เรื่องโควตานักเตะอายุเกินในมหกรรมกีฬาไม่ว่าจะระดับโลกอย่างโอลิมปิก ระดับทวีปอย่างเอเชียนเกมส์ หรือระดับภูมิภาคอย่างซีเกมส์ มักจะมีการคำถามตามมาเสมอว่าแท้จริงแล้วมันจำเป็นหรือไม่ ? ควรใช้นักเตะโควต้าอายุเกิน 23 ปีเป็นแกนหลักของทีมแค่ไหน ? หรือควรให้โอกาสดาวรุ่งได้มีโอกาสในรายการเหล่านี้
เราจะไล่เรียงกันตั้งแต่เริ่มต้นว่าแท้จริงแล้วโควตาอายุเกิน 23 ปีที่ว่านี้มาจากไหน ใครเป็นคนตั้งกฎ และเอาเข้าจริงแล้วนักเตะโควตาเหล่านี้ช่วยยกระดับทีมได้มากแค่ไหน ? หรือมีเหตุผลใด ๆ ที่ควรใช้งานพวกเขา
ติดตามได้ที่ Main Stand
จุดกำเนิดโควตาอายุเกิน
เรื่องโควตาอายุเกินที่เรากำลังจะพูดถึงมีจุดเริ่มต้นมาจากมหกรรมกีฬาของมนุษยชาติอย่าง โอลิมปิก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการช่วยพัฒนาโลกและให้ความรู้แก่เยาวชนด้วยกีฬา ไม่ได้แข่งกันเพื่อชิงความเป็นเลิศที่ทุกคนต้องมาทุ่มเทและยอมแลกทุกอย่างเพื่อชัยชนะ เพราะพวกเขามองว่าอุดมการณ์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตั้งแต่ยุคโบราณจะถูกทำลาย ดังนั้น โอลิมปิกในช่วงแรก ๆ จึงห้ามส่งนักกีฬาระดับอาชีพมาแข่งขัน
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปโลกก็เริ่มเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย คำว่า “นักกีฬาอาชีพ” (เล่นกีฬาและได้เงินค่าจ้างแบบมีสัญญา) มีความหมายที่กว้างเกินกว่าจะจำกัดความได้ จึงมีการพยายามเปลี่ยนแปลงกฎการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ในแง่ของรายได้ในการแข่งขัน มีการเปิดกว้างกับนักกีฬาอาชีพมากขึ้น ให้ความสำคัญในแง่ของความเอ็นเตอร์เทน รวมถึงคุณภาพของการแข่งขัน ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อรายรับและกระแสตอบรับจากคนดูทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามสำหรับ กีฬาฟุตบอล นั้นมีความแตกต่างบางประการกับกีฬาชนิดอื่น ๆ เดิมทีฟุตบอลไม่ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในโอลิมปิกในช่วงแรก ๆ และถูกเริ่มบรรจุหลังยุค 1900s เป็นต้นมา เพราะฝ่ายจัดต้องการกระแสและกีฬาที่คนทั้งโลกอยากดู เพราะอย่างที่ทุกคนรู้กัน ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ของโลก
ในการบรรจุฟุตบอลเข้าไปในช่วงแรก ๆ ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก เนื่องจากกฎของการห้ามใช้นักกีฬาอาชีพทำให้คุณภาพการแข่งขันน้อยจนไม่น่าติดตาม ดังนั้นฝ่ายจัดจึงคิดว่าเมื่อจะแข่งทั้งทีก็ควรทำให้มันใหญ่ ๆ เบิ้ม ๆ ไปเลย การเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มขึ้นในปี 1984 ในโอลิมปิกที่ ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าพ่อแห่งสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ของโลก
แม้คณะกรรมการโอลิมปิก หรือ IOC จะยกมือสนับสนุนโนบายนี้ที่อนุญาตให้นักกีฬาอาชีพลงสนามได้กันอย่างพร้อมเพรียง แต่การ “จัดเต็มในฟุตบอลโอลิมปิก” กลับถูกคัดค้านโดย FIFA เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากโอลิมปิกเต็มไปด้วยนักเตะระดับแถวหน้าของโลก รายการหลักที่ทำเงินมหาศาลของ FIFA อย่าง ฟุตบอลโลก ก็จะถูกลดค่าลง
กล่าวคือ หาก FIFA ปล่อยฟรีให้ทุกชาติสามารถส่งนักเตะที่ดีที่สุดมาแข่งขันในโอลิมปิกได้ นั่นเท่ากับว่ามันจะกลายเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกขนาดย่อม ๆ และมันจะส่งผลกระทบต่อกระแสของฟุตบอลโลกอย่างแน่นอน
ดังนั้นการตกลงกันระว่าง FIFA และ IOC จึงได้ข้อสรุปในท้ายที่สุดว่า เพื่อให้ฟุตบอลในโอลิมปิกยังคงน่าติดตามและฟุตบอลโลกก็ยังไม่เสียคุณค่าไป พวกเขาเลยพบกันครึ่งทางด้วยการจำกัดไม่ให้นักฟุตบอลจากทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ที่เคยผ่านเวทีฟุตบอลโลกมาแล้วลงเล่นในปี 1984 และ 1988 ก่อนที่ในปี 1992 จะออกกฎใหม่ นั่นคือการให้ใช้ผู้เล่นอายุไม่เกิน 23 ปี และปรับกฎใหม่อีกครั้งในปี 1996 นั่นคือให้แต่ละชาติสามารถใส่ชื่อนักเตะอายุเกิน 23 ปีมาได้ 3 คน ซึ่งในกรณีนี้สามารถเลือกได้อย่างอิสระ จะเอาใครมาก็ได้เพื่อทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย
เมื่อโอลิมปิกได้สูตรสำเร็จ รายการมหกรรมกีฬาต่าง ๆ อย่าง เอเชียนเกมส์ หรือ ซีเกมส์ ก็เริ่มมีการปรับตามในภายหลัง และแน่นอนว่า โควตาอายุเกิน 23 ปี 3 คน นั้นก็ทำให้การแข่งขันน่าดูขึ้นจริง ยกตัวอย่างในรายการเอเชียนเกมส์ ปี 2018 ที่เกาหลีใต้ขนสตาร์เบอร์ 1 อย่าง ซน ฮึง มิน จาก ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ มาร่วมทีม ก็มีแฟน ๆ ทั้งของเกาหลีใต้และชาติอื่น ๆ รอดูฟอร์มของ ซน อย่างใจจดใจจ่อ
เท่านั้นยังไม่พอ เราจะอธิบายว่าเพราะอะไรทำไมโควตา 3 ที่สำหรับนักเตะอายุมากกว่า 23 ปี จึงสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของความน่าสนใจ แต่มันยังหมายถึงการเพิ่มคุณภาพทีมที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ผลลัพธ์ดีแน่ถ้าจัดเต็ม
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า โควตา ยู-23 นอกจากจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แต่ละทีมได้แล้ว สิ่งที่ตามมาคือคุณภาพของทีมที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะนักเตะอายุมากกว่า 23 ปีนั้นถือว่าเป็นกลุ่มนักเตะที่อยู่ในช่วงจุดสูงสุดของอาชีพกันทั้งนั้น ยืนยันได้จากรางวัลบัลลงดอร์ หรือรางวัลนักเตะที่ดีที่สุดในโลกนับตั้งแต่มีการแจกรางวัลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเพียง ไมเคิล โอเว่น ในปี 2000 และ ลิโอเนล เมสซี่ ในปี 2009 เท่านั้นที่ได้รับรางวัลนี้ก่อนอายุ 22 ปี
นอกจากนี้หากเราย้อนดูแต่ละชาติที่ได้แชมป์ฟุตบอลชายในมหกรรมกีฬาระดับต่าง ๆ เราก็จะเห็นได้ว่าพวกเขาเลือก “จัดเต็ม” ในโควตาอายุเกิน เช่นในโอลิมปิกที่ปี 2016 ที่ บราซิล ขนเอา เนย์มาร์ ที่ ณ เวลานั้นระเบิดฟอร์มสุดยอดกับบาร์เซโลน่า, เรนาโต้ ออกุสโต้ แดนกลางห้องเครื่องที่ติดชุดใหญ่มากว่า 30 เกม ก่อนคว้าเหรียญทองฟุตบอลโอลิมปิกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติ ขณะที่ทีมชาติบราซิลชุดแชมป์โอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมาก็เลือกนักเตะประสบการณ์สูงในวัย 37 ปี อย่าง ดานี่ อัลเวส มาเป็นกัปตันทีม ก่อนจบลงด้วยการคว้าเหรียญทองอีกเช่นกัน
เจาะให้ลึกลงไปอีกในแต่ละชาติที่มีชื่อเสียงเรื่องฟุตบอล แต่ไม่เลือก “จัดเต็ม” ในโควตาอายุเกิน 23 ปี อย่าง เยอรมนี ที่เข้ามาแข่งในโอลิมปิกแทบทุกครั้งและใช้โควตาอายุเกินทุกครั้ง แต่พวกเขากลับไม่เคยเลือกนักเตะที่อยู่ในเกรดที่เป็นตัวหลักของทีมชาติชุดใหญ่มาร่วมทีมเลย เช่นในโอลิมปิก 2016 พวกเขาเลือกใช้นักเตะโควตาอายุเกินอย่าง 2 พี่น้อง เบนเดอร์ สเวน และ ลาร์ส รวมถึง นีลส์ ปีเตอร์สเซ่น ซึ่งรายชื่อทั้งหมดนี้เป็นแค่กลุ่มนักเตะเกรดบีหรือเกรดซีของตัวเลือกทั้งหมดที่เขามีเท่านั้น
ถึงแม้ โอลิมปิก ในครั้งนั้นกลุ่มนักเตะอายุไม่เกิน 23 ปีของเยอรมันจะถือเป็นแข้งฝีเท้าดีในปัจจุบันทั้ง นิคลาส ซือเล่, แซร์จ นาร์บี้, เลออน โกเร็ตซ์กา และ ยูเลี่ยน บรันด์ท จะพาทีมไปถึงรอบชิงชนะเลิศได้ แต่ที่สุดแล้วพวกเขาก็ต้องแพ้ให้กับลูกประสบการณ์และความเก๋าของ บราซิล ที่มีนักเตะที่สร้างความแตกต่างได้อย่าง เนย์มาร์ นำทัพในท้ายที่สุด
ดังนั้นเราน่าจะพอเห็นภาพความสำคัญของกลุ่มนักเตะอายุเกิน 23 ปีได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ยิ่งถ้าเอานักเตะระดับท็อปของชาติมาใส่เข้าไปในทีมด้วยแล้ว ความแตกต่างก็จะยิ่งชัดเข้าไปอีก เพราะนักเตะเหล่านี้สามารถบันดาลผลการแข่งขันได้ด้วยจังหวะการเล่นเพียงไม่กี่ครั้งหากพวกเขาเป็นนักเตะในเกมรุก ขณะที่หากเลือกใช้โควตานักเตะอายุเกิน 23 ปี “ตัวท็อป” ในเกมรับคุณก็จะได้ความเหนียวแน่น แข็งแกร่ง และทีมที่มีความสมดุลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “ลูกประสบการณ์” ที่ไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้น
นักเตะอย่าง เนย์มาร์, ซน ฮึง มิน, ดานี่ อัลเวส หรือแม้กระทั่ง อองเดร-ปิแอร์ ฌีญัก แสดงให้เห็นความต่างของนักเตะดาวรุ่งกับนักเตะประสบการณ์สูงได้อย่างชัดเจนในโอลิมปิกครั้งที่ผ่าน ๆ มา พวกเขาเป็นพี่ใหญ่ของทีม เป็นคนที่นำความฮึกเหิมมาสู่ทีมได้ เป็นนักเตะที่รุ่นน้องเดินตามหลังแล้วเชื่อว่า “เกมนี้พวกเรามีโอกาสชนะ”
เพื่อให้เห็นภาพและเข้าถึงคนไทยอย่างเรามากที่สุด เราต้องย้อนกลับไปยังการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ ปี 2014 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ โดยในครั้งนั้นทีมชาติไทยเลือกใช้นักเตะโควตาอายุเกิน 23 ปีทั้งหมด 3 คนได้แก่ ประทุม ชูทอง, ธีราทร บุญมาทัน และ กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ซึ่งเป็นตัวหลักในแนวรับทีมชาติไทยชุดใหญ่ทั้งสิ้น
ผลที่ออกมาคือ ไทย จบทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวด้วยอันดับที่ 4 สูงสุดเทียบเท่ากับที่เคยทำได้ในเอเชียนเกมส์ ปี 1990 กับ 1998 (ณ ตอนนั้นยังไม่มีการจำกัดอายุ) และ 2002 (เริ่มจำกัดอายุที่ครั้งนี้) นอกจากนี้การใช้นักเตะแนวรับจากทีมชุดใหญ่เป็นแกนหลักทำให้ทีมชาติไทยได้ผลลัพธ์อย่างยอดเยี่ยมด้วยการเสียแค่ 3 ประตูตลอดรายการการแข่งขัน โดย 3 ประตูที่เสียคือเกมที่แพ้ให้กับ เกาหลีใต้ ในรอบรองชนะเลิศ (แพ้ 0-2) และเกมนัดชิงอันดับ 3 กับ อิรัก (แพ้ 0-1 เท่านั้น) ส่วนรอบแบ่งกลุ่มจนถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายทัพช้างศึกเก็บคลีนชีตได้ทุกเกม
อย่างไรก็ตามในความยอดเยี่ยมที่เกิดขึ้นก็มีเหตุผลอื่นมาประกอบเช่นกัน เช่นปัจจัยภายนอกอย่างชาติอื่น ๆ ที่ไม่ได้เลือกโควตาอายุเกิน 23 เพราะมันคือโควตาที่ไม่ได้บังคับใช้หรือแม้กระทั่งบางชาติเลือกนักเตะระดับเกรดรอง ๆ ของประเทศมาแข่งเลยด้วยซ้ำ นั่นจึงทำให้ชาติที่จัดเต็มทั้งตัวอายุตามเกณฑ์และตัวอายุเกินจะได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น … และมันก็มีเหตุผลที่บางชาติดูเหมือนจะไม่แคร์การแข่งขันฟุตบอลในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ
สิทธิ์ที่คุณสามารถเลือกได้เอง
แม้เราจะอธิบายถึงความสำคัญและการได้เปรียบของกลุ่มโควตาแข้งอายุเกิน 23 ปีไปในข้างต้นแล้ว แต่อันที่จริงหากมองอีกด้านก็มีบางประเทศที่ไม่ได้สนใจโควตาดังกล่าวมากนัก และปล่อยให้การแข่งขันฟุตบอลชายในมหกรรมกีฬาระดับโอลิมปิก หรือ เอเชียนเกมส์ เป็นเวทีที่ให้โอกาสนักเตะเกรดรอง ๆ หรือนักเตะอายุเกินที่ไม่เคยได้โอกาสในทีมชาติชุดใหญ่เท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนี ที่ไม่เคยจัดเต็มในโอลิมปิกเลยสักครั้งแม้พวกเขาจะเป็น 1 ในชาติที่เป็นเจ้าแห่งฟุตบอล เยอรมัน เลือกนักเตะที่จะใช้คำว่า “โนเนม” ก็คงไม่ผิดนักหากมองในแง่การรู้จักจากแฟนบอลชาติอื่น ๆ โดยในโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ที่ผ่านมาพวกเขาก็ส่งนักเตะที่ไม่ได้เป็นแม้แต่ตัวหลักในระดับสโมสรมาเกินครึ่งค่อนทีมแม้กระทั่งนายทวารอย่าง สเวนด์ โบรเดอร์เซ่น ที่เล่นกับ โยโกฮามา เอฟซี ทีมลีกรองในประเทศญี่ปุ่นก็ยังได้ติดทีมมาด้วย
ส่วนโควตาอายุเกินพวกเขาก็เลือก มักซิมิเลี่ยน อาร์โนลด์, มักซ์ ครูเซ่ และ นาดีม อาร์มิรี่ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ขาประจำในทีมชาติชุดใหญ่ หรือเป็นนักเตะแถวหน้าของ บุนเดสลีกา เลยด้วยซ้ำ
สเตฟาน คุนต์ซ กุนซือทีมชาตเยอรมันชุดดังกล่าว อธิบายการเลือกนักเตะติดทีมชุดลุยโอลิมปิกของเขาว่า “มาเพื่อหาประสบการณ์” โดยมองเป้าหมายแชมป์เป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น
“นี่คือการประกาศรายชื่อที่น่าตื่นเต้น นักเตะทุก ๆ คนจะได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติเยอรมัน การแข่งขันที่โตเกียวจะให้ประสบการณ์แสนพิเศษแก่พวกเขาแน่นอน” คุนต์ซ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างในระดับเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เบอร์ 1 ของทวีปที่มองข้ามรายการ เอเชียนเกมส์ ไปแล้ว ตลอดการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ 3 ครั้งหลังทั้งปี 2018, 2014 และ 2010 ญี่ปุ่นมองข้ามรายการนี้ถึงขนาดที่ว่าส่งนักเตะที่อายุไม่ถึง 21 ปี และหลายคนยังเป็นนักฟุตบอลในระดับมหาวิทยาลัยอยู่เลยด้วยซ้ำ
