นาทีนี้ต่อให้ไม่ใช่คนที่ดูและติดตามฟุตบอลลีกของญี่ปุ่นก็ย่อมต้องได้ยินชื่อของสโมสร คาวาซากิ ฟรอนตาเล เป็นอย่างดี เพราะพวกเขากำลังจะเป็นต้นสังกัดใหม่ของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ กัปตันทีมชาติไทยชุดปัจจุบัน
นี่คือการซื้อตัวที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้เติบโตขึ้นไปพร้อม ๆ กัน และน่าจะเป็นดีลที่ใช้คำว่า “วิน-วิน” ได้มากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นต้นสังกัดเก่าอย่าง คอนซาโดเล ซัปโปโร และว่าที่ต้นสังกัดใหม่อย่าง คาวาซากิ ฟรอนตาเล และ ตัวนักเตะอย่าง ชนาธิป ที่ต่างจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการย้ายทีมครั้งนี้
ฟรอนตาเล จะได้อะไรจาก ชนาธิป ? และ ชนาธิป จะได้อะไรบ้างจากสโมสรใหม่ของเขาที่ครองตำแหน่งแชมเปี้ยน 4 จาก 5 ปีหลังสุดของเจลีก … นี่คือเรื่องราวของการมาพบเจอที่ถูกที่ถูกเวลาที่สุด
ติดตามได้ที่ Main Stand
วิถีของทีมแถวหน้า
ไม่ว่าจะเป็นทีมฟุตบอลจากลีกไหน ๆ สิ่งที่ยอดทีมที่มีเป้าหมายในการเป็นทีมหมายเลข 1 ของลีกพยายามทำอยู่เสมอนั่นคือการพยายามเติมคุณภาพเข้าไปในทุก ๆ ฤดูกาล ซึ่งในส่วนของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล นั้นพวกเขามีความจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่ญี่ปุ่นมันมีข้อจำกัดบางอย่างที่แตกต่างออกไปจากลีกแถวหน้าของยุโรป
สิ่งที่ว่านี้คือ “การทำเพื่อชาติ” อย่างที่ทุกคนทราบสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นหรือ JFA นั้นได้วางรากฐานให้กับทีมชาติญี่ปุ่นเพื่อกลายเป็นทีมฟุตบอลระดับโลกภายในระยะเวลา 100 ปี ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า 100-year vision และรากฐานสำคัญก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นมันคือการ “สร้างนักเตะของลีกในประเทศให้แข็งแกร่ง”
ญี่ปุ่นพยายามจะผลักดันนักเตะในลีกของตัวเองให้ต่อยอดไปเล่นในลีกต่างแดนให้ได้มากที่สุด และเพิ่งจะมาผลิดอกออกผลเอาในช่วงหลังยุค 2010s เป็นต้นมานี้เอง ที่นักเตะญี่ปุ่นออกไปเล่นในยุโรปแบบไม่ต้องนับนิ้ว เพราะเยอะมากจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ๆ สำหรับพวกเขาไปแล้ว
ขั้นตอนนี้จะสำเร็จได้ต้องใช้การ “เสียสละเพื่อชาติ” ของสโมสรต่าง ๆ ในลีกเป็นอย่างมาก ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านฟุตบอลช้ากว่าประเทศในแถบอเมริกาใต้หรือแอฟริกา ดังนั้นเมื่อสโมสรในยุโรปต้องการดึงนักเตะต่างชาติไปใช้งาน พวกเขาจะต้องคิดคำนวณให้ดีถึงราคาที่เหมาะสม เพราะนักเตะอเมริกาใต้และแอฟริกานั้นมีราคาถูกมาก หากจะต้องซื้อนักเตะจาก ญี่ปุ่น ที่ในช่วงราว ๆ ยุค 90s ไม่ได้มีความโดดเด่นชัดเจนอะไรในราคาที่แพงกว่า ทีมที่จะซื้อก็ต้องคิดหนัก
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและทำให้ตลาดการส่งออกนักเตะของญี่ปุ่นคล่องที่สุด ก็คือการปล่อยนักเตะออกไปในราคาถูกมาก ๆ ยกตัวอย่างเช่นแข้งแนวหน้าที่สร้างชื่อในยุค 90s อย่าง ฮิเดโตชิ นากาตะ ที่ย้ายไปเล่นใน เซเรีย อา กับ เปรูจา หลังฟุตบอลโลกปี 1998 ยังมีราคาแค่ 3.5 ล้านปอนด์เท่านั้น หากเทียบให้เห็นภาพคือถูกกว่าที่ โคเวนทรี ซื้อนักเตะอย่าง มุสตาฟา ฮัดจิ ตัวรุกของโมร็อกโก ชุดฟุตบอลโลก 1998 ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
ที่จะกล่าวทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า ฟรอนตาเล เองก็มีนโยบายของสโมสรที่รับลูกกับสิ่งที่ JFA ได้ตั้งไว้ พวกเขาจึงพยายามปั้นนักเตะในประเทศให้แข็งแกร่ง เพื่อทำให้ทีมกลายเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม พวกเขาก็ต้องพร้อมที่จะปล่อยนักเตะของพวกเขาออกไปค้าแข้งในต่างแดนในราคาที่ถูกแสนถูก โดยไม่มีการรั้งไว้ซึ่งเป็นเหตุผลให้พวกเขาต้องเสียนักเตะระดับตัวท็อปของทีมไปทุก ๆ ปี
ย้อนกลับแค่ 3 ปีหลังสุด ฟรอนตาเล ปล่อยนักเตะตัวหลักของทีมออกไปในยุโรปรวมทั้งหมด 5 คนได้แก่ โค อิตาคุระ ไป แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (ค่าตัว 1 ล้านปอนด์), โคจิ มิโยชิ ไป รอยัล อันท์เวิร์ป (1.2 ล้านปอนด์), เรโอะ ฮาตาเตะ ไป กลาสโกว เซลติก (1.5 ล้านปอนด์), อาโอะ ทานากะ ไป ดุสเซลดอร์ฟ (ยืมตัว, ค่ายืม 1 แสนปอนด์) และ คาโอรุ มิโตมะ ไป ไบรท์ตัน ในราคาแค่ 3 ล้านปอนด์
จะเห็นได้ว่า ฟรอนตาเล เองก็ต้องพยายามหานักเตะเข้ามาทดแทนตัวหลักที่ย้ายออกไป แถมยังต้องมีราคาไม่แพงนักในทุก ๆ ปี และจากประวัติการซื้อขายย้อนหลังใน 5 ปีหลังสุด ฟรอนตาเล ก็แทบจะไม่ได้ทุ่มเงินซื้อนักเตะคนไหนเลยทั้งนักเตะต่างแดนหรือนักเตะท้องถิ่น แม้กระทั่ง เลอันโดร ดามิเยา ดาวยิงดีกรีทีมชาติบราซิล พวกเขาก็ดึงตัวมาแบบไร้ค่าตัว
แต่ถึงอย่างนั้น ฟรอนตาเล ก็ยังคงเป็นทีมแถวหน้าได้ด้วยแนวทางและระบบการเล่นที่ชัดเจน นั่นคือการเล่นฟุตบอลเกมบุกที่ใช้ความฟิตของนักเตะ และที่สำคัญที่สุดคือการเล่นแบบเป็นทีม เรื่องนี้แม้แต่ ดามิเยา ที่ได้รางวัล MVP และดาวซัลโวของลีกในฤดูกาล 2021 ยังยอมรับว่าฟุตบอลแบบทีมเวิร์กของ ฟรอนตาเล คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขากลับมาเป็นนักเตะที่ทำประตูได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง
ถึงตอนนี้ ฟรอนตาเล จะต้องทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปบ้าง เพราะทีมในเจลีกส่วนใหญ่เน้นใช้นโยบายแนว “เน้นสร้าง ไม่เน้นซื้อ” แต่สำหรับเบอร์ 1 อย่างพวกเขาที่ขายนักเตะที่ดีที่สุดในทีมอย่าง มิโตมะ ไปในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่บอกกับสโมสรว่าถึงเวลาที่จะต้องซื้อแล้ว
เพราะหลังจากขาย มิโตมะ ไป ฟรอนตาเล ก็ยิงได้น้อยลงกว่าเดิม สกอร์แบบที่เคยทำได้ในช่วงครึ่งซีซั่นแรกแบบยิงขาด 4-5 ลูกต่อ 1 เกมเหลือน้อยลงมาก และมีเกมที่หลุดเสมอหรือถึงขั้นแพ้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ครึ่งซีซั่นแรกไม่แพ้ใครเลย) พวกเขาจะมัวแต่รอเด็ก ๆ ในอคาเดมีไม่ได้แล้ว หากอยากรักษามาตรฐานระดับสูงของตัวเองเอาไว้
และนี่คือวิถีของทีมหัวแถวที่ต้องการรักษาความเป็นอันดับ 1 ของพวกเขาไม่ให้ใครมาแซงหน้าได้ เพราะการอยู่กับที่เท่ากับการถอยหลัง ดังนั้นในซีซั่นนี้พวกเขาจึงยอมทุ่มซื้อนักเตะที่ราคาแพงที่สุดในรอบ 20 ปีของสโมสร (คนล่าสุดคือ ดาเนี่ยล รอสซี่ 2.5 ล้านปอนด์ จาก เซา เปาโล เมื่อปี 2000 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเสียด้วย)
และคนที่พวกเขาอยากให้มาเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอดหลังเสียตัวหลักในแดนกลางไป 2 คนในตลาดซื้อขายที่ผ่านมาคือ ชนาธิป สรงกระสินธ์ กองกลางตัวรุกชาวไทยจาก คอนซาโดเล ซัปโปโร
ก้าวที่เติบโตของ ชนาธิป
หากใครได้ชมการแข่งขันในเจลีกปีล่าสุดของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล จะเข้าใจได้ทันทีว่า ชนาธิป เป็นนักเตะที่ลงล็อกสำหรับทีม ๆ นี้ขนาดไหน นี่คือทีมที่เล่นบอลกับพื้นเป็นหลักและเน้นไปที่การเล่นเกมรุก วิ่งไล่บอลตั้งแต่แดนหน้า ทำเกมรุกจากทุกทิศทาง
ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือ พวกเขากลายเป็นทีมที่ยิงประตูได้มากที่สุดในลีกมาแล้วถึง 4 ฤดูกาลติดต่อกัน และแน่นอนที่สุดพวกเราทุกคนล้วนรู้ดีว่า ชนาธิป เป็นนักเตะประเภทไหน ? ตัวเล็ก คล่องแคล่วว่องไว และเน้นการจ่ายบอลมากกว่ายิงประตู
ที่กล่าวมาในข้างต้นเป็นการมองผ่านเกมการแข่งขันของทั้ง ฟรอนตาเล และ ชนาธิป แต่หากมองให้ลึกไปยิ่งกว่าการเล่นให้ลงล็อกคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน ทีม ๆ นี้เป็นทีมที่ใช้การเล่นบอลแบบเป็นระบบอย่างเต็มตัว ส่งใครลงเล่นก็คล้าย ๆ กัน นั่นเป็นการสร้างนักเตะเพื่อมาเล่นเกมรุกแบบฟุตบอลสมัยใหม่โดยเฉพาะ
จริงอยู่ว่าสมัยเล่นอยู่กับ คอนซาโดเล ซัปโปโร ชนาธิป ก็เคยออกมาบอกว่าเขาฟิตมากกว่าตอนที่เล่นในไทยลีกเยอะ แต่เมื่อมาอยู่กับ คาวาซากิ ฟรอนตาเล ที่เป็นทีมที่เร็วกว่า แข็งแกร่งกว่า และฟิตกว่า มันจะทำให้เขาเป็นนักเตะที่ดีขึ้นได้จากระบบต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว
สิ่งนั้นคือการฝึกซ้อมที่เรียกว่า “ฟิสิเทค” (フィジテク) ซึ่งหมายถึงการซ้อมที่เข้มข้น เน้นย้ำไปที่การยกระดับความฟิตของนักเตะแต่ละคนอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเล่นของทีมที่ต้องการให้ทุกคนเล่นฟุตบอลแบบเพรสซิ่งใส่คู่แข่งตลอด 90 นาที ซึ่งความฟิตนี้เองคือสิ่งชี้ขาดความสำเร็จของฟุตบอลยุคใหม่ แค่คุณแรงดีคุณก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
เรื่องนี้ ชนาธิป ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ในเกมเจลีกเมื่อปี 2020 หลัง คอนซาโดเล ซัปโปโร พ่ายให้กับ ฟรอนตาเล ไป 1-6 ถึงความต่างของนักเตะทั้งสองทีม โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนที่และการขยับตัวที่มีพื้นฐานมาจากความฟิต ที่ทำให้ผลสกอร์ออกมาขาดลอยขนาดนั้น … แม้ว่าเขาจะพยายามเต็มที่จนทำได้ 1 แอสซิสต์ แต่ภาพรวมก็ยังเป็นความห่างชั้นที่แม้แต่เจ้าตัวก็ยังยอมรับ
“ถ้าผมเล่นดีก็น่าจะช่วยทีมได้บ้าง ยิ่งถ้าเราเล่นดีกันทั้งทีม มันก็ยิ่งทำให้ทีมเราช่วยกันได้มากขึ้น ต้องยอมรับว่า คาวาซากิ เป็นทีมที่แข็งแกร่งจริง ๆ การต่อบอลเท้าสู่เท้าของพวกเขาดีมาก มีการขยับตัวทั้งทีม และทุกคนในทีมของเขามีเทคนิคที่ดี” ชนาธิป สัมภาษณ์ไว้กับเพจ J League
การได้ฝึกซ้อมกับทีมที่ฟิตที่สุดและมีการเล่นแบบที่เคลื่อนที่เป็นทีมมากที่สุดก็ถือเป็นโอกาสดีที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ นี่คือโอกาสสำคัญที่จะทำให้ ชนาธิป แข็งแกร่งขึ้นมาอีกระดับอย่างไม่ต้องสงสัย
ส่วนเรื่องจะได้ลงเล่นหรือไม่นั้นอาจจะเป็นเรื่องของอนาคต เรื่องดีกรีคงไม่ต้องพูดถึงมากเพราะผลงานในเจลีก ตลอด 3 ปีของ ชนาธิป ก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่หากเรากางชื่อนักเตะและตำแหน่งของนักเตะแต่ละคนในทีม ฟรอนตาเล ออกมาดู เราจะเห็นได้ว่า ชนาธิป มีโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นตัวจริงทันที
ตำแหน่งที่ ชนาธิป เล่นประจำกับทีมเก่าคือการเล่นเป็นตัวรุกเป็นหลัก อาจจะมีการขยับมาเล่นริมเส้นฝั่งซ้ายบ้าง แต่โดยรวมแล้วเขาเป็นนักเตะประเภท เพลย์เมเกอร์ มากกว่า วิงเกอร์ อย่างชัดเจน
ซึ่งหากจะเทียบจากตำแหน่งตัวรุกในทีม ฟรอนตาเล ในตอนนี้ มีนักเตะเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ขวางทางชนาธิปอยู่ นั่นคือ ยาสึโตะ วากิซากะ ผู้เล่นหมายเลข 8 ตัวรุกวัย 26 ปี ที่ปัจจุบันกลายเป็นนักเตะดีกรีทีมชาติญี่ปุ่นไปแล้ว
วากิซากะ ถือเป็นตัวรุกคนเดียวที่ลงเล่นเกือบ 100% ในเกมลีกฤดูกาล 2021 เขายิงไป 3 ประตูและทำ 4 แอสซิสต์ จาก 35 เกมที่ลงสนาม ขณะที่ใน เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก นั้น เขาทำไป 2 ประตูและ 5 แอสซิสต์ จาก 6 เกม
ส่วนตัวรุกอีกคนอย่าง คาซึกิ คาซึยะ กองกลางหมายเลข 17 นั้น ถือว่าเป็นตัวสำรองที่ได้ลงเล่นน้อยมาก เขาได้ลงเล่นเพียงแค่ 71 นาที จาก 5 เกมลีกในฤดูกาล 2021 เท่านั้น ดังนั้นเท่ากับว่าโอกาสของ ชนาธิป ที่จะจะได้ลงสนามเปิดกว้างแน่นอน เพราะเหลือเพื่อนร่วมทีมที่ต้องชิงตำแหน่งนี้ไม่มากนัก
หากเหลือบไปทางริมเส้นฝั่งซ้าย ชัดเจนว่า มิโตมะ เบอร์ 1 ของทีมในปีที่แล้วนั้นได้ย้ายออกอยู่กับ ไบรท์ตัน แล้ว และปีกซ้ายอีกคนอย่าง ทัตสึยะ ฮาเซงาวะ ที่ลงเล่นไป 21 นัดในเกมลีกเมื่อซีซั่น 2021 ก็กำลังจะย้ายทีมไปเล่นให้กับ โยโกฮามา เอฟซี ในซีซั่น 2022 ดังนั้นไม่ว่าจะตำแหน่งไหน ชนาธิป ก็มีโอกาสสอดแทรกขึ้นมาเป็นตัวจริงทั้งสิ้น
ตอนนี้ ชนาธิป อายุ 28 ปีแล้ว นี่คือช่วงเวลาที่เรียกได้ว่า “พีกที่สุด” ของอาชีพนักฟุตบอล ดังนั้นการย้ายทีมครั้งนี้คือก้าวสำคัญที่สุดของเขา เพราะมันมาถูกที่ถูกเวลาเป็นอย่างมากหลังจากสลัดอาการบาดเจ็บที่รบกวนมาตลอดปี 2021 จนหายดี และเรียกความมั่นใจด้วยการพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 มาได้ และตอนนี้เขากำลังจะลงเล่นให้กับสโมสรที่เก่งที่สุดในรอบทศวรรษหลังสุดของญี่ปุ่น
“ผมมีเป้าหมายเดียวคือเราต้องเป็นแชมป์ให้ได้ นั่นคือสิ่งที่พวกเขาคาดหวัง ผมเองก็คาดหวังเช่นกัน” ชนาธิป เผยหลังจากมีข่าวย้ายทีมเป็นครั้งแรก
ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนก็ล้วนเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับกัปตันทีมชาติไทยรายนี้อย่างแท้จริง
ฟรอนตาเล จะได้อะไร ?
เมื่อมองกลับกัน ฟรอนตาเล ก็จะได้นักเตะที่เป็นตัวรุกแถวหน้าของเจลีกมาเสริมทัพ เป็นคนที่มีสไตล์การเล่นเหมาะกับปรัชญาของทีม ชนาธิป คือนักเตะที่ ฟรอนตาเล ตั้งใจและจับตามองมาตั้งแต่ช่วงฤดูกาล 2021 ยังแข่งขันอยู่ เรื่องนี้ยืนยันได้โดย ฮิโรคัตสึ มิคามิ ผจก.ทั่วไปของ คอนซาโดเล ซัปโปโร
แม้จะเป็นการซื้อขายที่มีเหตุผลทางฟุตบอลเป็นหลักตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมด แต่สิ่งที่จะเป็นโบนัสชนิดที่เรียกได้ว่า “โบนัสก้อนโต” เลยก็ว่าได้คือ “การตลาด” แบบเดียวกับที่ คอนซาโดเล เคยได้รับมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อครั้งที่พวกเขาคว้าตัว ชนาธิป จาก เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด มาร่วมทีม
ทั้งยอดการติดตามทางโซเชียลมีเดีย และการได้ฐานแฟนคลับที่มากขึ้นคือสิ่งที่ทุกสโมสรล้วนต้องการทั้งนั้น ก่อนที่ ชนาธิป จะเป็นนักเตะของ คอนซาโดเล ซัปโปโร สโมสรเคยมียอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊กอยู่ราว ๆ 10,000-20,000 คนเท่านั้น ทว่าหลังจากที่มีผู้ติดตามชาวไทยเพิ่มมากขึ้น ยอดคนกดไลก์เพจ ณ ปัจจุบันจึงโดดขึ้นมาอยู่ที่ 75,000 คนเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่เรื่องยอดไลก์เพจ แต่มันรวมถึงการติดตามการถ่ายทอดสดที่มากขึ้น มันกลายเป็นการเพิ่มความนิยมที่ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นแต่รวมไปถึงทั้งภูมิภาคอาเซียน
การตีตลาดอาเซียนคือสิ่งที่เจลีกพยายามทำมาตลอดในช่วงหลายปีหลัง ทุก ๆ สโมสรต่างพยายามมองหาความเป็นไปได้ในการดึงนักเตะอาเซียนฝีเท้าดีมาเสริมทัพ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีโควตานักเตะอาเซียนที่สามารถลงสนามได้โดยเฉพาะ ไม่ปะปนกับนักเตะเอเชียหรือนักเตะจากชาติอื่น ๆ
สิ่งที่ยืนยันอีกเรื่องคือหลายสโมสรในเจลีกได้พยายามเข้ามาเป็นพันธมิตรกับสโมสรในไทยลีก เพื่อเป้าหมายทางด้านการตลาด การให้เยาวชนมาร่วมฝึกซ้อม การซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนนักเตะกัน และจากนั้นดีลของนักเตะไทยไปสู่เจลีกที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นก็เพราะเหตุผลนี้ คือเพื่อให้ เจลีก เป็นที่นิยมมากขึ้นในย่านอาเซียน เช่น เซเรโซ โอซากา กับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, วิสเซล โกเบ กับ ชลบุรี เอฟซี, โยโกฮามา เอฟ มารินอส กับ สุพรรณบุรี เอฟซี และ เอฟซี โตเกียว กับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด
แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นการให้เยาวชนร่วมฝึกซ้อมหรือจะเป็นการส่งนักเตะญี่ปุ่นมาให้ทีมในไทยลีกใช้งาน ก็ยังไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเท่ากับการเอานักเตะไทยไปเล่นในสโมสรที่ญี่ปุ่น ดังนั้นสิ่งที่ ฟรอนตาเล ได้ทำในตอนนี้ก็ทำให้พวกเขาได้แทบทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ
นักเตะระดับหัวแถวของเจลีก นักเตะในตำแหน่งที่ทีมขาดหาย และนักเตะที่จะนำมาซึ่งกระแสแฟนคลับที่มากขึ้น ถูกพูดถึงในภูมิภาคที่พวกเขาอยากจะตีตลาดให้ได้ … ทั้งหมดนี้กับเงินจำนวนราว 130 ล้านบาทตามข่าวที่ออกมา ไม่ว่าจะมองทางไหน ทุกฝ่ายก็ต้องวินด้วยกันทั้งนั้น