ฟีฟ่า ประกาศตัวเลขค่าแรงของเหล่าเอเยนต์ในวงการฟุตบอลชายในตลาดการซื้อขายรอบที่ผ่านมา กับตัวเลขที่น่าตกใจ เมื่อในตลาดการซื้อขายรอบที่ผ่านมา เหล่าเอเยนต์ได้เงินไปรวมแล้วมากถึง 430.8 ล้านปอนด์ กับดีลการย้ายทีมในรอบนี้ โดยคิดเป็นเงินเกือบ 10 % จากยอดการซื้อขายนักเตะรวมแล้วประมาณ 4,360 ล้านปอนด์ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของยอดการซื้อขายสูงถึง 29.7 % จากรอบปีที่แล้ว ตามรายงานจากบีบีซี
พรีเมียร์ ลีก คงความเป็นแชมป์ด้วยการซื้อขายประมาณ 1,900 ล้านปอนด์ และ แอนโทนี่ กับค่าตัว 81.3 ล้านปอนด์ คือตัวเลขสูงสุดของตลาดการซื้อขายรอบนี้ ที่เรียกว่ายังคงบ้าคลั่งกันต่อเนื่อง นั่นหมายถึงการแข่งขันในพรีเมียร์ ลีก ก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
“ตลาดการซื้อขาย” เป็นหนึ่งในส่วนหนึ่งของวงการฟุตบอลที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่แฟนบอลให้ความสนใจเป็นจำนวนมากกับการย้ายทีมที่จะมีแต่ราคาค่าตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ และในโลกฟุตบอล เอเยนต์นักเตะ กลายเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินการให้นักเตะคนหนึ่งย้ายไปยังสโมสรใหม่ได้อย่างราบรื่น
อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า “นักเตะอาชีพ” ถูกหล่อหลอมและทุ่มเทให้ความสำคัญกับการเล่นฟุตบอลเป็นอันดับแรกมาตั้งแต่วัยยังไม่ถึงหลับสิบปี บางคนเข้าทีมเยาวชนของสโมสรตั้งแต่ 6-7 ปีก็มีไม่น้อย แม้ว่าในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา สโมสรส่วนมากให้ความสำคัญกับเรื่องของการให้การศึกษากับนักเตะเยาวชนควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องของฟุตบอกันอย่างมากแล้วก็ตามที โดยระยะหลังจะหลายสโมสรเลือกโครงการในลักษณะของการให้ทุนการศึกษา (Scholarship) พร้อมกับสัญญาไม่เกิน 3 ปีกับเด็กเยาวชน ซึ่งจะเป็นการการันตีว่า เด็กคนนี้จะมีที่ไปต่อทั้งเรื่องฟุตบอล และเรื่องเรียน แน่นอนอีกนัยยะหนึ่งคือจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ในเวลาเดียวกัน
“ฟุตบอลเป็นทางเลือกหนึ่งในชีวิต แต่มันไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่ต้องเลือก และมันไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเลือก ดังนั้นทางเลือกที่มากขึ้น จำเป็นสำหรับนักเตะเยาวชน เมื่อพวกเขาถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้แล้วในวงการฟุตบอล” แพร์ แมร์เตซัคเกอร์ ผู้จัดการทีมเยาวชนของอาร์เซนอล อดีตแชมป์โลกปี 2014 กับทีมชาติเยอรมันกล่าวไว้ในช่วงปี 2019 กับการรับงานดูแลทีมเยาวชนของสโมสรปืนใหญ่
“นักเตะเยาวชน” จำนวนมากแทบจะ 100 % มาพร้อมกับความฝันสูงสุดในการเป็นนักเตะอาชีพอย่างที่พวกเขาเห็นในโทรทัศน์ แต่ในความเป็นจริงพวกเขาคือหนึ่งในไม่ถึง 1 % ในแต่ละปีที่จะเข้าสู่วงการฟุตบอลอาชีพได้ในอนาคต เช่นเดียวกับเรื่องจริงที่ว่า “ผู้ปกครอง” จำนวนมากพยายามผลักดันบนความคาดหวังว่าลูกชายของตนจะกลายเป็นยอดนักเตะที่ทั้งมีความสามารถ มีความมั่งคั่ง และประสบความสำเร็จได้ในวงการฟุตบอล ทั้งที่ความจริงแล้ว ลูกชายของเขาและเธอ อาจจะไม่ได้ไปถึงในระดับนั้นเลยก็เป็นได้
ในทุกปีทีมเยาวชนของทุกสโมสรจะมีการปล่อยนักเตะเยาวชนออกจากทีมด้วยหลากหลายสาเหตุ บางคนไม่ได้รับทุนการศึกษาต่อ เมื่อประเมินแล้วทั้งเรื่องของพัฒนาการในการเล่นฟุตบอล, การเรียน ไปจนถึงพฤติกรรม ทั้งหมดอยู่ในการประเมินทั้งหมด มีไม่รู้กี่ร้อยครั้งที่ ผู้จัดการทีมเยาวชน จำเป็นต้องบอกกับผู้ปกครองของเด็ก หรือกระทั่งคุยกับตัวเด็กเองว่า ทำไมลูกหลานของเขา หรือตัวเขาถึงไม่ได้ไปต่อกับสโมสร บางครั้งก็มีนักเตะเยาวชนบางคน ตัดสินใจเลือกจะตัดสินใจหยุดเส้นทางฟุตบอลของตัวเอง เมื่อพบว่าการได้เรียนหนังสือในห้องเรียน หรือกิจกรรมแบบอื่น มันเป็นสิ่งที่สนุกกว่า และอยากทำมากกว่าฟุตบอล นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมการศึกษาถึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่า คุณจะเปลี่ยนใจเมื่อไร หรือจะโดนบังคับให้เปลี่ยนแปลงตอนไหน กว่าจะถึงปลายทางที่จะบอกได้ว่าทำงานนี้เป็น “อาชีพ”
“สิ่งที่อยู่ในสนามแข่งนักเตะทำ นอกสนามเอเยนต์คอยดูแล” คือหน้าที่หลักของเอเยนต์ อย่างที่เรากล่าวในข้างต้น นักเตะจำนวนมาก เล่นฟุตบอลเป็นหลัก เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย รายละเอียดของธุรกิจแทบจะไม่มีความรู้ในด้านนี้ และนั่นคือสิ่งที่เอเยนต์เข้ามาจัดการให้ แลกกับค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้
เอเยนต์ฟุตบอลจึงพบกับ “ช่องว่างแห่งโอกาส” ในเรื่องนี้ จุดเริ่มต้นของการมี “เอเยนต์” หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่านายหน้า, ตัวแทน หรืออะไรก็ตามแต่ ไม่มีอะไรแน่ชัดนักว่าเริ่มต้นกันอย่างจริงจังเมื่อไร แต่สำหรับวงการฟุตบอลดัตซ์แล้ว โยฮัน ครอยซ์ ผู้จากไปเคยระบุว่า “พ่อตา” ของเขาคอร์ คอสเตอร์ เป็นคนที่เข้ามาดูแลชีวิตการเป็นนักเตะของเขาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 เพื่อมาดูแลผลประโยชน์ให้กับเขาโดยตรง ในยุคที่ นักเตะ ทุกคน เตะบอลไปอย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าสโมสรทำอะไร หาประโยชน์อะไรจากพวกเขาไปบ้าง แลกกับการจ่ายเงินค่าแรงให้กับพวกเขาตามปกติที่ตกลงกัน
คอร์ คอสเตอร์ เป็นพ่อค้าเพชร และอัญมณี ที่มีประสบการณ์ในวงการค้า ซึ่งนั่นทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่ลูกเขยของเขาได้รับไม่ยุติธรรม จนเข้ามาเป็นตัวแทนของครอยซ์ ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นยุคแรกเริ่มของการมี เอเยนต์ และทำให้ ครอยซ์ ได้รับเงินอย่างสมน้ำสมเนื้อกับสิ่งที่เขาทำให้กับสโมสร เช่นเดียวกับสิ่งที่สโมสรเอาเขาไปใช้งานหารายได้ในเวลาเดียวกัน และนั่นคือเรื่องราวเมื่อ 50 ปีก่อน ที่วงการฟุตบอลยังซับซ้อนมากอย่างในทุกวันนี้
การเติบโตของเอเยนต์ ก็เหมือนอาชีพที่มีการเติบโตตามโอกาสที่สูงมากขึ้น เอเยนต์ มาจากทั้ง “คนในครอบครัว” หรือ “คนนอก” ซึ่งก็ไม่มีความตายตัวแล้วแต่ความสมัครใจของนักเตะเป็นหลัก และพัฒนากลายมาเป็นองค์กรเอเยนต์อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งในประเทศไทยก็บริษัทเอเยนต์นักเตะหลายบริษัทที่เข้ามาดูแล นักเตะอาชีพในวงการฟุตบอลเช่นเดียวกัน
หากคุณมอง ฆอร์เก้ เมนเดส กับ มิโน ไรโอล่า ที่จากไปแล้ว คุณจะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกทั้งสองคนมีความแตกต่างกันชัดเจน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความมั่นใจ ความเชื่อมั่น ช่างเจรจา ความรู้เรื่องฟุตบอล และความรู้ด้านกฎหมายและการตลาด เป็นพื้นฐานหลักของเอเยนต์ทุกคน ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าแบบใดคือดีที่สุด
โดยพื้นฐานแล้ว เอเยนต์ จะเป็นผู้ดูแลในภาพรวมกับทุกอย่างที่เกี่ยวการตลาดของนักเตะ และที่มีบทบาทที่หลายคนคุ้นเคยที่สุดคือเรื่องของการย้ายสโมสร ซึ่งจะมีในส่วนของค่าดำเนินการ (Agency Fee) ซึ่งจะคิดเป็น % ออกมาแล้วแต่ตกลง และนี่คือรายได้หลักของงานนี้ และเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับเอเยนต์ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ว่าทำไมเอเยนต์ถึงมีข่าว หรือถูกพูดถึงบ่อยว่า เอเยนต์อยากให้มีการย้ายทีมบ่อย เพราะนั่นหมายถึงการเกิดรายได้ของพวกเขาเช่นกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับความต้องการของนักเตะเป็นหลัก
ธุรกิจอาชีพเอเยนต์เติบโตขึ้นจนกลายมาเป็นสมาคมเอเยนต์ และต้องมีการได้รับการรองรับการเป็นเอเยนต์กับฟีฟ่า มีการวางกฎข้อบังคับที่ชัดเจน และก็ยังคงมีหลายส่วนที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เอเยนต์ จำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับวงการฟุตบอล อย่างไรก็ตามก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมี “ผลประโยชน์” เข้ามาเกี่ยวข้องทุกคนก็ต้องการข้อเสนอที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายให้ได้ แม้ว่ามันอาจจะไม่เป็นที่ “พอใจ” นักสำหรับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม