เชลซี อาจจะมีฉายาว่า สิงห์ไฮโซ หรือ ทีมเศรษฐีบุญทุ่ม แล้วแต่คนจะเรียก นั่นคือชื่อที่ติดตัวพวกเขามาตั้งแต่ยุคที่ โรมัน อบราโมวิช เป็นเจ้าของทีม
อย่างไรก็ตามภายใต้การทุ่มซื้อนักเตะระดับโลกกลับมีอีกระบบที่เติบโตขึ้นพร้อม ๆ กัน นั่นคือระบบการปั้นนักเตะแล้วขายที่ทำกำไรได้มากกว่าใครหลายคนคิด
Main Stand ขอพาไปพบเรื่องราวระบบเยาวชนและการคัดนักเตะหัวกะทิของเชลซีที่ทำให้สโมสรแห่งนี้ยังคงมีตัวเลขในบัญชีเป็นสีเขียว และยังสามารถติดลมบนได้นานนับ 20 ปี
การเปลี่ยนแปลงที่ค็อบแฮม
นับตั้งแต่เชลซีถูกเทคโอเวอร์โดย โรมัน อบราโมวิช ในปี 2003 สโมสรแห่งนี้ถูกรู้จักกันในฐานะทีมเศรษฐีที่พร้อมทุ่มไม่อั้นซื้อตัวนักเตะระดับแถวหน้าของโลกเพื่อเป็นหนทางสู่แชมป์ และพวกเขาก็ทำสำเร็จได้ภายในเวลาแค่ 2 ปี เมื่อ โชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือไฟแรง (ในเวลานั้น) เข้ามาพร้อมกับนักเตะฝีเท้าดีมากมาย
มูรินโญ่ ได้ประชุมกับ อบราโมวิช และทั้งคู่มีความเห็นตรงกันว่าพวกเขาไม่พอใจกับสนามฝึกซ้อมของทีมมากนัก และมันจะดีกว่านี้มากหากสโมสรลงทุนเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว นั่นคือการสร้างศูนย์ฝึกซ้อมและศูนย์พัฒนาเยาวชนเป็นของตัวเอง จนกระทั่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นและถูกตั้งชื่อว่า “ศูนย์ฝึกค็อบแฮม” ที่เปิดใช้งานในปี 2005 สำหรับทีมชุดใหญ่ และจากนั้นอีก 2 ปีก็มีการต่อเติมและใส่รายละเอียดต่าง ๆ แบบครบวงจรพร้อมให้นักเตะตั้งแต่ชุดเยาวชนถึงชุดใหญ่ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เรียกได้ว่าจากปี 2007 เป็นต้นไป ค็อบแฮม จะเป็นรังสำหรับนักเตะเชลซีตั้งแต่รุ่นอคาเดมีจนถึงตอนที่ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ เนื่องจากมีการลงมติกันว่าการรวมกันอยู่ในที่เดียวจะทำให้เกิดประโยชน์หลายทาง นักเตะดาวรุ่งจะได้เห็นรุ่นพี่เป็นแรงบันดาลใจ ขณะที่โค้ชจากทีมชุดต่าง ๆ ก็ได้เห็นเด็กหลาย ๆ คนที่กำลังรอวันขึ้นชั้นขยับรุ่นอายุแบบชัด ๆ ด้วยตาตัวเอง
การที่เชลซีสร้างศูนย์ฝึกค็อบแฮมนั้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของสโมสรนี้อย่างแท้จริง เพราะค็อบแฮมถือเป็นศูนย์ฝึกที่ได้มาตรฐานระดับโลก การฝึกซ้อมที่นี่ช่วยให้นักเตะเยาวชนของเชลซีได้ฝึกซ้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสที่นักเตะจะทำผลงานได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
สิ่งที่ทำคัญยิ่งกว่าการมีสนามซ้อมและศูนย์ฝึกที่มีคุณภาพระดับโลกแล้ว เชลซียังได้ลงทุนเกี่ยวกับนักเตะเยาวชนโดยเฉพาะ หลังจากสร้างศูนย์ฝึกเสร็จ พวกเขาเดินหน้ากวาดนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีที่อายุไม่ถึง 18 ปีจากทั่วยุโรปเข้ามาไว้ในทีมเยาวชนของสโมสร และเมื่อนักเตะเหล่านี้อยู่กับทีมเยาวชนจนครบ 3 ปี พวกเขาจะถูกเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นนักเตะจากศูนย์ฝึกของสโมสรภายใต้กฎของพรีเมียร์ลีก ในช่วงแรกมีนักเตะที่เข้ากรณีนี้หลายคนทั้ง ซาโลมง กาลู, ฟาบิโอ บอรินี่, เจฟฟรีย์ บรูม่า, ไรอัน เบอร์ทรานด์ รวมถึง โรเมลู ลูกากู
เชลซีรู้ดีว่าการมีศูนย์ฝึกที่ดีก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างวัตถุดิบชั้นดีในพริบตา เพราะนักเตะที่จะใช้งานศูนย์ฝึกค็อบแฮมที่ทุ่มทุนสร้างได้คุ้มที่สุดคือนักเตะที่อยู่กับสโมสรมาตั้งแต่ยังเด็กและได้เติบโตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาพอสมควร นั่นจึงทำให้เชลซีในช่วงหลังปี 2008 เป็นต้นมาเต็มไปด้วยนักเตะในทีมชุดเยาวชนที่ถูกปล่อยยืมไปยังสโมสรต่าง ๆ มากมาย หลายคนไม่สามารถกลับมาชิงพื้นที่ในทีมชุดใหญ่ของเชลซีได้ … และนโยบายนี้ก็ทำให้เชลซีถูกมองว่าเป็นทีมที่ไม่เคยให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งของตัวเองอยู่ดี
ปัญหาที่ตามมา
การซื้อนักเตะจากอคาเดมีของทีมอื่น ๆ มาใช้ในศูนย์ฝึกตัวเองไม่ค่อยได้ผลนักสำหรับเชลซี พวกเขาใช้กลยุทธ์ระบายนักเตะในทีมเยาวชนจำนวนมากด้วยการปล่อยยืมตัวไปยังสโมสรต่าง ๆ โดยเฉพาะทีมพันธมิตรอย่าง วิเทสส์ ในลีกดัตช์ ที่บางปีแทบจะยกนักเตะเยาวชนของเชลซีไปครึ่งทีมเลยก็มี
โยฮันส์ สปอร์ ผู้อำนวยการด้านกีฬาของวิเทสส์ ได้พูดคุยกับ Goal ถึงเรื่องดังกล่าวว่า “เจ้าของทีมทั้งสองสโมสรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (อบราโมวิช และ วาเลรีย์ โอฟ) นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเจรจากันระหว่าง 2 สโมสร”
จุดนี้ทำให้นักเตะเยาวชนของเชลซีมีเกมระดับสูงให้ลงเล่นเพื่อสร้างประสบการณ์แน่นอน แม้ที่สุดแล้วนักเตะเหล่านี้จะดีไม่พอสำหรับทีมชุดใหญ่ แต่พวกเขาก็ทำกำไรจากการขายและการปล่อยยืมตัวนักเตะเหล่านี้ได้อยู่ดี เพราะในช่วงที่ปล่อยยืมตัวสโมสรที่ยืมนักเตะจะต้องจ่ายค่าเหนื่อยให้กับนักเตะคนนั้น ๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เชลซีได้รับประโยชน์เต็ม ๆ ในช่วงที่ดาวรุ่งลูกหม้อของพวกเขายังไม่พร้อมใช้งาน
นับตั้งแต่เชลซีใช้โมเดลนี้ พวกขายนักเตะที่ไม่เคยและอาจจะเคยเล่นให้ทีมชุดใหญ่น้อยมากได้มากมาย เช่น เคนเน็ธ โอเมรัว, มาร์โก ฟาน กิงเคล, พาทริค ฟาน อานโฮลท์, โทมัส คาลาส, ลูคัส เปียซอน, ธอร์ก็อง อาซาร์, แพทริก แบมฟอร์ด หรือแม้กระทั่ง เควิน เดอ บรอยน์
นักเตะเหล่านี้ทำเงินได้จริง แต่ปัญหาคือเชลซียังคงประสบปัญหาเรื่องการส่งชื่อโควตานักเตะโฮมโกรนในแต่ละปี เพราะมีนักเตะที่มาจากทีมเยาวชนน้อยมาก พวกเขาถูกกดดันอยู่เนือง ๆ เนื่องจากนับตั้งแต่ที่ผลักดัน จอห์น เทอร์รี่ ขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ในช่วงปลายยุค 90s เชลซีก็แทบไม่มีนักเตะคนไหนที่ขึ้นมาอยู่ในทีมชุดใหญ่เต็มตัวได้เลย
คำวิจารณ์เหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแฟนบอลทีมอื่นหรือจากสื่อเท่านั้น เพราะแม้แต่แฟนเชลซีบางกลุ่มเองก็คิดเช่นนั้น แม้พวกเขาจะยืนยันว่าความสำเร็จและการมีนักเตะระดับโลกอยู่ในทีมคือสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่การเปิดโอกาสให้นักเตะท้องถิ่นก็ควรเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำไม่แพ้กัน เพราะนักเตะท้องถิ่นก็เหมือนตัวแทนของแฟนบอลที่มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน พวกเขาเป็นคนที่จะสู้ตายเพื่อทีมและมีอารมณ์ร่วมไม่ต่างจากแฟนบอล
ที่สุดแล้วคำวิจารณ์ที่กล่าวมาก็เริ่มเบาบางลงไป เมื่อถึงวันหนึ่งที่นักเตะชุดที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่กระบวนการสร้างศูนย์ฝึกค็อบแฮมเริ่มเติบโต …. ปัญหาดังกล่าวก็ถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ยุคทองของเด็กปั้น
หลังจากปี 2014 หรือ 7 ปีหลังจากสร้างค็อบแฮม ผลผลิตของเชลซีก็ผลิดอกออกผล ทีมเยาวชนของเชลซีแข็งแกร่งมากเมื่อถึงตอนนั้น พวกเขาคว้าทั้งแชมป์ เอฟเอ ยูธ คัพ ที่เป็นรายการที่การันตีถึงคุณภาพทีมอคาเดมีของแต่ละสโมสรในฟุตบอลอังกฤษได้ถึง 5 สมัยติดต่อกัน นอกจากนี้นักเตะชุดเดียวกันนี้ยังทำผลงานเขย่ายุโรปด้วยการคว้าแชมป์ ยูฟ่า ยูธ ลีก มาครองอีก 1 สมัย
นักเตะที่อยู่ในชุดนั้นประกอบด้วย ทาริค แลมพ์ตีย์, เทรฟโวห์ ชาโลบาห์, รูเบน ลอฟตัส-ชีค, คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย, แทมมี่ อับราฮัม, ฟิกาโย โทโมรี, มาร์ค เกฮี, อันเดรียส คริสเตนเซ่น รวมถึง 2 ตัวหลักของสโมสร ณ เวลานี้อย่าง เมสัน เมาท์ และ รีซ เจมส์
กลุ่มนักเตะเหล่านี้ค่อย ๆ เติบโตและสอดแทรกเข้ามามีโอกาสในทีมชุดใหญ่ในแต่ละปี จนถึงปี 2018 ที่เชลซีโดนโทษแบนห้ามซื้อนักเตะ พวกเขาก็ได้โอกาสแสดงศักยภาพของนักเตะจากศูนย์ฝึกค็อบแฮมอย่างจริงจัง นำโดยการทำทีมของ แฟรงก์ แลมพาร์ด และทีมที่เต็มไปด้วยนักเตะจากศูนย์ฝึกของตัวเองชุดนี้ก็ถูกการันตีคุณภาพด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปี 2021 โดยกุนซือผู้หยิบจับวัตถุดิบที่แลมพาร์ดปั้นรอเอาไว้มาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอย่าง โธมัส ทูเคิ่ล
ทูเคิ่ลเองยอมรับว่านักเตะดาวรุ่งของทีมหลายคนมีแวว ทุกคนจะได้รับโอกาสหากพวกเขาเหล่านั้นพิสูจน์ว่าตัวเองดีพอ และเขาก็ชอบทีมที่ผสมกันระหว่างนักเตะระดับโลกกับนักเตะท้องถิ่น เพราะทั้งสองอย่างจะส่งเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
“ประตูสำหรับทีมชุดใหญ่เปิดกว้างอยู่เสมอ และมันจะเป็นแบบนั้นอยู่ตลอด … ผมชอบนะ และผมเชื่อว่าแฟนบอลก็ชอบเหมือนกัน การผสมผสานระหว่างนักเตะชื่อดังจากต่างประเทศที่มีบุคลิกชัดเจนและนักเตะจากทีมอคาเดมีคือสิ่งที่ทำให้สโมสรแห่งนี้มีความพิเศษ”
“ถ้าคุณได้ดูรูปตอนที่พวกเราชูถ้วยแชมเปี้ยนส์ ลีก จะมีนักเตะหลายคนจากอคาเดมีในภาพดังกล่าว นี่ล่ะที่ทำให้มันมีความพิเศษที่สมควรเป็นแบบนี้ มันเป็นเรื่องของการผสมผสานที่ลงตัวของเรา”
