ยูเวนตุส ขึ้นพาดหัวข่าวกีฬาหน้า 1 อีกครั้ง หลังจากมีข้อสงสัยถึงการทุจริตนอกสนาม และบางเนื้อข่าวก็บอกว่าพวกเขาอาจจะต้องโดนโทษร้ายเเรงถึงขั้นปรับตกชั้น
แม้เนื้อข่าวจะดูน่าเป็นห่วงและซ้ำรอยกับ “คดีกัลโช่โปลี” หรือคดีล็อกผลการแข่งขันที่เคยเล่นงานพวกเขาในอดีต … แต่ความจริงนั้นเป็นเช่นไร คดีล่าสุดเกี่ยวกับอะไร และแท้จริงแล้วพวกเขาจะตกชั้นอีกครั้งหรือไม่ ? ติดตามได้ที่ Main Stand
ยูเวนตุส ขึ้นพาดหัวด้วยคดีอะไร ?
ก่อนที่จะเริ่มด้วยโทษทั้งหมดเราควรทราบก่อนว่า ณ เวลานี้ ยูเวนตุส ยังไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แต่เป็นผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในระหว่างการสอบสวนของอัยการกลางอยู่ ดังนั้นพวกเขาอาจจะผิดหรือไม่ผิดก็ได้ คำตอบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่ใช่ตอนนี้แน่
คดีที่ ยูเวนตุส เผชิญอยู่คือคดีเกี่ยวกับการปลอมแปลงบัญชีและตัวเลข ขยายความให้เห็นภาพชัด ๆ คือพวกเขากำลังโดนสงสัยว่านับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ยูเวนตุส ได้ซื้อและขายนักเตะเกินกว่าราคาที่แท้จริง และนั่นทำให้พวกเขามีกำไรมากกว่าความเป็นจริง
ตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจเคสนี้ง่าย ๆ คือ ยูเวนตุส ต้องการเพิ่มกำไร (ปลอม) เพื่อให้ตัวเลขในบัญชีสวยงามเป็นสีเขียว ซึ่งจะส่งผลบวกกับมูลค่าสโมสรในตลาดหุ้น (ยูเวนตุสเป็นสโมสรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์) และห่างไกลไร้กังวลกับการผิดกฎการเงินที่ชื่อว่า Financial Fair Play (FFP)
ดังนั้นพวกเขาจึงขายนักเตะดาวรุ่งอายุสัก 17-21 ปีที่ไม่เคยมีแนวโน้มได้เป็นตัวหลักของทีมในอนาคต ในกรณีนี้หมายถึงไม่ได้เป็นดาวรุ่งที่ฝีเท้าดี ไม่โดนจับตามองจากสื่อ และไม่มีทีมใด ๆ สนใจ ราคาตลาดของนักเหล่านี้เต็มที่ก็คงอยู่ราว ๆ หลักแสนยูโร หรือไม่ก็รอหมดสัญญาแล้วปล่อยออกจากทีมฟรี … แต่พวกเขากลับขายนักเตะดาวรุ่งคนดังกล่าวไปในราคาถึง 5 ล้านยูโร (ราคาสมมุติ) คำถามต่อไปคือ “ใครจะบ้าซื้อด้วยราคาขนาดนั้น ?”
คำตอบของคำถามนี้คือพวกเขาจะหาสโมสรคู่ค้าที่มองหา “กำไรเกินจริง” เหมือน ๆ กัน เราจะ “สมมุติว่า” สโมสรนั้นคือ สโมสร ก.ไก่ ที่ประสบปัญหาด้านการเงินพอดิบพอดี และต้องการให้ตัวเลขในบัญชีดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งสองทีมจึงตกลงยื่นหมูยื่นเเมวกันทันที
ยูเวนตุส ขายนักเตะดาวรุ่งโนเนมที่ชื่อว่า “นาย A” ให้กับ สโมสร ก.ไก่ ในราคา 5 ล้านยูโร เช่นเดียวกัน สโมสร ก.ไก่ ก็ขายนักเตะดาวรุ่งที่ไม่ได้มีความสำคัญกับสโมสรที่ชื่อว่า “นาย B” ให้กับ ยูเวนตุส ในราคา 5 ล้านยูโร
ทั้งสองทีมได้นักเตะที่ใช้งานไม่ได้มาทีมละคน แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ดีลทั้งสองคือบัญชีรายรับของ 2 สโมสร จะมีตัวเลข 5 ล้านยูโรเพิ่มเข้ามา และตัวเลขนี้เองที่ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างง่ายขึ้นตามที่ได้กล่าวไป เช่น เป็นการเพิ่มมูลค่าสโมสร, ทำให้บัญชีของสโมสรมีรายรับมากขึ้น นำมาซึ่งความน่าเชื่อถือ รวมถึงกฎ FFP หรือกฎที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้แต่ละสโมสรมีรายจ่ายไม่เกินรายรับ ก็จะเล่นงานพวกเขาได้ยากขึ้น
อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยต่อ แล้ว ยูเวนตุส จะมีกำไรได้อย่างไรในเมื่อรายรับพวกเขามี 5 ล้านยูโร และรายจ่ายของพวกเขาก็มี 5 ล้านยูโร จากการซื้อนักเตะของ สโมสร ก.ไก่ มันควรจะเจ๊ากันไม่ใช่หรือ เพราะ 5 – 5 = 0 … ทว่าเรื่องของตัวเลขและการบัญชีนั้นมันซับซ้อนยิ่งกว่าการที่เรามานั่งบวกลบคูณหารแบบง่าย ๆ และโชคดีที่สื่อด้านเศรษฐกิจอย่าง Forbs ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้เเล้ว
โดยศัพท์ของทางอิตาลีเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “Plusvalenza”
Plusvalenza มายากลของนักบัญชี
Forbs เริ่มอธิบายถึง Plusvalenza หรือการตกแต่งบัญชีในกรณีนี้ ด้วยการแยกภาพให้ชัดเจนถึงคำว่า “ตัวเลข” และ “เงิน” ที่แม้จะดูจะมีความหมายคล้ายกันแต่ในทางบัญชีนั้นแตกต่างกันมาก
ในกรณีการซื้อขายแบบทำกำไรเกินจริงนั้น เมื่อเกิดการซื้อขายและเซ็นสัญญากันเรียบร้อยเเล้ว นักเตะที่ดาวรุ่งนามสมมุติว่า “นาย A” จะเป็นนักเตะที่ถูกซื้อไปในราคา 5 ล้านยูโร และตัวเลขจำนวนดังกล่าวจะถูกใส่เข้าไปในรายรับของสโมสร ยูเวนตุส ที่ทำให้พวกเขามีเงินเพิ่มมา 5 ล้านยูโรทันที
ตอนนี้ ยูเวนตุส มี “ตัวเลข 5 ล้านยูโร” อยู่ในส่วนเอกสารรายรับของสโมสรแล้ว ทว่าเงินสดที่ได้มาจากการขาย นาย A นั้นไม่มีเลยแม้แต่ยูโรเดียว เนื่องจากในข้อตกลงระบุว่า สโมสร ก.ไก่ จะทยอยจ่ายค่าตัวนาย A ตามออปชั่นต่าง ๆ เช่น การยิงประตูครบ 20 ลูก, ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่ครบ 50 นัด, มีส่วนร่วมกับการเป็นแชมป์ลีก และอยู่จนครบสัญญา 4 ปีที่นักเตะได้เซ็นไว้กับสโมสร…
ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า นาย A ที่เป็นดาวรุ่งฝีเท้าธรรมดา ๆ ไม่มีทางทำตามออปชั่นนี้ได้อยู่เเล้ว ดังนั้น สโมสร ก.ไก่ ก็ไม่ต้องจ่ายให้ ยูเวนตุส 5 ล้านยูโร เลย แต่ใครจะสนในเมื่อตัวเลขในบัญชีรายรับของ ยูเวนตุส นั้นถือว่าพวกเขามีรายรับเพิ่มมา 5 ล้านยูโรจากการขายนาย A ให้กับ สโมสร ก.ไก่ ไปเรียบร้อยเเล้ว
ตอนนี้หลายคนน่าจะพอนึกภาพออกเเล้วว่าคดีนี้เกิดขึ้นจากอะไร การตกแต่งบัญชีที่ทำให้เกิดกำไรมากเกินไปและไม่ตรงกับความจริง ด้วยเหตุนี้ “CONSOB” หน่วยงานของรัฐบาลอิตาลีที่รับผิดชอบในการควบคุมตลาดหลักทรัพย์ จึงได้ฟ้องร้องและต้องการให้มีการสอบสวนทีม ยูเวนตุส นั่นเอง
รายงานเผยว่า ยูเวนตุส เป็นสโมสรที่จะต้องถูกสอบสวนเรื่องการซื้อขายนักเตะทั้งหมด 42 รายการ และต้องถูกตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายนักเตะทั้งหมดที่มีมูลค่าในเอกสารรวม 282 ล้านยูโร เนื่องจากผลกำไรที่ผิดปกติระหว่างปี 2019-2021
สำหรับดีลที่ถูกจับตามองจาก CONSOB เป็นพิเศษคือการสลับขั้วนักเตะระหว่าง อาตูร์ ของบาร์เซโลน่า กับ มิราเล็ม ปานิช ของยูเวนตุส ที่มีส่วนต่างเป็นเงิน 12 ล้านยูโร แต่สามารถได้ตัวเลขมาตกแต่งในบัญชีรวมถึง 132 ล้านยูโร
นอกจากนี้ยังมีดีลของ เจา คันเซโล่ ของยูเวนตุส และ ดานิโล่ ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนในแบบยื่นหมูยื่นแมวและบวกส่วนต่างให้กันเล็กน้อยเพียง 3 ล้านยูโรเท่านั้น แต่ได้ตัวเลขมูลค่ารายรับให้แต่ละสโมสรอย่างมหาศาลรวมกันกว่า 90 ล้านยูโร
นี่ยังไม่รวมกว่าอีก 40 ดีล ที่ ยูเวนตุส มีการซื้อขายนักเตะเยาวชนในราคาที่แพงกว่าที่ควรจะเป็น … นี่คือที่มาของการโดนฟ้องร้องและสอบสวนในเวลานี้
สิ่งที่พาดหัวข่าวบอกไม่หมด
เมื่อเกิดคดีฟ้องร้องและสอบสวนดังกล่าว นักข่าวทุกสำนักขยี้เรื่องนี้และเน้นไปที่ ยูเวนตุส เพียงทีมเดียวเท่านั้น บ้างก็บอกว่าสโมสรจะถูกปรับตกชั้น แต่ความจริงกลับพบว่าการฟ้องร้องของ CONSOB นั้นไม่ได้ให้มีการสืบสวน ยูเวนตุส เพียงทีมเดียว เพราะยังมีทีมอย่าง นาโปลี, โรม่า, อตาลันต้า, เจนัว และ ซามพ์โดเรีย เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นการโดนฟ้องในเรื่องการตกแต่งบัญชีมากที่สุด
เราพอจะคาดเดาได้ว่าเพราะ ยูเวนตุส คือทีมที่ขายได้ และเคยมีเรื่องราวฉาวโฉ่นอกสนามมาก่อนในอดีต นั่นจึงทำให้พวกเขาถูกยกชื่อมาเป็นประเด็นหลักในสื่อ แต่ที่จริงแล้วดีลที่ CONSOB สงสัยมากที่สุดกลับเป็นดีลของสโมสร นาโปลี ในวันที่พวกเขาซื้อตัว วิคเตอร์ โอชิมเฮน กองหน้าชาว ไนจีเรีย มาจาก ลีลล์ ด้วยค่าตัว 72 ล้านยูโรต่างหาก
ทาง CONSOB นั้นสงสัยถึงราคาที่แพงเกินจริงในตลาดซื้อขายหลังยุค COVID-19 ที่แต่ละสโมสรต่างต้องรัดเข็มขัดกันเต็มที่ และสิ่งที่น่าสงสัยในดีลของ โอชิมเฮน มากกว่าราคาค่าตัวของเขาคือ ส่วนหนึ่งในข้อตกลงระหว่าง ลีลล์ และ นาโปลี ครั้งนั้นมีสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล
เนื่องจากทาง นาโปลี ได้ขายนักเตะ 4 คนให้กับ ลีลล์ ได้แก่ โอเรติส คาร์เนซิส, เคลาดิโอ มานโซ่, ลุยจิ ลิกูโอรี่ และ ชิโร่ พัลมิเอรี่
ไม่ต้องแปลกใจหากคุณไม่เคยรู้มาก่อนว่านักเตะทั้งหมดที่กล่าวมาเคยเล่นให้กับ นาโปลี ตอนไหน เพราะพวกเขาก็ไม่เคยได้โอกาสในทีมชุดใหญ่จริง ๆ สักที แต่ นาโปลี ก็ยังมัดรวมขายให้กับ ลีลล์ ได้ โดยแต่ละคนมีราคาราว 5 ล้านยูโร ทำให้พวกเขามีตัวเลขในบัญชีรายรับเพิ่มมาเป็น 20 ล้านยูโรทันที
ที่มันเข้าตำราคือนักเตะ 4 คนที่ นาโปลี ขายให้ ลีลล์ กลับโดน ลีลล์ ปล่อยตัวออกจากสโมสรหลังจากย้ายทีมได้แค่ 1 ปีเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า ลีลล์ อาจจะไม่ต้องจ่ายค่าตัวของนักเตะตัวแถมทั้ง 4 คนให้กับ นาโปลี เลย แต่ นาโปลี ก็ได้ตัวเลขรายรับมาตกแต่งบัญชีตามที่เราได้อธิบายไว้ในข้างต้น
ขอย้ำอีกครั้งว่าตอนนี้ ไม่ใช่แค่ ยูเวนตุส ทีมเดียวที่กำลังโดนสอบสวนอยู่ มีอีกหลายทีมในเซเรีย อา ที่เกี่ยวข้อง และยังต้องมีการสอบสวนสโมสรคู่ค้าในแต่ละดีลด้วย ในกรณีที่สโมสรที่ถูกกล่าวหาสามารถนำเอกสารและบัญชีที่มีตัวเลขตรงกับยอดรายรับจริงของสโมสรมายืนยันได้ พวกเขาก็มีโอกาสรอดและพ้นผิด
แต่หาก ยูเวนตุส รวมถึงสโมสรอื่น ๆ ที่กำลังประสบปัญหากับคดีนี้ไม่สามารถยืนยันตัวเลขและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ พวกเขาจะต้องขึ้นศาลและถูกฟ้องร้องกันต่อไป รวมถึงการโดนโทษปรับหรือการถูกลงโทษ ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังไม่เห็นว่ามีสำนักข่าวไหนที่ยืนยันเรื่องโทษสถานหนักอย่าง “การปรับตกชั้น” แต่อย่างใด
โดยข้อเสนอปรับตกชั้นเกิดจากการเรียกร้องของ มาร์โก ดอนเซลลี่ ประธานกลุ่ม “CODACONS” หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเท่านั้น โดยเขาได้กล่าวกับสื่ออย่าง La Gazzetta dello Sport ว่า “เพื่อเป็นการปกป้องแฟนบอล เราเสนอให้อัยการสั่งปรับพวกเขาตกชั้นลงสู่ เซเรียบี และ ยูเวนตุส จะต้องถูกริบแชมป์ลีกหนล่าสุดด้วย เนื่องจากการกระทำผิด”
ดังนั้นในเรื่องของโทษกรณีที่ผิดจริงนั้นยังไม่สามารถหาคำตอบได้ชัดเจนว่า ยูเวนตุส และทีมที่เข้าข่ายถูกสอบสวนอย่าง นาโปลี, โรม่า, ซามพ์โดเรีย และ ทีมอื่น ๆ จะต้องรับโทษรุนแรงแค่ไหน
อย่างไรก็ตามตอนนี้คือช่วงเวลาที่แต่ละสโมสรจะต้องวุ่นกันอีกครั้งกับเรื่องราวของงานเอกสาร พวกเขาจะต้องพิสูจน์ประเด็นดังกล่าวให้ได้ เพื่อตัวเองและวงการฟุตบอลอิตาลีที่มักถูกมองในแง่ลบเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอ