sportpooltoday

ซิลาส : การเปลี่ยนชื่อของนักเตะที่สร้างแต่ปัญหาและไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร ?


ซิลาส : การเปลี่ยนชื่อของนักเตะที่สร้างแต่ปัญหาและไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร ?

ย้อนกลับไปราวปี 2020 ชื่อของ ซิลาส วามันกิตูก้า กองหน้าของทีมสตุ๊ตการ์ทถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะนักเตะหน้าใหม่ ฟอร์มดี มีโอกาสแจ้งเกิดในเวทีบุนเดสลีกาอย่างเต็มตัว จากการยิงถึง 11 ประตูในฤดูกาลแรกบนลีกสูงสุด

ทุกอย่างกำลังเดินทางสู่ขาขึ้น เขาเข้าชิงรางวัลนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยม เป็นที่หมายตาของหลาย ๆ ทีม และกลายเป็นที่รักของแฟนบอลสตุ๊ตการ์ท … ทว่าเขากลับเลือกที่จะทิ้งความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า ด้วยการเปิดเผยว่าที่จริงแล้วเขาไม่ใช่คนที่ยิ่งใหญ่อะไรขนาดนั้น

นี่คือเรื่องราวการตัดสินใจเปลี่ยนชื่อแซ่นามสกุล ที่นำมาซึ่งปัญหาที่เขาต้องแบกรับมาตลอด 4 ปี จนทนไม่ไหวอีกต่อไป

ติดตามเรื่องนี้ได้ที่ Main Stnd

แค่เด็กที่มีฝัน

แอฟริกา คือดินแดนแห่งความยากจน ประโยคดังกล่าวไม่ได้เป็นการเหมารวมหรือคิดไปเอง แต่นี่คือทวีปที่มีถึง 10 ประเทศที่ติดท็อป 10 ของประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยของประชากรต่ำที่สุดในโลก 

เหตุผลของความแร้นแค้นต้องย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อนในสมัยที่ประเทศในยุโรปมีความนิยมในการล่าอาณานิคม ประเทศใดที่อ่อนแอ ยากจน และด้อยพัฒนา ชาวยุโรปจะยึดครองประเทศเหล่านั้นให้เป็นประเทศราช

แม้การเข้ายึดครองจะใช้เหตุผลดี ๆ มากมายในการทำให้ตัวเองกลายเป็นมหาอำนาจที่ชอบธรรม แต่ปลายทางนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ แทรกแซง และยึดครอง … ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ชาวแอฟริกันหลายประเทศต้องพบเจอกันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่กระทั่ง ดีอาร์ คองโก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ซิลาส คาตอมปา เอ็มวูมปา (Silas Katompa Mvumpa) นักเตะที่เข้าชิงรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมของบุนเดสลีกาในฤดูกาล 2020-21 ร่วมกับแข้งดังอย่าง จู๊ด เบลลิงแฮม 


Photo : welt.de

 

เรื่องราวของเขาไม่ได้ต่างจากนักเตะแอฟริกันคนอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงมากมายนัก ในวันที่เขาเริ่มต้นหัดเล่นฟุตบอลด้วยเท้าเปล่า เขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเข้าศูนย์ฝึกที่มีคอนเน็กชั่นกับทีมในยุโรป เพื่อการได้ออกไปเผชิญโลกฟุตบอลในต่างแดนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ในความโชคร้ายจากอดีต ดีอาร์ คองโก ยังหลงเหลือโชคดีอยู่บ้างจากการเคยตกเป็นประเทศอาณานิคมของเบลเยียม เพราะความสัมพันธ์ในอดีตรวมถึงการมีชาวเบลเยียมมาตั้งรกรากที่คองโกเพื่อหาผลประโยชน์จากทรัพยากรที่นี่ไม่ว่าจะทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติหรือทรัพยากรมนุษย์ก็ตาม มันทำให้เส้นทางการผ่านทางจาก ดีอาร์ คองโก และ เบลเยียม ไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก

มีแมวมองที่มีคอนเน็กชั่นกับสโมสร อันเดอร์เลชท์ ทีมดังในเบลเยียมที่ได้เห็นฝีเท้าของ ซิลาส ในตอนที่เขาเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลท้องถิ่นชื่อว่า Olympic Matete FC เบื้องต้นคือการไปทดสอบฝีเท้าเพื่อโอกาสและความก้าวหน้าในอาชีพ ดังนั้นไม่มีเหตุผลอะไรที่ ซิลาส จะต้องปฏิเสธ เขาเก็บกระเป๋าออกจาก คองโก ด้วยตัวคนเดียวตั้งแต่อายุ 17 ปี และบอกตัวเองว่าไม่ว่าจะปัญหาอะไรที่รออยู่ เขาจะต้องรับมือให้ได้ และจะกลับมาที่ ดีอาร์ คองโก อีกครั้งก็ต่อเมื่อเขาได้กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพแล้ว 

