จนถึงตอนนี้ (เดือนเมษายน 2022) ก็กินเวลาไปกว่า 2 เดือนแล้วสำหรับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ที่กองกำลังของ วลาดิเมียร์ ปูติน สามารถยึดครองแนวรบฝั่งตะวันออกไว้ได้เกือบทั้งหมด
เว้นแต่เพียงเมืองท่าที่ชื่อว่า มาริอูปอล ที่แม้รัสเซียจะกุมความได้เปรียบ และยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองไว้ได้ แต่ยังมีจุดหนึ่งที่พวกเขาตียังไงก็ไม่แตก นั่นคือโรงงานเหล็กอาซอฟสตอล
เนื่องจากโรงงานแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากกองพันอาซอฟ กองกำลังที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก กลุ่มอัลตร้า หรือแฟนบอลหัวรุนแรงที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นหน่วยรบปกป้องมาตุภูมิ
และนี่คือเรื่องราวของกองกำลังขนาดเล็กที่สามารถยืนหยัดต่อกรกับแสนยานุภาพของรัสเซียมาได้กว่า 2 เดือน แถมยังยืนยันว่าจะไม่ยอมจำนนโดยเด็ดขาด
ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
แฟนบอลหัวรุนแรง
นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากโซเวียตในปี 1991 ลีกฟุตบอลยูเครนก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่ ดินาโม เคียฟ เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในฤดูกาล 1998-1999 หรือ ชัคตาร์ โดเนตสก์ ที่ผงาดคว้าแชมป์ ยูฟ่าคัพ ในฤดูกาล 2008-09
อย่างไรก็ดีท่ามกลางการเติบโต ปัญหาที่อยู่คู่กันมาตลอดคือความรุนแรงในสนามฟุตบอลจากกลุ่มแฟนบอลหัวรุนแรงที่เรียกกว่า “อัลตร้า” ไม่ว่าจะเป็นของ ดินาโม เคียฟ, คาร์ปาตี ลวิฟ, ดนิโปร ดนิโปรเปอร์สตรอฟ หรือ เมทัลลิสต์ คาร์คีฟ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเกลียดชังของพวกเขาล้วนมีต้นต่อมาจากความขัดแย้งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของสโมสร ที่ทำให้ไม่ว่าเจอหน้ากันเมื่อไรพวกเขาก็พร้อมจะบวกกันทุกเมื่อ
ทว่าความบาดหมางนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไปในปี 2014 หลังเหตุการณ์ “ปฏิวัติยูโรไมดาน”
มันคือเหตุการณ์ที่ชาวยูเครนออกมาประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดี วิคตอร์ ยานูโควิช หลังผู้นำยูเครนผู้ฝักใฝ่รัสเซียรายนี้ ล้มข้อเสนอการเข้าร่วมกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) และไปสานความสัมพันธ์กับรัสเซีย
การประท้วงเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2013 โดยมีกลุ่มอัลตร้าจากหลายสโมสรเข้าร่วม พวกเขาทำหน้าที่เป็นกองกำลังเฉพาะกิจดูแลความปลอดภัยของผู้ร่วมชุมนุม และประกาศพักรบกันชั่วคราว
“เราเชื่อว่าการเผชิญหน้าระหว่างกันต่อไปจะทำให้เกิดอาชญากรรมกลางแจ้งต่อตัวเอง และจะทำให้สถานการณ์ในสังคมขณะนี้เลวร้ายลงไป” แถลงการณ์ของกลุ่มอัลตร้า
“ความสัมพันธ์ของพวกเรามีพื้นฐานมาจากหลักการที่ว่า พวกเราทุกคนแต่แรกคือชาวยูเครน”
ก่อนที่ท้ายที่สุดการประท้วงจะจบลงที่ ยานูโควิช ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หลังสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม จนทำให้เขาต้องลี้ภัยไปรัสเซีย
แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อในเดือนเมษายน 2014 รัสเซียทำการตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังเข้ายึดแหลมไครเมียของยูเครน พร้อมกับให้การสนับสนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวในภูมิภาคดอนบาส ทางฝั่งตะวันออกของยูเครน และลุกลามจนกลายเป็น สงครามดอนบาส
และมันก็ทำให้แฟนบอลกลุ่มอัลตร้าอยู่เฉยไม่ได้อีกแล้ว
กองพันอาซอฟ
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากผู้รุกราน ทำให้ อังเดร บิเล็ตกี หนึ่งในแฟนบอลกลุ่มอัลตร้าของ เมทัลลิสต์ คาร์คีฟ ที่ชื่อว่า Sect 82 จับมือกับแฟนกลุ่มอัลตร้าของสโมสรอื่นก่อตั้งกองกำลังที่มีชื่อว่า “อาซอฟ”
กองกำลังเฉพาะกิจหน่วยนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2014 หลัง อาร์เซน อาวาคอฟ รัฐมนตรีกิจการภายในของยูเครน ประกาศอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถจัดตั้งองค์กรทางการทหารที่มีสมาชิกไม่เกิน 12,000 คนได้
นอกจากกลุ่มแฟนบอลอัลตร้าแล้ว กองกำลังอาซอฟ ยังประกอบไปด้วยประชาชนทั่วไป อดีตนาวิกโยธิน เจ้าหน้าที่รักษาชายแดน โดยมีสมาชิกเริ่มแรกอยู่ที่หลักร้อยคน
ภารกิจสร้างชื่อของพวกเขาคือการบุกยึดเมืองมาริอูปอล เมืองท่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนคืนจากกลุ่มกบฏได้สำเร็จในเดือนมิถุนายน 2014 และทำให้พวกเขาได้รับการเชิดชูในฐานะวีรบุรุษ ก่อนจะใช้เมืองแห่งนี้เป็นฐานบัญชาการหลักนับแต่นั้นเป็นต้นมา
“พวกเขาคือนักรบที่ดีที่สุดของเรา เป็นอาสาสมัครที่ยอดเยี่ยมที่สุด” เปโตร โปโรเชนโก อดีตประธานาธิบดียูเครน กล่าว
หลังจากนั้น กองกำลังอาซอฟ ก็กลายเป็นหน่วยรบที่มีบทบาทอย่างมากในความขัดแย้งทางภาคตะวันออกของยูเครน ก่อนจะถูกอัปเกรดผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังแห่งชาติยูเครน ในเดือนพฤศจิกายน 2014
จากข้อมูลของ DW.com ปัจจุบัน กองพันอาซอฟ มีสมาชิกอยู่ราว 1,000 คนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์ที่ครบครันทั้งปืนใหญ่และรถถัง จนเป็นหนึ่งในกองพันที่แข็งแกร่งของยูเครน
พวกเขามักจะปรากฏกายพร้อมกับชุดสีดำ จนได้รับฉายาจากประชาชนว่า “Men In Black”
และทำหน้าที่เป็นเหมือนกองกำลังอิสระที่พุ่งรบกับผู้รุกรานอย่างกล้าหาญ
อย่างไรก็ดีตัวตนของพวกเขาก็มาพร้อมกับข้อครหา
กองกำลังนีโอนาซี ?
แม้ว่า กองพันอาซอฟ จะมีสถานะไม่ต่างจากหน่วยรบพิเศษและได้รับการยกย่องจากชาวยูเครน แต่พวกเขาก็ถูกโจมตีว่าเป็นพวก ฟาสซิสต์ หรือ นีโอนาซี เนื่องจาก เบเล็ตสกี ผู้ก่อตั้งมีแนวคิดที่ขวาจัดสุดโต่ง
นอกจากนี้สัญลักษณ์ของพวกเขายังไปละม้ายคล้ายคลึงกับ Wolfsangel (สัญลักษณ์ตะขอล่าหมาป่า) ของหน่วยกองพลยานเกราะที่ 2 แห่งเอสเอส รวมไปถึง “ตะวันสีดำ” ที่พวกนาซีเยอรมันใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะเดียวกัน กองพันอาซอฟ ยังถูกกล่าวหาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่ามีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมสงคราม ทรมาน ปล้นสะดม กักขังโดยมิชอบ รวมทั้งเคยถูกยุติการให้ความช่วยเหลือจากสภาคองเกรสสหรัฐฯ จากข้อหาว่ามีความเชื่อมโยงกับนีโอนาซี
อย่างไรก็ดี กองพันอาซอฟ ปฏิเสธในเรื่องนี้ แม้พวกเขาจะยอมรับว่าภายในกองพันมีสมาชิกที่เป็นพวกขวาจัดอยู่แต่ก็เป็นจำนวนน้อย แถมผู้ก่อตั้งอย่าง เบเล็ตสกี ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองพันอีกแล้วในตอนนี้ หลังออกไปตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า National Corps ตั้งแต่ปี 2015
“พวกเรายังคงชื่นชมและเคารพ อังเดร เบเล็ตสกี ในฐานะผู้ก่อตั้งกองกำลังและผู้บังคับการคนแรก แต่เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองของเขาและพรรค National Corps” แถลงการณ์ของกองพันอาซอฟ ระบุ
“กองกำลังขอปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเป็นฟาสซิสต์ นาซี และเหยียดเชื้อชาติ”
“พวกเขาส่วนใหญ่เป็นคนพูดภาษารัสเซีย ส่วนใหญ่เป็นออร์โธด็อกซ์ แต่ก็มีคาทอลิก โปรแตสแตนต์ พวกนอกรีต คนนับถือศาสนาอิสลาม และ ยูดาห์ รวมถึงมีคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าด้วย”
“บทบาทของ กองกำลังอาซอฟ คือหน่วยพิเศษของกองกำลังแห่งชาติยูเครน และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการสูงสุด นั่นคือประธานาธิบดีที่เป็นคนยิว (หมายถึง โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ซึ่งมีเชื้อสายยิว)”
“มันไร้สาระที่คิดว่าเรามารวมตัวกันด้วยแนวคิดเหยียดผิวหรือนาซี”
ขณะที่ อาร์เซน อาวาคอฟ รัฐมนตรีกิจการภายในของยูเครน ก็ช่วยยืนยันในเรื่องนี้ และกล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัสเซียที่พยายามจะดิสเครดิตกองทัพยูเครน
“มีการพยายามให้ข้อมูลที่น่าอายด้วยการกล่าวหาว่ามีการเผยแพร่อุดมการณ์นาซี มันเป็นความพยายามโดยเจตนาที่จะทำให้ ‘กองพันอาซอฟ’ และกองกำลังแห่งชาติยูเครนเสื่อมเสีย” เขากล่าว
แต่ถึงอย่างนั้น อาซอฟ ก็ยังเป็นเป้าในการโจมตี และที่สำคัญสุดคือพวกเขากลายเป็นข้ออ้าง
ในการบุกยูเครนของรัสเซีย ด้วยเป้าหมาย “ปกป้องประชาชนที่พูดภาษารัสเซียจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพวกนีโอนาซี” โดยไม่สนข้อเท็จจริงว่า โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน นั้นมีเชื้อสายยิว
“เราจะพยายามทำให้ยูเครนปลอดทหารและปลอดนาซี” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ที่กล่าวไม่ถึงนาทีก่อนบุกยูเครน
และมันก็ทำให้ กลุ่มอาซอฟ สู้ไม่ถอย โดยเฉพาะในสมรภูมิมาริอูปอล
ยืนหยัดจนนาทีสุดท้าย
มาริอูปอล ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เนื่องจากเมืองท่าที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนแห่งนี้จะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างแหลมไครเมียและภูมิภาคดอนบาส ที่มีกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังยึดครองเอาไว้
นอกจากนี้ มาริอูปอล ยังเป็นแหล่งผลิตเหล็กรายใหญ่ของยูเครน แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เมืองแห่งนี้ยังเป็นฐานบัญชาการของกองพันอาซอฟ ไม้เบื่อไม้เบาของรัสเซีย และเป้าหมายของผู้รุกรานด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น “นีโอนาซี”
จึงทำให้นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2022 รัสเซีย ได้ระดมสรรพกำลังเข้าโจมตีมาริอูปอลอย่างหนัก ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อีกทั้งยังทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนประชาชน โรงพยาบาลแม่และเด็ก โรงเรียนอนุบาล รวมถึงโรงละครซึ่งที่เป็นที่หลบภัย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 10,000 คนจากประชากรทั้งหมด 400,000 คนก่อนสงคราม
นับจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วที่มาริอูปอลถูกย่ำยี และทำให้พื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ในการครอบครองของรัสเซีย เว้นแต่เพียงโรงงานเหล็ก “อาซอฟสตอล” ฐานที่มั่นสุดท้ายของชาวมาริอูปอล
มันคือโรงงานขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว้างขวางถึง 10.36 ตารางกิโลเมตร (เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร) และมีอุโมงค์ใต้ดินที่ซับซ้อนราวกับเขาวงกต ทำให้มีประชาชนรวมถึงกองพันอาซอฟนับพันคนซ่อนตัวอยู่ในสถานที่แห่งนี้
“ผมพูดเสมอว่าตราบใดที่เรายังอยู่ที่นี่ มาริอูปอล จะยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของยูเครน” สเวียโตสลาฟ ปาลามาร์ รองผู้บัญชาการกองพันอาซอฟ กล่าวกับ BBC
อย่างไรก็ดีแม้ว่า กองพันอาซอฟ จะยังคงต้านทานไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แต่ด้วยคำสั่งปิดล้อมของ ประธานาธิบดีปูติน เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมาก็ทำให้นักรบกลุ่มสุดท้ายในโรงงานเหล็กอาซอฟสตอลกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
“อาคารบ้านเรือนทั้งหมดในเขตอาซอฟสตอลถูกทำลายลงอย่างยับเยิน ระเบิดลูกใหญ่ทำลายบังเกอร์และเกิดการสูญเสียจำนวนมาก เราต่างได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในที่กำบัง บางคนยังคงติดอยู่ในซากอาคารที่พังถล่ม” ปาลามาร์ กล่าวต่อ
ปาลามาร์ เผยยังว่าในอาซอฟสตอลยังมีพลเรือนที่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก และพวกเขากำลังขาดแคลนทั้งอาหารและยารักษาโรค แถมการถูกตัดน้ำตัดไฟยังทำให้พวกเขากำลังหลังชนฝา
ขณะเดียวกันในโรงเหล็กยังเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บมากมาย โดยเฉพาะทหารกว่า 500 คน ที่หลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัสและจำเป็นต้องตัดแขนตัดขา
“หลังจากการปิดล้อมและสู้รบอย่างหนักมา 52 วัน ยาของเรากำลังจะหมด เราได้เก็บศพทหารของเราที่ยังไม่ได้ฝัง เราต้องฝังพวกเขาอย่างมีศักดิ์ศรีในดินแดนที่ยูเครนควบคุม” เขากล่าวต่อ
แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ย้ำว่าตราบใดที่ กองพันอาซอฟ ยังอยู่ที่นี่จะไม่มีการยอมจำนนอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศที่สามหรือหน่วยงานระหว่างประเทศช่วยเจรจา เพื่อเปิดทางให้พลเรือนได้อพยพออกไปอย่างปลอดภัย
“สำหรับการยอมจำนนเพื่อแลกกับความปลอดภัยในการอพยพ เราทุกคนรู้ว่าเรากำลังคุยอยู่กับใคร เรารู้ว่าทุกการรับรอง ทุกแถลงการณ์ของสหพันธรัฐรัสเซียนั้นไม่มีค่าอะไรเลย” รองผู้บังคับการกองพันอาซอฟ กล่าวกับ BBC
ปัจจุบันการปิดล้อมของรัสเซียยังคงดำเนินต่อไป โดยผู้รุกรานพยายามกดดันให้กองพันอาซอฟและประชาชนในโรงงานเหล็กขอยอมแพ้ แต่คำตอบเดียวของพวกเขาคือ “ไม่” และประกาศว่าจะขอสู้จนตัวตายหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภายนอก
“ไม่มีใครอยากยอมแพ้ และจบลงด้วยน้ำมือของพวกนาซีหรือเกสตาโป” ปาลามาร์ กล่าวกับ New York Times
“มีตัวอย่างมากมายที่สุดท้ายทหารกลายเป็นนักโทษ และขาดการติดต่อโดยไม่มีใครรู้ชะตากรรมของพวกเขาอีกเลย”
เพราะการยืนหยัดของพวกเขาไม่ใช่แค่การต่อสู้กับผู้รุกรานเท่านั้น แต่ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ใช่กองกำลังที่อันตราย และเป็นเพียงนักสู้ที่ต้องการปกป้องมาตุภูมิของตัวเอง
และที่สำคัญที่สุดคือการหยุดรัสเซียไม่ให้ใช้อำนาจข่มเหงโลกไปมากกว่านี้
“ผมเห็นว่าเมืองนี้พัฒนาไปอย่างไร เมืองแห่งนี้กลายเป็นไข่มุกแห่งทะเลอาซอฟ และเป็นบ้านเกิดสำหรับผมเช่นกัน” รองผู้บัญชาการปาลามาร์ กล่าว
“รัสเซีย ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ พวกเขาไม่ได้สร้างอะไรเลย จุดมุ่งหมายของพวกเขาแค่ทำลายและก่อการร้าย หากเราพ่ายแพ้ตรงนี้พวกเขาจะไปไกลกว่านั้น และโลกอารยะก็จะตกอยู่ในอันตราย”