ประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในโลกของเราตอนนี้ คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน ที่ทวีความหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบัน
ท่ามกลางการต่อสู้ด้วยความรุนแรง จนเริ่มนำไปสู่การรบหลายรูปแบบ ทั้งด้านการเงิน, การค้า จนถึงความสัมพันธ์ทางการทูต ทุกอย่างส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงวงการกีฬาด้วยเช่นกัน
พูดถึงปัญหาในทวีปยุโรป กีฬาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นฟุตบอล ที่ดูเหมือนว่าจะมีผลกระทบตามมาหลายอย่างจากปัญหาในเวทีการเมืองสู่เกมลูกหนัง
นี่คือผลกระทบจากสงครามที่เริ่มต้นขึ้น และฟุตบอลจะต้องปรับตัวอย่างไรกับความวุ่นวายในยุโรปตอนนี้ ติดตามไปพร้อมกับเรา
ไม่มีหวังสำหรับ “ยูเครน”
เนื่องจากเป็นเป้าโจมตีของสงครามครั้งนี้ วงการฟุตบอลยูเครนย่อมได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือเรียกได้ว่าทุกวงการกีฬาของยูเครน
ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีของยูเครน อย่าง โวโลดีมีร์ เซเลนสกี มีคำสั่งโดยตรงให้ระงับการแข่งขันฟุตบอลในประเทศเป็นเวลา 30 วัน หลังจากรัสเซียเคลื่อนพลบุกประเทศอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามหากมองจากความเป็นจริง การแข่งขันฟุตบอลในยูเครนเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกได้ว่าจะกลับมาแข่งขันในช่วงเวลาไหน และสำหรับชาวยูเครนคงไม่มีใครมีกะจิตกะใจจะมาเล่นกีฬากันอีกแล้ว เพราะพวกเขาสุ่มเสี่ยงกับการต้องพบจุดจบของชีวิตอยู่ทุกนาที หลังจากรัสเซียเดินหน้าเต็มกำลังรุกประเทศของพวกเขา
ประชาชนยูเครนจำนวนไม่น้อยต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่หลบภัย รวมถึงนักฟุตบอลหลายคนต้องพบเจอกับชีวิตที่อยากลำบาก ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่นต่างชาติที่ย้ายมาเล่นในยูเครน พวกเขาก็ไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศได้ และต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศบ้านเกิดให้ส่งคนมาช่วยพาตัวเขาและครอบครัวออกจากดินแดนอันวุ่นวายนี้
ดังเช่นกรณีของนักเตะบราซิลจากสโมสร ดินาโม เคียฟ และ ชัคตาร์ โดเนตสก์ ที่รวมตัวกันขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลบราซิลเพื่อให้พวกเขาได้กลับบ้าน
นอกจากนี้ฟุตบอลในระดับทีมชาติของยูเครนก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เพราะพวกเขามีโปรแกรมจะต้องแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกรอบเพลย์ออฟ ในวันที่ 24 มีนาคม ด้วยการบุกไปเยือน สกอตแลนด์ แต่จากสถานการณ์ในตอนนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะเดินทางออกนอกประเทศ เพราะเขตแดนของยูเครนในตอนนี้ได้ถูกรัสเซียปิดล้อมเอาไว้แทบทุกทิศทางแล้ว
ทั้งนี้ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า และ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ยังไม่ได้ตัดสินใจถึงอนาคตของเกมนี้ว่าจะทำอย่างไรหากสถานการณ์ระหว่าง ยูเครน กับ รัสเซีย ยังไม่คืบหน้าไปในทางที่ดีขึ้น
หากเราเปิดดูบทเรียนจากในอดีต กรณีที่มีปัญหาระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่ยูฟ่าจะพยายามหาพื้นที่การแข่งขันที่เอื้อให้เกมการแข่งขันเกิดขึ้นได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามปัญหาที่ยูเครนกำลังประสบอยู่ในตอนนี้คือการใช้กำลังทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นการแข่งขันฟุตบอลที่เกี่ยวข้องกับคนยูเครนในตอนนี้จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้
สุดท้ายแล้วหากฟีฟ่าและยูฟ่าหาทางออกไม่ได้จริง เชื่อว่ายูเครนอาจจะต้องโชคร้ายถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน เพื่อให้รอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 ดำเนินต่อไปได้
สถานะของวงการฟุตบอลยูเครนในตอนนี้พวกเขาไม่มีทางเลือกใด ๆ เพราะแค่เอกราชของประเทศ สิทธิในการเป็นคนยูเครนจะหายไปเมื่อใดก็ไม่รู้
รวมใจคว่ำบาตร “รัสเซีย”
ย้อนกลับมาที่ฝ่ายเริ่มบุกโจมตีอย่าง รัสเซีย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาติมหาอำนาจแห่งดินแดนยูเรเซีย ไม่รอดที่จะถูกมองว่าเป็นวายร้ายของเรื่องนี้ โดยเฉพาะจากสายตาของโลกตะวันตก
นับตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซีย และกลุ่มชาติโลกเสรียืนอยู่ตรงข้ามกันบนเวทีการเมืองมาตลอด แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี มีบริบทบางอย่างที่เป็นไป เช่น จากสหภาพโซเวียตสู่รัสเซีย แต่ความบาดหมางระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ไม่เคยหายไปไหน ไม่เคยมีความไว้ใจระหว่างกัน มีแต่ความคิดที่จะชิงอำนาจของทั้งสองฝ่าย
ถึงจะเป็นความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย กับ ยูเครน แต่โลกตะวันตกก็เป็นอีกตัวละครสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความพยายามของยูเครนที่จะเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ (NATO) หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ องค์กรพันธมิตรทางทหารของชาติตะวันตก ที่รัสเซียมองว่าหากยูเครนเข้าร่วมกับนาโต้ ก็เปรียบเสมือนการถูกโลกตะวันตกรุกรานดินแดนเข้ามาติดในระยะประชิด จนรัสเซียเลือกที่จะบุกดินแดนของยูเครน เพื่อรักษาดินแดนที่เป็นป้อมปราการในมุมมองของรัสเซียเอาไว้
การบุกยูเครนของรัสเซียสำหรับโลกตะวันตกคือการโจมตีพันธมิตรหน้าใหม่ของพวกเขา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศต่าง ๆ จะมีมาตรการโต้กลับใส่รัสเซียด้วยวิธีที่ไม่ใช่การใช้กำลังทางทหาร หนึ่งในนั้นคือการคว่ำบาตรผ่านกีฬาฟุตบอล
ในระดับสโมสรเราได้เห็นการปลดบริษัทธุรกิจจากรัสเซียออกจากการเป็นสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็น ชาลเก้ 04 ทีมฟุตบอลในประเทศเยอรมันที่ยกเลิกสปอนเซอร์คาดหน้าอก อย่าง Gazprom บริษัทด้านพลังงานจากรัสเซีย
รวมถึง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมดังของอังกฤษ ที่ยกเลิกสัญญากับ Aeroflot บริษัทสายการบินสัญชาติรัสเซียจากการเป็นสปอนเซอร์ของสโมสร
แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งวางสนามกลางในเกมรอบชิงชนะเลิศไว้ที่ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองหนึ่งในประเทศรัสเซีย และหลังจากเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนก็มีความต้องการอย่างมากจากโลกตะวันตกให้ปลดรัสเซียออกจากการเป็นเจ้าภาพเกมนัดชิงยูซีแอล
แม้ว่ารัสเซียจะไม่ใช่พื้นที่รบ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ในรัสเซียก็ไม่ได้สงบ เพราะมีประชาชนบางส่วนออกมาต่อต้านการตัดสินใจของรัฐบาลที่บุกโจมตียูเครน จนนำไปซึ่งการปราบปรามกลางเมืองของรัสเซีย
ขณะเดียวกันเกมนัดชิง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก คือหน้าตาของฟุตบอลยุโรป รวมถึงมีมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล ดังนั้นการจัดเกมในรัสเซียจึงไม่มีทางที่ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งตะวันตกของยุโรปจะยอมให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้เหตุการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อฟุตบอลในระดับทีมชาติกับฝั่งของรัสเซียด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัสเซียยังคงมีโปรแกรมที่จะต้องแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกรอบเพลย์ออฟ กับ โปแลนด์ ในรอบแรก และหากชนะจะเข้าไปเจอกับ สวีเดน หรือ สาธารณรัฐเช็ก
ซึ่งจากสถานการณ์ในตอนนี้ทั้งสามประเทศที่อยู่สายเดียวกันออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า ไม่ต้องการเดินทางไปแข่งที่ประเทศรัสเซีย เพราะเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของนักฟุตบอลได้ พร้อมทั้งกดดันให้ฟีฟ่าและยูฟ่าเปลี่ยนสถานที่จัดการแข่งขันใหม่
ทั้งนี้หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เชื่อว่าประเทศจากฝั่งตะวันตกจะหาทางมากดดันรัสเซียมากขึ้นในเวทีฟุตบอล ดังเช่นการตัดสิทธิ์สโมสรจากรัสเซียในการแข่งขันฟุตบอลยุโรปเป็นต้น
ปฏิกิริยาของโลกฟุตบอลของทั้งสองประเทศแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน ยูเครน ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่จะได้เล่นฟุตบอล เพราะประเทศถูกรุกรานโดยไร้ทางเลือก ในขณะที่ รัสเซีย สิทธิ์ของพวกเขาที่เริ่มสูญเสียไปก็เป็นผลมาจากการกระทำของรัฐบาลรัสเซียที่เลือกใช้กำลังทางทหารบุกโจมตียูเครน จนสร้างความเสียหายทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน
ข้อแตกต่างคือรัสเซียมีทางเลือกในการเลือกเดินหน้าต่อหรือพอแค่นี้ หากการบุกจู่โจมยูเครนหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน วงการฟุตบอลรัสเซียก็จะสามารถกลับมาเป็นปกติและรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกได้ในอนาคตอันใกล้
แต่ถ้ารัสเซียเดินหน้าต่อ การตัดวงการฟุตบอลรัสเซียออกจากการแข่งขันในทวีปยุโรปก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะชาติตะวันตกพร้อมจะหาวิธีการมาเล่นงานรัสเซียกลับให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่ได้ใช้กำลังทางทหาร
จะทำอย่างไรหากการต่อสู้ยืดเยื้อ ?
