เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันแล้ว การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกก็จะกลับมาคัมแบ็กอีกครั้งในฤดูกาล 2022/23 ซึ่งนับเป็นฤดูกาลที่ 31 แล้ว นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนชื่อการแข่งขันจาก ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง อังกฤษ มาเป็นพรีเมียร์ลีก หลังจากนั้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ฟุตบอลอังกฤษกลายเป็น “สิงโตติดปีก” พุ่งทะยานขึ้นไปรับความนิยมจากผู้ชมทั่วโลก จนกลายเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับการยกย่องว่ามีผู้ติดตามรับชมมากที่สุดในโลก
“เกมชิงโล่” ในฤดูกาล 2022/23 ปีนี้จะแปลกกว่าเดิมไปสักนิด เมื่อจะไม่ได้ใช้สนามเวมบลีย์ ซึ่งเป็นสนามกีฬาแห่งชาติแบบที่ใช้งานกัน เนื่องจากสนามเวมบลีย์ ติดภารกิจใช้งานในเกมฟุตบอลหญิงยูโร 2022 รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2012 ปีนั้น เชลซี พบกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เล่นกันที่สนามวิลลา พาร์ก ด้วยเหตุผลว่า เวมบลีย์ ถูกเปิดใช้งานในมหกรรมโอลิมปิก เกมส์ ซึ่งปีนั้นพวกเขาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
โดยต้องบอกว่าเรื่องการ “เปลี่ยนสนาม” ไม่ใช่เรื่องใหม่ของรายการนี้ เพราะสนามแข่งขันในยุคแรกก็จะวนไปใช้ตามสนามต่างๆ บางปีจัดกันในสนามเหย้าของหนึ่งในทีมที่ลงทำการแข่งขันเลยก็มีอย่างเช่น อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือว่า เชลซี ก็เคยได้เล่นในรังเหย้าของตนเองมาแล้วในการลงเล่นชิงโล่การกุศลนี้ ก่อนจะปรับให้มาใช้ เวมบลีย์ กันตั้งแต่ปี 1974 เป็นสนามกลางนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในแต่ละฤดูกาลจะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนานเกี่ยวกับการแข่งขันเกมพิเศษสำหรับการกุศลที่ในยุคนี้เราเรียกกันว่า “โล่การกุศล” หรือ คอมมิวนิตี ชิลด์ ที่จะนำทีมแชมป์พรีเมียร์ลีกลงเล่นกับแชมปเอฟเอคัพในฤดูกาลก่อนหน้านี้มาแข่งขันกัน โดยรายได้ทั้งหมดจะมอบให้กับการกุศล ซึ่งเกมการแข่งขันจะลงเล่นกันหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่พรีเมียร์ลีกจะเริ่มต้นขึ้น ว่ากันง่ายๆ ถ้าเห็นเกมนี้ลงเล่นเมื่อไร สัปดาห์หน้าความมันของเกมลีกจะกลับมาแล้วนั่นเอง
ว่าแต่รายการแข่งขันนี้มันมีที่มาอย่างไร? วันนี้เรามีเรื่องมาให้อ่านกัน
หากฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง เอฟเอ คัพ จะเพิ่งผ่านพ้นอายุ 150 ปีไปได้ไม่นานนัก รายการโล่การกุศลก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะปีนี้รายการนี้แข่งขันกันในปีที่ 114 ติดต่อกันเข้าไปแล้ว แต่หากค้นหาข้อมูลกันให้ลึกกว่านั้น รายการแข่งขันนี้ที่มาที่ไปจุดเริ่มต้นของมัน ย้อนไปไกลถึงปลายศตวรรษที่ 18 กับรายการแข่งขันที่ชื่อว่า เชอริฟฟ์ ออฟ ลอนดอน (Sheriff of London) หรือแปลแบบบ้านๆคือ การแข่งขัน นายอำเภอแห่งลอนดอน โดยจะเป็นการแข่งขันระหว่างทีมที่ดีที่สุดในระดับอาชีพและทีมที่ดีที่สุดระดับสมัครเล่น เพื่อหารายได้เข้าสู่การกุศล
โดยรายการนี้ก่อตั้งขึ้นโดย เซอร์ โธมัส เดวาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอแห่งกรุงลอนดอน ณ เวลานั้น ก่อตั้งขึ้นร่วมกับบุคลากรในวงการฟุตบอลอีกหลายคน โดยเริ่มมีการแข่งขันขึ้นกันในปี 1898 เป็นต้นมา แต่ก็อยู่ได้เพียง 9 ปีเท่านั้น รายการแข่งขันก็ไปไม่รอด เพราะมืออาชีพเหมาชัยชนะแทบทุกปี แถมยังส่งผลในเรื่องของปัญหากันระหว่างสองสมาคมอีกต่างหาก
แต่สำหรับแนวคิดนี้ก็ยังได้ไปต่อ เมื่อสมาคมฟุตบอลอังกฤษมองว่าน่าสนใจ และนำไปต่อยอดกันต่อ และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันมาเป็น เอฟเอ แชริตี ชิลด์ โดยเลือกทีมแชมป์ลีกสูงสุด มาเจอกับทีมแชมป์ เซาธ์เทิร์น ลีก มาเจอกัน ซึ่งเกมแรกของการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยสมาคมฟุตบอลอังกฤษ เกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 1908 โดยเป็นการพบกันระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส ซึ่งเกมจบกันแบบฉันท์มิตรภาพสวยงาม เสมอกัน 1-1 ก็ควรได้ฉลองร่วมกัน แต่แล้วเรื่องยังไม่จบง่าย ๆ แบบนั้น อาจเพราะในยุคนั้นฟุตบอลไม่เตะกันถี่ยิบแบบที่เราเห็นกัน ฝ่ายจัดการแข่งขันมองว่าควรมีผู้ชนะกันอย่างเด็ดขาดเลยจัดให้มีการแข่งขันอีกเกม หรือที่เรียกว่าเกมรีเพลย์
แต่กว่าจะได้เตะเกมรีเพลย์ก็ต้องรอไปอีก 5 เดือนเต็ม อ่านไม่ผิดครับ 5 เดือน เพราะต้องการให้เตะในช่วงฤดูใบไม้ผลิอากาศดีๆ และคราวนี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอาชนะไปได้แบบขาดลอย 4-0 พร้อมกับต้องจารึกชื่อของ จิมมี่ เทิร์นบูล กองหน้าชาวสกอตแลนด์ในฐานะของนักเตะคนแรกที่ยิงแฮตทริคได้เป็นคนแรกของรายการแข่งขันนี้ และทำได้ตั้งแต่ปีแรกของการจัดการแข่งขันกันเลย โดยสนามที่ใช้ในการแข่งขันครั้งแรกก็เป็นสนามที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ บ้านของเชลซีนั่นเอง
หลังการแข่งขันครั้งแรกจบลง ก็มีการปรับแนวคิดในเรื่องของทีมที่จะมาลงทำการแข่งขันกันอยู่หลายปี บางปีจะเป็นการเลือกทีมรวมดาราของลีกอาชีพ และลีกสมัครเล่นมาเจอกันบ้างก็มี จนกระทั่งในปี 1921 เอฟเอก็ประกาศให้การแข่งขันรายการนี้ เป็นเกมระหว่างแชมป์ลีกสูงสุด กับแชมป์ เอฟเอ คัพ เป็นครั้งแรก แต่ก็ยังมีการสลับไปมากันอีกหลายครั้ง จนกระทั่งในปี 1930 ก็ลงตัว และกลายมาเป็นมาตรฐานจนมาถึงวันนี้ เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกฟุตบอล ซึ่งกว่าจะลงตัวกันได้แบบนี้ใช้เวลายาวนานถึง 22 ปี และนับจากการแข่งขันแรกจนถึงเวลานี้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือทีมที่ได้แชมป์ และได้ลงเล่นในเกมนี้มากที่สุดในประเทศ กับการลงเล่นทั้งสิ้น 30 เกมคว้าแชมป์ไปได้ 21 ครั้งด้วยกัน
“โล่การกุศล” มีการเปลี่ยนแบบมาโดยตลอดจากแรกเริ่มที่มีการมอบให้กันแบบขนาดใหญ่คนเดียวยกไม่ไหว เปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ขนาดกำลังถ่ายภาพตอนฉลองชัยชนะกันได้สวย เช่นเดียวกับรูปแบบการแข่งขันที่ยกเลิกเกมรีเพลย์ เหลือเพียงให้ลงเล่นกันแบบจบใน 90 นาที หากเสมอกันก็ต่อเวลาพิเศษหาผู้ชนะ หากยังหาไม่ได้ก็ครองร่วมกันไปเลยในฤดูกาลนั้น ก่อนที่จะมาถึงเวอร์ชั่นล่าสุด จบใน 90 นาที ไม่มีผู้ชนะก็ดวลจุดโทษกันไปเลย รวมถึงกระทั่งชื่อจากเดิม เอฟเอ แชริตี ชิลด์ ก็กลายมาเป็น เอฟเอ คอมมิวนิตี ชิลด์ ตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา แต่เป้าประสงค์ในการจัดการแข่งขันยังคงเดิมไม่ต่างจากเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยรายได้ทั้งหมดของการแข่งขันจะนำไปมอบให้กับองค์กรการกุศล, ชุมชน รวมถึงแบ่งไปให้กับสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันเอฟเอ คัพ ในแต่ละปีที่ลงเล่นกันมากกว่า 120 สโมสร
จากประวัติศาสตร์การแข่งขันเกินช่วงชีวิตของคนหนึ่งคนผ่านมาแล้ว 114 ปี ที่ลงเล่นกันมาโดยตลอด อาจมีห่างหายไปบ้างในช่วงสงครามโลก แต่ท้ายที่สุดแล้ว “เจตนารมณ์” ยังคงได้รับการสืบทอดต่อมากันแบบรุ่นสู่รุ่น เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมฟุตบอลของประเทศแห่งนี้ และเป็นหนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญที่ว่าพวกเขาในฤดูกาลก่อนหน้านั้นประสบความสำเร็จอะไรมาบ้างนั่นเอง