sportpooltoday

ชาติอื่นไม่เข้าตา ? : เหตุใดแข้งแอฟริกาฝีเท้าดีจึงมารวมตัวประสบความสำเร็จในอังกฤษ


ชาติอื่นไม่เข้าตา ? : เหตุใดแข้งแอฟริกาฝีเท้าดีจึงมารวมตัวประสบความสำเร็จในอังกฤษ

ดิดิเยร์ ดร็อกบา, ไมเคิล เอสเซียง, ยาย่า ตูเร่, จอห์น โอบี มิเกล, ปิแอร์-เอเมริค โอบาเมยอง, ริยาด มาห์เรซ, ซาดิโอ มาเน่ และ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ล้วนเป็นยอดนักเตะจากทวีปแอฟริกาที่อยู่ในความทรงจำของแฟนบอลเป็นอย่างดี ที่สำคัญพวกเขาต่างสร้างชื่อจนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

มีนักเตะแอฟริกามีเท้าดีมากมายบนโลกลูกหนัง แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะโด่งดังมากที่สุดหากมาเล่นบนเกาะอังกฤษ และถ้าเรานึกถึงนักเตะแอฟริกาที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เราก็แทบจะนึกภาพพวกเขาประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกแทบทั้งสิ้น 

เหตุใดนักฟุตบอลแอฟริกาจึงประสบความสำเร็จอย่างงดงามบนแผ่นดินอังกฤษมากกว่าลีกอื่นในยุโรป ติดตามหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ของแสลงบอลอังกฤษ

หากย้อนอดีตมองถึงจุดเริ่มต้นบทบาทของนักฟุตบอลแอฟริกาในทวีปยุโรป พวกเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จบนแผ่นดินอังกฤษมาตั้งแต่แรก หากแต่เป็นลีกฟุตบอลของประเทศฝรั่งเศสที่แข้งชาวแอฟริกาชอบเดินทางไปล่าฝัน 

เนื่องจากว่าฝรั่งเศสเป็นดินแดนที่มีชาวแอฟริกาอพยพไปอาศัยอยู่มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากการที่หลายประเทศในทวีปนี้เคยเป็นเมืองขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมฝรั่งเศสจะเปิดโอกาสให้กับคนที่มีเชื้อสายแอฟริกามากกว่าดินแดนอื่นในยุโรป 

ต้องขอบคุณผลงานที่โดดเด่นในช่วงต้นยุค 80s ของ ซาลาห์ อาซัด กองหน้าชาวแอลจีเรียที่ฝากผลงาน 14 ประตูในช่วงปี 1982 ถึง 1984 บนเวทีลีกเอิงฝรั่งเศส และ ธีโอฟิล อเบก้า กองกลางชาวแคเมอรูน ที่ย้ายมาสร้างชื่อกับ ตูลูส ทีมในลีกสูงสุดของฝรั่งเศสเช่นกัน จนทำให้หลายประเทศเริ่มเปิดใจรับนักเตะชาวแอฟริกาเข้าไปเล่นกับลีกในประเทศมากขึ้น ทั้ง สเปน, สวิตเซอร์แลนด์, โปรตุเกส และ เบลเยียม

แต่หลัก ๆ แล้วนักเตะแอฟริกาก็นิยมย้ายมาเล่นที่ฝรั่งเศสเช่นเดิม ขณะที่สโมสรฟุตบอลในฝรั่งเศสก็ดึงตัวแข้งจากแอฟริกามาร่วมทีมกันไม่หยุดหย่อน เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะได้แข้งฝีเท้าดีในราคาถูก และตำนานนักเตะของทวีปแอฟริกาในช่วงปลายยุค 80s ถึงต้นยุค 90s ก็ย้ายมาค้าแข้งในฝรั่งเศสทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โรเจอร์ มิลลา, อเบดี เปเล่ และ จอร์จ เวอาห์ 

ความสำเร็จของผู้เล่นเหล่านี้ทำให้ชาติสโมสรฟุตบอลชั้นนำชาติอื่นอย่าง เยอรมัน, อิตาลี กล้าที่จะเปิดรับนักเตะแอฟริกาเข้าไปเล่นในลีก รวมถึงพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ด้วยเช่นกัน โดย เอฟเวอร์ตัน เลือกที่จะดึง แดเนียล อาโมกาชี่ กองหน้าชาวไนจีเรียไปร่วมทีม 

น่าเสียดายที่ อาโมกาชี่ ล้มเหลวกับเอฟเวอร์ตัน ด้วยงาน 11 ประตูจาก 2 ฤดูกาล ถือว่าเป็นการเซ็นสัญญาที่ไม่เข้าเป้าของทีม ทำให้กระแสคลั่งนักเตะแอฟริกาในอังกฤษยังไม่เกิดขึ้น และปิดโอกาสที่ทีมในแดนผู้ดีจะไปล่านักเตะจากแผ่นดินแอฟริกามาเล่นในอังกฤษอย่างเป็นจริงเป็นจัง

แม้ว่าพรีเมียร์ลีกในเวลาต่อมาจะมีตัวชูโรงของกองหน้าแอฟริกาอย่าง เอ็นวานโก้ คานู กองหน้าไนจีเรียรุ่นน้องของอาโมกาชี่ที่มีผลงานอันน่าพอใจกับ อาร์เซน่อล แต่ผลงานของคานูก็ไม่ได้ดีมากพอที่จะทำให้ผู้เล่นแอฟริกาได้มีที่ยืนในพรีเมียร์ลีกมากขึ้น แตกต่างกับในลีกฝรั่งเศสและสเปนที่มีพื้นที่ให้นักเตะจากแอฟริกามากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

 

จะบอกว่าฟุตบอลอังกฤษกับแอฟริกาเป็นของแสลงกันก็ไม่ผิดนัก และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเนื่องจากในเวลานั้นเกมลูกหนังแดนผู้ดีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง กับการเล่นที่ยังคงเน้นฟุตบอลพลังอันหนักหน่วง การเข้าปะทะที่ถึงลูกถึงคน ซึ่งแตกต่างจากลีกบนแผ่นดินใหญ่ของยุโรปที่ฟุตบอลจะมีแทคติกที่แยบยลกว่า รวมถึงเน้นฟุตบอลกับพื้นมากกว่าฟุตบอลในอังกฤษ

ถึงหลายคนจะมีภาพจำของชาวแอฟริกาที่มีรูปร่างใหญ่กำยำ มีความแข็งแรงของร่างกายสูง แต่ในความเป็นจริงแล้วนักฟุตบอลแอฟริการะดับโลกไม่ใช่นักเตะที่ดีแต่วิ่ง แต่พวกเขามีเทคนิคฟุตบอลชั้นสูง มีความฉลาดในการเล่น และที่สำคัญไม่ได้ชื่นชอบที่จะเล่นฟุตบอลที่เน้นการเข้าปะทะ เพราะในยุคนั้นนักฟุตบอลที่โดนส่งออกมาจากแอฟริกาส่วนใหญ่คือผู้เล่นตัวรุกแทบทั้งสิ้น

ดังนั้นฟุตบอลอังกฤษกับนักเตะแอฟริกาคือสิ่งที่ผสมอย่างไรก็ไม่เคยเข้ากัน แต่ฟุตบอลมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลาจนถึงวันที่เราสามารถหาจุดลงตัวระหว่างเกมลูกหนังแดนผู้ดีกับแข้งแอฟริกาได้อย่างลงตัว

ความเปลี่ยนแปลงที่ลงตัว

ถึงจะไม่ใช่คนจากทวีปแอฟริกา แต่หากไม่มีชายที่ชื่อ โชเซ่ มูรินโญ่ แข้งจากแดนกาฬทวีปก็อาจไม่มีโอกาสได้สร้างชื่อในฐานะแข้งระดับโลกบนเวทีพรีเมียร์ลีกก็เป็นได้

เพราะหลังจากได้ย้ายมาคุมเชลซีในปี 2004 มูรินโญ่ได้พาฟุตบอลเกมรับสุดรัดกุม พร้อมกับระเบียบวินัยที่ยอดเยี่ยม เข้ามาผสมผสานกับสไตล์ฟุตบอลอังกฤษที่เน้นความแข็งแกร่งและรวดเร็วได้เป็นอย่างดี 

เชลซีของมูรินโญ่ต้องการนักเตะสองแบบ หนึ่งคือนักเตะที่มีเทคนิคขั้นสูงที่จะช่วยในการสร้างสรรค์เกมของทีมให้มีประสิทธิภาพ และสองคือนักเตะสายพละกำลังที่มีความแข็งแกร่งเพื่อใช้ในเกมสวนกลับของเขา ซึ่งในส่วนของแข้งสายพละกำลังนั้น แทนที่จะเลือกแข้งจากเกาะอังกฤษหรือผู้เล่นในยุโรปเหมือนกับที่สโมสรอื่นเลือกทำ มูรินโญ่กลับดึงนักเตะจากแอฟริกาเข้ามาตอบโจทย์ของเขา 

การเข้ามาของ ดิดิเยร์ ดร็อกบา และ ไมเคิล เอสเซียง เปลี่ยนมุมมองของฟุตบอลอังกฤษต่อนักเตะแอฟริกาไปอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งสองคนแสดงให้เห็นว่านักเตะแอฟริกันพันธ์ุแกร่งก็มีเหมือนกัน และพวกเขาก็เป็นยิ่งกว่าอสูรร้ายในสนามแข่ง เพราะความแข็งแกร่งแบบฉบับแอฟริกามีประสิทธิภาพมากชนิดที่เรียกว่าความเป็นฮาร์ดแมนของแข้งยุโรปในอดีตยากที่จะไปเทียบกับความแกร่งของนักเตะเหล่านี้

หลังจากความโด่งดังของดร็อกบาและเอสเซียงทุกอย่างก็เปลี่ยนไปทันที จากเดิมที่ในฤดูกาล 2005-06 มีนักเตะจากทวีปแอฟริกาในพรีเมียร์ลีกเพียง 28 คน และในฤดูกาลถัดมาจำนวนผู้เล่นจากแอฟริกาเพิ่มขึ้นเป็น 47 คน ก่อนจะพุ่งขึ้นเป็น 53 คนในฤดูกาล 2007-08

 

แต่อย่าลืมว่านักเตะแอฟริกันฝีเท้าดีส่วนใหญ่ไม่ได้ขายเรื่องพละกำลังกับความแข็งแกร่งแต่เป็นเทคนิคอันยอดเยี่ยม เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะหานักเตะแบบดร็อกบาและเอสเซียงได้อีกครั้ง

ดังนั้นการเปิดรับนักเตะแอฟริกาเข้ามาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่ามีแข้งแอฟริกันประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่ฟุตบอลในอังกฤษก็มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการเล่นด้วยเช่นกัน 

ในยุค 2000s เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เกิดกระแสฟีเวอร์นักเตะแอฟริกาในอังกฤษ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกได้เปลี่ยนแนวทางจากเกมที่หนักหน่วงให้กลายเป็นลีกที่มีการแข่งขันกันด้วยเทคนิคและแทคติกฟุตบอลที่แยบยลมากขึ้น เนื่องจากหลายฝ่ายในวงการลูกหนังแดนผู้ดีต่างเห็นตรงกันว่าฟุตบอลที่เน้นการปะทะและใช้ความรุนแรงในสนามล้าหลังเกินไปที่จะช่วยทีมให้ประสบความสำเร็จ 

เมื่อฟุตบอลอังกฤษเน้นเทคนิคมากขึ้น นักเตะแอฟริกาก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นเช่นกัน ทั้ง เบนนี แม็คคาร์ธี กองหน้าชาวแอฟริกาใต้ที่เคยยิง 18 ประตูจนเป็นรองดาวซัลโวพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2006-07 (ขณะที่อันดับหนึ่งในปีนั้นก็คือดร็อกบาที่ 20 ประตู)

 

หรือ เอ็มมานูเอล อเดบายอร์ ที่ยิง 24 ประตูในฤดูกาล 2007-08 โดยมี เบนจานี่ และ ยาคูบู อีกสองกองหน้าจากแอฟริกาที่ยิงได้ 15 ประตูในฤดูกาลเดียวกัน 

ก่อนที่ในยุคถัดมาจะมีแข้งอย่าง ปีเตอร์ โอเด็มวิงกี้, ปาปิส เดมบา ซิสเซ่ และ เดมบา บา มาสานต่อความยิ่งใหญ่ของกองหน้ารุ่นก่อน แม้กระทั่ง ซามูเอล เอโต้ ตำนานกองหน้าของทวีปแอฟริกาที่สร้างชื่อโด่งดังในสเปนและอิตาลีมาแล้ว พอย้ายมาเล่นกับเชลซีด้วยวัย 34 ปีก็ยังทำได้ถึง 9 ประตูในฤดูกาลเดียว 

ฟุตบอลอังกฤษสามารถปรับตัวกับนักเตะแอฟริกาได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น สโมสรอังกฤษหาจุดลงตัวในการใช้งานนักเตะจากแอฟริกาด้วยการดึงเทคนิคและความเร็วของพวกเขามาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับสโมสรระดับกลางและระดับล่างที่ต้องใช้แทคติคเกมสวนกลับต่อสู้กับทีมใหญ่ ๆ พวกเขาต้องการกองหน้าหรือปีกที่มีความเร็ว ไปกับบอลได้ดี และจบสกอร์ได้อย่างเฉียบคม ซึ่งนักเตะแอฟริกาคือตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากที่สุด 

ดังนั้นสไตล์ฟุตบอลที่เปลี่ยนไปมีส่วนอย่างมากกับการสร้างพื้นที่ให้กับนักเตะแอฟริกามีที่ยืนในวงการลูกหนังอังกฤษ แต่ไม่ใช่แค่เรื่องรูปแบบการเล่นที่เอื้อเพียงอย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้วนักเตะจากแอฟริกาก็มีฝีเท้าที่พัฒนาขึ้นจากในอดีตอย่างชัดเจนจนได้รับการยอมรับมากขึ้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ยาย่า ตูเร่ ที่กลายเป็นปีศาจร้ายของฟุตบอลอังกฤษ กับการเป็นกองกลางที่ครบเครื่องทุกอย่าง เขามีความแข็งแกร่ง ความดุดัน แต่ก็มีทั้งความเร็วและเทคนิคอันยอดเยี่ยมสามารถจ่ายบอลได้อย่างเหนือชั้น เรียกว่ามีครบจบในตัวคนเดียวทั้งเรื่องเทคนิคและพละกำลัง จนสื่ออังกฤษ ทั้ง BBC และ The Guardian ต่างยกให้ ยาย่า ตูเร่ เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่มีความสามารถรอบด้านมากที่สุดคนหนึ่งที่โลกใบนี้เคยมีมา

พลังเงินสร้างความยิ่งใหญ่ 

ข้ามมาถึงพรีเมียร์ลีกยุคปัจจุบัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่านักเตะจากแอฟริกาสร้างปรากฏการณ์ได้มากเพียงใด ผู้เล่นระดับแถวหน้า ทั้ง โมฮาเหม็ด ซาลาห์, ซาดิโอ มาเน่, ริยาร์ด มาห์เรซ, เอดูอาร์ เมนดี้ ล้วนประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับชีวิตค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก 

ซึ่งจริง ๆ ยังมีนักเตะอีกมากที่เป็นผู้เล่นตัวหลักอยู่ในพรีเมียร์ลีก ไม่ว่าจะเป็น อีฟ บิสซูม่า, ฮาคิม ซีเย็ก, โธมัส ปาร์เตย์, นาบี เกอิต้า และอีกมากมายหลายคน ชนิดที่เรียกว่าในช่วงการแข่งขัน แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ฟุตบอลระดับทวีปของแอฟริกาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบให้หลายสโมสรเพราะต้องเสียผู้เล่นตัวหลักไปแข่งในทัวร์นาเมนต์นี้

เราไม่สามารถปฏิเสธถึงอิทธิพลของแข้งแอฟริกันในฟุตบอลอังกฤษในปัจจุบันได้เลย จนเรียกได้ว่าแข้งแอฟริกาฝีเท้าดีส่วนใหญ่ล้วนย้ายมาโด่งดังที่พรีเมียร์ลีกกันหมด แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนักเตะแอฟริกายุคปัจจุบันใช่ว่าจะได้ดีแค่ในอังกฤษ เพราะนักเตะหลายคนก็สร้างชื่อในลีกอื่นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ปิแอร์-เอเมริค โอบาเมยอง และ นาบี เกอิต้า ที่เคยเป็นยอดนักเตะในลีกเยอรมัน

หรือ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ก่อนจะเป็นตัวอันตรายแห่งลิเวอร์พูล เขาคือนักเตะตัวความหวังของโรม่า ในเซเรีย อา อิตาลี หรือ โธมัส ปาร์เตย์ ก็เคยสร้างชื่อไว้ที่แอตเลติโก มาดริด ในลีกสเปน 

แต่ไม่ว่าจะโด่งดังมาจากที่ไหน สุดท้ายแล้วพรีเมียร์ลีกคือจุดหมายปลายทางของแข้งจากแอฟริกัน และหลายคนก็พัฒนาขึ้นจากในอดีตจนกลายเป็นแข้งระดับโลกอย่างสมบูรณ์แบบในลีกนี้ 

เหตุผลสำคัญข้อแรกที่ทำให้พรีเมียร์ลีกกลายเป็นแหล่งรวมนักเตะแอฟริกาก็คือเรื่องของเงิน เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่านักฟุตบอลจากกาฬทวีปจำนวนมากต้องการเล่นฟุตบอลและได้รับค่าแรงตอบแทนจำนวนมาก เพราะพวกเขาต้องหาเงินไปเลี้ยงดูครอบครัวให้มีชีวิตที่ดีขึ้นหรือย้ายอพยพกันออกจากทวีปแอฟริกามาตั้งถิ่นฐานในยุโรปได้ยิ่งดี

ดังนั้นนักเตะแอฟริกาทุ่มเทเต็มที่เสมอหากว่าพวกเขาจะได้เงินที่เหมาะสม นอกจากนี้พวกเขายังเปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน แข้งจากแอฟริกาส่วนใหญ่ไม่เคยพอใจกับการค้าแข้งกับสโมสรเดิมไปนาน ๆ ทำให้ต้องการจะย้ายทีมหรือมีข่าวเรื่องการย้ายทีมอยู่เสมอ เพราะพวกเขาต้องการค่าเหนื่อยที่มากกว่าเดิมตามเป้าหมายเดิมของพวกเขา

สุดท้ายแล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งที่แข้งแอฟริกาต้องการเงินค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้น พวกเขาก็เลือกย้ายมาเล่นในพรีเมียร์ลีกกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีแต่ทีมในลีกผู้ดีเท่านั้นที่จะจ่ายเงินให้แข้งเหล่านี้ไหว 

ขณะเดียวกันสโมสรในพรีเมียร์ลีกก็ชื่นชอบที่จะเซ็นนักเตะจากทวีปแอฟริกาเหมือนกัน เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะขอขึ้นค่าเหนื่อยบ่อย ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วนักเตะจากแอฟริกาก็ถือว่าทั้งราคาถูกกว่าและค่าเหนื่อยถูกกว่านักเตะจากยุโรปหรืออเมริกาใต้ แถมในปัจจุบันก็เห็นได้ชัดว่านักเตะจากแอฟริกามีฝีเท้าที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หากมีโอกาสทีมในอังกฤษก็จะหาช่องดึงตัวแข้งจากแอฟริกาเข้ามาเสมอ เพราะนั่นคือโอกาสที่จะได้แข้งของดีราคาถูกมาแบบง่าย ๆ

เมื่อทั้งสองฝ่ายมีแรงดึงดูดเข้าหากันจึงทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษมีนักเตะแอฟริกาฝีเท้าดีมารวมตัวกันอยู่เต็มไปหมด นี่จึงทำให้เราได้เห็นนักฟุตบอลจากแอฟริกามาทำผลงานได้โดดเด่นในพรีเมียร์ลีกมากกว่าลีกอื่นเพราะแข้งฝีเท้าดีมาอยู่ที่นี่เกือบหมดแล้ว

อีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าฟุตบอลอังกฤษในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต พวกเขาให้ความยอมรับกับนักเตะจากแอฟริกาเป็นอย่างมาก ไม่มีการตั้งข้อสงสัยว่าแข้งเหล่านี้จะทำได้ดีหรือไม่ ในทางตรงกันกลับมอบความคาดหวังจนกลายเป็นแรงส่งเสริมผลักดันให้แข้งแอฟริกาทำผลงานได้ดีกว่าในอดีตโดยไม่ต้องเจอกับกำแพงความไว้ใจหรือวัฒนธรรมที่ไม่ได้ต้อนรับพวกเขาเหมือนสมัยก่อน 

เชื่อได้เลยว่าในอนาคตข้างหน้าเราคงได้เห็นนักเตะฝีเท้าดีจากแอฟริกาเข้ามาเล่นในพรีเมียร์ลีกมากขึ้นไปอีก หรือใครที่ทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลก 2022 ปลายปีนี้ ก็อาจจะได้ย้ายเข้ามาเล่นในอังกฤษ ช่วงตลาดซื้อขายเดือนมกราคมปี 2023 ก็เป็นได้