มีไม่บ่อยนักที่กุนซือจอมโหดอย่าง อันโตนิโอ คอนเต้ จะให้สัมภาษณ์เสียงแผ่วและบอกว่า “บางทีผมอาจไม่เก่งพอ”
ทว่า ณ ตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้วที่ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้กัดกินคนอย่าง คอนเต้ ไปเรียบร้อยแล้ว
เกิดอะไรขึ้นบ้างนับตั้งแต่วันที่คอนเต้กับสเปอร์สได้มาเดินบนเส้นทางเดียวกัน
สองขั้วที่แตกต่างกับการทำงานที่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าที่เคยเป็นเช่นไร
ติดตามที่ Main Stand
ผู้เรียกร้องถึงขีดสุด
ตลอดระยะเวลาการทำงานในฐานะ “เฮดโค้ช” ของ อันโตนิโอ คอนเต้ ถึงตอนนี้ก็ผ่านมาแล้วราว 15 ปี เขามีช่วงเวลาการคุมทีมตั้งแต่เล็กไปใหญ่ ไล่มาจาก อาเรซโซ, บารี, อตาลันต้า, เซียน่า, ยูเวนตุส, ทีมชาติอิตาลี, เชลซี, อินเตอร์ และล่าสุดคือ สเปอร์ส
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนการทำงานของเขามาเสมอคือการเชื่อมั่นในการทำงานหนัก การอุทิศตน ระเบียบวินัยที่เข้มข้น และสุดท้ายคือทัศนคติที่ทะเยอทะยานของผู้คนทั้งองค์กรที่ต้องการเป็นผู้ชนะ
“ผมจะไม่เปรียบเทียบการทำงานกับสโมสรต่าง ๆ ตลอดอาชีพ เพราะทุกที่ที่ผมไปคือความมั่นใจว่าผมจะต้องทำให้ทีม ๆ นั้นเป็นทีมที่ดีกว่าเดิมให้ได้ ผมยังจำตอนที่ผมทำงานกับเซียน่าได้ เราเป็นทีมเล็ก ๆ ทีมของเราไม่เคยคาดหวังถึงการเป็นแชมป์ เราอยู่กับความจริงไม่เพ้อฝัน แต่ความจริงที่เราทำได้ในเวลานั้นคือการจบอันดับที่ 7 ของลีก และเอาชนะทีมใหญ่ ๆ ได้มากมาย”
“หลังจากนั้นผมจึงเชื่อเรื่องวัฏจักรของการเป็นผู้ชนะ ทุกอย่างได้เริ่มต้นขึ้น ผมเชื่อว่าคนเราควรสนุกกับความท้าทาย ผมชอบทดสอบตัวเอง ชีวิตการทำงานเป็นโค้ชนั้นมันโคตรจะยาก เอาแค่คุณสามารถชนะใจแฟนบอลให้ได้ก็ลำบากแล้ว … แต่ผมเชื่อมั่นเสมอ ผมเชื่อว่าผมเป็นคนที่ทุ่มเทเพื่อทีมที่ผมเป็นโค้ชเสมอมา ผมจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้น ผมพร้อมจะทำสิ่งที่ไม่ธรรมดาร่วมกับทุก ๆ คน” นี่คือสิ่งที่ คอนเต้ กล่าว ในช่วงปี 2020 และหลังจากนั้นไม่นานเขาพา อินเตอร์ มิลาน คว้าแชมป์ เซเรีย อา ในรอบ 10 ปี
หลักการทำงานของ คอนเต้ นั้นก็เป็นไปตามที่เขาบอก เขาเป็นกุนซือที่มีวิธีการสร้างทีมอยู่ในหัวและปราดเปรื่องเรื่องการเป็นผู้ชนะไม่แพ้ใคร ดังนั้นเขาจึงต้องการการสนับสนุนจากผู้คนรอบข้างเป็นอย่างมาก ทั้งผู้บริหารที่เชื่อมั่นและตอบสนองความต้องการของเขาได้ และนักเตะที่ทำตามทุกสิ่งที่เขาบอก โดยการเลือกนักเตะของ คอนเต้ นั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยที่เขาคุมเซียน่า ด้วยความที่เป็นทีมเล็ก หาซื้อนักเตะเก่ง ๆ ยาก เขาจึงต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ แม้จะไม่ได้นักเตะที่เก่งที่สุด แต่นักเตะในทีมของเขาต้องเป็นนักเตะที่ทัศนคติดีที่สุด ดังที่เขาเคยบอกว่า “ความสามารถนักเตะระดับปานกลางถึงสูง แต่สภาพจิตใจต้องแข็งแกร่งให้มากที่สุดเท่าที่จะแกร่งได้”
สิ่งนี้ไม่ใช่แค่การกล่าวขึ้นเท่ ๆ ของเขาเท่านั้น คอนเต้ มักจะใช้งานนักเตะที่คนอื่นไม่เคยคิดจะใช้และทำได้ดีอยู่บ่อย ๆ ตอนที่อยู่ เชลซี เขาใช้งาน วิคเตอร์ โมเซส ปีกตัวสำรองที่โดนปล่อยยืมตลอดปีตลอดชาติปรับมาเล่นตำแหน่งวิงแบ็กก่อนที่ โมเซส จะเป็นกำลังสำคัญในชุดแชมป์ลีกได้สำเร็จ และตอนที่เขาคุมทีมอินเตอร์ มิลาน นักเตะอย่าง แอชลี่ย์ ยัง ที่แฟน แมนฯ ยูไนเต็ด แทบขับไสไล่ส่งให้ย้ายออก กลายเป็นวิงแบ็กซ้ายที่สร้างเกมรุกได้อันตรายที่สุดคนหนึ่งในเซเรีย อา ยังมีนักเตะอีกมากมายที่ยอมทำงานหนักตามที่คอนเต้บอกและได้ผลลัพธ์ดีอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือวิธีการทำงานของเขา …
ส่วนสเตปการทำงานวางแผนในแต่ละปีแต่ละก้าวนั้น แม้คอนเต้จะบอกว่าเขาคือคนที่ชื่นชอบการเป็นผู้ชนะ แต่เขาก็ไม่ได้มืดบอดมองเห็นแต่ชัยชนะจนไม่ประเมินทีมตัวเองเสมอไป ทุกครั้งที่เขาทำงานเขาคิดวิเคราะห์เพื่อประเมินว่าทีมที่เขามีอยู่ในระดับไหน ดีพอเป็นแชมป์ได้หรือยัง
ตอนที่เขาคุม อินเตอร์ มิลาน ปีแรก คอนเต้ ก็ไม่สามารถทำทีมคว้าแชมป์ลีกได้ เพราะเจอกับ ยูเวนตุส ที่แข็งแกร่งกว่า แต่ใน 1 ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่ได้ทำให้เสียเวลาเปล่า เขาซื้อใจนักเตะทุกคนในทีมได้ และเห็นในสิ่งที่ทีมยังขาดหายไป… ปีต่อมาทุกคนก็พร้อมยิ่งกว่าที่เคย ถึงตอนนั้น เขาเสริมทัพใหม่ ๆ ขายนักเตะที่ไม่ใช่ ดึงนักเตะที่ต้องการ และเพียงไม่นาน คอนเต้ ก็ถึงกับใช้คำว่า “พวกเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว”
“กลุ่มนักเตะที่ผมมีกำลังอยู่บนเส้นทางแห่งการพัฒนา แต่สิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้วคือการก้าวลงไปในสนามและกล้ามองไปถึงการเป็นผู้ชนะในทุก ๆ เกม และพวกเขารู้ดีว่านี่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด เรายังมีการเสียสละตนอีกมากที่ต้องทำ พวกเราทุกคนรู้ดีว่าต้องใช้ความเสียสละมากแค่ไหนในการทำสิ่งที่พิเศษและยิ่งใหญ่ที่รออยู่”
“ตอนนี้ผมเจอกลุ่มนักเตะที่พร้อมจะลงเรือลำเดียวกันพร้อมจะไปข้างหน้าในทิศทางที่เห็นตรงกันแล้ว เราแบ่งปันความฝันและตระหนักดีว่าสิ่งที่เรามองอยู่จะเป็นประวัติศาสตร์ของสโมสร และการจะทำเช่นนั้นได้คือเราจะต้องเป็นผู้ชนะสถานเดียวเท่านั้น” คอนเต้ กล่าว และหลังจากนั้นไม่กี่เดือนพวกเขาก็เป็นแชมป์กันจริง ๆ ตามที่เขาได้ว่าไว้