เหตุผลง่าย ๆ เพราะพวกเขาไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ในระดับเอเชียอีกแล้ว แตกต่างกับตอนโอลิมปิก 2020 ที่เป็นกีฬาระดับโลกและเป็นรายการที่ญี่ปุ่นไม่เคยได้เหรียญทอง จะเห็นได้ว่าพวกเขาจัดเต็มยิ่งกว่าเยอะ โดยโอลิมปิกครั้งล่าสุดที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ นักเตะดัง ๆ ที่เล่นในต่างแดนอย่าง ทาเคฟุสะ คุโบะ (เรอัล มาดริด), วาตารุ เอ็นโดะ (สตุ๊ตการ์ท), โคจิ มิโยชิ (อันท์เวิร์ป) และ ริทสึ โดอัน (พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน) รวมถึงนักเตะในลีกของประเทศตัวเองที่เป็นแข้งแถวหน้าของลีกอย่าง คาโอรุ มิโตะมะ, เรโอ ฮาตาเตะ และ ไดเซ็น มาเอเดะ ซึ่งภายหลังรายชื่อทั้งหมดนี้ก็ไปย้ายไปเล่นในยุโรปทั้งสิ้น
นอกจากเรื่องของการเน้น-ไม่เน้นแล้ว ยังมีเหตุผลบางอย่างเช่นการแข่งขันในระดับโอลิมปิก, เอเชียนเกมส์ หรือแม้กระทั่ง ซีเกมส์ ก็ไม่ใช่การแข่งขันที่ ฟีฟ่า บรรจุในฟีฟ่าเดย์ ดังนั้นสโมสรของนักเตะจึงสามารถจะเลือกปฏิเสธที่จะไม่ปล่อยตัวนักเตะให้ไปแข่งขันในรายการเหล่านี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัญหากับหลาย ๆ ที่หลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยของเราที่ยังมีประเด็นในการแข่งขันซีเกมส์ 2021 ที่กำลังจะมาถึงในปี 2022 นี้ด้วยเช่นกัน
ประเทศอื่นเขาแก้ปัญหาอย่างไรสำหรับเรื่องนี้ ? คำถามนี้ตอบได้ง่ายที่สุดด้วยการยกตัวอย่างไปที่ทีมชาติเยอรมันในโอลิมปิกอีกสักครั้ง เดิมทีกุนซือทีมชาติชุดโอลิมปิกก็อยากจะได้นักเตะดี ๆ มาร่วมทีมเหมือนกัน แต่เมื่อสโมสรมีสิทธิ์ที่จะไม่ปล่อยตัว พวกเขาก็ต้องอยู่กับความจริงโดยไม่ได้ดึงดันอะไร
“การให้ความร่วมมือของสโมสรในบุนเดสลีกาต่อกีฬาโอลิมปิกนั้นมีหลากหลายแบบ บางสโมสรยินดีที่จะปล่อยนักเตะ บางทีมก็เลือกที่จะปฎิเสธเรา แต่ที่สุดแล้วผู้เล่นทั้งหมดที่เรามีและทีมงานทุกคนก็พร้อมจะลุยในการแข่งขันที่น่าตื่นเต้นครั้งนี้” สเตฟาน คุนต์ซ กล่าวก่อนที่จะลงแข่งขันในโอลิมปิก 2020 และจบด้วยการตกรอบแรก (บราซิล และ ไอวอรี่โคสต์ เข้ารอบ) ซึ่งที่สุดแล้วดูเหมือนว่าก็ไม่ได้มีกระแสวิจารณ์ทีมจากสื่อในเยอรมนีมากนัก เพราะนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขา “ใช้นักเตะเท่าที่ใช้ได้” ในรายการที่ฟีฟ่าไม่ได้รับรองเช่นนี้
สุดท้ายแล้วโควตาอายุเกินของทีมฟุตบอลชาติต่าง ๆ ในมหกรรมกีฬา คือความแตกต่างที่สามารถทำให้ผลงานของทีมดีขึ้นได้จริง แต่เรื่องแบบนี้เป็นสิทธิ์ของแต่ละชาติว่าพวกเขาจะตัดสินใจอย่างไร จะจัดเต็มแค่ไหน ตั้งความหวังไว้สูงเท่าไหร่ต่างหาก คุณจะจัดแบบที่ดีที่สุดหรือใช้นักเตะโควตาอายุเกินระดับท็อปหรือระดับบัลลงดอร์ก็ได้สุดแท้แต่เป้าหมาย หรือไม่ก็อาจจะมองข้ามการแข่งขันเหล่านี้ไปเลย ซึ่งของแบบนี้ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ ว่าคุณรับกับความผิดหวังเมื่อผลการแข่งขันไม่เป็นดั่งใจได้แค่ไหนเท่านั้นเอง