหลือ 50 นาที 27 วินาที และ ลีกทูอยู่ที่ 49 นาที 44 วินาทีเท่านั้น

เกมระหว่าง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด กับ เบรนท์ฟอร์ด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2021 มีจังหวะที่ทั้งสองทีมเล่นบอลกันแค่ 41 นาที 33 วินาทีเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าเวลาของครึ่งหนึ่งเสียอีก และเกือบเทียบเท่ากับระยะเวลาที่นักฟุตซอลลงแข่งกันเลยด้วยซ้ำ

คำถามคือ ถ้ามีการพิจารณาขึ้นมาอย่างจริงจัง กฎเพิ่มเวลาแข่งขันอีก 10 นาทีให้รวมเป็น 100 นาทีต่อหนึ่งแมตช์ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่?

ถ่วงให้นานกว่าเดิม

ปัญหาสำคัญของการแข่งขันในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่เวลา 90 นาทีนั้นไม่เพียงพอ แต่เพราะสโมสรต่างๆล้วนพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากเวลาที่มีให้ได้มากที่สุด

3ทีมใหญ่อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล และ เชลซี อาจไม่มีปัญหาเรื่องการครองบอลเพื่อเปิดเกมบุกใส่คู่แข่ง ซึ่งอาจรวมไปถึงการขึงเกมบุกเพื่อรอจังหวะที่อีกฝ่ายก่อข้อผิดพลาดและชิงจังหวะทำประตูให้ได้ในทันที

แน่นอนว่าทีมระดับรองลงมาก็ต้องหาทางชิงการครองบอลคืนมาให้ได้ ที่รวมถึงการทำลายจังหวะเกมบุกจากการทำบอลออกนอกสนามหรือตัดฟาวล์ในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ฝ่ายรับได้หายใจโล่งขึ้นสักพักและมีสมาธิในการป้องกันประตูเพิ่มมากขึ้น

ลูกตั้งเตะ ไม่ว่าจะฟรีคิกหรือเตะมุมเริ่มเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญขึ้นทั้งกับผู้เล่นเกมรุกและเกมรับ หลายสโมสรมีการจ้างโค้ชมาดูแลการเปิดบอล การยืนตำแหน่ง และการซักซ้อมแผนการเข้าทำกันเป็นอย่างดี ซึ่งจังหวะเตรียมตัวเหล่านี้ล้วนกินเวลาการแข่งขันไปทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

จากกรณี เวสต์แฮม ยูไนเต็ด แพ้ เบรนท์ฟอร์ด ไป 1-2 แบบมีจังหวะลงเล่นกันจริงๆแค่ 41 นาที 33 วินาทีนั้น พบว่าทั้งสองทีมมีจังหวะเตะมุมมากถึง 17 ครั้ง และได้ลูกฟรีคิกไปรวม 29 รอบ ซึ่งทั้งคู่เป็นทีมที่เน้นกับลูกตั้งเตะมาก จนทำให้ 2 ใน 3 ประตูที่ยิงกันได้มีที่มาจากลูกเตะมุมและฟรีคิกไปอย่างละลูก

นั่นยังไม่รวมถึงจังหวะตั้งเตะจากประตูที่เรามักเห็นโกลสมัยใหม่ดึงเวลาตั้งแต่ตอนวางบอล เรียกกองหลังลงมารับลูก ก่อนจะดึงจังหวะด้วยการเปลี่ยนเป็นเปิดบอลยาวแทน หรือเมื่อได้ลูกทุ่มแล้วจะต้องรอให้ตัวทุ่มประจำทีมเดินทางมาถึงบอลก่อนแล้วจึงค่อยๆกินพื้นที่นอกสนามไปทีละนิดก่อนโยนบอลเข้ามา

4
5จริงอยู่ที่การเพิ่มเวลาเข้ามา 10 นาทีอาจช่วยให้ทีมมีเวลาลงเล่นกันมากขึ้น ทว่านั่นก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ดึงดูดให้สโมสรต่างๆหาทางถ่วงเวลาเพื่อดึงเกมมากยิ่งกว่าเดิม เช่น อาจยังครอบครองบอลในสนาม แต่เน้นจังหวะเคาะบอลไปมาในแนวรับเพื่อความปลอดภัยมากกว่าจะเลือกบุกโจมตีที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียบอล หรือเราอาจได้เห็นการการพาบอลไปที่มุมธงเพื่อประครองสกอร์มากขึ้นกว่าเดิม บวกเพิ่มเข้าไปกับจังหวะหยุดเกมต่างๆจากการตัดฟาวล์ หรือเมื่อลูกออกไปนอกสนามอยู่แล้ว

ในเมื่อการเพิ่มเวลาไม่น่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การแข่งขันไม่หยุดชะงักได้มากเพียงนี้ล่ะ? ลดเวลาลงไปงั้นหรือ?