จะเห็นได้ว่าคอนเต้ เป็นโค้ชที่เรียกร้องสิ่งต่าง ๆ มากมายจากองค์กรเสมอ ที่สำคัญเขายังเป็นคนที่เชื่อมั่นในแนวทางของตัวเองเป็นอย่างมาก หากเขาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการหรือไม่มีแนวคิดไม่ตรงกับผู้บริหาร เขาก็พร้อมที่จะลาออกไปง่าย ๆ นั่นคือสิ่งที่ คอนเต้ เป็น อยากชนะต้องให้ในสิ่งที่เขาขอ ไม่อย่างนั้นก็แยกทางกันไปเสียง่าย ๆ …
สเปอร์ส ยุค เลวี่
ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ คือทีมระดับกลางค่อนบนมาตลอดช่วง 2 ทศวรรษหลังของพรีเมียร์ลีก หรือเรียกง่าย ๆ ว่านับตั้งแต่ที่ แดเนี่ยล เลวี่ เข้ามาเป็นซีอีโอของทีม สโมสรแห่งนี้ก็ขยับตัวเข้าใกล้ทีมหัวแถวมากขึ้น มีหลายปีที่เข้าใกล้การเป็นแชมป์แต่ก็พลาดไป ส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องของคุณภาพนักเตะที่ไม่สามารถสับเปลี่ยนทดแทนกันได้ดีพอ พวกเขาอาจจะเก่งกาจหากมองถึง 11 ตัวจริง แต่ถ้ามองไปที่ทั้งทีม หลายครั้ง สเปอร์ส ก็ตกม้าตายเพราะเหตุผลนี้
เรื่องดังกล่าวคงต้องบอกว่าเป็นวิสัยทัศน์และนโยบายของสโมสรที่ถูกวางไว้โดย แดเนี่ยล เลวี่ นับตั้งแต่วันที่ เลวี เข้ามา เขามีทางเลือก 2 ทาง 1 คือการทุ่มไม่อั้นและทำทีมเพื่อเป็นแชมป์ และ 2 คือการค่อย ๆ สร้างและเห็นการเติบโตระยะยาวพร้อมได้โครงสร้างทีมที่แข็งแกร่ง … แน่นอนเขาเลือกแบบที่ 2
“ท็อตแน่มจะเป็นทีมหลักของกลุ่ม ENIC แต่พวกเขาจะไม่ทุ่มเงินเป็นล้านในชั่วข้ามคืน เพราะพวกเขาไม่เคยทำแบบนี้กับสโมสรอื่น และจะไม่มีวันเปลี่ยนแนวทางของตัวเอง”
เลวี่ เขี้ยวลากดินอย่างมากในเรื่องตัวเลขและบัญชีรายรับรายจ่าย ในช่วงปี 2001 ที่เขาเริ่มเข้ามาบริหาร เขาแสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ ตอนนั้น โซล แคมป์เบลล์ เป็นกัปตันของ สเปอร์ส เขากดดันสโมสรเรื่องสัญญาฉบับใหม่ที่เรียกร้องสูงมากขนาดที่ว่าแพงที่สุดในลีก เยอะยิ่งกว่าที่ เดวิด เบ็คแฮม ได้รับกับ แมนฯ ยูไนเต็ด … เลวี่ ไม่เล่นตามเกม เขาปฏิเสธสัญญาและทำให้ต้องเสีย แคมป์เบลล์ ให้กับ อาร์เซน่อล ไปแบบฟรี ๆ ซึ่ง แคมป์เบลล์ คือหนึ่งในสมาชิก “แชมป์ไร้พ่าย” ในปี 2004 ของ อาร์เซน่อล ในภายหลัง
หลังจากการเสียแคมป์เบลล์ ยังมีนักเตะอีกหลายคนที่ สเปอร์ส ไม่ยอมโอนอ่อนต่อการเรียกค่าเหนื่อยที่สูงขึ้นเกินเพดานที่ทีมตั้งไว้ นักเตะอย่าง มุสซา เดมเบเล, เดเล อัลลี, โทบี อัลเดอร์ไวเรลด์ และ เอริค ดายเออร์ คือนักเตะที่เคยโดย เลวี ปฎิเสธเรื่องการต่อสัญญาฉบับใหม่มาแล้วทั้งสิ้น
ขณะที่นโยบายการซื้อตัว สเปอร์ส ในยุค เลวี่ นั้นจะเลือกเอานักเตะที่ยังไม่ได้สุกงอมที่สุดมาร่วมทัพ นักเตะที่ สเปอร์ส ชื่นชอบจะเป็นนักเตะที่ที่กำลังเริ่มสร้างชื่อเสียง มีทิศทางจะกลายเป็นดาวดังในอนาคตได้ อาทิ แกเร็ธ เบล, คริสเตียน เอริคเซ่น และ ไคล์ วอล์คเกอร์ นักเตะทั้ง 3 คนนี้คือนักเตะที่ สเปอร์ส เสียเงินรวมกันแค่ 11 ล้านปอนด์ แต่ขายออกไปได้เงินกลับมาถึง 160 ล้านปอนด์ … นี่แค่ตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลายดีลที่ทำเงินให้ สเปอร์ส ได้ในยุคของ เลวี่
ทั้งหมดที่ เลวี่ ทำ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนเป็นคนที่ขี้ตืดขี้เหนียวใด ๆ ทั้งสิ้น มันเป็นแค่วิธีการบริหารทีมของเขา แม้การไม่ยอมทุ่มจะทำให้ สเปอร์ส ร้างราแชมป์มานาน แต่เหนือสิ่งอื่นใดสโมสรแห่งนี้ก็เติบโตขึ้นมากในเรื่องราวของนอกสนาม
สเปอร์ส ขยายสนาม ไวท์ ฮาร์ท เลน ตั้งแต่ปี 2001 ด้วยความจุเพิ่มขึ้นจาก 36,000 เป็น 44,000 ที่นั่ง ขณะที่ในปี 2008 เขาตัดสินใจทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการขยาย แต่คือการสร้างใหม่ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนานอร์ทัมเบอร์แลนด์” ซึ่งที่สุดแล้วก็กลายเป็นสนาม ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม ที่จุคนได้กว่า 63,000 คน ภายใต้ทุนสร้างกว่า 1 พันล้านปอนด์ (46,000 ล้านบาท)… การใช้เงินมากขนาดนี้คือเหตุผลทั้งหมดที่ สเปอร์ส พยายามรัดเข็มขัดและทำกำไรจากการขายนักเตะมาตลอด ทั้งหมดก็เพื่อการเติบโตในระยะยาวและการยกระดับสโมสรไปอีกขั้นสู่ทีมแถวหน้าของโลกในอนาคต …
เพียงแต่ว่า วิธีการบริหารสโมสรทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับความทะเยอทะยานของกุนซือใหม่ของพวกเขาอย่าง อันโตนิโอ คอนเต้ ไม่ใช่หรือ ?
การเจอกันของขั้วบวกและขั้วลบ
การเจอกันของ คอนเต้ และ สเปอร์ส ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ สเปอร์ส เพิ่งปลด นูโน เอสปิริโต้ ซานโต ออกจากตำแหน่ง ขณะที่ คอนเต้ ก็มีปัญหาเรื่องแนวทางการทำทีมกับผู้บริหารของ อินเตอร์ มิลาน ที่ขายนักเตะตัวหลักในทีมของเขาอย่าง อาชราฟ ฮาคิมี่ และ โรเมลู ลูกากู ออกจากทีมพร้อม ๆ กัน จากปัญหาทางการเงิน จนเขายื่นใบลาออก
ช่วงเวลาที่พอดีนี้ทำให้ทีมที่เขี้ยวเรื่องเงินยอมจ่ายเงินก้อนโตเป็นค่าเหนื่อยให้กับโค้ชคนใหม่ และพวกเขาทุ่มไม่อั้นเพื่อโค้ชอย่าง คอนเต้ ได้ในแบบที่ไม่เคยให้โค้ชหรือนักเตะคนไหนมาก่อน … นี่แหละคือเหตุผลที่ทั้งคู่ได้มาเจอกัน
คอนเต้ ได้ค่าเหนื่อยมากถึงสัปดาห์ละ 290,000 ปอนด์ มากกว่านักเตะทุกคนในทีมแม้กระทั่ง 2 สตาร์อย่าง แฮร์รี่ เคน และ ซน ฮึง มิน ด้วยซ้ำไป นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่โค้ชจะได้รับการทุ่มค่าเหนื่อยหนักขนาดนี้
เหนือสิ่งอื่นใดนี่ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว คอนเต้ ได้รับการกล่อมจาก ฟาบิโอ ปาราติชี ผู้อำนวยการฟุตบอลของทีม สเปอร์ส ที่เคยทำงานร่วมกับเขาที่ ยูเวนตุส มาก่อนด้วย โดย คอนเต้ เล่าว่าในวันที่เขาได้คุยกับ ปาราติชี และ เลวี่ นั้น มีการยืนยันว่าสโมสรกระตือรือร้นและมุ่งมั่นมากกับการเลือกโค้ชอย่างเขามาเป็นผู้นำทีมสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่…
ทว่าความจริงแล้วนี่เป็นการเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่ายมากกว่า มีการเปิดเผยจากสื่ออังกฤษหลายเจ้าว่าจริง ๆ แล้ว สเปอร์ส ต้องการตัว คอนเต้ ตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ของฤดูกาล 2021-22 แล้ว เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่สู้ค่าเหนื่อยของ คอนเต้ ที่ ณ เวลานั้นเรียกร้องอยู่ที่ราว ๆ 200,000 – 250,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ สเปอร์ส จึงไปเลือกของถูกอย่าง เอสปิริโต ซานโต ที่มีค่าเหนื่อยน้อยกว่าหลายเท่า ซึ่งก็อย่างที่รู้กันเมื่อ นูโน่ ได้คุมทีมแค่ 17 เกมและทุกอย่างดิ่งลงอย่างชัดเจน สโมสรก็ต้องยอมปลดนูโน่ ยอมเสียค่าชดเชย และต้องจ่ายคอนเต้ในราคาที่สูงขึ้น … เรื่องทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้
ไม่ว่าจะมาพบกันด้วยเหตุผลของเงินค่าจ้าง การได้ทำงานกับคนสนิท หรือเพราะสัญญาที่ไม่ได้ยาวมาก (เซ็นกันแค่ 18 เดือน) แต่เมื่อ คอนเต้ ได้มาคุมทีม สเปอร์ส จริง ๆ ก็กลับกลายเป็นว่าเขาได้สูญเสียบางอย่างไปเช่นกัน งานนี้เป็นงานที่หินที่สุดงานหนึ่งสำหรับ คอนเต้ ถึงขนาดคนอย่างเขาที่เคยพูดว่า “เกิดมาเป็นผู้ชนะ” ยังต้องออกมาตัดพ้อกับงานของเขาที่ สเปอร์ส มาแล้ว
เรื่องราวมันไม่มีอะไรมากไปกว่าความทะเยอทะยานของสโมสรที่น้อยกว่าที่เขาเรียกร้อง สเปอร์ส เสียหายมากกับการจ้างคอนเต้กลางคันโดยที่เจ้าตัวไม่สามารถเสริมทัพได้ในตลาดซัมเมอร์ ครั้นเมื่อถึงตลาดซื้อขายเดือนมกราคม แม้จะได้ตัวนักเตะอย่าง เดยาน คูลูเซฟกี้ และ โรดริโก้ เบนตานคูร์ มาจาก ยูเวนตุส แต่คอนเต้ ก็ยังไม่พอใจอยู่ดี เพราะเขาอยากจะได้นักเตะอีก 2 คน นั่นคือ อดามา ตราโอเร จาก วูล์ฟส์ และ ลุยซ์ ดิอาซ จาก ปอร์โต้
นอกจากขาเข้าที่ได้น้อยกว่าที่คิดแถมยังไม่ค่อยตรงเป้าที่เขาต้องการ นักเตะขาออกยังเสียไปถึง 4 คนได้แก่ เดเล่ อัลลี่, โจวานี่ โล เซลโซ่, ต็องกีย์ เอ็นดอมเบเล่ และ ไบรยาน กิล เรื่องทั้งหมดนี้ทำ คอนเต้ ถึงกับออกมาบอกสื่อว่าหลายสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับที่เขาคิดและคาดหวังไว้ก่อนรับงานนี้
“ตอนที่เข้ามาคุมทีมสเปอร์ส ผมได้ลองพิจารณาว่ามันอาจจะเกิดสถานการณ์อะไรได้บ้าง แต่พอคุณเข้ามาเจอกับสถานการณ์จริงๆ แล้วน่ะมันก็จะทำให้คุณเข้าใจบางอย่างได้อย่างชัดเจน”
“สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมกราคมมันไม่ใช่อะไรที่ง่ายเลย มีนักเตะที่ย้ายออกไปในตลาดครั้งนี้ถึง 4 คน โดยทั้ง 4 คนที่ว่าเป็นนักเตะที่สำคัญมาก ๆ ของทีม ในขณะที่เราได้คนมาร่วมทีม 2 คน ดังนั้นต่อให้เอาแต่พูดเรื่องจำนวนมันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าที่จริงคุณอาจจะอ่อนแอลง ไม่ใช่แข็งแกร่งขึ้น”
“ที่ เบนตานคูร์ กับ คูลูเซฟสกี้ เป็นการเสริมทัพแบบในฝันของ ท็อตแน่ม มันเป็นเพราะ ท็อตแน่ม มองหานักเตะอายุน้อยที่สามารถพัฒนาฝีเท้าได้ในอนาคต ไม่ใช่นักเตะที่พร้อมช่วยทีมในทันที” คอนเต้ กล่าวกับสื่ออย่าง สกาย สปอร์ต และเราเห็นได้ถึงความผิดหวังของเขา
จากนั้นผลงานของ สเปอร์ส ก็เป็นไปตามที่ คอนเต้ พูด แม้เขาจะทำทีมได้ดีหลังจากรับช่วงต่อจาก นูโน่ ทว่าเมื่อตลาดซื้อขายเดือนมกราคมปิดตัวลง สเปอร์ส ก็ตกรอบทั้งฟุตบอล คาราบาว คัพ, เอฟเอ คัพ และเอาชนะในเกมลีกได้เพียงแค่ 5 จาก 10 เกมเท่านั้น (แพ้ 4 เสมอ 1)
แม้เขาจะพยายามทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด แต่สิ่งที่เขาเจอในเวลานี้คือเขาไม่มี “ทีม” ของเขา ทีมในที่นี้หมายถึง “ทุกคนที่พร้อมลงเรือลำเดียวกัน” เหมือนที่เขาได้จาก อินเตอร์ มิลาน ในปีที่เป็นแชมป์ลีก … ทั้งหมดกัดกินคนเก่งอย่าง คอนเต้ จากคนที่เคยพูดถึงแต่เรื่องของชัยชนะ ทัศนคติ ความมุ่งมั่น และเป้าหมายคือความสำเร็จ ระยะหลังมีบ่อยครั้งที่เขาเริ่มตัดพ้อ และยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่เขาจะแก้ไข … การตัดพ้อแบบนี้คือสิ่งที่เราเห็นได้ไม่บ่อยนักจากโค้ชอย่าง คอนเต้
“เรื่องของท็อตแน่มมันก็แบบนี้ มีขึ้นมีลง การที่จะต่อสู้และพยายามคว้าชัยชนะและพยายามต่อสู้เพื่อสิ่งที่สำคัญและเป็นทีมที่แข็งแกร่ง สิ่งแรกที่จะต้องเกิดขึ้นคือความสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงฟอร์มที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ให้ได้ การที่จะทำแบบนี้และเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายปีนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย ในระยะสั้น ๆ มันเป็นไปไม่ได้เลย”
“ไม่เพียงแค่กับผม แต่ยังเป็นผู้จัดการทีมทุกคนที่มาที่นี่ นี่คือเรื่องราวของสโมสรแห่งนี้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา” คอนเต้ กล่าว ในวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา และ 20 ปีที่เขาพูดถึงคือช่วงเวลาที่ แดเนี่ยล เลวี่ เข้ามาเป็นประธานสโมสรแห่งนี้พอดิบพอดี
เรื่องทั้งหมดนี้เราจะโทษใครได้ ? … คำตอบคือไม่มีใครผิดและถูกทั้ง 100% เลย สำหรับ เลวี่ เขาพยายามอย่างมากที่จะพาสโมสรผ่านวิกฤติการเงินหลังจากเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนสโมสรต้องมีหนี้กว่า 1 พันล้านปอนด์ นั่นจึงทำให้เขาต้องรัดเข็มขัดทุกอย่าง ทำทีมเท่าที่กำลังมี และการจะทุ่มแหลก ณ เวลานี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะไม่สามารถการันตีใด ๆ ได้เลยว่าทุ่มแล้วจะได้ผลอย่างที่ต้องการหรือไม่ เนื่องจากในพรีเมียร์ลีกยังมีทีมที่ระดับเหนือกว่าคนอื่น ๆ อย่าง แมนฯ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล อยู่อีก 2 ทีม … ถ้า สเปอร์ส อัดเงินเน้น ๆ แต่ไมได้แชมป์ขึ้นมาโอกาสเจ็บหนักไปอีก 20 ปีมีสูง นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารคิด พวกเขาไม่สามารถเสี่ยงแบบนั้นได้
ขณะที่ในมุมของ คอนเต้ เขาก็แค่เป็นคนเก่งที่ชอบทำงานในบรรยากาศที่ทุกอย่างเป็นใจ เขาชอบที่จะเป็นผู้ชนะ เพียงแต่การเป็นผู้ชนะในพรีเมียร์ลีกนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่สูงมาก ต้องใช้ทั้งเงินและอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งสเปอร์ส ไม่สามารถมอบให้เขาได้
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลให้ คอนเต้ เสียงแผ่วลงที่สุดตลอดอาชีพการทำงานของเขา เขาแทบจะยอมยกธงขาวอยู่กลาย ๆ… การเจอกันในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ ไม่ได้หมายความว่าทั้ง สเปอร์ส และ คอนเต้ จะตอบโจทย์ซึ่งกันและกันอย่างที่หลายคนคิด
“สำหรับผม มันหงุดหงิดมากๆ นะ แพ้ 4 ใน 5 เกมหลังสุด นี่เป็นครั้งแรกในอาชีพผมเลย ที่สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น บางทีผมอาจไม่ได้เก่ง ผมคิดว่าท็อตแน่มเรียกผมมาเพื่อพัฒนาสถานการณ์ในทีม แต่ผมซื่อสัตย์เกินไปที่จะมาปิดหูปิดตา แล้วพูดว่า ‘โอเค ก็จบฤดูกาลไปแบบนี้แหละ โอเคไงได้เงินดีก็พอแล้ว'”
“แต่ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมมีความทะเยอทะยาน ผมไม่ชอบความพ่ายแพ้เลย มันรับไม่ได้จริงๆ ผมอยากพัฒนาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อยากวิเคราะห์มัน เพราะถ้าเป็นแบบนี้ เราจะจบอันดับ 10,12,13 เอาได้เลย เหมือนกับตอนที่ผมมาถึงที่นี่แรกๆ”
“ไม่มีใครสมควรตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ทั้งสโมสร ทั้งตัวผม ทั้งนักเตะ และแฟน ๆ แต่มันเกิดขึ้นไปแล้ว ผมเข้ามาเพื่อพยายามจะพัฒนา แต่ผมอาจจะไม่ได้เก่งนักเรื่องนี้”
“ผมไม่ชินที่ต้องเจอแบบนี้ แต่ผมย้ำอีกทีว่า ผมพยายามทำทุกวิถีทาง แต่มันไม่ยอมเปลี่ยน บางคนพูดเรื่องแข่งแย่งท็อปโฟร์ แต่ความจริง เราตั้งสมาธิไม่ให้หล่นไปโซนหนีตกชั้นก่อนดีกว่า”
การผิดที่ผิดเวลาคือเหตุผลที่ทำให้เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้น สโมสรที่ต้องการรักษาสภาพคล่องนอกสนาม กับโค้ชที่ต้องการความเพอร์เฟ็กต์ในสนาม …
ไม่รู้ว่าใครจะปรับเข้าหาใครได้ก่อน เรื่องนี้เดาได้ยากยิ่ง เพราะแต่ละฝ่ายก็มีความเชื่อและวิธีการของตัวเองทั้งคู่