sportpooltoday

ตอบจริง ๆ ไม่กวนโอ๊ย : ทำไมฟุตบอลต้องเตะแมตช์ละ 90 นาที ?


ตอบจริง ๆ ไม่กวนโอ๊ย : ทำไมฟุตบอลต้องเตะแมตช์ละ 90 นาที ?

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เข้าใจง่าย ๆ ในแง่ของเนื้อหาและวิธีการเล่น กล่าวคือ “ใครยิงได้มากกว่าจะชนะ” เพียงเท่านี้คุณก็จะดูฟุตบอลรู้เรื่องแล้ว อย่างไรก็ตามถ้านั่งดูและสังเกตรายละเอียดยิบย่อยต่าง ๆ ของกีฬาชนิดนี้ จะพบเรื่องน่าสงสัยหลายอย่าง ที่สามารถตั้งคำถามได้ลึกเกินกว่าที่คิด  

หากยังจำซีนฮาในตำนานของหนังไทยที่ “โค้ชเตี้ย” สะสม พบประเสริฐ ร่วมแสดงในเรื่อง “ผู้ชายลัลล้า” จะมีฉากในร้านกาแฟที่พวกเขาถามคำถามเกี่ยวกับฟุตบอลอย่าง “ทำไมสนามฟุตบอลต้องปลูกหญ้า, ทำไมนักบอลต้องใส่รองเท้าสตั๊ด,  ทำไมกรรมการต้องใส่ชุดดำ และอื่น ๆ อีกมากมาย 

วันนี้เราจะมาหาคำตอบสำหรับ 1 คำถามที่โค้ชเตี้ยไม่ได้ตอบในวันนั้น นั่นคือ “ทำไมฟุตบอลต้องเตะกัน 90 นาที ?” … และนี่คำตอบจริง ๆ แบบไม่ตรึกโป๊ะอย่างแน่นอน

ทำไมต้องเตะ 90 นาที ? 

ทำไมฟุตบอลต้องเตะ 90 นาที ง่าย ๆ เลยเรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ฟุตบอลยุคโบราณเมื่อปี 1866 แล้ว ปกติฟุตบอลยุคนั้นจะคล้าย ๆ กับการเตะฟุตบอลออกกำลังกายเหมือนในบ้านเรา ที่ต่างคนต่างมาที่สนามแล้วจัดทีมให้ลงตัวครบคนเพื่อลงไปแข่งเป็นอันใช้ได้ เสื้อคนละสี กางเกงคนละแบบก็ไม่เป็นไร 

จนกระทั่งมีเกมระหว่างเมือง ลอนดอน ปะทะกับเมือง เชฟฟิลด์ การแข่งขันอย่างเป็นทางการก็ถูกบัญญัติขึ้น เพราะนี่คือเกมที่มีการนัดหมายกันเป็นอย่างดี มีการวางตัวผู้เล่น ใส่เสื้อทีม และมีการตกลงกติการ่วมกันเพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรมที่สุด ซึ่งหนึ่งในกฎที่ถูกบรรจุในการแข่งขันเกมนั้น หรือที่เรียกว่า “กฎเชฟฟิลด์” ก็คือการแข่งขันแมตช์นี้จะต้องแข่งกัน 90 นาที  

อย่างที่ได้กล่าวไว้ ทั้งสองทีมเจรจากันจนได้มาเป็นเวลา 90 นาทีต่อ 1 แมตช์ แต่เป็นเพราะเหตุผลอะไร ? ทำไมต้อง 90 นาที ทำไมไม่เล่นครึ่งละครึ่งชั่วโมง หรือครึ่งละ 1 ชั่วโมงไปเลย จะได้ดูนาฬิกาง่าย ๆ 

คำตอบที่เราเจอมากที่สุดแม้กระทั่งจากสื่อหัวใหญ่อย่าง เดลี่เมล และ เดอะ ซัน ยังเคยตอบว่า “ก็เพราะทำตามกันมาตั้งแต่นานนม” ที่สำคัญคือมันน่าเสียดายที่เหตุผลมารองรับแบบชัดเจน 100% ของการแข่งขัน 90 นาทีนั้นไม่มีเลย … ทว่าอย่าเพิ่งทำหน้าเซ็งแบบนั้น เพราะมันมีการวิเคราะห์และการเชื่อมโยงที่สามารถทำให้คุณสามารถเข้าใจคำตอบนี้ได้ โดยการวิเคราะห์ผ่านอดีตและความน่าจะเป็น เพื่อที่เราจะได้เข้าใกล้คำตอบที่แท้จริงให้ได้มากที่สุด

ถอดรหัสจากกฎเชฟฟิลด์

ก่อนจะหาคำตอบนี้ชัด ๆ เราก็ควรต้องนึกภาพตัวเองย้อนกลับไปสักเกือบ ๆ 200 ปีดูก่อน ในวันที่ฟุตบอลเป็นอะไรที่ง่าย ๆ เตะบอลให้เข้าโกลของอีกฝั่ง เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับการแข่งขันมากที่สุด การเป็นคนแรกยากเสมอ เพราะไม่มีตัวอย่างให้ลอกเลียนแบบ ต้องคิดเองทำเองล้วน ๆ 

เมื่อคนที่อยู่ภาคเหนือมาเจอกับคนที่อยู่ภาคใต้ ต่างฝ่ายต่างก็มีกติกาและวิธีการเล่นที่แตกต่างกันออกไป โดยเรื่องของเวลานั้นทั้งทีมฝั่งลอนดอนและทีมเชฟฟิลด์ ก็เล่นด้วยเวลาในแต่ละแมตช์ที่แตกต่างกันในบ้านของตัวเอง 

เดิมทีหลัก ๆ นั้นพวกเขาจะเล่นกันแบบเกมเดียวยาวจนจบ ถ้าเกมยาวเกินไปใครยิงได้ก็เป็นฝ่ายชนะ เพียงแต่ว่าการหาทางออกบางครั้งมันก็ไม่ได้ง่าย ถ้าเล่น ๆ ไปแล้วต่างฝ่ายต่างไม่มีใครเสียประตูล่ะ จะหาผู้ชนะกันอย่างไร ? นั่นคือคำถามที่ไม่รู้จะตอบยังไงให้แฟร์จริง ๆ

 

หลัก ๆ แล้วต้นแบบกติกาการเล่นจะมาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่เชื่อว่าถ้ายิ่งเล่นยาวแบบไม่มีพักครึ่ง ก็มีโอกาสที่เกมจะจืดชืด เพราะนักกีฬาจะหมดแรงก่อนยิงประตูกันได้ พวกเขาเลยคิดว่าทางที่ดีควรจะแบ่งเป็น 2 ครึ่งเวลา โดยจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงในแต่ละครึ่ง โดยใช้ผู้เล่นฝั่งละ 20 คน ขณะที่การพักครึ่งนั้นไม่มีเวลากำหนดตายตัวว่ามีกี่นาที คาดว่าน่าจะพักจนกว่าจะหายเหนื่อยแล้วกลับมาเตะกันต่อไหว อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์จากจำนวนผู้เล่น 20 คนต่อ 1 ทีม ก็ไม่น่าจะพักนานนัก เผลอ ๆ นักเตะบางคนอาจจะยังไม่ได้โดนบอลเลยด้วยซ้ำสำหรับกติกาแบบเก่า 

แม้ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผล แต่การเอากติกาจากมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในประเทศมาใช้ ก็คงพอเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจได้ เพียงแต่อะไรที่มันไม่ดี ไม่ลงตัว ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนจนกว่าจะลงล็อก จะเห็นได้ว่า “40 คนในสนาม เล่นเกมละ 2 ชั่วโมง ไม่รวมช่วงพักเหนื่อย” ดูน่าจะวุ่นวายและจัดการยากพอสมควร ฝั่ง เชฟฟิลด์ จึงเป็นคนคิดกติกาใหม่ออกมา นั่นคือให้เล่นกัน 2 ชั่วโมงแบบเดิม แต่ลดเวลาจากครึ่งละ 1 ชั่วโมง มาเป็นครึ่งละ 45 นาที รวม 2 ครึ่งเป็น 90 นาที อีก 15 นาทีเป็นช่วงเวลาของการพักครึ่ง โดยในส่วนนี้ได้แรงบันดาลใจมากจากการพักครึ่งของกีฬารักบี้ที่ก็ใช้เวลาพัก 15 นาทีเช่นกัน เมื่อนำเวลาทั้งหมดมารวมกันก็จะได้ 105 นาที นั่นหมายความว่าอีก 15 นาทีจะถูกตีไว้เป็นกฎหลวม ๆ ในส่วนของการทดเวลาบาดเจ็บนั่นเอง  

 

120 นาทีเท่านั้น แต่ทำให้มันดูมีระเบียบและระบบมากขึ้น ดีต่อคนดู ง่ายต่อคนเล่น แค่หลับตานึกภาพก็ดูดีกว่าการนับ 2 ชั่วโมงแบบเดิมเยอะเลยทีเดียว

ข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นจากการร่วมระดมความคิดกันระหว่างฝั่งเชฟฟิลด์และทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ที่เพิ่งก่อตั้งในปี 1863 ซึ่งหน้าที่หลักของทางสมาคมก็เป็นการจัดการแข่งขันและนัดแนะทีมต่าง ๆ ให้มาแข่งขันกันตามที่นัดหมายไว้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทีม เชฟฟิลด์ จึงได้แข่งกับทีม ลอนดอน แบบนัดหมายเป็นครั้งแรกตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

การเคาะเวลาครั้งนี้ดูจะเป็นอะไรที่ลงตัวมาก เพราะหลังจากนั้นแม้จะไม่มีการบังคับเวลาและจำนวนผู้เล่นในสนามอย่างเป็นทางการ แต่ฟุตบอลในหลาย ๆ ที่ของอังกฤษก็เริ่มอิงตามกฎเชฟฟิลด์แล้ว 

 

ซึ่งเหตุผลที่กฎนี้ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ได้ ก็น่าจะมีเหตุผลมาจากฟุตบอลได้เจอเวลาที่เหมาะสมกับมันที่สุดแล้ว ครึ่งละ 45 นาที พัก 15 นาที ทดเวลาบาดเจ็บรวมสองครึ่งเป็นเวลา 5 นาทีโดยประมาณ พวกเขาได้สมการที่ลงตัว เมื่อมีหลายท้องที่เริ่มอิงระบบนี้มากขึ้น สุดท้ายในปี 1897 ก็มีการบันทึกอย่างเป็นทางการว่าฟุตบอลจะแข่งกันโดยใช้เวลา 90 นาที 

หลังจากนั้นเป็นต้นมาทีมฟุตบอลทีมใดที่ต้องการลงเล่นภายใต้การจัดการแข่งขันของ เอฟเอ ก็ต้องใช้กฎเวลาแข่งขัน 90 นาที อย่างเป็นทางการมาจนถึงปัจจุบัน

วิเคราะห์ต่ออีกสักนิด 

หากยังค้างคาใจกันอยู่ เราจะมาต่อกันอีกด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกายดูบ้าง หากใช้เหตุผลในเรื่องนี้ฟุตบอลยังควรจะเตะกัน 90 นาทีอยู่หรือไม่

 

มีบทความเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่สอดคล้องกับฟุตบอลว่าด้วยการออกกำลังกายครั้งละไม่น้อยกว่า 45 นาที ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบกับฟุตบอล 1 ครึ่งได้ 

ว่ากันว่า 15 นาทีแรกของการออกกำลังกาย ร่างกายจะดึงพลังงานหลักเอาไปใช้เป็นพลังในการออกกำลังกาย หลังจากนั้นนาทีที่ 15-30 ร่างกายจะเริ่มดึงพลังงานสำรองที่ได้มาจากแป้งออกมาใช้ ขณะที่ในช่วงเวลาของนาทีที่ 30-45 นั้นเมื่อร่างกายรู้ว่ามีการเผาผลาญมากเกินกว่าปกติ ร่างกายของเราจะนำเอาพลังงานสำรองในรูปแบบของไขมันออกมาใช้ 

นั่นหมายความว่า 45 นาที ต่อ 1 ครึ่งพอดีเป๊ะ … เรียกได้ว่าเข้าข่ายเหมาะกับการออกกำลังกายด้วย 

 

ขณะที่ภาพรวมของการออกกำลังกาย 90 นาที ก็ยังมีอีกบทความที่มีเวลาสอดคล้องกันระหว่างการออกกำลังกายกับฟุตบอล 1 แมตช์ด้วย

 

หากเราออกกำลังกายแบบแอโรบิค หรือ การออกกำลังกายแบบที่ต้องใช้อากาศหรือออกซิเจน หรือก็คือต้องหายใจในขณะที่กำลังออกกำลังกายเพื่อนำเอาออกซิเจนไปเป็นตัวช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน 90 นาทีนั้นถือว่าเป็นอะไรที่มากจนเกินไป 

แต่อย่าลืมว่านี่คือฟุตบอล ฟุตบอลไม่มีการใช้พลังเต็มสูบวิ่งเต็มสปีดตลอดเวลา ฟุตบอลเป็นศาสตร์ที่รวมกันระหว่าง แอโรบิค และ อนาโรบิค (การออกกำลังกายที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการเผาผลาญสารอาหารให้เกิดพลังงาน) หรือยกตัวอย่างง่าย ๆ คือการยกเวท เป็นต้น ซึ่งหากมีการออกกำลังทั้งสองอย่างควบคู่กันไปทั้ง แอโรบิค และ อนาโรบิค จะได้ข้อสรุปว่า 90 นาทีคือเวลาที่เหมาะสมและไม่หนักจนเกินไปนัก ถ้ามากกว่านี้ก็เสี่ยงที่จะบาดเจ็บและมีอาการปวดล้าตามร่างกาย 

ซึ่งเรื่องนี้ก็สัมพันธ์กับฟุตบอลพอสมควร ตัวอย่างเช่นเกมฟุตบอลถ้วยที่หาผู้ชนะใน 90 นาทีไม่ได้ และต้องเล่นต่อเวลาพิเศษอีก 30 นาที เราจะได้เห็นนักฟุตบอลหลายคนเป็นตะคริวหรือมีอาการบาดเจ็บจนเล่นต่อไม่ได้ ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็จะล้าเกินไปจนได้พักในเกมนัดต่อไป เป็นต้น 

สรุปได้จากการวิเคราะห์แล้วว่า 90 นาทีสำหรับการแข่งฟุตบอลนั้นเหมาะสมดีแล้วไม่ว่าจะในแง่ของความสนุกและความต่อเนื่องในการเล่น รวมถึงเรื่องของสุขภาพและขีดจำกัดของร่างกาย

นี่คือคำตอบคร่าว ๆ ที่เป็นเหตุผลว่าทำไมฟุตบอลจึงเล่นกัน 90 นาที มานานกว่า 124 ปี แล้วนั่นเอง