นอกจาก มิเชล พลาตินี่ นักเตะระดับบัลลงดอร์ที่ผันตัวมานั่งในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ ยูฟ่า เราก็แทบจะไม่เคยเห็นอดีตนักเตะระดับโลกคนใดอีกเลยที่เข้ามาบริหารองค์กรฟุตบอลเบอร์ใหญ่ๆ จนประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับ
มันน่าแปลกที่นักฟุตบอลอยู่กับกีฬาชนิดนี้มาทั้งชีวิต หลายคนเป็นมิสเตอร์ไนซ์กาย ได้รับการยกย่องว่าเหมาะสมกับการเป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรหรือนายกสมาคมฟุตบอลของประเทศหลังจากที่พวกเขาเลิกเล่น
แต่ถึงอย่างนั้น ทำไมจึงไม่ค่อยจะมีใครมาทำหน้าที่ในบทบาทนักบริหารกันบ้าง ? เราจะมาลองวิเคราะห์กันดู ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
แยกสายชัดเจน
งานสายบริหารนั้นไม่ว่าจะวงการไหน ผู้ที่ได้รับบทบาทผู้นำเปรียบเสมือนกับกุนซือที่ต้องใช้ความสามารถทั้งหมดที่มีในการวิเคราะห์กลยุทธ์ ตัดสินใจ วางแผนงาน ลงมือทำ และสรุปผลงาน เพื่อทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ฟุตบอลเองก็เช่นกัน งานสายบริหารของฟุตบอลนั้นจำเป็นจะต้องมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย นอกจากรู้เรื่องฟุตบอลแล้วยังต้องรู้เรื่องการบริหารและการตลาดอีกด้วย เพราะทุกอย่างสำคัญไม่แพ้กันเลย
จะเห็นได้ว่า องค์ความรู้ที่ต้องใช้ต่อการทำงานแทบจะเป็นคนละเรื่องกับผลงานในสนามเลย แม้จะมีความเกี่ยวพันกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังคำว่า “บริหารดี = ผลงานทีมดี” แต่ศาสตร์ในการเป็นผู้นำองค์กรด้านฟุตบอลนั้น ไม่ใช่การเป็นคนจัดวางรายละเอียดและวิธีการเล่นในสนาม แต่พวกเขาคือคนที่ต้องเลือกคนเข้ามาทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ให้ได้ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้กับองค์กร
จากเนื้องานจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมคนในตำแหน่งผู้บริหารจึงมีรายรับหรือเงินเดือนสูง เพราะความผิดชอบทั้งหมดนี้ ต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณในการปกครององค์กร รวมทั้งการมีปัญหาให้แก้ในทุก ๆ วัน ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับใครที่ร่ำเรียนสายบริหารมา ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งในฝันที่ “มีรายได้สมน้ำสมเนื้อ” และที่สำคัญยัง “มีหน้ามีตาในสังคม” อีกด้วย
ทว่ารายได้และชื่อเสียงในฐานะผู้บริหารจะมากกว่านักฟุตบอลได้อย่างไร ? โดยเฉพาะในหมู่นักเตะระดับโลกนั้น พวกเขาทำเงินต่อปีมากจนแทบไม่ต้องนับ เปรียบเทียบกันง่าย ๆ กับการผู้บริหารองค์กรใหญ่อย่างสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือ ยูฟ่า ในอดีตอย่าง มิเชล พลาตินี่ ที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มา 6 ปี โดยอดีตนักเตะเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ในช่วงยุค 80s รายนี้ มีเงินเดือนที่ได้จาก ยูฟ่า ราวปีละ 210,000 ยูโรต่อปี คิดเป็นเงินไทยคือปีละ 7 ล้านบาทโดยประมาณ
หากเทียบกับนักเตะระดับพรีเมียร์ลีกที่เบอร์ใหญ่ ๆ หน่อยตอนนี้ตามค่าเฉลี่ยก็มีรายรับถึงสัปดาห์ละ 1 แสนปอนด์ หรือ 4.6 ล้านบาทแล้ว ตก 1 ปีนักเตะที่มีชื่อเสียงในระดับพรีเมียร์ลีกจะหาเงินได้ถึง 5.2 ล้านปอนด์ หรือราว ๆ 240 ล้านบาท มากกว่าเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงของยูฟ่าไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า
ที่สำคัญหากเข้ามารับตำแหน่งเพื่อชื่อเสียง ก็ยิ่งเป็นอะไรที่ไม่เมกเซนส์แม้แต่น้อย ทุกวันนี้หากถามแฟนบอลทั่วไปว่า พวกเขาจดจำนักเตะหรือผู้บริหารทีมฟุตบอลหรือองค์กรฟุตบอลได้มากกว่ากัน ? แน่นอนที่สุดว่าจะต้องเป็นนักฟุตบอล ที่ชนะแบบกินขาด
นักฟุตบอลระดับอาชีพมีทุกสิ่งที่ผู้ชายคนหนึ่งต้องการ ชื่อเสียง, เงินทอง, ความเคารพ ดังนั้นการจะเข้าไปนั่งในตำแหน่งผู้บริหารองค์กรแบบกินเงินเดือน ดูจะเป็นหน้าที่ซึ่งได้ไม่คุ้มเสียหากเทียบกับสิ่งที่พวกเขาทำได้ แค่นี้ก็น่าจะมากพอที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้แบบคร่าว ๆ แล้ว ว่าทำไมนักฟุตบอลจึงไม่นิยมไปนั่งโต๊ะผู้บริหารองค์กรฟุตบอล
อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องเงินทองและชื่อเสียงแล้วยังมีเหตุผลอื่นประกอบ ที่ทำให้นักเตะส่วนใหญ่เมินอาชีพผู้บริหารใส่สูท … นั่นก็เพราะมันยากและแตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาเคยทำมาตลอดชีวิต
งานยากสุดขีด
ทุกสายงานมีความเหนื่อยและความยากแตกต่างกันออกไป ตัวของนักฟุตบอลนั้นอาจจะต้องเหนื่อยเรื่องการทำตัวให้อยู่ในระเบียบวินัย รักษาสภาพจิตใจให้เข้มแข็ง สามารถสู้กับแรงกดดันของแฟนบอลได้
ขณะที่ผู้บริหารคือคนต้องจัดการและบริหารองค์กรให้อยู่รอด สิ่งที่พวกเขาทำมักจะเป็นสิ่งที่คนดูหรือแฟนบอลไม่เห็น เรียกได้ว่าหากบริหารได้ดีแฟนบอลก็จะไม่รู้สึกยินดีและให้ความชื่นชมมากมายนัก ซึ่งหากเทียบให้เห็นภาพ มันต่างจากนักเตะที่ยิ่งฟอร์มร้อนแรงก็ยิ่งโดดเด่น ทว่าวันใดที่องค์กรเริ่มทรุด เสียงกดดันก็จะเริ่มขึ้น และพวกเขาก็ต้องใช้ไอเดียทุกอย่างที่มีในการแก้ปัญหา และไม่ว่าจะตัดสินใจเช่นไร ย่อมมีคนไม่เห็นด้วยอยู่ดี
ยกตัวอย่างในช่วงเหตุการณ์ไวรัส Covid-19 ระบาด ทำให้หลายสโมสรมีปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง เช่น ลิเวอร์พูล ที่ทำให้ทีมไม่มีเงินซื้อนักเตะมาเสริมทัพจนแฟนบอลหลายส่วนไม่พอใจและออกมาเรียกร้องให้บอร์ดบริหารทำงานหนักกว่านี้
ทว่าเมื่อบอร์ดจะหาทางที่สโมสรจะมีรายรับเข้ามาเพื่อพัฒนาทีมอย่างการเข้าร่วมฟุตบอล ซูเปอร์ ลีก ที่เป็นลีกรวมทีมดังจากทั่วยุโรป แฟนบอลก็ออกมาด่าพวกเขาแบบสาดเสียเทเสีย จนสุดท้ายผู้บริหารสูงสุดอย่าง จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ ต้องรีบออกมาทำคลิปขอโทษต่อการตัดสินใจของตนเอง เพื่อลดอุณหภูมิความเดือดของแฟนบอลเป็นต้น
นอกจากการตัดสินใจแล้ว การวางตัวในที่สาธารณะ การพูดต่อหน้าสื่อก็ต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างสำหรับผู้บริหารคือ “ความเป็นทางการ” หากพวกเขาไม่ได้วางแผนหรือไม่ได้คิดก่อนพูด คำพูดนั้นก็จะย้อนกลับมาทำร้ายชื่อเสียงของพวกเขาหนักกว่าที่คิด และบางครั้งการลาออกก็เป็นคำตอบเดียวที่แฟนบอลต้องการ
ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ เกร็ก คลาร์ก ที่เคยนั่งตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งของตัวเองไปในปี 2020 เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของเขาไปพาดพิงและส่อไปในทางเหยียดเชื้อชาติและเพศสภาพ ในวันนั้นเขาเรียกคนผิวดำว่า “นักฟุตบอลผิวสี” (coloured footballers) และเรียกนักเตะที่เป็นชาว LGBT ว่า “เป็นเพศทางเลือก” (different career interests) หลังจากนั้นตัวของ คลาร์ก ก็พยายามขอโทษผ่านสื่อ แต่สุดท้ายความกดดันก็ถาโถมไม่หยุด จนเขาต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งไปโดยปริยาย
จะเห็นได้ว่าคนที่รับตำแหน่งผู้บริหารองค์กรคือคนที่ทำงานกดดันแบบทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ว่าจะวินาทีไหนพวกเขาก็ต้องพยายามคิด วางแผน และตัดสินใจอย่างละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด เพื่อให้องค์กรหรือวิสัยทัศน์ของทีม ตรงกับความคาดหวังของแฟนบอลให้ได้มากที่สุด
ซึ่งเรื่องนี้ยากที่สุดแบบที่คนไม่เคยลองทำก็คงไม่รู้ และสิ่งนี้ยืนยันได้จาก ดิดิเยร์ ดร็อกบา ตำนานดาวยิงของ เชลซี และทีมชาติ ไอวอรี่โคสต์
ตัวของ ดร็อกบา เคยถูกทีมบริหารสหพันธ์ฟุตบอลไอวอรี่โคสต์ (เอฟไอเอฟ) ทาบทามให้เขาเข้ามานั่งตำแหน่ง “รองประธาน” ขององค์กร โดยในตอนแรกดร็อกบาหวังจะเข้ามาพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่างด้วยความคิดในหัวที่เคยวางไว้
ทว่าเมื่อถึงหน้างานจริง เขากลับรู้ตัวว่าตนเองถูกเชิญเข้ามานั่งตำแหน่งแค่เพราะชื่อเสียงและความนิยมเท่านั้น นโยบายที่เขาพยายามนำเสนอไม่เคยถูกตอบรับเลยสักครั้ง จนเขาต้องลาออกในทันที
ซึ่งในกรณีนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่ว่าจะด้วยความอ่อนประสบการณ์ในงานด้านบริหาร หรือแม้กระทั่งการเมืองในองค์กร ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเตะหลายคนไม่เหมาะกับงานที่กดดันและต้องคิดมากในทุก ๆ การตัดสินใจเช่นนี้
ความกดดันนี้ไม่ใช่สิ่งที่หลายคนชอบแน่นอน รายละเอียดการทำงานที่ซับซ้อน การรักษาภาพลักษณ์ การระมัดระวังทุกอย่างแม้กระทั่งการพูด คือสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ตำแหน่งนักบริหารนั้นควรเป็นผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง มากกว่าการเอานักฟุตบอลอาชีพ หรืออดีตนักเตะอาชีพเข้ามาทำตำแหน่งนี้
พวกเขาทำเงินมามากมายตลอดชีวิต เจอความกดดันในสนามมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ดังนั้นเมื่อเลิกเล่น เหตุใดพวกเขาจะต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับตำแหน่งที่เหนื่อยหนัก ทั้งการใช้ความคิดและการวางตัว แถมรายได้ก็ไม่เย้ายวนพอที่จะให้เสี่ยงเข้ามาลุยในตำแหน่งนี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อดีตนักเตะบางคนก็มีเหตุผลที่ลึกซึ้งในการรับตำแหน่งผู้บริหารอยู่เหมือนกัน
ผลประโยชน์ที่แอบแฝง?
วกกลับมาที่รายของ มิเชล พลาตินี่ อีกครั้ง เขาอาจจะได้เงินเดือนราวปีละ 210,000 ยูโร และถือว่าน้อยมาก ๆ หากเทียบกับรายได้ตอนที่เขาเป็นนักเตะก็จริง แต่ปัญหาคือผลประโยชน์ที่มากกว่าเงินเดือนนั้นมีเยอะเลยทีเดียว
แม้รายได้หลักของยูฟ่าจะถูกเก็บเข้าคลังเพื่องานบริหารและพัฒนาในอนาคต แต่กลุ่มผู้บริหารองค์กรยังมีรายได้ทางอื่นอีก เช่น การยัดเงินใต้โต๊ะ, การติดสินบน ที่เป็นการทุจริต ทั้งหมดนี้หากไม่ถูกจับได้ย่อมหมายถึงเงินจำนวนมหาศาลเลยทีเดียว
พลาตินี่ ถูกคณะกรรมการจริยธรรมฟีฟ่าสอบสวน เนื่องมาจากกรณีที่นายพลาตินี่ได้รับเงินจำนวน 2 ล้านฟรังก์สวิส หรือกว่า 60 ล้านบาทจากนาย เซ็ปป์ แบลตเตอร์ ในช่วงที่เขายังเป็นประธานฟีฟ่าโดยมิชอบ ซึ่งคดีดังกล่าวลากยาวไปถึงเรื่องราวการติดสินบนในระดับฟีฟ่า จนทำให้ทั้ง แบล็ตเตอร์ และ พลาตินี่ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงอีก 9 คนต้องถูกดำเนินคดีและพ้นจากตำแหน่งที่ตัวเองเคยได้รับไปในปี 2019
ตัวอย่างของพลาตินี่ คือการเข้ามาเพื่อหารายได้จากส่วนอื่นนอกจากเงินเดือน ซึ่งถ้าไม่มีใครจับได้ก็โชคดีไป แต่สุดท้ายแล้ว เพราะการชิงเก้าอี้บริหารในองค์กรฟุตบอลระดับสูงก็ไม่ต่างจากเกมการเมืองนัก มีการแฉ มีการหักหลัง เพื่อแย่งชิงอำนาจกันไปมา มันเป็นเรื่องง่ายมากที่การทุจริตจะโดนเปิดโปง และทำให้ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบกันไปตามระเบียบ
อย่างไรก็ตาม การทำเงินในฐานะผู้บริหารนั้น ไม่จำเป็นต้องโกงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นนักเตะอย่าง เดวิด เบ็คแฮม ที่มีชื่อเป็น ซีอีโอ ของสโมสรอินเตอร์ ไมอามี ในเมเจอร์ลีกสหรัฐอเมริกา
เบ็คแฮม นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าของสโมสรเลยทีเดียว จากการลงทุนซื้อกิจการต่อจากเจ้าของเก่าอย่าง มาร์เซโล่า คลอร์ และ มาซาโยชิ ซัน ด้วยเงินกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียงแต่ว่า เบ็คแฮม นั้นไม่ได้บริหารองค์กรเอง เขายกหน้าที่ให้กับ 2 ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหุ้นส่วนอย่าง 2 พี่น้องตระกูลมาส นั่นคือ ฮอร์เก้ และ โฮเซ่
วิธีการทำงานของเบ็คแฮมคือเขาเป็นผู้ลงทุน ส่วนการลงแรงบริหารเป็นของ ฮอร์เก้ และ โฮเซ่ ซึ่งหลังจากได้เทคโอเวอร์สโมสร พวกเขาก็ทำงานเชิงกลยุทธ์ด้วยการหานักลงทุนเพิ่ม โดยปัจจุบันมีกลุ่มทุนที่ชื่อว่า Ares Management ที่ถือหุ้นสโมสรแอตเลติโก มาดริด อยู่ 33% และยังเป็นเจ้าของ แม็คลาเรน กรุ๊ป ทีมรถแข่งชื่อดัง เข้ามาลงทุนกับสโมสรเพื่อทำกำไรในระยะยาว
ตอนนี้ เบ็คแฮม ก็เหมือนคนที่ทำหน้าที่ออกสื่อเบื้องหน้าเท่านั้น แต่งานบริหารหลังบ้านทั้งหมด เขาได้จัดวางคนที่มีความรู้มีประสบการณ์โดยตรงมาคอยปวดหัวแทนเรียบร้อยแล้ว
ท้ายที่สุดมันขึ้นอยู่กับว่า การจะทำงานใดคุณรู้รายละเอียดเบื้องลึกของสิ่งนั้นดีหรือยัง ความพร้อมคือสิ่งสำคัญที่สุดในการนั่งตำแหน่งผู้บริหาร เพราะเมื่อถึงจุดนั้นแล้วคุณจะต้องพร้อมสำหรับศึกการเมืองรอบด้าน โดยพร้อมที่จะทำงานอยู่เบื้องหลังโดยที่ได้รับคำชื่นชมน้อยมาก และสุดท้ายคุณพร้อมจะทำงานที่ยากและกดดันในทุก ๆ วันหรือยัง ถ้าคุณพร้อม ต่อให้เป็นอดีตนักฟุตบอลก็สามารถหันหน้ามาสายงานบริหารได้เช่นกัน