การเริ่มต้นสู่ความฝันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอุปสรรคที่ต่อให้ไม่ต้องเรียกร้องมันก็พร้อมจะทดสอบความสามารถของเขาเช่นกัน และเขาจะได้เจอมันที่ เบลเยียม … ดินแดนที่เขาเคยได้ยินแต่ชื่อ

คว้าไว้โดยไม่สนข้อแม้ 

การมาทดสอบฝีเท้าที่อันเดอร์เลชท์นั้น มันเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับนักเตะที่ไม่ได้เรียนรู้ฟุตบอลแบบมืออาชีพมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้ถูกสอนในอคาเดมีที่ได้มาตรฐาน ซิลาส มาแต่ตัวกับประสบการณ์แบบครูพักลักจำ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่เขายังคงไม่สามารถทำผลงานได้น่าประทับใจตลอดการทดสอบฝีเท้า 2 เดือนในเบลเยียม 


Photo : welt.de

ช่วงระหว่างการรอผลการทดสอบ ซิลาส ได้ลองไปลงเล่นให้กับทีมที่มีชื่อว่า อาเลส ซึ่งเป็นทีมกึ่งอาชีพที่อยู่ระดับดิวิชั่น 5 ของฝรั่งเศส โดยลีกระดับสมัครเล่นนั้นไม่มีความจำเป็นต้องลงทะเบียนนักเตะตามตลาดซื้อขายเหมือนกับลีกใหญ่ พวกเขาแค่ต้องทำเอกสารส่งชื่อนักเตะให้เรียบร้อยก่อนการแข่งขันจะเริ่มสัก 1 สัปดาห์ เท่านี้ก็จะสามารถใช้นักเตะใหม่ลงสนามได้ทันที โดยค่าจ้างก็จะจ่ายตามที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายนัด

ซิลาส ไม่มีทางเลือกอะไรระหว่างช่วงที่เขารอผลการทดสอบกับอันเดอร์เลชท์อย่างลม ๆ แล้ง ๆ เขาคิดว่ามันคงจะดีกว่าหากได้ไปลงเล่นในยุโรปดูสักครั้ง แม้จะเป็นลีกกึ่งอาชีพแต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เลวนักสำหรับคนที่เพิ่งจากบ้านเกิดมาไม่กี่เดือนอย่างเขา 

เพียงแต่ปัญหามันอยู่ตรงนี้ … การมายุโรปของ ซิลาส เป็นการมาตามใบสั่งของเอเยนต์ที่ชื่อว่า โอลิวิเยร์ เบเลซี (Olivier Belesi) หน้าที่ของเขาคือการทำตามคำแนะนำของผู้นำพาแม้ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกแต่ก็ต้องทำ เพราะเขายังใหม่มาก ๆ กับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ รวมถึงงานเอกสารต่าง ๆ ที่เขามอบหน้าที่เหล่านี้ให้กับเอเยนต์ที่นำเขามาจากคองโกให้เป็นคนจัดการทั้งหมด จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนมาบอกเขาว่าเขาต้องเปลี่ยนชื่อ

 

เบเลซี เริ่มต้นข่าวร้ายโดยบอกกับ ซิลาส ว่าการทดสอบกันอันเดอร์เลชท์นั้น “ไม่ผ่าน” แต่ก็ตามด้วยข่าวดีที่มีตลอดการเล่นให้กับ อาเลส (ตามข้อมูลที่วิกิพีเดียลงไว้คือ 6 นัดยิง 1 ประตู) ทำให้มีสโมสรจากลีกรองของประเทศฝรั่งเศสอย่าง ปารีส เอฟซี ต้องการตัวเขาไปร่วมทีม เพียงแต่ข้อแม้ก็คือจากนี้ ซิลาส จะต้องลบตัวตนของเขาทิ้งทั้งหมด โดยเปลี่ยนชื่อในใบแจ้งเกิดใหม่จาก ซิลาส คาตอมปา เอ็มวูมปา เป็น ซิลาส วามันกิตูก้า 


