“โอกาสที่เกาหลีใต้จะชนะเยอรมนีได้คือ 1%” ชิน แท ยง ให้สัมภาษณ์ก่อนเกมฟุตบอลโลก 2018 สมัยที่เขายังคุมทีมชาติเกาหลีใต้ และกำลังจะต้องเจอกับแชมป์เก่าอย่างเยอรมนี ในนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม
และอย่างที่ทุกคนรู้กัน … เกาหลีใต้ เปลี่ยน 1% นั้นให้เป็นจริงได้ด้วยชัยชนะถึง 2-0 และนั่นเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขานอกแผ่นดินตัวเอง
แม้จะยากเย็นขนาดนั้น แต่ก็ยังมีสื่อบอกว่างานของเขาในปัจจุบันกับ อินโดนีเซีย นั้นยากกว่าเยอะ … โอกาสมีน้อยกว่า 1% ด้วยซ้ำหากเขาจะนำทัพการูด้าวิ่งชนความสำเร็จ
แต่ใครจะรู้ เพราะตอนนี้ ชิน แท ยง พาอินโดนีเซียผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ไปเรียบร้อยแล้ว…
และนี่คือเรื่องราวของกุนซือผู้ที่เข้ามาทำให้อินโดนีเซียดูดีดูเป็นรูปเป็นร่างที่สุดในรอบหลายปี … ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่ Main Stand
เขาชื่อ ชิน แท ยง
ชิน แท ยง (신태용 / Shin Tae-yong) อาจจจะเป็นชาวเกาหลีใต้เหมือนกับ พัค ฮัง ซอ (박항서 / Park Hang-seo) กุนซือทีมชาติเวียดนาม ซึ่งรับรู้กันว่าเป็นชนชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องวินัย ความจริงจัง การทำงานหนัก และความรับผิดชอบ ในส่วนนี้ทั้งคู่อาจจะมีคล้าย ๆ กัน แต่หากลงลึกไปในแง่ของรายละเอียดแล้ว ชิน แท ยง เป็นโค้ชที่เชื่อมั่นในวิธีการเล่นที่แตกต่างออกไป
ขณะที่ ฮัง ซอ นั้นมี DNA ของผู้เล่นเกมรับตั้งแต่สมัยยังค้าแข้งอยู่ในฐานะตำแหน่งมิดฟิลด์เชิงรับ ชิน แท ยง เป็นคนที่เชื่อมั่นในเกมรุกมากกว่า เพราะมันคือสิ่งที่เขาถนัดมาตั้งแต่ตอนยังเป็นนักเตะแล้ว
สื่อในเกาหลีเรียก ชิน แท ยง สมัยยังเป็นผู้เล่นว่า “จิ้งจอก” เนื่องจากเขาเป็นกองกลางตัวรุกและสามารถเล่นกองหน้าตัวต่ำได้ วิธีการเล่นของเขาเป็นการชิงเหลี่ยมกับกองหลัง ใช้ความคล่องตัวรวดเร็ว และมีลูกล่อลูกชนแพรวพราว มีความเจ้าเล่ห์เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกนั่นเอง
สไตล์แบบนี้ทำให้ ชิน แท ยง ประสบความสำเร็จมากมายสมัยค้าแข้ง เขาคือตำนานของสโมสร ซองนัม อิลวา ผู้ลงเล่นรวม 300 เกมและยิงไปมากกว่า 80 ประตู คว้าทุกแชมป์ในประเทศ รวมถึงการเป็นแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก อีกด้วย ด้วยผลงานดังกล่าว ทำให้เขาได้รับเลือกให้ติดทีมยอดเยี่ยมของ เคลีก ในวาระครบรอบ 30 ปีเมื่อปี 2013
ช่วงท้ายอาชีพ ชิน แท ยง ย้ายไปเล่นในลีกออสเตรเลียกับ ควีนส์แลนด์ รอร์ (ปัจจุบันคือทีม บริสเบน รอร์) แต่โชคไม่ดีเนื่องจากมีปัญหาบาดเจ็บที่ข้อเท้าอย่างหนักทำให้ได้ลงเล่นกับทีมได้แค่เกมเดียวเท่านั้น ทว่าอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าเปลี่ยนให้เขาเริ่มเส้นทางสายโค้ชอย่างเป็นทางการ เนื่องจากกุนซือของ ควีนส์แลนด์ ในเวลานั้นอย่าง ไมรอน บลีเบิร์ก เห็นบางอย่างในตัวของ ชิน แท ยง และดึงตัวเขาให้มาเป็นผู้ช่วยโค้ชที่มีหน้าที่หลัก ๆ คือการฝึกทักษะและเทคนิคการเล่นในสนามให้กับนักเตะในทีม
ประสบการณ์ที่ออสเตรเลีย ทำให้ ชิน แท ยง ได้กลับมาทำงานโค้ชในเกาหลีใต้อีกครั้ง โดยทีมที่จ้างเขาก็คือ ซองนัม อิลวา ทีมเก่าของเขาเอง โดยการกลับมาในรอบนี้เป็นเพราะสโมสรไม่มีทางเลือกและงบประมาณสำหรับการจ้างโค้ชค่าเหนื่อยแพง ๆ มากนัก เพราะขณะนั้นสโมสรกำลังประสบปัญหาเรื่องการเงินอย่างรุนแรง
นี่คือบททดสอบที่ทำให้ ชิน แท ยง ได้แนวคิดใหม่มา นั่นคือการจะทำทีมให้ประสบความสำเร็จภายใต้งบประมาณที่จำกัดนั้นจะต้องอาศัยลูกล่อลูกชนและเล่ห์เหลี่ยมที่แพรวพราว จะบุกเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะตั้งรับอย่างเดียวก็ใช่ที่ ดังนั้นเขาจึงถูกรู้จักในฐานะกุนซือหนุ่มที่มีความยืดหยุ่นในเรื่องแผนการเล่น
ชิน แท ยง จะไม่มีแผนตายตัว แต่เขาจะปรับระบบการเล่นและเปลี่ยนนักเตะอยู่บ่อยครั้งตามแท็คติกที่เหมาะกับคู่แข่งที่ดวลแข้งด้วย ซึ่งวิธีการดังกล่าวเวิร์กมากในเวลานั้น ปีแรกในฐานะกุนซือของซองนัม เขาพาทีมคว้ารองแชมป์เอฟเอ คัพ ของเกาหลีใต้ได้ในปี 2009
จากนั้นจึงเริ่มทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น ด้วยการพาทีมคว้าแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ในปี 2010 และ เอฟเอ คัพ ในปี 2011 … จากความสำเร็จที่กล่าวมา ภาพของ ชิน แท ยง ชัดขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นกุนซือที่วงการฟุตบอลเกาหลีใต้เชื่อว่าจะก้าวเป็นเฮดโค้ชทีมชาติชุดใหญ่ในอนาคต
กำเนิดเจ้าพ่อบอลเน้นผล
คุณจะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนจากแชมป์ที่เขาได้ ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลถ้วยที่เน้นผลงานกันนัดต่อนัดทั้งนั้น นั่นคือความถนัดของ ชิน แท ยง ในการคุมทีมที่ไร้แต้มต่อที่ไม่ได้มีทรัพยากรนักเตะมากพอที่จะคว้าแชมป์เกมลีกที่ต้องเน้นผลงานระยะยาว แต่ถ้าจะให้วัดกันแบบแมตช์ต่อแมตช์แล้ว ชิน แท ยง ไม่กลัวใครแน่นอน
การเป็นโค้ชที่เก่งในการแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยโค้ชทีมชาติเกาหลีใต้ชุดใหญ่ โดยมีบอสใหญ่คือ อูลี่ สตีลิเก้ หน้าที่หลัก ๆ ของ ชิน แท ยง คือการควบคุมเรื่องการฝึกซ้อมและการจัดการเชิงแทคติก … แน่นอนว่ามันเกี่ยวข้องกับการวางตัว ชิน แท ยง ให้เป็นกุนซือใหญ่ในอนาคตด้วย เพราะหลังจากจบฟุตบอล เอเชี่ยนคัพ 2015 ที่ เกาหลีใต้ ได้รองแชมป์ (แพ้ ออสเตรเลีย 1-2) ชิน แท ยง ก็ได้รับการผลักดันให้เป็นเฮดโค้ชอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2017
1 ปีก่อนฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียจะเริ่มขึ้น ชิน แท ยง ถูกตั้งความหวังว่าทักษะการเน้นผลแบบนัดต่อนัดของเขาเหมาะสมมากในการนำทีมชาติเข้าไปสู่ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ เนื่องจาก เกาหลีใต้ ที่นำโดย อูลี่ สตีลิเก้ มีปัญหาเรื่องฟอร์มการเล่นในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกโซนเอเชีย เพราะทำท่าจะเสียแชมป์กลุ่มให้กับ อิหร่าน ที่นำโด่ง อีกทั้งยังอาจจะพลาดอันดับ 2 หลังจากที่แพ้ กาตาร์ ไป 2-3 … หากหลุด 3 อันดับแรกของกลุ่มไป (นับรวมโอกาสในการเตะรอบเพลย์ออฟแล้ว) เกาหลีใต้ จะไม่ได้ไปฟุตบอลโลก หลังตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา พวกเขาคือขาประจำมาตลอด
พวกเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีใครกลัวว่าจะเร็วเกินไปสำหรับกุนซืออย่าง ชิน แท ยง และแล้วเวลาของเขาก็มาถึง
“ตอนนี้ทีมของเราอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก แต่ผมเชื่อว่า ชิน แท ยง จะสามารถแสดงความสามารถของเขาอออกมาได้ … เขาคือคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ไขสถานการณ์นี้” คิม โฮ กน (김호곤 / Kim Ho-gon) ประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคของสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้กล่าว
แล้วเขาก็เป็นคนนั้น คนที่ทุกคนคาดหวังจริง ๆ นับตั้งแต่ ชิน แท ยง เข้ามาคุมทีมเกาหลีใต้ชุดใหญ่ พวกเขาไม่เคยแพ้ใครในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกอีกเลย เขาพาทีมพลิกสถานการณ์ไต่จากอันดับ 4 ของกลุ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 2 และตาม อิหร่าน เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกไปอย่างสวยงาม
เพียงแต่บททดสอบยังไม่จบ หลังจากผ่านเข้ารอบอย่างใจหายใจคว่ำ เกาหลีใต้ ต้องถูกจับฉลากไปอยู่ในกลุ่มที่ยากสำหรับพวกเขา ด้วยการร่วมกลุ่มกับ สวีเดน, เม็กซิโก และ เยอรมนี แชมป์เก่า
หากใครยังจำผลงานในฟุตบอลโลก 2018 ของเกาหลีใต้ได้ลาง ๆ คุณอาจจะพบว่าพวกเขาตกรอบแบ่งกลุ่ม แต่ถ้ามองให้ลึกในรายละเอียด ชิน แท ยง ทำทีมแบบ “จิ้งจอก” แบบที่เขาถนัดออกมาได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว
นัดแรกพวกเขาแพ้ สวีเดน 0-1 จากการเสียลูกจุดโทษในช่วง 25 นาทีสุดท้ายของเกม นัดที่ 2 พวกเขาเสียจุดโทษตั้งแต่ต้นเกมให้กับ เม็กซิโก ก่อนจะโดนประตูที่ 2 แบบค้านสายตาเพราะ กี ซอง ยง (기성용 / Ki Sung-yueng) โดน เฮคเตอร์ เอร์เรร่า ทำฟาวล์ที่กลางสนามแต่ผู้ตัดสินปล่อยให้เกมดำเนินต่อไปจนเกาหลีใต้โดนสวนกลับและเสียประตู จบเกมด้วยการแพ้อีก 1-2
“ผมดูภาพช้าอีกครั้งแล้วพบว่าอย่างไรเสียลูกนั้นก็ต้องฟาวล์ 100% ผมรู้สึกเศร้าเล็กน้อยที่ไม่ได้ใช้ VAR ในจังหวะนี้ เพราะผู้เล่นไม่สามารถบอกกับผู้ตัดสินได้ว่าพวกเขาควรจะใช้ VAR หรือไม่ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการทั้งสิ้น” ชิน แท ยง ว่าไว้เช่นนั้น
ก่อนที่เขาจะถูกสื่อถามต่อว่าในเกมนัดสุดท้ายกับ เยอรมนี ที่เกาหลีใต้ตกรอบไปแล้ว แต่เยอรมนีต้องการชนะเพื่อเข้ารอบ ทีมของเขาจะสู้ได้หรือไม่ ? … ชิน แท ยง ตอบกลับด้วยสีหน้าจริงจังว่า ณ ตอนนี้เกาหลีใต้มีโอกาสชนะเยอรมนีได้แค่ 1% เท่านั้น … แต่เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาจะไม่ยอมปล่อยให้เยอรมนีมองพวกเขาเป็นทางผ่านแน่นอน
“ผู้คนบอกว่าเกาหลีใต้ล้มเหลวในฟุตบอลโลกครั้งนี้ แต่ความจริงคือเรามีผู้เล่นเจ็บมากมายก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มขึ้น … เราเริ่มงานกันอย่างยากลำบาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราสามารถลบล้างจุดบอดเหล่านั้นได้ด้วยการเล่นเป็นทีมให้ดีขึ้น”
“ตอนนี้เรากำลังจะดวลกับแชมเปี้ยนที่กำลังพยายามอย่างมากในการป้องกันแชมป์ … พูดตามตรง แม้เราจะเป็นทีมที่เล่นด้วยทีมเวิร์กได้ดีกว่าที่เคยเป็น แต่ผมก็คิดว่ามันไม่ใช่เกมที่จะง่ายขนาดนั้น”
“ผมคิดว่าเรามีโอกาสชนะเยอรมนี 1% ความหวังของเราเล็กน้อยและริบหรี่มาก ๆ แต่เชื่อเถอะว่าพวกเราจะพยายามสุดชีวิตเพื่อจบทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกครั้งนี้ด้วยการสร้างความประทับใจให้ได้” ชิน แท ยง กล่าวก่อนเริ่มเกม
ทุกคนรู้ดีว่าเกมนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เกาหลีใต้ มาในแทคติกรถบัสโดยทิ้ง ซน ฮึง มิน (손흥민 / Son Heung-min) กองหน้าจาก ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ไว้ในแดนบนเพียงคนเดียว นักเตะที่เหลือจะเล่นแทคติกอุดด้วยความอดทน ซึ่งนั่นคือวิธีเดียวกับที่ ชิน แท ยง เชื่อว่าพวกเขาจะทำ 1% นั้นให้เป็นจริงได้
“ชิน แท ยง เปลี่ยนรูปแบบการเล่นจาก 4-2-3-1 เป็นระบบ 4-4-2 คู จา ชอล (구자철 / Koo Ja-cheol) ยืนหน้าต่ำ โดยมี ซน ฮึง มิน คนเดียวที่ยืนอยู่ตรงเส้นกลางสนาม พวกเขาใช้บอลยาวโจมตีวิงแบ็กของเยอรมนีตลอดเพื่อให้แน่ใจว่าแบ็กทั้งสองข้างของเยอรมนีจะไม่สามารถเติมขึ้นมาเล่นเกมรุกสูงจนเกินไป พวกเขาต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงตลอดเวลา ซึ่งช่วงท้ายครึ่งหลังเราจะเห็นได้ว่าแบ็กของเยอรมนีเริ่มมีความล้าให้เห็นแล้ว” บทความของเว็บไซต์ coachesvoice.com วิเคราะห์เกมดังกล่าวไว้
“ซน ฮึง มิน เองก็วิ่งอย่างอดทนตลอดครึ่งแรกโดยบอลไม่ถึงตัวเขาเลย แต่เขาก็ยังทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาสำคัญ ช่วงที่เยอรมนียังยิงไม่ได้และต้องเปิดหน้าแลก พวกเขาเอา ซามี่ เคดีรา ออก ทำให้เหลือแค่ โทนี่ โครส ในแดนกลางคนเดียวเท่านั้น … โอกาสของเกาหลีใต้มาถึงแล้ว บอลจากแดนกลางไปถึงตัวความหวังของพวกเขาได้มากขึ้น”
“ยิ่งเยอรมนีเปิดหน้า เกาหลีใต้ก็ถอยต่ำยืนชิดกันแทบทุกตำแหน่ง และหลังจากที่พวกเขาตั้งรับอย่างเด็ดเดี่ยวมานาน ในที่สุดก็ถึงเวลาสำหรับทีมของ ชิน แท ยง แล้ว”
การเป็นบอลรองจะได้ประตูก็ต้องมาจากลูกตั้งเตะหรือไม่ก็ลูกสวนกลับ และ เกาหลีใต้ ก็ได้ทั้ง 2 ประตูจาก 2 รูปแบบการเล่นดังกล่าว คิม ยอง กวอน (김영권 / Kim Young-gwon) ยิงประตูแรกจากจังหวะลูกเตะมุมที่ชุลมุน ทำให้ เกาหลีใต้ ขึ้นนำ 1-0 ในนาทีที่ 90 ก่อนที่หลังจากนั้นไม่กี่อึดใจลูกสวนกลับโยนยาวให้ ซน ฮึง มิน วิ่ง ในแบบที่เขาพยายามทำมาตลอดทั้งเกมก็ทำให้เกาหลีใต้ชนะ เยอรมนี ไปได้ 2-0
หากไม่นับฟุตบอลโลก 2002 ที่โลกไม่ค่อยจะยอมรับผลงานของเกาหลีใต้เท่าไรนัก การชนะ เยอรมนี คือการประกาศศักดาชนะทีมอันดับ 1 ของโลกได้อย่างอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่มีการตัดสินที่คลางแคลงใจใด ๆ ทั้งสิ้น พวกเขาชนะด้วยความอดทน และรอจังหวะจนถึงช่วงที่ เยอรมนี เลือดขึ้นหน้ามากที่สุด
จากสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า ชิน แท ยง คือโค้ชที่ทำทีมในทัวร์นาเมนต์ได้ดีขนาดไหน แม้แต่โอกาสชนะเพียง 1% ที่เขาประเมินเอาไว้ก็ยังเป็นจริงได้ด้วยการรู้จักตัวเอง รู้จักคู่แข่ง และเล่นแบบอดทนจนถึงนาทีทองของตัวเอง
นั่นอาจจะเป็นงานที่ยากที่สุดที่ ชิน แท ยง เจอ ทว่าเขาอาจจะคิดผิด เมื่อหลังจากนั้นเขาลาออกจากตำแหน่งกุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ แล้วมารับงานคุมทีมชาติอินโดนีเซีย
ในวันที่เขาได้รับงานนี้เมื่อปี 2019 สื่อ อินโดนีเซีย บอกว่านี่จะเป็นงานที่ยากที่สุดในชีวิตสำหรับกุนซือผู้เขี่ยเยอรมนีตกรอบแบ่งกลุ่มในฟุตบอลโลกครั้งแรกในรอบ 80 ปี … ทำไมพวกเขาจึงคิดว่ามันยากขนาดนั้น ?
จับปูใส่กระด้งอย่างสุดความสามารถ
วงการฟุตบอลอินโดนีเซียนั้นมีปัญหาคาราคาซังมาตลอดนับตั้งแต่เข้ายุค 2010 พวกเขาเคยโดนฟีฟ่าแบนห้ามลงเล่นในรายการที่รับรองโดยฟีฟ่ามาแล้ว เพราะมีการเมืองแทรกแซงในวงการฟุตบอล
จากนั้นผลงานที่เคยโดดเด่นในระดับอาเซียนช่วงยุค 90s หรือ 2000s ก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน อินโดนีเซีย กลายเป็นทีมที่ต้องดิ้นรนทุกครั้งในการแข่งขันอย่าง ซูซูกิ คัพ หรือ ซีเกมส์ ขณะที่สมาคมฟุตบอลของอินโดนีเซีย หรือ PSSI ก็ยังมีปัญหาไม่ลงรอยกันภายในอยู่ตลอดเวลา
“ชิน แท ยง จะต้องเจอกับงานที่ยากลำบากที่สุดเมื่อเขาถูก PSSI ขอให้เขาคุมทีมชาติเยาวชน ยู-20 ด้วย ไม่ใช่แค่ทีมชาติชุดใหญ่เท่านั้น” สื่อในอินโดนีเซีย อย่าง voi.id เผยข่าวลือที่สุดท้ายกลายเป็นความจริง และนั่นทำให้ ชิน แท ยง ไม่พอใจกับการไม่แจ้งเรื่องนี้ให้เขาก่อนที่เขาจะรับงาน เดิมทีเขาคิดว่าตัวเองจะได้คุมทีมชุดใหญ่เท่านั้น แต่สุดท้ายเขาก็ได้งานงอกเพิ่มมาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการรวมตัวฝึกซ้อมที่ ชิน แท ยง เคยร้องของบประมาณจาก PSSI เพื่ออนุมัติงบให้เขาพานักเตะไปซ้อมที่เกาหลีใต้ เนื่องจาก ณ เวลานั้น อินโดนีเซีย มีปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก มีผู้ติดเชื้อวันละ 1,000 คนเป็นอย่างต่ำ แต่คำตอบก็คือไม่…
ไม่ว่าจะขอแรงสนับสนุนอะไรก็มักจะไม่ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ นี่คือสิ่งที่เขาคิดว่าหนักหนากว่าการขอให้เขาไปคุมทีมชุดเยาวชนเสียด้วยซ้ำ
“เดิมทีผมคิดว่าผมยินดีกับงานคุมทีมชาติอินโดนีเซียมาก ๆ เพราะผมรู้สึกว่าผมมีวิสัยทัศน์ตรงกับทาง PSSI เราต่างเชื่อว่าการพัฒนาทีมชาติต้องค่อยเป็นค่อยไป”
“มีคนติดโควิด-19 รายใหม่ 1,000 ราย ในทุก ๆ วันที่อินโดนีเซีย แต่ PSSI ก็ยังยืนยันว่าพวกเขาจะให้ทีมฝึกซ้อมในอินโดนีเซียต่อไป ผมไม่ได้ร้องขอเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเลย ผมอยากให้แคมป์ฝึกของเราทำให้เราได้เห็นว่าหนุ่ม ๆ ของเรามีความพร้อมอยู่ ณ จุดไหนกันแน่ เราต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อน”
“คุณเชื่อไหมล่ะ ก่อนที่เกาหลีใต้จะลงแข่งขันในฟุตบอลโลก 2002 เรามีแคมป์เก็บตัวและทดสอบนักเตะอย่างจริงจัง ได้ลงแข่งขันกับนักเตะที่เก่งกว่า แต่ที่อินโดนีเซียเราทำไม่ได้เลย สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราไม่มีเกมอุ่นเครื่องเลย ดังนั้นถ้าเรามีแคมป์สำหรับฝึกซ้อมก็จะสามารถทำให้ร่างกายของนักเตะดีขึ้นได้ เราจะสามารถกำหนดการออกกำลังกายของพวกเขาได้ เราจะได้จัดการระบบการกินของผู้เล่นและได้มีโปรแกรมลงเตะกระชับมิตรตลอดทั้ง 6 สัปดาห์”
“ผมจะไม่ว่าเลยถ้าพวกเขาไม่ร้องขออะไรมากมายจากผม พวกเขาขอให้ผมพาทีมชุดยู-19 เข้ารอบรองชิงชนะเลิศในศึกชิงแชมป์เอเชียที่อุซเบกิสถานให้ได้ (การแข่งขันถูกเลื่อนไปจัดปี 2023) พวกเขาต้องการให้ผมพาทีมชาติชุดใหญ่คว้าแชมป์ซูซูกิ คัพ และพวกเขาก็อยากให้ผมพาทีมชุด ยู-20 เข้ารอบก่อนรองชนะเลิศในฟุตบอลโลกยู-20 ในปี 2021 (ซึ่งอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ แต่ถูกเลื่อนไปแข่งปี 2023 แล้ว)”
“ดังนั้นผมจึงต้องถามพวกเขากลับอีกครั้งว่าหากคาดหวังขนาดนั้น คุณรู้ไหมว่า อินโดนีเซีย อยู่อันดับที่เท่าไหร่ของฟีฟ่าแรงกิ้ง … พวกเขาตอบกลับมาอย่างหน้าตาเฉยว่า ก็อันดับที่ 173 ไง” ชิน แท ยง กล่าวกับ Football Tribe
นี่แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ ชิน แท ยง ต้องเจอกับปัญหามากมายและความไม่เป็นมืออาชีพในแบบที่เขาคาดหวัง จริง ๆ แล้วยังมีเรื่องทีมงานสตาฟโค้ชที่ PSSI จัดให้ทำตัวไม่เชื่อกฎของเขา จน ชิน แท ยง ขอให้ PSSI เอาพวกนั้นออกจากตำแหน่ง แต่สุดท้ายสตาฟคนนั้นกลับได้เลื่อนไปตำแหน่งที่สูงขึ้นแทน เท่านั้นไม่พอ เจ้าตัวเอง ก็มาติดโควิด-19 ที่อินโดนีเซียด้วยเมื่อต้นปี 2021
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่านี่คืองานที่ยากกว่าการพาเกาหลีใต้เอาชนะเยอรมนีจริง ๆ ดังที่สื่ออินโดนีเซียว่าเอาไว้…
แม้จะเจอปัญหามากมายขนาดนั้น แต่สิ่งเดียวที่ทำให้ ชิน แท ยง ยังคงอยู่กับ อินโดนีเซีย ในเวลานี้คือความเป็นมืออาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือลูกทีมของเขาทุกคนที่เชื่อมั่นในตัวเขาอย่างมาก รับฟังสิ่งที่เขาสอน และยอมทำตามสิ่งที่เขาบอก … ชิน แท ยง อาจจะมีปัญหากับการรับมือกับคนเบื้องบน แต่กับลูกน้องของเขาทุกคน ตอนนี้เขาสามารถละลายพฤติกรรมจนรวมทีมเป็นหนึ่งได้แล้ว
เขานำเอาสไตล์การทำทีมที่ยืดหยุ่นเน้นการทำทีมแบบนัดต่อนัดแบบที่เขาถนัดมาใช้กับ อินโดนีเซีย เดิมทีนักเตะ อินโดนีเซีย นั้นมีจุดเด่นที่ความเร็วเท่านั้น ซึ่งมันไม่พอที่จะประสบความสำเร็จในฟุตบอลสมัยใหม่ เพราะไม่ว่าจะเจอกับใคร อินโดนีเซีย ก็จะอาศัยการวิ่งและความสามารถส่วนตัวของนักเตะเป็นหลักตลอด ครองบอลนาน ๆ เล่นวิธีเดิมตั้งแต่ต้นจนจบเกม ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาต้องผิดหวังกับสไตล์การเล่นแบบนี้
นับตั้งแต่ ชิน แท ยง เข้ามา อินโดนีเซีย ก็กลายเป็นทีมที่ใช้งานหลายระบบการเล่น นับตั้งแต่คัดฟุตบอลโลกจนถึง ซูซูกิ คัพ ครั้งนี้พวกเขาใช้แทคติกมมาแล้วถึง 4 แผน ทั้งกองหลัง 3 ตัว ทั้งระบบ 4-4-2, 4-3-3 และ 4-1-4-1
ดังนั้นเราจะเห็นได้ชัด ๆ ในเกมที่เจอกับ ไทย ในเกมคัดบอลโลก 2022 ที่เสมอกันไป 2-2 ซึ่ง อินโดนีเซีย ใช้ดาวรุ่งอายุน้อย ๆ ลงสนามเน้นเกมรับและสวนกลับจนสร้างปัญหาให้กับไทยได้หลายครั้ง
อีกครั้งใน ซูซูกิ คัพ ครั้งนี้ที่บางเกมพวกเขาก็บุกแหลกเน้นยิงสะบัดไม่ว่าจะเกมกับ มาเลเซีย ที่ชนะไปถึง 4-1 ชนะลาวไป 5-1 ชนะกัมพูชา 4-2 และถ้าจะให้รับแบบอุดเอาผล พวกเขาก็ทำสำเร็จในเกมยันเสมอกับเวียดนาม 0-0 จนทำให้ครองแชมป์กลุ่มและนำไปสู่การเข้าชิงกับทีมชาติไทยได้สำเร็จ
สื่อในอินโดนีเซียยกย่องการทำทีมของ ชิน แท ยง เป็นอย่างมาก เพราะแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่การทำให้ อินโดนีเซีย เล่น “บอลเน้นผล” ได้สำเร็จ และนั่นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับพวกเขามาก่อน
“ตอนนี้ทุกอย่างย้อนกลับแบบ 180 องศาแล้วสำหรับทีมชาติอินโดนีเซีย ฟุตบอลของ ชิน แท ยง เหมือนกับวิธีของกิ้งก่า คือการปรับตัวและเลือกวิธีการเล่นให้เหมาะสมในเกมแต่ละแมตช์ ในแบบที่คู่แข่งไม่สามารถคาดเดาเราได้ง่าย ๆ อีกต่อไปแล้ว” voi.id เขียนบทความเรื่อง “ฟุตบอลกิ้งก่าของ ชิน แท ยง”
มองเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนการอวยทีมชาติตัวเอง แต่ในเกมที่อินโดนีเซียเล่นเกมรอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้ายและถล่มมาเลเซียไป 4-1 ตัน เชง โฮ กุนซือของทัพเสือเหลืองยังออกมาบอกว่าเขาสับสนการแผนการเล่นของอินโดนีเซีย เพราะจากที่คาดเดาว่าอินโดนีเซียจะมาเน้นเกมรับแบบเน้นผล กลับกลายเป็นว่า ชิน แท ยง ส่งตัวรุกลงเต็มพิกัด และเปิดเกมรุกจนยิงประตูเข้าป้ายเป็นแชมป์กลุ่ม เฉือนเวียดนามด้วยผลต่างประตูได้เสีย
ไม่มีใครคิดว่า อินโดนีเซีย จะผ่านมาถึงรอบชิงชนะเลิศได้ในการแข่งขัน ซูซูกิ คัพ ครั้งนี้ แต่พวกเขาก็ทำได้สำเร็จด้วยการทำทีมฉบับ ชิน แท ยง เขาสอนให้นักเตะอินโดนีเซียรู้จักตัวเอง รู้จักประเมินฝั่งตรงข้าม และหาวิธีไปถึงชัยชนะได้โดยสนใจแต่ผลลัพธ์และมองข้ามวิธีการไป
สิ่งสำคัญคือการเอาลูกทีมได้อยู่หมัด ไม่ว่าเขาจะสั่งอะไรเขาก็จะได้สิ่งที่เขาต้องการจากนักเตะอินโดนีเซียเสมอ … ทั้งหมดนี้คือผลงานของ ชิน แท ยง ที่ทีมชาติไทยไม่อาจมองข้ามได้เลย
พวกเขากำลังเล่นอย่างมีความมั่นใจ และตอนนี้พวกเขามีคนคุมหางเสือที่สอนให้นักเตะรู้จักวิธีการเล่นเพื่อเป็นผู้ชนะแล้ว … ทัพช้างศึกห้ามประมาทอย่างเด็ดขาด