sportpooltoday

ล้มและลุก : ปัญหาล้มบอลอันเรื้อรังสู่การพัฒนาเยาวชนบทของฟุตบอลลาว


ล้มและลุก : ปัญหาล้มบอลอันเรื้อรังสู่การพัฒนาเยาวชนบทของฟุตบอลลาว

ฟุตบอลอาเซียนขึ้นชื่อเรื่องการล้มบอลและการมีเครือข่ายพนันฟุตบอลมาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้เกาะกินฟุตบอลลีกรวมถึงระดับทีมชาติมาอย่างยาวนาน และเราก็ได้เห็นข่าวแบนและลงโทษนักเตะเหล่านี้อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะฟุตบอลลาว

อย่างไรก็ตามภาพจำกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อทีมชาติลาวยู 19 คว้ารองแชมป์ศึกชิงแชมป์ อาเซียน ซึ่งนี่คือผลงานครั้งประวัติศาสตร 

พวกเขายกระดับตัวเองมาจนถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? ติดตามที่นี่

ปัญหาเชิงโครงสร้างของการล้มบอล 

ในช่วง 5 ปีหลังสุดข่าวการ “ล้มบอล” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Match Fixing ถือเป็นปัญหาใหญ่ของวงการฟุตบอลลาว เพราะหากคุณลอกเสิร์ชข่าวเก่า ๆ ในหน้า Google คุณจะพบว่ามีข่าวการล้มบอลในฟุตบอลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 จนถึงล่าสุดการล้มบอลในช่วงเดือนมกราคม ปี 2022 นี้ ที่มีนักเตะลาวทั้งหมด 45 คน ถูก FIFA สั่งแบนห้ามลงเล่นตลอดชีวิต จากต้นเหตุของการล้มบอล 


Photo : facebook.com/LaoFF

แม้ นายคำแพง วงคันติ รองประธานสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติลาว จะชี้แจงว่า ที่ผ่านมาสมาคมฟุตบอลลาวได้ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องในการให้ความรู้แก่นักฟุตบอลทุกคนเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความรักชาติและการเสียสละเพื่อชาติ นอกจากนี้ ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติต่างๆ ตัวแทนระดับสูงที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลได้พบกับนักกีฬาเพื่อให้กำลังใจ และเรียกร้องให้นักกีฬาทุกคนปฏิบัติตามกฎการแข่งขัน รักชาติ เสียสละ และใส่ใจในชื่อเสียงของชาติ และศักดิ์ศรี ทว่าของแบบนีมันได้แก้กันง่าย ๆ ในฟุตบอลอาเซียน ที่มีปัจจัยควบคุมไม่ได้มากมายแตกต่างกับฟุตบอลในยุโรปอย่างสิ้นเชิง 

ผู้ที่เห็นปัญหาและอยู่ในวงการฟุตบอล เอเชีย อย่าง สตีฟ ดาร์บี้ อดีตเฮ้ดโค้ชทีมชาติไทย และทีมชาติลาว มองเห็นปัญหาเรื่องนี้แทบทุกที่ในฟุตบอลลีกของ อาเซียน เพราะการจัดการที่ไม่ดี และการที่สโมสรฟุตบอลของแต่ละประเทศนั้นไม่ได้มีรากฐานที่แข็งแกร่ง ที่อาเซียน “เงิน” คือพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการทำทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง

 

ดาร์บี้ เล่ามุมมองของตัวเองว่า ปัญหาจะเริ่มเกิดขึ้นจากระบบของสโมสรที่ยังไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพ ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ผู้ที่มีอำนาจใหญ่ที่สุดในสโมสรเริ่มมีปัญหาและเริ่มไม่เงินค่าเหนื่อยนักเตะ จุดเริ่มต้นของการล้มบอลจะเกิดขึ้น ณ จุดนี้


Photo : facebook.com/LaoFF

“เมื่อสโมสรหยุดจ่ายเงินเดือน พวกนกรู้ที่เกี่ยวกับองค์กรที่ล้มบอลก็เริ่มโฉบเข้ามาเกี่ยวข้องทันที … คุณลองคิดดูว่าคุณไม่ได้รับเงินเดือนมาเเล้ว 3 เดือน คุณมีค่าใช้จ่าย มีลูก 2 คนต้องเลี้ยงดู และคุณทำอะไรกับนายจ้างไม่ได้ … จนกระทั่งวันหนึ่งมีคน ๆ หนึ่งติดต่อเข้ามาและบอกว่าเขาจะจ่ายเงินที่มากเท่ากับเงินเดือนของคุณ 6 เดือน สำหรับการล้มบอล 1 เกมคุณจะตอบรับหรือไม่ ? ผมว่านี่แหละคือต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด” สตีฟ ดาร์บี้ กล่าว 

วิธีการล้มบอลในแบบฉบับที่เครือข่ายเว็บพนันใช้เล่นงานฟุตบอลอาเซียน ไม่ว่าจะ ลาว ไทย เวียดนาม และ อินโดนีเซีย คือพวกเขาเล็งเห็นถึงจุดอ่อนเรื่องความไม่แน่นอนของอนาคตนักเตะที่พร้อมจะกลายเป็นคนตกงานได้ทุกเวลา และจุดอ่อนอีกอย่างคือเรื่องของการนับถือเรื่องของอาวุโสภายในองค์กรต่าง ๆ ของชาวอาเซียน ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องฟุตบอล จุดอ่อนนี้จะถูกใช้ในกรณีที่ต้องการสั่งล้มบอลแบบทั้งทีม อาทิ การมอบเงินให้กับโค้ช หรือนักเตะซีเนียร์ของทีม ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะนำคำสั่งและเเบ่งเงินให้กับเหล่านักเตะดาวรุ่งในทีมอีกดี ดังนั้นต่อให้นักเตะบางคนอาจจะไม่เต็มใจเข้าร่วมการล้มบอลด้วย แต่ระบบอาวุโสก็ทำให้พวกเขาต้องติดร่างแห และเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ไปโดยปริยาย 

โดยวิธีการล้มบอลผ่านระบบอาวุโสนี้ถือเป็นการทำลายชีวิตนักฟุตบอลดาวรุ่งเลยก็ว่าได้ เพราะกลุ่มนักเตะวัยรุ่นยังมีอนาคตมากมายรออยู่ เขาอาจจะไปไกลกว่านั้นได้ แต่สุดท้ายก็ต้องมาเจอปัญหาเชิงโครงสร้างที่พวกเขายังวัยวุฒิไม่มากพอที่จะรับมือ บางคนเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ บางรายเข้าร่วมด้วยความจำยอม … ต่อให้การล้มครั้งนั้นไม่ถูกจับได้ แต่มันก็เปลี่ยนจิตสำนึกของพวกเขาในตอนท้ายอยู่ดี พวกเขาจะเกิดความคิดที่ว่าในจะขยันและตั้งใจไปทำไม ในเมื่อการล้มบอล 1 ครั้ง ได้เงินมากกว่าเงินเดือนค่าเหนื่อยของตัวเองหลายเท่า พวกเขาจะเริ่มเลือกทางลัดนี้ซ้ำ ๆ จนกว่าที่จะโดนจับได้ ซึ่งถึงตอนนั้นก็สายไปแล้ว นักเตะหลายคนโดนแบนตลอดชีวิตและหมดอนาคตไปโดยปริยาย

 


Photo : facebook.com/LaoFF

นี่คือปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องกับฟุตบอลลาวได้บอกเล่าออกมา และมันก็สะท้อนผ่านข่าวคราวต่าง ๆ ที่ออกมาเกี่ยวกับการล้มบอลของนักเตะลาวทั้งในระดับสโมสรและในระดับทีมชาติ ในปี 2017 พวกเขามีนักเตะระดับทีมชาติถึง 18 คน ที่ถูกแบนเกี่ยวกับการพัวพันการล้มบอลในแมตช์ที่แพ้ ฮ่องกง 0-4 ในการแข่งขันที่สนามมงก๊ก  

ขณะที่ในปี 2018 สโมสร ลาว โตโยต้า ถูกคณะกรรมการควบคุมการแข่งขันของเอเอฟซี ตัดสิทธิ์จากการเข้าแข่งขัน เอเอฟซี คัพ หลังถูกจับได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมกับการล็อคผลการแข่งขันในเอเอฟซี คัพ เมื่อปี 2015 และ 2016 ซึ่งขัดต่อบทที่ 12.8 ในระเบียบการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับสโมสรของเอเอฟซี ก่อนจะมีการตัดสินเพิ่มเติมในปี 2022 ที่กล่าวมาในข้างต้นที่มีนักเตะอีก 45 คนโดนแบนตลอดชีวิตอีก 

ในความจริงแล้วถ้าจะใช้คำให้ถูกก็ควรต้องบอกว่ามันเกี่ยวข้องกับทั้งอาเซี่ยนก็คงไม่ผิดนัก แต่สำหรับวงการฟุตบอลลาวการโดนกัดกินโดยการล้มบอล นั้นสะท้อนภาพได้อย่างชัดเจนผ่านการแข่งขันในสนามตามทัวร์นาเม้นต์ต่าง ๆ ทั้งทีมชาติชุดใหญ่และทีมชุดเยาวชน พวกเขามักจะตกรอบแรก ๆ เป็นประจำ จนกระทั่งเกิดปรากฎการณ์ครั้งแรกในฟุตบอลชิงเเชมป์อาเซียน ยู19 ที่ผ่านมา เมื่อทีมชาติลาวชุดยู 19 สามารถคว้ารองแชมป์ได้เป็นครั้งแรก โดยในรอบแบ่งตัดเชือกพวกเขาเอาชนะไทยยู 19 ได้ถึง 2-0 … สิ่งที่เกิดขึ้นนี้บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ?

ท่ามกลางปัญหา 

ปัญหาเชิงโครงสร้งที่กล่าวไว้ในข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา AFC ได้ทำการจ้างบริษัทที่ชื่อว่า Sportradar ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทุจริตด้านการล้มบอลโดยเฉพาะ 

Andreas Krannich ผู้บริหาร Sportradar ยืนยันว่านับตั้งแต่ที่บริษัทได้ทำงานร่วมกับ AFC ฟุตบอลอาเซียนก็มีการล้มบอลหรือล็อคผลการแข่งขันน้อยลงถึง 21% แต่บังเอิญว่าปัญหามันไม่ได้จบแค่นั้น เพราะหลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้ฟุตบอลลีกในอาเซียนมีการหยุดการแข่งขัน หลาย ๆ สโมสรเริ่มลดค่าเหนื่อยของนักเตะลง ทำให้เกิดปัญหาปากท้องที่สะสมต่อเนื่อง และเมื่อฟุตบอลกลับมาแข่ง นักเตะก็เปราะบางและอ่อนไหวเป็นอย่างมากเมื่อได้รับข้อเสนอก้อนโตจากเครือข่ายพนันบอล 


Photo : facebook.com/LaoFF

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อฟุตบอลกลับมาเริ่มเเข่งขันกันอีกครั้ง ตัวเลขของเเมตช์ที่น่าสงสัยว่าจะมีการล็อคผลการเเข่งขันในอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 40% มีทั้งการสั่งแบบเจอหน้ากันโดยตรงและการสั่งผ่านช่องทางสื่อสารโซเชี่ยลมีเดียที่มีการใช้สัญญาณเข้ารหัส 

แม้จะพยายามแก้แต่ก็ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะนี่คือองค์กรที่กัดกินวงการฟุตบอลลาวและฟุตบอลอาเซียนมาอย่างยาวนาน ดังนั้นหากลาวคิดจะเปลี่ยนแปลงอนาคต พวกเขาต้องเริ่มที่ตัวเองเป็นอย่างแรก พวกเขาต้องเริ่มสร้างจากฐานของความสำเร็จในโลกฟุตบอลนั่นคือ “เยาวชน”

โครงการสร้างนักเตะเยาวชนนั้นถือเป็นเรื่องที่วงการฟุตบอลลาวเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลัง วงการฟุตบอลลาวค่อย ๆ สร้างฐานของพวกเขาโดยเริ่มจากการจับมือกับ สมาพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน หรือ เดเอฟเบ เพื่อเปิดหลักสูตรสำหรับผู้ฝึกสอนของลาวให้มีไลเซ่นส์รับรอง และเพื่อให้สามารถส่งต่อความรู้ความเข้าใจให้กับเยาวชนที่จะเป็นผู้รับสารต่อไป 

ซึ่งการได้คอนเน็คชั่นกับฝั่ง เดเอฟเบ ทำให้ลาวได้เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับสโมสร โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่จะมาช่วยเรื่องการพัฒนาศักยภาพของนักเตะเยาวชน ซึ่ง เยอรมัน โมเดล ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ลาวได้แต่งตั้งโค้ชคนใหม่ที่ดูแลทีมตั้งแต่ชุด ยู19 ยู23 และทีมชาติชุดใหญ่อย่าง มิชาเอล ไวส์ โค้ชชาวเยอรมัน ที่เข้ามาคุมทีมในช่วงต้นปี 2022 โดยปรัชญาของเขาคือการเลือกใช้นักเตะสายเลือดใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและพยายามไล่ตามทีมแถวหน้าของอาเซียนอย่าง ไทย และ เวียดนาม ให้ทัน 


Photo : facebook.com/LaoFF

“ตอนเราไปเล่น ซีเกมส์ ทีมชุดยู23 ของลาว ทำผลงานไดดีทุกนัด นักเตะทุกคนมีความเข้าใจด้านแท็คติกมากขึ้น ทุกคนเล่นได้ดีในแง่ของวิธีการเล่นแบบโต้กลับ เราอยากเห็นรูปแบบ ส่วนเรื่องเหรยญรางวัลไม่ใช่เรื่องใหญ่”

“ผมอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในแต่ละนัด ผมค่อนข้างชัดเจนในการทำทีมไม่ใช่ว่านักเตะอายุมากจะไม่มีที่ยืนแต่พวกเขาต้องแสดงผลงานที่คู่ควรกับโอกาสที่พวกเขาได้รับ ส่วนนักเตะเยาวชนคือเป้าหมายสำคัญที่เราต้องการพัฒนา ผมจะเลือกใช้ผู้เล่นอายุน้อยในแต่ละทัวร์นาเม้นต์ ผมอยากให้พวกเขาเติบโตด้วยความสามารถและประสบการณ์ เราอยากจะไล่ตาม ไทย และ เวียดนาม ให้ทัน … ส่วนเป้าหมายของเราจริง ๆ คือการผ่านได้เล่นในรอบคัดเลือกรอบที่สองของฟุตบอลโลกปี 2026” ไวส์ เผย

 

นอกจากเยอรมันแล้ว ลาว ยังมีสัมพันธ์ที่ดีกับฟุตบอลจีน เนื่องจากพวกเขายังได้รับการสนับสนุนเรื่องเงินทุนจากจีนในโครงการสร้างสนามฝึกซ้อมเพื่อศูนย์ฝึกเยาวชนและสนามกีฬาแห่งชาติของลาว ที่สร้างโดย  Yunnan Construction ซึ่งสนามเแห่งนี้จะเป็นรังเหย้าของทีมชาติลาวอีกด้วย 

หากใครได้เห็นฟอร์มของทีมชาติลาวในซีเกมส์ ครั้งที่ผ่านมาคุณจะเห็นได้ว่าพวกเขาเล่นอย่างรู้จักตัวเองมากขึ้น แม้พวกเขาจะเก็บได้แค่แต้มเดียวจาก 4 เกมที่ลงสนาม แต่วิธีการเล่นแบบโต้กลับ และความฟิต ถือเป็นเรื่องที่ลาวพัฒนาขึ้นมามาก แม้จะยังไล่ทีมอื่น ๆ ไม่ทันในเวลานี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าฟุตบอลของลาวเป็นทรงมากขึ้น ไม่แพ้การแพ้แบบยับ ๆ โดนกดตลอดทั้งเกมเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีตอีกเเล้ว พวกเขาเกือบชนะ สิงคโปร์ อีกหนึ่งทีมแกร่งของอาเซียนได้ด้วยซ้ำ หลังจากออกนำไป 2-0 ก่อนจะโดนตีเสมอในช่วงทดเวลานาทีสุดท้าย 


Photo : facebook.com/LaoFF

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน มิเชล ไวส์ นำทีมชาติลาวยู 19 คว้ารองแชมป์ศึกชิงแชมป์อาเซียน ด้วยวิธีการเล่นที่เขาเชื่อมั่นว่าเหมาะกับผู้เล่นลาว ณ เวลานี้ที่สุด การตั้งเกมรับและให้ทุกคนพยายามวิ่งไล่บีบพื้นที่ให้คู่แข่งขันเล่นยาก และหากมีโอกาสก็ใช้การสวนกลับแบบที่ต่อบอลน้อยที่สุด ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้พวกเขาสามารถเอาชนะ ไทย ที่นำโดยโค้ช “ซัลบา” ซัลบาดอร์ บาเลโร การ์เซีย โดย ซัลบา กล่าวหลังเกมว่าความแตกต่างของ ลาว ที่เพิ่มขึ้นมาคือความแม่นยำเมื่อมีโอกาสทำประตู ซึ่งนั่นคือวิธีลาวพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว 

“พวกเขามีโอกาสสองครั้งและพวกเขายิงสองประตู เรามีโอกาสเจ็ดหรือแปดครั้ง แต่เราไม่ได้ประตู นี่แหละคือฟุตบอล ผมขอแสดงความยินดีกับทีมชาติลาวด้วย” กุนซือชาว สเปน กล่าว

แม้ที่สุดแล้วการชนะไทยยู 19 อาจจะไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดที่พูดได้เต็มปากว่า ลาว ก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าในอาเซียน แต่นี่คือสัญญาณเตือนแล้วว่าพวกเขากำลังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง พวกเขาเริ่มจากเยาวชน เลือกโค้ชที่เหมาะกับวัตถุดิบที่มี ในเวลาแค่ 6 เดือน ลาว เล่นเหมือนกันทุกชุด พวกเขารู้จักความสามารถของตัวเอง เล่นเกมรับอย่างอดทนและมีวินัย … แม้จะยังไม่ถึงที่สุดแต่ก็ถือว่าพวกเขามาไกลยิ่งกว่าที่เคย


Photo : facebook.com/LaoFF

“มันช่างสวยงามเหลือเกิน ตั้งแต่ผมเข้ามารับงานที่นี่ 6 เดือน เราพยายามทำอะไรบางอย่าง แต่ก็ยังไม่ถึงฟอร์มที่ดีที่สุด เราไม่เคยเล่นฟุตบอลที่ดีจริงๆ ในเกมส่วนใหญ่ แต่เราแข็งแกร่งด้วยโครงสร้างที่ดี และด้วยการเล่นฟุตบอลแบบนี้ เราจะสามารถคว้าชัยชนะได้” มิเชล ไวส์ กล่าวหลังเอาชนะทีมชาติไทยู 19 ในศึกชิงเเชมป์อาเซียนที่ผ่านมา

ต้องไปด้วยกัน 

ฟุตบอลทีมชาติจะผลงานดีต่อเนื่อง มีมาตรฐานได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับมากมายหลายส่วน และส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เยาวชนะคือ “ฟุตบอลลีก” เพราะถ้าคุณทำให้นักเตะได้เห็นสิ่งที่พวกเขาจะได้จากความเป็นอาชีพ พวกเขาจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อไป 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ฟุตบอลลีกของลาว มักจะมีเรื่องล้มบอลเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ่อย ๆ จนมีนักเตะหลายคนโดนแบนไป ทว่าในช่วงปี 2018 ฟุตบอลลีกของลาวมีการลงทุนโดยภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น บริษัท ลาว บริวเวอรี ได้เข้ามาสนับสนุนฟุตบอล ลาวพรีเมียร์ลีก เป็นเงิน 1.3 พันล้านกีบ (ราว 3.2 ล้านบาท) เป็นต้น


Photo : facebook.com/YEFC1

นอกจากนี้ยังมีการจับมือกันระหว่างสหพันธ์ฟุตบอลลาว กับนักธุรกิจชาวสิงคโปร์อย่าง เจสัน ลิม สร้างทีม Young Elephants และส่งลงเเข่งขันในลีกสูงสุดของลาว โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันนักเตะเยาวชนตั้งแต่อายุ 16-19 ปี หากพวกเขาดีพอ พวกเขาจะมีทีมที่มีการจัดการแบบมืออาชีพรองรับ ซึ่งทีม Young Elephants ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นทีมหัวตาราง และไปแข่งขันในรายการ เอเอฟซี คัพ ในปี 2020 ได้สำเร็จ 

แม้การพัฒนาที่ดีและยั่งยืนที่สุดคือการต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้งระบบ แต่สำหรับชาติอาเซียนที่วัฒนธรรมฟุตบอลไม่ได้ยาวนาน และอยู่ในช่วงตั้งไข่สำหรับการเป็นมืออาชีพ การทำอะไรหลาย ๆ อย่างก็ต้องเริ่มกันที่ตัวเองเป็นอันดับแรก สิ่งสำคัญมาก ๆ คือนักลงทุน ที่พร้อมจะเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมฟุตบอลอาเซียนที่แทบจะทำกำไรไม่ได้เลย ดังนั้นใครสักคนที่จะเข้ามาทำฟุตบอลอย่างจริงจังก็ต้องเป็นคนที่มีความพร้อมแบบรอบด้านทั้ง เงิน อำนาจ และคอนเน็คชั่น … แม้จะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีและสมบูรณ์ที่สุด แต่นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงกระเพื่อมได้ดีที่สุด


Photo : facebook.com/phijika.boonkwang

ตอนนี้ฟุตบอลลาวกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้คนในประเทศ การมีดังในแวดวงอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการนำเสนอข่าวบนหน้าสื่อทั้งการอัดฉีดเงินให้นักเตะ ทำให้ฟุตบอลลาวคึกคัก เช่นกรณีของ “มาดามโบ” พิจิกา บุญกว้าง ที่ถึงแม้จะไม่มีตำแหน่งในสหพันธ์ฟุตบอลลาว แต่เธอก็ได้พื้นที่สื่ออย่างมาก จากการเป็นเจ้าของทีม ดราก้อน คิง เอฟซี และล่าสุดกับทีมเวียงจันทร์  ยูไนเต็ด  

พิจิกา สร้างความสนใจให้วงการฟุตบอลลีกของลาวในวงกว้าง  เพราะเธอมักจะปรากฎตัวในลีกเยาวชนท้องถิ่นตามที่ต่าง ๆ ในประเทศเพื่อหานักเตะเยาวชนมาเสริมทัพเพื่อต่อยอด รวมถึงการหานักเตะเชื้อสายลาวจากต่างแดนมาเล่นให้กับทีมชาติ อาทิ บิลลี่ เกตุแก้วพรหม ที่เคยเป็นนักเตะอาชีพในลีกฝรั่งเศสมาก่อน ซึ่งก็สร้างความสนใจให้กับแฟนบอลในประเทศมากขึ้นจากการมาของเขา แต่หลังจากที่ได้รองแชมป์ยู-19 ก็มีเหตุการณ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่เธอวิ่งตามรถบัสของนักเตะลาว กลายเป็นภาพที่ไม่สวยหรูนัก  ทำให้เธอถูกแฟนบอลในโซเชี่ยลมีเดียแสดงความไม่พอใจ  ทำให้เธอได้ประกาศวางมือ แต่ก็ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดบทสรุปนี้จะจบอย่างไร


Photo : facebook.com/LaoFF

จากการเติบโตของลีก และความสำเร็จที่เริ่มมองเห็นภาพชัดขึ้นในทีมยู19 ตอนนี้วงการฟุตบอลลาวเหมือนกับหาที่ตั้งหลักได้แล้ว พวกเขาอาจจะไม่เก่งขึ้นผิดหูผิดตาภายในเร็ว ๆ นี้ แต่ที่แน่ ๆ จากตัวอย่างของทีมยู 19 ต่อจากนี้ ลาว คงไม่ใช่หมูให้ทีมไหน ๆ ในอาเซียนเชือดง่าย ๆ อีกเเล้ว