sportpooltoday

“รินัต อัคห์เมตอฟ” : ประธานของ ชัคตาร์ โดเนตสก์ ผู้ยืนตรงข้าม “เซเลนสกี” และถูกหาว่าทรยศยูเครน


"รินัต อัคห์เมตอฟ" : ประธานของ ชัคตาร์ โดเนตสก์ ผู้ยืนตรงข้าม "เซเลนสกี" และถูกหาว่าทรยศยูเครน

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่ รินัต อัคห์เมตอฟ ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในแผ่นดินยูเครน

เขาเริ่มสร้างชื่อจากการเป็นประธานสโมสร ชัคตาร์ โดเนตสก์ ทีมในบ้านเกิด มั่งคั่งจากธุรกิจเหมืองแร่และถ่านหิน จนกลายมาเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศ และเป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดี 

อย่างไรก็ดีสถานะของเขาก็เปลี่ยนไป หลังรัสเซียสนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนให้เข้ามาทำสงครามในภูมิภาคดอนบาส ทางภาคตะวันออกของยูเครน ในปี 2014

เพราะนอกจากต้องพา ชัคตาร์ ลี้ภัยไปที่กรุงเคียฟแล้ว อัคห์เมตอฟ ยังถูกต่อต้านจากคนยูเครนหลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้อัดฉีดเงินทุนให้กับกองกำลังแบ่งแยกดินแดน และถูกมองจากคนท้องถิ่นว่าเป็นผู้ทรยศ จนแทบไม่ได้กลับมาบ้านเกิดเลยนับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น 

แต่ที่สำคัญที่สุดคือการมีจุดยืนตรงข้าม โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบัน จนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดวางแผนรัฐประหารผู้นำของประเทศ ก่อนที่การรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี 2022 จะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่เดือน 

ติดตามเรื่องราวสุดระห่ำของเขาไปพร้อมกับ Main Stand

ลูกน้องมาเฟียแห่งดอนบาส 

“คนชายขอบ” อาจจะเป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตในวัยเด็กของ รินัต อัคห์เมตอฟ เขาเกิดในปี 1966 ที่เมืองโดเนตสก์ แห่งภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน ในสมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต 

1ในอดีตดินแดนแห่งนี้คือพื้นที่ห่างไกลความเจริญที่โซเวียตขนกลุ่มชาติพันธ์ ทั้งจอร์เจีย, ยิว, อาร์เมเนีย, รัสเซีย, โวลการ์ และ ทาทาร์ ที่ต่างมีประวัติอาชญากรรมอันยาวเหยียดมาอยู่ที่นี่ เพื่อทำงานในเหมืองแร่และโรงงานถ่านหินที่เป็นทรัพยากรหลักของภูมิภาค 

รินัต คือผลพวงจากนโยบายนี้ เขาคือลูกชายของครอบครัวชาวทาทาร์ยากจนที่ไม่มีแม้แต่ห้องน้ำในบ้าน และมีพ่อและพี่ชายทำงานอยู่ในเหมืองถ่านหินที่ร้อนและสกปรก 

ด้วยสภาพแวดล้อมเหล่านี้ทำให้ รินัต ที่แต่เดิมเป็นคนเรียนเก่ง เลือกเส้นทางที่ต่างจากพ่อของเขาด้วยการมาเป็นลูกน้องของ อัคฮัต บรากิน หัวหน้ามาเฟียชาวทาทาร์ หนึ่งในสามองค์กรอาชญากรรมที่ใหญ่ที่สุดของเมือง ร่วมกับ เกนนาดี กับ เกรกอรี “สองพี่น้องโดลิเซ” ชาวจอร์เจีย และ เอดูอาร์ด บรากินสกี หรือ “ชิริค” หัวหน้าแก๊งชาวรัสเซีย  

“รินัต สัญญากับตัวเองว่าเขาต้องไปให้พ้นจากชีวิตแบบนี้ ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรก็ตาม” อดีตนักสืบผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับ ESPN

“เขามีความภูมิใจในตัวเองต่ำมาก มีความคล้ายกับ สตีฟ จ็อบส์ มาก ทั้งโลกต่อต้านเขา เขามีความรู้สึกแบบนั้น ซึ่งนั่นมาจากความรู้สึกไม่เป็นธรรมสมัยวัยรุ่น ที่พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มมาเฟียสามารถทำเงินได้มากมาย” 

2การมาทำงานกับ บรากิน ยังทำให้ อัคห์เมตอฟ ได้พบกับ วิคเตอร์ ยานูโควิช ผู้จัดการการขนส่งในระดับภูมิภาคในตอนนั้นที่เคยทำหน้าที่โจรกรรมและทำร้ายร่างกายให้แก๊งบรากินมาก่อน 

ขณะที่ บรากิน ร่ำรวยจากธุรกิจเก็งกำไรการแลกเปลี่ยนเงินและครอบครองโรงสีและเหมืองแร่ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ก่อนที่อิทธิพลของเขาจะเบ่งบานสุดขีดหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย เนื่องจากเขาใช้เงินฟาดหัวตำรวจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมาเป็นพวก ในช่วงที่ประเทศเต็มไปด้วยความวุ่นวายจากการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน 

ในตอนนั้น บรากิน มีทุกอย่างทั้งชื่อเสียง เงินทอง อำนาจ อิทธิพล เหลือเพียงอย่างเดียวที่เขามองข้ามไป คือความซื่อสัตย์ของลูกน้อง

เหตุการณ์วันนั้น 

15 ตุลาคม 1995 มันเหมือนจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งของบรากิน บ่ายวันนั้นเขาและผู้ติดตามได้เดินทางมาชมการแข่งขันระหว่าง ชัคตาร์ โดเนตสก์ ที่เขาเป็นประธานสโมสร ซึ่งเปิด ชัคตาร์ สเตเดียม รับการมาเยือนของทีมจากแหลมไครเมีย 

อันที่จริงสโมสรแห่งนี้มีความหมายมากกว่าทีมฟุตบอล เมื่อมันคือความภาคภูมิใจของภูมิภาคดอนบาส ด้วยต้นกำเนิดจากประชาชนที่เป็นคนงานเหมืองต่างจากสโมสรของสหภาพโซเวียตที่มักมาจากองค์กรของรัฐ 

และมันเป็นเหตุผลที่ทำให้ บรากิน พยายามใช้ทั้งอำนาจเงินและอิทธิพลดึงสิทธิ์ในการบริหารจนได้มาครอบครองในท้ายที่สุดในปี 1992 

3“การเป็นเจ้าของชัคตาร์ เป็นสัญลักษณ์มากกว่าสิ่งใด” ไบรอัน เบสต์ กรรมการผู้จัดการ Dragon Capital ธนาคารเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในยูเครนกล่าวกับ ESPN 

“มันมีผลกระทบทางเศรษฐกิจแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นสำหรับอัคห์เมตอฟและบรากิน แต่ทำให้พวกเขามีอิทธิพลไปทั่วประเทศ ซึ่งเปลี่ยนวิธีที่พวกเขาได้รับการรับรู้ไปเลย”

อย่างไรก็ดีไม่กี่นาทีหลัง บรากิน ปรากฏตัวตรงที่นั่งประธานสโมสร เสียงระเบิดก็ดังอื้ออึ้งไปทั่วทั้งบริเวณนั้น และระเบิดหนัก 11 ปอนด์ ก็ฉีกร่างของ บรากิน และผู้ติดตามออกเป็นชิ้น ๆ กลายเป็นภาพที่น่าสยดสยองต่อหน้าแฟนบอลกว่า 8,000 คนที่เข้ามาชมเกม 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 6 คน หนึ่งในนั้นคือ บรากิน ที่ยืนยันอัตลักษณ์จากนาฬิกาเรือนทองที่สวมใส่ แต่ที่น่าแปลกคือ อัคห์เมตอฟ ลูกน้องคนสนิทของเขากลับไม่ได้มาชมเกมในวันนั้น 

นอกจากนี้ในช่วงที่ บรากิน เสียชีวิต หัวหน้าแก๊งคู่แข่งของพวกเขาก็ล้มหายตายจากไปทีละคน ไม่ว่าจะเป็น เอดูอาร์ด บรากินสกี ที่ตายไปก่อนหน้านั้น หรือ พี่น้องโดลิเซ ที่คนหนึ่งถูกสังหารนอกเมืองโดเนตสก์ ส่วนอีกคนไปเสียชีวิตที่ ทบิลิซี เมืองหลวงของจอร์เจีย

แต่ อัคห์เตมอฟ ก็ยืนยันมาตลอดว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ขณะที่ตัวแทนของเขาก็ปฏิเสธทุกครั้งเมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์นี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

“อัคฮัต บรากิน เป็นเพื่อนสนิทกับอัคห์เมตอฟ” จ็อค เมนโดซา กรรมการผู้จัดการระหว่างประเทศและการลงทุน System Capital Management บริษัทของอัคห์เมตอฟ อธิบาย

“หลายคนรู้ว่าเขาตายในปี 1994-1995 ยุคแห่งความวุ่นวายที่อาชญากรรมและความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างหนักในยูเครน คุณอัคห์เมตอฟไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น เขารู้สึกว้าวุ่นใจมากที่เพื่อนคนดีและเพื่อนร่วมงานที่สนิทที่สุดของเขาถูกฆ่าด้วยวิธีที่โหดเหี้ยมเช่นนั้น”

รับช่วงจากลูกพี่ 

หลังจากเหตุระเบิด อัคห์เมตอฟ ก็เข้ามาถือครองสิทธิ์ในการบริหารสโมสรชัคตาร์เช่นเดียวกับเหมืองเหล็กและโรงถลุงถ่านหิน ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของอดีตเจ้านายเก่าของเขา และขยายธุรกิจออกไปอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษต่อมา  

4เขาเริ่มต้นด้วยการซื้อรัฐวิสาหกิจจากนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล จนกลายเป็นผู้ผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในยูเครน พร้อมทั้งแตกกิ่งก้านสาขาไปยังธุรกิจอื่น ทั้งอสังหาริมทรัพย์ สื่อสารมวลชน ธนาคาร และโทรคมนาคม 

ในที่สุดเขารวมหุ้นกว่า 100 บริษัทเข้าด้วยกันภายใต้การดูแลของบริษัท System Capital Management หรือ SCM ที่ก่อตั้งในปี 2000 พร้อมได้จ้างผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน และสหราชอาณาจักร มาทำงานด้วย จนทำให้บริษัทมีการบริหารงานแบบมืออาชีพมากที่สุดในยูเครน 

อัคห์เมตอฟ ยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยในปี 2011 องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กล่าวยกย่อง อัคห์เมตอฟ และ SCM และทำให้ผู้คนเริ่มลืมปัญหาในอดีตของเขา 

ขณะเดียวกันอาณาจักรของเขาก็กลายเป็นผู้จ่ายภาษีรายใหญ่ที่สุดในยูเครน ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 300,000 คน และทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในยูเครนและบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินกว่า 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการรายงานของ Korrespondent สื่อของยูเครน 

ความร่ำรวยได้ชักนำ อัคห์เมตอฟ สู่การเมือง อันที่จริงมันเริ่มมาตั้งแต่ปี 1997 เมื่อเขาได้เป็นผู้สนับสนุนจนทำให้ วิคเตอร์ ยานูโควิช เพื่อนเก่าได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีแห่งภูมิภาคดอนบาส

ในปี 2004 อัคห์เมตอฟ ยังมีส่วนสำคัญในฐานะผู้สนับสนุนทางการเงินหลักของพรรค Party of Region จนทำให้ ยานูโควิช ก้าวไปถึงตำแหน่งประธานาธิบดีของยูเครน ทว่าเพื่อนของเขากลับไม่ได้บริหารหลังถูกกล่าวหาว่าโกงเลือกตั้ง จนทำให้มีผู้คนออกมาประท้วงในเหตุการณ์ “ปฏิวัติสีส้ม” จนเกิดการเลือกตั้งใหม่  

หลังปฏิวัติสีส้ม วิคเตอร์ ยุชเชนโก ประธานาธิบดีคนใหม่ ได้ดำเนินนโยบายตรวจสอบผู้มีอิทธิพล ทำให้เขาหายหน้าหายตาไปพักใหญ่ ก่อนจะกลับมาเป็นผู้สนับสนุน ยานูโควิช จนทำให้เพื่อนเก่ากลายเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ในปี 2010  

และมันก็ทำให้ อัคห์เมตอฟ กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศ หรือที่เรียกกันว่า โอลิการ์ช เขามีทุกอย่าง มากกว่าที่อดีตหัวหน้าของเขาเคยมีแบบไม่เห็นฝุ่น 

5“ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 จนถึงปี 2014 อัคห์เมตอฟได้กลายเป็นกึ่งสมมุติเทพในยูเครน” เบสต์ กล่าวกับ ESPN 

“ด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มหาศาล เขาจึงได้เป็นตัวแทนที่ใหญ่มากทางการเมือง เขาสามารถควบคุมอยู่เบื้องหลัง รวมไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช” 

อย่างไรก็ดี ธุรกิจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ อัคห์เมตอฟ ทุ่มเทให้กับมัน

ประธานสโมสรบ้านเกิด

ในช่วงที่ธุรกิจของ อัคห์เมตอฟ กำลังไปได้สวย เขาได้นำผลกำไรมาใช้กับสิ่งที่เขารักนั่นคือสโมสรฟุตบอล ชัคตาร์ โดเนตสก์ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก บรากิน 

เขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับทีมตั้งแต่ต้น ทั้งการเลือกผู้เล่นลงสนาม แผนการเล่น ด้วยเป้าหมายอยากให้สโมสรบ้านเกิดที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถต่อกรกับทีมชั้นนำในยุโรปได้ 

6“ฟุตบอลคือแพชชั่นของเขา” ผู้จัดการ SCM ที่สนิทกับอัคห์เมตอฟ กล่าว
 
“สำหรับเขามันเป็นส่วนสำคัญของชีวิต เขาใช้เวลากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไปกับการพูดคุยและคิดเรื่องผู้เล่น พูดคุยกับโค้ช การตัดสินใจทั้งหมดเกี่ยวกับนักเตะเป็นเรื่องของเขาและโค้ช ไม่มีอะไรสำเร็จถ้าไม่มีเขา”

“ในธุรกิจอื่นผมสามารถทำข้อตกลงเป็น 10 ล้านเหรียญโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากเขา แต่ผมไม่สามารถทำแบบนั้นได้กับสโมสรฟุตบอล” 

ในปี 2001 รอยยิ้มเริ่มปรากฏบนใบหน้าของ อัคห์เมตอฟ เมื่อ ชัคตาร์ สามารถสร้างประวัติศาสตร์ ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่มได้เป็นครั้งแรก ก่อนที่ฤดูกาลถัดมาทีมของเขาจะคว้าแชมป์ลีกยูเครนได้เป็นครั้งแรกของสโมสร 

ความกระหายต่อความสำเร็จทำให้ อัคห์เมตอฟ วางแผนระยะยาว หนึ่งในนั้นคือการส่งแมวมองไปหานักเตะที่บราซิล เพื่อนำมาขัดเกลา และ แฟร์นันดินโญ่, วิลเลียน หรือ ดักลาส คอสตา ที่ต่างเคยค้าแข้งให้กับทีมดังในยุโรปก็คือนักเตะเหล่านั้น 

อัคห์เตมอฟ หลงใหลในฟุตบอลจนถึงขีดสุด เขาเฝ้าติดตามพัฒนาการของทีมอย่างต่อเนื่อง และมีกฎเหล็กว่าจะไม่คุยเรื่องธุรกิจของ SCM ในวันที่ ชัคตาร์ มีแข่ง 

“คุณไม่สามารถคุยเรื่องธุรกิจกับเขาทั้งก่อนหรือหลังเกม เขาหมกมุ่นกับมันมาก” ผู้จัดการคนเดิม กล่าว 

7แต่ไม่มีใครตำหนิเขาเลย เพราะตั้งแต่เขาเป็นประธาน ชัคตาร์ ก็สามารถคว้าแชมป์ลีกยูเครนได้ถึง 13 สมัยจาก 23 ฤดูกาล แถมยังไปไกลถึงแชมป์ยูฟ่าคัพ ในซีซั่น 2008-2009 รวมถึงเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก โดยได้ต่อกรกับทีมดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด และ เชลซี 

“ผมมาชัคตาร์ตอนปี 2003 ตอนที่ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อมาก่อน” ดาริโอ เซอร์นา อดีตกัปตันชัคตาร์ย้อนความหลัง

“ผมก็ไม่เคยได้ยินเหมือนกัน แต่คิดว่ามันเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ เราสร้างสโมสรนี้จาก 0 ไปถึง 10”

นอกจากนี้ในปี 2006 เขายังได้เริ่มเมกาโปรเจ็กต์ ด้วยการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ให้แก่ชัคตาร์ ด้วยเงินที่มากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสังเวียน 50,000 ที่นั่งที่ใช้ชื่อว่า “ดอนบาส อารีนา” 

“ตอนที่ผมมาที่นี่ เราเริ่มต้นด้วยยอดแฟนบอล 5,000 คน ตอนนี้มันคือ 50,000 คน” เมอร์เซียร์ ลูเซสคู อดีตกุนซือของชัคตาร์ กล่าวเมื่อปี 2015 

8สนามเปิดทำการในปี 2009 โดยมี บียองเซ นักร้องระดับโลก มาเล่นคอนเสิร์ตเปิดสนาม ก่อนที่ในปี 2010 มันจะกลายเป็นสังเวียนของการแข่งขัน ยูโร 2010 ที่ยูเครนเป็นเจ้าภาพร่วมกับโปแลนด์ถึง 4 เกม รวมถึงเกมรอบรองชนะเลิศ ที่สเปน เอาชนะโปรตุเกส ก่อนจะขึ้นไปคว้าแชมป์ในบั้นปลาย 

มันคือจุดสูงสุดของเขาอย่างแท้จริง เขามีเงินมากมาย มีสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ สนามเหย้าอันโอ่อ่า แถมยังมีเพื่อนเป็นประธานาธิบดี 

ทว่าช่วงเวลาอันหอมหวานก็อยู่กับเขาได้ไม่นาน

ผู้ทรยศจากสองฝั่ง

ในตอนที่ ยานูโควิช อยู่ในตำแหน่งผู้นำสูงสุด ธุรกิจของ อัคห์เมตอฟ ก็ไปได้สวย เมื่อนโยบายหลายอย่างของเพื่อนเก่าต่างเอื้อผลประโยชน์ให้เขายังคงสถานะการเป็นคนที่รวยที่สุดในยูเครน 

9แต่จุดเปลี่ยนก็มาถึงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2013 เมื่อ ยาคูโนวิช ซึ่งฝักใฝ่รัสเซีย ได้ล้มข้อเสนอการเข้าร่วมกลุ่ม EU (สหภาพยุโรป) จนเกิดการประท้วงขับไล่ในปี 2014 ที่เรียกว่า “การปฏิวัติยูโรไมดาน”

กุมภาพันธ์ 2014 กระสุนลูกแรกได้ยิงเข้าใส่ผู้ประท้วงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตในเคียฟกว่า 100 คน หลังจากนั้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดียานูโควิช ก็หนีออกจากยูเครนไปลี้ภัยที่รัสเซีย 

ในช่วงเวลาเดียวกัน รัสเซีย ก็ใช้ความวุ่นวายในยูเครนเข้ายึดแหลมไครเมีย และตามมาด้วยความขัดแข้งในภูมิภาคดอนบาสระหว่างทหารยูเครนกับกบฏแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียสนับสนุน ที่ลุกลามกลายเป็น “สงครามดอนบาส” และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 14,000 คนนับตั้งแต่ปี 2014

สงครามไม่เพียงส่งผลต่อธุรกิจของ อัคห์เมตอฟ โดยตรง เนื่องจากโรงงานและเหมืองแร่ของเขากว่าครึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสที่ฝ่ายกบฏยึดครองเอาไว้ แต่ยังทำให้เขาถูกตั้งคำถามจากรัฐบาลกลาง 

เพราะไม่นานหลังสงครามเกิดขึ้น กองกำลังยูเครนดันสามารถสกัดจับ นิโคไล เลฟเชนโก คนสนิทของอัคห์เมตอฟ ในเส้นทางสู่โดเนตสก์พร้อมกับเงินเต็มคันรถ 

ทำให้แม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะเปิดดอนบาส อารีนา ให้เป็นที่พักพิง และบริจาคอาหารให้ผู้ประสบภัย รวมถึงออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการรุกรานของรัสเซีย แต่ยังมีความคลางแคลงใจจากหลายฝ่ายที่มองว่าเขาอาจจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับกลุ่มกบฏ เพื่อให้ธุรกิจของเขาในพื้นที่สามารถดำเนินต่อไปได้ 

10“เมื่อวิกฤตในภาคตะวันออกเริ่มขึ้น ผู้คนจำนวนมากก็หวังพึ่งพาอัคห์เมตอฟสำหรับทางออก” เบสต์ อธิบาย 

“ท้ายที่สุดการที่เขาควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาค ทำให้เขามีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ และผลของความล้มเหลวที่จะเข้าไปมีอิทธิพลในสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้ภูมิภาคได้รับความเดือดร้อน”

“ผมเดาว่าบริษัทของเขาน่าจะสูญเสียมูลค่าไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่การต่อสู้เริ่มขึ้น” 

ความกดดันจากทั้งสองฝ่ายทำให้ อัคห์เมตอฟ และ ชัคตาร์ ต้องลี้ภัยออกจากโดเนตสก์ โดยทีมฟุตบอลย้ายไปอยู่ที่เคียฟ ลงเตะที่ลวิฟและเคียฟในเวลาต่อมา ส่วนประธานนั้นไปไกลถึง รัสเซีย ที่เขามีธุรกิจอยู่ที่นั่น และไม่ได้กลับมาบ้านเกิดอีกเลยหลังจากนั้น 

แต่ปัญหาของเขาไม่ได้มีแค่นี้

ขั้วตรงข้ามเซเลนสกี 

มันอาจจะเป็นผลจากการเลือกตั้งในปี 2019 เมื่อ อัคห์เมตอฟ ไม่สามารถผลักกลุ่มของตัวเองเข้าสู่รัฐสภาได้เป็นครั้งแรก แถมคนที่ได้เป็นประธานาธิบดีคือ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เป็นดาวตลกที่เขาไม่ถูกชะตามาก่อน ซึ่งอาจเป็นมุกตลกที่เคยเล่นไว้เมื่อปี 2018 ว่า

“ครั้งล่าสุดที่เห็นอัคห์เตมอฟทำงานจนหลังค่อมในโรงงานน่ะเหรอ ? ก็เป็นตอนที่เขาถือเงินสดซึ่งเป็นกำไรของบริษัทเมตินเวสต์ (บริษัทเหมืองแร่) ออกมายังไงล่ะ”  

11ทำให้หลัง เซเลนสกี ได้เป็นประธานาธิบดี อัคห์เตมอฟ ได้ใช้ช่องโทรทัศน์ของเขาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเซเลนสกีและ Servant of the People พรรคการเมืองของเขา จนทำให้คาดการณ์ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าเขาอาจจะพ่ายแพ้ให้กับ ดิมิโตร ราซุมคอฟ ที่อัคห์เตมอฟให้การสนับสนุน

“เนื่องจากอัคห์เมตอฟเริ่มที่จะกลืนกินความนิยมของเซเลนสกีด้วยการใช้สื่อ” มาเรีย โซลคินา ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิริเริ่มความเป็นประชาธิปไตยในเคียฟ กล่าวกับ Financial Times

ทว่า เซเลนสกี ก็ไม่ได้นิ่งเฉย เขาตอบโต้ด้วยการออกกฎหมายต่อต้านที่ชื่อว่า de-oligarchisation หรือกฎหมายต่อต้านผู้มีอิทธิพล ที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มโอลิการ์ช (ผู้มีอิทธิพล) โดยนิยามจากความมั่งคั่ง สื่อในมือ และอิทธิพลทางการเมือง

สำหรับคนกลุ่มนี้ นอกจากจะต้องลงทะเบียนแล้ว พวกเขายังถูกห้ามให้เงินสนับสนุนทางการเมือง ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และที่สำคัญพวกเขาต้องรายงานการติดต่อทุกครั้งให้แก่รัฐอีกด้วย 

แน่นอนกฎหมายถูกวิจารณ์ว่าเป็นแค่ประชานิยม และไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการนิยามจากบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ขณะที่ อัคห์เมตอฟ บอกว่ามันเป็นกฎหมายที่ไร้ความเป็นธรรม 

“ผมไม่ใช่ โอลิการ์ช (ผู้มีอำนาจ) ผมเป็นนักลงทุน และผมก็พร้อมที่จะปกป้องมันในศาลทั้งในยูเครนและศาลระหว่างประเทศ” อัคห์เมตอฟ บอกกับ Financial Times

“เราทุกคนต่างต้องการการแข่งขันที่ยุติธรรมและลงเล่นในสนามระดับเดียวกัน” 

12แต่ความขัดแย้งของพวกเขาไม่ได้มีแค่นั้น เมื่อในเดือนพฤศจิกายน 2021 เซเลนสกีอ้างว่าสำนักข่าวกรองรายงานว่ามีกลุ่มคนที่อยู่นอกประเทศกำลังวางแผนที่จะทำรัฐประหารเขา และหนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดก็คือ อัคห์เมตอฟ 

“ผมคิดว่าเขา (อัคห์เมตอฟ) อาจจะไม่รู้เรื่องนี้ ผมได้เชิญ รินัต อัคห์เมตอฟ มาหา (ที่ที่ทำการของผม) เพื่อรับฟังข้อมูลที่สามารถแบ่งปันกันได้” เซเลนสกี กล่าว 

และมันก็ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ตึงเครียด จนกระทั่งการรุกรานของรัสเซียได้เริ่มขึ้น

รวมมือต้านภัยคุกคาม 

เพียงแค่หนึ่งวันก่อนการรุกรานยูเครนของรัสเซียจะเริ่มขึ้น เซเลนสกี ได้เรียกพบเหล่าบรรดาโอลิการ์ชหรือผู้มีอิทธิพล เพื่อขอความช่วยเหลือทั้งในด้านเงินทุนและใช้โรงงานเป็นแหล่งผลิตอาวุธ หลังรัสเซียขนกำลังพลนับแสนรายมาประชิดชายแดนฝั่งตะวันออก

13อัคห์เมตอฟ น่าจะเป็นคนสุดท้ายที่ เซเลนสกี คาดหวัง เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่เมื่อ 3 เดือนก่อน แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในยูเครนผู้เป็นหนึ่งในโอลิการ์ชได้หารือกับเซเลนสกี ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 

เขายืนยันว่าจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมทั้งจ่ายภาษีล่วงหน้าเป็นเงินกว่า 34 ล้านเหรียญ ให้แก่รัฐเป็นทุนในการทำสงครามในการขับไล่ผู้รุกรานออกไป 

“เป้าหมายร่วมของเราคือความเข็มแข็ง สงบสุข เป็นอิสระ และเป็นเอกภาพภายใต้เขตแดนที่ได้รับการยอมรับในสากล” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของอัคห์เมตอฟ 

“ทุกคนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศ ความสามัคคีจะเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของประเทศในตอนนี้” 

และเมื่อการรุกรานเริ่มขึ้น เขายังให้มูลนิธิ รินัต อัคห์เมตอฟ มูลนิธิการกุศลของเขาที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมมาตั้งแต่ปี 2014 เข้ามาสนับสนุนผู้ประสบภัยสงคราม โดยมีการแจกจ่ายอาหารไปมากกว่า 12 ล้านกล่อง รวมไปถึงยารักษาโรค 

“มูลนิธิของผมกำลังช่วยเหลือชาวยูเครนให้อยู่รอดด้วยการจัดหาน้ำ อาหาร ยารักษาโรค และทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถมอบให้ได้ SCM กำลังช่วยเหลือกองทัพและกองกำลังปกป้องดินแดนเพื่อปกป้องอธิปไตยของเรา รวมถึงเสรีภาพและอิสระของเรา และเราจะชนะในสงครามนี้” เขากล่าวกับ London Business

14นอกจากนี้เขายังบินไปยังมาริอูปอลเพื่อพูดคุยกับคนงานและพนักงานในบริษัทเมทินเวสต์ บริษัทเหมืองที่อยู่ในเครือ SCM ของเขาและจะยังลงทุนในธุรกิจของตัวเองและประเทศต่อไปโดยจะจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานตามปกติ 

“เราจะลงทุนอย่างเต็มที่ในธุรกิจของเราและประเทศต่อไป ไม่ว่าเราจะเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายเพียงใด” เขากล่าวกับพนักงาน 

“มันไม่ง่าย อันตราย และเป็นช่วงเวลาที่น่าวิตก ในช่วงเวลาสงครามบริษัทของเราได้ดำเนินไปตามขั้นตอน ตอนนี้เป้าหมายสูงสุดของเราคือช่วยชาวยูเครนให้อยู่รอดและทนต่อการรุกรานให้ได้” 

อย่างไรก็ดีท่ามกลางการช่วยเหลือของ อัคห์เมตอฟ ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเขาแค่เล่นบทคนใจบุญเพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เพราะมันคงไม่ดีแน่หากดินแดนที่โรงงานส่วนใหญ่ของเขาตั้งอยู่ถูกรัสเซียยึดครองไป 

“ทรัพย์สินของพวกเขากำลังอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะ รินัต อัคห์เตมอฟ เพราะว่าโรงงานและสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของเขาอยู่ที่เมืองมาริอูปอลและดนิโปร” ทาลาส เบเรโซเว็ตส์ นักวิเคราะห์การเมืองและพิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวยูเครน กล่าวกับ Forbes 

“ในเฟสแรก (ของการบุกรุก) รัสเซียใช้การโจมตี (สถานที่) ทางการทหารเป็นส่วนใหญ่ แต่ในเฟสต่อไปพวกเขาจะบุกโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโอลิการ์ชยูเครน เพราะว่าพวกเขาอยากทำลายศักยภาพด้านอุตสาหกรรมของยูเครน สินทรัพย์ของพวกเขาสามารถถูกทำลายด้วยมิสไซล์หรือการโจมตีทางอากาศ” 

แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร จะย้ายข้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือต้องการช่วยเหลือพี่น้องในแผ่นดินแม่จริง ๆ แต่ทั้งเขาและชาวยูเครนก็ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือให้สันติภาพเกิดขึ้นในเร็ววัน   

15“ผมอยู่ในยูเครนและจะไม่หนีออกจากประเทศอย่างแน่นอน ผมจะแชร์ความรู้สึกเดียวกันกับคนยูเครนทุกคน” อัคห์เมตอฟ กล่าวกับ Forbes 

“ผมกำลังรอคอยชัยชนะของยูเครนในสงครามนี้ด้วยใจจริง และเราจะเริ่มสร้างประเทศใหม่เพื่อความสุขและความรุ่งเรืองที่มากขึ้น ท้ายที่สุดแล้วผมจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือความพยายามใด ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้” อัคห์เมตอฟ กล่าวทิ้งท้าย