ลดเวลาคือทางออก?

อาจฟังดูเป็นทางเลือกแบบกวนส้นเท้า แต่การลดเวลานั้นเคยถูกเสนอขึ้นมาจริงๆจากทางคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ หรือ IFAB ว่าให้ลดการแข่งขันลงเหลือเพียงครึ่งละ 30 นาที ซึ่งหมายถึงฟุตบอลหนึ่งแมตช์จะมีเวลาเหลือเพียง 60 นาทีเท่านั้น

6แต่สิ่งที่ถูกเพิ่มมาจากข้อเสนอนี้คือ นาฬิกาจะต้องหยุดเวลาเมื่อเกมหยุดด้วยเหมือนในฟุตซอลและบาสเกตบอลนั่นเอง

นั่นคือไม่มีอีกแล้วกับการนอนเจ็บเพื่อถ่วงเวลา วางบอลทำลูกตั้งเตะให้ช้าเพื่อดึงเวลาเพิ่มเติม เพราะตราบใดที่เสียงนกหวีดกรรมการยังไม่ดังขึ้น นาฬิกาจับเวลาก็ยังคงหยุดนิ่งอยู่กับที่เหมือนเดิม

หากพิจารณาจากตัวเลขที่หายไปถึง 30 นาที อาจเป็นข้อถกเถียงในมุมคนดูได้ว่า นี่คือการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือเปล่า? เพราะคุณกำลังจะตัดการแข่งขันให้น้อยลงกว่าเดิมถึงครึ่งชั่วโมง แล้วมันจะไปสนุกอะไรได้เท่าเดิมล่ะ?

ทว่าในความจริงแล้ว เวลาดังกล่าวยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวะการเล่นบอลในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ถึง 5 นาทีด้วยกัน และเวลาที่เสียไปนั้นก็คือจังหวะหยุดเกมที่ไม่ถูกนำมาบวกรวมกับนาฬิกาในสนามด้วย ซึ่งแปลว่าคุณอาจได้ชมเกมฟุตบอลที่ยาวนานขึ้นกว่าเดิม เมื่อรวมเวลาที่หยุดเข้ากับอีก 60 นาทีของการแข่งขันด้วยแล้ว

ข้อเสียอย่างเดียวที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ เรื่องของช่วงเวลาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่อาจต้องเผื่อไว้ให้กับจังหวะหยุดเกมของแต่ละนัด ซึ่งจะมีความมากน้อยไม่เท่ากันอยู่แล้ว และอาจกระทบต่อช่วงเวลาถ่ายทอดสดเกมถัดไปที่ต่อคิวรออยู่ได้ ไม่เหมือนกับกฎที่ใช้เวลา 90 นาทีแบบในปัจจุบันที่เมื่อรวมเวลาพักครึ่งแล้วก็ยังมีรอยต่ออีกราวครึ่งชั่วโมง เพื่อใช้สำหรับการทดเวลาบาดเจ็บต่างๆก่อนที่แมตช์ถัดไปจะเริ่มแข่งขันต่อ

7ดังนั้น หากเราจะเปลี่ยนมาจับเวลาแบบนี้กันจริงๆ นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์แล้ว ก็คงต้องมีการแก้ปัญหากับผู้ถือลิขสิทธิ์กันอย่างจริงจังอีกที พร้อมกับต้องมีการทดลองและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศกันเสียก่อน ซึ่งคงใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆกว่าที่ไอเดียบนหน้ากระดาษเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องจริงได้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับกรณีเพิ่มเวลาแข่งเป็น 100 นาทีที่ถูกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ออกมาปฏิเสธข่าวลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น ในตอนนี้ฟุตบอลก็ยังคงใช้เวลาแข่งขันกันอยู่ที่ 90 นาที เหมือนกับที่ผู้คนในศตวรรษก่อนได้เคยลงเล่นกันมา จนกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง