sportpooltoday

ครึกครื้นจังคุ้มสตางค์แค่ไหน? เบื้องหลังการมาไทยของทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรป


ครึกครื้นจังคุ้มสตางค์แค่ไหน? เบื้องหลังการมาไทยของทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรป

“แดงเดือดในไทย” กลายเป็นประเด็นที่แฟนบอลชาวไทยหรือแม้แต่ต่างประเทศยังคงให้ความสนใจ และแน่นอนว่าการจ้าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล 2 ทีมที่มีแฟนบอลมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลกล้วนต้องใช้เงินทุนไม่น้อย

แต่คำถามหลังจากนั้นคือ การจ่ายเงินก้อนโตเพื่อนำเกมของทีมระดับโลกเหล่านี้มาแข่งยังต่างแดนคุ้มค่าแค่ไหน ? 

ติดตามได้ที่ Main Stand

ทำไม เอเชีย จึงเป็นเป้าหมายของทีมในพรีเมียร์ลีก? 

กลายเป็นธรรมเนียมของสโมสรใหญ่ ๆ ในยุโรปที่มีแฟนบอลเยอะ และต้องการขยายฐานแฟนบอลในต่างแดน สำหรับการขนทีมนักเตะชุดใหญ่ของพวกเขาออกมาเล่นเกมอุ่นเครื่อง ในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนฤดูกาลจะเริ่ม

เป้าหมายหลัก ๆ 2 ข้อในการออกมาเยือนต่างแดนคงหนีไม่พ้นเรื่องการเพิ่มฐานแฟนบอลในต่างประเทศ ทำให้ทีมเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนอีกข้อและสำคัญไม่แพ้กันนั่นคือการ “ทำเงิน” ที่เรียกได้ว่าเป็นการ “ฟันเหนาะ ๆ” จากการเตะฟุตบอลแค่นัดเดียวเท่านั้น แบบที่ไม่ต้องประเมินเลยว่าคุ้มหรือไม่ ซึ่งเป้าหมายปลายทางของสโมสรในยุโรปโดยเฉพาะส่วนใหญ่จากพรีเมียร์ลีกนั้น มักจะตรงกันนั่นคือ “เอเชีย” ทวีปแห่งความมั่งคั่ง และบ้าคลั่งฟุตบอลต่างประเทศเป็นที่สุด

1เหตุผลของการที่ เอเชีย เป็นเป้าหมายของทีมในพรีเมียร์ลีกทุก ๆ ซัมเมอร์นั้น เว็บไซต์ Japan Today ได้ลงบทความวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ว่ามันเป็นเรื่องของความนิยมที่มาถูกจังหวะเวลา ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกับเวลาไทม์โซนในประเทศแถบเอเชียนั้นมีความพอเหมาะพอเจาะ ด้วยช่วงเวลาที่ห่างกันราว ๆ 4-7 ชั่วโมง ทำให้เมื่อทีมจากพรีเมียร์ลีกลงสนามแข่งขันเกมสุดสัปดาห์ตามเวลาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น 12.00 น, 14.00 น. หรือ 18.00 น. จะเป็นเวลาที่ชาวเอเชียอยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์พอดี

ยกตัวอย่างชัด ๆ อย่างประเทศไทยของเราที่โปรแกรมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนั้นจะมาในช่วงไพรม์ไทม์หลังเลิกงาน หรือหลังจากเสร็จกิจกรรมในแต่ละวันพอดี ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยจึงมีวัฒนธรรมในการดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมากเป็นพิเศษ ทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะไปตามร้านอาหารไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ตั้งแต่ร้านหมูกระทะไปจนถึงร้านหรู ๆ ร้านเหล่านี้มักจะโปรโมตเรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเสียเป็นส่วนใหญ่ 

อย่างไรก็ตามนี่คือความพอดีที่ตั้งใจ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่มีการรีแบรนด์ในปี 1992 ตั้งใจจะทำการตลาดต่างประเทศและทำให้ฟุตบอลกลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงตั้งแต่วันนั้น พวกเขาได้หารือกันตั้งแต่ระดับผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ จนถึงสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ให้เคลียร์คิวการถ่ายทอดสดให้ตรงเวลา โดยขยับการแข่งขันในประเทศให้เร็วขึ้นสัก 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เวลาสัมพันธ์กับทางเอเชียนั่นเอง

2“พรีเมียร์ลีกเป็นฟุตบอลยุโรปลีกแรกที่แข่งขันโดยตั้งใจให้ชาวเอเชียได้ดูอย่างแท้จริง พวกเขาคิดถึงเรื่องการขยายตลาดออกนอกประเทศ มีการหารือกันใหญ่โตตั้งแต่ช่อง ITV, BBC รวมถึงคนของทางเอฟเอ … พวกเขาอ่านเกมขาดและตั้งใจเผยแพร่มายังเอเชียตั้งแต่แรกแล้ว” บทความจาก Bleacher Report ว่าไว้เช่นนั้น

การทำตลาดก่อนทำให้พรีเมียร์ลีกได้ใจแฟนบอลในเอเชียก่อน โดยเฉพาะทีมยักษ์ใหญ่ซึ่งมีวิธีการเล่นที่ชัดเจน ดูสนุก และประสบความสำเร็จบ่อย ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล ที่สร้างความผูกพันกับชาวเอเชียมาตั้งแต่ยุค 80s แล้วด้วยซ้ำ 

พวกเขาครองใจชาวเอเชียได้จากการเล็งเห็นโอกาสก่อนใครและมาในจังหวะที่ประจวบเหมาะ นอกจากนี้ยังสามารถยืนยันด้วยตัวเลขสถิติได้อีกด้วย โดยข้อมูลของสื่ออย่าง South China Morning Post ระบุจากข้อมูลในปี 2018 ว่า ทีมจากพรีเมียร์ลีกมีแฟนบอลในเอเชียติดตามรวมกันมากกว่า 820 ล้านคน 

3ในอันดับท็อป 10 ของสโมสรฟุตบอลยุโรปที่ชาวเอเชียติดตามมากที่สุด พบว่ามีทีมจากพรีเมียร์ลีกติดอันดับถึง 5 ทีมได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, อาร์เซน่อล, เชลซี และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตามลำดับ 

เมื่อฟุตบอลเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ พวกเขาจึงคว้าโอกาสที่สโมสรทั่วโลกทุกทีมอยากได้ไว้ ไม่แปลกที่ทีมเหล่านี้จะต้องการรักษาฐานแฟนบอลในเอเชียที่มีเอาไว้ และต่อยอดไปเรื่อย ๆ เพื่อความสำเร็จขององค์กร 

จากเอเชียไปยังสหรัฐอเมริกาที่เป็นเป้าหมายใหม่ที่ต้องการตีตลาดให้แตก ซึ่งตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งช่วงโควิด-19 ระบาด หลายทีมในยุโรปก็เดินทางไปยังอเมริกาและแย่งฐานแฟนบอลใหม่กันอย่างดุเดือด 

4ยกตัวอย่างเช่นเกมระหว่าง แมนฯ ยูไนเต็ด กับ เรอัล มาดริด ในการอุ่นเครื่องที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2014 ที่สามารถสร้างสถิติผู้ชมในการแข่งขันฟุตบอล (หรือ ซอคเกอร์ ตามที่ชาวอเมริกันเรียก) สูงถึง 109,138 คน ณ มิชิแกน สเตเดียม สนามของทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ทำลายสถิติเดิม 101,799 คน (เกิดขึ้นในเกมชิงเหรียญทองโอลิมปิกระหว่างฝรั่งเศสกับบราซิลในปี 1984 ที่สนาม โรสโบว์ รัฐแคลิฟอร์เนีย) ลงอย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วเอเชียก็ยังคงเป็นบ่อเงินบ่อทองที่ทีมในยุโรปหมายปอง และทีมในอังกฤษก็ต้องพยายามรักษาฐานแฟนบอลที่มีอยู่และต่อยอดให้มากขึ้นอยู่ดี

มาแล้วคุ้มแค่ไหน?

คำถามนี้ตอบง่ายมาก ๆ ถ้าไม่คุ้มทีมในพรีเมียร์ลีกก็คงไม่ยอมเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังทวีปเอเชียแน่นอน ประการแรกเลยพวกเขาสามารถทำเงินได้ง่าย ๆ จากการแข่งขันเพียงแค่เกมเดียวเท่านั้น 

มีข้อมูลระบุว่าในช่วงปี 2010 ประเทศเวียดนามเคยเสนอค่าจ้างจำนวน 2.5 ล้านปอนด์ สำหรับการเชิญ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาลงเล่นกับทีมชาติเวียดนาม … แค่บินมาแล้วบินกลับ ใช้เวลาราว 3 วัน กับค่าจ้างที่มากพอ ๆ กับการเป็นแชมป์ฟุตบอลถ้วยในประเทศ มองยังไงก็คุ้ม … แต่เชื่อไหมว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ปฏิเสธเงินจำนวนดังกล่าว ด้วยเหตุผลเดียวนั่นคือมีที่อื่นที่จ่ายให้มากกว่า ซึ่งท้ายที่สุด ปีศาจแดง ก็ไปอุ่นเครื่องที่ จีน, อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้แทน

5นอกจากพวกเขาจะได้เงินค่าจ้างที่ได้แน่ ๆ เข้ากระเป๋าเน้น ๆ แล้ว สิ่งที่ได้นอกจากนั้นคือเรื่องของคอนเน็กชั่น ในการไปเยือนเอเชียแต่ละครั้งพวกเขาจะได้พบกับบริษัทระดับแถวหน้าของประเทศนั้น ๆ และนั่นคือโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจ การหาสปอนเซอร์เพิ่มเติม หรืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งสิ้น 

เดวิด กิลล์ อดีตซีอีโอของ แมนฯ ยูไนเต็ด ระบุถึงการมาทัวร์เอเชียว่า “การปรากฏตัวในเอเชียทำให้เราสามารถจัดการกับความสัมพันธ์กับบริษัทต่างชาติได้ดียิ่งขึ้น มันเป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้มีรายได้พิเศษแล้วเอากลับมาเป็นทุนให้กับสโมสร และที่ขาดไม่ได้คือ มันทำให้เราได้ใกล้ชิดแฟน ๆ ของเรามากขึ้นอีกด้วย” 

คำอธิบายของ กิลล์ ระบุชัดเจนว่าการสานสัมพันธ์กับแฟน ๆ คือสิ่งสำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใดทีมจากพรีเมียร์ลีกมาที่นี่แล้วไม่เสียเปล่าแน่นอน พวกเขามาแวะพักในแต่ละประเทศไม่กี่วัน แต่สามารถทำให้เกิดโอกาสที่ดีมากมายสำหรับสโมสร … แบบนี้ไม่คุ้มแล้วจะเรียกว่าอะไร?

แล้วคนที่จ่ายเงินเชิญทีมเหล่านี้มาแข่งคุ้มแค่ไหน?

แม้จะไม่มีการระบุเงินรายได้ที่ชัดเจนว่าการจ้างทีมเหล่านี้ 1 นัดจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ แต่หากเราเทียบจากค่าเงินในปี 2009 ที่เวียดนามเสนอไป 2.5 ล้านปอนด์แต่ก็ยังโดนปฏิเสธ มันเห็นได้ชัดว่าการจะจ้างทีมจากพรีเมียร์ลีกจะต้องใช้เงินมากกว่านั้นอย่างน้อยน่าจะอยู่ที่ราว ๆ 10-20% ขึ้นไป ยิ่งเอามาเปรียบกับค่าเงิน ณ ปัจจุบันที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คาดว่าปัจจุบันการจะจ้างทีมจากพรีเมียร์ลีกมาเตะก็ต้องทวีคูณตัวเลขเพิ่มขึ้นไปอีก … แล้วแบบนี้จะได้อะไร ? 

6ประการแรก ผู้จ้างที่เป็นคนออกเงินจ้างทีมจากพรีเมียร์ลีกหรือทีมยุโรปทีมอื่น ๆ มาเตะในไทยนั้นก็มีวิธีหารายได้จากเงินที่พวกเขาเสียไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นในการมาเยือนไทยของทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด และ เชลซี เมื่อปี 2013 ณ เวลานั้น สิงห์ คอเปอร์เรชั่น ยังเป็นโกลบอลพาร์ตเนอร์ของทั้งสองทีม (ปัจจุบัน สิงห์ ยังเป็นโกลบอลพาร์ตเนอร์ของ เชลซี อยู่)

สิ่งเหล่านี้เรียกว่า  “สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง” นั่นคือการขยายแบรนด์ผ่านกีฬา เพราะเมื่อทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด, เชลซี หรือทีมอื่น ๆ ลงเตะเมื่อไหร่ สื่อก็ย่อมสนใจเสมอ และการเป็นสปอนเซอร์ก็ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ที่จ้างทีมเหล่านี้มาได้ออกสื่อพร้อม ๆ กันไปด้วย 

การที่ สิงห์ ได้จ้างทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด และ เชลซี ก็ทำให้พวกเขาปั้นแบรนด์ไทยในสนามฟุตบอลระดับโลกให้เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ไม่ใช่แค่ทีมจากต่างประเทศเท่านั้นที่จะได้คอนเน็กชั่นมา แต่ผู้จ้างก็ได้คอนเน็กชั่นระดับโลกกลับมาด้วยเช่นกัน 

7ยกตัวอย่างสิงห์จะเห็นภาพมากที่สุด เพราะพวกเขามีแผนจะทำแบรนด์ให้ได้รับการจดจำในฐานะ “เบียร์พรีเมียมระดับโลกจากเอเชีย” ซึ่งการจะไปให้ถึงในระดับโลกก็ต้องมีคู่ค้าในระดับโลกเช่นกัน ในช่วงเวลานั้นเบียร์สิงห์ก็ถูกเลือกให้เป็นเบียร์ที่วางขายในสนามเหย้าของ เชลซี และ แมนฯ ยูไนเต็ด นอกจากนี้ สิงห์ ยังเคยได้ส่งเมนูพิเศษเพื่อทำให้ภาพของแบรนด์เป็นที่จดจำของโลกมากขึ้นผ่านนักเตะของทีม เชลซี อย่างเมนูที่มีชื่อว่า SINGHA and Chelsea Combo Set ที่จำหน่ายตามร้านอาหารไทยในกรุงลอนดอนแบบ Exclusive โดยเมนูดังกล่าวนำเสนอผ่าน เซซาร์ อัซปิลิกวยต้า กัปตันทีมสิงห์บลูส์ รวมถึง แดนนี่ ดริงค์วอเตอร์ และ ธิโบต์ กูร์กตัวส์ ที่อยู่กับเชลซี ณ เวลานั้น

ทั้งหมดนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของ สิงห์ กับทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด และ เชลซี แน่นแฟ้นและมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันมาตลอดช่วง 10 ปีหลังสุด 

ไม่ใช่แค่ สิงห์ เท่านั้น เบียร์อีกเจ้าอย่าง ช้าง ก็เคยพาทีมอย่าง บาร์เซโลน่า มาเตะที่ไทยเมื่อปี 2013 เช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์ของช้างก็กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกผ่านทีมฟุตบอลเหล่านี้ทั้งสิ้น 

8เพราะนี่คือโลกของธุรกิจ ฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในนั้น การเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ผ่านการลงทุนถือเป็นเรื่องปกติอย่างมาก แม้การขายตั๋วให้แฟนบอลเข้าชมอาจจะไม่คืนทุนจากค่าจ้างทีมเหล่านี้ แต่ที่แน่ ๆ คือผู้จ้างจะได้รับผลตอบรับที่ยิ่งกว่าตัวเงิน นั่นคือความสัมพันธ์กับแบรนด์ระดับโลก ที่จะทำให้แบรนด์ของพวกเขาก้าวหน้าไปอีกขั้น 

เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายที่สุด ณ ปัจจุบัน ข่าว “แดงเดือดในไทย” แมนฯ ยูไนเต็ด vs ลิเวอร์พูล ที่มีแม่งานเป็น วินิจ เลิศรัตนชัย ผู้บริหารของบริษัท เฟรชแอร์เฟสติวัล จำกัด ที่ชื่อของ วินิจ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของคนนอกวงการมากนัก แต่เมื่อมีข่าวว่าเขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ของศึกแดงเดือดฉบับเมืองไทย ชื่อของ วินิจ ก็กลายเป็นท็อปปิกของโลกโซเชียล และทำให้หลายคนพยายามค้นหาข้อมูลว่า “เขาเป็นใคร ? เขาทำอะไร ? และอะไรที่ทำให้เขากล้าจัดงานแดงเดือดฉบับเมืองไทยเช่นนี้ ?” 

หลังจากที่ข่าวแดงเดือดเป็นไวรัล อย่าว่าแต่ชื่อของ วินิจ เลิศรัตนชัย เลย แม้แต่ เฟรชแอร์เฟสติวัล ก็กลายเป็นที่สนใจและมีคนรู้จักองค์กรนี้มากขึ้นภายในเวลาชั่วข้ามคืน สิ่งนี้เรียกว่า Brand Awareness หรือคือการสร้างธุรกิจให้ชื่อเสียงของธุรกิจนั้นเป็นที่รู้จักและจดจำได้ในวงกว้าง ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

แม้การจ่ายเงินจ้าง 2 ทีมอาจจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือชื่อของ วินิจ เลิศรัตนชัย จะกลายเป็นคนที่แฟนฟุตบอลนึกถึงในช่วงเวลาที่จะมีทีมจากพรีเมียร์ลีกหรือจากยุโรปมาเตะในเมืองไทย 

9ยิ่งหากงานแดงเดือดฉบับเมืองไทยออกมาเพอร์เฟ็กต์ประสบความสำเร็จทุกด้าน เฟรชแอร์เฟสติวัล ก็จะกลายเป็นบริษัทออแกไนซ์ที่มีผลงานระดับโลกการันตี 

แม้ ณ เวลาปัจจุบันนี้จะต้องจ่ายเงินจำนวนมาก แต่สิ่งที่ตามมาในอนาคตอาจจะนำมาซึ่งผลลัพธ์มูลค่ามหาศาลกว่าที่ลงทุนไปก็เป็นได้