sportpooltoday

อคติหรือความสามารถ?: ทำไมสโมสรฟุตบอลบราซิลทางตอนเหนือไม่เก่งเท่าทางใต้?


อคติหรือความสามารถ?: ทำไมสโมสรฟุตบอลบราซิลทางตอนเหนือไม่เก่งเท่าทางใต้?

พัลไมรัส, เกรมิโอ, เซา เปาโล, ซานโตส, โครินเธียนส์ คือสโมสรฟุตบอลบราซิลที่หลายคนคุ้นหู เพราะพวกเขาคือมหาอำนาจของฟุตบอลแดนแซมบ้า และผลัดกันคว้าแชมป์เป็นว่าเล่น

อย่างไรก็ดี หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า สโมสรเหล่านี้ ล้วนกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของบราซิล ราวกับว่าพื้นที่แห่งนี้ เป็นดินแดนที่ผูกขาดความสำเร็จมาตลอด นับตั้งแต่ก่อตั้งลีกเมื่อปี 1959 

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

เก่งกระจุก 

บราซิล คือดินแดนที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ด้วยพื้นที่ถึง 8 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมากกว่าประเทศไทยถึง 16 เท่า 

1ด้วยขนาดประเทศที่ใหญ่ขนาดนี้ บราซิล จึงใช้การปกครองระบบรัฐ ที่แต่ละรัฐก็จะมีเมืองหลวง, กฎหมาย และระบบการเก็บภาษีเป็นของตัวเอง รวมทั้งหมด 26 รัฐ และเป็นเหตุผลว่าทำไมฟุตบอลบราซิลจึงมีทั้งลีกประจำรัฐและลีกรวมของประเทศ

แน่นอนว่าการที่พวกเขามีลีกประจำรัฐ (ที่บางลีกมีอายุยาวนานกว่าลีกของประเทศเสียอีก) ทำให้บราซิลมีสโมสรฟุตบอลมากมายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เอาแค่ลีกอาชีพตั้งแต่ ซีรีย์ เอ ลีกสูงสุด ถึง ซีรีย์ ดี ก็มีมากถึง 120 ทีมไปแล้ว

นี่ยังไม่ได้รวมสโมสรในแต่ละรัฐ ยกตัวอย่างแค่รัฐเซา เปาโล ก็มีเกินกว่า 100 สโมสรแล้ว หรือรัฐริโอ เด จาเนโร ก็มีมากกว่า 70 สโมสร สมกับการที่พวกเขาคือชาติที่ส่งออกนักฟุตบอลได้มากที่สุดในโลก หรือมากกว่า 1,600 คนในปี 2020 จากการรายงานของ CIES Football Observatory

ขณะที่ทีมมหาอำนาจต้องยกให้กับ พัลไมรัส จากรัฐเซา เปาโล ที่กวาดแชมป์ลีกระดับประเทศมาได้ถึง 10 สมัย แต่ก็สูสีคู่คี่มากับ ซานโตส เพื่อนร่วมรัฐที่ได้ถ้วยแชมป์ไปครองถึง 8 สมัย ทว่าช่วงหลัง ฟลาเมงโก จากรัฐริโอ ก็มาแรงใช่ย่อย หลังผงาดครองแชมป์ได้ 2 สมัยติดต่อกันในปี 2019-2020 

2อย่างไรก็ดี ที่น่าสังเกตคือในทำเนียบแชมป์ มักจะเป็นทีมที่มาจากรัฐทางตอนใต้เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าทีมจากรัฐเซา เปาโล และรัฐริโอ หรือจากรัฐอื่นอย่าง ครูเซโร ที่มาจากรัฐมินาส เกเรส และ อินเตอร์นาซิอองนาล จากรัฐริโอ กรันเด โดซุล 

ส่วนทีมที่มาจากรัฐที่อยู่ตอนเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้พบกับความสำเร็จนั้นมีน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น บาเฮีย จากรัฐบาเฮีย ที่แม้จะคว้าแชมป์ลีกได้ 2 สมัยในปี 1959-1988 แต่ก็ผ่านมากว่า 30 ปี หรือ สปอร์ตคลับ โด เรซิเฟ ทีม จากรัฐเปอร์นัมบูโก ที่เคยได้เฮเพียงแค่ครั้งเดียวจากแชมป์ในปี 1987

เพราะอะไร?..

