sportpooltoday

ลา กาเตดรัล : เรือนจำสุดหรูของเอสโคบาร์ ที่เคยต้อนรับนักเตะระดับโลก


ลา กาเตดรัล : เรือนจำสุดหรูของเอสโคบาร์ ที่เคยต้อนรับนักเตะระดับโลก

“ที่นั่นเป็นเหมือนโรงแรมห้าดาวในดูไบมากกว่าเรือนจำ พวกเขาแนะนำผมกับเอสโคบาร์ และบอกผมว่า ‘ดิเอโก้ นี่คือบอส'” ดิเอโก มาราโดนา ย้อนความหลัง

บนเนินเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมเดยีน เมืองใหญ่อันดับ 2 ของโคลอมเบีย มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ในอดีตมันเต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ทั้งอ่างจากุซซี่ ห้องซาวน่า หรือแม้แต่สระว่ายน้ำ 

“ลา กาเตดรัล” คือชื่ออย่างเป็นทางการของสถานที่แห่งนี้ ทว่ามันไม่ใช่รีสอร์ท คันทรีคลับ หรือโรงแรม แต่เป็นที่คุมขังนักค้ายาที่อันตรายที่สุดของโลกอย่าง “ปาโบล เอสโคบาร์”

 

และนี่คือเรื่องราวของเรือนจำสุดหรูของเจ้าพ่อยาเสพติดแห่งโคลอมเบีย ที่ครั้งหนึ่งเคยต้อนรับนักเตะระดับโลกมาแล้ว 

ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

ชายผู้หลงใหลในฟุตบอล 

ปาโบล เอสโคบาร์ หรือชื่อเต็มว่า ปาโบล เอลิมิโน เอสโคบาร์ กาวิเรียร์ ถือเป็นหนึ่งในเจ้าพ่อยาเสพติดผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลก เขาเริ่มต้นเข้าสู่วงการอาชญากรรมด้วยการขายบุหรี่เถื่อน ลอตเตอรี่ปลอม และขโมยรถ แล้วหันเหเข้าสู่วงการยาเสพติดในยุค 1970s 


Photo : lifetailored.com

 

เอสโคบาร์ ไต่เต้าจนขึ้นมาเป็นหัวหน้าแก๊งเมเดยีน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการส่งโคเคนไปขายที่สหรัฐอเมริกา ที่ว่ากันว่ามากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่มาจากแก๊งของเขา และทำเงินได้ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ทว่านอกจากยาเสพติดแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เอสโคบาร์ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือฟุตบอล เขารักและคลั่งไคล้ในกีฬาลูกหนังมาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเอง ชมการแข่งขัน หรือแม้แต่พูดคุยเรื่องฟุตบอลกับคนใกล้ตัว 

 

“ปาโบลรักฟุตบอลมาก รองเท้าคู่แรกในชีวิตของเขาคือรองเท้าฟุตบอล” ลุซ มาเรีย น้องสาวของเอสโคบาร์ กล่าวในสารคดี The Two Escobars 

และด้วยความที่เขามีรายได้มหาศาลจากยาเสพติด ทำให้เอสโคบาร์ไม่พลาดที่จะนำเงินมาใช้กับกีฬาที่เขารัก โดยเฉพาะการสร้างสนามฟุตบอลในชุมชนแออัดที่เมืองเมเดยีน ซึ่งกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนักเตะระดับทีมชาติอย่าง อเล็กซ์ การ์เซีย, เรเน่ ฮิกิต้า, ชิโร เซอร์นา หรือ ฟรานซิสโก้ มาตูราน่า  

“ทุกคนพูดถึงคนที่บริจาคเงินสร้างสนาม และตำหนิเขาว่าเป็นเจ้าพ่อยาเสพติด” เลโอเนล อัลวาเรซ นักเตะเจ้าของสถิติลงเล่นให้ทีมชาติโคลอมเบีย 101 นัดกล่าวกับ FourFourTwo  

 

“แต่สำหรับเรา เรารู้สึกโชคดีมากที่มีสนามเหล่านี้” 

