“ในตอนนั้นลีกรัสเซียแข็งแกร่งมาก เพราะเรามีถึง 6 สาธารณรัฐที่แตกต่างกัน และทั้ง 16 ทีมก็แข็งแกร่งมาก”
“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมทีมชาติรัสเซียจึงเก่งมาก เพราะทุกเกมเหมือนกำลังแข่งในแชมเปี้ยนส์ลีก” เซอร์เก บัลตาชา อดีตกองหลังทีมชาติโซเวียตกล่าว
22.02.2022 นอกจากจะเป็นวันที่มีเลข 2 มากที่สุดแล้ว ยังเป็นวันที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามกฤษฎีการับรองเอกราชของ สาธารณรัฐโดเนตสก์ และ สาธารณรัฐลูฮานสก์ สองแคว้นในดินแดนยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซียอย่างเป็นทางการ
กฤษฎีกาดังกล่าวยังหมายความว่า รัสเซีย ได้เปิดฉาก “บุก” ยูเครน โดยนิตินัย ท่ามกลางความกังวลว่าพวกเขาอาจจะส่งทหารเข้ามาในดินแดนข้างต้นอย่างเปิดเผย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามยูเครน-รัสเซีย เต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ดี แม้ทั้งสองประเทศจะมีความขัดแย้งกัน แต่ในอดีต วงการฟุตบอลรัสเซียกลับต้องพึ่งพาทรัพยากรจากยูเครนในนามของทีมสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในทีมชุดลุยยูโร 1988 ที่มีนักเตะที่เกิดในยูเครนกว่าครึ่งทีม
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ยุคทองฟุตบอลแดนหมีขาว
ฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานในรัสเซีย เมื่อมันถูกนำเข้ามาตั้งแต่ปี 1893 ในสมัยที่ยังเป็นจักรวรรดิรัสเซีย จากชาวอังกฤษในเมืองปีเตอร์สเบิร์ก และก่อตั้งสมาคมสมาพันธ์ฟุตบอลรัสเซียมาตั้งแต่ปี 1912
แม้หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมจะทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายในปี 1917 และทำให้ฟุตบอลจางหายไป เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกีฬาของนายทุน แต่มันก็ได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้งหลังผู้มีอำนาจเห็นว่านี่คือเครื่องมือทางการเมืองชั้นดีในการหลอมรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว
“กีฬากลายเป็นนิยามของการฝึกเพื่อเตรียมเป็นทหารและบรรลุมาตรฐานของความฟิตและการป้องกันประเทศอย่างเปิดเผย” เจมส์ ริออร์แดน นักประวัติศาสตร์ด้านกีฬา อธิบายในบทความวิชาการของเขาที่ชื่อว่า Totalitarianism And Sport In Russia
อย่างไรก็ดี ฟุตบอลของพวกเขาก็เฉิดฉายได้แค่ในประเทศเท่านั้น เพราะแม้จะมีการก่อตั้งทีมชาติสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ปี 1922 แต่พวกเขาก็แทบไม่ได้ออกไปเล่นในระดับนานาชาติเลย เนื่องจาก พรรคคอมมิวนิสต์ กังวลว่าการออกไปนอกประเทศอาจทำให้นักฟุตบอลรับแนวคิดจากต่างชาติจนทำให้เกิดการต่อสู้ทางชนชั้น
มันเป็นเช่นนั้นจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วงการฟุตบอลโซเวียตก็ได้เริ่มตั้งไข่อีกครั้ง เมื่อการไปทัวร์สหราชอาณาจักร และลงเล่นกับทีมดังอย่าง เชลซี และ อาร์เซนอล ของ ดินาโม มอสโก ได้ทำให้พวกเขาได้เข้าเป็นสมาชิกของฟีฟ่าในปี 1947
แม้ว่าการลงเล่นในระดับนานาชาติของโซเวียตในช่วงแรกอาจจะไม่ได้มีผลงานที่น่าจดจำนัก หลังตกรอบแรกในโอลิมปิก 1952 แต่ 4 ปีหลังจากนั้นพวกเขาก็ประกาศศักดาให้โลกให้เห็นด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ที่ออสเตรเลีย ในปี 1956
จากนั้น สหภาพโซเวียต ก็ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของโลก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1950s-60s ที่ถูกเรียกว่า “ยุคทอง” หลังจากสามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรกในปี 1958 โดยมีดาวดังอย่าง เลฟ ยาชิน, อิกอร์ เน็ตโต และ วาเลนติน อิวานอฟ เป็นตัวชูโรง และทะลุเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย
ก่อนที่ในปี 1960 วงการฟุตบอลโซเวียตอยู่ในจุดสูงสุด หลังคว้าแชมป์ยุโรปได้ในยูโร 1960 ที่ประเทศฝรั่งเศส และคว้ารองแชมป์ในรายการนี้ได้อีก 2 ครั้งในปี 1964 และ 1972 ส่วนในฟุตบอลโลก พวกเขากลายเป็นขาประจำในรอบสุดท้าย และไปไกลถึงอันดับ 4 ในทัวร์นาเมนต์ที่อังกฤษในปี 1966
“จุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโซเวียตถูกมองว่าเป็นตอนฟุตบอลโลก 1966” อิวาน คาลาชนิคอฟ นักข่าวของ Sports.ru. กล่าวกับ SBS สื่อของออสเตรเลีย
“โซเวียตเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแต่ไปแพ้เยอรมันตะวันตก และแพ้โปรตุเกสในรอบชิงอันดับ 3”
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว นักเตะของพวกเขายังก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลบัลลงดอร์ หรือนักเตะยอดเยี่ยมของยุโรป ได้ถึง 2 ครั้ง นั่นคือ ยาชิน ที่เป็นผู้รักษาประตูคนแรกและคนเดียวที่ได้รางวัลนี้ในปี 1963 และ โอเล็ก บล็อกคิน ในปี 1975
ทว่าในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970s ฟุตบอลของโซเวียตก็อยู่ในช่วงขาลง เมื่อไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย ทั้งในฟุตบอลโลกและฟุตบอลยูโร
จนกระทั่งการมาถึงของชายชาวยูเครนที่มีชื่อว่า วาเลรี โลบานอฟสกี
ทีมชาติโซเวียตในร่างยูเครน
ด้วยความที่สหภาพโซเวียตเป็นดินแดนขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งยุโรปและเอเชีย ทำให้พวกเขาประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายเผ่าพันธุ์ ซึ่งไม่ต่างจากฟุตบอล และหนึ่งในแกนหลักของทีมชาติโซเวียตนอกจากชาวรัสเซียก็คือชาวยูเครน
ฟุตบอลของชาวยูเครนรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุค 1960 และเฉิดฉายมากสุดในช่วงทศวรรษที่ 1980s ภายใต้การสนับสนุนของ โวโลดิเมียร์ เชอร์บิตสกี หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ของภูมิภาคยูเครน ที่ทำให้ ดินาโม เคียฟ กลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุด ด้วยการกวาดแชมป์โซเวียตท็อปลีกไปได้ถึง 13 สมัย มากที่สุดของสหภาพโซเวียต
“ดินาโม เคียฟ คือทีมที่เก่งที่สุดของรัสเซียในตอนนั้น เราน่าจะมีนักเตะ 12, 14, 15 หรือบางครั้งก็ 17 คนที่ได้เป็นตัวแทนทีมชาติ” เซอร์เก บัลตาชา อดีตกองหลังดินาโม เคียฟ กล่าวกับ CNN
อย่างไรก็ดี คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ก็คือ วาเลรี โลบานอฟสกี เขาคืออดีตนักเตะยูเครนที่โด่งดังจากการค้าแข้งกับ ดินาโม เคียฟ ในช่วงปี 1957-1964 ก่อนจะผันตัวมาเป็นกุนซือของทีมในปี 1973 และมีส่วนร่วมกับการคว้าแชมป์ของทีมอย่างมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น โซเวียต ท็อป ลีก 8 สมัย, โซเวียตคัพ 6 สมัย, โซเวียตซูเปอร์คัพ 3 สมัย รวมไปถึงแชมป์ระดับยุโรปอย่าง คัพ วินเนอร์ส คัพ อีก 2 ครั้ง ที่เป็นการเอาชนะยอดทีมอย่าง ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต และ แอตเลติโก มาดริด
จุดเด่นของ โลบานอฟสกี คือการให้ความสำคัญกับข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น โดยเขาถึงขั้นไปจ้างนักจดสถิติของสถาบันวิทยาศาสตร์กายภาพให้มาเป็นหนึ่งในทีมสตาฟฟ์เพื่อหาจุดอ่อนของทีม จนทำให้ทีมของเขาไร้เทียมทาน
“เขาคือโค้ชที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา เขาเป็นโค้ชที่นำพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาสู่ฟุตบอลในยุค 1970s ตอนที่ผมมาอยู่กับเคียฟในปี 1976 เรามีบุคลากรที่มีภูมิหลังเป็นหมอและนักวิทยาศาสตร์ อะไรแบบนี้ในหลายๆประเทศยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ” บัลตาชา กล่าวกับ BBC Sport
“เขาเป็นจอมแทคติกด้วยเช่นกัน เราเล่นเกมเพรสซิ่งเหมือนกับที่บาร์เซโลน่าทำในตอนนี้ มันเป็นยุคใหม่ของฟุตบอล ในฐานะบุคคล เขาเป็นคนที่เรียกร้องมากและเป็นตัวอย่างสำหรับเรา เพราะว่าเขาคือนักกีฬาอาชีพระดับท็อป”
ผลงานที่โดดเด่นส่งผลให้ โลบานอฟสกี ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาคุมทีมสหภาพโซเวียตในปี 1975-1976 และสามารถพาทีมคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิก 1976 ที่แคนาดา ก่อนจะได้คุมทีมอีกครั้งก่อนศึกฟุตบอลโลก 1982 จะเริ่มต้นได้ไม่นาน
ทว่าการคุมทีมคำรบสองของเขากลับเต็มไปด้วยปัญหา เมื่อทีมชาติโซเวียตชุดนั้นมีเฮดโค้ชถึง 3 คน จาก 3 เชื้อชาติ ซึ่งนอกจาก โลบานอฟสกี ยังมี คอนสแตนติน เบอร์ซอฟ โค้ชของสปาร์ตัก มอสโก จากรัสเซีย และ โนดาร์ อคาลคาซี จากดินาโม ทบิลิซี ของจอร์เจีย
แม้ทุกคนจะยืนยันว่าพวกเขาจะร่วมมือกันเพื่อสหภาพโซเวียต แต่ด้วยความที่แนวทางของแต่ละคนต่างกันมาก ทำให้ทีมชาติโซเวียตมีผลงานที่ไม่ดีนัก โดยจอดป้ายเพียงแค่รอบแบ่งกลุ่มรอบสอง พลาดโอกาสเข้าถึงรอบรองชนะเลิศไปอย่างน่าเสียดาย
ทำให้ในปี 1986 เมื่อ โลบานอฟสกี ถูกแต่งตั้งให้เป็นเฮดโค้ชของสหภาพโซเวียตรอบที่ 3 แต่เพียงผู้เดียว เขาจึงเลือกนักเตะจากทีมที่เขารู้จักที่สุด นั่นคือ ดินาโม เคียฟ ของยูเครนที่เขาคุมควบคู่ไปด้วยมาเป็นแกนหลักของทีมชาติ
และมันก็ทำให้ทีมของเขาสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรปได้อีกครั้ง
ยูโร 1988
ในปี 1986 ดินาโม เคียฟ คือหนึ่งในทีมชั้นนำของยุโรป พวกเขาเพิ่งจะคว้าแชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพ ด้วยการเอาชนะทีมแกร่งจากสเปนอย่าง แอตเลติโก มาดริด ถึง 3-0 และทำให้ โลบานอฟสกี พานักเตะจากทีมชุดนั้นไปฟุตบอลโลกที่เม็กซิโก ถึง 12 จากทั้งหมด 22 คน
จาก 12 คนดังกล่าว มีเพียงคนเดียวที่เกิดนอกยูเครน นั่นคือ โอเลห์ คุซเนตซอฟ ที่มีพ่อเป็นทหารโซเวียตเชื้อสายยูเครนที่ประจำการอยู่ในเยอรมันตะวันออก ทำให้พูดได้เต็มปากว่าทีมชาติโซเวียตชุดนี้มีนักเตะยูเครนกว่าครึ่งทีม
“ทีมชาติโซเวียตในยุค 1980s มีพื้นฐานมาจากทีมดินาโม เคียฟ” อันเดรีย บาล นักเตะทีมชาติโซเวียตที่เคยเล่นฟุตบอลโลก 1982 และ 1986 อธิบายกับ Fox Sports
ทีมชาติโซเวียตของ โลบานอฟสกี ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจในฟุตบอลโลก ด้วยการคว้าตำแหน่งแชมป์กลุ่ม หลังไล่ถล่มฮังการีไปอย่างขาดลอย 6-0 และเสมอกับฝรั่งเศส 1-1 ก่อนจะปิดท้ายด้วยการคว้าชัยเหนือแคนาดา พร้อมผ่านเข้าไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย
อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย พวกเขากลับต้องพ่ายเบลเยียมไปอย่างสุดมันในช่วงต่อเวลาพิเศษ 3-4 แต่ผลงานดังกล่าวก็ยังทำให้ โลบานอฟสกี ได้คุมทีมต่อในยูโร 1988
แน่นอนว่ากุนซือจอมแทคติกยังคงใช้แนวทางเดิม นั่นคือใช้นักเตะจาก ดินาโม เคียฟ ที่เขาคุมอยู่เป็นหลัก และมันก็ทำให้ผู้เล่นฝีเท้าดีพากันย้ายมาเล่นให้กับทีมดังจากยูเครน เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดทีมชาติ
เด็กในคาถาของ โลบานอฟสกี โชว์ฟอร์มเด่นตั้งแต่รอบคัดเลือก ด้วยการเขี่ยทั้ง เยอรมันตะวันออก และ ฝรั่งเศส ตกรอบ ก่อนจะถูกจับสลากเข้ามาอยู่ในกลุ่มแห่งความตายร่วมกับ อังกฤษ และ เนเธอร์แลนด์ โดยมี ไอร์แลนด์ เป็นอีกหนึ่งทีมร่วมกลุ่ม
แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับทีมชาติโซเวียต ที่ครั้งนี้ใช้นักเตะจาก ดินาโม เคียฟ ของยูเครนถึง 11 จากทั้งหมด 20 คน หลังหักปากกาเซียน เอาชนะ เนเธอร์แลนด์ ที่อุดมไปด้วยยอดนักเตะอย่าง โรนัลด์ คูมัน, แฟรงค์ ไรจ์การ์ด และ รุด กุลลิต จากประตูชัยของ วาซิล แรตส์ ปีกชาวยูเครน
แม้ว่าเกมนัดที่สองพวกเขาจะทำได้เพียงแค่เสมอกับ ไอร์แลนด์ 1-1 แต่ในเกมส่งท้ายกับอังกฤษ พวกเขาก็โชว์ฟอร์มเด็ด ด้วยการไล่อัดไปถึง 3-1 คว้าตำแหน่งแชมป์กลุ่ม เข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปพบกับอิตาลี
“ถ้าเราเล่นกับอิตาลีในรอบรองชนะเลิศแบบนี้และยังคงเชื่อมั่นในตัวเอง ความฝันก็จะเป็นความจริง” เลฟ ยาชิน ที่เข้าไปชมเกมนัดนั้นกล่าวหลังเกมกับอังกฤษ
และมันก็เป็นเหมือนที่ยาชินพูดเอาไว้ เมื่อ โซเวียต ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ยัดเยียดความปราชัยให้แก่แชมป์โลก 1982 จากประตูของ เฮนนาดี ลิตอฟเชนโก และ โอเลห์ โปรทาซอฟ สองแข้งเลือดยูเครน เข้าไปชิงชนะเลิศกับ เนเธอร์แลนด์ อดีตเพื่อนร่วมกลุ่ม
“ในตอนนั้นเราเป็นทีมที่ดี ผู้เล่นส่วนใหญ่ของเรามาจากดินาโม เคียฟ และเราก็ครองความยิ่งใหญ่ในยุโรป พวกเรารู้ว่าเราจะทำผลงานได้ดี” บัลตาชา ย้อนความหลังกับ BBC Sports
น่าเสียดายที่นัดชิงชนะเลิศพวกเขาต้องผิดหวัง หลังพ่ายต่ออัศวินสีส้ม 0-2 จากลูกโหม่งของ กุลลิต และประตูมหัศจรรย์ ของ มาร์โก ฟาน บาสเทน ที่วอลเลย์จังหวะเดียวไม่จับเสียบเสาไกลเข้าไปอย่างสวยงาม และทำให้ โซเวียต ทำได้เพียงแค่รองแชมป์
ก่อนที่มันจะเป็นความรุ่งเรืองครั้งสุดท้ายของพวกเขา..
ล่มสลายตามโซเวียต
ไม่ถึง 3 ปี หลังความมหัศจรรย์ที่เยอรมันตะวันตก สหภาพโซเวียตก็ต้องมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อนโยบายเปเรสตรอยก้าของ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น ได้ทำให้เกิดความไม่สงบจากผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้าน และถูกแยกออกเป็น 15 ประเทศในปี 1991
แม้ว่าการแตกออกเป็นหลากหลายประเทศจะยังทำให้ อดีตสหภาพโซเวียต ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นรัสเซีย ยังคงเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในโลก แต่มันกลับทำให้ทีมฟุตบอลของพวกเขาอ่อนแอลงอย่างชัดเจน จากการต้องสูญเสียนักเตะฝีเท้าดี โดยเฉพาะแข้งชาวยูเครน หนึ่งในชาติที่แยกตัวเป็นเอกราช ที่ย้ายไปเล่นให้กับประเทศของพวกเขาเอง
“ทีมชาติโซเวียตประกอบขึ้นมาจาก 2-3 แนวทางที่ต่างกัน” คาลาชนิคอฟ อธิบายกับ SBS
“โรงเรียนสอนฟุตบอลจากแนวคิดของ วาเลรี โลบานอฟสกี ช่วยให้ผู้เล่นมีสภาพร่างกายที่แข็งแกร่งและมีความอึด ส่วนเรื่องแทคติกได้มาจากฟุตบอลจอร์เจีย”
“ทีมชาติโซเวียต จึงเป็นส่วนผสมของชาวยูเครน, จอร์เจีย และ รัสเซีย บางครั้งก็มีชาติอื่น แต่สามชาตินี้เป็นชาติยืนพื้นหลัก”
อันที่จริงพวกเขามีโอกาสได้ลงเล่นร่วมกันครั้งสุดท้ายในฟุตบอลยูโร 1992 ในนามของ Commonwealth of Independent States (CIS) หรือกลุ่มเครือรัฐเอกราช แต่ก็ทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง จอดป้ายเพียงแค่รอบแรกในฐานะบ๊วยของกลุ่ม
และหลังจากนั้น ฟุตบอลของรัสเซีย ก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย โดยส่วนใหญ่ไม่ตกรอบคัดเลือกก็ต้องจบเส้นทางแค่ในรอบแบ่งกลุ่ม ผลงานที่ดีที่สุดคือเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 2018 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ และรอบรองชนะเลิศในยูโร 2008 ซึ่งห่างไกลจากความสำเร็จในอดีตอยู่มาก
“ในอดีตลีกรัสเซียแข็งแกร่งมาก เพราะเรามีถึง 6 สาธารณรัฐที่แตกต่างกัน และทั้ง 16 ทีมก็แข็งแกร่งมาก” บัลตาชา กล่าวกับ BBC Sport
“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมทีมชาติรัสเซียจึงเก่งมาก เพราะทุกเกมเหมือนกับกำลังแข่งแชมเปี้ยนส์ลีก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเกมยุโรปจึงค่อนข้างง่ายสำหรับเรา เพราะเราต้องเล่นในเกมที่มีการแข่งขันระดับสูงทุกสัปดาห์”
“แต่หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับท็อปได้ ซึ่งก็มีแค่รัสเซียกับยูเครน ที่เหลืออย่างจอร์เจียก็ไม่ได้เล่นฟุตบอลโลกบ่อยนัก และมันก็เกิดความเสียหายแก่ฟุตบอลโซเวียตหลังจากนั้น”
ไม่ต่างจากฟุตบอลยูเครน แม้ว่าพวกเขาจะเริ่มก่อร่างสร้างตัว แต่กว่าที่ชาติจากยุโรปตะวันออกชาตินี้จะได้เล่นฟุตบอลโลกก็คือปี 2006 ซึ่งเป็นผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขา หลังผ่านถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ส่วนฟุตบอลยูโรก็ต้องรอจนถึงปี 2012 ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าภาพร่วมกับโปแลนด์
และปฏิเสธไม่ได้ว่ามูลเหตุที่ทำให้วงการฟุตบอลยูเครนต้องชะงักคือการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของ โลบานอฟสกี เมื่อ 2002 ด้วยวัย 63 ปี ทำให้ยูเครนต้องใช้เวลาพอสมควรในการสร้างทีมขึ้นมาใหม่
“โลบานอฟสกี คือทุกสิ่งทุกอย่างของ ดินาโม เคียฟ และฟุตบอลรัสเซีย” บัลตาชา กล่าวต่อ
“ยูเครน ไม่สามารถขึ้นไปถึงระดับนั้นได้เลย ในตอนนั้นคนจำนวนมากรู้จักกรุงเคียฟเพราะดินาโม เพราะโลบานอฟสกี และผู้เล่นที่เล่นให้กับเขา”
ปัจจุบันทั้ง ยูเครน และ รัสเซีย ยังคงเป็นทีมระดับกลางของยุโรป และเตรียมจะลงเตะในนัดเพลย์ออฟ เพื่อคว้าสิทธิ์เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์ ในปี 2022 ท่ามกลางความตึงเครียดจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างยูเครนและรัสเซีย
และความขัดแย้งนี้ก็อาจทำให้โอกาสในการกลับมาอยู่ในจุดสูงสุดของวงการฟุตบอลของพวกเขาดั่งในอดีตนั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ครั้งหนึ่ง วงการฟุตบอลยูเครน ได้เข้าไปมีความสำคัญกับรัสเซียมากแค่ไหน