“ผมขอยกเครดิตทั้งหมดให้กับผู้ช่วยของผมอย่าง ปีเตอร์ คราเวียตซ์ และแผนกวิเคราะห์เกมที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา”
นี่คือสิ่งที่ เยอร์เกน คล็อปป์ กุนซือของ ลิเวอร์พูล กล่าวหลังจากทีมเอาชนะ อินเตอร์ มิลาน 2-0 ในเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยประตูปลดล็อกมาจากลูกตั้งเตะที่เป็นหน้าที่วางแผนโดย ปีเตอร์ คราเวียตซ์
และวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของชายคนที่คล็อปป์ เรียกเขาว่า “ดวงตา” (The Eyes) คนนี้สำคัญกับลิเวอร์พูลขนาดไหน เขาทำให้หงส์แดงเปลี่ยนจากทีมที่มีจุดอ่อนในการเล่นและรับมือกับลูกตั้งเตะมาเป็นทีมที่มีจุดแข็งด้านนี้แทนได้อย่างไร ?
ติดตามได้ที่ Main Stand
ดวงตาที่เห็นปัญหา
เยอร์เกน คล็อปป์ และ ปีเตอร์ คราเวียตซ์ เริ่มรู้จักกันครั้งแรกในสมัยที่พวกเขายังอยู่ในทีม ไมนซ์ 05 ย้อนกลับไปเวลานั้น คล็อปป์ ยังเป็นนักเตะตำแหน่งกองหลังและกัปตันทีมของไมนซ์ ขณะที่ คราเวียตซ์ นั้นเป็นหนึ่งในสตาฟโค้ช สมัยที่ทีมยังคงเล่นอยู่ในลีกรองของเยอรมันอยู่เลย
ทั้งสองมีทางเดินบนสายลูกหนังที่แตกต่างกันอยู่บ้าง คล็อปป์ นั้นถือว่าเป็นนักเตะฝีเท้าดีระดับหนึ่ง ผ่านเกมระดับอาชีพมาก็ไม่น้อย ขณะที่ คราเวียตซ์ นั้นก็เคยหวังว่าตัวเองจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพกับเขาเหมือนกัน เพียงแต่ว่าคนบางคนไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนั้น และเขาก็รู้ตัวว่าเขาอาจจะไม่เหมาะกับการเป็นนักฟุตบอลที่ดีได้
“จริง ๆ ผมเป็นคนกระตือรือร้นมาก ๆ ที่จะเป็นนักเตะอาชีพ แต่ฝีเท้าและพรสวรรค์ของผมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ผมอาจจะเริ่มต้นกับมันช้าเกินไปหรืออะไรก็ตาม แต่ผมพูดได้เลยว่าผมอยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพจริง ๆ เพราะผมรักเกม ๆ นี้ตั้งแต่แรกเจอ”
แม้จะไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอย่างที่หวัง แต่ความชอบก็ผลัก คราเวียตซ์ ให้เดินบนเส้นทางสายฟุตบอลในสถานะ “โค้ช” อย่างรวดเร็ว เขาเริ่มมันตั้งแต่วัย 16 ปี โดยทำหน้าทีมเป็นโค้ชทีมเยาวชนอายุ 5-6 ขวบ
แน่นอนว่างานคุมบอลเด็กไม่ได้ทำให้เขามีชื่อเสียงอะไรมากนัก แต่มันก็เป็นการเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้ว่าความชอบของเขาคืออะไร และบทบาทไหนที่เหมาะกับตัวเอง
“ผมชอบงานโค้ชทันที ผมทำงานหนักและแสดงผลงานออกมา ผมต้องอธิบายวิธีการเล่น กระตุ้นเด็ก ๆ และแบ่งปันแพชชั่นในฟุตบอลให้กับพวกเขา ความชอบนั้นส่งให้ผมพยายามสอบใบอนุญาตโค้ชครั้งแรกตอนอายุ 18 ปี ผมทำมันไปพร้อม ๆ กับการเรียน ผมตั้งใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยไมนซ์ โดยเลือกเรียนเกี่ยวกับกีฬาโดยเฉพาะ แน่นอนว่าวิชาเอกของผมก็ต้องเป็นฟุตบอลอย่างไม่ต้องสงสัย”
นั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด การเรียนจบคณะที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ด้านกีฬาโดยเฉพาะทำให้ คราเวียตซ์ ได้รับการติดต่อจาก ไมนซ์ 05 สโมสรอาชีพที่ต้องการให้เขาเข้ามาเป็นนักวิเคราะห์เกมจากวิดีโอ ซึ่งตอนนั้นเองที่ความสัมพันธ์ของเขาและ เยอร์เกน คล็อปป์ ได้เริ่มขึ้น
อย่างที่กล่าวไว้ คล็อปป์ เป็นกัปตันทีมของ ไมนซ์ และหลังจากที่ คราเวียตซ์ เข้ามาวิเคราะห์เกมให้กับทีมชุดใหญ่ จุดอ่อนแรกที่เขาพบในทีมคือตำแหน่งแบ็กขวา และคนที่รับตำแหน่งนั้นก็คือ คล็อปป์ เองนั่นแหละ
ทั้งคู่เริ่มต้นกันด้วยความบาดหมาง คล็อปป์ เองก็ไม่ค่อยพอใจนักกับการโดนวิจารณ์จากผู้มาใหม่ แต่ที่สุดแล้ว คล็อปป์ ก็คือ คล็อปป์ เขาคือคนที่ยึดมั่นใน “ข้อเท็จจริง” การวิจารณ์ด้านลบของ คราเวียตซ์ ที่มีต่อเขาถูกขยายความและอธิบายเป็นข้อ ๆ อย่างละเอียด และนั่นทำให้ คล็อปป์ ตาสว่างและเชื่อมั่นในการทำงานของ คราเวียตซ์ นับตั้งแต่เวลานั้น
จากการวิจารณ์ครั้งแรก คล็อปป์ ก็กลายเป็นคนที่ต้องมาถาม คราเวียตซ์ เองว่าเขายังขาดตกบกพร่องตรงไหน ต้องแก้ปัญหาอย่างไร จากนั้นทั้งคู่ก็ทำงานด้วยกันบ่อยขึ้น และช่วงเวลาที่จะได้กลายมาเป็น “เพื่อนร่วมงานที่แท้จริง” ก็เกิดขึ้น หลังจากที่ คล็อปป์ ประสบปัญหาบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเป็นนักเตะอาชีพต่อได้
คล็อปป์ เริ่มเรียนหลักสูตรโค้ชและได้กลับมาคุมทีม ไมนซ์ อีกครั้งในหลายปีต่อมา และสิ่งที่เขารอคอยก็มาถึง นั่นคือในวันที่เขาเป็นนายใหญ่ เขามี คราเวียตซ์ เป็นคนข้างกาย เป็นเหมือนคนที่มองปัญหาภาพรวมของทีมได้อย่างเฉียบขาด นั่นคือสาเหตุที่คล็อปป์เรียก คราเวียตซ์ ว่า “The Eyes” ที่เป็นการเปรียบเทียบว่า คราเวียตซ์ เป็นเหมือนดวงตาของเขานั่นเอง
ทั้งคู่ทำงานด้วยกันที่ ไมนซ์ ต่อยาวจนกระทั่งมาถึงปีที่แสนมหัศจรรย์กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เรียกได้ว่า คราเวียตซ์ คือเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจของ คล็อปป์ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะตัวของ คล็อปป์ ก็มีอิทธิพลกับ คราเวียตซ์ เป็นอย่างมากในการตัดสินใจอะไรต่าง ๆ โดยในปี 2015 ที่ คล็อปป์ ลาออกจาก ดอร์ทมุนด์ คราเวียตซ์ ก็ประกาศลาออกด้วยพร้อม ๆ กัน โดยทั้งคู่ได้คุยกันว่าจะกลับมาร่วมงานกันใหม่ในอนาคต โดยพวกเขาจะให้เวลาตัวเองได้พักผ่อน 1 ปี จากนั้น คล็อปป์ จะเริ่มรับงานคุมทีมอีกครั้ง
แล้วก็อย่างที่รู้กันฝีมือและดีกรีของ คล็อปป์ นั้นโด่งดังไปทั่วยุโรป ในช่วงที่เขาว่างงานทีมไหนก็อยากได้ตัวเขาทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลิเวอร์พูล ที่ต้องการสร้างยุคสมัยใหม่ของพวกเขาเอง
เมื่อ คล็อปป์ ได้รับการติดต่อจากบอร์ดบริหารของหงส์แดง เขาโทรไปบอกกับ คราเวียตซ์ ว่า “ช่วงพักร้อนของเราหมดลงแล้วพวก” หลังจากเวลาผ่านไปแค่ 3 เดือนเท่านั้น
ทั้งคู่กลับมาเจอกันอีกครั้งที่ ลิเวอร์พูล ยักษ์หลับที่มีปัญหาให้แก้ไขมากมายเกินนับนิ้ว แต่ยิ่งปัญหาเยอะเท่าไหร่ เราก็จะได้เห็นความสามารถในการเป็นดวงตาของทีมจาก คราเวียตซ์ มากขึ้นเท่านั้น
แก้ปัญหาด้วยปัญญา
“ผมมันงี่เง่าจริง ๆ ที่คิดว่าเราจะได้หยุดสักปี” คราเวียตซ์ บอกแบบนั้นในตอนที่ คล็อปป์ บอกว่าเป้าหมายต่อไปของเขาคือ ลิเวอร์พูล
แม้จะสองจิตสองใจว่าจะตามไปด้วยดีหรือไม่ เพราะตอนนั้น คราเวียตซ์ วางแผนพักร้อนไปเที่ยว กรีซ และ สเปน กับครอบครัวไว้แล้ว นอกจากนี้ยังเตรียมย้ายบ้านจาก ดอร์ทมุนด์ กลับมาที่ ไมนซ์ อีกครั้งเพราะต้องการส่งลูกชายเข้าโรงเรียนด้วย
แน่นอนแม้จะอิดออด แต่เขาก็รู้ดีว่าคนบ้าฟุตบอลอย่างเขาต้องการอะไร พักร้อนหรืองานที่ท้าทายที่สุดในชีวิต ? คำตอบง่ายนิดเดียว เขารู้ ทุกคนรู้ สุดท้ายแล้ว คราเวียตซ์ ก็ตามคล็อปป์ มาที่ ลิเวอร์พูล และเริ่มโปรเจ็กต์สร้างความสำเร็จที่ห่างหายไปนานแสนนานให้กับสโมสรแห่งนี้
ทั้งคู่เริ่มงมปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันมากมาย ทั้งการโละนักเตะที่ไม่ตรงสเปคการใช้งาน, หานักเตะที่ตอบโจทย์การทำทีม, สร้างระบบการเล่นและความเข้าใจแก่ผู้เล่น รวมถึงการแก้ไขทัศนคติของทุก ๆ คนในทีม
ความไม่แน่นอนคือปัญหาของ หงส์แดง มาโดยตลอด บางครั้งพวกเขาก็ชนะเกมใหญ่ ๆ ด้วยฟอร์มสวย ๆ แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็แพ้ทีมเล็ก ๆ ท้ายตารางแบบไร้พิษสง และประตูส่วนใหญ่ที่เสียก็มักจะมาจากจังหวะหากินของฟุตบอลอังกฤษ นั่นคือการเล่นเซ็ตพีซ ซึ่งจุดนี้คนที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลและส่งต่อให้คล็อปป์ ก็คือ คราเวียตซ์ นั่นเอง
ในช่วงแรก ๆ ที่ คล็อปป์ เข้ามาทำทีม ลิเวอร์พูล คือทีมระดับท็อป 6 ที่เสียประตูมากที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นลูกโด่ง ลูกเตะมุม หรือลูกฟรีคิกอยู่บ่อย ๆ อดัม ลัลลาน่า นักเตะของทีม ณ เวลานั้นยังเคยยอมรับว่า นี่คือข้อเสียของทีมที่กัดกินทีมมาเป็นระยะเวลานานและต้องพยายามแก้ไขกันให้ได้
“มันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อต้องเสียประตูจากลูกตั้งเตะอีกแล้ว … มันไม่มีอะไรต้องปิดบังว่าเราปล่อยให้เสียประตูในลักษณะนี้ง่ายเกินไป เรารู้ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งไหนโดยเฉพาะหรอก เราทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน” ลัลลาน่า กล่าว เมื่อปี 2015
แม้การจะหาสถิติย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อนจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็เชื่อว่าใครที่ติดตามฟุตบอลอังกฤษ โดยเฉพาะ ลิเวอร์พูล อย่างใกล้ชิด น่าจะยังจำปัญหาของ หงส์แดง ตอนนั้นได้ดี ทีมเล็ก ๆ ชอบเล่นกับพวกเขามาก และทุกทีมก็จะเล่นวิธีเดียวกันคือปล่อยให้ ลิเวอร์พูล บุกเข้าใส่ โดยทีมเล็ก ๆ จะอุดในแดน 10 หรือ 11 คน จากนั้นเมื่อได้สวนกลับก็จะใช้วิธีบอมบ์ขึ้นหน้า ซึ่งบ่อยครั้ง หงส์แดง ก็ออกอาการลนลานจนเสียประตูอยู่เป็นประจำ
คราเวียตซ์ เริ่มแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีที่ตัวเองถนัดที่สุด นั่นคือการศึกษาข้อผิดพลาดจากอดีต เขาเปิดเทปวิดีโอประตูที่เสียจากลูกโด่งหรือลูกเซ็ตพีซซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แม้จะต้องใช้เวลาแต่เขาก็ชี้ให้ผู้เล่นแต่ละคนเห็นปัญหาว่าทำไมทีมถึงเสียลูกตั้งเตะง่าย ๆ และเป็นประตูบ่อย ๆ โดย คราเวียตซ์ บอกว่าทุกส่วนล้วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด และมันก็ไม่ใช่งานของเขาคนเดียว เพราะทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีขึ้น
นักโภชนาการต้องจัดแจงอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่จะทำให้นักเตะมีร่างกายแข็งแรง มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้น ช่วยให้ทนทานแรงเบียดแรงปะทะได้ดีขึ้น ซึ่งจุดนี้พวกเขาจะต้องทำงานร่วมกับหัวหน้าฝ่ายฟิตเนส
การมองเห็นปัญหารายคนและแจ้งปัญหาให้โค้ชที่รับผิดชอบเฉพาะได้รับรู้ ยกตัวอย่างเช่น คราเวียตซ์ จะสั่งงานและปรึกษากับโค้ชผู้รักษาประตูของ ลิเวอร์พูล ที่ชื่อว่า แจ็ค โรบินสัน และ จอห์น แอชเตอร์เบิร์ก (John Achterberg) อยู่เสมอ เพื่อหาวิธีให้ผู้รักษาประตูมีอิทธิพลมากขึ้นเวลาทีมเสียลูกตั้งเตะ
การช่วยกันศึกษาหานักเตะที่เหมาะกับการเป็นหัวใจในการเล่นลูกตั้งเตะให้ดีขึ้นจนกระทั่งได้ โจเอล มาติป, เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค และ อลีสซง เบ็คเกอร์ ที่ช่วยให้ทีมมีความแข็งแกร่งในลูกกลางอากาศมากขึ้น
ขณะที่การยืนตำแหน่งที่เป็นปัญหาที่สุด คราเวียตซ์ และทีมงานของเขาจะต้องแก้ไขให้ทุกคนยืนตำแหน่งให้ถูกต้อง ซึ่งการยืนตำแหน่งให้ถูกต้องก็ต้องเกิดจากการศึกษาวิธีการเล่นลูกตั้งเตะของคู่แข่งก่อน ว่าชอบเล่นแบบไหน มีนักเตะคนไหนเป็นตัวหลอก คนไหนเป็นตัวชน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ คราเวียตซ์ และทีมงานของเขาวิเคราะห์ผ่านวิดีโอทั้งสิ้น
ไม่ใช่แค่ลูกตั้งเตะเท่านั้น แม้กระทั่งลูกทุ่ม คราเวียตซ์ ก็เป็นคนที่แนะนำให้ คล็อปป์ ดึงโค้ชที่เชี่ยวชาญเรื่องการเล่นลูกทุ่มอย่าง โธมัส กรอนเนมาร์ก (Thomas Gronnemark) เข้ามาสู่ทีม
เราอาจจะบอกไม่ได้ว่าลงลึกกว่านี้ เขาลงไปชี้ไปสั่งนักเตะและมีวิธีวิเคราะห์แบบไหน แต่ที่แน่ ๆ คราเวียตซ์ มีหน้าที่ต้องสื่อสารกับทั้งโค้ช นักเตะ และทีมงานมากกว่า 40 ชีวิต การสื่อสารเหล่านี้คืองานยากที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ คราเวียตซ์ ทำเพื่อให้ปัญหาการเล่นเซ็ตพีซของลิเวอร์พูลหมดไป
ซึ่งตอนนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่า ลิเวอร์พูล กลายเป็นทีมที่เสียประตูจากลูกตั้งเตะน้อยลงมาก ตอนนี้พายุลูกโด่งที่ทีมเล็ก ๆ ใช้กับ หงส์แดง มักจะกินพวกเขาไม่ได้ง่ายๆ อีกต่อไป ยิ่งเฉพาะเวลาที่ตัวหลักอยู่กันครบ แนวรับอย่าง ฟาน ไดจ์ค, มาติป รวมถึงตัวรับอย่าง ฟาบินโญ่ เราจะเห็นการเก็บกินแบบนิ่ม ๆ แบบ ฟาน ไดจ์ค ชี้, มาติป ขึ้น และ ฟาบินโญ่ รอเก็บจังหวะสอง แบบนี้อยู่เป็นประจำ
เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง
แดนนี่ ฮิกกินบอตแฮม อดีตนักเตะของ สโต๊ก ยุคที่ทีมช่างปั้นหม้อเป็นเทพลูกนิ่ง ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นกูรูฟุตบอล ได้ให้สัมภาษณ์กับ Sky Sports ถึงการเล่นเซ็ตพีซของลิเวอร์พูลว่า นับวันทีมก็ยิ่งแก้จุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งได้ดีขึ้น โดย ณ เวลาที่ ฮิกกินบอตแฮม ให้สัมภาษณ์ เป็นช่วงฤดูกาล 2018-19 ที่ ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์ยุโรป ก่อนท็อปฟอร์มต่อเนื่องด้วยการคว้าแชมป์ลีกแบบทิ้งทีมอื่นเป็นทุ่งในซีซั่นถัดมา
“คุณสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงในการยืนตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของนักเตะลิเวอร์พูลได้เลย ชัดที่สุดก็ ฟาน ไดจ์ค ที่ทำได้ดีมาก ๆ ในการเล่นลูกกลางอากาศ เขาทำให้พื้นที่ความเสี่ยงในการเสียประตูแคบลูก เพราะทุกคนรู้ว่าใครจะเป็นคนขึ้นเล่นลูกโด่งในจังหวะต่าง ๆ ของเกม”
“ฟาน ไดจ์ค คือคนที่ทำให้เห็นเลยว่าทุกอย่างในการเล่นเซ็ตพีซของ ลิเวอร์พูล เป็นธรรมชาติมาก มันสุดยอดจริง ๆ ไม่ใช่แค่การชี้นิ้วสั่งหรือตะโกนบอกเพื่อนร่วมทีมให้ยืนตำแหน่งอย่างเดียวหรอกนะ เขาจัดการมันได้หมดจดเลย”
“เมื่อมันเป็นแบบนั้นสิ่งที่คุณจะได้คือนักเตะที่รู้หน้าที่ของตัวเองว่าต้องทำอะไรบ้าง พอทุกคนมีความเข้าใจ มันก็แปรเปลี่ยนเป็นความมั่นใจ นับวันพวกเขาก็ยิ่งทำให้สิ่งเหล่านี้แข็งแกร่งมากขึ้น” ฮิกกินบอตแฮม ว่าไว้เช่นนั้น
แม้เขาจะไม่ได้พูดชื่อ คราเวียตซ์ ออกมา แต่ทั้งหมดในสนามแข่งก็สะท้อนว่ามาจากการฝึกซ้อมทั้งสิ้น … และงานของ คราเวียตซ์ ยังไม่จบแค่นั้น เขายังทำงานหนักมากขึ้นไปอีกหลังจากกลบจุดอ่อนได้แล้ว เขายังพัฒนามันไปอีกขั้นจนเซ็ตพีซกลายเป็นของชอบของลิเวอร์พูลในการเล่นเกมรุกไปเรียบร้อยแล้ว
ความมั่นใจในการตั้งรับคือบ่อเกิดแห่งการเล่นเกมรุกแบบไม่ต้องพะวักพะวงอะไร การหาวิธีทำประตูจากลูกตั้งเตะก็มาจากชุดข้อมูลที่ คราเวียตซ์ และทีมของเขาส่งไปให้ คล็อปป์ ทั้งสิ้น ตอนนี้ก็อย่างที่ทุกคนเห็น คุณไม่สามารถเดาได้เลยว่าใครจะเป็นคนเล่นลูกโหม่งในจังหวะที่ทีมได้เป็นฝ่ายรุกตอนเล่นเซ็ตพีซ ฟาน ไดจ์ค, มาติป, โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่, ฟาบินโญ่, ซาดิโอ มาเน่, ดิโอโก้ โชต้า หรือแม้กระทั่งนักเตะตัวเล็กอย่าง โมฮาเหม็ด ซาลาห์ … นี่คือรายชื่อนักเตะที่เคยทำประตูได้จากการเล่นเซ็ตพีซในจังหวะเกมรุกของ หงส์แดง มาแล้วทั้งสิ้น
“ผมจะบอกก่อนว่าผมไมได้เปรียบเทียบสโต๊กของผมกับลิเวอร์พูลยุคนี้หรอกนะ แต่พวกเราเหมือนกันตรงวิธีคิดและผลลัพธ์ … ลิเวอร์พูล กลายเป็นทีมที่เล่นเซ็ตพีซด้วยความมั่นใจ พวกเขามีนักเตะ 4-5 คนที่ยิงได้จากลูกเซ็ตพีซ ยิ่งได้ลูกเปิดที่แม่นยำของ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลยทีเดียว” นี่คือสิ่งที่ ฮิกกินบอตแฮม พูดถึงลูกตั้งเตะฝ่ายรุกของหงส์แดงเมื่อ 2 ปีก่อน และภาพเหล่านั้นก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้
ทั้งหมดนี้คือหน้าที่ของ “ดวงตา” ของ คล็อปป์ อย่าง คราเวียตซ์ ที่ทำให้สิ่งที่ยอดเยี่ยมเกิดขึ้นได้ภายในทีมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนกลายเป็นทีมหัวแถวของโลก แม้ตัวของ คราเวียตซ์ จะไม่ได้พูดคุยกับสื่อมากนักแต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะ คล็อปป์ มักจะพูดถึงและให้เครดิตเขาอยู่เสมอ
อาทิ เกมล่าสุดกับ อินเตอร์ มิลาน ที่หงส์แดงเจียนอยู่เจียนไป แต่ก็ได้ประตูนำจากลูกเซ็ตพีซที่ ฟีร์มิโน่ โหม่งเข้าไปที่ช่วยให้ทีมชนะไปได้ 2-0 คล็อปป์ ก็ยังพูดถึง คราเวียตซ์ ในการให้สัมภาษณ์หลังเกมว่า
“ผมขอยกเครดิตทั้งหมดให้กับผู้ช่วยอย่าง ปีเตอร์ คราเวียตซ์ และแผนกวิเคราะห์เกมที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา … พวกเราเน้นในรายละเอียดต่าง ๆ ของการเล่นลูกเซ็ตพีซมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะลูกเตะมุม หากไม่มีการวิเคราะห์และฝึกซ้อมอย่างละเอียดเข้มข้นจาก ปีเตอร์ ล่ะก็ คงยากที่จะเอาชนะ อินเตอร์ ได้แน่ ๆ เขากับทีมงานจึงสมควรได้รับเครดิตไปเต็ม ๆ” นี่คือสิ่งที่ คล็อปป์ กล่าวกับ BT Sport เมื่อวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เพราะปัญหามีไว้ให้แก้ แต่จะดีแค่ไหนหากคุณได้คนที่จริงจัง มีความรู้ และทุ่มเทกับการแก้ปัญหานั้นมาทำหน้าที่ ปีเตอร์ คราเวียตซ์ แสดงให้เห็นว่าหากคุณได้คนที่มีความถนัดตรงกับงานที่ทำ บางครั้งไม่ใช่แค่ปัญหาที่มีจะหมดไป แต่ปัญหานั้นจะถูกต่อยอดจนถึงขั้นกลายเป็นอาวุธใหม่เลยก็เป็นได้