sportpooltoday

ทางแยกของดาวรุ่ง : อยู่กับทีมสำรองหรือออกไปยืมตัวกับทีมอื่น แบบไหนดีกว่ากัน ?


ทางแยกของดาวรุ่ง : อยู่กับทีมสำรองหรือออกไปยืมตัวกับทีมอื่น แบบไหนดีกว่ากัน ?

การปั้นดาวรุ่งขึ้นสู่การเป็นผู้เล่นตัวสำคัญของสโมสร อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายของเหล่าผู้จัดการทีม เวลาเล่นเกมอย่าง Football Manager ที่ต้องคอยบริหารจัดการตัวนักเตะในทีมไปสู่ความสำเร็จต่าง ๆ

ทีนี้คุณอาจเคยเผชิญเข้ากับดาวรุ่งคนหนึ่ง ที่มีค่า Potential สูงมาก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าสักวันเขาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักในทีมได้เลย แค่ในตอนนี้เจ้าตัวยังไม่พร้อมสำหรับการมาอยู่กับทีมชุดใหญ่ได้อย่างเต็มตัว นั่นจึงตามมาด้วยตัวเลือกสำคัญที่ว่า…

ปล่อยให้เด็กคนนี้อยู่กับทีมเยาวชน อยู่ใกล้สายตา คอยเป็นเดอะแบกให้กับน้อง ๆ ชุดสำรอง หรือส่งให้เขาออกไปเฉิดฉายกับทีมในลีกระดับล่าง เพื่อเสริมกระดูกให้พร้อมขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ทางเลือกไหนจะเป็นผลดีต่อตัวของนักเตะมากกว่ากัน ?

วันนี้ Main Stand จะชวนทุกคนไปวิเคราะห์หาคำตอบดังกล่าวกัน…

กระดูกคนละเบอร์

หนึ่งในสิ่งที่ถูกนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก ๆ เมื่อพูดถึงความแตกต่างระหว่างลีกของทีมสำรองกับลีกระดับล่าง คือระดับความเข้มข้นของการแข่งขัน และประสบการณ์กับจังหวะฟุตบอลที่นักเตะรายนั้นจะได้รับกลับมา

จริงอยู่ที่ทีมสำรองจะทำให้ตัวผู้เล่นยังคงฝึกซ้อมอยู่กับสนามของสโมสร ซึ่งมีอุปกรณ์การฝึกซ้อมที่ล้ำสมัย (โดยเฉพาะทีมใหญ่) แต่หากนักเตะรายนั้นยังไม่ใช่ตัวเลือกลำดับต้น ๆ ของการลงสนามกับทีมชุดใหญ่ พวกเขาก็จำต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการเป็นตัวจริงในเกมลีกสำรอง ที่จะได้ไปเผชิญกับดาวเตะอายุไม่เกิน 23 ปี หรือตัวผู้เล่นอายุเกิน ที่ต้องมาเรียกความฟิตให้พร้อมกลับไปลงเล่นอีกครั้ง

ซึ่งระดับความเข้มข้นของเกมการแข่งขันหรือประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาจากการลงเล่น เช่น เสียงเชียร์ เสียงโห่ สปีดบอล จังหวะถ่วงหรือเร่งเกม หรือแรงกดดันและความคาดหวังต่าง ๆ จากแฟนบอลข้างสนามนั้น ย่อมไม่สามารถเทียบกับการลงเล่นในลีกอาชีพจริง ๆ ได้อยู่แล้ว

นั่นจึงทำให้วิธีการยืมตัวกลายเป็นที่นิยมโดยบรรดาสโมสรขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนตัวผู้เล่นให้ใช้งานได้เพียงพอ จนไม่อาจให้โอกาสดาวรุ่งเหล่านี้ขึ้นมาเฉิดฉายได้โดยทันที โดยมักเป็นการปล่อยให้กับทีมที่พร้อมส่งนักเตะเหล่านี้ลงสนามได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไปเก็บเวลาเล่นมาได้อย่างเต็มที

ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ ของ ลิเวอร์พูล ถูกปล่อยตัวให้กับ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ทีมในลีกระดับแชมเปียนชิพ ซึ่งอยู่รองลงไปจากพรีเมียร์ลีกแค่ 1 ขั้น ยืมตัวไปใช้หนึ่งฤดูกาลเต็ม ก่อนจะโชว์ฟอร์มลงเล่นไป 42 นัดในทุกรายการ ยิงได้ 7 ประตูกับอีก 11 แอสซิสต์ พร้อมกับมีชื่อเข้าชิงดาวรุ่งยอดเยี่ยมของลีก จนทำให้เจ้าตัวกลับมายึดตำแหน่งออกสตาร์ทเป็น 11 ตัวจริงของทีมได้ 3 นัดรวด ก่อนจะต้องแตะเบรกทุกอย่างไปจากอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าของตน

หรือในกรณีของ คอเนอร์ กัลลาเกอร์ มิดฟิลด์อนาคตไกลของ เชลซี ที่ถูกปล่อยให้กับ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน อดีตสโมสรพรีเมียร์ลีก ยืมไปลงเล่นเป็นตัวจริงเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ก่อนจะได้โอกาสไปเฉิดฉายต่อกับทาง คริสตัล พาเลซ ที่เจ้าตัวยังคงเป็นตัวหลักของทีมอยู่จนถึงตอนนี้ พร้อมโอกาสได้กลับไปยึดตัวจริงของทัพสิงโตน้ำเงินครามในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

แน่นอนว่าด้วยปัจจัยข้างต้น ก็คงไม่แปลกที่ดาวรุ่งหลายคนจะอยากย้ายไปร่วมทีมอื่นแบบยืมตัว เพื่อทั้งเพิ่มกระดูกตนเอง และยังได้รับเวลาลงเล่น ประสบการณ์ กับความสำคัญจากสโมสรระดับรองลงมา พร้อมกับแทบการันตีโอกาสได้กลับมาเป็นตัวหลักกับต้นสังกัดในอนาคตได้อีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทีมสำรองของสโมสรใหญ่ ๆ ก็เป็นแค่ที่พักของเหล่าดาวรุ่งผู้ไม่มีที่ไป หรือว่ามีเหตุผลอื่นใดมาคอยสนับสนุนให้นักเตะเหล่านี้ยังคงศรัทธากับการอยู่กับทีมต่อได้ไหม ?

บนบ่าของยักษ์ใหญ่

มาร์คัส แรชฟอร์ด, เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, บูกาโย่ ซาก้า, และ ดีแคลน ไรซ์ ต่างเป็นเหล่าดาวรุ่งผู้เติบโตขึ้นมาจากระดับเยาวชน พุ่งตรงมาสู่ทีมชุดใหญ่โดยไม่เคยได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์จากทีมอื่นเลย

แน่นอนว่านักเตะแต่ละคนที่ได้รับโอกาสเหล่านี้ ย่อมมีจังหวะชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างกรณีของ แรชฟอร์ด ที่ได้รับโอกาสลงเล่นหลังจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประสบปัญหาผู้เล่นบาดเจ็บกันยกใหญ่มากถึง 13 คน ก่อนที่เจ้าตัวจะคว้าโอกาสดังกล่าวไว้ และสามารถยึดตัวจริงของทีมมาได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เช่นกันกับฝั่งของ เทรนท์ ผู้ก้าวขึ้นมาแทนที่ของ นาธาเนียล ไคลน์ แบ็คขวาตัวจริงของทีม ซึ่งประสบอาการบาดเจ็บระยะยาว หรือในกรณีของ ซาก้า ที่ได้โอกาสจากปัญหาแบ็กซ้ายตัวจริงเจ็บพร้อมกัน ก่อนจะขึ้นมาเล่นในตำแหน่งตัวรุกของทีมเช่นทุกวันนี้ และรายของ ไรซ์ ผู้โชว์ฟอร์มได้อย่างน่าประทับใจในทีมสำรอง จนถูกเรียกตัวขึ้นมาเป็นขุมกำลังหลักของชุดใหญ่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นักเตะเหล่านี้ทราบดีถึงวิธีการเล่นของสโมสรของตนเอง จากการได้ฝึกซ้อมรูปแบบการเล่น พัฒนาร่างกาย และเติบโตขึ้นมาในแบบแม่พิมพ์ที่ทีมต้องการอยู่แล้ว จึงไม่ยากเลยที่เมื่อมีโอกาสเข้ามา พวกเขาจะสามารถก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันสโมสรระดับพรีเมียร์ลีกก็ยังมีดาวรุ่งที่กำลังต่อแถวรอโอกาสขึ้นยึดตัวจริงอยู่อีกพอสมควร เช่น เคอร์ติส โจนส์ กับ เนโก วิลเลี่ยมส์ ของ ลิเวอร์พูล, แอนโธนี่ อีแลงก้า กับ ฮานนิบาล เมจบรี้ย์ ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, โคล พัลเมอร์ กับ โรเมโอ ลาเวีย แห่ง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นต้น

แต่ก็ใช่ว่านักเตะทุกคนหรือดาวรุ่งทุกสโมสรจะสามารถเลือกเส้นทางเดินได้อย่างอิสระ แล้วก้าวไปสู่ฝันที่ตนเองต้องการได้เสมอไป เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น มันกลับโหดร้ายและพร้อมเล่นตลกได้ทุกเวลา

ดาวรุ่งจนโรย

ไม่ใช่ว่านักเตะดาวรุ่งจากทุกสโมสรจะมีโอกาสขึ้นมาแสดงผลงานกับทีมชุดใหญ่กันได้ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นเยาวชนในทีม เชลซี แล้ว เส้นทางสู่การเล่นในพรีเมียร์ลีกนั้น มันช่างดูห่างไกลออกไปไม่น้อยเลย

แทมมี่ อับราฮัม, มาร์ค เกอฮิ, ติโน่ ลิฟราเมนโต้, ฟิกาโย โทโมรี อาจถูกขายออกไปจากรั้ว สแตมฟอร์ด บริดจ์ แต่พวกเขาก็ยังคงมีความสามารถเพียงพอที่จะยึดตำแหน่งตัวจริงกับสโมสรใหม่ได้ ซึ่งสำหรับเหล่าผู้เล่นที่ไม่ได้พัฒนาความสามารถขึ้นมาทัดเทียมกับระดับของ เมสัน เมาท์ ได้แล้วนั้น ก็อาจจะต้องเผชิญกับลูปแห่งการยืมตัวไปทีมต่าง ๆ จนหมดสัญญาลงได้เช่นกัน

สำหรับในฤดูกาล 2021-22 นับจนถึงตอนนี้ เชลซี ได้ปล่อยตัวนักเตะแบบยืมตัวไปแล้วถึง 22 คนด้วยกัน ที่ตรงนี้หากคุณเป็นนักเตะอนาคตไกลอย่าง บิลลี่ กิลมอร์ กับ คอเนอร์ กัลลาเกอร์ มันก็คือการเก็บชั่วโมงบินให้ปีกกล้าขาแข็งยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการกลับมายึดตัวจริงกับต้นสังกัดในฤดูกาลถัดไป

แต่ด้านของ ลูอิส เบเกอร์ อดีตดาวรุ่งผู้เป็นนักเรียนทุนแห่งสโมสร ที่ปัจจุบันมีอายุ 26 ปี ผู้ย้ายไปยืมตัวกับ แทรปซอนสปอร์ จนจบฤดูกาลนั้น นี่คือการย้ายตัวแบบยืมเป็นหนที่ 8 ของเจ้าตัวแล้ว โดยเขาเคยได้ลงเล่นให้กับ เชลซี ไปเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ต้องย้อนกลับไปถึงเดือนมกราคม ปี 2014 นู่นเลยทีเดียว

หรือในกรณีของ ลิเวอร์พูล ที่มีความภาคภูมิใจในเด็กท้องถิ่นและระบบอะคาเดมีเป็นอย่างมาก ก็เคยต้องสูญเสียทั้ง มาร์ติน เคลลี่, จอน ฟลานาแกน, จอร์แดน รอสซิสเตอร์, จอร์ดอน ไอบ์, เชญี่ โอโจ้, แฮร์รี่ วิลสัน และ เบน วู้ดเบิร์น ให้กับอาการบาดเจ็บระยะยาว จนนักเตะเหล่านี้ไม่อาจก้าวขึ้นไปแตะฟอร์ม Potential ที่ถูกคาดหวังไว้ได้อีกเลย

แม้ในปัจจุบันจะมีตัวฟอร์มแรงอย่าง เนโก้ วิลเลี่ยมส์ ที่ดูเหมือนจะพร้อมขึ้นมาโลดแล่นกับทีมชุดใหญ่ได้ แต่เจ้าตัวก็ยังคงมี เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นกระดูกเบอร์ใหญ่ที่ขวางทางไว้อยู่ หรือในรายของ เคอร์ติส โจนส์ ที่เกือบจะหลุดวงโคจรเป็นสำรองยาวไปแล้ว ก่อนจะได้รับโอกาสหลัง ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์ ดวงแตกเจ็บยาวไปตั้งแต่ต้นฤดูกาลนี้

พอมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปยังคำถามที่ว่า บรรดาดาวรุ่งอนาคตไกลเหล่านี้ควรจะอยู่กับทีมสำรอง หรือออกไปยืมตัวกับทีมอื่นดี ?

น่าเสียดายที่เราคงไม่อาจสรุปเป็นคำตอบตายตัวขึ้นมาได้ว่า นักเตะดาวรุ่งเหล่านี้ควรเลือกเส้นทางอาชีพอย่างไร เพราะมันก็คงยากที่จะเขียนเส้นทางให้ผู้เล่นเหล่านี้เลือกก้าวเดินตามได้ ทั้งจากปัจจัยของช่วงเวลา อาการบาดเจ็บ และจังหวะอาชีพที่คงไม่มีทางเลือกเหมือนหรือคาดเดาล่วงหน้าไว้ก่อนได้

นีล อดัมส์ ผู้จัดการด้านการยืมตัวของสโมสร นอริช ซิตี้ ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นสำหรับผมแล้ว เราต้องเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะได้ไม่เกิดคำถามที่ว่า ‘จะทำอะไรต่อจากนี้ดี ?’ เพราะยังมีผู้คนอีกเป็นจำนวนมากที่คาดหวังหนทางและทางออกจากคุณไว้อยู่”

แต่สิ่งที่สามารถสรุปได้จากเรื่องนี้ก็คือ จังหวะชีวิตของคนเรานั้นไม่เหมือนกัน คุณอาจเป็น คีลิยัน เอ็มบัปเป้ หรือ เออร์ลิง ฮาลันด์ ที่ฟอร์มกระฉูดขึ้นมาเปรี้ยงปร้างตั้งแต่วัยเด็ก หรือเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นขึ้นมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นอย่าง เจมส์ มิลเนอร์ หรือ เจมี่ วาร์ดี้ ก็เป็นได้เช่นกัน

และเมื่อสิ่งใดได้เกิดไปแล้วก็ตาม มันก็ง่ายที่จะคิดถึงสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น จนพลันเกิดนึกเสียดายมา อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็ยังคงก้าวเดินต่อไป และเราไม่อาจหวนกลับไปแก้ไขอดีตได้ เหมือนกับที่เราไม่สามารถแตะต้องของใด ๆ ในพิพิธภัณฑ์ได้นั่นแหละ

ซึ่งสำหรับดาวรุ่งเหล่านี้ การเลือกเดินไปในเส้นทางใดนั้น มันก็คือการตัดสินใจที่ดีที่สุดของเขาสำหรับตอนนั้นแล้ว…