ทันทีที่เสียงนกหวีดยาวใน เอสตาดิโอ ดา ลุซ ของ มาร์คุส เมิร์ก ดังขึ้น ชาวกรีซกว่า 11 ล้านคน ก็โห่ร้องด้วยความดีใจ เมื่อทีมชาติของพวกเขาคว้าแชมป์ยูโรได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แชมป์ครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพียงเกียรติยศในตู้โชว์เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวจุดประกายและสร้างความหวังให้แก่วงการฟุตบอลของพวกเขา หลังต้องประสบกับสภาวะซบเซามาหลายสิบปี
อย่างไรก็ดี สุดท้ายมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง แถมยังแย่ลงทั้งในแง่ผลงานของทีมชาติ ผู้ชมในเกมลีก และที่สำคัญคือการที่เหล่า “มาเฟีย” อยู่กันเต็มสมาคมฟุตบอล
และนี่คือเรื่องราวของอดีตแชมป์ยูโรที่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายหลังสร้างปาฏิหาริย์ ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ปาฏิหาริย์แห่งกรีซ
มันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะหนึ่งเดือนก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ กรีซ ยังเป็นทีมที่มีอัตราต่อรอง 1-100 ที่จะคว้าแชมป์ยูโร 2004 ที่โปรตุเกส แถมยังร้างราจากรายการระดับนานาชาติมาเป็น 10 ปี
จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปในปี 2001 เมื่อสมาคมฟุตบอลกรีซ แต่งตั้ง อ็อตโต เรห์ฮาเกล กุนซือชาวเยอรมันเข้ามาคุมทีม และเขาก็ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจในการเกือบบุกไปเอาชนะ อังกฤษ ถึงเวมบลีย์ แต่มาโดนฟรีคิก “ลูกนั้น” ของ เดวิด เบ็คแฮม ในช่วงทดเจ็บไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ไม่นานหลังจากนั้น เรห์ฮาเกล ก็เนรมิตทีมชาติกรีซ ให้กลายเป็นทีมแกร่ง คว้าชัย 6 นัดรวดในยูโร 2004 รอบคัดเลือก รวมทั้งบุกไปเอาชนะสเปน ทีมอันดับ 3 ของโลก ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในฐานะแชมป์กลุ่ม
“มันเป็นแค่ครั้งที่ 3 ที่กรีซผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ดังนั้น การผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศจึงเป็นความสำเร็จในตัวมันเอง” พานอส โพลิโซอิดิส นักข่าวชาวกรีซ กล่าวกับ BBC Sports
แม้จะทำผลงานได้อย่างโดดเด่น แต่ไม่เคยมีใครกล้าที่จะคิดว่าพวกเขาจะไปได้ถึงนัดตัดสิน เพราะตอนนั้นพวกเขารั้งอยู่ในอันดับ 35 ของโลก แถมยังไม่เคยคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์รายการไหนมาก่อน
“มันเป็นปัจจัยที่ทำให้รู้สึกดี แต่ไม่มีใครฝันว่าพวกเขาจะคว้าแชมป์” โพลิโซอิดิส กล่าวต่อ
มุมมองต่อ ทีมชาติกรีซ ก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อพวกเขาประเดิมสนามได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการเอาชนะเจ้าภาพโปรตุเกส 2-1 และเป็นจุดเริ่มต้นของ 23 วันสุดมหัศจรรย์ที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตะลึง
กรีซ ภายใต้การนำของ เรห์ฮาเกล ที่ใช้แทคติกตั้งรับแล้วโต้กลับ ทำให้คู่แข่งต้องชอกช้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งการยันเสมอกับ สเปน 1-1 ในรอบแรก หรือการเขี่ย ฝรั่งเศส แชมป์เก่ากระเด็นออกไปในรอบ 8 ทีมสุดท้าย รวมทั้งการปราบ เช็ก ด้วยซิลเวอร์โกลจนเข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
ในนัดชิงชนะเลิศ พวกเขายังย้ำแค้นเจ้าภาพ ด้วยการเฉือนเอาชนะไปได้ 1-0 จากประตูของ อันเกลอส ชาริสเตอัส คว้าแชมป์ยุโรปได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยแม้แต่จะผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ด้วยซ้ำ
“มันเป็นความรู้สึกแบบว่า แม้จะมีคำศัพท์ภาษากรีกมากมายแต่ก็แปลออกมาเป็นคำพูดไม่ได้” สเตลิออส จิอันนาโคปูลอส อดีตแข้งโบลตัน วันเดอเรอร์ส และสมาชิกของทีมชาติกรีซในชุดนั้นกล่าวกับ Copa90
“มันยังคงเป็นความรู้สึกที่พิเศษกับการคว้าแชมป์ยุโรป ฟุตบอลกรีซ ไม่เคยมีประสบการณ์กับความสำเร็จแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสโมสรหรือทีมชาติ มันเป็นเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ แม้กระทั่งกับคนกรีกเอง”
แชมป์รายการนี้ยังทำให้วงการฟุตบอลกรีซมีความหวัง และถูกคาดหมายว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในการยกระดับสู่การเป็นทีมชั้นนำของยุโรป ทั้งในแง่สโมสรและทีมชาติ
แต่น่าเสียดายที่มันไม่เคยเกิดขึ้น..
