คู่นี้…ปีไหนจะยิงกันได้
แม้เกมจะอัดแน่นไปด้วยความน่าตื่นเต้น โอกาสลุ้นสกอร์ทั้งสองฝั่งมีอยู่ไม่น้อย มีทั้งยิงเข้าแล้วโดนริบคืน มีทั้งอะไรต่อมิอะไร แต่นี่คือผลการพบกันของ เชลซี กับ ลิเวอร์พูล ในตลอด 2 ซีซั่นหลัง
2021/22
ลิเวอร์พูล 1-1 เชลซี (พรีเมียร์ลีก)
เชลซี 2-2 ลิเวอร์พูล (พรีเมียร์ลีก)
เชลซี 0-0 ลิเวอร์พูล (ลิเวอร์พูลชนะจุดโทษ 11-10, คาราบาว คัพ)
เชลซี 0-0 ลิเวอร์พูล (ลิเวอร์พูลชนะจุดโทษ 6-5, เอฟเอ คัพ)
2022/23
ลิเวอร์พูล 0-0 เชลซี
เชลซี 0-0 ลิเวอร์พูล
ก็นั่นล่ะฮะท่านผู้ชม… เชลซี – ลิเวอร์พูล กลายเป็นเกมประวัติศาสตร์แห่งบอลอังกฤษไปแล้ว ในแง่ของการไม่ยอมยิงกัน จบเสมอ 0-0 สี่นัดซ้อน รวมถึงการออกเสมอ 6 เกมติดต่อกันในทุกรายการ
(นอกจากคู่นี้ ก็มี เอฟเวอร์ตัน-ลิเวอร์พูล 1974-1975 และ อาร์เซน่อล-ควีนส์พาร์ค 1992-1994 ที่ออกเจ๊า 0-0 สี่นัดติด)
แต่ก็เป็น 0-0 ที่ เชลซี น่าชนะ
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดตลอด 90 นาทีของเกมนี้ ชัดเจนว่าหาก เชลซี จะเพิ่มความเฉียบคม ขยับประสิทธิภาพในการจบสกอร์มากขึ้นอีกนิด บรูโน่ ซัลตอร์ คงได้ประเดิมงานกุนซือหนแรกในชีวิตด้วย 3 แต้มเต็มไปแล้ว
มาเตโอ โควาซิช เกือบยิงนำตั้งแต่ 5 นาทีแรก แต่ซัดไปติดตัวคุมเส้น และอีกครั้งกับต้นครึ่งหลัง น.47 ที่ทะลุเข้ากดโล่งๆ ดันงัดโด่งข้ามคานออกไปเอง
รีซ เจมส์ สบโอกาสซัดเปรี้ยงจมตาข่ายจากจังหวะต่อเนื่องเตะมุม น.24 แต่เป็นล้ำหน้าของ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ ไปเสียก่อน
เจา เฟลิกซ์ ได้จบตั้งแต่ 3 นาทีแรกแต่ไม่ผ่านบล็อกตัวสุดท้าย (โจเอล มาติป) ก่อนจะสร้างโอกาสซัดรวม 3-4 ครั้งตลอดเกม แต่ไม่เข้าเป้าเลย
ไค ฮาแวร์ตซ์ เข้าชาร์จไม่ผ่านเซฟ อลิสซอน เบ็คเกอร์ น.12 ต่อมา น.29 สบช่องทะลุเดี่ยวไปยิงหลุดกรอบเองอย่างน่าผิดหวัง ก่อนต้นครึ่งหลังจะต้องเฮเก้อกับลูกยิงเข้า 1-0 ที่จิ้มติดเซฟจอมหนึบหงส์แดงแล้วบอลเด้งมาชนแขนกลับเข้าประตู เท่ากับโดนจับฟาวล์แฮนด์บอลอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
รวมแล้วแม้จะไม่ถึงขั้นยิงรวม 27 ครั้งเหมือนเกมก่อนที่แพ้ แอสตัน วิลล่า 0-2 แต่นัดนี้ เชลซี ก็มีโอกาสจบทั้งสิ้น 12 หน ตรงกรอบ 3 และยิงเข้าแต่โดนริบด้วย VAR 2 หนด้วยกัน
คล็อปป์ โรเทชั่น
เกมนี้ หงส์แดง จัดการเปลี่ยน 11 ผู้เล่นตัวจริงจากเกมที่แพ้ แมนฯ ซิตี้ เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนถึง 6 ตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนมันมีผลดีที่ให้ผู้เล่นบางรายได้พักก็จริง แต่สำหรับรูปเกมต้องบอกเลยว่าย่ำแย่สุด ๆ ขาดทีมเวิร์ค ต่างคนต่างเล่น ไม่เข้าขา ไม่มีทรง รุกก็ไม่ได้ รับก็ไม่ดี จวนเจียนจะโดนหลายครั้ง แต่ดีที่ยังมีโชคมากพอเพราะโอกาสเกือบทั้งหมด เชลซี กลับยิงนกตกปลาไปเอง เพราะถ้าหาก สิงห์บลู คมกว่านี้หน่อย 2-3 ลูกน่าจะต้องมีอย่างแน่ ๆ