Photo : foot.cd

นอกจากชื่อแล้วอายุของเขาจะต้องเปลี่ยนด้วย จากเดิมที่เกิดในปี 1997 ก็จะถูกแก้ใหม่ให้เป็นปี 1998 เหตุผลเดียวก็เพราะว่าการเป็นนักเตะอายุน้อยจะทำให้เขาเป็นที่ต้องการมากกว่านั่นเอง 

ซิลาส ที่อายุจริงคือ 18 ปี แต่เขาต้องปล่อยให้เอเยนต์ทำเอกสารใหม่เพื่อหลอก ปารีส เอฟซี ว่าเขาอายุ 17 ปี … อย่างน้อย ๆ ก็ยังมีเวลามากกว่าเดิม 1 ปีในทีมชุดสำรองหรือเยาวชน ซึ่งตัวของ ซิลาส เองนอกจากจะยังไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมแล้ว ใจเขายังคิดแต่เพียงว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แค่เขาได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพตามฝันก็พอแล้ว 

ฝันรออยู่ข้างหน้าถ้าไม่คว้าไว้ก็คงใช่ที่ เขายอมรับข้อแม้นั้นเพื่อให้ฝันเป็นจริง แต่ปัญหาคือความฝันนั้นกำจะเป็นสิ่งที่เขาต้องแบกไว้บนบ่าและกังวลกับมันไปอีกนานแสนนาน

ข้อเสียของการนับ 1 ด้วยคำโกหก

ซิลาส ลงเล่นในทีมชุดสำรอง 1 ปีด้วยการโกงอายุ หลังจากนั้นเขาก็ขยับขึ้นมาเล่นให้ทีมชุดใหญ่ทันทีและบังเอิญว่าดันทำผลงานได้ดีเกินคาด นักเตะตำแหน่งตัวรุกที่เล่นได้ทั้งปีกและกองหน้า มีร่างกายกำยำแข็งแรง วิ่งเร็ว และสูง 190 เซนติเมตร นี่คือกองหน้าสไตล์แอฟริกันขนานแท้ ขอแค่ทำความเข้าใจเรื่องจังหวะและวิธีการเล่น เท่านั้นก็ได้เรื่อง แล้วบังเอิญว่า ซิลาส ก็ทำได้จริง ๆ ภายในระยะเวลาสั้น ๆ อีกด้วย 


Photo : vfb.de

ปีแรกกับทีมชุดใหญ่ เขายิงไป 11 ประตูจาก 32 เกมในการลงเล่นใน ลีก เอิง ช่วยให้ ปารีส เอฟซี มีผลงานดีรอดตกชั้นสบาย ๆ ตอนนี้เรื่องการโกงอายุไม่เกี่ยวแล้ว เขาไม่ได้เล่นกับเด็ก ๆ อีกต่อไป เขาเก่งจริง ๆ แม้จะต้องดวลกับนักเตะอาชีพคนอื่น ๆ และนั่นก็ทำให้เขาได้รับการติดต่อจาก สตุ๊ตการ์ท สโมสรที่อยู่ใน ลีกา 2 เยอรมัน  

ซิลาส พบว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่ควรจะต้องโกงอายุด้วยซ้ำ เพราะต่อให้ย้ายลีกมาอยู่กับลีกที่เข้มข้นกว่า เขาก็ยังเป็นนักเตะคนสำคัญของ สตุ๊ตการ์ท และช่วยให้ทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ เพียงแต่ว่าเรื่องมันเกิดขึ้นไปแล้ว และจะแก้ไขอะไรก็ไม่ได้ ตราบใดที่เรื่องยังไม่แดงเขาก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร … เพียงแต่ว่าตัวของเขารู้ทั้งรู้ว่ากำลังโกหกคนอื่น ๆ อยู่เท่านั้น และมันก็มีเรื่องบังเอิญที่ทำให้เขาต้องเครียดหนักกับคำโกหกที่เขายอมให้เริ่มขึ้นโดยเต็มใจ

 

ฤดูกาล 2020-21 ซิลาส ลงเล่นในบุนเดสลีกา ปะทะกับทีมยักษ์ใหญ่มากมาย แต่ความแกร่งของเขาไม่ได้ลดลง เขายังเป็นตัวอันตรายอันดับ 1 ของ สตุ๊ตการ์ท หนำซ้ำยังเด่นยิ่งกว่าตอนเล่นในลีกรองอีกต่างหาก ซิลาส จบฤดูกาลดังกล่าวด้วยการซัดไปถึง 11 ประตู ทำไปอีก 4 แอสซิสต์ พร้อมด้วยสถิติท็อป 5 นักเตะที่ทำความเร็วได้สูงสุดของลีกที่ 35.4 กิโลเมตร และนั่นทำให้เขาเข้าชิงรางวัล “รุกกี้” ยอดเยี่ยมประจำซีซั่นของบุนเดสลีกา … ตอนนี้แหละที่ปัญหาเกิด 

ซิลาส ที่อยู่ในวัย 21 ปี ตามใบแจ้งเกิดที่โกงอายุ ถูก เดเอฟเบ หรือสมาคมฟุตบอลเยอรมัน เลือกให้เป็น 1 ใน 6 นักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำปีของลีกร่วมกับแข้งดังอย่าง จู๊ด เบลลิงแฮม (17 ปี) จาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ จามัล มูเซียล่า (18 ปี) จาก บาเยิร์น มิวนิค

การโกงของเขาส่งผลต่อคนอื่น ๆ แล้วในเวลานี้ แม้การโกงอายุจะไม่ได้มีผลกระทบมากมายนักในสนาม แต่เมื่อต้องมาแย่งรางวัลกับนักเตะรุ่นน้อง 3-4 ปี แบบนี้ ซิลาส คิดว่ามันไม่แฟร์ และเขาก็กำลังรู้สึกผิดอยู่ในใจ 

ขณะที่แฟน ๆ และผู้คนในสโมสรต่างยินดีกับความสำเร็จของ ซิลาส เขากลับยิ่งรู้สึกกดดันและเครียดมากกว่าตอนที่เขาเป็นนักเตะที่ไม่มีใครรู้จักเสียอีก และสุดท้ายเขาก็เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุด นั่นคือการ “บอกความจริง” ว่าตัวเองโกหก

สารภาพความจริง 

ว่ากันว่าเรื่องของการโกหกนั้น หากได้เริ่มครั้งแรกแล้วก็จะต้องโกหกต่อไปเรื่อย ๆ และคำโกหกนั้นก็จะกัดกินผู้โกหกไปเรื่อย ๆ ซึ่ง ซิลาส เองก็เป็นเช่นนั้น เพราะสุดท้ายเขาก็ทนความกดดันนั้นไม่ไหว เขาเปิดใจคุยกับสโมสร สตุ๊ตการ์ท ถึงความจริงทั้งหมดว่าชื่อที่แท้จริงของเขาคือ ซิลาส คาตอมปา เอ็มวูมปา และมีอายุ 22 ปี ไม่ใช่ 21 ปี ตามที่หลายคนเข้าใจ 

“ผมอยู่กับความหวาดกลัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมเป็นห่วงครอบครัวในคองโก มันยากมากที่ผมจะเปิดเผยเรื่องนี้” ซิลาส วามันกิตูก้า กล่าวผ่านเว็บไซต์สโมสร


Photo : welt.de

2 สัปดาห์หลังจากได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ซิลาส ตัดสินใจบอกเช่นนี้ มันคือการตัดสินใจที่กล้าหาญเพราะตัวเขาเองพร้อมเผชิญกับความจริงและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เขาบอกกับ โอลิวิเยร์ เบเลซี เอเยนต์เก่าของเขาว่าจะยกเลิกสัญญาข้อตกลงทั้งหมด และจะขออยู่กับเอเยนต์คนใหม่ ซิลาส พร้อมหักและไม่กลัวว่า เบเลซี จะแฉเรื่องของเขาแม้แต่น้อย เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ เขาจะบอกเรื่องนี้กับทุกคนด้วยตัวเอง

เขาปรึกษากับเอเยนต์คนใหม่และผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพในสโมสรเพื่อบอกความจริงที่เขาเก็บงำไว้ จากนั้นเขาก็ประกาศต่อหน้าสื่อและเริ่มเล่าว่า เหตุผลที่ต้องปลอมอายุและสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่นั้นเป็นเรื่องสมัยที่เขาต้องคัดตัวเข้าสู่สโมสร อันเดอร์เลชท์ ในประเทศ เบลเยียม ซึ่ง ณ เวลานั้นเขาอายุ 18 ปี และจำเป็นจะต้องกลับไปต่อเอกสารการเดินทางที่ประเทศบ้านเกิดอย่าง ดีอาร์ คองโก ทว่าเอเยนต์ของเขาขู่ว่าหากเจ้าตัวเดินทางกลับตอนนี้จะไม่มีวันมาค้าแข้งในยุโรปได้อีกเป็นครั้งที่ 2

เขายอมรับความผิดนั้นและยืนยันว่ามันเกิดขึ้นจากความกลัวที่มีต่อเอเยนต์คนเก่า ซึ่งย้อนกลับไป 4 ปีก่อนเขายังเด็กเกินกว่าที่จะตัดสินใจอะไรได้เอง เพราะเขาตัวคนเดียวในการมาแสวงโชคที่ยุโรป 

“ที่ผมกล้าออกมาพูดวันนี้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากทีมที่ปรึกษาใหม่ของผม ผมตระหนักแล้วว่าไม่มีอะไรต้องกลัว เราสามารถเปิดเผยทุกอย่างได้”

“ผมจะไม่กล้าทำแบบนี้ ถ้าไม่รู้สึกว่าสตุ๊ตการ์ทเป็นบ้านหลังที่สองของผม บ้านที่ผมรู้สึกว่าปลอดภัย ตอนนี้ผมโล่งแล้ว ผมหวังว่าผมจะเป็นแรงผลักดันให้กับนักเตะคนอื่น ๆ ที่ต้องเจอประสบการณ์แบบเดียวกับผมในเรื่องการตกอยู่ภายใต้คำสั่งของเอเยนต์” ซิลาส กล่าว 

การเปิดเผยความจริงส่งผลกระทบต่ออาชีพของเขา เขาต้องรับคำผิดชอบกับคำโกหกนั้นด้วยการถูกลงโทษจาก เดเอฟเบ ด้วยการปรับเงิน 30,000 ปอนด์ และถูกแบนจากการแข่งขันเป็นเวลา 3 เดือน 

หากคุณกำลังสงสัยว่ากับคดีปลอมแปลงเอกสารทำไมจึงปรับเงินน้อยและแบนในระยะเวลาสั้น ๆ ที่ตรงกับช่วงพักฤดูกาล … มันควรจะมากกว่านี้ไหมสำหรับโทษดังกล่าว ? คำตอบของคำถามนี้คือเจ้าทุกข์อย่าง สตุ๊ตการ์ท ได้ให้การณ์สนับสนุน ซิลาส ทุกอย่าง และเชื่ออย่างสนิทใจว่าการที่นักเตะออกมาบอกเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเขามีเจตนาดี และไม่ต้องการทำให้เรื่องโกหกของเขาลุกลามใหญ่โตไปมากกว่านี้ … เขาทำเพราะไม่ได้ตั้งใจ และควรได้โอกาสที่ 2 สำหรับการแก้ตัวใหม่ภายใต้ชื่อ ซิลาส คาตอมปา เอ็มวูมปา ชื่อเดิมที่เคยเป็นของเขามาตั้งแต่เกิดนั่นเอง

“เหนือสิ่งอื่นใดคือเขาทำเรื่องนี้เพราะว่าเขาเป็นเหยื่อ และสโมสรจะปกป้องเขาจนกระทั่งเรื่องนี้สิ้นสุดลง” สเวน มิสลินสตัดท์ ผอ.กีฬาของสตุ๊ตการ์ท ว่าไว้เช่นนั้น

ทุกวันนี้ ซิลาส กลับมาลงเล่นให้ สตุ๊ตการ์ท ได้แล้ว แม้ผลงานจะไม่โดดเด่นเหมือนเดิมเนื่องจากอาการบาดเจ็บ และถึงจะโดนมองด้วยภาพลบ ๆ ไปบ้าง แต่เขาก็ภูมิใจที่อย่างน้อย ๆ ก็ได้ปลดแอกความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายปีหลัง เหนือสิ่งอื่นใดเขากำลังส่งสัญญาณเตือนโลกลูกหนังด้วยว่ายังมีนักเตะแอฟริกันอายุน้อย ๆ อีกมากมายที่ต้องรับภาระความทุกข์แบบเขาเพื่อผลประโยชน์ของเอเยนต์ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว 

ที่สุดแล้วไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ แต่เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า “คำโกหก” นั้นสร้างภาระมากมายหากมันเริ่มต้นขึ้น แม้จะทำให้คุณรอดจากความผิดในครั้งแรก แต่สุดท้ายเรื่องดังกล่าวก็จะวนกลับมาให้ต้องแก้ไขอยู่ดี … ทางเดียวที่จะจบมันได้และกลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง คือการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำ พูดความจริงเสียแล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้นเอง