sportpooltoday

เปิดเบื้องหลังยุคทอง ‘เวลส์’ กับการเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในรอบ 64 ปี


เปิดเบื้องหลังยุคทอง ‘เวลส์’ กับการเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในรอบ 64 ปี

หากพูดถึงหนึ่งในประเทศที่กลายเป็นสีสันของฟุตบอลระดับชาติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “เวลส์” คือหนึ่งในนั้น จากประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จได้เริ่มสร้างตัวเองจนกลายเป็นขาประจำของการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติ

แต่ไม่มีความสำเร็จครั้งใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการผ่านเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย หลังจากเวลส์ผ่านรอบเพลย์ออฟ ด้วยการเอาชนะยูเครน 1-0 ทำภารกิจได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 1958 

64 ปีที่รอคอยของเวลส์สำเร็จผล ทั้งที่นักเตะทีมชาติชุดตัวจริงจำนวนมากเป็นแค่ตัวสำรองในระดับสโมสร พวกเขาปลุกความสำเร็จครั้งนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ติดตามไปกับ Main Stand

เริ่มต้นด้วยการสร้างเยาวชน

พูดถึงความสำเร็จของฟุตบอลระดับชาติ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่พูดถึงการพัฒนาเยาวชน เพราะหากไม่มีนักเตะรุ่นเยาว์ที่ยอดเยี่ยม ก็ยากที่จะสร้างอนาคตของทีมชาติให้ประสบความสำเร็จ

ทีมฟุตบอลมังกรแดงล้มเหลวมาตลอดหลายสิบปีโดยเป็นได้แค่ลูกไล่ของอังกฤษและสกอตแลนด์ จนเวลส์ตัดสินใจว่าจะลงทุนในการพัฒนานักเตะเยาวชนอย่างจริงจัง และต้องแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีตั้งแต่ยุคปี 2010s เป็นต้นไป

เวลส์เริ่มต้นด้วยการใช้ระบบศูนย์ฝึกอคาเดมีเป็นส่วนสำคัญ หลังจากเห็นว่าระบบการพัฒนานักเตะผ่านสโมสรฟุตบอลไม่ตอบโจทย์ความทะเยอทะยานอันแรงกล้าของเวลส์

เนื่องจากการพัฒนานักเตะผ่านสโมสรสามารถสร้างผู้เล่นได้จำนวนน้อย เนื่องจากเวลส์ไม่ได้มีทีมฟุตบอลอาชีพเยอะแยะทุกชุมชนทั่วประเทศแบบอังกฤษ แถมคุณภาพของโค้ชและทีมงานก็ด้อยกว่า 

ดังนั้นเวลส์จึงโฟกัสกับการสนับสนุนระบบศูนย์ฝึกเยาวชนแยกออกมาโดยเฉพาะ พร้อมกับสร้างโค้ชที่มีความรู้ด้านฟุตบอลเด็กโดยตรง ทำให้เวลส์ได้ทั้งเด็กที่เข้าสู่ระบบการเป็นนักฟุตบอลมากขึ้น พร้อม ๆ ไปกับได้โค้ชหนุ่มที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเข้ามาช่วยทำงานเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน

ในแต่ล่ะปีเวลส์ลงทุนด้วยงบประมาณราว ๆ 9 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 386 ล้านบาท เพื่อพัฒนาฟุตบอลระดับเยาวชนโดยเฉพาะ เพราะวงการฟุตบอลเวลส์ได้ตระหนักแล้วว่าหนทางเดียวที่จะสร้างฟุตบอลทีมชาติให้แข็งแกร่งได้คือต้องทุ่มทุนมหาศาลไปกับการสร้างแข้งรากอ่อน เพื่อให้วันหนึ่งพวกเขาจะกลายเป็นนักฟุตบอลที่แข็งแกร่งระดับโลก

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเวลส์ได้นักเตะอนาคตไกลรุ่นหนึ่ง ประกอบไปด้วย แกเรธ เบล, โจ อัลเลน, คริส กันเทอร์, นีล เทย์เลอร์, แอนดี้ คิง, แซม โวคส์ และ แอรอน แรมซีย์ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวหลักของทีมชาติเวลส์

 

นักเตะเหล่านี้ล้วนเล่นในลีกของประเทศอังกฤษในฐานะตัวจริง ซึ่งช่วยยกระดับฝีเท้าของพวกเขาต่อจากการสร้างรากฐานในระดับเยาวชน 

เมื่อนักเตะเหล่านี้อายุราว ๆ 25-27 ปี พวกเขาก็อยู่ในจุดที่พร้อมสำหรับการเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ดี และสร้างความสำเร็จให้กับทีมชาติด้วยการพาเวลส์ตีตั๋วเข้าสู่ฟุตบอลยูโร 2016 รอบสุดท้าย ก่อนจะสร้างเรื่องราวที่น่าเหลือเชื่อด้วยการผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้สำเร็จ เป็นการเปิดยุคทองของทัพมังกรแดงมาจนถึงปัจจุบัน

หา DNA ให้เจอ

การพัฒนาแข้งเยาวชนคือรากฐานที่ดีในการสร้างความสำเร็จให้กับฟุตบอลระดับชาติ แต่การมีนักเตะที่เปี่ยมด้วยความสามารถเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้หากแต่ต้องมีแนวทางการเล่นที่ชัดเจน ซึ่งจะกลายมาเป็นอัตลักษณ์ของฟุตบอลแต่ล่ะชาติด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้เวลส์ไม่มีแนวทางการเล่นที่โดดเด่นเลย และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถพัฒนาทีมไปในทิศทางเดียวได้ 

จนกระทั่งการสร้างทีมขึ้นมาใหม่ของเวลส์ตั้งแต่ยุคของ แกรี่ สปีด ผู้ล่วงลับ มาจนถึงยุคของ คริส โคลแมน แนวทางฟุตบอลของเวลส์ก็เริ่มเป็นไปอย่างชัดเจน นั่นคือเป็นฟุตบอลพลังที่วิ่งสู้ฟัดและให้ความสำคัญกับการเล่นในบ้าน

สำหรับการเล่นในสนามไม่ใช่เรื่องยากที่เวลส์จะดึงความขยันและความหนักหน่วงของนักเตะออกมา เพราะเป็นสไตล์ที่โดดเด่นของผู้เล่นบนเกาะอังกฤษอยู่แล้ว 

ด้วยแนวทางที่เหมาะสมจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอัตลักษณ์ให้เวลส์กลายเป็นทีมที่ตลอด 90 นาทีพร้อมจะทำประตูได้เสมอ และต่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ แข้งมังกรแดงก็พร้อมที่จะสู้เพื่อชิงความได้เปรียบกับคืนมาจนได้ 

แต่แค่แนวทางในสนามไม่ใช่ความได้เปรียบเพียงอย่างเดียวของเวลส์ แต่พวกเขายังให้ความสำคัญมากกับการเล่นในบ้านผ่านการดึงแฟนบอลเข้ามาสร้างความได้เปรียบให้กับทีมชาติในยามที่พวกเขาได้แข่งขันในประเทศของตัวเอง

“กำแพงสีแดง” คือชื่อเรียกของแฟนบอลทีมชาติเวลส์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมากองเชียร์นับหมื่นพร้อมเขาสนามไปเป็นพลังหนุนให้กับทีมชาติเวลส์สำหรับการเล่นในบ้าน ซึ่งสิ่งนี้ได้สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้เล่นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันที่บีบบังคับให้แข้งชาวเวลส์ต้องวิ่งสู้ฟัดต่อไปจนกว่าจะสิ้นเสียงนกหวีดสุดท้าย

ดูได้จากเกมรอบเพลย์ออฟคัดเลือกของฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา ในเกมที่เวลส์เสียเปรียบเรื่องเรื่องรูปแบบการเล่นที่เป็นรองกับยูเครน แต่ด้วยแฟนบอลเวลส์ที่แน่นขนัดสนามในฐานะเจ้าบ้านก็คอยกระตุ้นปลุกเร้าให้พวกเขามีสมาธิและต่อสู้ได้ตลอด 90 นาที

จนสามารถยันให้ทีมไม่เสียประตู ทั้งที่ยูเครนมีโอกาสยิงถึง 31 ครั้งตลอดทั้งเกม เก็บชัยชนะ 1-0 ผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สำเร็จ

เล่นเพื่อชาติ หัวใจเพื่อเวลส์ 

ถึงจะมีนักเตะที่ยอดเยี่ยมและอัตลักษณ์ฟุตบอลที่ชัดเจน แต่หากมองถึงนักเตะที่ยังรับใช้ทีมชาติเวลส์อยู่ในปัจจุบัน แฟนฟุตบอลคงเกาหัวไม่น้อยว่านี่คือทีมที่ยังอยู่ในยุคทองจริงหรือเปล่า

