การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน กลายเป็นปัญหาใหญ่อีกครั้งสำหรับนานาประเทศ เช่นเดียวกับในบ้านเกิดของพรีเมียร์ลีกอย่าง สหราชอาณาจักร ที่พบยอดผู้มีผลตรวจเป็นบวกอย่างน้อยวันละ 80,000 รายมานานเกือบครึ่งเดือนแล้ว
ผลกระทบในครั้งนี้เริ่มลามมาถึงวงการฟุตบอลด้วยแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการระบาดในแคมป์นักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลีดส์ ยูไนเต็ด, แอสตัน วิลล่า, วัตฟอร์ด, เลสเตอร์ ซิตี้, และ นอริช ซิตี้ ที่ส่งผลให้โปรแกรมการแข่งขันของเดือนธันวาคม ปี 2021 ถูกเลื่อนเตะไปแล้วหลายคู่ จนแฟนบอลต้องตามลุ้นสถานการณ์ทีมรักกันถึงไม่กี่ชั่วโมงก่อนแข่งเลยทีเดียว
แต่เมื่อสถานการณ์ในประเทศกำลังวิกฤตอยู่อย่างนี้ ทำไมฟุตบอลถึงยังคงเตะกันต่อไป พร้อมกับยังมีแฟนบอลเข้ามาชมเต็มสนามได้อีก ?
มาเจาะลึกดูความเคลื่อนไหวของพรีเมียร์ลีกและสโมสรต่าง ๆ แล้วมาวิเคราะห์เหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าวกันได้ในบทความนี้กับ Main Stand
ทำไมถึงยังเล่นต่อได้ ?
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม 2021 เหล่าผู้บริหารของสโมสรในพรีเมียร์ลีกได้เข้าประชุมออนไลน์ผ่านซูม เพื่อถกหาทางออกที่ดีที่สุดหลังจากหลายทีมเริ่มประสบปัญหานักเตะติดโควิดจนต้องเลื่อนการแข่งขันหรือจำต้องส่งผู้เล่นตัวสำรองกับเยาวชนลงเล่นแทน
ในการประชุมครั้งนี้ส่งผลให้แต่ละทีมมีตัวเลือกอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ 1) เล่นต่อ 2) เลื่อนเกมช่วงบ็อกซิ่งเดย์ 3) พักเบรกฤดูกาลไปก่อน
อาจจะฟังดูคล้ายว่านี่จะเป็นการโหวต แต่ข้อมูลที่ The Athletic ได้รายงานออกมาระบุว่า ตัวแทนของแต่ละสโมสร สามารถแสดงความเห็นว่าสนับสนุนรูปแบบไหนได้ แต่การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดจะยังเป็นของทางพรีเมียร์ลีกอยู่ดี
ลิเวอร์พูล และ อาร์เซน่อล เป็นสองโต้โผในการสนับสนุนให้เลื่อนเตะไปหนึ่งนัดเป็นอย่างน้อย ทว่าเสียงส่วนมากของที่ประชุมต่างต้องการให้เตะกันต่อไป ซึ่งพรีเมียร์ลีกได้ยืนยันผ่านแถลงการณ์ว่าพวกเขาจะคงตารางการแข่งขันไว้ดังเดิม “เมื่อสถานการณ์มีความปลอดภัยเพียงพอ” และยังคงติดตามสถานการณ์คำแนะนำจากสาธารณสุขของอังกฤษ พร้อมดำเนินทุกอย่างด้วยความระมัดระวังยิ่ง
คำถามก็คือ ทำไมสโมสรส่วนมากถึงตัดสินใจเตะกันต่อ ทั้งที่หลายทีมก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มาเหมือนกัน
เริ่มแรกเลยคือความสำคัญของเกมนัดบ็อกซิ่งเดย์คาบเกี่ยวต่อเนื่องมาสู่นัดที่ 20 ของฤดูกาล ซึ่งเป็นช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พอดี ที่แปลว่ารายได้จากแฟนบอลในสนาม ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และการขายสินค้าต่าง ๆ จะกลับมาเจือจุนสภาพคล่องทางการเงินของทีมได้อีกครั้ง
นอกจากนี้การตัดสินใจเลื่อนเตะนั้นไม่ต่างอะไรไปจากการทำให้ดินพอกหางหมู โดยเฉพาะกับบรรดาสโมสรใหญ่ที่มีคิวลงเตะฟุตบอลยุโรป คาราบาวคัพ หรือแม้แต่เอฟเอคัพ ซึ่งกำลังจะเริ่มรอบสามในต้นเดือนมกราคม ปี 2022 ที่แทบทำให้นักเตะหลายคนต้องลงเล่นกันแบบไม่ได้พักอยู่แล้ว และกรณีดังกล่าวยังไม่รวมช่วงพักเบรกทีมชาติ ฟุตบอลแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ ที่หลายคนต้องบินกลับไปช่วยชาติกันต่ออีก
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจเล่นต่อ นั่นคือ 92% ของนักเตะและสตาฟในพรีเมียร์ลีกได้รับวัคซีนกันมาแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งพอจะช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นระหว่างติดเชื้อและช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวกลับมาฝึกซ้อมได้รวดเร็วจนยากที่จะเกิดสถานการณ์บานปลายขึ้นมาได้
แต่โดยรวมแล้วการเล่นต่อไปแบบนี้ปลอดภัยกว่าหยุดพักหรือไม่ ?
ความปลอดภัยของนักเตะ
แน่นอนว่าเมื่อนักเตะต้องเดินทางมาลงสนาม พวกเขาก็มีโอกาสได้สัมผัสกับเชื้อโควิด-19 มากกว่าการฟิตซ้อมร่างกายอยู่ในบ้านไม่ต่างอะไรจากบุคคลธรรมดาอย่างเรา ๆ นี่แหละ
โธมัส แฟรงค์ กุนซือของ เบรนท์ฟอร์ด ได้ยื่นเรื่องขอเลื่อนการแข่งขันเกมพรีเมียร์ลีกกับคาราบาวคัพออกไป หลังจากมีบุคลากรในทีมติดเชื้อไปถึง 13 คน โดยระบุว่าการหยุดพักระยะสั้นจะสามารถช่วยให้แต่ละสโมสรฟื้นตัวกลับมาได้ ทว่า พอล ฮันเตอร์ ไม่ได้คิดเช่นนั้น
พอล ฮันเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ระบุว่า “การหยุดเตะระยะสั้นไม่ได้ทำให้โควิดหายไป ต่อให้เราสามารถแตะเบรกทั่วประเทศเป็นเวลา 2 อาทิตย์เพื่อหยุดยั้งการเติบโตของสายพันธุ์โอไมครอน แต่มันก็จะกลับมาแพร่เชื้อได้อีกเมื่อช่วงเบรกของพวกเราสิ้นสุดลง”
เจ้าตัวได้เสนอแนวทางที่อาจช่วยลดอัตราการติดเชื้อลงได้ คือจับผู้เล่นมากักตัวอยู่ในโรงแรมแบบบับเบิ้ล เหมือนในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ถึงกระนั้นแม้แต่ฮันเตอร์ยังยอมรับว่าวิธีการดังกล่าวเป็นไปได้ยากโดยเฉพาะช่วงเทศกาลเช่นนี้ กับการที่จะไม่ได้กลับไปพบปะครอบครัวของตัวเองจนกว่าสถานการณ์จะทุเลาลงหรืออาจลากยาวไปถึงช่วงปิดฤดูกาลเลย
แต่เพราะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย จึงทำให้ทางพรีเมียร์ลีกและตัวแทนจากสโมสรต่าง ๆ ได้ถือโอกาสนี้สร้างความตื่นตัวให้ทุกคนไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
เยอร์เกน คล็อปป์, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, และ อลีสซง เบ็คเกอร์ ร่วมกันออกมากระตุ้นเป็นเสียงเดียวกัน โดยเฉพาะ เฮนเดอร์สัน ผู้เป็นหนึ่งในทูตของ NHS แล้วอยู่ด้วย เช่นเดียวกับ เคลาดิโอ รานิเอรี่ และ แกเร็ธ เซาธ์เกต สองกุนซือที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงผ่านช่องทางบนโลกออนไลน์อยู่
วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส กลายเป็นสโมสรแรกของพรีเมียร์ลีกที่มีอัตราการรับวัคซีนครบ 100% และได้เข้ารับเข็มที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา
บรูโน่ ลาจ ผู้จัดการทีมของวูล์ฟแฮมป์ตันเปิดเผยว่า “ทุกคนในทีมของเราได้รับวัคซีนครบแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั้งในลีกและสังคมโดยรอบ เราต้องรับผิดชอบกับการให้ตัวเองและผู้คนรอบข้างปลอดภัย ดังนั้นเมื่อผมได้โอกาสรับวัคซีนเข็มที่สาม มันก็เป็นตัวเลือกที่ตัดสินใจได้ง่ายมาก ๆ เลย”
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่นักเตะบางรายยังตัดสินใจไม่เข้ารับวัคซีนก็คงไม่พ้นกรณีของ คริสเตียน อีริคเซ่น ที่เคยล้มลงกลางสนามในศึกยูโร 2020 จนถูกนำไปโยงกับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือกรณีของ ชาร์ลี ไวค์ นักเตะของ วีแกน แอธเลติก ที่เกิดอาการหัวใจวายระหว่างฝึกซ้อมกับทีม ก็ถูกนำไปพูดถึงเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้ผู้คนทั่วไป รวมถึงกับบรรดานักเตะบางคน
ทว่าเป็นที่ยืนยันแล้วว่าทั้ง อีริคเซ่น กับ ไวค์ ยังไม่ได้รับวัคซีนในขณะนั้น และอาการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด
“เลิกฟังพวกแสร้งทำเป็นรู้หรือให้ข้อมูลหลอกลวงได้แล้ว จงฟังคนที่เขารู้ดีที่สุด เพราะถ้าคุณทำเช่นนั้นมันจะจบลงด้วยการที่คุณไปฉีดวัคซีน” คือคำพูดของ คล็อปป์ ผู้ให้คำมั่นว่า ลิเวอร์พูล จะไม่เซ็นสัญญากับนักเตะที่ไม่ฉีดวัคซีน “ถ้านักเตะไม่ฉีดวัคซีน เขาจะเป็นภัยคุกคามต่อพวกเราทุกคน”
พรีเมียร์ลีกรับรองว่าพวกเขาจะเปิดเผยจำนวนผู้ได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2022 เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าได้ พร้อมกับมีมาตรการให้แฟนบอลต้องแสดง “โควิดพาส” หรือผลการฉีดวัคซีนหรือมีผลตรวจเป็นลบ รวมถึงต้องสวมใส่หน้ากากเพื่อการได้รับอนุญาตให้เข้าสู่สนาม เช่นเดียวกับการตรวจเชื้อให้นักเตะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฟุตบอลที่เรารักและมีคนดูอยู่ทั่วทุกมุมโลกนี้ยังดำเนินต่อไปได้
สุดท้ายนี้ วัคซีน อาจไม่ใช่ยาวิเศษที่ทำให้คุณไม่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้คุณไม่ป่วยหนักจนเป็นอันตราย และยังช่วยให้สังคมโดยรอบเข้าใกล้กับการกลับมาใช้ชีวิตในแบบที่ควรจะเป็นได้อีกครั้ง เพราะจากทั้งงานวิจัยหรือสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตที่น้อยลงจากประเทศที่มีอัตราฉีดวัคซีนสูง ต่างก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าวัคซีนคือทางออกที่ดีที่สุดแล้วในตอนนี้
เพราะคงไม่มีใครอยากให้คำว่า “เราจะตายกันหมด” จากเรื่อง Don’t Look Up กลายเป็นจริงขึ้นมาหรอก