หมากของ บรูโน่ ซัลตอร์ น่าสนใจ
เกมประเดิมงานกุนซือหนแรกในชีวิต (หลังเลิกเล่นกับ ไบรท์ตัน แล้วก็ตามมาเป็นผู้ช่วยของ เกรแฮม พ็อตเตอร์ ที่เชลซี ครั้น พ็อตเตอร์ โดนเด้ง บรูโน่ กลับไม่ต้องออกตาม และขยับขึ้นมาเป็นกุนซือชั่วคราวแทน) ควรต้องถือว่า บรูโน่ ซัลตอร์ โค้ชหนุ่มวัย 42 ทำได้ไม่เลวเลย
เขาเลือกใช้ขุมกำลัง 11 คนแรกไม่ต่างไปจากยุค พ็อตเตอร์ มากนัก ที่ต่างไปคือการใช้ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ สวมปลอกแขนกัปตันลงตัวจริงในแดนกลาง พร้อมกับวางระบบเป็น 3-5-2 หรือ 3-5-1-1 ที่แดนกลางแพ็คแน่นด้วย ก็องเต้ – เอ็นโซ เฟร์นานเดซ – มาเตโอ โควาซิช ส่วนเกมรุก เจา เฟลิกซ์ จะยืนต่ำกว่า ไค ฮาแวร์ตซ์ เล็กน้อย แต่ก็สามารถตีว่าเป็นหน้าคู่ได้เหมือนกัน
ระบบโอเค การใช้กองหน้า 2 คนทำให้ ฮาแวร์ตซ์ ไม่โดดเดี่ยว และหลังบ้าน ลิเวอร์พูล ที่วันนี้ไม่มี เฟอร์จิล ฟาน ไดค์ (ใช้เป็น โจ โกเมซ จับคู่ โจเอล มาติป) ก็สั่นคลอนมากทีเดียวในการต้องรับมือ 2 กองหน้าที่มีความคล่องตัวสูง…โชคยังเป็นของหงส์ที่ 2 คนนี้ ไม่คม
ส่วนแดนกลางและหลังของ เชลซี ไม่เป็นปัญหา การวางให้ รีซ เจมส์ ไปอยู่ตำแหน่งถนัดอย่างวิงแบ็กขวา ก็เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง…อย่างน้อยก็ถูกกว่าการใช้ รูเบน ลอฟตัส-ชีค ที่เล่นมิดฟิลด์มาตลอดชีวิต
ส่วนที่ต้องชมเชยมากสุดคือแนวรับ แผงเซนเตอร์แบ็ก มาร์ก กูกูเรย่า – คาลิดู คูลิบาลี่ – เวสลี่ย์ โฟฟาน่า วันนี้ทำให้เกมรุกของ ลิเวอร์พูล ไม่มีโอกาสจะแจ้ง และจังหวะจบก็มีนับครั้งได้ (ยิงรวม 7 ตรงกรอบ 4) ช็อตหนักใจสุดของ เคปา อาร์ริซาบาลาก้า กลายเป็นลูกยิงไกลท้ายครึ่งแรกของ โจ โกเมซ
กองหลัง หงส์แดง เซ็ตนี้ไม่ผ่าน
หลังประกาศรายชื่อ 11 ผู้เล่นตัวจริง แฟน ๆ ลิเวอร์พูล คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่น่ารอด ซึ่งภาพรวมมันก็เป็นเช่นนั้นเพียงแค่โชคดีที่ไม่เสียประตู โดยเซ็ตนี้ประกอบด้วย 2 เซ็นเตอร์อย่าง มาติป และ โคนาเต้ ด้าน มาติป ชัดเจนว่าหมดแล้วจริง ๆ โดยนัดนี้เจ้าตัวโดนเผาอย่างหนักจากแนวรุกเจ้าบ้าน นั่นทำให้ โคนาเต้ ต้องรับภาระหนักเกินกว่าจะรับมือคนเดียวไหวและสภาพก็ออกมาอย่างที่เห็น ส่วนแบ็คซ้าย ซิมิคาส ก็รั่วหนักเสียบอลง่ายจนเกือบทำทีมเสียประตู แถมการเปิดบอลก็ขาด ๆ เกิน ๆ แบ็คขวา โจ โกเมซ ที่วันนี้เกือบยิงได้ แต่เกมรับแทนที่จะดีขึ้นกลับยังรั่วไม่ได้ต่างจาก เทรนต์ มากนัก ซึ่งเห็นแบบนี้แล้วหวังว่า คล็อปป์ เองคงไม่ฝืนใช้เซ็ตนี้ลงพร้อมกันอีกเลยจะดีมาก