เพราะผู้เล่นหลายคนในทีมชาติเวลส์ผ่านจุดสูงสุดในระดับสโมสรและเข้าสู่ขาลงเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นสตาร์เบอร์หนึ่ง อย่าง แกเรธ เบล ที่แทบไม่ได้ลงสนามให้ เรอัล มาดริด ในฤดูกาลที่ผ่านมา, แอรอน แรมซีย์ ที่เล่นเป็นตัวจริงให้ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ในฟุตบอลลีกฤดูกาลนี้แค่ 3 นัดเท่านั้น

หรือผู้รักษาประตูมือหนึ่ง อย่าง เวย์น เฮนเนสซี่ ที่ได้ลงเล่นฟุตบอลเพียง 7 นัด ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา, โจ รอนดอน เซ็นเตอร์แบ็กตัวจริงที่ไม่ได้เล่นเป็นตัวจริงให้สเปอร์สแม้แต่เกมเดียวในพรีเมียร์ลีก ไปจนถึงกองหน้าตัวเป้า อย่าง คีฟเฟอร์ มัวร์ ที่ได้เล่นแค่ 4 เกมในปี 2022

ผู้เล่นตัวจริงกว่าครึ่งทีมของเวลส์ 2022 เป็นได้แค่ตัวสำรองในระดับสโมสร สถานการณ์แตกต่างจากเมื่อปี 2016 อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทอง แต่พวกเขาก็ยังสามารถหาแรงผลักดันที่จะรักษาช่วงเวลาอันยอดเยี่ยมตรงนี้เอาไว้

เคล็ดลับง่าย ๆ ของทีมชาติเวลส์คือแพชชั่นที่แตกต่างกันระหว่างตอนเล่นให้กับสโมสรและทีมชาติ พวกเขาพร้อมก้มหน้าเป็นตัวสำรองในระดับสโมสร แต่ถ้าได้สวมเสื้อทีมชาติเวลส์เมื่อไหร่พวกเขาจะใส่เต็มร้อยเสมอ และจะเค้นทุกหยดเพื่อแสดงความสามารถช่วยให้เวลส์เก็บชัยชนะให้ได้ 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทีมชาติเวลส์สร้างแคมเปญ “together stronger” เพื่อรวมใจทุกคนในประเทศเวลส์ให้เป็นหนึ่งเดียวในการสนับสนุนทีมฟุตบอลของชาติ ซึ่งไม่ได้มีผลกับแค่แฟนบอลเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงนักฟุตบอลทุกคนด้วยเช่นกัน

เพราะชาวเวลส์ก็ไม่ต่างจากชาวอังกฤษหรือชาวสกอตที่มีฟุตบอลอยู่ในทุกลมหายใจ และพวกเขาก็อยากเห็นทีมประสบความสำเร็จมาเนิ่นนาน รวมถึงนักฟุตบอลชุดปัจจุบันพวกเขาก็เคยเป็นแฟนบอลตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่มีความฝันอยากพาทีมชาติเวลส์ประสบความสำเร็จ

ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจะลงสนามให้เวลส์ พวกเขาก็จะไม่สนใจชื่อเสียง เงินทอง ของตอบแทนใด ๆ นี่ไม่ใช่ธุรกิจแต่นี่คือแพชชั่นล้วน ๆ ที่พวกเขาอยากจะพาทีมชาติเวลส์ก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“พวกเราไม่ใช่นักเตะที่เก่งที่สุด แต่พวกเราทุ่มทุกอย่างที่พวกเรามี ทุกความท้าทายที่เข้ามาเรารับมือกับมันได้หมด พวกเราทุกคนทำงานหนักเพื่อฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และเราทำได้ มันน่าเหลือเชื่อ เหมือนกับฝันไป” เบน เดวิส ปราการหลังของเวลส์กล่าว หลังตีตั๋วเข้าสู่ฟุตบอลโลกที่กาตาร์

แผนงานที่ยอดเยี่ยม แนวทางการเล่นที่ชัดเจน บวกกับทัศนคติด้านบวกในการเล่นให้ทีมชาติ กลายเป็นผลรวมที่ก่อให้เกิดยุคทองของทีมชาติเวลส์ จนทำให้พวกเขาคว้าเป้าหมายสูงสุดมาครองได้สำเร็จ

เรายังไม่รู้ว่ายุคทองของเวลส์จะไปสิ้นสุดตรงไหน แต่ก่อนจะมองไปถึงตรงนั้น จับตาพวกเขาในฟุตบอลโลก 2022 ให้ดี เพราะพวกเขาพร้อมแล้วกับการสร้างชื่อให้เวลส์อีกครั้งในแบบที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง