หลังจากเปลี่ยนเจ้าของใหม่ ข่าวคราวการเสริมทัพของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด กำลังขายได้ และสื่อก็กำลังขยี้กันอย่างเมามัน มีชื่อของนักเตะระดับโลกเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่นเดียวกับกุนซือระดับท็อปที่ต่อคิวขึ้นหน้า 1 ไม่เว้นแต่ละวัน
เป้าหมายของพวกเขาคือการพา นิวคาสเซิล ทีมที่หนีตายแทบทุกปีให้กลายเป็นแชมป์ แต่ความจริงมันทำง่ายแบบนั้นไหม?
เราจะลองไปย้อนดูอดีตของสโมสรที่เคยอยู่ในระดับธรรมดา ๆ ทว่าเมื่อเปลี่ยนเจ้าของเป็นมหาเศรษฐี พวกเขาก็ค่อย ๆ สร้างทีมและไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ในท้ายที่สุด
สร้างแบบไหน? ใช้เวลานานเท่าไร? และทำอย่างไรจึงจะไปถึงแชมป์นี้ที่รอคอย.. ย้อนรอยดูเรื่องราวของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ได้ที่นี่กับ Main Stand
เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา.. สตาร์ต้องเอา
นิวคาสเซิล ในเวลานี้เปรียบเสมือน “ของเล่นคนรวย” ทว่าไม่ใช่ของเล่นที่ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ผู้ถือครองอำนาจและทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย จะเล่นแล้วทิ้ง เขาอยากจะได้สโมสรนี้จริง ๆ และพยายามตามจีบมาถึง 3 ครั้ง ในรอบ 2 ปีหลังสุด เพราะนี่ไม่ใช่ของเล่นที่เขาจะต้องเล่นคนเดียว เพราะมันเปรียบเสมือนการลงทุนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ใช้แข่งขันและชิงความยิ่งใหญ่กับประเทศมหาอำนาจบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มี แมนฯ ซิตี้ อยู่ในมือ และ กาตาร์ ที่มี เปแอสเช ในมือเช่นกัน
ความจริงจังระดับนี้ บวกกับทรัพย์สินที่มีกว่า “16 ล้านล้านบาท” การสร้างสโมสรให้เก่งกาจขึ้นมาในช่วงเวลาข้ามคืนคือโปรเจ็กต์ที่มีโอกาสเป็นไปได้จริง เพียงแต่ว่าการทำทีมฟุตบอลให้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไม่ใช่ของที่ทำกันง่าย ๆ เพราะแค่มีเงินเพียงอย่างเดียว ต้องมีการวางแผนและการเลือกส่วนประกอบต่าง ๆ ให้เหมาะสม สมบูรณ์แบบในช่วงเวลานั้นๆ
“ไทมิ่ง” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากเราจะมองดูต้นแบบการสร้างทีมของ แมนฯ ซิตี้ และ เปแอสเช ที่สามารถยกระดับทีมให้กลายมาเป็นทีมหัวแแถวของทวีปได้
กรณีที่คล้ายกับ นิวคาสเซิล ที่สุดคงจะเหมือนกับ แมนฯ ซิตี้ เพราะเป็นการแข่งขันลีกเดียวกัน และโครงสร้างทีมในวันที่เปลี่ยนเจ้าของก็ไม่ต่างกันมากมายนัก
แมนฯ ซิตี้ ได้ ชีค มานซูร์ มาเป็นเจ้าของสโมสรในปี 2008 และเริ่มจากการ “สร้างเล็ก ๆ” ในช่วงของการสตาร์ทโปรเจ็กต์ แมนฯ ซิตี้ ก็มีข่าวกับนักเตะระดับโลกไม่น้อย เพียงแต่ว่าเงินไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้ หากยังจำกันได้ พวกเขาพยายามจะซื้อตัวนักเตะดีกรีบัลลงดอร์อย่าง ริคาร์โด้ กาก้า จาก เอซี มิลาน มาเสริมทัพ ทว่าข้อเสนอที่มอบให้ กาก้า ที่มีเงินเป็นปัจจัยแรก ด้วยค่าตัวหลัก 100 ล้านปอนด์ ไม่สามารถซื้อใจสตาร์ชาวบราซิเลียนได้
กรณีนี้คงคล้ายๆกับ นิวคาสเซิล ที่กำลังเป็นข่าวเรื่องการซื้อนักเตะอย่าง คีลิยัน เอ็มบัปเป้ กล่าวคือการจะเอานักเตะเบอร์ต้น ๆ ของยุคเข้ามาอยู่ในทีมชุดนี้ที่ยังไม่มีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องยากมาก นักเตะเหล่านี้มีทางเลือกมากกว่าการมาเป็น “ผู้เริ่มยุคสมัย” พวกเขาต้องการไปอยู่ทีมที่มีคุณสมบัติที่จะส่งเสริมให้พวกเขาเป็นนักเตะที่ดีขึ้นและทำให้ได้แชมป์โดยที่ไม่ต้องรอนานนัก
อย่างไรก็ตาม ครั้นจะให้กว้านซื้อนักเตะของทีมรอง ๆ เอามาใช้อย่างที่ แมนฯ ซิตี้ ในยุค ทักษิณ ชินวัตร ทำ ก็เห็นผลแล้วว่าแม้จะดีขึ้นมาบ้างในแง่ของทีม แต่ก็ยังห่างไกลความสำเร็จ และยังไม่ทำให้ทีมใหญ่ ๆ ในลีกต้องรู้สึกอันตรายต่อสถานะบิ๊กทีมของตัวเอง นักเตะอย่าง เอลาโน่, โรลันโด้ เบียงคี่, จอร์จอส ซามาราส, จิโอวานี่ หรือคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า พวกเขาไม่ใช่นักเตะราคาถูก แต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้คุ้มค่าในระยะยาว
ดังนั้นการซื้อสตาร์คือสิ่งจำเป็น แม้จะเป็นเรื่องยากในการชักจูงนักเตะเหล่านั้น ก็ต้องเลือกเบอร์รองลงมา นักเตะสักคนที่ไม่ได้เป็นแข้งเบอร์ 1 ของทีมเก่า และต้องการสร้างเส้นทางของตัวเองด้วยการก้าวขึ้นมาเป็นพระเอกแบบเต็มตัวในทีมใหม่ ซึ่งสุดท้าย แมนฯ ซิตี้ ก็ได้ตัวนักเตะอย่าง โรบินโญ่ สตาร์เบอร์รองจาก เรอัล มาดริด ด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 32 ล้านปอนด์
“ผมจำได้ว่าการเทคโอเวอร์ได้รับการประกาศผ่านโทรทัศน์ในเดือนเมษายน จากนั้นไม่นานนักนักข่าวก็นำเสนอข่าวว่าเรากำลังจะคว้าตัว โรบินโญ่ มาร่วมทีม แวบเดียวเขาก็กลายเป็นนักเตะของเราแล้ว” แว็งซ็องต์ ก็องปานี กองหลังของทีมที่ย้ายมาจาก ฮัมบูร์ก ก่อนหน้านั้น 2 ปี กล่าว
การมาของ โรบินโญ่ ทำให้ แมนฯ ซิตี้ กลายเป็นทีมที่น่าสนใจมากขึ้น เขามาที่นี่เพื่อเงินอยู่แล้ว เพราะการกระทำมันบอกอย่างชัดเจนในภายหลัง แต่เมื่อเขาเข้ามา ทีมก็มีชีวิตชีวาขึ้นไม่ว่าจากมุมมองของสื่อและแฟนบอล นอกจากนี้นักเตะในทีมก็ยังได้รับแรงบันดาลใจจากเหล่าสตาร์ระดับโลกไปด้วย
“นักเตะของทีมในเวลานั้นอาจจะยังไม่เคยเห็นนักเตะระดับโลกด้วยตาตัวเองแบบที่ได้ซ้อมด้วยกันทุกวัน การมาของ โรบินโญ่ ที่เราเคยมองว่าเก่งระดับมนุษย์ต่างดาวแล้ว เขาจะเล่นงานพวกเราและทำให้เราดูงี่เง่าในสนามซ้อม”
“แต่หลังจากคุณได้เริ่มเล่นกับเขาทุกวัน มีการฝึกฝนร่วมกันจนคุณสามารถทดสอบตัวเองกับนักเตะระดับโลกได้ คุณจะพบว่าคุณเก่งและมีความมั่นใจขึ้น การมีนักเตะอย่าง โรบินโญ่ อยู่ในทีมไม่ได้ช่วยแค่ยกระดับโปรไฟล์ของสโมสร แต่มันช่วยให้นักเตะคนอื่นในทีมเข้าใจว่า เมื่อพวกเขาพยายามถึงขีดสุด ได้วัดกับนักเตะระดับโลก พวกเขาจะบอกว่า ‘รู้อะไรไหม ฉันเองก็ไม่ธรรมดาเหมือนกันนี่หว่า'” นี่คือสิ่งที่ ก็องปานี ยืนยัน
เปแอสเช ก็ทำคล้าย ๆ กัน เพราะหลังจากที่กลุ่มทุน QSI (Qatar Sports Investments) เข้าเทคโอเวอร์สโมสรในปี 2011 พวกเขาได้ตัว ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ที่เป็นนักเตะในระดับท็อป 5 ของโลก เข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ทีมขาดหายในปี 2012 ซลาตัน เข้ามาเป็นลูกพี่ที่คอยเป็นแนวหน้าให้แข้งดาวรุ่งอย่าง ลูคัส มูรา, เฌเรมี เมเนซ รวมถึงนักเตะคนอื่น ๆ ในทีม เปแอสเช ในเวลานั้น ที่เชื่อว่าหลายคนแทบจำไม่ได้ให้กลายเป็นทีมที่จบฤดูกาลด้วยการเป็นแชมป์ลีก
เมื่อมีเงินแล้วก็ควรใช้เงินให้เป็น มีเงินเยอะก็อย่ากลัวการจ้างนักเตะด้วยค่าจ้างแสนแพง ค่าตัวระดับทำลายสถิติ เพราะนักเตะระดับสตาร์นำพามาซึ่งหลายสิ่งหลายอย่าง ภาพลักษณ์โปรไฟล์ที่ดีขึ้น ยกระดับทีมได้ และที่สำคัญนักเตะในทีมคนที่ไม่เคยสัมผัสแชมป์ หรือแม้กระทั่งไม่เคยมั่นใจในศักยภาพของตัวเองก็จะได้รู้จัก “ระดับ” ว่าแข้งระดับท็อปคลาสเขาทำกันแบบไหน และพวกเขาต้องพยายามอีกเท่าไหร่จึงจะไปถึงจุดนั้น
ใช้งานด้วยแม่ทัพที่พร้อมเป็นแชมป์
การนำทัพด้วยนักเตะระดับสตาร์ที่อยู่ในสถานการณ์พร้อมย้ายทีม ถือเป็นการเปิดด้วยหมัดหนักที่ชกคู่ต่อสู้ให้มึน … ทีมใหญ่จะรับรู้ได้ถึงการแข่งขันของสโมสรเศรษฐีที่กำลังจะมารบกวนพวกเขาในเร็ว ๆ นี้ การตัวเปิดเหล่าสตาร์จะทำให้ทีมมีผลงานดีขึ้นชัดเจนหากเทียบในกรณีของ ซิตี้ และ เปแอสเช แต่สิ่งที่สำคัญหลังจากนั้นคือการจ้างโค้ชที่สามารถทำหน้าที่ผู้สร้างและรู้วิธีการเป็นแชมป์
แมนฯ ซิตี้ เริ่มต้นยุคสมัยด้วย มาร์ค ฮิวจ์ส โค้ชที่ไม่เคยมีประสบการณ์คว้าแชมป์ลีกเลย ดังนั้นหลังจากที่นักเตะของ แมนฯ ซิตี้ เริ่มดีขึ้น พวกเขาก็เปลี่ยนโค้ชและเอาคนที่เคยทำทีมเป็นแชมป์อย่าง โรแบร์โต้ มันชินี่ เข้าทำทีมแทน
ขณะที่ เปแอสเช ก็ทำคล้าย ๆ กัน ในช่วงแรกพวกเขายังยึดมั่นใช้โค้ชท้องถิ่นที่ชื่อว่า อองตวน กอมบูอาเร่ เป็นเฮดโค้ช แต่เมื่อถึงเวลาที่ทีมต้องการต่อยอดไปให้ถึงระดับแชมเปี้ยน (ซึ่งอันที่จริงคือไม่กี่เดือนหลังเทคโอเวอร์) พวกเขาก็แต่งตั้ง คาร์โล อันเชล็อตติ โค้ชอิตาเลี่ยน ที่คว้าแชมป์มาไม่น้อยกว่า 10 โทรฟี่แล้ว เป็นคนเข้ามาสานต่อ
สิ่งที่คุณเห็นได้เลยคือ โค้ชระดับหัวแถวก็คล้าย ๆ กับนักเตะระดับสตาร์ งานของพวกเขาคือเป็นคนที่ต้องแบกความกดดันของทั้งทีม หากต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ร่วมกับทีมที่มีคุณสมบัติไม่ดีพอสำหรับการเป็นแชมป์ มันก็เสี่ยงที่จะทำให้พวกเขาต้องตกงานและเสียโปรไฟล์ในระยะยาว
โค้ชระดับหัวแถวมาพร้อมกับการปลุกความเชื่อมั่นของทั้งทีม โค้ชที่มีบารมีควบคุมห้องแต่งตัวได้ และเจนจัดในแง่ของแท็คติกและองค์ความรู้ ทั้งหมดนี้คืองานสำคัญในการยกระดับนักเตะในทีมขึ้นไปอีกขั้น
“เขาทำให้ห้องแต่งตัวมีบรรยากาศที่ดี นักเตะทุกคนต่างก็เชื่อว่าเราสามารถทำได้ดีกว่าที่เราเป็นอยู่ภายใต้การจัดการของเขา การเข้ามาของ มันชินี่ เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปเลย แมนฯ ซิตี้ เป็นอย่างทุกวันนี้ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะการสร้างความเชื่อมั่นและรากฐานที่ มันชินี่ ได้วางไว้ ผมเชื่อแบบนั้น” ยาย่า ตูเร่ อดีตนักเตะของ แมนฯ ซิตี้ ที่มาอยู่กับทีมพร้อมมันชินี่ กล่าว
โค้ชที่ดีจะรู้ได้ทันทีว่านักเตะคนไหนใช้ได้คนไหนใช้ไม่ได้ และนักเตะคนไหนต้องการพัฒนาอีกสักนิดจึงจะกลายเป็นของดี มันชินี่ โละนักเตะที่ไม่สามารถพาทีมไปถึงแชมป์ได้อย่างไม่เกรงใจใคร เขาขายนักเตะออกไปจากทีมถึง 8 คน นักเตะหลายคนเป็นตัวหลักของทีมในยุคก่อน ๆ ทั้ง มาร์ติน เปตรอฟ, โรบินโญ่, สตีเฟ่น ไอร์แลนด์ เป็นต้น ขณะที่คนที่เข้ามาพร้อม ๆ กับเขาก็กลายเป็นนักเตะที่เป็นกำลังสำคัญสู่แชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยแรก อาทิ เซร์คิโอ กุน อเกวโร่, ยาย่า ตูเร่, ดาบิด ซิลบา, มาริโอ บาโลเตลลี่, เอดิน เชโก้ และ เจมส์ มิลเนอร์ เป็นต้น
ขณะที่ อันเชล็อตติ ก็ทำคล้ายๆกันที่ เปแอสเช นักเตะที่ตามหลังเขามาเป็นนักเตะที่เป็นกำลังหลักใช้งานได้เกือบ 10 ปี อาทิ ติอาโก้ ซิลวา, แม็กซ์เวลล์, มาร์โก แวร์รัตติ ซึ่งคุ้มแค่ไหนไม่ต้องถามให้เสียเวลาอีกแล้ว
โต๊ะผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์
นักเตะเริ่มดี โค้ชเริ่มดึงดูดพลังงานของความสำเร็จส่วนต่าง ๆ มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความฝันที่จะเป็นทีมระดับแถวหน้าของยุโรปก็ใกล้ความจริงเข้ามาบ้างแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือโต๊ะผู้บริหารหรือเหล่ากุนซือนอกสนาม ที่คอยวางกลยุทธ์ทำให้ทิศทางขององค์กรเดินไปข้างหน้าไม่หยุดอยู่กับที่ในทุก ๆ วันเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
แมนฯ ซิตี้ ได้คนที่เข้ามาช่วยให้เงินของท่านชีคสามารถใช้งานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่าง ซิกิ เบริกิสไตน์ อดีต ผอ.กีฬาของ บาร์เซโลน่า และนับตั้งแต่เขาเข้ามาทำงานในปี 2012 แมนฯ ซิตี้ ก็เริ่มจะทะยานไปข้างหน้าหน้าแบบไม่หยุดยั้ง แม้จะใช้เงินไปไม่น้อย แต่มันก็คุ้มค่าหากเรามองสิ่งที่ แมนฯ ซิตี้ เป็นในเวลานี้
“คุณรู้ดีว่าสามารถให้เงินกับใครก็ได้บนโลกใบนี้ แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือคุณต้องเข้าใจว่าคุณจะจ่ายเงินนั้นเพื่อให้พวกเขาทำอะไร หากเราเลือกให้เงินกับคนที่อยากทำงานออกมาให้ดี แผนงานที่วางไว้ก็จะทำได้เร็วขึ้น … แมนฯ ซิตี้ ใช้เงินไม่ยั้งอันนี้เราไม่เถียง แต่เราทำเพราะไม่กลัวเจ๊งและเชื่อว่าการจ่ายเงินจะทำให้เราไปข้างหน้าได้เร็วกว่าคนอื่น เราต้องการชนะในการแข่งครั้งนี้ … ทำให้เร็วและจ่ายอย่างฉลาด นี่แหละคือสิ่งที่ แมนฯ ซิตี้ ทำ” ซิกิ กล่าวถึงแนวคิดของเขา
ซิกิ คนนี้คือคนที่นำพา เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้ามาสร้างยุคสมัยใหม่ ในตอนแรก เป๊ป ก็ล้มเหลวมาก ๆ ในซีซั่นเปิดตัว (2016/17 ไม่มีแชมป์เลยแม้แต่ถ้วยเดียว) แต่ ซิกิ ก็มีวิสัยทัศน์และกล้ามากพอ เขาอนุมัติงบประมาณให้ เป๊ป เอาไปสร้างทีมที่เขาต้องการ และทุกวันนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่า ซิตี้ กลายเป็นทีมเบอร์ 1 ของพรีเมียร์ลีก หรืออย่างแย่ที่สุดก็ไม่หลุดเกินอันดับ 2 แน่นอน … กล้าให้เงินกับคนที่ใช้เป็นและเกิดประโยชน์สูงสุด คือสิ่งที่ ซิกิ และ บอร์ดบริหารของ แมนฯ ซิตี้ ทำจนได้ภาพของการเป็นบิ๊กทีม หลังจากผ่านมา 11 ปี ที่กลุ่มทุนจาก อาบูดาบี เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสร
ถัดไปด้าน เปแอสเช บ้าง นอกจากจะใช้กุนซือเก่ง นักเตะดีแล้ว พวกเขาก็เปลี่ยน ผอ.กีฬา เช่นกัน อดีตนักเตะของสโมสรอย่าง เลโอนาร์โด้ คือคนที่บันดาลบิ๊กโปรเจ็กต์ให้กับ เปแอสเช ให้เป็นจริงขึ้นได้ ในยุคของเขาทีมได้นักเตะอย่าง เนย์มาร์ ที่ถือเป็นสตาร์ระดับท็อป 3 ของโลก จะเป็นรองก็แค่ ลิโอเนล เมสซี่ และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เท่านั้น
การเปิดศักราชใหม่ด้วยเนย์มาร์ ทำให้ เปแอสเช จูงใจสตาร์ดังคนอื่นๆได้มากมาย คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ตามมา และซัมเมอร์นี้ก็โหดในระดับที่ไม่มีใครคาดคิด เซร์คิโอ รามอส, จานลุยจิ ดอนนารุมม่า, จอร์จินโญ ไวจ์นัลดุม และ ลิโอเนล เมสซี่ คือนักเตะที่ใช้ทั้งเงินของเจ้าของสโมสรและวิสัยทัศน์ที่วางไว้จูงใจพวกเขาให้มาอยู่ที่นี่ได้ในท้ายที่สุด … ตอนนี้หาก เปแอสเช คิดจะซื้อใครสักคน ความน่าสนใจและโอกาสการย้ายทีมก็จะสูงและมีความเป็นไปได้มากกว่าเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน
สิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างที่ เปแอสเช และ แมนฯ ซิตี้ ทำ คือพวกเขาทำทีมชุดใหญ่ให้แกร่งได้ด้วยพลังเงินและวิสัยทัศน์ แต่พวกเขาก็ยังไม่ลืมที่จะต่อยอดในสิ่งที่สำคัญที่สุดของสโมสรนั่นคือ “รากฐานที่ยั่งยืน” … สิ่งนั้นคือระบบเยาวชน
แมนฯ ซิตี้ สร้าง ซิตี้ ฟุตบอล อะคาเดมี ลงทุนไปมากกว่า 400 ล้านปอนด์ พัฒนาความพร้อมทุกอย่างในการสร้างนักเตะท้องถิ่น ซึ่งในตอนนี้ก็เริ่มผลิดอกออกผลแล้ว เช่น ฟิล โฟเดน นอกจากนี้ยังมีผลผลิตจากที่นี่อย่าง เจดอน ซานโช่ และ บราฮิม ดิอาซ ที่กำลังกลายเป็นแข้งแถวหน้าอยู่ในเวลานี้
“ซิตี้ ฟุตบอล อะคาเดมี เป็นสัญญาณจากเจ้าของทีมว่าพวกเขาจะอยู่ที่นี่ไปอีกนานเลยทีเดียว พวกเขาเชื่อในเมือง ๆ นี้และสโมสรแห่งนี้ และโครงการของเราคือโครงการสู่ความสำเร็จในระยะยาวอย่างไม่ต้องสงสัย”
“มันมีสองวิธีในการค้นหานักเตะพรสวรรค์ หนึ่งคือการมองหาทีมพัฒนาชั้นยอดและค้นหาว่าใครคือแข้งคนสำคัญในทีมเยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 16 ปี และรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ขณะที่อีกทางหนึ่งคือใช้สเกาต์คอยหานักเตะเก่ง ๆ จากที่อื่นเพื่อเข้ามาต่อยอดให้กลายเป็นของดีในอนาคต” ซิกิ กล่าวถึงอะคาเดมีของ แมนฯ ซิตี้
สิ่งที่ผู้บริหารต้องทำ พวกเขาได้ทำมันอย่างสมบูรณ์แบบภายใต้แผนงานระยะยาว ที่สำคัญพวกเขาทำงานบนโต๊ะผู้บริหารโดยไม่ลงไปล้วงลูกและก้าวก่ายการทำงานของโค้ช … แบ่งงานกันอย่างลงตัวและประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยประสบการณ์และวิสัยทัศน์ ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่ เปแอสเช และ แมนฯ ซิตี้ ทำ.. นอกจากเงิน พวกเขาใช้กึ๋นมากไม่แพ้กัน
หาก นิวคาสเซิล มองดูทั้ง 2 ทีมนี้เป็นแบบอย่าง พวกเขาจะเข้าใจทันทีว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา การสร้างทีมออลสตาร์และโค้ชมือทองเพื่อพาทีมเป็นแชมป์ในทันทีคือสิ่งที่ทำได้แค่ในวิดีโอเกมเท่านั้น.. ทุกอย่างจะต้องเริ่มจากแผนการที่ดี การเดินตามแนวทางที่มั่นคงไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ระยะเวลาสร้างทีมสู่การเป็นแชมป์และกลายเป็นทีมฟุตบอลเบอร์ต้นๆของโลกน้อยลงกว่าการใช้เงินอย่างเดียวอย่างแน่นอน