คูลิบาลี่ ไม่ใช่ของปลอม ที่ต้องขยับฟอร์มคืออีกคน
ในการจัดทีม “ยอดแย่” พรีเมียร์ลีกประจำซีซั่นนี้ ชื่อหนึ่งที่มักติดไป (เคียงข้างกับพวก อันโทนี่, ริชาร์ลิซอน หรือ แคลวิน ฟิลลิปส์) ในการจัดของสื่อบางแหล่ง ก็มักมี คาลิดู คูลิบาลี่ อยู่ด้วย
แต่จากการมองของเรา เซนเตอร์แบ็กเซเนกัลเจ้าของค่าตัว 33 ล้านปอนด์ในการย้ายมาจาก นาโปลี ไม่ได้ทำตัวน่าผิดหวังเลย
ในระหว่างทาง หลายๆ เกมจนถึงตอนนี้ เชลซี อาจมีเสียประตูที่ไม่น่าเสียอยู่บ้าง แต่ความผิดไม่ใช่ของ คูลิบาลี่ ทั้งหมด และก็มีหลายเกมที่เขาเล่นได้อย่างโดดเด่น เช่นนัดนี้ที่เสมอ ลิเวอร์พูล 0-0 เป็นต้น
คูลิบาลี่ ไม่ใช่ของปลอม…ที่ต้องขยับฟอร์มขึ้นกว่านี้อีกหน่อย ควรเป็นอีกคนมากกว่าอย่าง เอ็นโซ เฟร์นานเดซ
กับการย้ายมาด้วยค่าตัวสนั่นหวั่นไหว 107 ล้านปอนด์ จนถึงตรงนี้ มิดฟิลด์ดีกรีแชมป์โลกอย่างเขา ยังไม่ได้งัดฟอร์มชั้นยอดอะไรมาโชว์สักเท่าไหร่
ส่วนหนึ่งอาจเพราะแท็กติกของโค้ชด้วยที่สั่งให้ เอ็นโซ เน้นรับเป็นส่วนใหญ่ แต่จากที่เห็น กองกลางวัย 22 ก็ควรทำอะไรได้มากกว่าแค่พาบอลหลบหลีกคู่แข่งตรงกลางสนาม หรือจ่ายบอลสั้นๆ ให้เพื่อนรอบตัว
และจนถึงตอนนี้ที่ลงสนามรวม 11 นัดใน 2 รายการ (พรีเมียร์ลีก+ชปล.) ผลงานยังมีแค่แอสซิสต์ 2 ส่วนประตู 0
ยังขึ้นได้อีก ยังได้มากกว่านี้อีก เยอะเลย
การบ้านของ “เกมรุก” เชลซี ยังมีให้สะสาง
แต่สุดท้ายท้ายสุด สิ่งที่ บรูโน่ ซัลตอร์ หรือหากจะมีกุนซือใหม่หน้าไหนเข้ามาในช่วงไม่กี่วันถัดจากนี้ ไม่ใช่เรื่องของ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ แต่อย่างใด
ชัดเจนว่า การทำให้กองหน้า “ผลิตสกอร์” ได้ คือเรื่องสำคัญสุด
ไค ฮาแวร์ตซ์ 38 นัด 9 ประตู
ราฮีม สเตอร์ลิ่ง 28 นัด 7 ประตู
ปิแอร์-เอเมริค โอบาเมย็อง 18 นัด 3 ประตู
เจา เฟลิกซ์ 11 นัด 2 ประตู
คริสเตียน พูลิซิช 24 นัด 1 ประตู
มิไคโล มูดริค 9 นัด 0 ประตู
โนนี่ มาดูเอเก้ 5 นัด 0 ประตู
9 ลูกของ ฮาแวร์ตซ์ นั่น คือดาวซัลโวสูงสุดของสโมสรปีนี้แล้ว เท่ากับซีซั่นนี้ที่กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย ยังไม่มีนักเตะ เชลซี รายไหน ที่ยิงประตูขึ้นเลข 2 หลักได้เลย
และ 2 เกมลีกหลังสุด เชลซี สร้างโอกาสจบรวม 39 ครั้ง…ไม่มีสกอร์ได้มาแม้แต่ลูกเดียว
ไม่รู้สิว่าถ้าจะเลือกผ่าทางตัน กลับไปใช้เสือเฒ่าอย่าง ปิแอร์-เอเมริค โอบาเมย็อง วัย 33 หรือของใหม่ไม่ผ่านพาสเจอไรซ์อย่าง ดาวิด ดาโตร โฟฟาน่า เจ้าหนูวัย 20 จากโมลด์ (8 ล้านปอนด์) อันไหนจะดีกว่ากัน…