6 นัดผ่านไปอาจจะบอกอะไรได้ไม่มาก แต่อย่างน้อย ๆ ชนาธิป สรงกระสินธ์ กัปตันทีมชาติไทยยังคงต้องพยายามอีกพอสมควรกับการกลายเป็นหัวใจสำคัญของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล สโมสรใหม่ของเขา เหมือนอย่างที่เขาเคยทำได้กับสมัยที่ยังเป็น “เอซ” ของ คอนซาโดเล ซัปโปโร
อะไรคือความต่างระหว่าง 2 ทีมที่เขาต้องเผชิญ ?
ติดตามได้ที่ Main Stand
ตำแหน่งเปลี่ยน
จุดแรกไม่ต้องอธิบายกันให้มากมายนัก เพราะนักเตะทุกคนต่อให้เก่งแค่ไหนการจะย้ายสโมสรใหม่และปรับตัวได้ระดับเข้าเกียร์ 5 ก็ยังคงเป็นเรื่องยากอยู่ดี ขั้นตอนนี้มันคือการปรับตัว เรียนรู้บทบาทหน้าที่ใหม่ที่ได้รับมอบหมายที่แตกต่างออกไปจากเดิมที่เคยเป็น
ย้อนกลับไปสมัยที่ ชนาธิป ยังเล่นให้กับ คอนซาโดเล ซัปโปโร ในปี 2018 ซึ่งนั่นเป็นปีที่เขาทำผลงานได้โดดเด่นที่สุดจนก้าวขึ้นมาติดทีมออลสตาร์ของ เจ 1 ได้ด้วยการยิงไป 8 ประตูกับอีก 2 แอสซิสต์ ช่วยให้ทีมจบอันดับท็อป 5 ของตารางคะแนน
ในปีนั้นบทบาทที่ชนาธิปได้รับมอบหมายจาก มิไฮโล เปรโตวิซ กุนซือของทีมบ่อยที่สุดคือการเป็นมิดฟิลด์ตัวรุกที่ยืนอยู่หลังกองหน้า ภายใต้ระบบการเล่นที่ใช้บ่อยที่สุดอย่าง 3-4-2-1 หน้าที่ของเขาถูกกุนซือย่าง “มิช่า” บอกว่าเหมือนกับที่ อันเดรียส อิเนียสต้า รับบทบาทสมัยที่เล่นอยู่กับ บาร์เซโลน่า
“ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าในเจลีกมี อิเนียสต้า อยู่ 2 คน แน่นอนว่าคนหนึ่งคือ อิเนียสต้า ตัวจริงเสียงจริง ส่วนอีกคนคือ ชนาธิป ผมคิดว่าเขาให้ความรู้สึกที่คล้ายกัน” นี่คือสิ่งที่ เปโตรวิช ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2018
การให้สัมภาษณ์ของเขาเป็นการอุปมาได้ว่า ชนาธิป จะเป็นคนที่ได้รับอิสระเป็นอย่างมากในการสร้างเกมรุกให้กับทีม เขาอาจจะมีตำแหน่ง “กลางรุก” แปะไว้ที่ตัว แต่ดูจากการเคลื่อนที่แล้ว ชนาธิป มักจะโผล่ไปอยู่ทางซ้ายทีขวาที และมักจะได้เป็นคนเล่นจังหวะสำคัญเพื่อลำเลียงบอลเข้าไปในกรอบเขตโทษอยู่เสมอ หากเกมไหนที่ทีมใช้บอลกับพื้นเจาะกองหลังคู่แข่งเข้าไป
ส่วนที่ คาวาซากิ ฟรอนตาเล สโมสรใหม่ของเขา กุนซือใหม่อย่าง โทรุ โอนิกิ เคยได้ให้สัมภาษณ์ก่อนฤดูกาลจะเริ่มว่า ชนาธิป จะต้องลงเล่นภายใต้ระบบการเล่น 4-3-3 เป็นหลัก และอาจจะมีระบบการเล่น 4-2-3-1 ในบางเกม โดยบทบาทของ ชนาธิป จะถูกเปลี่ยนไปเล็กน้อยโดยการยืนตำแหน่งตัวกลาง (ในที่นี้หมายถึงตำแหน่งของนักเตะหมายเลข 8) และตัวริมเส้นทางฝั่งซ้ายเมื่อทีมเล่นระบบ 4-3-3 ซึ่งเป็นระบบการเล่นหลักของทีม
“ผมมั่นใจว่าเขาสามารถลงเล่นได้ทุกตำแหน่งในแนวรุก ถ้าผมใช้ระบบ 4-3-3 เขาสามารถเล่นได้ทั้งมิดฟิลด์ตัวกลางและมิดฟิลด์ตัวริมเส้น” โทรุ โอนิกิ กล่าวก่อนซีซั่น 2022 จะเริ่มขึ้น ซึ่งจากคำที่เขาบอกก็ตรงกับเกมประเดิมสนามของ ชนาธิป ที่ลงเล่นในเกมเจอกับ อุราวะ เรดส์ ในศึก “ฟูจิ ฟิล์ม ซูเปอร์ คัพ 2022” ที่ชนาธิปได้ยืนเล่นตำแหน่งตัวรุกริมเส้นฝั่งซ้าย ก่อนที่เกม เจลีก นัดแรกที่เฉือนชนะ เอฟซี โตเกียว 1-0 ล่าสุด ชนาธิป ก็เล่นในตำแหน่งหมายเลข 8 ของทีม
เราไม่สามารถตัดสินได้เลยว่า ชนาธิป สอบตกหรือไม่ เพราะ 2 เกมถือว่าเป็นระยะเวลาที่น้อยมาก แต่ที่แน่ ๆ คือเราได้เห็นความต่างของบทบาทที่ ชนาธิป ได้รับกันแล้ว ที่ คอนซาโดเล นั้นเขาเป็นทุกอย่างของทีมคือคนที่เพื่อนร่วมทีมมองเป็นเป้าที่จะฝากบอลให้ แต่ที่ ฟรอนตาเล นี่คือทีมที่เล่นด้วยระบบทีมเวิร์กของจริง ดังนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่จอมทัพทีมชาติไทยต้องปรับตัวกับตำแหน่งใหม่ของตัวเอง รวมถึงวิธีการเล่นที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิงกับทีมเก่าของเขา
“ผมเพิ่งย้ายมาร่วมทีมและยังไม่ชินกับตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายนี้ ดังนั้นผมคิดว่ามันเป็นการเล่นที่ยาก ผมมองข้ามเพื่อนร่วมทีมและมองไม่เห็นคนอื่น ๆ ผมคิดว่านั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มันออกมาไม่ดี” นี่คือสิ่งที่ ชนาธิป กล่าวด้วยตนเองหลังเกมแรกของเขากับสโมสรใหม่
ถึงตอนนี้หลังจากที่ผ่านมา 2 เกมเห็นได้ชัดว่า ฟรอนตาเล ใช้ประโยชน์จากทักษะการไปกับบอลอย่างคล่องแคล่วของ ชนาธิป เป็นแกนกลางในการเปลี่ยนจากรับเป็นรุกอย่างรวดเร็ว ที่นี่เขาจะได้เล่นบอลน้อยจังหวะขึ้น การออกบอลแต่ละครั้งต้องแม่นยำ และไปถึงพื้นที่อันตรายภายในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาที … เขากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพื่อปรับให้เข้ากับบทบาทหน้าที่ใหม่ให้ได้ … นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ การปรับตัวเป็นเรื่องธรรมชาติ และเรากำลังรอเห็น ชนาธิป ในวันที่เขาฟอร์มดีที่สุดในเร็ววันนี้
กำลัง ความฟิต และการฝึกซ้อม
ชนาธิป ขาดเกมไปเยอะมากใน เจลีก ฤดูกาล 2021 นับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2021 ชนาธิป ขาดการลงเล่นให้กับทีมเก่าอย่าง คอนซาโดเล ซัปโปโร มากถึง 14 เกม จากการแข่งขันทั้งหมด 28 เกม … เรียกได้ว่าเขาขาดเกมไปถึงครึ่งหนึ่งของโปรแกรมทั้งหมด
แม้การกลับมารับใช้ทีมชาติไทยในศึกเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2021 จนสามารถพาทีมทวงแชมป์กลับมาได้ แต่หากมองจากความจริงก็คือระดับความเข้มข้นของเกมระดับอาเซียนกับความเข้มข้นของเกมระดับเจลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นสมาชิกของทีมที่ดีที่สุดในประเทศ ณ เวลานี้ ต่อให้เป็นนักเตะที่ได้รับการยอมรับในญี่ปุ่นอย่าง ชนาธิป ก็ต้องใช้ความพยายามไม่น้อย