หากปัญหาทุกอย่างจบลงได้ในเร็ววันทุกอย่างก็คงไม่ต้องกังวลมากนัก ฟุตบอลจะสามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ ของทั้ง ยูเครน และ รัสเซีย ไปจนถึงชาติที่เกี่ยวข้อง
แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีใครบอกได้ว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้จะจบลงตอนไหน และถึงสถานการณ์ปัจจุบันจะยังห่างไกลกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 (ตามที่โซเชียลตื่นตระหนก ปั่นข่าวกันเองไปใหญ่โต) แต่การปิดล้อมยูเครนในระยะยาวสามารถเกิดขึ้นได้ อันเป็นยุทธศาสตร์ที่เห็นได้บ่อยครั้งในการทำสงครามยุคใหม่
หากสถานการณ์ยืดเยื้อคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่วงการฟุตบอลทั้งยูเครนและรัสเซียจะกลับมาปกติ เพราะความตึงเครียดที่รัสเซียสร้างขึ้นไม่มีทางที่โลกตะวันตกจะปล่อยให้ชาติเผด็จการจากแดนตะวันออกได้ทำอะไรตามอำเภอใจอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามด้วยภาพลักษณ์ของฟีฟ่าและสถาบันที่มีอำนาจในวงการฟุตบอล ซึ่งพยายามจะแยกเรื่องการเมืองออกจากฟุตบอลอยู่ตลอดเวลา (แม้ในความจริงการเมืองกับฟุตบอลจะไม่เคยแยกจากกันก็ตาม ทุกคนคงเห็นได้ชัดจากกรณีนี้) ดังนั้นองค์กรใหญ่ของโลกลูกหนังคงพยายามจะทำทุกทางเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสิทธิ์รัสเซียหรือยูเครนจากการแข่งขันฟุตบอล ยกเว้นจะเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายในการแข่งขันฟุตบอลจริง ๆ
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ของฟุตบอลจะปราศจากการเมืองไปได้ตลอด เพราะสุดท้ายหากสถานการณ์หนักขึ้น องค์กรทางการเมืองที่มีอำนาจมากกว่า เช่น สหประชาชาติ คงเลือกที่จะลงดาบลงโทษในเวทีสากลกับ รัสเซีย หรือแม้กระทั่ง ยูเครน ก็เปิดโอกาสให้ฟีฟ่าหรือยูฟ่าสามารถทำการแทรกแซงได้ง่ายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือโลกฟุตบอลฝั่งยุโรปตะวันตกจะทำการแบนธุรกิจจากรัสเซียอย่างแน่นอนตามแบบฉบับของวิธีการต่อสู้ในโลกทุนนิยม ดังนั้นแล้วการเล่นงานไปยังภาคเศรษฐกิจของรัสเซียจะเกิดขึ้น ซึ่งเคยได้ผลจนทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายมาแล้ว
ปกติแล้วเราจะได้เห็นการจัดการปัญหาด้านกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยใช้เรื่องของกีฬาเป็นสำคัญ แต่สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ปัจจัยทางการเมืองกลายมาเป็นแรงผลักดันหลักที่นำไปสู่การตัดสินใจต่าง ๆ ในโลกฟุตบอล
สิ่งหนึ่งที่เราบอกได้คือปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง รัสเซีย และ ยูเครน คือปัญหาระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นใหญ่กว่าวงการฟุตบอล รวมถึงวงการกีฬา และมากเกินไปกว่าที่จะตัดสินใจทุกอย่างได้เอง
สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่าการตอบสนองของโลกฟุตบอลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากแรงขับทางการเมือง โดยเฉพาะมาตรการที่ยุโรปตะวันตกเลือกตอบโต้กับรัสเซีย ดังนั้นแล้วความเปลี่ยนแปลงในฟุตบอลที่จะเกิดขึ้น จากวิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะเลวร้ายมากขึ้นหรือทุเลาลงเพียงใด
แต่หากความขัดแย้งร้าวฉานหนักจนกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ ฟุตบอลก็คงเหลือเพียงวิธีการรับมือเดียวเท่านั้นคือ เข้าสู่สงคราม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยให้อะไรแก่มนุษยชาติ นอกจากความเจ็บปวดและความตายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน