sportpooltoday

ไม่ใช่เพราะโดนสาป : เรื่องเงินทองนอกสนามทำ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เห็นคุณค่าของการเป็นแชมป์


ไม่ใช่เพราะโดนสาป : เรื่องเงินทองนอกสนามทำ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เห็นคุณค่าของการเป็นแชมป์

“ผมคิดว่าคงมีบางคนสาปแช่งพวกเราอยู่ ผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราควรจะคว้าแชมป์ได้มากกว่านี้ ลุ้นถ้วยใหญ่ได้มากกว่านี้ แต่ผมไม่รู้ว่าทำไมทีมชุดนี้ถึงทำผลงานไม่ได้ตามเป้า”

ดาบิด เด เคอา ผู้รักษาประตูของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ลั่นวิวาทะที่เป็นไวรัล หลังจากเขาไม่เข้าใจว่าเหตุใดต้นสังกัดของเขาถึงร้างความสำเร็จเป็นเวลายาวนาน

ไม่มีสิ่งใดบนโลกเกิดแบบไม่มีเหตุผล ความสำเร็จในสนามที่ไม่เกิดขึ้นของแมนฯ ยูไนเต็ด ก็มีเหตุผลเช่นกัน นั่นเป็นเพราะสโมสรแห่งนี้หันไปเดินหน้าล่าความสำเร็จนอกสนามอย่างเต็มตัว

ขณะที่ทีมปีศาจแดงโกยเม็ดเงินแบบไม่หยุดหย่อน เหตุใดพวกเขาถึงไปทุ่มเทกับการสร้างรายได้นอกสนาม แทนที่จะเป็นการคว้าแชมป์ในสนาม ติดตามเรื่องนี้ไปพร้อมกับ Main Stand

ความรุ่งเรืองที่มาแบบถูกเวลา 

แฟนปีศาจแดงพันธุ์แท้คงรู้ดีว่า จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ในยุคฟุตบอลสมัยใหม่ของสโมสรแห่งนี้ เริ่มต้นในฤดูกาล 1992-93 ซึ่งเป็นปีแรกที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษมาครองได้เป็นสมัยแรก ในยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก่อนจะมีอีกหลายสมัยตามมาหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตามฤดูกาล 1992-93 ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของทีมปีศาจแดง แต่เป็นปีแรกที่ฟุตบอลลีกสูงสุดอังกฤษได้ทำการรีแบรนด์จาก “ดิวิชั่น 1” สู่ “พรีเมียร์ลีก” 


Photo : The Guardian

 

ในทางปฏิบัติ การเปลี่ยนจากดิวิชั่น 1 ก้าวสู่พรีเมียร์ลีก คือการปฏิวัติวงการฟุตบอลของประเทศอังกฤษ กับการเปิดยุคใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า หลังจากนี้ฟุตบอลคือธุรกิจเต็มตัว และเรื่องเงินทองจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับเกมลูกหนังนับจากนี้เป็นต้นไป

ต้องขอบคุณอิทธิพลจาก มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษ ผู้ซึ่งเปลี่ยนประเทศแห่งนี้ให้เปิดรับระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัวในช่วงยุค 80s ซึ่งนอกจากทำได้สำเร็จผลจนช่วยให้เศรษฐกิจของแดนผู้ดีกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โมเดลนั้นก็ถูกนำมาใช้กับเกมลูกหนังด้วยเช่นกัน

พรีเมียร์ลีกเปิดโอกาสให้สโมสรฟุตบอลอังกฤษเข้าถึงเงินทุนจำนวนมาก ทั้งจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, รายได้จากสปอนเซอร์, รวมถึงค่าตั๋วเข้าชมที่พุ่งสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวจากอดีต 

แม้ว่าแฟนบอลท้องถิ่นหลายคนจะหมดสิทธิ์ใกล้ชิดกับเกมของทีมรักในสนาม เพราะการเปลี่ยน “กีฬา” ให้กลายเป็น “ธุรกิจ” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางสโมสรก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการสร้างความยิ่งใหญ่นอกสนาม หนึ่งในนั้นคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 


Photo : Twitter – @ManUtd

 

ทัพปีศาจแดงมีต้นทุนที่ดีกว่าทีมอื่นอย่างมาก ในฐานะยอดทีมฟุตบอลแห่งยุค 90s หลังจากคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ถึง 7 สมัย ใน 10 ปีแรกของลีก รวมถึงการคว้าแชมป์ 3 รายการสุดสนั่นโลกในปี 1998-99 ที่เหมาทั้ง พรีเมียร์ลีก, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และ เอฟเอ คัพ

นอกจากจะมีความสำเร็จติดมือตลอดเวลา แมนฯ ยูไนเต็ด ยังเป็นทีมที่เต็มไปด้วยนักฟุตบอลที่มีคาแร็กเตอร์จัดจ้านและน่าหลงไหลในแบบที่ต่างกันออกไป ทั้ง ปีเตอร์ ชไมเคิล, เอริค คันโตน่า, รอย คีน, ไรอัน กิ๊กส์, พอล สโคลล์ หรือ เดวิด เบ็คแฮม 

เรียกได้ว่าถึงจะเป็นแฟนปีศาจแดงเหมือนกัน แต่แฟนบอลจำนวนมากต่างมีฮีโร่ในใจที่ต่างกันออกไป ซึ่งการมีนักฟุตบอลที่โดดเด่นในหลายทิศทางสามารถดึงดูดแฟนบอลให้เข้าหาทีมได้จากหลายกลุ่มตลาด ซึ่งส่งผลสำคัญให้กลุ่มแฟนบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่ปัจจัยที่ทำให้ แมนฯ ยูไนเต็ด โด่งดังเป็นพลุแตกไปทั่วโลกเหนือสโมสรฟุตบอลอื่น ไม่ใช่เพราะพวกเขามีต้นทุนที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะพวกเขามาเก่งแบบถูกที่ถูกเวลา

หากลีกฟุตบอลอังกฤษกลายเป็นลีกธุรกิจทุนนิยมตั้งแต่ยุค 70s หรือ 80s ทีมฟุตบอลเบอร์ 1 ที่จะโกยเงินเข้ากระเป๋าคงเป็น ลิเวอร์พูล ยอดทีมจากยุคสมัยนั้น ไม่ใช่ แมนฯ ยูไนเต็ด แต่ความจริงก็คือทีมปีศาจแดงขึ้นมาโด่งดังในจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะสุด ๆ กับการเริ่มต้นในการเปลี่ยนฟุตบอลจากกีฬาให้เป็นธุรกิจ

 

การเริ่มต้นยุคสมัยของพรีเมียร์ลีกไม่ใช่แค่การเปลี่ยนฟุตบอลอังกฤษกับปัจจัยแค่ในประเทศ แต่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก เพราะพรีเมียร์ลีกกลายเป็นลีกฟุตบอลลีกแรกที่กล้าทำการตลาด ส่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไปทั่วทุกมุมโลก พยายามเจาะตลาดวงการลูกหนังประเทศอื่น ซึ่งย้อนไปในเวลานั้นไม่มีวงการฟุตบอลไหนคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน

ในหลายประเทศฟุตบอลอังกฤษหาดูได้ง่ายกว่าฟุตบอลในประเทศ ใช้คุณภาพเกมที่ดีกว่ามัดใจคนในพื้นที่ต่าง ๆ จนเสพติดการแข่งขันพรีเมียร์ลีกแบบงอมแงม ชนิดที่เรียกว่ากลายเป็นลีกฟุตบอลอันดับ 1 ของหลายประเทศ ต่อให้ไม่ได้แข่งขันในประเทศนั้น ๆ ก็ตาม

นี่คือแต้มต่อของสโมสรฟุตบอลในอังกฤษที่เหนือกว่าทีมจากเยอรมัน, สเปน หรือ อิตาลี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงยุค 90s มาถึงต้นยุค 2000s จะมีแฟนบอลของสโมสรในอังกฤษเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ลิเวอร์พูล, อาร์เซน่อล, เชลซี, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด หรือ ลีดส์ ยูไนเต็ด 

 

ทั้งที่ความเป็นจริงในตอนนั้นนักเตะฝีเท้าคุณภาพเยี่ยมของโลกรวมตัวกันอยู่ที่ กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี มากกว่าด้วยซ้ำไป แต่เรื่องความนิยมของลีกในระดับโลก ลีกจากอิตาลีเทียบพรีเมียร์ลีกไม่ติดเลย

แต่ไม่มีทีมไหนในอังกฤษจะโด่งดังไปมากกว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะในฐานะทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเป็นที่ชื่นชอบของแฟนลูกหนังมากกว่าทีมอื่น และความยิ่งใหญ่ของทีมปีศาจแดง ในยุคบุกเบิกของพรีเมียร์ลีกคือรากฐานสำคัญที่ทำให้สโมสรแห่งนี้มีความแข็งแกร่งด้านธุรกิจอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคทองของปีศาจแดง

จุดแข็งข้อสำคัญของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตั้งแต่ไหนแต่ไร คือการผูกสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับแฟนบอล สิ่งนี้มันอยู่ใน DNA ของสโมสร ซึ่งเมื่อเข้าสู่ยุคทุนนิยม ข้อดีตรงนี้ก็กลายเป็นอาวุธหลักที่ทีมปีศาจแดงสามารถสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและมีอิทธิพลเหนือแฟนบอลของพวกเขาเอง

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือสโมสรแรกที่เปลี่ยนเรื่องราวของฟุตบอลให้เป็นการตลาดที่ดึงดูดแฟนลูกหนังจากทั่วโลกให้มาเสียเงินให้แก่ทีม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศสนามในวันที่มีการแข่งขันให้กลายเป็นสุดยอดประสบการณ์ความบันเทิงในสนามฟุตบอลที่เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจและประสบการณ์อันแสนพิเศษที่จะพบไม่ได้ที่สนามอื่น

 

“แบรนด์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ใช่ทั้งแบรนด์กีฬาหรือความบันเทิงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น และซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมหลังจากที่สโมสรเดินหน้าเข้าแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจเต็มตัวในศตวรรษที่ 21” ชอน ฮามิล อาจารย์สาขาธุรกิจกีฬา จากมหาวิทยาลัยลอนดอน อธิบายถึงช่วงเปลี่ยนผ่านของสโมสรแห่งนี้ในแง่ของธุรกิจ 

สโมสรฟุตบอลแห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นทั้งเบอร์ 1 ทั้งในและนอกสนาม เพราะไม่ใช่แค่กวาดถ้วยแชมป์ไม่หยุด หลังจากเข้าสู่ยุค 2000s แมนฯ ยูไนเต็ด กลายเป็นทีมฟุตบอลที่ได้กำไรมากที่สุดติดต่อกันหลายปี 

นอกจากนี้ทีมยังทำกำไรติดต่อกันทุกปีระหว่างช่วงปี 1996 ถึง 2006 ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นค่าเฉลี่ยในการทำธุรกิจสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกคือการขาดทุนอย่างน้อยหลายสิบล้านปอนด์ แต่ แมนฯ ยูไนเต็ด ยังคงโกยกำไรเข้าสู่ทีมอย่างไม่หยุดหย่อน 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของการทำธุรกิจสโมสรฟุตบอล ทั้งการเปลี่ยนสนามกีฬาให้กลายเป็นสถานที่มอบความบันเทิง, ผลงานที่ดีทำให้ทีมได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหาศาล ทั้งกับฟุตบอลในประเทศและฟุตบอลยุโรป

รวมถึงทีมปีศาจแดงยังโชว์ความหัวใสทางการค้า ด้วยการเป็นทีมแรก ๆ ที่สามารถต่อรองอำนาจกับแบรนด์สปอนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อฟาดเงินทุนก้อนโตเข้าสโมสร 

เช่น การเซ็นสัญญาเสื้อแข่งกับ Nike ในปี 2002 มูลค่ารวม 300 ล้านปอนด์ เป็นสัญญาที่มีมูลค่ามากที่สุดในเวลานั้น (ก่อนจะทำลายสถิติสัญญาด้านเสื้อแข่งขันอีกหลายครั้งหลังจากนั้น) รวมถึงสัญญามหาศาลจากสปอนเซอร์คาดหน้าอก, สปอนเซอร์เสื้อซ้อม, สปอนเซอร์สนามซ้อม และอีกมากมายนับไม่ถ้วน

