sportpooltoday

จากมังงะเรื่อง SAYONARA FOOTBALL สู่โลกจริง : “ผู้หญิงเล่นฟุตบอลในทีมชายได้จริงไหม?”


จากมังงะเรื่อง SAYONARA FOOTBALL สู่โลกจริง : "ผู้หญิงเล่นฟุตบอลในทีมชายได้จริงไหม?"

สำหรับสายมังงะฟุตบอลแล้ว เรื่องที่อยู่ในใจของคุณผู้อ่านคงหนีไม่พ้น กัปตันสึบาสะ, ชู้ต! (Shoot!), สิงห์สนาม (Area no Kishi) รวมถึง วิวา กัลโช่ (Viva Calcio) และอาจมีเรื่องอื่นๆอีก

ทุกเรื่องที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นมังงะที่มีตัวละครชายเป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง แต่ไม่ใช่กับ “Sayonara Football” ที่ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิง และไม่ใช่ในตำแหน่งผู้จัดการทีมเหมือนกับในมังงะเรื่องอื่นๆ แต่เป็นนักฟุตบอลที่มีความมุ่งมั่นจะลงแข่งขันฟุตบอลชายให้ได้ 

ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปและการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น มังงะเรื่องนี้จึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงในการเอาชนะขีดจำกัดของร่างกายเพื่อลงเล่นในทีมชายให้ได้  

Main Stand จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับมังงะเรื่องนี้ และเล่าถึงความเปลี่ยนไปของโลกฟุตบอลที่ผู้หญิงได้เริ่มเข้ามาสร้างความท้าทายในโลกฟุตบอลชาย แม้จะต้องฝ่าฟันข้อจำกัดมากมาย

ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand

เรื่องสะท้อนสังคมญี่ปุ่นจาก Sayonara 

Sayonara Football (さよならフットボール) คือผลงานมังงะฟุตบอลที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงปี 2009-2010 จำนวน 2 เล่มจบ จากปลายปากกาของนักเขียนที่ชื่อ นาโอชิ อาราคาวะ เจ้าของผลงานมังงะชื่อดังอย่าง Your Lie in April หรือในชื่อไทยว่า เพลงรักสองหัวใจ

1หลังจากนั้น Farewell, My Dear Cramer หรือ Sayonara Watashi no Cramer (さよなら私のクラマー) มังงะภาคต่อของ Sayonara Football โดยนักเขียนคนเดิมก็ได้ถูกตีพิมพ์ลงใน Shonen Magazine นิตยสารรายเดือนของสำนักพิมพ์โคดันฉะ ระหว่างปี 2016-2020 ทั้งหมด 14 เล่มจบ

มังงะทั้งสองถูกนำมาสร้างเป็นผลงานอนิเมชัน 2 เรื่องอย่าง Sayonara Watashi no Cramer ทีวีอนิเมะ 13 ตอนจบในปี 2021 โดยดัดแปลงมาจากมังงะ Farewell, My Dear Cramer และภาพยนตร์ Sayonara Watashi no Cramer Movie: First Touch ที่ดัดแปลงมาจากมังงะ Sayonara Football และออกฉายในปีเดียวกัน

Sayonara Football เริ่มด้วยเรื่องราวของ โนโซมิ อนดะ นักเรียนหญิงชั้น ม.2 ผู้หลงใหลในกีฬาฟุตบอลและอยากลงเล่นในเกมการแข่งขัน แต่โรงเรียนของเธอกลับไม่มีชมรมฟุตบอลหญิง ทำให้เธอจำต้องไปอยู่ในชมรมฟุตบอลชาย และถึงแม้เธอจะมีทักษะในการเลี้ยงบอลที่สูงมากก็ตาม แต่ด้วยความที่ตัวเธอที่เป็นผู้หญิง ทำให้เธอไม่สามารถต่อกรกับนักฟุตบอลชายที่มีสมรรถภาพทางร่างกายที่สูงกว่าได้

บวกกับโค้ชที่เห็นว่าการที่เธอลงเล่นฟุตบอลกับผู้ชายจะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ จึงตัดสินใจไม่ส่งเธอลงสนามอีก หลังเคยส่งเธอลงสนามไปแล้วครั้งหนึ่งจนเธอได้รับบาดเจ็บหนักจากการเข้าปะทะกับนักฟุตบอลชาย

แต่ด้วยความกระหายของเธอที่อยากจะพิสูจน์ว่า “ถึงจะเป็นผู้หญิงก็สามารถลงเล่นในทีมฟุตบอลชายได้” ทำให้เธอไม่ยอมแพ้และมุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อที่จะได้มีชื่อติดทีมไปแข่งให้ได้ เธอจะสามารถทำได้หรือไม่? เราขอยุติการสปอยล์ไว้แต่เพียงเท่านี้ เพื่อให้ทุกคนได้ไปหาอ่านหาชมกัน

2ส่วนผลงานอนิเมชันภาพยนตร์อย่าง Sayonara Watashi no Cramer Movie: First Touch ที่ดัดแปลงมาจากมังงะ Sayonara Football นั้นก็ได้รับคำชมมากมายจากคอการ์ตูนและเหล่านักเตะหญิงทีมชาติญี่ปุ่น 

“ตัวหนังได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นจริงในโลกของฟุตบอลหญิง และฉันเองก็มีประสบการณ์ที่คล้ายๆกันกับในตัวหนัง” ชิกะ ฮิราโอะ ผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นหญิง กล่าวความรู้สึกหลังได้รับชม

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ดูให้ดี การที่ผู้หญิงอย่างอนดะต้องไปอยู่ในชมรมฟุตบอลชายเนื่องจากโรงเรียนของเธอไม่มีชมรมฟุตบอลหญิง และต้องต่อสู้เพื่อจะได้ลงเล่นฟุตบอลกับผู้ชายมาจากปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่พวกเขากลับถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศอันดับท้ายๆ ในเรื่องของความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย

จากดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเพศเมื่อปี 2021 ที่สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) จัดขึ้น ได้เรียงอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศน้อยไปหามากที่สุด พวกเขาได้จัดให้ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 120 จากทั้งหมด 156 ประเทศ จากค่าเฉลี่ยในเรื่องเงินเดือนเมื่อปี 2020 ที่ผู้หญิงได้รับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 251,000 เยน (ราว 66,600 บาท) ในขณะที่ผู้ชายได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 338,000 เยน (ราว 89,600 บาท) ที่มากกว่าผู้หญิงถึง 87,000 เยน (ราว 23,000 บาท) ซึ่งเป็นระยะห่างที่มากขึ้นกว่าในปีก่อนๆ

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงสังคม “ผู้ชายเป็นใหญ่” ที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดยทัศนคติของคนญี่ปุ่นในอดีตที่คิดว่า ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงจะต้องทำงานบ้าน เลี้ยงดูลูก จึงทำให้ผู้หญิงในสังคมการทำงานในญี่ปุ่นเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

“ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่ดีจะต้องรู้จักประพฤติตัวและไม่ทำตัวโดดเด่นยังคงมีอยู่ในทุกวันนี้” โทโมมิ อินาดะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น กล่าวถึงทัศนคติของผู้ชายในอดีตที่มีต่อผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น

ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในญี่ปุ่นยังส่งผลไปถึงโลกของกีฬาในญี่ปุ่นผ่านตำแหน่งๆหนึ่ง ตามชมรมกีฬาในแต่ละโรงเรียนของญี่ปุ่นอย่าง “ผู้จัดการหญิง” หรือที่เรียกว่า “โจชิมาเนะ (Joshi Mane)”

3
4เพราะการที่บางโรงเรียนไม่ได้มีชมรมกีฬาสำหรับผู้หญิง จึงทำให้ตำแหน่งนี้กลายเป็นตำแหน่งเดียวที่จะทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งได้อยู่กับกีฬาที่เธอรัก ซึ่งก็ต้องแลกมากับการแบกรับหน้าที่อันมหาศาล ตั้งแต่การดูแลสภาพความเป็นอยู่ของนักกีฬาภายในทีม พูดคุยให้กำลังใจกับนักกีฬา รวมถึงการจัดเตรียมเครื่องดื่มให้กับนักกีฬาในเวลาซ้อมหรือแข่ง จนทำให้พวกเธอไม่มีเวลาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และส่งผลในด้านลบให้กับร่างกายและจิตใจของพวกเธอ

ตำแหน่งผู้จัดการหญิงในชมรมกีฬาสะท้อนให้เห็นถึงสังคมชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่น จากการที่ผู้หญิงที่มีใจรักกีฬาไม่ได้รับการสนับสนุนและผลักดันให้มีโอกาสที่จะได้เดินทางตามความฝันของตัวเอง เนื่องจากถูกสังคมกีดกันไม่ให้ได้เล่นกีฬาบางชนิดที่สังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นกีฬาของลูกผู้ชาย เช่น เบสบอล หรือ ฟุตบอล ทำให้พวกเธอต้องหันมาเป็นผู้จัดการหญิงเพื่อให้พวกเธอได้มีโอกาสที่จะได้อยู่กับกีฬาที่พวกเธอรัก

สำหรับญี่ปุ่น การที่ผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้เล่นฟุตบอลกับผู้ชายอาจจะเป็นเพราะเรื่องของสังคมชายเป็นใหญ่ แต่สำหรับสากลโลก การที่ผู้หญิงจะเล่นฟุตบอลร่วมกับผู้ชายมันเป็นเรื่องที่ยากเกินไปด้วยข้อจำกัดในด้านสรีรศาสตร์

ลงลึกด้วยเหตุผลทางกายภาพ

ความแตกต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่มักจะถูกหยิบขึ้นมาพูดบ่อยๆในประเด็นที่เกี่ยวกับการเล่นกีฬา คือความแตกต่างกันของ “ระดับฮอร์โมนในร่างกาย” โดยผู้หญิงจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าและระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำกว่าผู้ชาย

5สิ่งนี้ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในด้านสรีระของผู้ชาย ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายที่ต่ำ มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงที่มาก หรือแม้แต่การผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย

นอกจากเรื่องของฮอร์โมนแล้ว นักวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา พบว่า ผู้ชายมีเส้นใยกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง ซึ่งสร้างแต้มต่อในการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้พลังงานได้เป็นอย่างดี โดยอธิบายว่า

“ผู้หญิงจะมีความแข็งแรงแค่ประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์และ 66 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายในร่างกายส่วนบนและส่วนล่างตามลำดับ จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าความแข็งแกร่งที่มากกว่าของผู้ชายนั้นเกิดจากเส้นใยกล้ามเนื้อที่มีมากกว่าเป็นหลัก”

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ในเมืองคอร์ตแลนด์ ยังได้ทำการสำรวจกลุ่มนักวิ่งระยะกลางและไกลชายและหญิงจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา ในกีฬาประเภทกรีฑา และพบว่า

“เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการวิ่ง ผู้ชายจะใช้ออกซิเจนน้อยกว่า และเมื่อเปรียบเทียบผู้ชายกับผู้หญิงที่มี VO2max (ปริมาณการใช้ออกซิเจนเมื่อออกกำลังอย่างเต็มกำลังที่สุด) เท่ากัน ผู้ชายจะใช้ได้ประหยัดกว่าอย่างเห็นได้ชัด”

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ผู้ชายจะมีความจุปอดที่มากกว่าในการส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อที่กำลังทำงานหนักแล้ว พวกเขายังมีฮีโมโกลบินในเลือดที่มากกว่าอีกด้วย ซึ่งฮีโมโกลบินเป็นโมเลกุลที่จะช่วยในการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ดังนั้น การมีฮีโมโกลบินจำนวนมากจะช่วยให้ผู้ชายมีความทนทานต่อการยืนระยะยาวในสนามได้ดีกว่าผู้หญิง

ทางด้านข้อมูลสถิติเอง ไอรา แฮมเมอร์แมน นักฟิสิกส์ชาวอิสราเอล ได้นำเสนอข้อค้นพบของเขาในงาน Wingate Congress of Exercise & Sports Sciences เมื่อปี 2010 โดยเขากล่าวว่า

“สถิติโลกด้านความเร็วของผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของสถิติโลกด้านความเร็วของผู้ชาย ทั้งการแข่งขันกีฬาในระยะทางสั้น กลาง และไกล”

6จากการที่แฮมเมอร์แมนได้วิเคราะห์การแข่งขันกีฬาทั้งหมด 82 รายการ เช่น กรีฑา ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน พายเรือ ฯลฯ พบว่าสถิติโลกของผู้หญิงในทุกรายการนั้นช้ากว่าสถิติโลกของผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ และข้อมูลดังกล่าวก็ยังคงเป็นเช่นนี้มาเป็นเวลากว่า 55 ปี นับตั้งแต่ปี 1950 จนถึง 2005 จากสถิติที่เขาได้ทำการรวบรวมในเวลานั้น

เมื่อดูคำอธิบายจากหลักการทางวิทยาศาสตร์และสถิติ รวมถึงกฎ 90 เปอร์เซ็นต์ของแฮมเมอร์แมนแล้วจึงสรุปได้ว่า เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะสามารถเล่นกีฬาชนิดต่างๆได้เก่งเท่าผู้ชาย ซึ่งรวมไปถึงฟุตบอลด้วย

หนึ่งในเคสตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความต่างกันของสมรรถภาพทางร่างกายระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายที่ส่งผลต่อการเล่นฟุตบอล คือเรื่องราวที่ครั้งหนึ่ง สเตฟานี ลาบเบ อดีตผู้รักษาประตูหญิงทีมชาติแคนาดา เคยมีโอกาสได้ฝึกซ้อมกับทีมฟุตบอลชายของ คาลการี ฟุตฮิลส์ สโมสรแห่งหนึ่งในแคนาดา เมื่อปี 2018 และทำให้เธอได้พบกับปัญหาบางอย่างเมื่อต้องเล่นฟุตบอลกับผู้ชาย

“ฉันเสียเปรียบทางด้านร่างกายกับผู้ชายเป็นอย่างมาก ตั้งแต่จังหวะที่ฉันต้องกระโดดรับลูกกลางอากาศไปจนถึงจังหวะที่ต้องเข้าไปปิดมุมการยิงประตูของคู่แข่ง” ลาบเบ กล่าวกับทาง Wired

7นอกจากนี้ เธอเคยมีความพยายามที่จะลงเล่นกับสโมสรแห่งนี้ในลีกฟุตบอลกึ่งอาชีพชายของแคนาดา (PDL) แต่เธอกลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ด้วยเหตุผลว่า PDL เป็นลีกที่กำหนดเรื่องเพศเอาไว้แล้ว ทำให้ลาบเบไม่สามารถลงเล่นให้กับทีมฟุตบอลชายของ คาลการี ฟุตฮิลส์ ได้

แต่ใช่ว่าผลทางวิทยาศาสตร์รวมถึงบริบททางสังคมของญี่ปุ่นจะสามารถใช้ในการตัดสินข้อสงสัยที่ว่า ผู้หญิงไม่สามารถเล่นฟุตบอลกับผู้ชายได้เสมอไป

เพราะก็มีผู้หญิงบางคนที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเธอสามารถเล่นฟุตบอลร่วมกับผู้ชายได้ ..

ผู้หญิงในทีมชายจากโลกจริง

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า Sayonara Football คือเรื่องราวของเด็กสาวที่อยากจะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถลงเล่นฟุตบอลในทีมฟุตบอลชายได้ และบทพิสูจน์นี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในโลกแห่งความเป็นจริง

เมื่อปี 2020 เอลเลน ฟอคเคมา เด็กสาวจากเนเธอร์แลนด์วัย 19 ปี ผู้มีความใฝ่ฝันอยากจะลงเล่นฟุตบอลกับเพื่อนผู้ชายที่เธอเล่นด้วยกันมาตั้งแต่ 5 ขวบ แต่ด้วยกฎของฟุตบอลในประเทศที่อนุญาตให้ผู้หญิงลงเล่นกับผู้ชายได้ในรูปแบบของทีมเยาวชนผสมจนถึงอายุ 19 ปี ทำให้เธอไม่สามารถลงเล่นร่วมกับเพื่อนของเธอที่อยู่ในทีมชุดใหญ่ได้

8ถึงแม้ วีวี โฟอารุต (VV Foarút) สโมสรฟุตบอลในดิวิชั่น 4 ของเนเธอร์แลนด์จะมีทีมสำรองชาย ซึ่งเธอสามารถลงเล่นได้ แต่เธอต้องการที่จะเล่นในทีมชุดใหญ่มากกว่า ดังนั้น ทางสโมสรจึงขอให้ทางสมาคมฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ (KNVB) ช่วยเปิดทางให้เธอได้ทำตามความฝัน

“สำหรับฉันมันเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่มีแรงกดดันใดๆเลย ฉันคิดในใจว่า ทำไมจะลงเล่นไม่ได้ล่ะ?” ฟอคเคมา อธิบายความรู้สึกของเธอกับทางสำนักข่าว BBC

ในตอนแรก KNVB ปฏิเสธคำขอ แต่ทางฟอคเคมาเองก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมแพ้แต่อย่างใด

ออเก้ กริปมา ผู้อำนวยการเทคนิคของสโมสรสมัครเล่นแห่งนี้ กล่าวว่า “ทางบอร์ดบริหารและโดยเฉพาะอย่างยิ่งโค้ชของเธอ โยฮัน โพลสตรา ได้ติดตามพัฒนาการของเธอและเห็นว่าเธอสามารถลงเล่นในฟุตบอลระดับนี้ได้”

“นั่นเป็นเหตุผลที่เรายังคงหาทางที่จะทำให้เธอเข้าร่วมลีกฟุตบอลชายให้ได้”

จนในที่สุด ความพยายามของพวกเขาก็เป็นผล หลังการร้องขอเป็นครั้งที่สอง ทาง KNVB ก็ได้อนุมัติให้ ฟอคเคมา ได้ทดลองลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ในฤดูกาล 2020/21 เป็นเวลา 1 ฤดูกาล เพื่อประเมินว่าผู้หญิงจะสามารถลงแข่งขันในเกมฟุตบอลของทีมชุดใหญ่ชายได้หรือไม่?

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ฟอคเคมา กลายเป็นที่สนใจสำหรับสื่อต่างๆ หลังเธอได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ลงเล่นในเกมการแข่งขันของทีมชุดใหญ่ชายในลีกฟุตบอลเนเธอร์แลนด์

“สำหรับเรามันเป็นเรื่องปกติจริงๆ เอลเลน เล่นฟุตบอลกับผู้ชายมาตลอด และพวกเราก็รู้จักเธอเป็นอย่างดีอยู่แล้ว” กริปมา กล่าวกับทาง BBC

ฟอคเคมา กล่าวเสริมว่า “ฉันก็แค่อยากเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆเท่านั้นเอง”

9เธอได้ลงสนามในฐานะตัวสำรองให้กับทีมชุดใหญ่ชายไป 6 นัด ก่อนที่การมาของโควิด-19 จะทำให้เกมการแข่งขันต้องถูกตัดจบฤดูกาลไปในเดือนพฤศจิกายน

หลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2021 KNVB ก็ได้ประกาศอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถลงเล่นในทีมชุดใหญ่ชายได้ ฟอคเคมาได้ช่วยทำให้ความฝันในการเปิดรับนักฟุตบอลหญิงเข้าสู่ทีมฟุตบอลชายนั้นกลายเป็นจริงในเนเธอร์แลนด์ และตอนนี้เธอก็ได้เล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆของเธอตามที่เธอฝันเอาไว้ และหวังว่าคนอื่นๆก็จะสามารถทำได้เช่นกัน

“ฉันหวังว่าผู้หญิงคนอื่นๆจะได้เล่นฟุตบอลอย่างที่พวกเธอต้องการ รวมถึงได้รักษาความสุขและความสนุกในการเล่นฟุตบอลไว้” ฟอคเคมา กล่าว

เรื่องราวของฟอคเคมาได้ทำลายกำแพงที่เรียกว่า “เพศ” ในกีฬาฟุตบอลลงได้สำเร็จ ด้วยความรักและความมุ่งมั่นในกีฬาฟุตบอลของเธอ แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โลกได้ตัดสินไปแล้วว่า ผู้หญิง กับ ผู้ชาย ไม่สามารถเล่นฟุตบอลด้วยกันได้ แล้วทำไมผู้หญิงบางคนถึงสามารถเล่นฟุตบอลกับผู้ชายได้?

ทักษะที่เพิ่มพูนได้

แม้ผู้หญิงจะไม่ได้มีร่างกายที่สามารถเข้าไปปะทะกับผู้ชายได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่สำหรับกีฬาฟุตบอล ความสามัคคีกันระหว่างผู้เล่น 11 คนในสนามยังคงเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ทีมฟุตบอลทีมหนึ่งประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น แค่สมรรถภาพทางร่างกายอย่างเดียวคงไม่พอ การเล่นกันเป็นทีมก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการเล่นฟุตบอลไม่แพ้กัน ซึ่งสิ่งนี้เองที่ผู้หญิงจะสามารถนำมันมาชดเชยได้ในเรื่องกายภาพทั้งความเร็วและความแข็งแกร่งที่ด้อยกว่าผู้ชาย

เจนนิเฟอร์ ลาเลอร์ อดีตนักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา ได้เปรียบเทียบสไตล์การเล่นระหว่างนักฟุตบอลชายและหญิงในสหรัฐฯไว้ว่า ผู้ชายจะเล่นฟุตบอลด้วยความแข็งแกร่ง ความเร็ว และความดุดันกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงจะเล่นฟุตบอลกันเป็นทีมและอาศัยการอ่านเกมมากกว่าผู้ชาย สิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าปะทะกับผู้ชายได้มากขึ้น

10“ฟุตบอลชายและหญิงในอเมริกาแตกต่างกันมาก ผู้ชายมักจะเล่นไปตามสัญชาตญาณโดยไม่ได้อ่านเกมล่วงหน้า ในขณะที่ผู้หญิงมักจะครุ่นคิดถึงการเคลื่อนที่ของพวกเธออยู่ตลอด” ลาเลอร์ กล่าว

นอกจากการเล่นฟุตบอลเป็นทีมแล้ว ลาเลอร์ ได้กล่าวเสริมอีกว่า ทักษะการจ่ายบอลและเลี้ยงบอลก็เป็นอีกหนทางที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงสามารถเล่นฟุตบอลกับผู้ชายได้อย่างสูสีมากขึ้น โดยทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่สามารถฝึกให้ชำนาญจนเหนือกว่าผู้ชายได้

อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันที่ฟุตบอลให้ความสำคัญกับเรื่องพละกำลังมากขึ้น จากค่าเฉลี่ยในการวิ่งแต่ละเกมของนักเตะที่เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างเห็นได้ชัด มันจึงทำให้ผู้หญิงที่มีพละกำลังน้อยกว่าเสียเปรียบผู้ชายที่มีพละกำลังมากกว่าเป็นอย่างมาก จากการที่ผู้หญิงไม่สามารถเล่นฟุตบอลด้วยจังหวะที่เร็วเท่าผู้ชายตลอด 90 นาทีได้ เนื่องจากผู้หญิงมีความจุปอดที่ใช้ในการขนส่งออกซิเจนน้อยกว่าผู้ชาย

และสิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่า ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ผู้ชายสามารถเล่นได้ดีกว่าผู้หญิง

นอกเสียจากว่า ผู้หญิงจะต้องมีทักษะในการเลี้ยงบอลและจ่ายบอลที่สูงกว่าผู้ชายมากพอที่จะชดเชยความเสียเปรียบนั้นได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ผู้หญิงจะสามารถทำเช่นนั้นได้ ในยุคที่ฟุตบอลใช้ความฟิตและพละกำลังเป็นเครื่องมือสำคัญในการไล่ล่าความสำเร็จ

สำหรับฟอคเคมาแล้ว เธออาจจะเป็นเพียงแค่หนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถทำให้คำพูดของอนดะที่ว่า “ถึงจะเป็นผู้หญิงก็สามารถลงเล่นในทีมฟุตบอลชายได้” นั้นกลายเป็นจริงได้