อาร์แซน เวนเกอร์ คือผู้จัดการทีมคนเดียวในประวัติศาสตร์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่สามารถพาทีมจบด้วยการเป็นแชมป์ลีกโดยไม่แพ้ใครเลยแม้แต่เกมเดียว
เรื่องราวของแชมป์ไร้พ่ายสำหรับทีม อาร์เซน่อล อาจจะถูกบอกเล่าต่อกันมาหลายครั้งแล้ว ทว่าก่อนหน้านั้นล่ะ? .. ก่อนที่เวนเกอร์จะมาที่อังกฤษ เขาผ่านอะไรมาก่อน?
นี่คือเรื่องราวของ 18 เดือนในประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองนาโงยะ จังหวัดไอจิ อาร์แซน เวนเกอร์ ไปที่นั่นกับงานที่เขาไม่เคยรู้จักและภาษาที่เขาไม่เคยพูดได้ แต่กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่เขาเชื่อว่าเป็นจุดเปลี่ยนของอาชีพตนเอง
ติดตามเรื่องราวของ อาร์แซน เวนเกอร์ ที่ นาโงยะ ได้ที่ Main Stand
คิดซะว่ามาหาความหมาย
ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นนั้นใช้เวลาในการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี 1960 พวกเขาพยายามจะเปลี่ยนจากเดิมที่ทีมส่วนใหญ่เป็นทีมจากองค์กรให้กลายเป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนและผูกกับท้องถิ่น จนกระทั่งในปี 1993 เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ฟุตบอลบูม” กล่าวคือ เป็นการผูกทีมฟุตบอลเข้ากับท้องถิ่นอย่างจริงจัง ทำให้ในฤดูกาล 1993 เป็นฤดูกาลแรกที่พวกเขามียอดแฟนบอลเฉลี่ยสูงถึงเกือบ 18,000 คนต่อเกม ก่อนจะเพิ่มเป็น 19,598 คนในฤดูกาลต่อมา
เมื่อมีฐานแฟนบอล มีรายได้จากการขายบัตร แต่ละทีมก็ต้องการที่จะต่อยอดความสำเร็จและคุณภาพขึ้นไป การว่าจ้างชาวต่างชาติทั้งในฐานะโค้ชและนักเตะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ และในปี 1995 ก็ถึงคิวของสโมสร นาโงยะ แกรมปัส ที่กำลังต้องการโค้ชยุโรปสักคนซึ่งสามารถเข้ามายกระดับและวิธีการเล่นของทีมได้ และพวกเขาเล็งเป้าไว้ที่กุนซือชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า อาร์แซน เวนเกอร์
ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น อาร์แซน เวนเกอร์ มีประสบการณ์คุมทีมระดับลีกเอิงของฝรั่งเศสมาแล้ว 2 สโมสรทั้งกับ น็องซี่ และ โมนาโก นับเป็นจำนวนเกมทั้งหมด 350 นัด โดยในช่วงที่เขาคุมโมนาโกนั้น เวนเกอร์ เคยพาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดมาแล้ว ในฤดูกาล 1987-88 นอกจากนี้ยังเคยพา โมนาโก คว้าแชมป์บอลถ้วยในประเทศอีก 1 รายการ คือรายการ เฟรนช์ คัพ ในปี 1990-91
มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะไม่ปกติ เพราะเดิมทีกุนซือที่ประสบความสำเร็จในลีกอย่างฝรั่งเศสมักจะเลือกเส้นทางที่เดินไปข้างหน้าโดยไปคุมทีมที่ใหญ่กว่า หรือไปอยู่ในสโมสรที่อยู่ในลีกที่แข็งแกร่งกว่า แต่สุดท้ายเวนเกอร์กลับเลือกตอบข้อเสนอที่ นาโงยะ แกรมปัส มอบให้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ย้อนกลับไปในปี 1994 ที่ เวนเกอร์ คุมทีมโมนาโกมา 6 ปีแล้วเกิดปัญหาเรื่องทีมฟอร์มตก เขาไม่สามารถประคับประคองทีมให้ดีเหมือนเดิมได้ หมดลุ้นแชมป์ทุกรายการ จากนั้นเขาก็ถูกไล่ออกจากตำแหน่ง
เวนเกอร์ เล่าย้อนความไปว่า เขาไม่ทันได้เตรียมตัวที่จะต้องมาเจอกับการโดนไล่ออกครั้งนั้น ช่วงที่มีข่าวเล็ดลอดออกมา เวนเกอร์ ยอมรับว่าเขาเครียดและทำให้สภาวะจิตใจไม่ปกตินัก จนเขาทำงานออกมาได้ไม่ดีและขาดความมุ่งมั่นจากที่เคยเป็น
“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดในชีวิตผมเลย เมื่อคุณอยู่ในหน้าที่การงานอย่างผู้จัดการทีม คุณจำเป็นจะต้องใช้ความคิดกับทุกเรื่องทุกรายละเอียด แต่ตอนนั้นผมรู้สึกว่างเปล่า และการไปทำงานแล้วรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นเปล่าประโยชน์คือหายนะของอาชีพนี้ดีๆนี่เอง” เวนเกอร์ กล่าว
เวนเกอร์ อยู่ในช่วงเวลาที่เคว้งคว้างที่ต้องการความสุขกับชีวิตและหน้าที่การงานกลับมาอีกครั้ง เขาได้พบกับ โชอิจิโร โทโยดะ ประธานสโมสร แกรมปัส (สายความเร็วเห็นนามสกุลคุ้นๆ ไม่ต้องแปลกใจ เพราะบริษัทรถยนต์ โตโยต้า คือเจ้าของทีม นาโงยะ แกรมปัส) และได้เริ่มพูดคุยกัน
ท่านประธานบอกกับเวนเกอร์ว่า เหตุผลที่สโมสรอยากได้ตัวเขามาเป็นโค้ชเพราะว่าสโมสรแห่งนี้วางเป้าหมายว่าต้องการเป็นทีมที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และใหญ่ที่สุดในโลกภายในเวลา 100 ปี
นี่คือคำพูดที่ฟังแล้วดูเพ้อฝัน คล้ายๆกับมังงะญี่ปุ่นหลายเรื่องๆ เวนเกอร์เองก็รู้ดีว่าโอกาสที่สโมสรจากญี่ปุ่นจะเก่งที่สุดในโลกเป็นไปได้ยากมากถึงมากที่สุด ต่อให้มีเวลาเป็น 100 ปี แต่วัฒนธรรมฟุตบอลของที่นี่ก็เพิ่งเริ่มเติบโต แตกต่างกับในยุโรปที่เป็นอาชีพมาหลายสิบปีแล้ว
หากเป็นสถานการณ์ปกติ เวนเกอร์ ที่ยังเป็นกุนซือไฟแรงคงไม่มีทางรับข้อเสนอนี้แน่ แต่ ณ ตอนนั้น เขาเหมือนกับชายวัยกลางคนที่กำลังสับสนกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตนั้นถูกหรือผิด? เขาเหมาะกับงานอื่นมากกว่าไหม? เขาควรยอมถอยหรือเปล่า? คำถามเหล่านี้รบกวนจิตใจเขาทั้งวี่ทั้งวันหลังตกงาน
ดังนั้น การรับงานที่ นาโงยะ แกรมปัส จึงเปรียบเสมือนกับการที่ใครสักคนอยากหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ไปในที่ที่เราไม่รู้จักและแทบไม่มีใครรู้จักเรา พร้อมกับภาระหน้าที่ที่แสนจะแฟนตาซีกับโปรเจ็กต์เก่งที่สุดในโลกใน 100 ปี เวนเกอร์ รับข้อเสนอนั้นทันที
“100 ปีเลยนะ คุณคิดดูสิ เวลาที่เขาบอกลบล้างความกดดันและความเครียดที่ผมมีไปหมดเกลี้ยงภายในเวลาแค่อึดใจเดียว คุณมีเวลาพิสูจน์ตัวเองเป็นร้อยปี นี่เป็นข้อเสนอที่ใจกว้างมากเลย ผมจะได้เป็นหนึ่งในสายพานแห่งประวัติศาสตร์ยิ่งกว่าที่ผมเคยคิด ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ล้ำหน้าในแบบที่ผมไม่อาจนึกถึง”
“มนุษย์เราอยู่กับความคิดที่ว่า โลกกำลังไล่ตามหลังเราบ่อยเกินไป มนุษยชาติไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ้นหวังขนาดนั้น” เวนเกอร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ในปี 2014
แค่ฝรั่งอีกคน
ย้อนกลับไปปี 1994 อีกครั้ง นาโงยะ แกรมปัส เป็นทีมที่ไม่ค่อยเก่งกาจนัก พวกเขาจบอันดับที่ 8 ในเลกแรกของฤดูกาล ก่อนที่เลกสองพวกเขาจะตกมาอยู่ในโซนท้ายตาราง
ในช่วงปลายปี 1994 เวนเกอร์ เดินทางมาที่ญี่ปุ่นแล้ว แต่จะยังไม่ได้เริ่มงานจนกว่าฤดูกาล 1995 (เดือนมีนาคม) จะมาถึง ช่วงเวลาที่ว่างราว 3-4 เดือนของเขาได้ใช้เวลาไปกับการรวบรวมทีมงานหลังบ้านของเขา เขาดึงโค้ชชาวบอสเนียอย่าง โบโร พริโมรัค มาเป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ยังเข้าไปทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่และสตาฟฟ์โค้ชคนอื่นๆในสโมสรอีกด้วย
สิ่งสำคัญที่สุดของเวนเกอร์ในตอนนั้นคือ “ล่าม” อย่าลืมว่าเขาพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว และเขาก็ได้ล่ามคนสำคัญที่กลายเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของเขาในดินแดนซามูไร ชื่อของล่ามคนนั้นคือ โก มูราคามิ ที่ไม่ได้รู้ภาษาฝรั่งเศส แต่รู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่เวนเกอร์ใช้สื่อสารได้คล่องแคล่ว การหาล่ามในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก เพราะคนญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นชาตินิยมสูงพอสมควร
“ผมได้ยินว่าเขามาจากโมนาโกและผมไม่รู้เกี่ยวกับเขาเลย แต่ทุกคนบอกว่า เขาเป็นผู้จัดการทีมที่ดีจากประเทศฝรั่งเศส ผมถูกมอบหมายงานว่า ‘โก คุณต้องไปให้การดูแลคุณเวนเกอร์’ และผมใช้เวลาหนึ่งปีครึ่งที่ แกรมปัส เอท อยู่กับเขาตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนจนทุกวันนี้คือ อาร์แซน เวนเกอร์ เป็นคนขยัน” โก กล่าวเริ่ม
สิ่งที่ เวนเกอร์ บอกกับโกให้แปลสิ่งที่เขาพยายามจะบอกให้ทุกฝ่ายในสโมสรรู้คือ จากนี้สโมสรจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดอะไรหลายๆอย่าง เริ่มตั้งแต่การกิน สภาพจิตใจ วิธีการฝึก ที่ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนใหม่และทุกคนจะต้องเชื่อในสิ่งที่เขาบอกและปฏิบัติตามให้ได้เพื่อรอดูความแตกต่างที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
“ตอนแรกที่เวนเกอร์มาถึงญี่ปุ่น เราเป็นทีมที่แย่มาก เราแพ้ 7-8 เกมติดต่อกัน และเวนเกอร์บอกหลายสิ่งให้กับทุกๆคนรู้เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการ การเข้าถึงปัญหาเรื่องจิตใจ วิธีควบคุมผู้เล่นให้อยู่กฎระเบียบ เขาไม่ใช่นักปฏิวัติ แต่เขาค่อยๆปรับตัวให้เข้ากับสไตล์การทำงานแบบญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่า ทีมของเรายังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นในเรื่องของศาสตร์ของฟุตบอล” โก กล่าว
แม้จะมาพร้อมกับศาสตร์และศิลป์ แต่อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น คนญี่ปุ่นมีมุมมองที่ไม่ค่อยดีนักกับชาวยุโรปที่ทำให้พวกเขาเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขามีความเป็นชาตินิยมสูงและเปิดใจกับใครยาก งานของเวนเกอร์ในตอนแรกคือการละลายพฤติกรรมและสร้างความเข้าใจให้กับนักเตะในทีมว่า “ทำไมทุกคนควรต้องเชื่อเขา?”
“ตอนแรกไม่มีใครเชื่อที่เวนเกอร์บอกสักเท่าไหร่ ตอนนั้นฟุตบอลญี่ปุ่นเริ่มมีการจ้างชาวต่างชาติ แต่นักเตะในทีมก็ไม่ค่อยอินนัก พวกเราคุยกันภายในและเรียกเขาว่า ‘ไอ้ฝรั่งหน้าใหม่มาโน่นอีกคนแล้ว'” เท็ตสึโอะ นาคานิชิ ผู้เล่นตำแหน่งกองหลังของทีมเปิดใจกับ โฟร์โฟร์ทู
ขณะที่เวนเกอร์เองก็ยอมรับว่า ในช่วงเริ่มงานแรกๆ ปัญหาใหญ่คือ เขารู้สึกว่ามีกำแพงกั้นระหว่างเขากับบุคลากรและนักเตะในทีม
โปรเจ็กต์เปลี่ยนทีมใหม่ของเวนเกอร์ค่อยๆดำเนินไปในแต่ละวัน เขาคุมทีมลงซ้อมเองทุกเซสชั่น สอนกันตั้งแต่วิธีครองบอล ดักบอล ผ่านบอล เรียกได้ว่าไล่กันตั้งแต่เบสิก จนนักเตะหลายคนบ่นกันว่าเหมือนได้กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง แม้เรื่องเหล่านี้จะหลุดมาถึงหูเวนเกอร์ แต่เขาก็ไม่สนใจ เขายืนยันคำเดิมว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปแบบนี้ เพราะสำหรับฟุตบอล พื้นฐานคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
แรกๆนั้นนักเตะไม่เปิดใจและไม่เข้าใจกับความละเอียดของเวนเกอร์ เพราะตอนนั้นเจลีกไม่ได้มีการตกชั้น ผลงานของทีมจึงไม่ดีนัก ทีมไม่ค่อยจะชนะใคร กระท่อนกระแท่นไม่ดุดัน ครองบอลไม่เป็น เวนเกอร์ก็ค่อยๆเริ่มวิเคราะห์ว่า ทั้งๆที่เขาสอนเรื่องต่างๆมาเยอะแล้ว แต่ทำไมถึงไม่ดีขึ้นอย่างที่เขาคิด?
จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาก็เกิดพุทธปัญญาชนิดที่ว่า ดีดนิ้วทีเดียวก็ร้องอ๋อ! ทุกอย่างกระจ่างทันที นั่นคือคำตอบนั้นง่ายกว่าที่เขาคิดไว้เยอะเลยทีเดียว ..
เข้าถึง เปลี่ยนแปลง และเป็นหนึ่งเดียว
เรื่องง่ายๆก็คือ นักเตะญี่ปุ่นไม่ได้เป็นคนหัวดื้อหรือไม่สนใจสิ่งที่เขาสอน แต่ปัญหาคือ นักเตะในทีมเชื่อสิ่งที่เขาสอนมากไปต่างหาก ..
นักเตะในทีมตั้งใจเกินไป พวกเขาทำทุกอย่างที่เวนเกอร์สอนเหมือนกับเป็นหุ่นยนต์ ไม่มีการพลิกแพลงและเล่นฟุตบอลด้วยจินตนาการใดๆทั้งสิ้น เพราะนักเตะในทีมคิดว่าการใช้จินตนาการและเล่นเกินที่โค้ชสั่งถือเป็นความผิดและเป็นการไม่ให้เกียรติกัน ดังนั้น ฟุตบอลของ นาโงยะ แกรมปัส ช่วงแรกๆในยุคเวนเกอร์จึงเป็นเหมือนกับฟุตบอลที่น่าเบื่อ ไร้ประสิทธิภาพ และจับทางง่ายเกินไป
“กำแพงกั้นระหว่างเราสูงมาก และมันเป็นกำแพงที่ความรู้ต่างๆของผมที่ร่ำเรียนมาจากยุโรปไม่สามารถทำลายมันได้เลย แต่ละเรื่องแต่ละอย่างต้องสอนกันแบบลงลึก ต้องแนะนำกันเป็นพิเศษ” เวนเกอร์ กล่าวก่อนจะจี้ถึงปัญหาว่า
“แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ต้องสอนเรื่องจินตนาการให้กับพวกเขา ผมต้องพยายามทำให้พวกเขารู้ว่านักเตะที่มีบอลอยู่กับเท้าเป็นฝ่ายควบคุมเกม นอกจากจะสอนให้พวกเขาเชี่ยวชาญด้านพื้นฐานและอยู่ในแผนการเล่นแล้ว ผมต้องสอนให้พวกเขาพยายามเป็นตัวของตัวเองให้ได้ด้วย”
กำแพงนั้นทลายลง เวนเกอร์เข้าใจแล้วว่าปัญหาคืออะไร เขาปล่อยให้นักเตะของตัวเองใช้จินตนาการในสนาม ทำให้ทุกคนในทีมเชื่อมั่น มีสภาพจิตใจที่ดี กล้าเล่น กล้าเลี้ยง กล้ายิง เขาสอนให้ทุกคนมองข้ามวิธีการไปบ้างในบางครั้ง และให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากขึ้น กล่าวคือ ไม่ต้องเพอร์เฟ็กต์ถูกต้องตามตำรา แต่ทำให้ฟุตบอลมันเข้าประตูให้ได้ก็พอ
เรื่องนี้โดนใจนักเตะอย่าง ดราแกน สตอยโควิช นักเตะดีกรีทีมชาติยูโกสลาเวีย ที่มาใช้ชีวิตบั้นปลายอาชีพที่นาโงยะเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ สตอยโควิช มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมและไม่ทุ่มเทให้กับการซ้อม เพราะเขาเบื่อกับการซ้อมที่ซ้ำไปซ้ำมา แต่การมาของเวนเกอร์ทำให้เสือเฒ่าอย่างเขาสนุกอีกครั้ง ไม่ว่าจะทั้งการซ้อมและตอนที่แข่งจริง เพราะนอกจากจะซ้อมสนุกขึ้นแล้ว เพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆก็เข้าใจฟุตบอลมากขึ้น มันจึงทำให้เขาเล่นง่ายขึ้นด้วย
“อาร์แซน เวนเกอร์ เปลี่ยนทุกอย่างที่สโมสร เขาแสดงให้นักเตะคนอื่นๆเห็นว่าพวกเขาสามารถสนุกกับการเล่นฟุตบอล สนุกกับการฝึกซ้อม” สตอยโควิช กล่าว “มันไม่ใช่แค่งาน แต่พวกเขาสามารถแสดงออกได้ มันต้องใช้เวลา แต่ผู้เล่นก็เริ่มตอบสนองการทำงานของเวนเกอร์แล้ว”
จบเลกแรกของฤดูกาล 1995 นาโงยะ แกรมปัส ที่จบอันดับบ๊วยของลีกเมื่อปีที่แล้วขยับมาอยู่อันดับ 4 ของตาราง และจบอันดับเลกสองด้วยการเป็นรองแชมป์ฟุตบอลลีก เหนือสิ่งอื่นใดคือ การพาทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยอย่าง เอ็มเพอร์เรอร์ คัพ อีกด้วย ทั้งหมดนี้คือพัฒนาการที่เวนเกอร์นำมาสู่ นาโงยะ แกรมปัส กุนซือที่กำลังจะหมดไฟกลับมาสนุกอีกครั้งกับงานที่เขาทำ
เวนเกอร์ หลงรักทุกวินาทีที่ญี่ปุ่น เขากลับมามีไฟทำงาน เริ่มจัดการเรื่องโภชนาการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงเมนูอาหารก่อนแข่งให้ไม่มีน้ำมัน กินผักและผลไม้ที่กรดน้อยๆ เขาซึมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับทุกคนในทีม เขาพูดคำง่ายๆ อย่าง “Arigato gozaimas” (ขอบคุณมาก) ทุกครั้งที่นักเตะของเขาพยายามทำตามที่เขาบอก
ไม่ใช่แค่เข้มงวดกับนักเตะในทีม เขากลับมาเข้มงวดกับตัวเองด้วย โบโร ผู้ช่วยของเวนเกอร์ยังเล่าว่า ในช่วงก่อนแข่งแต่ละเกม เวนเกอร์แทบไม่ได้นอน เพราะต้องนั่งดูวิดีโอการเล่นของคู่แข่ง กว่าที่เขาจะวิเคราะห์คู่แข่งเสร็จก็กินเวลาไปถึงตี 3 มีหลายครั้งที่โบโรกลับบ้านก่อน แต่เวนเกอร์ก็ยังก้มหน้าทำงานจนกว่าจะเสร็จ และเช้าวันรุ่งขึ้นเขาจะนำไปสอนลูกทีมเพื่อเตรียมตัวครั้งสุดท้ายก่อนลงสนาม
การซ้อมที่มีคุณภาพและอาหารการกินที่ดีมีประโยชน์ทำให้ผลงานดีขึ้นอย่างชัดเจนและมีแชมป์ติดไม้ติดมือในปีแรก เท่านี้ก็มากพอที่จะทำให้นักเตะทั้งทีมเชื่อฟังเวนเกอร์อย่างสนิทใจ โดย เท็ตสึโอะ นาคานิชิ ที่เคยบอกว่า เวนเกอร์ เป็นแค่ฝรั่งอีกคน ต้องยอมรับว่า เวนเกอร์ แตกต่างจากฝรั่งคนอื่นๆที่พวกเขาเคยเจออย่างสิ้นเชิง
เรื่องการจัดการของเวนเกอร์ยังถูกบอกเล่าผ่านนักข่าวชาวญี่ปุ่นชื่อว่า ชินทาโร่ คาโน จาก เกียวโดนิวส์ โดยกล่าวว่า “เวนเกอร์นำรูปแบบการบริหารทีมที่ทันสมัยมาสู่นาโงยะอย่างแท้จริง เขามีอิสระที่จะดูแลทุกส่วนของสโมสร เขาทำงานแต่ละขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน สไตล์การทำงานของเวนเกอร์เหมาะกับคนญี่ปุ่นที่ชอบลงรายละเอียดแม้แต่กับเรื่องเล็กๆ”
18 เดือนในญี่ปุ่นผ่านไปไวเหมือนโกหก เวนเกอร์ พาทีม นาโงยะ แกรมปัส คว้า 2 แชมป์ในรายการเอมเพอร์เรอร์ คัพ และ เจแปนิส ซูเปอร์คัพ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การมาของเขาช่วยให้เขาได้บางสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าถ้วยแชมป์ มันคือความมั่นใจและช่วยให้เขามองเห็นตัวเองอย่างชัดเจนว่าเขามีความสุขที่ได้เป็นผู้จัดการทีมแค่ไหน
การมาที่ญี่ปุ่นเหมือนเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆให้ตัวเองและกลับมาชาร์จแบตจนเต็ม หลังจากหมดพลังกับความล้มเหลวที่ โมนาโก 18 เดือนแห่งความสนุกทำให้เวนเกอร์พร้อมจะก้าวต่อไป เส้นทางที่รอเขาอยู่คือ อาร์เซน่อล ทีมยักษ์หลับจากพรีเมียร์ลีก ซึ่งเขาประสบความสำเร็จแค่ไหนคงไม่ต้องสาธยายให้เสียเวลา
“ญี่ปุ่นสอนให้ผมได้เรียนรู้ถึงความยืดหยุ่น มุ่งมั่น และปล่อยวาง สิ่งที่ผมได้มานั้นเป็นประโยชน์และสามารถเอาไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตและฟุตบอลทุกระดับ ผมกลับไปที่ยุโรป และจากนั้นผมกลายเป็นชายที่มีความชัดเจน โดดเด่น และสงบนิ่งมากขึ้นอย่างที่ผมไม่เคยเป็นมาก่อน” เวนเกอร์ กล่าวสรุป 18 เดือนไว้อย่างน่าประทับใจ
ขณะที่เดียวกันที่ นาโงยะ แกรมปัส เรื่องราวของ อาร์แซน เวนเกอร์ ยังคงถูกเล่าขานในฐานะตำนานหน้าหนึ่งของสโมสร มันคือช่วงเวลาที่ทุกอย่างมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว 1 คนมีพลังก้าวต่อไปและเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่อย่างมาก และ 1 สโมสรได้เรียนรู้ความเป็นมืออาชีพและการพัฒนาองค์กรในฐานะ “ทีมฟุตบอล” ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
แม้ต่อให้ครบ 100 ปี นาโงยะ แกรมปัส ก็อาจจะไม่ได้เป็นทีมที่เก่งที่สุดในโลก แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เล่าซ้ำได้ไม่รู้เบื่ออย่างแท้จริง