นอกจากนี้เขายังเอาเงินยาเสพติดไปลงทุนกับสโมสรฟุตบอล ด้วยการเข้าไปสนับสนุนทีม เดปอร์ติโว อินดิเพนดิเอนเต เมเดยีน และ แอตเลติโก นาซิอองนาล สองทีมแห่งเมืองเมเดยีน และกลายเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนวงการฟุตบอลโคลอมเบียในช่วงทศวรรษที่ 1980s


Photo : www.thisislocallondon.co.uk

“การนำเงินจากยาเสพติดมาใช้กับฟุตบอลทำให้เรามีนักเตะต่างชาติเก่ง ๆ” ฟรานซิสโก้ มาตูราน่า ที่เคยคุมนาซิอองนาลควบทีมชาติโคลอมเบียในช่วงปี 1987-1990 กล่าวในสารคดี The Two Escobars 

“มันยังทำให้เราสามารถรักษานักเตะเก่ง ๆ ของเราไว้ได้ ระดับการเล่นของเราก็สูงขึ้น ผู้คนเห็นเราและพูดว่าปาโบลมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่พวกเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้

 

เงินของเอสโคบาร์ไม่เพียงทำให้ทีมของเขาก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้ทีมโดดเด่นในระดับทวีป โดยเฉพาะนาซิอองนาล ที่กลายเป็นทีมแรกจากโคลอมเบีย ที่คว้าแชมป์ โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส หรือแชมเปี้ยนส์ลีกแห่งอเมริกาใต้ได้สำเร็จในปี 1989 

ทว่า สำหรับชีวิตของเขานอกเหนือจากฟุตบอล มันกลับโหดร้ายเกินที่ใครจะรับได้

สงครามกลางเมือง

แม้ว่าเงินของเอสโคบาร์ จะมีส่วนในการยกระดับวงการฟุตบอลโคลอมเบีย แต่สถานะเจ้าพ่อยาเสพติดใจโหดของเขาก็ไม่สามารถลบล้างได้ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่เมืองเมเดยีน 

เพราะนับตั้งแต่เข้าสู่วงการยาเสพติด ตัวเขาเองก็เกี่ยวพันกับการสังหารผู้คนมากมาย ไล่ตั้งแต่แก๊งตรงข้าม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงนักการเมืองระดับประเทศ เขาคิดแค่ว่าถ้าเงินซื้อพวกเขาไม่ได้ก็ต้องกำจัดให้พ้นทาง

 

ทำให้เขาตกเป็นเป้าของรัฐบาลโคลอมเบียรวมไปถึงอเมริกา ที่ต้องการให้ส่งตัวเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมารับโทษที่ยาวเป็นหางว่าว แต่ด้วยการสั่งฆ่าและการติดสินบน ก็ทำให้เขารอดพ้นจากการถูกจับกุมได้เกือบทุกครั้ง 


Photo : tierracolombiana.org

อย่างไรก็ดี ฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึงในเดือนพฤศจิกายน ปี 1989 เมื่อเอสโคบาร์สั่งวางระเบิดเครื่องบินของสายการบิน Avianca เที่ยวบินที่ 203 เพียงเพื่อจะสังหาร เซซาร์ กาวิเรีย ผู้สมัครประธานาธิบดีที่สานนโยบายปราบปรามเขาอย่างจริงจังต่อจาก หลุยส์ คาร์ลอส กาลัน ที่เอสโคบาร์เพิ่งสั่งเก็บไปเมื่อ 3 เดือนก่อน  

วินาศกรรมครั้งนั้นนอกจากจะไม่สามารถปลิดชีพ กาวิเรีย ได้ เพราะเขาไม่ได้อยู่บนเครื่องบินลำนั้น มันยังสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้คนในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตถึง 107 คน หรือเรียกว่ายกลำ เพียงเพราะการกระทำอันบ้าเลือดของเอสโคบาร์ 

 