ข้อดีของค็อบแฮมไม่ได้จบแค่การเติมเต็มสิ่งที่ผู้จัดการทีมและแฟน ๆ เชลซีอยากเห็นเท่านั้น เพราะในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ต้องยอมรับความจริงว่าเมื่อนักเตะบางคนได้โอกาสและยังดีไม่พอสำหรับทีมชุดใหญ่ เชลซีก็พร้อมจะขายนักเตะเหล่านั้นออกไปในทันที และในส่วนนี้เชลซีก็ทำเงินได้มหาศาลจากการ “ปั้นแล้วขาย”
ตั้งแต่ฤดูกาล 2017-18 จนถึงปี 2022 นี้ เชลซีได้เงินจากการขายนักเตะที่พวกเขาคิดว่าดีไม่พอสำหรับทีมชุดใหญ่รวมเป็นเงินถึง 163 ล้านปอนด์ และนับวันนักเตะในอคาเดมีของพวกเขาก็มีค่าตัวแพงขึ้นเรื่อย ๆ โดยใน 2 ฤดูกาลหลังสุดนักเตะลูกหม้ออย่าง ฟิกาโย โทโมรี และ มาร์ค เกฮี สามารถขายทำเงินได้ถึง 50 ล้านปอนด์ ขณะที่ แทมมี่ อับราฮัม ก็ถูกขายให้ โรม่า ในซีซั่นที่ผ่านมาด้วยราคาถึง 38 ล้านปอนด์
ถามว่าเชลซีได้รับผลกระทบดังกล่าวไหมจากการขายนักเตะเหล่านี้ คำตอบคือแทบไม่มีส่วนไหนกระทบกับความแข็งแกร่งของทีมชุดใหญ่เลย เพราะเมื่อขายนักเตะกลุ่มดังกล่าวไปพวกเขาก็ปั้นนักเตะชุดใหม่ขึ้นมาแทน โดยในฤดูกาล 2022-23 นี้ก็จะเป็นโอกาสของ คอเนอร์ กัลลาเกอร์ ที่ถูกปล่อยยืมไปเล่นกับทีมอื่นในพรีเมียร์ลีกมา 2 ปีจนก้าวขึ้นไปติดทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ นอกจากนี้ยังมี อาร์มานโด้ โบรย่า กองหน้าชาวบอสเนีย ที่ทำผลงานกับเซาธ์แฮมป์ตันในการยืมตัวซีซั่นที่ผ่านมาได้ดี จนมีข่าวว่ามีทีมจากพรีเมียร์ลีกพร้อมจ่ายค่าตัว 30 ล้านปอนด์เพื่อดาวเตะวัย 21 ปีรายนี้ และอีกคนคือ ลีวาย โคลวิลล์ ที่เพิ่งถูกปล่อยไปให้ไบรท์ตันยืมตัว สวนทางกับการย้ายมาร่วมทัพสิงห์บลูส์ของ มาร์ก กูกูเรย่า
ซึ่งนักเตะกลุ่มดังกล่าวก็ต้องพิสูจน์ตัวเองไม่ต่างจากนักเตะรุ่นพี่ก่อนหน้านี้ หากพวกเขาดีไม่พอที่จะเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ เชลซี ก็พร้อมที่จะขาย และยังสามารถทำกำไรจากพวกเขาได้อีกมากมาย โดยที่ยังมีนักเตะรุ่นหลังรอต่อคิวไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ
นี่คือประโยชน์ของการลงทุนกับทีมเยาวชนแบบเต็มรูปแบบ มันทำให้เชลซีมีตัวเลือกมากมาย สามารถทำให้พวกเขาคัดเน้น ๆ ให้เหลือแต่หัวกะทิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนคนไหนที่ไม่ใช้ก็สามารถขายและนำไปต่อทุนซื้อนักเตะที่ทีมต้องการมาได้อีก ที่สำคัญการขายนักเตะยังมีผลอย่างมากต่อกฎ FFP นั่นหมายความว่าเชลซีจะมีเงินหมุนเวียนอยู่เรื่อย ๆ และมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะทำผิดกฎ FFP หากพวกเขายังใช้วิธีนี้ต่อไป
ไม่ต้องบอกว่าเชลซีคิดถูกหรือผิดสำหรับการปล่อยนักเตะลูกหม้อออกไปปีละหลาย ๆ คน เพราะเชลซีทำแบบนี้อยู่บ่อยครั้งในช่วงระยะเวลา 10 ปีหลัง และหากเรามองไปที่ถ้วยรางวัลที่สโมสรแห่งนี้คว้ามาได้ รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งภายใต้เจ้าของใหม่อย่าง ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ ก็คงต้องยอมรับว่า เชลซี วางหมากไว้ดี และเดินเกมได้ตามที่พวกเขาตั้งไว้อย่างแท้จริง