“บางทีอาจจะน้อยเกินไปที่จะพูดว่า ซอร์ยา คือจุดสูงสุดของทีมรองบ่อนในฟุตบอลยุโรป”
ห่ากระสุนที่รัวไม่ยั้ง, ลูกระเบิดที่ดังกึกก้อง กลายเป็นสิ่งที่คนในเมืองลูฮันสก์ต้องเผชิญ หลังเมืองของพวกเขาต้องกลายเป็นแนวหน้าในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ปะทุมาตั้งแต่ปี 2014
สงครามส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตของผู้คน รวมไปถึงทีมที่อยู่ในเมืองอย่าง ซอร์ยา ลูฮันสก์ จนต้องระหกระเหินลี้ภัยไปเล่นในต่างเมือง และทำให้สถานการณ์ของพวกเขาที่ย่ำแย่ต้องเลวร้ายลงไปอีก
อย่างไรก็ดี ภายใต้ปัญหาที่ถาโถมเข้ามา ซอร์ยา กลับสามารถผ่านเข้าไปเล่นในสโมสรยุโรปได้เกือบทุกปี แถมครั้งหนึ่งยังเคยโคจรมาพบกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมดังของอังกฤษ
ติดตามเรื่องราวอันน่าทึ่งของทีมเล็กๆจากยูเครนไปพร้อมกับ Main Stand
สโมสรจากเมืองอุตสาหกรรม
ซอร์ยา ลูฮันสก์ ถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่เก่าแก่ของยูเครน มันถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1923 หรือ 4 ปีก่อนการกำเนิดของ ดินาโม เคียฟ จากคนงานหัวรถจักรในเมืองลูฮันสก์ (ชื่อเดิมโวโลชิลอฟกราด) เมืองอุตสาหกรรม ทางตะวันออกของยูเครน สมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองสภาพโซเวียต
แม้ว่า ลูฮันสก์ เป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องถ่านหิน และศูนย์กลางการผลิตของสหภาพโซเวียต แต่ถึงอย่างนั้น ซอร์ยา ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ในลีกของยูเครน ซึ่งเป็นลีกระดับ 4 และเพิ่งขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดในช่วงทศวรรษที่ 1960s โดยมีผลงานที่ดีที่สุดคือการคว้าแชมป์โซเวียตท็อปลีกได้ในปี 1972
แถมหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ซอร์ยา ต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก เมื่อต้องดิ้นรนอยู่ในโซนท้ายตารางของลีกยูเครนเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงร่วงตกชั้นลงไปเล่นในลีกระดับ 3 ในช่วงปี 1998-2003
อย่างไรก็ดี ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป หลังการเข้ามาของ ยูริ เวอร์นิดับ อดีตกองหลังของ เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ในตอนแรกเขาเป็นเพียงผู้ช่วยของ อนาโตลี ชานเตฟ โค้ชใหญ่ในตอนนั้น แต่ก็ถูกดันขึ้นมาเป็นกุนซือรักษาการณ์ในปี 2011 และได้คุมทีมเต็มตัวในซีซั่นต่อมา
เวอร์นิดับ ใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย เปลี่ยน ซอร์ยา จากทีมดิ้นรนหนีตกชั้นมากลายเป็นทีมกลางตารางได้อย่างน่าชื่นชม ก่อนที่ในปี 2013 เขาจะสร้างเซอร์ไพรส์พาทีมเข้าไปเล่นในยูโรปาลีกได้สำเร็จ
ฤดูกาล 2013-2014 จึงเป็นซีซั่นที่ชาวเมือง ลูฮันสก์ ต่างรอคอย เพราะนี่คือเกมสโมสรยุโรปครั้งแรกของเมืองในรอบกว่า 40 ปี
แต่น่าเศร้าที่สุดท้ายมันไม่เคยเกิดขึ้นที่เมืองนี้..
สงครามแบ่งแยกดินแดน
มันเกิดขึ้นโดยที่พวกเขาไม่ได้ตั้งตัว เมื่อการประท้วงขับไล่ วิคตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซีย ในการปฏิวัติยูโรไมดาน เมื่อปี 2014 ได้ทำให้ รัสเซีย ตัดสินใจเคลื่อนพลเข้าบุกแหลมไครเมีย และให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองลูฮันสก์
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “สงครามดอนบาส” สงครามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงสนามเหย้าของ ซอร์ยา ลูฮันสก์ ที่เสียหายอย่างหนักจากคมกระสุนและลูกระเบิดที่ตกลงกลางสนามจนเป็นหลุมกว้าง จนทำให้พวกเขาต้องหนีตาย ในฤดูกาลเดียวกันกับที่พวกเขาจะได้เล่นฟุตบอลสโมสรยุโรป
“ตอนที่ผมและภรรยาไปฮันนีมูน เพื่อนบอกผมว่ามีการสู้รบกันแล้วในเมือง พอเรากลับมาที่นั่นก็กลายเป็นสงคราม” พาพโล โปเชนโก เจ้าหน้าที่ด้านสื่อของซอร์ยากล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2014 กับ Daily Mail
“เราพยายามไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติ แต่ทุกวันมันยากขึ้น ตอนกลางคืนเราได้ยินเสียงปืนจากพวกอาวุธหนัก กระจกหน้าต่างสั่นไหว และบางครั้งแผ่นดินก็สะเทือน”
“คุณมักจะได้ยินสัญญาณเตือนภัยการโจมตีกลางอากาศ ขณะที่เครื่องบินรบอยู่บนหัวเรา ความตึงเครียดในเมืองนั้นหนักมาก เราจึงคิดถึงการย้ายออกไปชั่วคราว และออกจากเมืองลูฮันสก์ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และมันก็นานมากแล้วที่เราไม่ได้กลับไป”
ฤดูกาล 2013-2014 จึงเป็นฤดูกาลแห่งความวุ่นวายของ ซอร์ยา อย่างแท้จริง พวกเขาต้องย้ายมาอยู่ที่เมืองซาโปริเซีย ที่อยู่ห่างจากลูฮันสก์ กว่า 320 กิโลเมตร และให้นักเตะและสตาฟฟ์โค้ชใช้ชีวิตอยู่ในแฟลตที่สโมสรเช่าให้ไปก่อน
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เมืองดังกล่าวไกลจากถิ่นเดิมของพวกเขากว่า 7 ชั่วโมง จึงทำให้เกมในบ้านของพวกเขาที่ สลาวุติช อารีนา ในฤดูกาลดังกล่าวมีผู้ชมเพียงแค่หยิบมือราวหลักร้อยคนเท่านั้น
ขณะที่เกมสโมสรยุโรป แม้จะย้ายมาเตะที่กรุงเคียฟ (ตอนหลังย้ายมาเล่นที่โอเดสซา) แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก เมื่อมีแฟนบอลเข้ามาชมเกมในรอบเพลย์ออฟระดับหลักพัน ก่อนที่ท้ายที่สุดฤดูกาลนั้น พวกเขาจะทำได้ดีที่สุดเพียงแค่รอบเพลย์ออฟเท่านั้น
นอกจากนี้ ซอร์ยา ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน เมื่อการต้องไปเล่นในสนามเมืองอื่นทำให้พวกเขาต้องแบกภาระทั้งค่าที่พักของนักเตะและสตาฟฟ์โค้ช, ค่าเช่าสนามแข่ง, สนามซ้อม, อุปกรณ์การซ้อม กลายเป็นรายจ่ายที่สวนทางกับรายได้อันน้อยนิด เนื่องจากไม่สามารถเก็บค่าตั๋วเข้าชมหรือขายของที่ระลึกได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
“มันเป็นสถานการณ์ที่ยากสุดๆ ระบบโครงสร้างพื้นฐานของเรายังอยู่ที่ลูฮันสก์” เซอร์กี ราไฟลอฟ ผู้บริหารของ ซอร์ยา กล่าวกับ DW
“การต้องไปเล่นในเมืองอื่นทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เราต้องเช่าสนามแข่ง, สนามซ้อม, อุปกรณ์ฝึกซ้อม และหอพัก”
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่พวกเขาต้องเผชิญ..
นักเตะสมองไหล
จากข้อมูลของทางการระบุว่า นับตั้งแต่สงครามดอนบาสปะทุขึ้นเมื่อปี 2014 มีผู้สังเวยชีวิตไปแล้วกว่า 14,000 คน และอีก 1.5 ล้านคนต้องอพยพหนีตาย เช่นกันกับนักเตะหลายคนใน ซอร์ยา ลูฮันสก์ ที่ขอย้ายออกจากสโมสรเพื่อความปลอดภัย
“มันเป็นเรื่องจริงที่มีคนเสียชีวิต และมันก็ไม่ดีเลย ผู้เล่นหลายคนมีครอบครัว มันอันตรายมากสำหรับภรรยาและลูกของพวกเขา บางคนจึงต้องย้ายออกจากสโมสร” มิฮาอิล ซิวาคอฟ กองกลางชาวเบลารุส ที่อยู่กับทีมในช่วงปี 2015-2016 กล่าวกับ Daily Mail
ยกตัวอย่างเช่น ยานิค โบลี กองหน้าชาวไอวอรี่โคสต์ เขาปฏิเสธที่จะกลับมารายงานตัวในช่วงหน้าร้อนปี 2014 ก่อนจะถูกขายไปให้ อันซี มาคัชคาลา ในลีกรัสเซีย หรือ ดานิโล ดาวยิงชาวบราซิล ที่เคยมาค้าแข้งกับเชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นคนแรกๆที่ขอย้ายออกทันทีที่สงครามอุบัติขึ้น
“เหตุผลหลักคือ สงคราม มันยากมากในการใช้ชีวิตเมื่อสิ่งแบบนี้เกิดขึ้นในเมือง การเข่นฆ่ากัน, การยิงกันบนถนน เราออกไปไหนไม่ได้เลยในตอนกลางคืน ครอบครัวของผมไม่อยากกลับไปที่เมืองอีก” ดานิโล กล่าวกับ football.ua
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ ซอร์ยา ต้องเผชิญกับสภาวะสมองไหล แข้งฝีเท้าดีย้ายออกจากต่อเนื่อง แถมพวกเขายังไม่สามารถสร้างทีมเยาวชนขึ้นมาทดแทนจากการเป็นทีมลี้ภัย และยากที่สโมสรจะเติบโตอย่างยั่งยืน
“มันไม่ได้แค่ความลำบากที่ต้องออกไปเล่นนอกบ้านของตัวเอง แต่รวมถึงการใช้ชีวิต พนักงานของเราหลายคนมีญาติอยู่ที่นั่น และมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เจอกันอีก ทรัพย์สิน และบ้านของพวกเขา ทั้งหมดยังอยู่ที่ลูฮันสก์” เซอร์เก กล่าวกับ Vice
อย่างไรก็ดี ซอร์ยา ก็ไม่ได้ยอมแพ้ พวกเขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้สโมสรล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิธียืมนักเตะมาจากทีมใหญ่หรือซื้อนักเตะดาวรุ่ง ที่ไม่สามารถเบียดขึ้นไปเล่นในทีมชุดแรกของสโมสรใหญ่ได้ ต้องเอามาปลุกปั้นก่อนจะขายออกไปในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ
ยกตัวอย่างเช่น อันดรี ลูนิน ผู้รักษาประตูดาวรุ่งทีมชาติยูเครน ที่ซอร์ยาไปคว้ามาจาก ดนิโปร ก่อนจะขายไปให้ เรอัล มาดริด ด้วยราคาถึง 8.5 ล้านยูโร (305 ล้านบาท) หรือ บอกดาน มิคฮาลิคเชนโก ที่เอามาจาก ดินาโม เคียฟ แล้วขายให้ อันเดอร์เลชท์ ไปในราคา 5 แสนยูโร (ราว 17 ล้านบาท)
แนวทางดังกล่าวทำให้พวกเขาสามารถคงสถานะการเป็นทีมในลีกสูงสุด แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือสามารถคว้าตั๋วเข้าไปเล่นในสโมสรยุโรปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในปี 2015-16 ที่พวกเขาคว้ารองแชมป์ยูเครนคัพ จนได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบแบ่งกลุ่มยูโรป้าลีกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
และนั่นคือออกซิเจนถังใหญ่ของพวกเขา..
ยูโรป้าลีกต่อลมหายใจ
ฤดูกาล 2016-2017 เป็นปีแห่งความหวังของ ซอร์ยา เพราะนอกจากพวกเขาจะผ่านเข้าไปเล่นในยูโรป้าลีกรอบแบ่งกลุ่มแล้ว พวกเขายังได้โบนัสจากการได้ดวลกับทีมดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
สำหรับพวกเขา ยูโรป้าลีก จึงไม่ได้เพียงการได้ไปโชว์ผลงานในต่างประเทศ แต่เป็นเม็ดเงินที่จะเข้ามาจุนเจือสโมสร และเป็นเหตุผลที่ทำให้การไปเล่นในสโมสรยุโรปกลายเป็นเป้าหมายที่พวกเขา “ต้อง” ทำให้ได้ในทุกปี
“เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวจากความรักในฟุตบอล ความรักที่มีต่อทีม นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราไปต่อได้ แฟนของเราเชื่อมั่นในตัวเรา และเราก็ต้องไม่ทำให้พวกเขาผิดหวัง” เซอร์เก ราไฟลอฟ กล่าวกับ Vice
ทำให้แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถกำชัยได้เลยในรอบแบ่งกลุ่มครั้งแรกของสโมสร แต่โบนัสจากผลเสมอ 2 นัด รวมไปถึงส่วนแบ่งค่าตั๋วเข้าชม, ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ก็ต่อชีวิตของพวกเขาไปได้อีกไม่น้อย
“มันมีความหมายกับเรามาก และนำศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่มาสู่สโมสร กับการได้เล่นกับทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เฟเยนูร์ด และ เฟเนร์บาห์เช” เซอร์เก อธิบาย
“มันเป็นสิ่งสำคัญต่อขวัญกำลังใจ และสถานะทางการเงิน แน่นอนมันช่วยเติมเต็มงบประมาณให้แก่สโมสร”
ผู้บริหารคนเดิมยังกล่าวอีกว่า ผลงานในลีกนั้นมีความหมายต่อการอยู่รอดของพวกเขามาก ถึงขนาดหากว่าถ้าพวกเขาไม่ได้ไปเล่นในสโมสรยุโรป อาจจะทำให้ทีมล้มละลายได้
“มันอาจจะเข้าใจยากสำหรับบางคนที่ไม่ได้อยู่ในยูเครน มันยากสำหรับเรา แต่เราจะจัดการให้ได้” เซอร์เก กล่าว
สถานการณ์ที่บีบคั้นเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงขับสำคัญของสโมสร รวมไปถึงนักเตะดึงจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ออกมา และทำให้ทีมทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องและคว้าตั๋วไปเล่นในยูโรป้าลีกได้ทุกปี
แถมในปี 2017-2018 ซอร์ยา ยังได้จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสโมสร หลังคว้าชัยในรอบแบ่งกลุ่มเป็นครั้งแรก ด้วยการเอาชนะ แอธเลติก บิลเบา 1-0 และ แฮร์ธา เบอร์ลิน 2-1 รวมถึงเคยชนะเลสเตอร์ ซิตี้ ในฤดูกาล 2020-2021 อีกด้วย
“มันดีมากที่เราได้เข้าไปในรอบแบ่งกลุ่ม มันคือการทำงานอย่างหนักของทุกคนในสโมสร” เซอร์เก กล่าวกับ DW
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการต่อสู้ของพวกเขายังอีกยาวไกล เมื่อในปี 2022 รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน จนเกิดสงครามลุกลามไปทั้งประเทศ และทำให้เกมลีกของพวกเขาต้องพักเบรกเป็นการชั่วคราว
แต่ไม่ว่า ซอร์ยา จะเผชิญความยากลำบากแค่ไหน เชื่อว่าพวกเขาก็คงจะสู้ต่อไปเหมือนที่ผ่านมา ตราบใดที่ยังมีแฟนบอลสนับสนุนที่ทำให้สโมสรเดินต่อไปได้
“ผมจะสรุปความสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลและสโมสรในคำเดียว นั่นก็คือ ครอบครัว” อิลยา แฟนบอลของซอร์ยา กล่าวกับ Vice
“แฟนบอลของเราหลายคนรู้จักผู้เล่น, โค้ช และแผนกสื่อเป็นการส่วนตัว แม้จะมีงบประมาณที่จำกัดแต่ทีมงานทุกคนก็ทำงานด้วยกำลังใจและพันธสัญญา ในสนามผู้เล่นก็เต็มที่ในทุกเกม”
เพราะแม้สงครามจะทำลายสนาม, ทำลายบ้านเรือน หรือทำลายสิ่งปลูกสร้างของพวกเขามากเพียงใด แต่มันก็ไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณนักสู้ของคนเมืองลูฮันสก์ได้ อย่างที่ ซอร์ยา ลูฮันสก์ พิสูจน์ให้เห็นเหมือนที่ผ่านมา
“นักฟุตบอลของเรามีความมุ่งมั่นที่สุดยอด พวกเขาเป็นคนจริง เป็นนักสู้ที่แท้จริง” วลาดิเมียร์ แฟนบอลของซอร์ยากล่าวกับ DW
“พวกเขาสูญเสียครอบครัว, สูญเสียบ้าน, สูญเสียเมือง เราภาคภูมิใจในตัวพวกเขามาก”
“เราอาจจะเสียเมือง แต่เราก็สร้างทีมขึ้นมาใหม่ได้”