แต่ดูเหมือนว่าเอสโคบาร์จะไม่สนใจ เมื่อในเดือนต่อมาเขาได้ให้รถบรรทุกที่เต็มไปด้วยระเบิดไดนาไมต์น้ำหนัก 500 กิโลกรัม พุ่งเข้าชนสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 57 คนและบาดเจ็บกว่า 2,000 คน

 

อย่างไรก็ดีมันก็ไม่สามารถหยุดยั้งการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศของ กาวิเรีย ได้ ซึ่งทันทีที่เขารับตำแหน่ง กาวิเรียก็ดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้ทันที

เขาสั่งการไล่ล่า เอสโคบาร์ อย่างเต็มตัว ด้วยเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือ แต่เจ้าพ่อยาเสพติดก็ไม่ได้อยู่เฉย พวกเขาตอบโต้กับรัฐบาลแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ฆ่าคนของเขา พวกเขาก็ฆ่ากลับ ทำให้ตอนนั้นโคลอมเบียตกอยู่ในภาวะไม่ต่างสงครามกลางเมือง 

สงครามยาเสพติดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนเพียงในระยะเวลาไม่ถึงปี ทำให้เพื่อไม่ให้มีคนตายไปมากกว่านี้ รัฐบาลโคลอมเบีย จึงได้เข้าเจรจากับเอสโคบาร์ให้เขายอมจำนน แลกกับสิทธิพิเศษในระหว่างจองจำ และสัญญาว่าจะไม่ส่งตัวเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปอเมริกา 

ในที่สุดในปี 1991 เอสโคบาร์ ก็เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่และรับโทษทัณฑ์ที่ก่อไว้ แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ ?

เรือนจำส่วนตัว 

การยอมจำนนของเอสโคบาร์ สร้างความโล่งใจให้กับประชาชนทั้งประเทศ ที่ได้เห็นอาชญากรคนนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ความยุติธรรมดูเหมือนจะไม่มีจริงในตอนนั้น ตราบใดที่คนของเอสโคบาร์ยังคงแฝงตัวอยู่ในองค์กรของรัฐ 

เพราะแม้ว่า เอสโคบาร์ จะถูกพิพากษาให้จำคุก 5 ปี แต่เขาก็ได้รับอนุญาตให้สร้างเรือนจำด้วยตัวเอง ส่วนผู้คุมและเจ้าหน้าที่เรือนจำที่จะแต่งตั้งเข้ามา ก็ต้องได้รับการรับรองจากเขา 


Photo : www.reddit.com

เรือนจำของเอสโคบาร์มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ลา กาเตดรัล” (La Catedral) ที่แปลว่ามหาวิหารในภาษาสเปน มันตั้งอยู่บนเนินเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมเดยีน เพื่อให้เอสโคบาร์สามารถมองเห็นเครื่องบินที่เอาไว้ส่งโคเคนให้เขาตอนที่เขาติดอยู่ที่นี่

แน่นอนว่า ลา กาเตดรัล ดีเกินกว่าจะเรียกว่าเรือนจำ เพราะมันถูกตกแต่งอย่างหรูหรา พร้อมเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ไล่ตั้งแต่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ บาร์เหล้า โต๊ะพูล อ่างจากุซซี่ ไปจนถึงสระว่ายน้ำพร้อมน้ำตก 

 

ที่แห่งนั่นยังมีกล้องโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่ทำให้ปาโบลสามารถมองดูครอบครัวของเขาจากที่นั่น แถมยังสามารถลักลอบนำหญิงบริการและยาเสพติดเข้ามาให้บริการกับตัวเขาและลูกน้องได้อย่างไม่ยากเย็น จนทำให้มันถูกเรียกว่า “โรงแรมเอสโคบาร์” หรือ “คลับเมเดยีน” 


Photo : videohive.net

“กำลังมองหาสถานที่พักผ่อนสำหรับองค์กรของคุณอยู่เหรอ ?” บอยด์ โฮลด์บรูค ผู้รับบท สตีฟ เมอร์ฟี่ เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดที่ตามจับเอสโคบาร์ บรรยายใน Narcos ซีซั่น 2  

“บนพื้นที่วิว 360 องศาโดยไม่มีอะไรกีดขวางในเขตชนบทของเมือง Antioquian เป็นไง ? พื้นที่ใช้สอยกว่าหกหมื่นตารางฟุต ที่เหมาะอย่างมากสำหรับความบันเทิง ไม่ต้องมองไปไกลกว่า ลา กาเตดรัล เรือนจำของชายคนหนึ่งอาจจะเป็นเหมือนวังสำหรับคนอื่น”  

 

อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับที่นี่คือสนามฟุตบอล โดยเฉพาะสนามใหญ่แบบ 11 คน ที่ไม่ได้มีไว้แค่ให้เอสโคบาร์และลูกน้องของเขาเตะเล่นเท่านั้น แต่บางครั้งยังเอาไว้ต้อนรับนักเตะระดับอาชีพ

สนามหญ้าหน้าบ้าน  

เอสโคบาร์ ขึ้นชื่อในเรื่องความคลั่งไคล้ในเกมลูกหนัง ทำให้ตอนสร้าง ลา กาเตดรัล จึงจำเป็นต้องมีสนามฟุตบอลอยู่ในนั้นด้วย เพื่อให้เขาได้มีพื้นที่สำหรับผ่อนคลายจากการบริหารอาณาจักรยาเสพติดของเขา 


Photo : www.marca.com

แต่เอสโคบาร์ก็รู้ดีว่าการเล่นกับลูกน้องมันจะสนุกอะไร เมื่อมีแต่ผู้เล่นระดับมือสมัครเล่นเท่านั้น ดังนั้นบางครั้งเขาจึงเชิญนักเตะอาชีพมาเล่นกับเขาที่นี่ ที่มีตั้งแต่นักเตะระดับสโมสรไปจนถึงระดับทีมชาติโคลอมเบีย 

แน่นอนว่าเอสโคบาร์ไม่สนว่านักเตะเหล่านั้นจะว่างหรือไม่ หากเขาให้มาก็ต้องมา ทำให้หลายครั้งเกิดกรณีนักเตะต้องยกเลิกการซ้อมกับทีมชาติหรือเลื่อนการแข่งขันของลีกไปวันอื่น เพียงเพราะต้องมาเตะฟุตบอลกับชายคนนี้ 

 

ออสการ์ ปาเรญา อดีตผู้เล่นอินดิเพนดิเอนเต เมเดยีน และทีมชาติโคลอมเบีย คือหนึ่งในนักเตะที่เคยถูกเจ้าพ่อยาเสพติดเรียกตัวไปเตะฟุตบอลใน ลา กาเตดรัล เขาบอกว่ามันเป็นวันที่เขาไม่เคยลืม 

“โค้ชบอกว่าการซ้อมถูกยกเลิกเพื่อสิ่งที่ทุกคนต่างก็รู้ดี เพื่อเขา (เอสโคบาร์) ที่เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของเรา” ออสการ์ ปาเรญา กล่าวกับ ESPN  

“ที่นั่นมีโซฟาอย่างดี มีทีวี มีขนมมาให้เรากิน หลังจากนั้นบอดี้การ์ดกลุ่มใหญ่ก็เข้ามาในห้อง จากนั้นก็เป็นเอสโคบาร์ มันทำให้ผมอึ้งมาก ‘เดี๋ยว นี่พวกเราหรือเขาเป็นนักโทษกันแน่เนี่ย ?'”

“มันเป็นวันที่ผมไม่เคยลืม เขานั่งอยู่ข้างผมและพูดคุยเกี่ยวกับฟุตบอลด้วยแพชชั่นและความรู้ที่สุดยอดอยู่เป็นชั่วโมง เขารู้ทุกอย่าง เขาบอกกับผมว่า ‘ทำไมคุณถึงเรียกผู้ตัดสินเยอะขนาดนั้นเกาโป (ชื่อเล่นของปาเรญา) เราจ่ายเงินให้เขา ทำแบบนี้ไม่ดีเลย” 


Photo : co.marca.com

นอกจากปาเรญา ในวันนั้นยังมีเพื่อนร่วมทีมอินดิเพนดิเอนเตอีก 6 คนที่ถูกเรียกไปพร้อมกัน รวมไปถึง คาร์ลอส อัลวาเรซ ที่ต้องรับภาระอันหนักอึ้งประกบเอสโคบาร์ ซึ่งลงเล่นในตำแหน่งปีกซ้าย และทำหน้าที่เป็นกรรมการในเกมพิเศษนัดนั้น 

“คาร์ลอสต้องทำทีเป็นประกบเขา เขาไม่เคยแย่งบอลจากเอสโคบาร์ได้สักครั้ง” ปาเรญา ย้อนความทรงจำ

แม้ว่าเกมจะจบลงด้วยชัยชนะของฝั่งนักเตะอาชีพ แต่รูปเกมค่อนข้างสูสี ทำให้พวกเขาได้ออกมาจากเรือนจำในสภาพครบ 32 แถมยังถูกเชิญมาเล่นที่นั่นอีกครั้งในเวลาต่อมา

“ย้อนไปตอนนั้นผมคิดว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้หลังกำแพงนั้น มันไม่มีตำรวจ ไม่มีการควบคุม อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่มันไม่เกิดขึ้น” ปาเรญา กล่าว

อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่นักเตะระดับทีมชาติเท่านั้น เพราะนักเตะระดับโลกก็เคยมาโชว์ฝีเท้าที่ ลา กาเตดรัล

มาราโดนามาเยือน 

“มีคนสำคัญจากโคลอมเบียอยากให้คุณไปเยี่ยมและเล่นฟุตบอลด้วยกัน เขาจ่ายเงินให้สูงมาก” กิลเยโม คอปโปลาร์ เพื่อนและเอเยนต์บอกกับ ดิเอโก มาราโดนา 

มันเป็นวันหนึ่งในปี 1991 ขณะที่ มาราโดนา กำลังใช้ชดใช้โทษแบน 15 เดือน จากการเสพโคเคน เขาก็ได้รับข้อเสนอจากหนึ่งในคนที่อันตรายที่สุดในอเมริกาใต้หรืออาจจะของโลก นั่นก็คือ เอสโคบาร์ ซึ่งชื่นชมในฝีเท้าของดาวเตะร่างเล็กเป็นอย่างมาก 


Photo : dailyuknews.com

ในตอนแรกอดีตกองกลาง นาโปลี ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่เชิญเขามาคือใคร แต่ด้วยข้อเสนอจำนวนมหาศาล บวกกับตอนนี้เขาก็ว่างอยู่ จึงตัดสินใจตอบตกลง และถูกพาตัวมายังสถานที่ที่เขาไม่คิดว่าเป็นเรือนจำ

“ที่นั่นเป็นเหมือนโรงแรมห้าดาวในดูไบมากกว่าเรือนจำ พวกเขาแนะนำผมกับเอสโคบาร์ และบอกผมว่า ‘ดิเอโก นี่คือบอส'” ดิเอโก มาราโดนา ย้อนความหลัง 

“เขาใจดีกับผมมาก แต่ผมไม่รู้ว่าเขาคือใคร เพราะผมไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์และดูทีวีในตอนนั้น ทั้งหมดที่ผมรู้คือ คนสำคัญมากของโคลอมเบียอยากเจอผม” 

“เราเจอกันที่ออฟฟิศ และเขาก็บอกว่าเขาชอบการเล่นของผมมาก และเขารู้สึกว่าเราเหมือนกัน เหมือนกับเขา เพราะว่าผมก้าวผ่านความยากจนมา”


