sportpooltoday

ของนำโชคแห่งความทรงจำ : ลูกฟุตบอลที่รอดจากเหตุ “กระสวยอวกาศระเบิด” สู่การขึ้นไปเหนือผืนโลกอีกครั้ง


ของนำโชคแห่งความทรงจำ : ลูกฟุตบอลที่รอดจากเหตุ "กระสวยอวกาศระเบิด" สู่การขึ้นไปเหนือผืนโลกอีกครั้ง

28 มกราคม 1986 ภาพกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ ที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆบนท้องฟ้าเป็นหนึ่งในความทรงจำฝังใจ และสร้างแผลเป็นรอยใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์วงการสำรวจอวกาศของประเทศสหรัฐอเมริกา

คุณครูคนแรกที่เตรียมขึ้นไปสอนหนังสือบนอวกาศ เสียชีวิตต่อหน้าต่อตาเด็กจำนวนมากที่กำลังรับชมถ่ายทอดสดอยู่ เช่นเดียวกับชีวิตของอีกหกนักบินอวกาศผู้เดินทางไปไม่ถึงดวงดาวตามภารกิจอย่างที่ควรจะเป็น

เศษซากจากชาเลนเจอร์ ตกกระจายไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก ยามชายฝั่งและทหารเรือสหรัฐฯ ร่วมกันเก็บกู้ชิ้นส่วนมากกว่า 14 ตัน ที่ส่วนมากได้รับความเสียหายจนไม่เหลือสภาพเดิมแล้ว จากการตกกระแทกผิวน้ำด้วยความเร็วสูงกว่า 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง

iแต่มีลูกบอลลูกหนึ่งลอยขึ้นมาจากผิวน้ำ ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่าเป็นหนึ่งในสิ่งของส่วนตัวของ แอลลิสัน โอนิซึกะ นักบินอวกาศเอเชียน-อเมริกันคนแรก ที่เสียชีวิตอยู่ในกระสวยอวกาศลำนี้

แอลลิสัน มีลูกสาวชื่อ จาเนล ผู้ศึกษาอยู่ที่ เคลียร์เลค ไฮสคูล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์อวกาศจอห์นสัน ศูนย์ควบคุมปฏิบัติการทางอากาศขององค์การนาซา ซึ่งถ้าคุณเรียนอยู่ที่นั่นมันแทบไม่ใช่เรื่องยากเลยที่คุณจะรู้จักกับลูกของนักบินอวกาศ หรือเหล่าบุคลากรของนาซา

ทั้งพ่อและลูกต่างชื่นชอบในกีฬาฟุตบอล หรือ ซอคเกอร์ ตามแบบที่ชาวอเมริกันเรียก แอลลิสัน เคยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโค้ชให้กับทีมของลูกสาวตนเองอยู่ช่วงสั้นๆ และมักปลีกเวลาว่างมาชมเกมอยู่เสมอ

“แม้ในช่วงกักตัวก่อนไปอวกาศ (เพื่อป้องกันอาการป่วย) เขาก็แอบออกมาดูพวกเราแข่ง เขามักซุ่มอยู่ตรงมุมรั้ว และเมื่อเราหันหน้าไปมอง เขาก็จะหายตัวไปแล้ว” จาเนล เล่าถึงวีรกรรมคุณพ่อของเธอ

เมื่อทราบว่า แอลลิสัน จะได้ไปอวกาศอีกครั้ง จาเนล และเพื่อนร่วมทีมฟุตบอล ได้ส่งลูกบอลฝึกซ้อมธรรมดาลูกหนึ่งที่ไม่ได้เป็นของแบรนด์ที่โด่งดังใดๆ โดยให้สมาชิกในทีมเซ็นชื่อแล้วส่งไปให้คุณพ่อนำติดตัวไปบนอวกาศด้วย

yนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะนักบินอวกาศสามารถนำอะไรก็ได้ (ที่ไม่ติดไฟและไม่เป็นอันตราย) ขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งในของใช้ส่วนตัว ซึ่งธรรมเนียมนี้มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่จุดแรกเริ่มของการสำรวจอวกาศ เมื่อราว 50-60 ปีก่อนมาแล้ว

และในช่วงไม่กี่วันก่อนปล่อยยาน แอลลิสัน ก็ได้แอบออกมาหาลูกสาวของเขาอีกครั้ง เจ้าตัววิ่งจ็อกกิ้งลัดผ่านสนามที่เด็กๆกำลังฝึกซ้อม เพื่อตรงมารับลูกบอลใบดังกล่าว ที่มีการเขียนคำว่า “โชคดีนะ ทีมนักบินกระสวยอวกาศ” ไว้บนนั้น

ลูกบอลดังกล่าวถูกใส่ในกระเป๋าดัฟเฟิลใบเล็กที่อยู่ในล็อกเกอร์บนกระสวยชาเลนเจอร์อีกที แต่เพียง 77 วินาทีหลังจากปล่อยยาน ลูกบอลดังกล่าวได้กลายสภาพจากของใช้ส่วนตัวมาเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนความทรงจำของภารกิจนี้ในทันที

แม้จะยังคงสภาพความเป็นลูกบอลได้เหมือนในวันที่เกิดเหตุ แต่เวลาที่ล่วงเลยไปกว่า 3 ทศวรรษ ได้ส่งให้ลูกบอลดังกล่าวถูกลืมเลือนไปบ้าง ลายเซ็นที่เคยเด่นชัดก็เริ่มจางซีดลง และแม้มันจะถูกจัดแสดงอยู่ในตู้โชว์ของโรงเรียนเคลียร์เลค แต่หลายคนก็เดินผ่านมันไปโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือหนึ่งในสิ่งที่เหลือรอดมาจากกระสวยชาเลนเจอร์

แต่แล้วในปี 2016 ลูกบอลดังกล่าวได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง โดยได้ เชน คิมบรอกห์ ผู้บัญชาการของภารกิจ Expedition 50 บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มีลูกชายศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ ได้นำลูกบอลจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างที่มันควรเป็น

cภาพของลูกบอลที่มีสีซีดเหลือง มีรอยลอก และลายหมึกที่ซีดจางกับพื้นหลังที่เป็นโลกสีคราม คงไม่อาจทดแทนความสูญเสียของ 7 ชีวิตที่จากไปได้ แต่มันก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเราไม่เคยลืมพวกเขาและไม่เคยยอมแพ้เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา

“ผมเป็นเกียรติมากที่ได้นำมรดกตกทอดจากกระสวยชาเลนเจอร์เดินทางมาสู่สถานีอวกาศนานาชาติ การระลึกถึงลูกเรือชาเลนเจอร์เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับเหล่านักบินอวกาศและพวกเราทุกคนที่นาซา” คิมบรอกห์ กล่าวหลังถ่ายภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้ขึ้นมา

“ผมหวังว่าเมื่อบอลลูกนี้กลับไปยัง เคลียร์เลค ไฮสคูล มันจะเป็นเครื่องเตือนใจให้กับคนรุ่นหลังไปตราบนานเท่านาน”

และคงไม่มีอะไรปิดท้ายบทความนี้ได้ดีไปกว่าคำพูดของ แอลลิสัน โอนิซึกะ ที่ถูกพิมพ์ไว้บนในหน้าสุดท้ายของพาสปอร์ตสหรัฐฯ ทุกเล่มว่า “ผู้คนในทุกเจเนอเรชั่นต่างมีหน้าที่ในการปลดพันธนาการทางความคิดสำหรับมองโลกใบใหม่ของเรา.. เพื่อมองหาเทือกเขาที่สูงใหญ่กว่าของคนรุ่นก่อน”

ร่วมอาลัยถึง 7 ผู้ล่วงลับ ในโอกาสครบรอบ 36 ปี ของการ “หลุดจากโลกใบหมองหม่น เพื่อเข้าสู่อ้อมกอดพระเจ้า” ในเหตุการณ์กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์