sportpooltoday

ผลลัพธ์จากงานวิจัย : การวิ่งเพิ่มโอกาสให้ทีมฟุตบอลคว้าชัยชนะได้มากขึ้นหรือไม่


ผลลัพธ์จากงานวิจัย : การวิ่งเพิ่มโอกาสให้ทีมฟุตบอลคว้าชัยชนะได้มากขึ้นหรือไม่

“ยิ่งวิ่งมาก ยิ่งมีโอกาสชนะมาก” ความเชื่อนี้ถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการฟุตบอลทุกยุคทุกสมัย บางครั้งมันก็ถูกหักล้างด้วยแผนการอุดหน้าปากประตู แต่บางครั้งความเชื่อนี้ก็ได้ถูกยืนยันว่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง เหมือนกับที่นักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด วิ่งรวมกัน 114 กิโลเมตร ก่อนคว้าชัยชนะ 2-1 เหนือลิเวอร์พูล


ไม่มีอะไรที่ยืนยันความจริงในเรื่องนี้ได้มากกว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญ Main Stand จึงหยิบผลลัพธ์ที่ผ่านการศึกษาโดยศาสตรจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อค้นหาคำตอบว่าการวิ่งทั้งบนสนามจริงและสนามซ้อมสามารถเพิ่มโอกาสให้นักฟุตบอลคว้าชัยชนะได้จริงหรือไม่ กับคำตอบที่แสดงว่า “วิ่งเยอะได้ แต่ต้องฉลาดด้วย”

วิ่งเยอะเพิ่มโอกาสชนะ แต่ปัญหาคือสภาพร่างกาย

สิ่งหนึ่งที่แฟนบอลไม่สามารถปฏิเสธได้เลยคือ การวิ่งด้วยความเร็วสูงในระยะสั้น หรือ sprinting ได้เข้ามามีบทบาทกับกีฬาฟุตบอลอย่างมากในช่วงสิบปีหลัง เพราะอย่างที่เราเห็นกันบ่อยครั้งในลีกฟุตบอลระดับสูงของโลก การวิ่งเพรสซิ่งคู่ต่อสู้เพื่อไล่แย่งบอลอย่างเอาเป็นเอาตายตลอดช่วง 10-15 นาทีแรกของการแข่งขัน กลายเป็นเรื่องปกติของโลกฟุตบอลในปัจจุบันไปแล้ว

หากนักเตะช่วงต้นยุค 2000s วิ่งไล่บอลอย่างหนักในลักษณะดังกล่าว รับประกันว่าพวกเขาจะหมดแรงตั้งแต่ครึ่งแรกยังไม่ทันจบ แต่นักฟุตบอลในปัจจุบันกลับยังคงกดดันคู่ต่อสู้ด้วยความเร็วเท่าเดิมตลอดครึ่งแรก แสดงให้เห็นว่านักเตะเหล่านี้มีความพร้อมที่จะวิ่งในสนามแข่งขันเยอะกว่าบรรดาแข้งรุ่นพี่ เนื่องจากเทรนด์ที่เปลี่ยนไปในโลกฟุตบอลบังคับให้พวกเขาต้องเป็นแบบนั้น

มีงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ที่เปิดเผยออกมาในปี 2016 ระบุไว้ว่า นักฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกมีอัตราการวิ่งด้วยความเร็วสูงในระยะสั้นเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันนักเตะเหล่านี้ต้องยอมรับกับความเสี่ยงที่ว่า การวิ่งไล่บอลอย่างหนักเพียง 2-3 นาทีจะทำให้พวกเขาช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น 5 นาที

อธิบายสถานการณ์ข้างต้นให้เข้าใจมากขึ้น สมมติว่าคุณสั่งให้นักฟุตบอลในทีมลงไปวิ่งไล่บอลอย่างหนักราว 10 นาทีแบบไม่มีหยุดพัก พวกเขาจะกลับมาเล่นอย่างหมดแรงแบบก้าวขาแทบไม่ออกเป็นเวลา 20 นาทีหลังจากนั้น ซึ่งภาวะหมดแรงอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้แล้วแต่ความฟิตของนักฟุตบอลคนนั้น แต่จะเกิดขึ้นแน่นอนภายใน 90 นาทีของการแข่งขัน

 

ถ้าอย่างนั้นการวิ่งไล่บอลอย่างหนักอาจไม่ส่งผลดีกับทีมโดยภาพรวมหรือเปล่า เพราะอย่างที่เราเห็นกันหลายครั้งที่ทีมเล็กสามารถต่อกรกับบรรดาทีมลุ้นแชมป์ด้วยเกมเพรสซิ่งอันหนักหน่วง ก่อนจะหมดแรงในช่วงครึ่งหลังแล้วเสียประตูง่าย ๆ เหมือนเคย

คำตอบคือ ทางเลือกของบรรดาเฮดโค้ชมีเพียงสองทางเท่านั้น เพราะถ้าพวกเขาไม่วิ่งไล่บอลอย่างบ้าคลั่ง เหล่ากุนซือก็จำเป็นต้องสั่งให้นักเตะลงไปยืนแข็งเป็นหินในกรอบเขตโทษ เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้พวกเขาเสียประตูได้ หากปฏิเสธการวิ่งเพรสซิ่งอย่างดุดันอันเป็นเทรนด์ของโลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน

“ความเร็วในจังหวะการเล่นโดยทั่วไปของกีฬาฟุตบอลกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และดูเหมือนว่ามันจะกลายเป็นความเข้มข้นที่คงที่ของการแข่งขันไปแล้ว มันแสดงให้เห็นว่าคาแร็กเตอร์ของกีฬานี้ที่คุณเคยจดจำได้เมื่อหลายปีก่อนได้เปลี่ยนเป็นการวิ่งไล่บอลอย่างดุดันสลับกับช่วงเวลาพักหลังจากนั้น” แมกนี โมห์ร ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยหมู่เกาะแฟโร กล่าว

หากเปรียบเทียบกันระหว่างแทคติกอุดแหลกหรือ Park The Bus กับแทคติควิ่งสู้ฟัดเพื่อกดดันคู่ต่อสู้ เห็นได้ชัดว่าฝ่ายหลังย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะงานวิจัยของแมกนี โมห์ร ได้ยืนยันถึงความจริงที่การวิ่งอย่างดุดันได้กลายเป็นธรรมชาติของกีฬาฟุตบอลในปัจจุบัน แต่ปัญหาเดียวที่โมห์รได้เน้นย้ำไว้อย่างชัดเจนคือ การวิ่งด้วยความเร็วมหาศาลภายในระยะเวลาอันสั้นจะส่งผลเสียในระยะยาวให้นักฟุตบอลมีอาการเหนื่อยล้ามากกว่าที่ควรจะเป็น

 

งานวิจัยของโมห์รสอดคล้องกับงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ โครสทรอพ แห่งมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นเดนมาร์ก ที่ยืนยันว่า เป็นเรื่องปกติของนักฟุตบอลในยุคปัจจุบันที่จะมีอาการเหนื่อยล้าจนวิ่งไม่ออกในช่วง 20-25 นาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ซึ่งจะนำมาสู่การทำประตูอย่างมหาศาลของทั้งสองฝ่าย โดยตัวอย่างนี้มีให้เห็นแล้วในศึกยูโร 2016 ที่มากกว่า 1 ใน 4 ของทุกประตูจากทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วง 15 นาทีสุดท้ายของการแข่งขัน

การวิ่งอย่างหนักบนสนามแข่งขันจะช่วยให้ทีมฟุตบอลคว้าชัยชนะมากขึ้นหรือไม่ ? คำตอบทางทฤษฎีคือ ใช่อย่างแน่นอน เพราะงานวิจัยทั้งหมดได้สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนแล้วว่า เกมฟุตบอลที่เต็มไปด้วยการวิ่งอย่างหนักได้กลายเป็นเรื่องปกติของกีฬาชนิดนี้ในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเกมฟุตบอลที่ย่อมต้องเดินสู่ระบบการเล่นที่ดีกว่า และถือเป็นการพัฒนาตามธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้

แต่ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ร่างกายของนักกีฬายังไม่สามารถรับความเข้มข้นของการวิ่งอย่างดุดันได้ตลอด 90 นาที นำมาสู่ปัญหาแรงหมดในช่วงท้าย นี่จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมากว่าบรรดาผู้ฝึกสอนของแต่ละทีมฟุตบอลจะปรับวิธีการฝึกซ้อมของตนอย่างไรให้นักเตะมีความพร้อมกับการวิ่งอย่างหนัก และสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากการเล่นในปัจจุบันได้ครบ 90 นาที

วิ่งเยอะได้ แต่ต้องวิ่งให้ฉลาดด้วย 

สำหรับบุคคลทั่วไป แนวคิดการฝึกซ้อมที่ง่ายที่สุดหากต้องการให้นักเตะมีความฟิตมากที่สุดเมื่อแข่งขันจริงคงหนีไม่พ้น “วิ่งให้เยอะที่สุดบนสนามฝึกซ้อม” เพราะการวิ่งแบบอึดถึกทน (ยกตัวอย่างเช่น การวิ่งรอบสนาม 10 รอบ) ย่อมสร้างความทนทานให้กับนักฟุตบอลตามความคิดของใครหลายคน เหมือนกับที่บรรดานักวิ่งระยะไกลเพิ่มความทนทานของตัวเองผ่านการฝึกวิ่งเป็นระยะเวลานานแบบเนิ่น ๆ

แนวคิดดังกล่าวที่เชื่อว่าการวิ่งระยะทางไกลจะช่วยเพิ่มความอึดของนักฟุตบอลได้ถือเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในกลุ่มคนทั่วไปโดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลมากนัก ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ที่มักจะยกมาเปรียบเทียบกันเสมอว่านักฟุตบอลสามารถวิ่งเป็นระยะทางไกลเช่นเดียวกับนักวิ่งอาชีพได้หรือไม่ ?

คำตอบที่ชัดเจนในกรณีนี้มีเพียงคำตอบเดียวเท่านั้นคือ … ไม่ได้โดยเด็ดขาด และการฝึกซ้อมนักฟุตบอลให้มีความฟิตด้วยการวิ่งเป็นระยะทางไกลถือเป็นแนวคิดที่ผิดมหันต์และจะไม่ส่งผลดีอะไรต่อนักฟุตบอลเลย นอกเสียจากจะเป็นการเพิ่มความเหนื่อยล้าให้แก่นักกีฬาขึ้นไป ทั้งยังส่งผลเสียต่อร่างกายของนักฟุตบอลในระยะยาวอีกด้วย

เหตุผลที่การวิ่งระยะทางไกลหรือการซ้อมแบบ “วิ่งให้เยอะไว้ก่อน” จะไม่ส่งผลดีกับนักฟุตบอล เป็นเพราะธรรมชาติของการวิ่งในกีฬาฟุตบอลคือการวิ่งด้วยความเร็วสูงภายในระยะเวลาและระยะทางที่สั้น ซึ่งแตกต่างจากการวิ่งของนักวิ่งระยะไกลที่เน้นความทนทานภายใต้ความเร็วคงที่เป็นระยะเวลานาน ดังนั้นแล้วการวิ่งระยะทางไกลจะส่งผลกับนักฟุตบอลในทางตรงกันข้าม คือจะทำให้ร่างกายของพวกเขาอ่อนแอลงและมีความเร็วตกลงไปจากที่ควรจะเป็น

 

ความจริงที่ต้องย้ำเตือนกันให้หนักคือ ถึงแม้กีฬาฟุตบอลในปัจจุบันจะต้องพึ่งพาการวิ่งของนักฟุตบอลมาก แต่ลักษณะการวิ่งของพวกเขาไม่ต่างจากลูกโบว์ลิ่งที่พุ่งไปด้วยความเร็วสูง เมื่อบวกกับความจริงที่นักฟุตบอลยังต้องใช้พละกำลังไปกับการเคลื่อนไหวด้านอื่น เช่น การกระโดดเพื่อแย่งบอลหรือความแข็งแกร่งในการเข้าปะทะเพื่อแย่งบอล การฝึกซ้อมโดยเน้นไปที่การวิ่งเป็นระยะทางไกลจึงไม่สามารถนำมาปรับใช้กับกีฬาฟุตบอลได้เลย

ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปยังโจทย์สำคัญคือการจะทำอย่างไรให้นักฟุตบอลสามารถวิ่งได้อย่างต่อเนื่องครบ 90 นาทีแทนจะเป็น 70 นาที จะพบว่าวิธีการที่เหล่าผู้ฝึกสอนควรใช้ในการฝึกซ้อมคือการปรับร่างกายของนักเตะให้สามารถรับมือกับช่วงเวลาการวิ่งอย่างหนักสลับกับช่วงเวลาพักอย่างลงตัว ดังนั้นแล้วการโฟกัสไปกับการฝึกซ้อมที่เน้นการวิ่งระยะทางสั้นแต่เพิ่มประสิทธิภาพของการสปรินต์ให้มีไดนามิกมากขึ้นจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกว่า

มีวิธีการฝึกซ้อมมากมายที่สามารถช่วยให้นักฟุตบอลรับมือกับความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันได้ดี ไม่ว่าจะเป็น การวิ่งระยะ 5 หลา, การวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดภายในเวลา 2 หรือ 5 นาที, การวิ่งรอบสนาม 2 รอบ สลับกับการพักยาว 2 นาที, การฝึกซ้อมด้วยเกม 5 ต่อ 5 และการเล่นเวตโดยใช้น้ำหนักน้อยแต่เพิ่มจำนวนครั้งแทน

เห็นได้ชัดว่าการฝึกซ้อมทั้งหมดจะโฟกัสไปที่การเพิ่มความเข้มข้นของการวิ่งภายในช่วงระยะเวลา ซึ่งการฝึกซ้อมในลักษณะนี้สอดคล้องกับประสบการณ์ของเทรนเนอร์คนหนึ่งที่เคยทำงานกับสโมสรเชลซี ในช่วงปี 2008-2011 ที่ยืนยันว่าทีมฟุตบอลระดับสูงที่ลงเล่นแชมเปี้ยนส์ลีกเป็นประจำจะโฟกัสไปยังการฝึกให้นักเตะวิ่งในช่วงเวลาหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องฟิตเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดทั้งเกม

 

“ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่คุณสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของผมคือ เราจำเป็นต้องโฟกัสไปที่การฝึกซ้อมให้นักเตะพร้อมกับช่วงเวลาสำคัญที่สุดของแมตช์ ไม่ใช่การโฟกัสตลอดทั้งเกม” อดีตเทรนเนอร์ของเชลซี กล่าวกับ sciencenordic

การซ้อมโดยเน้นความเข้มข้นในการวิ่งของนักเตะโดยเลือกช่วงเวลาได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานักเตะและระบบการเล่นของสโมสรระดับสูงในปัจจุบัน เห็นได้ชัดจากการที่ศาสตราจารย์โครสโทรพซึ่งเป็นคนแรก ๆ ในวงการที่นำเสนอเรื่องกล้ามเนื้อกับการฝึกซ้อมของนักฟุตบอลได้ถูกว่าจ้างโดย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพื่อให้ป้อนข้อมูลงานวิจัยของเขาแก่สโมสร ทัพเรือใบสีฟ้าจึงสามารถหาวิธีฝึกซ้อมนักเตะอย่างถูกต้อง และนำมาสู่ความสำเร็จมากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันที่แสดงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การวิ่งให้เยอะในสนามแข่งขันช่วยเพิ่มโอกาสคว้าชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอลได้จริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะวิ่งแบบอึดทึกถนแล้วผลลัพธ์จะตามมาโดยทันที ท้ายที่สุดการฝึกซ้อมของนักเตะจะต้องเกิดขึ้นผ่านการวางแผนอย่างรอบคอบและใส่ใจทุกรายละเอียดที่สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ เมื่อนั้นการวิ่งอย่างเข้มข้นซึ่งแลกมากับความเหนื่อยล้าอย่างมหาศาลจึงจะไม่สูญเปล่า และนำมาสู่ชัยชนะอย่างที่ต้องการในที่สุด