Photo : www.vocedinapoli.it

หลังจากพูดคุยกันพอหอมปากหอมคอ พวกเขาก็ได้สวมสตั๊ดลงหวดกัน โดยทีมคู่แข่งของมาราโดนา มี เรเน่ ฮิกิต้า นายทวารทีมชาติโคลอมเบียที่นับถือเอสโคบาร์ราวกับพ่อคนที่สองยืนเฝ้าเสา แต่ก็ไม่มีบันทึกว่าเกมวันนั้นฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ 

ทว่า มาราโดนา ไม่ได้มาที่นี่เพื่อเล่นฟุตบอลเท่านั้น เมื่อหลังเกม เอสโคบาร์ ได้ต้อนรับเขาด้วยปาร์ตี้แบบจัดเต็ม ที่มีหมดทั้งผู้หญิงเหล้ายาปลาปิ้ง จนทำให้ยอดแข้งอาร์เจนตินาสนุกไปตลอดทั้งคืน

“หลังจากเกมเราก็มีปาร์ตี้กับสาวสวยแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต และนั่นมันในเรือนจำนะ ผมแทบไม่อยากเชื่อกับสิ่งที่เห็น เช้าวันต่อมาเขาจ่ายเงินให้ผมและบอกลากัน” อดีตกัปตันทีมชาติอาร์เจนตินากล่าว

ทว่าเขาอาจจะเป็นแขกชื่อดังคนท้าย ๆ ของสถานที่แห่งนี้

จุดจบคลับเมเดยีน

ลา กาเตดรัล มีโอกาสต้อนรับนักฟุตบอลอีกแค่ปีเดียวเท่านั้น เมื่อในเดือนมิถุนายน 1992 เอสโคบาร์ ได้ทรมานและฆ่าเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลาง 4 คนในเรือนจำส่วนตัวของเขา จนทำให้ข้อตกลงระหว่างเขากับรัฐบาลโคลอมเบียต้องสิ้นสุดลง 

รัฐบาลประกาศว่า เอสโคบาร์ จะต้องถูกย้ายมาอยู่ในเรือนจำกลาง หลังจากอยู่ที่นั่นเพียง 13 เดือน แน่นอนว่าเขาไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น จึงได้หลบหนีออกจาก ลา กาเตดรัล และไปซ่อนตัวในที่กบดาน 

16 เดือนหลังการหลบหนี สายข่าวก็แจ้งว่าพบที่ซ่อนตัวของเอสโคบาร์ และได้นำกำลังไปล้อมจับกุม ก่อนที่เขาจะถูกวิสามัญขณะหลบหนีอยู่บนหลังคาของเพื่อนบ้าน ปิดตำนานเจ้าพ่อค้ายาผู้รักในเกมลูกหนังด้วยวัย 44 ปีในวันที่ 2 ธันวาคม 1993 


Photo : www.mirror.co.uk

ขณะที่ ลา กาเตดรัล ได้ถูกทิ้งร้างอยู่นานหลายสิบปี จนกระทั่งในปี 2007 กลุ่มนักบวชของศาสนาคริสต์นิกายเบเนดิกต์ได้เข้ามาบูรณะที่นี่ และเปลี่ยนให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมและทำสมาธิ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่สงบและตั้งอยู่ไกลจากเขตเมือง 

พวกเขายังได้สร้างโบสถ์ ห้องสมุด โรงอาหาร และที่พักขึ้นมาใหม่ แถมในปี 2014 ที่แห่งนี้ยังแปรสภาพไปเป็นที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินจ่ายให้บ้านพักคนชราหรือสถานรับดูแลผู้สูงอายุ



Photo : airshipdaily.com

ผ่านมากว่า 30 ปีนับตั้งแต่ ลา กาเตดรัล ถูกสร้างขึ้น ตอนนี้มันได้กลายเป็นสถานที่ที่ให้ประโยชน์แก่คนในชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนที่ชื่นชอบในซีรีส์ Narcos 

แม้ว่ามันจะไม่สามารถลบล้างความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ได้ แต่การถูกใช้เป็นที่พักพิงของผู้ยากไร้ ก็น่าจะทำให้ ลา กาเตดรัล มีความหมายกว่าที่เป็นมา