sportpooltoday

ต่อเนื่องกว่า 20 ปี : ฟุตบอลหญิงอังกฤษ พัฒนาก้าวกระโดดสู่แชมป์ยุโรปได้อย่างไร


ต่อเนื่องกว่า 20 ปี : ฟุตบอลหญิงอังกฤษ พัฒนาก้าวกระโดดสู่แชมป์ยุโรปได้อย่างไร

เสียงเพลง Three Lions (Football’s coming home) ที่ดังกระหึ่มในสนามเวมบลีย์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม คือสัญญาณชัยชนะของฟุตบอลหญิงทีมชาติอังกฤษที่คว้าแชมป์ฟุตบอลยูโรหญิง 2022 มาครองได้สำเร็จ นับเป็นแชมป์ระดับเมเจอร์ครั้งแรกของทัพสิงโตคำรามสาว

ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดดอย่างมากของอังกฤษ เพราะย้อนกลับไปครั้งล่าสุดที่ฟุตบอลยูโรหญิงแข่งขันในแดนผู้ดี พวกเธอตกรอบแรกในฐานะบ๊วยของกลุ่ม และถ้าย้อนไปสัก 50 ปีก่อนหน้านี้ ฟุตบอลหญิงถูกแบนในประเทศแห่งนี้ด้วยซ้ำ

Main Stand จะพาคุณย้อนดูการพัฒนาต่อเนื่องกว่า 20 ปีของฟุตบอลหญิงอังกฤษ ตั้งแต่วันที่พวกเธอไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก เริ่มต้นสร้างลีกอาชีพ จนถึงวินาทีที่กลายเป็นหมายเลขหนึ่งของยุโรปในปัจจุบัน

เริ่มต้นด้วยความยากลำบาก

สิ่งหนึ่งที่น้อยคนจะรู้เกี่ยวกับเกมลูกหนังในประเทศอังกฤษคือ เกมฟุตบอลหญิงถูกแบนจากการแข่งขันอาชีพโดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ เป็นเวลายาวนานถึง 50 ปี นับตั้งแต่ปี 1921 เนื่องจากในเวลานั้นการวางสถานะเพศหญิงด้อยกว่าเพศชายยังคงเป็นมุมมองปกติของสังคม อีกทั้งการตระหนักรู้รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิอันเท่าเทียมของเพศหญิงยังคงไม่เป็นที่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน

กว่าฟุตบอลหญิงในอังกฤษจะได้เริ่มต้นจริง ๆ ก็ต้องรอถึงปี 1971 เมื่อสมาคมฟุตบอลอังกฤษกลับมาอนุญาตให้ฟุตบอลหญิงลงแข่งขันในระบบอาชีพ การเริ่มต้นอย่างเชื่องช้านี้ส่งผลให้คุณภาพของฟุตบอลหญิงอังกฤษห่างไกลจากฟุตบอลชาย และทำให้ในช่วง 20 ปีแรกของฟุตบอลหญิงอังกฤษ ทัพสิงโตคำรามสาวแทบไม่มีผลงานเด่นอะไร นอกจากตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลยูโร 1984 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่มีชาติร่วมชิงชัยเพียง 4 ทีม

ความสำเร็จสำคัญต่อมาเกิดขึ้นในปี 1995 เมื่อฟุตบอลหญิงทีมชาติอังกฤษสามารถตีตั๋วเข้าสู่ฟุตบอลโลกหญิงได้สำเร็จเป็นครั้งแรก หลังพลาดการเข้าร่วมการแข่งขันในปี 1991 แต่แรงสนับสนุนที่พวกเธอได้รับจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษยังคงเหือดแห้ง ทีมชาติอังกฤษหญิงไม่มีแม้แต่รถบัสที่จะรับส่งเธอไปที่สนามแข่งขันหรือสนามซ้อมในศึกฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าว ก่อนที่ในอีก 4 ปีถัดมาพวกเธอจะรีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลมชิงตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1999 ไปเสียก่อน

 

ผลงานที่ไม่ก้าวหน้าไปถึงไหนส่งผลให้การปฏิวัติวงการฟุตบอลหญิงอังกฤษต้องเริ่มต้นขึ้น ด้วยการแต่งตั้ง โฮป พาวล์ อดีตนักเตะที่ลงเล่นให้กับทีมชาติอังกฤษหญิงยาวนานถึง 15 ปีเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีม ซึ่งการแต่งตั้งผู้หญิงรายนี้เข้ารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของฟุตบอลหญิงทีมชาติอังกฤษถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทีมฟุตบอลที่เคยล้าหลังก้าวขึ้นมาเป็นระดับแถวหน้าของวงการในอีกสองทศวรรษถัดมา

“โฮปคือรากฐานของความสำเร็จทั้งหมดในปัจจุบัน เธอยืนหยัดต่อสู้เพื่อทุกสิ่งที่ควรได้รับ รวมถึงการเรียกร้องขอสำนักงานในสนามเวมบลีย์ เพราะไม่มีใครจัดหาอะไรให้เธอ นี่คือเรื่องบางอย่างที่ผู้คนไม่เคยรู้” เคลลี่ สมิธ อดีตเพื่อนร่วมทีมและลูกทีมของพาวล์ กล่าวชื่นชมตำนานกุนซือฟุตบอลหญิงทีมชาติอังกฤษ

ถึงเวลาพัฒนาทั้งระบบ

สิ่งแรกที่พาวล์ต้องผลักดันคือการเพิ่มจำนวนแมตช์แข่งขันของทีมชาติอังกฤษหญิง เพราะเมื่อย้อนกลับในปี 1998 ทัพสิงโตคำรามสาวมีโปรแกรมลงสนามเพียง 5 นัดต่อปี ขณะที่เยอรมันและสหรัฐอเมริกาได้โอกาสลงสนามตกปีละ 15-20 เกม ดังนั้นแล้วไม่มีทางที่ทีมชาติอังกฤษจะขึ้นไปเทียบเท่ามหาอำนาจในโลกฟุตบอลหญิงได้เลยหากยังลงเล่นเพียงไม่กี่นัดต่อปี

ส่วนสำคัญที่สองคือการเพิ่มเติมบุคลากรผู้มีความสามารถเข้าสู่ทีมชาติอังกฤษหญิง พาวล์คือผู้จัดการทีมคนแรกที่เรียกร้องให้มีการว่าจ้างนักกายภาพบำบัดเข้ามาทำงานกับทีมเต็มเวลา และมีการแต่งตั้งบุคลากรเข้ามารับตำแหน่งโค้ชผู้รักษาประตูในทีมเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีการนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้พัฒนาศักยภาพของนักฟุตบอลในทีม

 

แม้ทีมชาติอังกฤษของพาวล์จะยังไม่แข็งแกร่งพอจะผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกหญิง 2003 แต่การพัฒนาอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการฟุตบอลหญิงอังกฤษ ภายในปี 2001 มีการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลหญิงมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ โดยทุกแห่งได้การรับรองจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ เพื่อเฟ้นหานักเตะเยาวชนคุณภาพดีจากทั่วทุกทิศทางเข้ามาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติในอนาคต

นักฟุตบอลหญิงชาวอังกฤษที่อยู่ภายใต้ศูนย์ฝึกของสมาคมฟุตบอลอังกฤษจะถูกสั่งให้ซ้อมหนักกว่าโปรแกรมปกติถึงสองเท่า เพื่อลดช่องว่างเรื่องความฟิตซึ่งยังคงเป็นจุดอ่อนสำคัญของนักเตะหญิงอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้นสมาคมฟุตบอลอังกฤษยังว่าจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวที่บางคนเป็นถึงเจ้าของตำแหน่งแชมป์ยกน้ำหนัก เพื่อมาพัฒนาสภาพร่างกายของนักเตะเหล่านี้ให้แข็งแกร่งมากขึ้น

การพัฒนาอย่างต่อเนื่องนำมาสู่ความทะเยอทะยานที่จะประสบความสำเร็จ ทีมชาติอังกฤษหญิงตั้งเป้าหมายว่าพวกเธอจะต้องเอาชนะการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2007 ที่ประเทศจีนให้ได้ แม้ก่อนหน้านั้นพวกเธอจะเพิ่งตกรอบแรกฟุตบอลยูโร 2005 ด้วยตำแหน่งบ๊วยของกลุ่ม ทั้งที่รับบทบาทเจ้าภาพจัดการแข่งขันก็ตามที

“หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ความจริงคือเราต้องเล่นให้ดีกว่าศักยภาพหากหวังจะผ่านเข้ารอบต่อไป เมื่อพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของเพื่อนร่วมกลุ่ม” เบรนต์ ฮิลส์ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติอังกฤษหญิง กล่าวถึงเหตุผลที่ทีมไม่เสียใจนักที่ตกรอบแรกฟุตบอลยูโร 2005

 

ไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับทีมชาติอังกฤษเมื่อพวกเธอเข้าไปถึงเพียงรอบก่อนรองชนะเลิศฟุตบอลโลกหญิง 2007 แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือครั้งนี้พวกเธอไม่เพียงมีรถบัสคอยรับส่ง แต่ฟุตบอลหญิงทีมชาติอังกฤษยังมีแคมป์เก็บตัวจริงจัง 14 วันที่มาเก๊า  ได้นั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจเพื่อเดินทางไปยังประเทศจีน และมีทีมงานครบทุกด้านตั้งแต่หมอประจำทีมจนถึงผู้ดูแลชุดแข่งขัน

นี่คือเหตุผลว่าทำไมอังกฤษที่เคยตกรอบแรกในฟุตบอลยูโรหญิงในบ้านตัวเองถึงก้าวไปสู่ตำแหน่งรองแชมป์ในปี 2009 นั่นเป็นเพราะตลอดสิบปีที่ผ่านมาการพัฒนาอย่างจริงจังตลอดทั่วทั้งระบบได้เกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลหญิงอังกฤษ แม้ผลงานช่วงแรกจะไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก แต่ด้วยความเชื่อมั่นที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษมีและแผนงานของ โฮป พาวล์ ส่งผลให้ทีมชาติอังกฤษหญิงสร้างผลงานที่น่าเหลือเชื่อได้สำเร็จ

“ประสบการณ์จากการเตรียมตัวและลงเล่นตลอดหกเกมในทัวร์นาเมนต์สำคัญ นั่นคือสิ่งสำคัญที่เราได้รับจากการแข่งขันครั้งนั้น เยอรมัน (แชมป์ยูโรหญิง 2009) คือทีมที่แข็งแกร่งกว่าเรา รวดเร็วกว่าเรา และยอดเยี่ยมกว่าเรา” 

“แน่นอนว่าเราก้าวไปถึงรอบรองชนะเลิศ แต่เรายังมีอะไรต้องพัฒนาอีกมากโดยเฉพาะเรื่องสภาพร่างกาย นี่เป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ บนเส้นทางของเราเท่านั้น” ดอว์น สกอตต์ หนึ่งในทีมสตาฟของทีมชาติอังกฤษ กล่าวถึงความสำเร็จในยูโรหญิง 2009

ก้าวสุดท้ายสู่แชมป์ยุโรป

หลังจากความสำเร็จในฟุตบอลยูโรหญิง 2009 วงการฟุตบอลหญิงอังกฤษได้ก้าวขึ้นไปอีกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถือกำเนิดของรายการวีเมนส์ ซูเปอร์ลีก หรือ WSL ฟุตบอลหญิงลีกอาชีพของอังกฤษในปี 2010 ซึ่งนำมาสู่การรับรองว่านักเตะเหล่านี้จะได้รับเงินการันตีไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นปอนด์หรือเกือบห้าแสนบาทต่อปี และที่สำคัญกว่านั้นคือการลงทุนของบรรดาสโมสรใหญ่ในวงการฟุตบอลหญิง ส่งผลให้คุณภาพของทีมชาติอังกฤษพัฒนารวดเร็วขึ้นไปอีก

“มันไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพเท่าไหร่ในช่วงห้าหรือหกปีแรก แต่หลังจากที่บรรดาสโมสรเริ่มคิดที่จะลงทุนมากขึ้น พวกเขาก็ตระหนักได้ว่าถ้าหากอยากจะประสบความสำเร็จในวงการฟุตบอลหญิง พวกเขาต้องพัฒนาทีมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการเสียก่อน” เคลลี่ ซิมมอนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอลหญิงของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ กล่าว

เมื่อความนิยมในกีฬาฟุตบอลหญิงเพิ่มมากขึ้น หลายสโมสรในอังกฤษก็เริ่มจะปรับตัวตามความต้องการของแฟนบอล ยกตัวอย่างในปี 2013 ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดโดยอัตโนมัติ หลังแผนการพัฒนาฟุตบอลหญิงถือเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์พัฒนาทีมมูลค่า 250 ล้านปอนด์ ซึ่งแข้งชื่อดังของอังกฤษอย่าง สเต็ฟ ฮูตัน และสองพี่น้อง สกอตต์ กับ คาเรน บาร์ดสลี่ย์ ได้ย้ายเข้ามาสู่ทีมในช่วงเวลานี้

 

การพัฒนาที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลลีกหญิงของอังกฤษ ส่งผลให้ในปี 2018 สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้บังคับให้นักเตะทุกคนของลีกต้องเซ็นสัญญาอาชีพแบบเต็มเวลากับสโมสรเท่านั้น ซึ่งการยกระดับครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากฟุตบอลวีเมนส์ ซูเปอร์ลีก ได้รับสัญญาถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ส่งผลให้ทุกสโมสรมีงบประมาณมากพอที่จะจ่ายเงินที่มั่นคงและแน่นอนเป็นค่าตอบแทนแก่นักฟุตบอลหญิงในอังกฤษ

ประเทศที่ครั้งหนึ่งฟุตบอลหญิงเคยถูกแบน วันนี้พวกเขามีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีลีกฟุตบอลที่มีคุณภาพระดับแถวหน้าของโลก สิ่งเดียวที่ฟุตบอลหญิงอังกฤษยังขาดจึงเป็นเพียงความสำเร็จในระดับนานาชาติ ซึ่งทัพสิงโตคำรามสาวห่างจากตำแหน่งแชมป์เพียงแค่ไม่กี่ก้าวหลังเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ 3 ทัวร์นาเมนต์ติดต่อกัน ได้แก่ ฟุตบอลโลกหญิง 2015 และ 2019 กับฟุตบอลยูโรหญิง 2017

กุญแจสำคัญสุดท้ายจึงเป็นการนำเทคนิคการพัฒนานักเตะของชาติแชมป์โลกมาใช้ ย้อนกลับไปหลังจบศึกฟุตบอลโลกหญิง 2009 ฟิล เนวิลล์ กุนซือของทีมชาติอังกฤษหญิงในเวลานั้นเลือกจะดึงตัว ดอว์น สกอตต์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาฝีมือดีเข้ามาสู่ทีมหลังย้ายไปทำงานให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกาอยู่ราวสิบปี โดยการกลับมาของเธอครั้งนี้ สกอตต์ได้นำความรู้การจัดการปัญหาเรื่องประจำเดือนของนักเตะหญิงติดตัวมาด้วย

สิ่งที่แตกต่างจากฟุตบอลชายคือการมีประจำเดือนของผู้หญิงส่งผลต่อนักกีฬาเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่มีผลต่อสภาพจิตใจ การนอนหลับ การฟื้นฟูร่างกาย หรือแม้แต่ระบบเผาผลาญ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้เคยถูกเก็บเงียบไว้ในแคมป์ฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียว

มีหลักวิทยาศาตร์มากมายที่สามารถใช้พัฒนาทีมฟุตบอลหญิงได้ ส่งผลให้ในช่วงปลายปี 2020 ฝ่ายพัฒนาฟุตบอลหญิงของสมาคมฟุตบอลอังกฤษจึงถูกแยกขาดจากฟุตบอลชายเป็นครั้งแรก พวกเธอสามารถวางแผนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตามต้องการ และสามารถควบคุมงบประมาณไปสู่ส่วนที่ทีมเห็นว่าเหมาะสม

ความสำเร็จในฐานะแชมป์ยูโรหญิง 2022 ของทีมชาติอังกฤษจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการพัฒนาภายในระยะเวลาหนึ่งหรือสองปี แต่เป็นการพัฒนาที่ยาวนานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ความผิดหวังที่ไม่สามารถผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลก 1999 และเมื่อมองไปยังภาพที่ใหญ่กว่านั้น นี่เป็นความสำเร็จอันน่าเหลือเชื่อของประเทศที่ครั้งหนึ่งห้ามเตะฟุตบอลหญิงเสียด้วยซ้ำ

“ฟุตบอลหญิงกำลังพัฒนาสู่ขั้นต่อไป มันยังเป็นกีฬาที่ใหม่มากในประเทศของเรา ปีนี้ถือเป็นการฉลองครบ 50 ปีของฟุตบอลหญิงในประเทศอังกฤษ และฉลองครบ 5 ปีที่กีฬานี้ก้าวสู่ระดับอาชีพอย่างแท้จริง โชคดีที่เราสามารถสร้างสิ่งที่สำคัญขึ้นมาได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา” เคย์ คอสสินตัน หัวหน้าฝ่ายเทคนิคฟุตบอลหญิงอังกฤษ กล่าว

การคว้าแชมป์ยูโรหญิง 2022 จึงไม่ใช่ความสำเร็จสูงสุดแต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลหญิงของทีมชาติอังกฤษ และในปีหน้าที่ฟุตบอลโลกหญิง 2023 กำลังจะมาถึง ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่อาจจะเป็นโอกาสที่แฟนบอลแดนผู้ดีจะได้ร้องเพลง Three Lions (Football’s coming home) กันเต็มเสียงอีกสักที