พื้นที่แห่งความยากจน 

แม้ว่าบราซิลจะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทางการเกษตรขนาดมหึมา รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่พวกเขากลับเป็นชาติที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก และทำให้ประเทศถูกแบ่งเป็นสองส่วนหลักคือ ตะวันออกเฉียงใต้ที่มั่งคั่ง และ ตะวันออกเฉียงเหนือที่แร้นแค้น 

3สาเหตุสำคัญต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่พวกเขาตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส ในตอนนั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เรียกว่า นอร์เดสเต (Nordeste) ถือเป็นเขตมหาอำนาจ จากการที่เมืองซัลวาดอร์ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐบาเฮีย) เคยเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมจนถึงปี 1763

นอกจากนี้ อีกเมืองในภูมิภาคนี้อย่าง เรซิเฟ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐเปอร์นัมบูโก) ก็รุ่งเรืองไม่แพ้กัน เพราะมันคือเมืองท่าสำคัญ และเป็นแหล่งส่งออกน้ำตาลไปยังทวีปอื่น แถมยังเคยได้รับการตั้งเป็นเมืองหลวงของ นิว ฮอลแลนด์ ในช่วงศตวรรษที่ 17

“ผู้คนจากบาเฮียอย่างกับผมเคยมองเรซิเฟเหมือนกับที่โลกมองปารีส” แคนาโต เวโลโซ นักดนตรีชื่อดังของบราซิลเปรียบเปรย

4อย่างไรก็ดี ความตกต่ำก็มาเยือนพวกเขาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อการค้าน้ำตาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาคนี้เริ่มซบเซา บวกกับความขาดแคลนและความเสียเปรียบทางสังคม อันเนื่องมาจากการมีจำนวนประชากรมากเกินไป ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการค้าทาส 

นอกจากนี้ พวกเขายังต้องเผชิญกับภูมิประเทศที่ยากจะหาช่องทางหากินอื่น อันเนื่องมาจากผืนแผ่นดินที่แห้งผาก จึงทำให้ผู้คนหลายแสนคนอพยพเข้าไปอยู่เมืองหลวงของรัฐจนเกิดปัญหาความแออัด

ขณะที่ความเห็นแก่ตัวของชนชั้นปกครองที่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตน บวกกับการลงทุนของรัฐและรัฐบาลกลางที่น้อยลง ก็มีส่วนไม่น้อยในการเปลี่ยนภูมิภาคที่เคยรุ่งเรืองให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความยากจนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของบราซิล 

จากการรายงานของ BBC ระบุว่า ผู้คนในภูมิภาคนอร์เดสเตนั้นมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 900 บาท ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของรัฐบาล แถมยังมีคนนับล้านที่ต้องเผชิญกับความหิวโหย และมีอัตราว่างงานถึง 50% ในช่วงสถานการณ์โควิด 

5ความอดอยากเหล่านี้ได้บีบบังคับให้คนในภูมิภาคนี้ต้องอพยพลงไปทางใต้หรือตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า เช่นเดียวกันสำหรับนักฟุตบอลและ ริวัลโด้, เบเบโต้, จูนินโญ่ แปร์นัมบูกาโน, ดิด้า และ โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ คือคนที่เลือกเดินตามทางนี้ 

ขณะเดียวกัน ด้วยงบประมาณที่จำกัด จึงทำให้สโมสรในภูมิภาคนี้ไม่สามารถรั้งตัวนักเตะฝีเท้าดีของพวกเขาไว้ได้ เหมือนกับ ฟลาเมโก, พัลไมรัส หรือ เกรมิโอ แถมบางคนยังลาทีมไปตั้งแต่ยังไม่ได้ลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่เลยด้วยซ้ำ 

แม้ว่าบางครั้งสโมสรจากนอร์เดสเตจะทำเงินก้อนใหญ่จากการขายนักเตะไปยุโรปโดยตรง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่นักเตะจะเลือกลงไปเล่นให้ทีมทางใต้ก่อนแล้วค่อยย้ายไปยุโรป 

มันจึงยากมากที่พวกเขาจะสร้างทีมที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่นั้น..

อคติทางเชื้อชาติ  

ความรวย-ความจน อาจจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เหมือนกับที่นักเตะบราซิลใช้ฟุตบอลเป็นเบิกทาง แต่สำหรับคนที่มีถิ่นกำเนิดจากตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล หรือที่เรียกกันว่า นอร์เดสติโญ (Nordestino) นั้นอาจจะยากขึ้นไปอีก จากสิ่งที่เรียกว่า “อคติ” 

อันที่จริง คนทางตะวันออกเฉียงเหนือและคนทางใต้ ก็มีความต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งความเป็นอยู่จากสภาพอากาศ (ทางเหนือจะมีอากาศร้อนตลอดทั้งปี ทางใต้จะมีอากาศค่อนข้างเย็น) อาหารการกิน ไปจนถีงสำเนียงและภาษาท้องถิ่น

“ด้วยการเป็นเมืองชายทะเลที่มีขนาดใหญ่ ตะวันออกเฉียงเหนือจึงดูคล้ายกับตะวันออกเฉียงใต้” ปีเตอร์ ร็อบบ์ เขียนไว้ในหนังสือ A Death In Brazil

“แต่รูปลักษณ์เป็นแค่ภาพลวงตา ตะวันออกเฉียงเหนือมีความแตกต่างมาก ความโบราณยังมีอยู่ที่นี่ ส่วนริโอ และเซา เปาโล หายไปหมดแล้วจากความเป็นเมืองที่โตขึ้น แต่ถ้าเดินไปตามถนนบางสายในเมืองตะวันออกเฉียงเหนือ คุณอาจจะนึกว่าตัวเองอยู่ในยุค 1940s เลยทีเดียว” 

6ทว่าความแตกต่างดังกล่าวกลับเป็นสิ่งที่ทำให้คนนอร์เดสติโญ กลายเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ ชาวบราซิลในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะทางใต้ มักจะมองว่าคนตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพวก “บ้านนอก” ที่ดูจนและเชย โดยเรียกคนจากภูมิภาคนี้แบบเหมารวมว่าพวก “พาไรบาส” ซึ่งแปลว่าคนที่มาจากรัฐพาไรบา โดยไม่สนใจว่าจริงๆแล้วพวกเขาจะมาจากรัฐไหน 

ริวัลโด้ ซูเปอร์สตาร์ชาวบราซิล และอดีตนักเตะบาร์เซโลน่า กล่าวว่าตลอดชีวิตการค้าแข้ง เขาไม่ได้รับการปฏิบัติจากสื่อเหมือนกับซูเปอร์สตาร์คนอื่น อย่าง โรมาริโอ และ โรนัลโด้ เลย เนื่องจากตัวเขาเองมาจากเมืองเรซิเฟ รัฐเปอร์นัมบูโก ต่างจากสองกองหน้าดังกล่าวที่มาจากรัฐทางตอนใต้อย่างริโอ

หรือครั้งหนึ่ง เอ็ดมุนโด้ อดีตกองหน้าบราซิล ก็เคยดูถูกคนในพื้นที่นี้ออกสื่อ หลังโดนไล่ออกในเกมลีกเมื่อปี 1997 ด้วยการใช้คำว่า “พาไรบาส” แทนตัวพวกเขา

“พวกเรามาเล่นในพาไรบา (อันที่จริงเกมจัดขึ้นในอีกรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือที่ชื่อว่า ริโอ กรันเด โด นอร์ท) แล้วคุณก็เอาพวกพาไรบามาตัดสินเกมนี้ มันต้องไม่เวิร์กแน่นอน” เอ็ดมุนโด้ กล่าว

และไม่ใช่แค่นักฟุตบอลเท่านั้น เพราะแม้แต่ผู้นำระดับสูงอย่าง ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิลจอมอื้อฉาว ที่เป็นคนรัฐเซา เปาโล เอง ก็มีทัศนคติแบบเดียวกัน โดยเขาเคยเรียกผู้ว่าการรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือว่า “ผู้ว่าการรัฐพาไรบา” ในคลิปเสียงที่หลุดออกมา 

7แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวยังส่งผลไปถึงทีมชาติ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ แม้ว่าภูมิภาคนอร์เดสเต จะมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน 57 ล้านคน หรือคิดเป็น 27% ของชาวบราซิล แต่กลับไม่เคยมีนักเตะจากสโมสรในพื้นที่นี้ถูกเรียกตัวติดทีมชาติในศึกฟุตบอลโลกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

หรือแค่การติดทีมชาติก็ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ในตลอด 15 ปีที่ผ่านมามีนักเตะที่เล่นอยู่ในสโมสรของที่นี่ถูกเรียกติดทัพแซมบ้าไปเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น นั่นคือ ดิเอโก ซูซ่า สมัยเล่นให้ สปอร์ต เรซิเฟ ในปี 2017 และ ดั๊กลาส ซานโตส ของ เนาซิโต้ ในปี 2013

ฮัลค์ ศูนย์หน้าจอมพลังของบราซิลที่มาจากรัฐพาไรบา เคยรู้สึกหัวเสียเมื่อถูกนักข่าวพูดว่าสำเนียงของชาวนอร์เดสติโญของพวกเขานั้นฟังแล้วดูตลก ในการแถลงข่าวก่อนเกมฟุตบอลโลกเมื่อปี 2014 

“น่าเสียดายที่มันยังมีอคติอยู่ ไม่ว่าคุณจะทำงานเป็นอะไรหรือเป็นมืออาชีพแล้ว” ฮัลค์ ที่ปัจจุบันกลับมาค้าแข้งกับ แอตเลติโก มิเนโร บอกกับ BBC 

8แต่คงไม่มีเหตุการณ์ไหนที่จะโด่งดังไปกว่า การตัดชื่อของ ชาร์ลส์ ฟาเบียน อดีตกองหน้าของทีมบาเฮีย ก่อนโคปา อเมริกา 1989 ที่บราซิลจะเริ่มขึ้นเพียงแค่วันเดียว เพียงเพราะเขามาจากสโมสรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกมนัดเปิดสนามของบราซิล ในเมืองซัลวาดอร์ เมืองหลวงของรัฐบาเฮียต้องลุกเป็นไฟ เมื่อผู้คนในสนามต่างเผาธงชาติและขว้างพลุไฟในยังม้านั่งสำรอง เพื่อประท้วงการกระทำของสมาคมฟุตบอลบราซิล 

“ผมรู้สึกผสมปนเปกันไปในวันนั้น” ชาร์ลส์ ย้อนความหลังกับ BBC 

“ในด้านหนึ่งผมรู้สึกดีใจกับการสนับสนุนของแฟนบอล แต่ในอีกด้านหนึ่งผมรู้สึกเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากเห็นธงชาติของตัวเองอยู่ในเปลวเพลิงหรอก”

โอกาสที่หายไป 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลข้างต้นไม่เพียงจะทำให้สโมสรจากตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้รับการพัฒนาอย่างทัดเทียมกับสโมสรทางใต้แล้ว แต่มันทำให้เครดิตของทีมในภูมิภาคนี้ลดน้อยลงไปด้วย 

แฟรงค์ เฮนูดา เอเยนต์ลูกครึ่งแอลจีเรีย-ฝรั่งเศส ช่วยยืนยันในเรื่องนี้ จากประสบการณ์ตลอด 20 ปีในการเฟ้นหานักเตะบราซิลฝีเท้าดีอย่าง แฟร์นันดินโญ่, เฟรด, วิลเลี่ยน, ดั๊กลาส คอสต้า ให้กับ ชัคตาร์ โดเนตส์ค นั้นพบว่าไม่มีใครมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลย  

9“ถ้าสโมสรมาหาผมแล้วบอกผมว่ามีเด็กจากตะวันออกเฉียงเหนือและอีกคนจากตะวันออกเฉียงใต้ ผมจะแนะนำให้พวกเขาเซ็นคนหลัง เขาอาจจะแพงกว่าแต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า” เฮนูดา บอกกับ BBC 

แน่นอนว่าเขาไม่ได้มีอคติและมีเหตุผลที่ชัดเจน เอเยนต์รายนี้มองว่า แม้นักฟุตบอลบราซิลเกือบทุกคนจะเติบโตขึ้นมาด้วยความยากลำบาก แต่บางครั้งการต้องดิ้นรนน้อยกว่าก็อาจทำให้พวกเขาไปได้ไกลกว่าในการค้าแข้งในยุโรป 

“บราซิลเป็นประเทศขนาดใหญ่ของทวีป ผมย้ายมาอยู่ที่นี่ในช่วงทศวรรษที่ 2000s และสังเกตเห็นความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ ริโอ กรันเด โดซุล, ปารานา, เซาเปาโล และ มินาส เกเรส โดดเด่นมากสำหรับผม พวกเขาสร้างนักฟุตบอลจำนวนมากที่สามารถไปเติบโตที่ยุโรปได้” เฮนูดา กล่าวต่อ 

“ผู้เล่นจากพื้นที่นี้มีสภาพร่างกายที่แข็งแกร่ง และไม่ได้เติบโตในแบบต้องดิ้นรนอย่างหิวโหย พวกเขามีอาหารเช้าแบบประเทศอาณานิคมทางใต้ ซึ่งแตกต่างจากตะวันออกเฉียงเหนือ” 

“ครั้งหนึ่งผมไปดูกองหน้าจากแอตเลติโก โกเอียนนิเอนเซ ที่อยู่โซนนั้น ผมชอบเขามาก แต่เขาเตี้ยไปหน่อยและโครงเล็ก เพราะว่าพวกเขาเขาไม่ได้เติบโตมาอย่างเหมาะสมจากการขาดแคลเซียมตอนเด็ก ซึ่งจะทำให้เขาบาดเจ็บได้ง่าย” 

“เมื่อเกือบจะเซ็นสัญญา คุณต้องใส่ใจกับรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด แม้กระทั่งประเภทของสตั๊ดที่เขาใส่ ถ้าเขามาจากตะวันออกเฉียงเหนือ เขาจะใส่สตั๊ดปุ่มยางตลอดชีวิต แม้กระทั่งวันที่ฝนตก ดังนั้น เมื่อเขาย้ายไปยุโรป เขาจะต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะชินกับรองเท้าปุ่มเหล็ก และไม่ใช่ทุกทีมที่รอได้ หลังจากจ่ายเงินไปแล้ว 10 ล้านยูโร”

สิ่งเหล่านี้ยังทำให้ช่องว่างระหว่างทีมในภูมิภาคนี้กับโซนทางใต้ห่างเข้าไปอีก และเมื่อบวกกับการที่สโมสรต้องพึ่งพารายได้จากการขายของที่ระลึกและลิขสิทธิ์โทรทัศน์ ก็เป็นคำตอบว่าทำไมสโมสรจากนอร์เดสเตจึงยากที่จะเฉิดฉายในลีกสูงสุด 

อย่างไรก็ดีพวกเขาก็ยังไม่หมดหวัง..

มุ่งไปข้างหน้า

ปัจจุบันเป้าหมายของสโมสรในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือการจบใน 10 อันดับแรก ซึ่งไม่ใช่งานง่าย เพราะในรอบ 10 ปีจะมีเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้นที่พวกเขาทำได้ 

10แต่บางอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สโมสรฟอร์ตาเลซา จากรัฐเซียรา มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในระหว่างปี 2014-2019 พวกเขารั้งอยู่ในท็อป 5 ของตาราง และเพิ่งผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วยบราซิลเป็นครั้งแรกในรอบ 102 ปี 

หรือย้อนกลับไปในปี 2012 ที่ ซานตา ครูซ สโมสรจากรัฐเปอร์นัมบูโก และ ซัมไปโญ คอร์เรียร์ จากรัฐมารันเญา กลายเป็นสโมสรจากภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มียอดผู้ชมติดท็อป 10 ของประเทศ ทั้งที่พวกเขาเล่นอยู่ในซีรีย์ ซี ในขณะนั้น 

มันคือแพชชั่น คือความหวัง ที่ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในพื้นที่ที่เสียเปรียบแค่ไหน หรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ และพร้อมที่จะสู้ต่อไปเพื่อให้ภูมิภาคของพวกเขาดีขึ้น

และมันก็คือตัวตนของชาวนอร์เดสติโญ พวกเขาเป็นแบบนี้ ตลอดมาและตลอดไป  

11“ชาวตะวันออกเฉียงเหนือเป็นนักสู้ เป็นผู้ชนะ และสามารถก้าวผ่านสิ่งนี้ได้ ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่มาจากตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ถือป้ายและปกป้องคนของเราจากทุกที่บนโลก” ฮัลค์ ทิ้งท้าย