มะเร็งร้ายที่รักษาไม่หาย
หลังยูโร 2004 วงการฟุตบอลกรีซ อบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุข แถมแฟนบอลยังได้รับข่าวดี เมื่อ เรห์ฮาเกล โค้ชของพวกเขาตัดสินใจลงหลักปักฐานระยะยาว หลังปฏิเสธข้อเสนอของสมาคมฟุตบอลทีมชาติเยอรมันที่จะดึงเขาไปคุมทีมชาติชุดใหญ่
แต่ช่วงเวลาอันหอมหวานก็อยู่กับพวกเขาได้ไม่นาน หลังทีมชาติของพวกเขาประเดิมสนามในฟุตบอลโลก 2006 รอบคัดเลือกด้วยความพ่ายแพ้ต่อ แอลเบเนีย ทีมรองบ่อน 1-2 กรีซ ต้องรอจนถึงนัดที่ 4 กว่าจะคว้าชัยได้ ด้วยการเอาชนะ คาซัคสถาน ก่อนจะจบรอบคัดเลือกด้วยอันดับ 4 ของกลุ่ม พลาดโอกาสเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกอย่างน่าเสียดาย
เช่นเดียวกับคุณภาพของเกมลีก หลังมียอดแฟนบอลเฉลี่ยในสนามที่ลดลงแทบทุกปี จนมาแตะมาที่ระดับ 4,026 คนในฤดูกาล 2016-2017 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของไทยลีก 1 ของไทยในฤดูกาลเดียวกัน (5,428 คน) เสียอีก
นี่ยังไม่นับปัญหาทางการเงินที่เล่นงานพวกเขาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000s โดยจากรายงานของสหภาพนักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ หรือ FIFPro เมื่อปี 2021 ระบุว่า สโมสรของกรีซ ค้างค่าจ้างนักเตะเป็นเงินมากถึง 25 ล้านยูโร ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
แต่สิ่งสำคัญคือ “ความรุนแรง” ซึ่งเป็นมะเร็งร้ายกัดกินวงการฟุตบอลของพวกเขามาตลอด และมันก็เป็นมากกว่าการตีกันในสนาม แต่แทบจะเรียกได้ว่าอาชญากรรม เพราะมีตั้งแต่ดักแทง รุมทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงลอบวางระเบิด
กุมภาพันธ์ 2012 เปตรอส คอนสแตนติเนียส เจ้าของร้านเบเกอรี ถูกลอบวางระเบิดในร้านเพียงเพราะอีกอาชีพของเขาคือผู้ตัดสินในลีกสูงสุดของกรีซ เขาบอกว่าไม่กี่วันก่อนที่เขาจะลงตัดสินในเกมระหว่าง ซานตี กับ โอลิมเปียกอส มีชายสองคนแวะมาหาเขา
“พวกเขายืนยันว่า โอลิมเปียกอส ต้องชนะ และพวกเขาก็ขู่ผม” คอนสแตนติเนียส ย้อนความหลังกับ BBC Sports
“แต่ผมไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ ผมไม่สามารถยอมรับได้”
หลังตำรวจเข้ามาสอบสวน พวกเขาไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ ทำให้เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2011-2012 คอนสแตนติเนียส ตัดสินใจแขวนนกหวีด ย้ายไปเล่นการเมือง และได้เป็นสมาชิกรัฐสภาในนามของพรรคซีริซา พรรคซ้ายจัดของกรีซ ด้วยความหวังจะแก้ไขปัญหานี้
“หลังเหตุระเบิด ผมก็เริ่มกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของครอบครัว ผมส่งลูกไปอยู่ในที่ซ่อน ผมไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงระดับนี้” คอนสแตนติเนียส กล่าวต่อ
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ามันจะเป็นความฝันที่ยากเกินความจริง..
มาเฟียครองวงการ
ในปี 2021 วงการฟุตบอลกรีซเริ่มมีความหวัง เมื่อ ธีโอโรดอส ซาโกราคิส อดีตฮีโร่ของชาติ เจ้าของตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมยูโร 2004 ได้รับเลือกขึ้นเป็นนายกสมาคมฟุตบอลคนใหม่ ด้วยนโยบายมุ่งมั่นปราบทุจริต
ทั้งนี้ ซาโกราคิส ไม่ได้เป็นหน้าใหม่บนเวทีการเมือง เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยรั้งตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่ปี 2014 แต่หลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 165 วันเขาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง
อดีตกองกลางเลสเตอร์ ซิตี้ รู้สึกท้อใจกับปัญหาอันหนักหนาที่ต้องเผชิญ และประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2021 โดยให้เหตุผลว่าในสมาคมมี “บรรยากาศที่เป็นพิษ”
“ปัญหาหลักของเราก็คือการปกครองสมาคมฟุตบอลด้วยคนที่ไม่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือการศึกษาในด้านการจัดการกีฬา พวกเขาเหล่านี้กลับเป็นคนที่มาบริหารสมาคม” จอร์จ ลิคูโรปูลอส นักข่าวชาวกรีซให้ความเห็นกับ Copa90
“สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับวิธีที่คนเหล่านี้ได้รับเลือก สโมสรใหญ่พยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมสมาคม ดังนั้น เกณฑ์ของผู้สมัครจึงไม่ต้องเกี่ยวข้องกับฟุตบอล”
“คุณนึกออกไหม? สมาชิกทุกคนขององค์กรไม่มีแม้แต่คนเดียวที่มีประสบการณ์ด้านฟุตบอล นึกออกไหมว่าคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะจ้างหรือไล่โค้ชออกมาจากตัวแทนของฟุตบอลสมัครเล่น”
แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะเรื่องผู้มีอิทธิพล ในปี 2015 อาริสธิดิส คอร์เรียส อัยการได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับผู้อยู่เบื้องหลังการทุจริต และพบว่ามีคนสำคัญในวงการฟุตบอลกรีซที่มีส่วนในการพยายามล็อกผลการแข่งขันผ่านผู้ตัดสิน
“มีหลายคนที่เข้าข่ายชักนำ เข้าร่วม และควบคุมองค์กรอาชญากรรม เพื่อฉ้อโกง กรรโชกทรัพย์ และทุจริต” รายงานความยาว 175 หน้า ระบุ
อย่างไรก็ดี 6 ปีต่อมา คนในวงการฟุตบอล 28 รายจากผู้ต้องสงสัย 68 คน ทั้งผู้ตัดสิน เจ้าหน้าที่สมาคมฯ รวมถึง อีวานเจลอส มารินาคิส เจ้าของทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และ โอลิมเปียกอส กลับหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมด
แถมในระหว่างการพิจาณาคดี ปัญหาความรุนแรงในสนามก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่นในปี 2015 คอนตาส คัตซูลิส แฟนบอลวัย 46 ปีต้องมาสังเวยชีวิตจากการปะทะกันของแฟนบอลในลีกระดับ 3 ที่เกิดขึ้นบนเกาะเครเต จนทำให้ลีกต้องพักเบรก
หรือในปีเดียวกันที่รองประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินถูกทำร้าย รวมถึงเหตุการณ์ที่เหล่าฮูลิแกนบุกลงมาในสนามในเกมดาร์บีแมตช์ระหว่าง พานาธิไนกอส และ โอลิมเปียกอส จนเกิดความวุ่นวาย