เขามีนักเตะในตำแหน่งที่เล่นเหมือนกันที่เป็นคู่แข่งอยู่ราว ๆ 4-5 คนจากคำสัมภาษณ์ของกุนซือ ฟรอนตาเล นั่นคือ เรียวตะ โอชิมะ, ยาสุโตะ วากิซากะ, เคนโตะ ทาชิบานะ, ทัตสึกิ เซโก, คาซูกิ คาซูโกะ และ ไดยะ โทโนะ การจะแข่งกับนักเตะเหล่านี้ ชนาธิป เองก็ต้องอยู่ในสภาพที่ฟิตที่สุดเช่นกัน
เพราะที่ ฟรอนตาเล มีสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ฟิสิคเทค” (フィジテク) คือการผสมผสานความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะ เข้ากับการฝึกซ้อมที่เข้มข้น จนสร้างสมรรถภาพความฟิตของผู้เล่นให้เกินมาตรฐาน สามารถเล่นเกมเพรสซิ่งใส่คู่แข่งได้ยาวนานตลอด 90 นาที ซึ่งเป็นแนวทางที่ทีมนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2001 จนถึงทุกวันนี้ เพราะกุนซือ โทรุ โอนิกิ ก็เป็นโค้ชที่เคยทำงานกับทีม ๆ นี้มาตั้งแต่ทีมชุดเยาวชนในช่วงปี 2007
นอกจากนี้ เคนโงะ นากามูระ อดีตเพลย์เมคเกอร์ระดับตำนานของทีมก็ยอมรับว่าการฝึกของทีม คาวาซากิ ฟรอนตาเล คือการฝึกที่ต้องใช้พลังร่างกายสูงสุดเพื่อพัฒนานักเตะในทีมไปอีกขั้น
“ผมอยู่กับแนวทางนั้น (ฟิสิคเทค) ในปีแรกของผมในทีมชุดใหญ่ การฝึกซ้อมเป็นงานที่หนักสำหรับผมมากแม้แต่การฝึกซ้อมส่วนตัว ผมถูกฝึกอย่างหนักเพื่อพัฒนาสภาพร่างกายให้มากที่สุด” เคนโงะ นากามูระ กองกลางดีกรีทีมชาติญี่ปุ่นที่อยู่กับ คาวาซากิ ฟรอนตาเล มาตั้งแต่ปี 2003 จนถึงวันแขวนสตั๊ดในปี 2020 กล่าว
เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นการเล่นแบบ คาวาซากิ ฟรอนตาเล สไตล์ของนักเตะที่จะเข้ามาลงตัวในระบบการเล่นนี้จำเป็นจะต้องเข้าใจปรัญชาของ ฟิสิคเทค ให้ได้ นั่นคือการกำจัดข้อดีของคู่ต่อสู้ด้วยการเพรสซิ่งอย่างเข้มข้นบริเวณกลางสนามก่อนโจมตีอย่างรวดเร็ว นี่คือคำอธิบายที่สื่อญี่ปุ่นมอบให้กับแนวทางการเล่นแบบ ฟิสิคเทค และแน่นอนว่า ชนาธิป กำลังเป็นส่วนหนึ่งกับปรัชญานี้
2 เกมที่ผ่านไป ชนาธิป ล้วนโดนเปลี่ยนออกในช่วงครึ่งหลังทั้งสิ้น มันอาจจะเป็นเรื่องของแทคติกและการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าก็ได้ แต่อย่างน้อย ๆ เราก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องสภาพความฟิตที่จอมทัพชาวไทยในฐานะผู้มาใหม่จะต้องยกระดับตัวเองไปอีกขั้น เพื่อให้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวะการเล่นเฉพาะของทีม คาวาซากิ ฟรอนตาเล ทีมนี้ได้
เอซ กับ น้องใหม่
สมัยที่ คอนซาโดเล ซัปโปโร ชนาธิป เองก็เคยผ่านสถานการณ์ที่ต้องยกระดับการเล่นและระดับความฟิตของตัวเองมาก่อน หลายครั้งที่เขาพูดถึงเรื่องการซ้อมที่เข้มข้นของฟุตบอลญี่ปุ่นในช่วงแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวินัย ความจริงจัง หรือความเป็นมืออาชีพ … จนกระทั่งเขาใช้เวลาอยู่เกือบปีจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะที่เพื่อนร่วมทีมมองหาได้สำเร็จ
การปรับตัวสมัย คอนซาโดเล นั้นมีเงื่อนไขน้อยกว่า ณ ตอนนี้สักหน่อย ไม่ว่าจะด้วยคุณภาพทีมและนักเตะรอบตัวไม่ได้สูงเท่ากับนักเตะของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเวลาในการปรับตัวและความกดดันที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
เลอันโดร ดามิเยา กองหน้าดีกรีทีมชาติบราซิลชุดใหญ่ของ ฟรอนตาเล ยกย่องชนาธิปอย่างมากในวันที่ ชนาธิป ย้ายมาเป็นเพื่อนร่วมทีม และนั่นคือข้อยืนยันว่าทุกคนรู้จักเขาแล้ว และคาดหวังฟอร์มดี ๆ จากเขาเหมือนกับที่เขาเคยทำได้มาตลอด 3 ปี
“เขาคือผู้เล่นที่สร้างความแตกต่างได้และผู้เล่นที่เป็นหนึ่งในห้าผู้เล่นชั้นนำของเจลีกด้วย” ดาวยิงวัย 32 ปีกล่าว
ชนาธิป นักเตะจากประเทศไทย เมื่อปี 2017 กับ “ชนาคุง” นักเตะแถวหน้าของ เจลีก ณ เวลานี้ ถูกมองต่างกันออกไปอย่างไม่ต้องสงสัย เวอร์ชั่นแรกทั้งสื่อและแฟนบอลอาจจะไม่ได้คาดหวังกับเขามากจนถึงขั้นว่าเขาจะมาเป็นตัวแบกทีมได้ แต่ ชนาธิป เวอร์ชั่นปัจจุบันที่ครองสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุดของสโมสร คาวาซากิ ฟรอนตาเล นั้นไม่มีทางที่ใครจะไม่คาดหวังผลงานของเขา และเมื่อมีความคาดหวัง ความกดดันก็ย่อมก่อตัวขึ้นเป็นธรรมชาติ … นั่นคือสถานการณ์ที่แตกต่างระหว่างการย้ายทีมในญี่ปุ่น 2 ครั้งของเขา
“เจ ดูกดดันตัวเองมากเกินไป อาจจะด้วยการเป็นเจ้าของสถิติค่าตัวตอนย้ายทีมในญี่ปุ่นที่สูงที่สุด ทำให้การเล่นไม่ไหลลื่นเหมือนเก่า เพลย์เซฟมากไป ส่วนจุดเด่นอย่างการจ่ายบอลทะลุช่องและการเทิร์นบอลก็มีแค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้น”
“แต่ผมยังเชื่อว่า ชนาธิป จะปรับตัวได้แน่นอน เพราะนี่เพิ่งเป็นเกมทางการของเขากับ ฟรอนตาเล ที่ยังวัดอะไรไม่ได้มากมายนัก” วิทยา เลาหกุล หรือ “โค้ชเฮง” ให้สัมภาษณ์ถึงการเล่นของ ชนาธิป ในเกมนัดที่ ฟรอนตาเล แพ้ให้กับ อูราวะ เรดส์ 0-2
ไม่ว่าจะเพื่อนนักเตะ มุมมองฝั่งโค้ชไทย หรือของเจ้าตัวเอง มันตรงกันว่าทั้งหมดคือเรื่องของการปรับตัวกับสิ่งใหม่รอบข้าง เพื่อนร่วมทีมที่คุณภาพสูงขึ้น, ระบบการเล่นที่ยากขึ้น, การซ้อมที่เข้มข้นขึ้น และการใช้พละกำลังความฟิตที่มากขึ้น … นี่คือสิ่งที่ต้องยกระดับอีกขึ้นของ ชนาธิป และเราทุกคนหวังว่าเขาจะผ่านมันไปได้อย่างสวยงาม เหมือนกับที่เขาทำสำเร็จมาแล้วกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร