sportpooltoday

ราล์ฟ รังนิก : ศาสตราจารย์ผู้มาพร้อมโปรเจ็กต์ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เคยสัมผัสมาก่อน


ราล์ฟ รังนิก : ศาสตราจารย์ผู้มาพร้อมโปรเจ็กต์ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

“ตั้งแต่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ออกจากตำแหน่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฟอร์มแย่มาก พวกเขาไม่เคยเป็นแชมป์เลยสักครั้ง … มันมีเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกสโมสรเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นคือหากคุณไม่สามารถหาผู้เล่นที่เหมาะกับทีมได้ อย่างน้อยที่สุดก็อย่าเซ็นสัญญากับพวกคนที่ไม่ใช่มาอยู่กับทีมมากนักเลย”

2 ปีก่อน ราล์ฟ รังนิก ได้กล่าวถึง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไว้เช่นนี้ … จนกระทั่งตอนนี้ หน้าที่ที่เขาพูดถึงกำลังจะมาอยู่ในมือของเขาแล้ว

นี่คือเรื่องราวของโค้ชชาวเยอรมัน ผู้เตรียมนั่งแท่นตำแหน่งกุนซือรักษาการ ที่จะนำทัพปีศาจแดง 6 เดือนต่อจากนี้ ก่อนผันตัวไปรับบทบาทที่ปรึกษาในอีก 2 ปีถัดจากนั้น

เขาเป็นใคร มาจากไหน มีวิธีคิดแบบไหน และมีแนวทางการทำทีมเช่นไร ? ตอบทุกคำถามที่ Main Stand

เริ่มจากนักเตะธรรมดาที่ชอบใช้ความคิด 

ย้อนค้นประวัติการเป็นนักเตะของ ราล์ฟ รังนิก ต้องบอกเลยว่าเป็นอะไรที่แตกต่างจากยอดโค้ชยุคปัจจุบันอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, อันโตนิโอ คอนเต้, เยอร์เกน คล็อปป์ รวมถึงใคร ๆ อีกหลายคน 

สิ่งที่แตกต่างคือรายชื่อทั้งหมดที่กล่าวมาอย่างน้อย ๆ ก็เคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพจริง ๆ ที่เคยเล่นในลีกสูงสุดของแต่ละประเทศมาก่อน ทว่าประสบการณ์ของรังนิกในการเป็นนักฟุตบอลนั้นแทบไม่มีสิ่งใดจับต้องได้เลย ดีที่สุดคือการลงเล่น 66 นัดให้กับ VfR Heilbronn สโมสรระดับลีก 3 ของประเทศเยอรมันเท่านั้น

 


Photo : sportmob

อย่างไรก็ตามคุณจะให้ปลาไปบินบนฟ้าจะให้นกมาว่ายน้ำมันก็คงไม่ใช่ คนบางคนกว่าจะได้เจอเส้นทางที่เหมาะกับตัวเองก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้และรู้จักสิ่งที่ตัวเองชอบพอสมควร รังนิก ใช้เวลาในการเป็นนักฟุตบอลแค่ราว ๆ 7 ปีเท่านั้น และในช่วงที่ยังเล่นฟุตบอลอยู่ เขาก็เริ่มรู้แล้วว่าการเตะบอลอาจจะไม่เหมาะกับเขานัก รังนิก เริ่มเห็นตัวเองในบทบาทโค้ชมากกว่า เนื่องจากชอบคิดวิเคราะห์ และรู้สึกว่าตัวเองมี “วิธีการสร้างสไตล์” ในแบบที่เขาชอบมากที่สุด  

ในช่วงที่ รังนิก ยังเป็นนักฟุตบอลนั้น เขาก็เริ่มเข้าเรียนศาสตร์ฟุตบอลที่มหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์  (University of Sussex) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ แน่นอนว่าเขาเป็นคนที่พูดอังกฤษได้คล่องปร๋ออย่างไม่ต้องสงสัย และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไม แมนฯ ยูไนเต็ด จึงเป็นทีมที่เขาเมียงมองมาพักใหญ่ 

หลังจบมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ รังนิกกลับมาเล่นฟุตบอลอาชีพในทีมระดับท้องถิ่นเยอรมันพร้อมกับรับบทบาทผู้เล่นและเฮดโค้ชในเวลาเดียวกัน ซึ่งหลังจากทำผลงานคุมทีมได้ 2 ปี ก็เริ่มทำทีมได้ดีขึ้น เขาพาทีม อูล์ม เลื่อนชั้นสู่ลีกา 2 เยอรมันได้ จากหลักสูตรการซ้อมที่เขาคิดขึ้นเอง หลังจากนั้นก็เริ่มมีการพูดถึงโค้ชคนหนุ่มอย่างรังนิก ในช่วงปลาย ๆ ยุค 90s บ้างแล้ว

“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผมคือจำนวนการซ้อมที่เราทำกันแต่ละครั้ง เรากระตุ้นซึ่งกันและกัน ฝึกซ้อมกันเอง สร้างแรงบันดาลใจให้กันเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมในการเป็นโค้ช” รังนิก กล่าวถึงจุดเริ่มต้น

 


Photo : sportmob

ในปี 1999 สตุ๊ตการ์ท สโมสรจากลีกสูงสุดของประเทศให้โอกาส รังนิก ได้คุมทีม เพียงแต่มันไม่ใช่อย่างที่เขาหวัง และไม่สามารถทำได้แบบที่เคยทำกับทีมระดับลีกล่าง ๆ เลย 

3 งานแรกในอาชีพกุนซืออย่างจริงจังระดับลีกใหญ่ รังนิก โดนไล่ออกจากตำแหน่งทั้งหมด ทั้งกับ สตุ๊ตการ์ท, ฮันโนเวอร์ และ ชาลเก้ 04 ส่วน 2 งานต่อมากับ ฮอฟเฟนไฮม์ และ ชาลเก้ 04 คำรบสอง เขาก็ยุติบทบาทด้วยการลาออก

ถ้ามองตรงนี้เขาอาจจะดูล้มเหลว แต่ใครบ้างไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาก่อน ? แม้จะโดนไล่ออกทั้ง 3 ครั้ง แต่ในช่วงที่คุม สตุ๊ตการ์ท เขาก็พาทีมคว้าแชมป์อินเตอร์โตโต้ คัพ ในปี 2000, ในปี 2001-02 เขาพา ฮันโนเวอร์ คว้าแชมป์ลีกา 2 เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด และกับ ชาลเก้ เขาเคยพาทีมคว้าแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล และ เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 2011 มาแล้ว (ตกรอบด้วยน้ำมือ ยูไนเต็ด) 


Photo : sportmob

 

คุณจะเห็นได้ว่าจากประสบการณ์ในข้างต้น รังนิก มักจะประสบความสำเร็จในรูปแบบบอลถ้วยมากกว่าบอลลีก ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่าการทำทีมอื่น ๆ ในบุนเดสลีกาให้ถึงตำแหน่งแชมป์เป็นเรื่องยากมาก เพราะ บาเยิร์น มิวนิค มีงบประมาณมากกว่าทีมอื่น ๆ ราว 8-10 เท่า 

แต่ถึงกระนั้น รังนิก ก็ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ตราบใดที่ทีม ๆ นั้นได้สร้างสไตล์ฟุตบอลที่ใช้ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ความฟิต ความอึด และทัศนคติที่ดีใส่ลงไปในสนาม จากโอกาสเป็นแชมป์ 0% จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน สไตล์ดังกล่าวเรียกว่า “เกเกนเพรสซิ่ง”

“เกเกนเพรส” และหลักสูตรจิ๊กซอว์ 500 ชิ้น

รังนิก อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักบนเส้นทางโค้ช แต่สิ่งที่หนึ่งที่ทุกคนเชื่อขนมกินได้เลยสำหรับตัวเขาคือ “เขาเป็นผู้ริเริ่มเสมอ” 

ในช่วงที่เขาเริ่มเป็นโค้ช รังนิก เป็นเหมือนเจ้าหนูจำไม เขาถามและทักท้วงถึงวิทยาการยุคเก่าเสมอ มันไม่ใช่เรื่องของการไม่ให้เกียรติ แต่มันเป็นการพยายามหาคำตอบให้ถ่องแท้ที่สุดในแบบที่ทำให้เขาหมดคำถามให้ได้ ขณะที่วิธีการฝึกซ้อมของเขาก็เป็นคนแรก ๆ ที่ใช้การถ่ายวิดีโอเพื่อนำมาวิเคราะห์ผลที่บันทึกไว้จากการซ้อมครั้งก่อน ๆ ด้วย

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายคนจำเขาได้ เกิดขึ้นในปี 1998 รังนิก ได้รับเชิญให้ไปออกรายการฟุตบอลของเยอรมันที่ออนแอร์ทางโทรทัศน์ หัวข้อคือวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับฟุตบอลของเขา ในวันนั้นเขาพูดสิ่งต่าง ๆ มากมาย แต่หลายคนกลับมองไปในทางเย้ยหยันมากกว่าที่จะคล้อยตาม


Photo : sempremilan

กุนซือหนุ่มกับแว่นไร้ขอบอธิบายแทคติกต่าง ๆ วนเวียนไปไม่รู้จบ และเหนือสิ่งอื่นใดเขาตั้งคำถามกับคำพูดของตำนานฟุตบอลเยอรมันทั้งในแง่ของการเป็นนักเตะและเฮดโค้ชอย่าง ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ที่บอกวาฟุตบอลเยอรมันไม่เหมาะกับการเล่นแบ็กโฟร์ พวกเขาอยู่กับระบบหลัง 3 มีลิเบอโร่มานานหลายปี และถ้ามีการเปลี่ยนมาเล่นแบ็กโฟร์นักเตะเยอรมันจะไม่เข้าใจวิธีการเล่นแบบนั้น 

“เหตุผลหลัก ๆ สำหรับเรื่องนี้คือเมื่อ 30 ปีก่อน ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ ได้สร้างมาตรฐานฟุตบอลของเยอรมันขึ้นมา แล้วทุกคนก็ทำตามเขาเพราะมันประสบความสำเร็จจริง (เบคเคนบาวเออร์ พาทีมคว้าแชมป์โลกได้ในปี 1990)” 

“แต่สิ่งที่ ฟรานซ์ พูดในช่วงกลางปี 90s ที่บอกว่าคุณไม่สามารถทำทีมในเยอรมันและใช้การเล่นแบบแบ็กโฟร์ที่เน้นการตั้งโซนได้ เพราะผู้เล่นเยอรมันไม่เข้าใจวิธีการ”

“ผมได้ยินสิ่งนั้นแล้วผมก็ถามตัวเองว่า ทำไมเหรอ ? นักเตะเยอรมันฉลาดน้อยกว่านักเตะเบลเยียม สเปน หรือเนเธอร์แลนด์เหรอ ? ผมว่านั่นมันไม่สมเหตุสมผลเลยจริง ๆ” รังนิก กล่าวประโยคนี้ออกทีวี

ปฏิกิริยาของคนดูและสื่อออกมาในแบบเดียวกัน พวกเขาออกแนวงง และคิดว่า รังนิก เป็นคนช่างฝันช่างจินตนาการ หลังจากนั้นเขาก็ถูกตั้งฉายาว่า “โปรเฟสเซอร์” (ศาสตราจารย์) เพราะความสติเฟื่อง แต่ก็ไม่เคยคุมทีมประสบความสำเร็จเลย พูดง่าย ๆ ว่ามันคือการตั้งฉายาให้เพราะความประชดประชันกันในตอนแรก และหน้าที่ของรังนิกคือการพิสูจน์ว่าเขาจะทำให้ฉายาที่โดนล้อเลียนเปลี่ยนเป็นฉายาที่เต็มไปด้วยความเคารพให้ได้ 

รังนิก พยายามหาสไตล์ฟุตบอลที่เหมาะกับการเล่นในระบบที่มีแผงหลังแบ็กโฟร์ให้ได้ เขาได้แรงบันดาลใจจากการเล่นแบบ “เพรสซิ่ง” ของ วาเลรี่ โลบานอฟสกี ยอดโค้ชชาวยูเครน ผู้เคยพา ดินาโม เคียฟ คว้าแชมป์ลีก 8 สมัย แชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพ 2 สม้ย และเข้ารอบรองชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพ และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อีก 3 ครั้ง 


Photo : rof355

“สิ่งสำคัญของการสร้างฟุตบอลคุณภาพคือ เมื่อนักเตะอยู่ในสนามพวกเขาต้องรู้ว่าตัวเองจะทำอะไรยามที่ไม่มีบอลอยู่กับตัว ถ้าจะบอกว่าใครคือนักเตะที่ยอดเยี่ยม เราจะบอกเสมอว่าพรสวรรค์มีค่าแค่ 1% ที่เหลือคือคุณต้องทำงานให้หนักจนรากเลือด” นี่คือปรัชญาของ โลบานอฟสกี ผู้ได้ฉายาว่า “ผู้สร้างฟุตบอลสมัยใหม่” (เมื่อ 50 ปีที่แล้ว) 

วิธีการเล่นของ โลบานอฟสกี เป็นระบบแบ็กโฟร์และการเล่นแบบเพรสซิ่ง โดยเน้นเรื่องความเป็นทีมมากกว่าพรสวรรค์เฉพาะบุคคล ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ รังนิก พยายามถอดแบบออกมาและพัฒนาให้ดีกว่าเดิม จากเพรสซิ่งธรรมดาให้เป็น เกเกนเพรสซิ่ง ดังที่หลายทีมชั้นนำใช้งานกันในขณะนี้

“หลักของ เกเกนเพรสซิ่ง นั้นง่ายมาก” รังนิก เริ่มอธิบายฟุตบอลของเขา

“ขึ้นไปกดดันให้สูง ใช้วิธีการแย่งกลับและตอบโต้ที่เข้มข้นที่สุด เมื่อเราได้บอลเราจะไม่จ่ายกลับหลัง ผู้รักษาประตูจะไม่ใช่คนที่ได้สัมผัสบอลมากที่สุดเหมือนที่หลายทีมทำ เขาต้องเล่นให้น้อยจังหวะที่สุดและเป็นการเล่นด้วยเท้าเป็นหลัก”

“เกเกนเพรสซิ่ง คือฟุตบอลที่รวดเร็ว เน้นเกมรุก บุกกดดัน โต้กลับ แย่งบอลคืน หากมีทีมใดทำได้มันจะกลายเป็นสไตล์ฟุตบอลที่น่าตื่นเต้นและสนุกสนานที่สุด” 


Photo : bundesliga

รังนิก พยายามเอา เกเกนเพรสซิ่ง มาใช้ตลอดการคุมทีมของเขา เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ผลสำเร็จถึงขีดสุด เพราะเขาเชื่อว่าบางครั้งงบประมาณการทำทีมก็สำคัญกับการทำให้ศักยภาพทีมสูงขึ้น จริงอยู่ที่นักเตะคนไหนก็ไล่บอลแบบเอาเป็นเอาตายได้ แต่คนที่ไล่บอลด้วยสมอง จ่ายบอลอย่างมีวิชั่น และมีเบสิกฟุตบอลที่ไม่พลาดง่าย ๆ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินซื้อหามาทั้งสิ้น  

เขาพยายามสร้างข้อเรียกร้องกับบอร์ดบริหารตลอดเวลา และเขาก็เป็นโค้ชที่ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องพยายามเอามาให้ได้ สิ่งที่รังนิกต้องการคืองบประมาณก้อนหนึ่งซึ่งไม่มากไม่มายนัก ส่วนที่เหลือเขาจะมาจัดสรร เลือกซื้อนักเตะเอามาปั้นเอง ซึ่งเมื่อ รังนิก มีเงิน เราจะได้เห็นว่าเขามักจะเลือกซื้อนักเตะที่ถูกต้องเข้าสู่ทีมเสมอ โจเอล มาติป ที่ ชาลเก้, โรแบร์โต ฟีร์มิโน่ ที่ ฮอฟเฟนไฮม์ รวมถึง ติโม แวร์เนอร์ ที่ แอร์เบ ไลป์ซิก, ซาดิโอ มาเน่ ที่ เรดบูล ซัลซ์บวร์ก

รังนิก มองว่าหากทีมฟุตบอลทีมหนึ่งจะสมบูรณ์แบบทุกอย่างต้องสอดคล้องลงตัวกันอย่างเพอร์เฟ็กต์ เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการที่คุณมีจิ๊กซอว์ 500 ชิ้น ซึ่งกว่าจะต่อให้ภาพที่สมบูรณ์แบบได้นั้นต้องใช้เวลาเสมอ ซึ่งมุมมองนี้เปลี่ยนไปจากวันที่เขาเปลี่ยนเส้นทางจากการเป็นโค้ชสู่การเป็นผู้อำนวยการฟุตบอลของเครือ เรดบูล ทั้ง แอร์เบ ไลป์ซิก, เรดบูล ซัลซ์บวร์ก และ ทีมอื่น ๆ ในลีกต่าง ๆ ทั่วโลกอย่าง บรากันติโน่ (บราซิล) นิวยอร์ก เรดบูลส์ (สหรัฐอเมริกา) 

นั่นเองเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เกเกนเพรส จึงกลายเป็นศาสตร์ที่เขาคิดค้น แต่กลับไม่ได้ใช้มันให้ประสบความสำเร็จเหมือนกับกุนซือคนอื่น ๆ อย่าง เยอร์เกน คล็อปป์ หรือ โทมัส ทูเคิล ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกุนซือหนุ่มที่มีเขาเป็นแรงบันดาลใจ 


Photo : bundesliga

โดยเฉพาะในรายของ คล็อปป์ ที่เอา เกเกนเพรสซิ่ง ไปต่อยอดเป็น เฮฟวี่ เมทัล ฟุตบอล นั้นก็ออกมายอมรับว่า รังนิก คือผู้ริเริ่มแนวทางการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่ของวงการฟุตบอลเยอรมันอย่างแท้จริง 

“หนึ่งในโค้ชที่ดีที่สุดในโลก ถ้าไม่ใช่แบบนั้นก็คงเป็นโค้ชชาวเยอรมันที่เก่งที่สุด” คล็อปป์ ว่าถึง รังนิก ด้วยความชื่นชม 

โดยสรุปแล้ว รังนิก คือผู้สร้างที่ไม่ตกยุค ชายผู้มีสายตาแหลมคมในการเลือกนักเตะ และที่สุดแล้วเขาต้องการเวลาและการสนับสนุนอย่างมากเพื่อให้งานออกมาสำเร็จ … ซึ่งกับงานล่าสุดที่เขาได้รับนั่นคือการเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวด้วยสัญญา 6 เดือน จากนั้นต่อด้วยการเป็นที่ปรึกษา (หรืออาจเป็นผู้อำนวยการฟุตบอล) อีก 2 ปี เขาจะได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือไม่ยังไม่มีใครตอบได้ 

แต่ที่แน่ ๆ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา มันทำให้เราพอมองเห็นภาพคร่าว ๆ ได้ว่า ยูไนเต็ด จะได้รับความแตกต่างจากกุนซือชาวเยอรมันคนแรกในประวัติศาสตร์สโมสรคนนี้แน่นอน 

ยูไนเต็ด จะต้องรับมือกับอะไร ? 

ประการแรก สิ่งที่รังนิกต้องการเสมอคือสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา กุนซือคนเก่าอาจจะเป็นคนที่รับลูกและคำสั่งจากคนชั้นบอร์ดบริหารได้ดี แต่สำหรับ รังนิก เขารู้ดีว่างานของตัวเองคืออะไร เขาย้ำตลอดว่าไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม หากเขาไม่ได้รับการสนับสนุนที่มากพอ สโมสรนั้นจะได้ “ผลลัพธ์” เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น 


Photo : bundesliga

“การสร้างสโมสรคือการสร้างทีมที่เหมาะสมโดยการเอาผู้เล่นที่ไม่เหมาะสมออกไปจากทีม ขณะที่เรามีอัตราความสำเร็จมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในการดึงดูดผู้เล่นที่เหมาะสมเข้ามา เรื่องนี้คือสิ่งที่ต้องทำให้ได้ 

“จากนั้นคุณต้องมีโค้ชที่ดีที่สุดเพื่อพัฒนาผู้เล่นเหล่านี้” รังนิก เคยว่าไว้เมื่อเขาถูกถามให้วิเคราะห์ ยูไนเต็ด ยุคโซลชา เมื่อปี 2019  โดยกล่าวถึงการจ่ายเงินมาก ๆ เพื่อนักเตะที่ไม่ตอบโจทย์และไม่ตรงกับเคมีของทีม 

“หากมีสโมสรไหนต้องการให้ผมทำงาน ผมจะมีคำถามที่ต้องถามพวกเขาเสมอ นั่นคือ ‘ผมสามารถเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการโดยรวมของทีมอย่างเบ็ดเสร็จหรือไม่’ เพราะถ้าผมไม่ได้รับสิทธิ์นั้น รับรองว่าคุณจะได้เห็นผลลัพธ์แค่ครึ่งเดียวที่ผมทำได้เท่านั้น”

“สิ่งที่ผมต้องการคือสิ่งที่สำคัญต่อพัฒนาการของทีม ผมไม่ใช่คนหัวแข็งแต่ผมเชื่อว่าคนเราทำงานด้วยกันได้ด้วยการให้ความเชื่อถือและให้เกียรติกัน ถ้าเราตกลงและเจอกันตรงกลางได้ คุณก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นแน่นอน” รังนิก กล่าวในช่วง 2 ปีก่อนในช่วงที่เขารับงานเป็นผู้อำนวยการกีฬาของ โลโคโมทีฟ มอสโก ที่รัสเซีย … นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบอร์ดบริหารของ ยูไนเต็ด จะต้องรับมือกับความต้องการของเขาแน่นอน 

ขณะที่ในส่วนของนักเตะก็จะต้องมีการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิมแน่นอน จะดีหรือแย่กว่าเดิมไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ รังนิก พาวิ่งกันอ้วกแตกแน่นอน เพราะต่อจากนี้ฟุตบอลแบบเพรสซิ่งจะถูกนำมาใช้ และความเร็วของการเล่นจะเพิ่มขึ้นจากยุคก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นยุค โซลชา, โชเซ่ มูรินโญ่ หรือ หลุยส์ ฟาน กัล ก็ตาม

อย่างที่กล่าวได้ไว้ในข้างต้น ฟุตบอลของรังนิกไม่มีสตาร์ที่ได้รับสิทธิพิเศษไม่ช่วยเกมรับ ซึ่งในทีม ยูไนเต็ด มีนักเตะหลายคนที่โดนค่อนขอดเรื่องนี้ทั้ง คริสเตียโน่ โรนัลโด้, อองโตนี่ มาร์กซิยาล และ ปอล ป็อกบา เป็นต้น 

“ถ้าอยากจะเพิ่มสปีดเกม คุณต้องพัฒนายิ่งกว่าร่างกาย คุณจะต้องฝึกซ้อมจนจดจำไว้ในจิตสำนึกว่าคุณจะก้าวเท้าเร็วกว่าคู่แข่งและมองเห็นทิศทางของบอลก่อน” 

“แทคติก ความฟิต และกฎเกณฑ์ทุกอย่างจะสำคัญอย่างมาก ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ปลายทางที่รอคอย งานของผมคือการปรับปรุงการเล่น และผมเชื่อว่าในฐานะโค้ชคุณต้องทำให้นักเตะเชื่อใจคุณให้ได้ และวิธีที่จะทำให้เขาทำตามที่คุณสั่งคือการที่คุณแสดงให้พวกเขาเห็นว่า หากพวกเขาเชื่อคุณ พวกเขาจะเป็นนักเตะที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ นั่นคือแรงจูงใจที่จริงจังที่สุดแล้วเท่าที่ผมจะหาได้” รังนิก กล่าว 

และท้ายที่สุดแฟนบอล ยูไนเต็ด ที่ทนกับความผิดหวังและหดหู่มานาน ก็จะต้องทำใจยอมรับกับช่วงเวลาของ รังนิก ด้วย อย่างที่เขาได้กล่าวไปการสร้างยอดทีมเหมือนกับการหยิบจิ๊กซอว์ 500 ชิ้นมาประกอบกัน ในฤดูกาลนี้เขาจะเป็นเฮดโค้ช และเขาจะนำพาฟุตบอลที่น่าตื่นเต้นเร้าใจกลับมาสู่ทีม ซึ่งนักเตะจะซึมซับและเอาไปใช้ในสนามได้เร็วขนาดไหนไม่มีใครรู้ เพราะสำหรับการเล่นแบบ เพรสซิ่ง หรือ แกะเพรสซิ่ง ล้วนเป็นจุดอ่อนของทีม ๆ นี้มาหลายปีแล้ว 

จากอดีตที่เคยผ่านมา เราพอจะคาดเดาได้ว่าต่อจากนี้ ยูไนเต็ด จะปล่อยนักเตะที่ไม่ใช่ออกจากทีม แล้วซื้อนักเตะที่ตอบโจทย์มากที่สุดโดยไม่ต้องเสียเงินระดับทุบสถิติโลกบ่อย ๆ เหมือนที่เคยเป็น อย่าลืมว่างานหลักของเขาไม่ใช่โค้ชที่นี่แค่ชั่วคราวเท่านั้น ของจริงคือการบริหารหลังบ้านต่างหาก สิ่งที่เขาจะทำต่อจากนี้คือการทำให้ทีมเข้ารูปเข้ารอยและเป็นงานง่ายสำหรับกุนซือที่จะเข้ามาทำทีมในฤดูกาลหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีการจ้างโค้ชคนใหม่เข้ามา 


Photo : rblive

“ฟุตบอลมีส่วนประกอบมากมายเหมือนจิ๊กซอว์ 500 ชิ้น ทีมชุดใหญ่, อคาเดมี, ศูนย์ฝึก, ศูนย์การแพทย์ ทุกส่วนนี้ล้วนเป็นตัวจิ๊กซอว์ที่เราต้องทำให้แน่ใจว่าจะสามารถนำมาประกอบกันได้ และทำให้นักเตะแต่ละคนได้เป็นนักเตะที่ดีขึ้น สิ่งที่ผมคาดหวังมากที่สุดไม่ใช่การปรับปรุงเฉพาะนักเตะในทีม แต่ผมอยากให้ทุกคนในสโมสรพัฒนาตัวเองและประสบความสำเร็จให้ได้” รังนิก กล่าวทิ้งท้าย  

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราอยากให้คุณรู้จัก “โปรเฟสเซอร์” ราล์ฟ รังนิก เอาไว้ก่อนที่งานของเขาจะเริ่ม … จะสำเร็จหรือไม่คงต้องรอคำตอบกันต่อไป แต่ที่สุดแล้วการมาของ รังนิก จะเป็นโปรเจ็กต์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบหลายปีเท่าที่สโมสรแห่งนี้เคยตัดสินใจมาเลยก็ว่าได้