เมื่อพูดดาร์บี้อันดับต้น ๆ ในฟุตบอลอังกฤษ เชลซี vs ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ อาจไม่ใช่คู่แรกที่คุณนึกถึง แต่ถ้าคุณนึกภาพเกมที่พวกเขาลงสนามดวลกันแต่ละนัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคุณอาจจะเริ่มเอะใจได้บ้างว่าทำไมทั้งสองทีมจึงใส่กันไฟแลบ และมีประเด็นหลังเกมเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้
นี่คือเรื่องราวความเป็นอริที่ก่อตัวขึ้นมาในช่วง 50 ปีหลัง จากเกมนัดชิง เอฟเอ คัพ ท่ามกลางความวุ่นวายของแฟนบอลกว่า 1 แสนคน มาจนถึงการเตะกันยับ และการจับมือของ อันโตนิโอ คอนเต้ และ โทมัส ทูเคิล … พบกับเบื้องหลังของความขัดแย้งที่ไม่ธรรมดาของทั้งสองทีม
ติดตามทั้งหมดได้ที่ Main Stand
การขึ้นมาเป็นอริหมายเลข 1
คุณอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวความบาดหมางของทีมอย่าง สเปอร์ส และ อาร์เซนอล จากการเป็นทีมร่วมเมือง หรือ เชลซี และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มาจากการเป็นคู่แข่งเบียดแย่งแชมป์กันในช่วงกลางยุค 2000s แต่จากการสำรวจของสื่ออย่าง The Athletic ที่ได้ถามแฟนเชลซีว่า “ทีมไหนที่พวกเขาเกลียดที่สุด” คำตอบที่ได้คือ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เหนือกว่าทีมร่วมลอนดอนเหนืออย่าง อาร์เซนอล หรืออดีตผู้เคยร่วมขับเคี่ยวอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด
ถ้าจะถามว่าทำไมอยู่ดี ๆ สเปอร์สและเชลซีถึงเกลียดกัน ? เรื่องนี้คงตอบไม่ได้เพราะทั้งสองไม่ได้เกลียดกันมาตั้งแต่ก่อตั้ง เหมือน แมนฯ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล กับ สเปอร์ส, มิลวอลล์ กับ เวสต์แฮม หรือคู่อริอีกหลายคู่ที่หลายคนรู้กัน เรื่องของ เชลซีและสเปอร์สมันเป็นการก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ และการสะสมความไม่ชอบขี้หน้ากันไปทีละนิด จนกระทั่งสุดท้ายพวกเขาต่างยกให้อีกฝ่ายกลายเป็น “เบอร์ 1” ในแง่ลบของกันและกัน
สเปอร์ส ก่อตั้งสโมสรมาตั้งแต่ปี 1882 และเป็นทีมที่มีชื่อของอังกฤษมานานนม ก่อนเกิดเรื่องกับเชลซีพวกเขาคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ 1901 และ 1921 ก่อนที่จะประสบความสำเร็จกวาดแชมป์มากมายในช่วง 1950s นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแฟนบอลสเปอร์สจึงเดินยืดในลอนดอนและสร้างอริเอาไว้มากมาย
ขณะที่ฝั่ง เชลซี นั้นก่อตั้งในปี 1905 เรียกได้ว่าก่อตั้งสโมสรหลังสเปอร์สเกือบ 30 ปี … ตลอดระยะเวลาช่วงแรก ๆ เชลซีไม่ใช่ทีมที่เก่งกาจนัก พวกเขาไม่เคยคว้าแชมป์รายการใด ๆ ได้เลยจนกระทั่งมาได้แชมป์ดิวิชั่น 1 ในปี 1955 ก่อนจะมีแชมป์รายการอื่น ๆ ตามมา ช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเวลาที่แฟนเชลซีเริ่มมีบทบาทและมีปากมีเสียงมากขึ้น พวกเขามองไปยังการเป็นหมายเลข 1 แห่งกรุงลอนดอน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ไม่ใช่ประเด็น การแสดงตัวในฐานะแฟนบอลของทีมที่เจ๋งที่สุดในเมืองย่อมนำมาซึ่งการสร้างความไม่พอใจให้อีกฝั่ง ซึ่งนั่นคือสิ่งที่แฟนสเปอร์สรู้สึกว่าแฟนของเชลซีนั้นคือพวกที่น่ารำคาญ
ความ “ไม่ชอบขี้หน้า” จึงเกิดขึ้นระหว่างกันหลังยุค 1950s และมาถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างรอคอย นั่นคือศึกเอฟเอ คัพ นัดชิงชนะเลิศปี 1967 เกม ๆ นี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “Cockney Cup Final” และมีความหมายต่อแฟนบอลทั้งสองทีมมาก ๆ ฝั่งเชลซีพร้อมจะน็อกคู่แข่งที่เคยดูถูกเหยียดยามพวกเขามาหลายปี ขณะที่ฝั่งสเปอร์สก็ต้องการชัยชนะในเกมนี้เพื่อยืนยันว่าพวกเขายังเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้เชลซีได้แหงนหน้ามองเท่านั้น
เมื่อเกมดังกล่าวจบลง สเปอร์ส เอาชนะ เชลซี 2-0 จากประตูของ จิมมี่ กรีฟส์ และ เทอร์รี่ เวนาเบิลส์ ซึ่งทั้ง 2 คนเคยเป็นนักเตะเยาวชนของเชลซีมาก่อน
“ผมสรุปสั้น ๆ แทนแฟนเชลซีตอนนั้นเลยก็ยังได้ การได้เห็นอดีตนักเตะของเราอย่างกรีฟส์และเวนาเบิลส์คว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอังกฤษด้วยการยิงทีมของเราเอง มันเหมือนกับโดนมีดสั้นกรีดเข้าที่หัวใจเลยล่ะ” แฟนเชลซีรายหนึ่ง ให้ความเห็นไว้ในเว็บบอร์ด Reddit ในกระทู้ว่าด้วยเรื่องความบาดหมางของเชลซีและสเปอร์ส
นอกจากเรื่องนักเตะแล้ว หลังเกมยังเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เมื่อหลังเกมจบแฟนบอลยังไม่จบ พวกเขากว่า 100,000 คนที่เข้ามาเป็นสักขีพยานในเวมบลีย์ต่างก่อจลาจลกันหลายจุดจนทำให้มีผู้คนบาดเจ็บมากมาย
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ต่างฝ่ายต่างเริ่มนับนิ้วรอวันแก้แค้นกันและกัน … ชัดเจนว่าพวกเขายกระดับจากการไม่ชอบขี้หน้ากลายเป็นการเกลียดกันอย่างจริงจังแล้ว
สู้ให้ตายข้าก็ใหญ่กว่า
หลังจากการแข่งขันเอฟเอ คัพ ในปี 1967 เรื่องราวของความเกลียดชังยังคงดำเนินต่อไป และยังเป็นสเปอร์สที่ทำได้ดีกว่าเสมอมา ไม่ว่าพวกเขาจะแย่อย่างไรเชลซีก็มักจะแย่กว่าเสมอ นั่นทำให้แฟนเชลซีเป็นเป้าให้แฟนสเปอร์สล้อเลียนและกดขี่อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในปี 1975 ที่ทั้งสองทีมฟอร์มตกจนต้องมาแข่งกันหนีตกชั้น แต่ก็ยังเป็นสเปอร์สที่ยัดเยียดความปราชัย และส่งสิงห์บลูส์ตกสู่ดิวิชั่น 2 พร้อมคำล้อเลียนสุดคลาสสิกว่า “เราส่งพวกแกลงไปยังที่ที่สมควรอยู่”
เดวิด ชิดลี่ย์ จากเว็บไซต์ Chelsea FanCast เล่าย้อนช่วงเวลาสมัยที่เขายังเป็นเด็กถึงความเกลียดชังนี้ว่า “เด็กสมัยนี้โชคดีมากเลยนะ เพราะตอนที่ผมไปโรงเรียนในช่วงปี 60s-70s เนี่ย ตอนนั้นที่โรงเรียนมีเด็กที่เป็นแฟนบอลทั้งสองทีมพอ ๆ กัน ดังนั้นเมื่อทีมไหนแพ้ คุณก็เตรียมรับมือมหกรรมการเยาะเย้ยแบบข้ามวันข้ามคืนได้เลย”
“เราแพ้บ่อยกว่ามาก และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมไม่เคยลืมสิ่งที่ผมโดนในเวลานั้น ผมเชื่อว่าแฟนเชลซียุคผมก็น่าจะเป็นกันทั้งนั้น พวกเราโตขึ้น พวกเรามีลูก และพวกเราส่งต่อความแค้นนั้นกันเหมือนกับเป็นกรรมพันธุ์เลย”
นอกจากนี้ในช่วงยุค 1980s ความรุนแรงก็ทวีขึ้น แฟนเชลซีที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายแอฟริกัน ยิว หรือเอเชีย มักจะประสบปัญหากับการโดนแฟนสเปอร์สกลุ่มหนึ่งทำร้าย เพราะมีกลุ่มแฟนบอลที่มีชื่อว่า Combat 18 ที่เป็นกลุ่มเหยียดผิวที่จ้องจะเล่นงานแฟนเชลซีทุกทาง
“ถนน ไวท์ ฮาร์ต เลน เดิมทีเป็นพื้นที่สุดท้ายที่คุณคิดจะไปเดินเตร็ดเตร่ เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าจะมีจิ๊กโก๋ที่ไหนวิ่งมาชกหน้าคุณ … ตอนนั้นมีเรื่องการเหยียดเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กลุ่ม Combat 18 คือกลุ่มที่เหมือนกับเป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟ พวกเขาเกลียดยิว แม้กระทั่งนักเตะตัวเองที่เป็นยิวพวกเขาก็ยังเคยตะโกนล้อมาแล้ว”
ขณะที่แฟนบอลสเปอร์สก็มองในมุมของพวกเขาว่าเหตุผลที่เขาถูกแฟนเชลซีหรือแฟนของทีมอื่น ๆ ในลอนดอนรุมเกลียดก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเพราะความยิ่งใหญ่ของทีมของพวกเขา … พวกเขายึดหัวหาดของฟุตบอลลีกมานานโข มีความสำเร็จให้เห็นตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ขณะที่ทีมอื่น ๆ ได้แต่มองพวกเขา แม้จะแค้นแค่ไหนก็ทำได้แค่เกลียด แต่ไม่สามารถเอาชนะพวกเขาได้
“พวกเขาเกลียดเรามันถูกต้องอยู่แล้ว คงไม่มีใครมาเถียงเรื่องนี้ คำตอบง่าย ๆ ก็คือเราแม่งโคตรจะยิ่งใหญ่ ลอนดอนคือถิ่นที่เราเป็นเบอร์ 1 ตลอดช่วง 3 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 … ไม่ใช่แค่เชลซีหรอกที่มองเราแบบนั้น แม้แต่เวสต์แฮมและอาร์เซนอลก็ไม่ต่างกัน พวกเขามองมาที่เราและอยากจะเอาชนะเราให้ได้ และทัศนคติแบบนั้นก็ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น” บารัด ธิรุมาลัย แฟนบอลสเปอร์ส จากเว็บไซต์ spurs-web.com เล่าถึงมุมมองของฝั่งยิตอาร์มี่
ถึงทีของเชลซี
ในช่วงยุค 1990s ถือเป็นช่วงเวลาที่สถานะของสเปอร์สเปลี่ยนไป พวกเขาไม่ได้แชมป์ลีกมานานกว่า 30 ปี แม้ตามศักดิ์และศรีพวกเขาจะยังยิ่งใหญ่กว่าเชลซี แต่สิงห์บลูส์ก็ขยับเข้าใกล้สเปอร์สมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่สโมสรตกเป็นของเจ้าของทีมคนใหม่อย่าง แมทธิว ฮาร์ดิ้ง ก่อนที่ถูกส่งต่อมายังรุ่นของ เคน เบตส์ และยุคแห่งการผงาดของฝั่งเชลซีในช่วงกลาง 2000s ที่ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาซื้อสโมสร จากนั้นแหละเหตุการณ์ “ดาบนั้นคืนสนอง” ก็ถูกส่งกลับไปยังแฟนบอลสเปอร์สจนได้
ไม่ต้องพูดอะไรเยอะ นี่คือเรื่องราวที่ตรงกับช่วงเวลาที่หลาย ๆ คนที่ดูฟุตบอลน่าจะได้เห็นความจริงข้อนี้ด้วยตาตัวเอง เชลซี ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดในลีก และเหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาเป็นแชมป์ยุโรป 2 หน … แล้วแฟนสเปอร์สจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ?
“อบราโมวิชมาถึงพร้อมกับปฎิวัติทีมไปตลอดกาล เชลซีถูกยกระดับจากทีมกลุ่มกลาง ๆ ตารางก้าวขึ้นมาเป็นทีมระดับลุ้นแชมป์ในปีแรก และปีต่อมาพวกเขาก็คว้าแชมป์ลีกได้เลย คุณเข้าใจความรู้สึกไหมล่ะ พวกเราโดนไล่จวกกันมา 20-30 ปี แต่พออยู่ ๆ อบราโมวิชเข้ามา เชลซีก็กลายเป็นทีมที่ได้แชมป์ลีกมากกว่าสเปอร์สโดยใช้เวลาแค่ 4 ปีเท่านั้น” เพตเตอร์สัน กรีน แฟนบอลของเชลซี อธิบายจุดเปลี่ยนของยุคสมัย
ฝั่งสเปอร์สเองถึงแม้จะไม่ได้ตกลงไปมากถึงขั้นกลายเป็นทีมกลางตารางเต็มตัวและพวกเขายังอยู่ในมาตรฐานที่ไม่ต่างจากเดิมนัก แต่เป็นเชลซีเองที่ฉีกพวกเขาเละเทะ ช่วงเวลานั้นแฟนสเปอร์สไม่เหลือมุกอะไรไว้ใช้ล้อเชลซีมากนัก พวกเขาทำได้แค่แดกดันในเวลาที่เจอกัน ด้วยคำตะโกนประมานว่า “ไอ้โง่พวกนี้โดนรัสเซียหลอกใช้”, “เพิ่งได้แชมป์ลีกครั้งแรกก็แบบนี้ พวกกูได้มาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้วโน่น พวกกูใหญ่กว่ามึงเยอะ” หรือ “ซ่าใหญ่นะไอ้พวกขยะจากยุค 80s” … นี่คือตัวอย่างคำล้อเลียนที่แฟนสเปอร์สใช้กับเชลซีในเวลานั้น
เรื่องนี้ออกแนวทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย ก็คงไม่ผิดนัก ดังนั้นการเจอกันของ สเปอร์ส และ เชลซี ในยุคหลัง ๆ เรายังคงสัมผัสถึงความเดือดได้เป็นอย่างดี อาทิ การแข่งขันปี 2016 ที่เสมอกัน 2-2 ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ ก็ถือว่าใช้เป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี ในเกมนั้นที่ถูกเรียกว่า ‘Battle of Stamford Bridge’ นักเตะทั้งสองทีมเตะฝากกันไปมาแทบทั้งเกมจนทำให้มีนักเตะโดนใบเหลืองไปทั้งหมดถึง 12 คน
เหนือสิ่งอื่นใดคือผลเสมอในเกมนั้นทำให้ เลสเตอร์ ที่เบียดกับ สเปอร์ส อยู่เข้าป้ายแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ นั่นคือช่วงเวลาที่สเปอร์สเข้าใกล้แชมป์ลีกมากที่สุดในรอบหลายปี แต่เชลซีก็เป็นคนเบรกพวกเขา เกมนั้นแฟนบอลเชลซีตะโกนแซว กระเซ้าเย้าแหย่ และล้อเลียนฝั่งตรงข้ามตลอดทั้งเกมทำให้บรรยากาศในเกมเดือดจนเหมือนจะติดไฟ พวกเขาฟัดกันทั้งในและนอกสนาม และทำให้เอฟเอต้องสั่งปรับเงินทั้งสองทีมด้วยข้อหา “ไม่สามารถควบคุมนักเตะของตัวเองได้”
มาถึงตรงนี้คุณไม่ต้องแปลกใจอีกแล้วว่าทำไมการเจอกันในเกมล่าสุดที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ จึงเข้มข้น ดุเดือด และมีดราม่ามากมาย นั่นก็เพราะปูมหลังที่ต่างฝ่ายต่างก็ฟัดกันมาอย่างเต็มที่ ใส่กันแบบจัดหนักมาตั้งแต่ช่วงเวลาที่ทีมของตัวเองผงาดคับลอนดอน
ยิ่งตอนนี้ทั้งคู่มีกุนซือที่มีอารมณ์ร่วมกับเกมสูงสุด ๆ อย่าง โทมัส ทูเคิ่ล และ อันโตนิโอ คอนเต้ คุณจะยิ่งได้เห็นความเร้าใจเพิ่มขึ้นอีกเยอะ แม้ทั้งคู่จะไม่ใช่คนอังกฤษแต่พวกเขาก็มีเลือดของนักสู้และความเป็นผู้ชนะเสมอ เมื่อใดที่ทีมแพ้ ทูเคิ่ลและคอนเต้จะหัวเสียมาก นั่นทำให้พวกเขาไม่อยากแพ้ใคร ไม่ว่าจะกับ เชลซี, สเปอร์ส หรือแม้กระทั่งทีมไหน ๆ ก็ตาม
ความเป็นอริจะถูกส่งต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด … ณ ตอนนี้แฟนสเปอร์สก็เป็นเหมือนกับแฟนเชลซีเมื่อ 40-50 ปีก่อน ถ้ายังเป็นเด็กพวกเขาก็ต้องไปโรงเรียนพร้อมกับเป็นฝ่ายโดนแซวมากกว่า นั่นทำให้พวกเขาจะจดจำความรู้สึกนี้และปลดปล่อยมันมาอย่างเต็มที่ในวันที่สเปอร์สก้าวขึ้นมาเหนือกว่าเชลซีไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ถึงวันนั้นหรือไม่ แต่ความรู้สึกทั้งหมดจะถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่นอย่างแน่นอน
ขณะที่ฝั่ง สิงห์บลูส์ ตอนนี้ก็เหมือนกับแฟนสเปอร์สเมื่อ 40-50 ปีก่อน พวกเขายิ่งใหญ่จนพร้อมจะแซวข่มทุกทีมในลอนดอนได้อย่างสบาย ๆ พวกเขาพร้อมจะล้อทุกทีมและไม่สนด้วยว่าจะถูกเกลียดแค่ไหน เพราะนาทีนี้พวกเขาคือเบอร์ 1 ของลอนดอนอย่างชัดเจน
ทางเดียวที่ สเปอร์ส หรือแฟนทีมอื่น ๆ ในลอนดอนจะหุบปากแฟนเชลซีได้ คือพวกเขาต้องเอาชนะและยิ่งใหญ่กว่าเชลซีให้ได้ … ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้เห็นเกมที่เข้มข้นใน ลอนดอน ดาร์บี้ เสมอมาจนถึงทุกวันนี้