เรียกได้ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีหัวการค้าที่ก้าวล้ำนำสมัยทีมฟุตบอลอื่น ๆ ไปมากในยุคนั้น เครดิตสำคัญต้องยกให้กับ เดวิด กิลล์ ผู้บริหารชื่อดังที่เข้ามาทำงานกับทีมปีศาจแดงตั้งแต่ปี 1997 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการเงิน และเขาก็นำความรู้ด้านการเงิน การตลาด เข้ามาเปลี่ยนสโมสรแห่งนี้จนกลายเป็นเบอร์ 1 ตัวจริงด้านธุรกิจ

หากให้สรุปสั้น ๆ ความสำเร็จด้านธุรกิจของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในอดีตมาจากความสำเร็จในสนามแข่งขันนำมาก่อน และพวกเขาก็มีแผนงานที่ดีพอจะนำข้อได้เปรียบเหล่านี้มาต่อยอดทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพชนิดที่เรียกได้ว่าเข้าเป้าทุกดอก

การบริหารงานของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในอดีตไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผลงานในสนามดูดีตลอดเวลาตราบใดที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สุดยอดผู้จัดการทีมชาวสกอตแลนด์ยังกุมบังเหียนอยู่ ส่วนทีมงานนอกสนามก็หาวิธีการค้าใหม่ ๆ มามัดใจแฟน ๆ ได้เสมอ

อย่างไรก็ตามการอำลาทีมของเฟอร์กูสันในปี 2013 ก็ทำให้ความยิ่งใหญ่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เหลือแต่เงิน ไม่มีถ้วย 

ช่วงเวลาประมาณ 9 ปีที่ผ่านมา แฟนบอลปีศาจแดงต้องพบกับความจริงแสนช้ำว่า ผลงานในสนามของพวกเขาไม่ได้ยอดเยี่ยมเหมือนในอดีตอีกแล้ว 

หลังจากการอำลาของเซอร์ อเล็กซ์ ทีมไม่ได้แตะถ้วยพรีเมียร์ลีกอีกเลย รวมถึงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ด้วยเช่นกัน หรือความจริงที่เลวร้ายกว่านั้นคือ แค่จะลุ้นติด Top 4 ไปเล่นฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ บางปีก็ต้องมาลุ้นกันเลือดตาแทบกระเด็น

ขณะที่ผลงานในสนามตกต่ำลง ทีมปีศาจแดงกลับยังคงไปได้สวยมาก ๆ กับผลงานนอกสนาม รายได้ของสโมสรยังคงพุ่งกระฉูด, สปอนเซอร์เข้าหาทีมพอ ๆ กับการคว้านักเตะใหม่, แถมมูลค่าของสโมสรก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ใช่แค่ในวงการฟุตบอล แต่กับทั้งวงการกีฬา

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่เคยหลุด 10 อันดับแรกในฐานะทีมกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ซึ่งจัดโดย Forbes สื่อด้านธุรกิจและการเงินชื่อดัง ซึ่งเป็นหลักฐานที่เห็นได้โดยง่ายว่ายุคสมัยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สโมสรแห่งนี้ยังสามารถสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้ผลงานในสนามของทีมปีศาจแดงจะไม่เหมือนในอดีตก็ตาม

หากจะพูดว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ต้องพึ่งความสำเร็จในสนามเพื่อให้สโมสรก้าวหน้าในเส้นทางธุรกิจคงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทีมปีศาจแดงไม่ได้วางแผนเพียงแค่เรื่องในสนาม แต่รวมถึงเรื่องนอกสนามด้วยเช่นกัน 

แมนฯ ยูไนเต็ด มีการจัดการทีมที่ยอดเยี่ยมในเรื่องธุรกิจ สโมสรแห่งนี้มีหน่วยงานของตัวเองที่แยกตัวออกมาทำงานอย่างชัดเจน ทั้งฝั่งที่ดูแลเรื่องสินค้า, ฝั่งกิจการด้านโทรทัศน์, ฝั่งแบรนด์ต่างประเทศ, ฝั่งสื่อสารกับแฟนบอล, ฝ่ายโฆษณา เรียกได้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในแต่ละแขนงที่จะมาคอยบริหารจัดการให้ทีมปีศาจแดงยังคงประสบความสำเร็จด้านธุรกิจและรับมือได้กับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

มีการศึกษาและพบว่า สโมสรดังจากอังกฤษได้แรงบันดาลใจในการเดินเกมด้านการค้ามาจากทีมเบสบอลชื่อดังอย่าง นิวยอร์ก แยงกีส์ ซึ่งมีเส้นทางคล้าย ๆ กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั่นคือเคยมีช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ในยุคทองของเบสบอล แต่ภายหลังผลงานร่วงหล่นไม่รุ่งเรืองเหมือนในอดีต 

นิวยอร์ก แยงกีส์ คว้าแชมป์เวิลด์ซีรีส์ของลีกเบสบอล MLB ได้เพียงสมัยเดียวในรอบ 21 ปีหลังสุด แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะแยงกีส์ยังคงเป็นทีมเบสบอลที่มีมูลค่าอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน และถ้ามองถึงทีมกีฬาในภาพรวม แยงกีส์ ไม่เคยหลุดจาก Top 5 ของทีมกีฬาที่มีมูลค่าสูงสุดของโลกเลย ซึ่งถือว่าดีกว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยซ้ำ ทั้งที่ได้แชมป์น้อยกว่าทีมปีศาจแดงในช่วงเวลาเดียวกัน 

วิธีการที่ แมนฯ ยูไนเต็ด นำมาจาก แยงกีส์ คือการทำอย่างไรก็ได้ให้แบรนด์ของทีมติดตลาดและกลายเป็นภาพจำของคน ชนิดที่เรียกว่าหากพูดถึงฟุตบอลก็ต้องนึกถึง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นทีมแรก 

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ทำสำเร็จ นี่คือสโมสรฟุตบอลที่เรียกพื้นที่สื่อได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็มีแต่คนสนใจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบรนด์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทรงพลังมากพอที่จะทำให้แฟนลูกหนังจำนวนมากหันมาติดตามพวกเขาไม่ว่าจะเชิงบวกหรือลบ แต่สุดท้ายแล้วในโลกธุรกิจ ถ้ามีคนให้ความสนใจมากก็เท่ากับเม็ดเงินที่มากขึ้น 

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ตั้งใจชัดเจนกับการสร้างความสำเร็จทางการค้า จนแฟนบอลสามารถรู้สึกว่าจริงจังมากกว่าการสร้างทีมไปคว้าแชมป์ในเกมฟุตบอลเสียอีก

ถึงจะขัดใจแฟนบอล แต่นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับว่าการสร้างทีมให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจคือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของสโมสรแห่งนี้ ชนิดที่เรียกว่ามีเขียนไว้แบบโต้ง ๆ ในเว็บไซต์ของสโมสร

“เป้าหมายของเราคือการเพิ่มรายได้และกำไร ด้วยการขยายการเติบโตของธุรกิจ ที่จะช่วยเสริมสร้างแบรนด์, ฐานแฟนคลับในระดับโลก และความพร้อมด้านการตลาด” นี่คือข้อความในเว็บไซต์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่่บอกถึงเป้าหมายของสโมสร 

สุดท้ายแล้วคงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะประสบความสำเร็จกับเส้นทางธุรกิจ เพราะพวกเขามีความตั้งใจจริงกับการหาเงินเข้าสู่สโมสรโดยไม่ต้องง้อผลงานของทีมในสนาม

แต่สำหรับแฟนบอล นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าพอใจ การที่ทีมปีศาจแดงแสดงให้เห็นว่าสโมสรสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งการคว้าแชมป์ ทำให้ทีมดูขาดความทะเยอทะยาน ความทุ่มเท ความกระหายที่จะเป็นแชมป์

แม้ว่าในความเป็นจริงการคว้าแชมป์จะถือเป็นเรื่องดีและส่งผลดีกับธุรกิจฟุตบอลแน่นอน แต่แน่นอนว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ต้องลงทุนมากกว่าเดิม ซึ่งดูเหมือนว่าผู้บริหารของทีมจะไม่อยากเดินไปทางนั้นแต่อย่างใด

อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกได้ชัดคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุคปัจจุบันวางเป้าหมายผลงานในสนามชัดเจนว่า เน้นแค่การจบ Top 4 เป็นสำคัญเท่านั้น เพราะตั้งแต่หลังยุคเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นต้นมา ทีมปีศาจแดงจะปลดผู้จัดการทีมหากทีมพลาดพื้นที่ยุโรปถ้วยใหญ่เท่านั้น

เดวิด มอยส์ ถูกปลดหลังไม่สามารถพาแมนฯ ยูไนเต็ด ไปแชมป์เปี้ยนส์ลีก, หลุยส์ ฟาน กัล ถูกปลดทั้งที่พาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ แต่การพาทีมจบอันดับ 5 ก็ทำให้เขาถูกตะเพิดออกจากตำแหน่ง, โชเซ่ มูรินโญ่ ถูกปลดจากตำแหน่งกลางฤดูกาล เช่นเดียวกับ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ที่ทั้งสองรายโดนปลดทันทีหลังมีแนวโน้มว่าจะพาทีมไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลยูซีแอล

ผู้จัดการทีมทุกคนที่เรากล่าวมาไม่มีใครเคยพาทีมปีศาจแดงใกล้เคียงกับการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่ไม่มีใครเคยถูกปลดเพราะพาทีมพลาดแชมป์ เห็นได้จากชัดเจนจากยุคของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ที่เขาพาทีมไปไม่ถึงแชมป์อยู่หลายครั้ง แต่บอร์ดบริหารก็ไม่เคยคิดจะปลดเขาออกตำแหน่งเลย ทว่าเมื่อทีมดูหมดโอกาสที่จะลุ้นพื้นที่ยุโรป ทีมก็ตัดสินใจปลดเขาออกจากตำแหน่งทันที 

เหตุผลที่ผู้บริหารแมนฯ ยูไนเต็ด เห็นความสำคัญกับการไปเล่นฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ยิ่งกว่าการได้ถ้วยแชมป์ เพราะการไปเล่นฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่คือการได้รับรายได้มหาศาล ทั้งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รวมถึงเงินจากสปอนเซอร์

นอกจากนี้ การได้ไปเล่นฟุตบอลยูซีแอล คือการรับประกันว่าสโมสรยังคงเป็นทีมระดับท็อปของลีกอยู่ อีกทั้งสำหรับผู้บริหารแมนฯ ยูไนเต็ด ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก คือฟุตบอลระดับบิ๊กลีกที่สำคัญอย่างมากในการแสดงภาพว่าสโมสรนี้อยู่ระดับเดียวกับ บาร์เซโลน่า, เรอัล มาดริด หรือ บาเยิร์น มิวนิค ที่เป็นสโมสรซึ่งมีมูลค่าการตลาดในระดับใกล้เคียงกัน

ความจริงที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ตอนนี้มองแค่การจบ 4 อันดับแรกมากกว่าการต้องการไปให้ไกลถึงการเป็นแชมป์ เพราะสุดท้ายพวกเขาก็มองถึงการสร้าง “แบรนด์” มากกว่า และจนถึงปัจจุบันมันก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า พวกเขาประสบความสำเร็จกับการยังคงเป็นสโมสรฟุตบอลที่กวาดเงินจำนวนมาก แม้จะขาดการได้ถ้วยแชมป์ไม่เหมือนยุครุ่งเรืองในอดีต

สุดท้ายความจริงที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกต้องยอมรับไม่ใช่แค่แฟนแมนฯ ยูไนเต็ด เพราะความจริงวันนี้คือโลกฟุตบอลคือธุรกิจ และเจ้าของทีมในลีกระดับสูงต่างก็มองถึงผลประโยชน์มากกว่าถ้วยแชมป์กันทั้งนั้น แฟนบอลอย่างเรา ๆ ก็ทำได้แค่ทำใจยอมรับกับความจริงข้อนี้