แต่ที่โด่งดังที่สุดคือในปี 2018 ที่ อิวาน ซาฟวิดิส ประธานสโมสรพีเอโอเค ชาวรัสเซีย-กรีซ ที่เป็นสมาชิกพรรคยูไนเต็ด ของ วลาดิเมียร์ ปูติน ได้พกปืนลงสนามไปขู่ผู้ตัดสิน หลังไม่พอใจคำตัดสินที่ปฏิเสธประตูชัยของพวกเขาในเกมพบกับ เออีเค เอเธนส์ จนทำให้เขาถูกปรับและทีมโดนตัดแต้ม
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2018 ธานาสซิส ซีลอส ก็เป็นอีกผู้ตัดสินที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง หลังโดนแฟนบอลหัวรุนแรง 4 คนลากลงมารุมทำร้ายจากรถ ในเมืองลาริสซา จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
และทำให้ความหวังที่จะยกระดับฟุตบอลของพวกเขาเป็นแค่ฝันตื่นหนึ่ง
ชาติที่ยูฟ่าตัดหางปล่อยวัด
“มันมีการทุจริตทุกอย่าง เกมในสนามถูกซื้อด้วยการพนัน สิ่งนี้ไม่เคยมีที่ไหน เราไม่ได้สนใจกรีซแล้ว บางเกมก็เล่นถึงนาทีที่ 99 ประธานต้องมีบอดี้การ์ด คุณคิดว่ามันปกติอย่างนั้นหรือ?” โอลิวิเยร์ คาโป ที่เคยมาค้าแข้งกับเลวาเดียกอส ในฤดูกาล 2013-2014 กล่าวกับ So Foot นิตยสารฟุตบอลฝรั่งเศส
อดีตแข้งเบอร์มิงแฮม และ วีแกน อ้างว่าเคยได้รับข้อเสนอจากพวกล้มบอลให้เขาทำให้ตัวเองได้รับใบแดง แต่เขาก็ปฏิเสธไป จากนั้นคนกลุ่มนี้ก็ได้ขู่ว่าจะทำอันตรายแก่เขาและครอบครัว ทำให้ คาโป ตัดสินยกเลิกสัญญาแล้วรีบออกจากกรีซให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี ผู้มีอิทธิพลไม่ใช่ต้นตอของปัญหานี้เพียงอย่างเดียว เมื่อส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของกรีซที่เรียกว่า “วิกฤตหนี้สาธารณะกรีซ” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งกลายเป็นแรงขับที่ทำให้ความรุนแรงระเบิดออกเป็นวงกว้าง
“ในประเทศที่ความถดถอยทางเศรษฐกิจได้ดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปี เยาวชนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต้องว่างงาน ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงขึ้น” จอร์จอส วาสซิเลียดิส อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกีฬา ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2015-2019 กล่าวกับ BBC Sport
“สิ่งเหล่านี้ได้แสดงออกมาในหมู่แฟนบอล และการจัดการที่น่าเป็นห่วงจากผู้ดำเนินการทางเศรษฐกิจที่สนใจฟุตบอลในฐานะสินค้าไม่ใช่กีฬา”
“สถานการณ์ของการพยายามแก้ไขปัญหาของวงการฟุตบอลกรีซติดหล่มมากเกินไป รัฐบาลต้องพิจารณาไปถึงต้นทุนทางการเมืองในทุกการจัดการใดๆ ความยุติธรรมใช้ไม่ได้แล้วกับประเทศนี้ การแก้ไขปัญหามีทางเดียวคือต้องมาจากภายนอกเท่านั้น”
อันที่จริง ฟีฟ่า และ ยูฟ่า ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาได้ตรวจสอบเรื่องเหล่านี้มาตลอด โดยในปี 2011 ยูฟ่า รายงานว่ามีเกมการแข่งขันในฤดูกาล 2009-2010 มากถึง 41 เกมที่มีผลการแข่งขันน่าสงสัย ก่อนจะกลายเป็นคดีล็อกผลบอลสุดอื้อฉาว
หรือในปี 2016 ที่ ยูฟ่า ได้ส่งคณะผู้แทนเข้ามาหวังจะช่วยแก้ปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน แต่ดูเหมือนว่าจะทำอะไรไม่ได้มากนัก เมื่อ 4 ปีหลังจากนั้น คณะผู้แทนต้องเก็บกระเป๋าออกมามือเปล่า โดยที่แทบไม่มีอะไรคืบหน้าไปจากเดิม
“ที่กรีซมันมีความซับซ้อนเพราะเจ้าของสโมสร เราทำอะไรได้ไม่มาก แค่พยายามสร้างการทำงานร่วมกัน นำพวกเขามาอยู่ด้วยกันเพื่อลดความตึงเครียด” ปีเตอร์ ฟูเซ็ค อดีตนักฟุตบอลชาวเช็กที่เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนของยูฟ่า กล่าวกับ BBC Sport
“แต่ปัญหาใหญ่ก็คือการขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้ว เราก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ พอไม่มีสิ่งนี้ทุกคนก็พยายามจะครองอำนาจ”
และมันก็ทำให้ความหวังที่จะกอบกู้เรือที่จมไปครึ่งลำแล้วลำนี้หลุดลอยไป
ยังมีความหวังเสมอ
ปัจจุบัน วงการฟุตบอลกรีซ ยังคงดำเนินการต่อไปอย่างกระท่อนกระแท่น แม้จะเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในยูโร 2012 แต่พวกเขาก็ไม่ได้ลิ้มรสชาติของรอบสุดท้ายอีกเลยในศึกชิงแชมป์ยุโรป 2 หนหลังสุด เช่นเดียวกับฟุตบอลโลกที่ไม่ได้เข้ารอบอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2014 ที่บราซิล
“ทีมสปิริตในยุคของ เรห์ฮาเกล และ (เฟร์นันโด) ซานโตส หายไปหมดแล้ว นักเตะหลายคนเลิกเล่น เราเสียรุ่นที่ดีที่สุดไปแล้ว และเสียกระบวนการในการพัฒนา” ลิคูโรปูลอส กล่าวกับ Copa90
“ยุคใหม่ของเราใกล้เคียงกับคำว่าหายนะ การแพ้หมู่เกาะแฟโรเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา”
ล่าสุด กรีซ เพิ่งจะพลาดโอกาสเข้าไปเล่นในฟุตบอล 2022 รอบสุดท้ายที่กาตาร์ หลังจบในอันดับ 3 ของรอบคัดเลือก และมีคะแนนห่างจากอันดับ 2 ที่ได้สิทธิ์เพลย์ออฟถึง 5 คะแนน ทำให้พวกเขาต้องเบนเข็มมาโฟกัสที่ยูโร 2024 แทน
แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังไม่หมดหวัง เช่นเดียวกับ จิอันนาโคปูลอส ที่เคยรั้งตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติกรีซในปี 2019 เขาเชื่อว่ากรีซมีโอกาสจะกลับมาได้
และแม้อาจจะเป็นแค่ความฝันที่เลือนราง แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์ให้เดินต่อไป
“ผมยังคงมองโลกในแง่ดีเสมอ นี่เป็นบุคลิกของผม” อดีตแข้งโบลตัน กล่าวกับ Copa90
“ผมมีความเชื่อว่ายุคที่ดีที่สุดของฟุตบอลกรีกยังไม่มาถึง คุณต้องมองอนาคตในแง่บวก เพราะฟุตบอลอะไรก็เกิดขึ้นได้”
“การคว้าแชมป์ยูโรนั้นใหญ่มาก และบางทีอาจจะเป็นความสำเร็จที่เราทำไม่ได้อีกแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครหยุดความฝันของเราได้ ถ้าผมเป็นผู้เล่นในตอนนี้ผมก็คงฝันที่จะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นนักฟุตบอล จงมีฝัน”