sportpooltoday

จับตรงไหนก็พัง : เบื้องหลังสุดดราม่าก่อนคว้าแชมป์โลก 1998 ของฝรั่งเศส


จับตรงไหนก็พัง : เบื้องหลังสุดดราม่าก่อนคว้าแชมป์โลก 1998 ของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศส คว้าแชมป์โลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1998 ท่ามการกระแสก่อนแข่งสุดร้อนแรง เมื่อสื่อในบ้านตัวเองบอกว่าเป็นทีมชุดที่ขี้ขลาด และเลือกนักเตะโดยโค้ชที่มือไม่ถึง

นี่คือเรื่องราวการสร้างทีมแชมป์โลกจากทีมที่จับตรงไหนก็พัง มีเรื่องให้ต้องซ้อมทุกจุดในเวลา 5 ปี ของทัพ เลส์ เบลอส์ 

ทุกคำด่า ทุกดราม่า ถูกกางปีกรับโดยโค้ชทีชื่อว่า เอเม ฌาคเกต์ ชายผู้ถือคัมภีร์แชมป์โลกในวันที่ใครหลายคนส่ายหัวให้กับเขา

ติดตามได้ที่ MainStand

1994 ล้มเหลวเพราะอะไร ? 

ทุกวันนี้เชื่อว่าแฟนบอลทุกคนน่าจะเข้าใจตรงกันอย่างไร้ข้อโต้แย้งว่า ฝรั่งเศสคือหนึ่งในชาติที่เอกอุที่สุดในด้านฟุตบอล นักเตะคุณภาพมากมายเกิดขึ้นคนแล้วคนเล่า และในรอบ 20 ปี พวกเขาสามารถคว้าแชมป์โลกได้ถึง 2 ครั้งและแชมป์ยุโรปอีก 1 หน 

ทว่าในช่วงต้นยุค 1990s ทัพตราไก่ คือทีมที่พยายามตะเกียกตะกายอย่างหนักเพื่อชัยชนะแต่ละเกม และเมื่อถึงแมตช์ที่ชี้เป็นชี้ตาย พวกเขากลับบ้อท่าไม่สามารถคว้าผลการแข่งขันที่ต้องการได้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ล้มเหลวในตอนจบ” ได้อย่างเต็มปาก 

 

สิ่งยืนยันจากคำกล่าวข้างต้นคือ ฝรั่งเศสคือทีมที่ไม่สามารถผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 1990 ในอีก 2 ปีต่อมาพวกเขาก็ตกรอบแบ่งกลุ่มในศึกยูโร 1992 ความล้มเหลว 2 ครั้ง 2 คราทำให้พวกเขาตั้งใจกับฟุตบอลโลก 1994 เป็นอย่างมาก และตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไปเล่นในรอบสุดท้ายของเวิลด์คัพฉบับอเมริกาให้ได้ 

เริ่มต้นจากการจ้าง เชราร์ อุลลิเยร์ ที่พาทีม ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง คว้าแชมป์ลีกสูงสุดในปี 1986 เข้ามาเป็นเฮดโค้ช เพื่อดูแลทีมที่สื่อในประเทศเรียกว่า “กลุ่มนักเตะยุคทอง” นำโดย 2 ดาวยิงที่ยิงกันระเบิดระเบ้อแห่งยุคนั้นอย่าง เอริค คันโตน่า และ ฌอง ปิแอร์ ปาแป็ง รวมถึงปีกที่ได้ฉายาว่า “นักฆ่า” อย่าง ดาวิด ชิโนลา นอกจากนี้ทีมยังประกอบด้วยแข้งดาวรุ่งที่กำลังพัฒนาเป็นกำลังหลักอย่าง ดิดิเยร์ เดส์ชองส์, เอ็มมานูเอล เปอตีต์ และ มาร์กแซล เดอไซญี่ โดยมี โลรองต์ บลองก์ หนึ่งในนักเตะที่ถูกเรียกว่ากองหลังที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสเป็นผู้นำในเกมรับ 

จากรายชื่อที่กล่าวมา งานของพวกเขาคงไม่น่าจะเป็นเรื่องอยากอะไรกับการแค่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอล เพราะทีมที่่ร่วมกลุ่มในรอบคัดเลือกประกอบด้วย สวีเดน, บัลแกเรีย, ออสเตรีย, ฟินแลนด์ และ อิสราเอล ซึ่งหากจะมองว่ามีทีมไหนแข็งที่สุดก็น่ามีแค่ 2 ทีมคือ สวีเดน ที่นำโดย มาร์ติน ดาห์ลิน และ โทมัส โบรลิน ขณะที่อีกทีมหนึ่งคือ บัลแกเรีย ที่มี ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ จาก บาร์เซโลน่า และ คราซิเมียร์ บาลาคอฟ เป็นตัวชูโรง … แต่ถึงแม้อย่างนั้นฝรั่งเศสก็ยังมีหน้าเสื่อที่แข็งกว่าอยู่ดี 

อย่างไรก็ตามความล้มเหลวของทีมชุดนั้นคือแม้จะมีสตาร์แถวหน้าของโลกลูกหนัง แต่ฝรั่งเศสกลับไม่สามารถรวมทีมให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ เรื่องเริ่มจาก ดาวิด ชิโนลา ที่กำลังท็อปฟอร์ม ณ เวลานั้นออกมาวิจารณ์เพื่อนร่วมทีมอย่าง คันโตน่า และ ปาแป็ง ว่าไม่เหมาะสมที่จะถูกเลือกเป็นตัวจริงก่อนหน้าเขา

 

จุดนี้ต้องขอเท้าความว่ามันเป็นเรื่องบาดหมางกันมาตั้งแต่สมัยเล่นให้กับสโมสร เพราะ คันโตน่า และ ปาแป็ง นั้นเคยเล่นให้ โอลิมปิก มาร์กเซย ซึ่งเป็นคู่ปรับโดยตรงกับ เปแอสเช ที่ ชิโนลา สังกัดอยู่ ซึ่งการที่ ชิโนลา วิพากษ์ทั้ง 2 คนผ่านสื่อทำให้แฟนบอลของเปแอสเชคล้อยตาม ซึ่งทุก ๆ เกมที่ฝรั่งเศสลงเล่นใน ปาร์ค เดอ แพรงส์ ที่เป็นสังเวียนเหย้าของเปแอสเช แฟนบอลกลุ่มหนึ่งจะตะโกนโห่ใส่คันโตน่าและปาแป็งตลอดเวลา ซึ่งทำให้ทีมสปิริตนั้นย่ำแย่ และนักเตะในแนวรุกที่เป็นตัวความหวังของทีมต้องเล่นกันแบบต่างคนต่างไปพึ่งตัวเองมากกว่าจะเชื่อใจกัน 

“ตอนเราเล่นที่ ปาร์ค เดอ แพรงส์ นักเตะของมาร์กเซยจะโดนโห่เราตลอดทั้งเกม ยิ่งในวันที่ ชิโนลา เริ่มวิจารณ์ ปาแป็ง และ คันโตน่า ว่าไม่ได้เก่งและไม่ได้เหมาะกับตำแหน่งตัวจริงในทีมชาติ ทุกอย่างก็แทบจะพังทีมไปเลย สำหรับผมชิโนลาคือไอ้สารเลวที่ก่อเรื่องวุ่น ๆ ทั้งหมดขึ้น เขาทำให้ ปาแป็ง และ คันโตน่า โดนโห่และกดดันจากแฟนบอลของตัวเองในทุกสัมผัสที่อยู่ในสนาม” อุลลิเยร์ ผู้ล่วงลับกล่าวในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่ชื่อว่า ‘Secrets de Coaches’ 

แม้จะเป็นการเปิดเผยหลังเหตุการณ์ผ่านไปหลายปี แต่หลายสิ่งที่อุลลิเยร์บอกก็สะท้อนความน่าจะเป็นในแคมป์ทีมชาติฝรั่งเศส ณ เวลานั้นได้ นักเตะที่เป็นพี่ใหญ่แตกคอกันเอง มีการแบ่งแยกเป็น 2 ฝั่งในห้องแต่งตัว แม้กระทั่ง ชิโนลา กับ อุลลิเยร์ ก็ยังมีความบาดหมางที่ซ่อนอยู่ภายในใจของทั้งคู่ ไม่ใช่แค่นั้นตัวของ อุลลิเยร์ ไม่ได้มีปัญหาแค่กับนักเตะแต่เขายังเล่าภายหลังว่าเขาถูกเลื่อยขาเก้าอี้จากมือขวาของเขาที่ชื่อ เอเม ฌาคเกต์ อีกด้วย 

“ผมพยายามจะจัดการเฉดหัวชิโนล่าออกจากทีมตั้งแต่ปัญหาเริ่มขึ้น แต่เอเมปกป้องเขาและไม่ให้ผมลงมือทำสิ่งนั้น … นั่นคือข้อผิดพลาดที่ผมยอมรับ ผมควรจะไล่เขาออกจากตำแหน่งเสียตั้งแต่แรกก่อนที่มันจะลุกลามใหญ่โต” อุลลิเยร์ กล่าว

 

จากข้อมูลดังกล่าวทีมสปิริตของฝรั่งเศสพังไม่เป็นท่า พวกเขาพึ่งความสามารถส่วนตัวสำหรับชัยชนะในแต่ละเกม ทว่าฟุตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม และทีมอื่น ๆ ในสายก็รู้ว่าเมื่อต้องเจอฝรั่งเศสที่มีทั้ง ชิโนลา, คันโตน่า และ ปาแป็ง พวกเขาจะต้องเล่นอย่างไร วิธีง่าย ๆ ก็คือการตั้งรับและสวนกลับ เพราะเกมรุกที่ไร้รูปแบบจะนำมาซึ่งช่องโหว่ในเกมรับแบบปฏิเสธไม่ได้ พวกเขาออกสตาร์ทย่ำแย่ แพ้ บัลแกเรีย ที่เป็นคู่ต่อสู้ในการชิงตั๋วกันโดยตรงในเกมที่ 2 จากนั้นตามด้วยการเสมอทีมแข็งในสายอย่าง สวีเดน 

แม้จุดนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่หากฝรั่งเศสสามารถเก็บทีมเล็ก ๆ ทีมอื่นในสายได้หมดพวกเขาก็จะมีโอกาสเข้ารอบสูง เพราะบัลแกเรียและสวีเดนก็ทำแต้มตกหล่นไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตามหายนะเริ่มขึ้นเมื่อสิ่งที่คาดไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง 

ฝรั่งเศสลงเล่นเกมนัดรองสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มด้วยการเปิดบ้านเจอ อิสราเอล ทีมบ๊วยของสาย ทว่าในเกมนั้นนักเตะฝรั่งเศสประมาทถึงขีดสุด พวกเขาออกนำไปก่อน 2-1 ในครึ่งแรก และผ่อนคันเร่งเพื่อปิดสกอร์เน้นผลตั้งแต่เริ่มครึ่งหลัง 

ปัญหาเกิดจากตรงนี้ พวกเขาไม่ใช่ทีมที่เล่นเกมรับดีนักเป็นทุนเดิม และการตั้งรับคือปัญหาใหญ่ อิสราเอลรวมใจกลับมาสู้ และทำในสิ่งที่เหลือเชื่อด้วยการยิง 2 ลูกใน 7 นาทีสุดท้ายของเกม พลิกชนะฝรั่งเศส 3-2 ที่ปาร์ค เดอ แพรงส์ ซึ่งเกมนี้นี่แหละที่อุลลิเยร์บอกว่า “ชิโนลา คือไอ้สาวเลว”

ถ้าฝรั่งเศสชนะพวกเขาจะเข้ารอบทันที แต่เมื่อแพ้งานหนักก็มาเยือนในเกมสุดท้ายกับบัลแกเรียที่บ้านของตัวเอง ซึ่งโจทย์ก็ไม่ได้ยากอะไร พวกเขาต้องการแค่ผลเสมอเพื่อเข้ารอบ แต่เมื่อลงสนามจริงบัลแกเรียที่รู้จุดอ่อนของฝรั่งเศสก็วางเกมรับให้แน่นที่สุด และสุดท้ายฝรั่งเศสก็ตายน้ำตื้นจริง ๆ 

อุลลิเยร์ เก็บตัวปัญหาอย่าง ชิโนลา ไว้ข้างสนาม เลือก คันโตน่า และ ปาแป็ง ลงก่อน นั่นทำให้บรรยากาศกองเชียร์ในสนามมาคุ แม้ คันโตน่า จะยิงนำไปก่อนในนาที่ 31 แต่เมื่อฝรั่งเศสเริ่มตั้งเกมรับทุกอย่างก็พัง เอมิล คอสตาดินอฟ ยิงตีเสมอให้ บัลแกเรีย 1-1 ในนาทีที่ 37 จากนั้นบัลแกเรียก็รู้ว่าพวกเขามีโอกาสเข้ารอบ หากใช้แทคติกเดิมที่ฝรั่งเศสแพ้ทาง 

นักเตะฝรั่งเศสเสียขวัญ เพราะหากเสียอีกประตูเดียวพวกเขาจะตกรอบ ขณะที่บัลแกเรียฮึกเหิมสุด ๆ เพราะไม่มีอะไรจะเสีย มันคือสถานการณ์ที่นักเตะฝรั่งเศสที่เหนือกว่าตอนก่อนเริ่มเกมตัวเล็กลง ขณะที่นักเตะมวยรองอย่างบัลแกเรียกลับตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป

 

“พวกฝรั่งเศสเริ่มออกอาการกลัวและประหม่าอย่างเห็นได้ชัด พวกเขาเหมือนกับคนที่ท่องอยู่ในใจว่า เดี๋ยวเราโดนยิงแน่ เดี๋ยวเราโดนแน่ถ้าปล่อยเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ในหัวพวกเขาคิดแต่เรื่องการจะเล่นเพื่อผลเสมอแล้ว ณ ตอนนั้น พวกเขากลัว ไม่กล้ามองไปที่ชัยชนะทั้ง ๆ ที่คุณภาพพวกเขาเหนือกว่า … ขณะที่พวกเรานั้นแตกต่าง เรารู้ดีว่าฝรั่งเศสชุดนี้ไม่สมควรที่จะผ่านเข้ารอบ เรารอเวลาและเราจะตีก้นพวกเขาให้สุดแรง ให้พวกเขาเจ็บปวดที่สุดในตอนสุดท้าย” สตอยช์คอฟ จอมทัพของ บัลแกเรีย กล่าว

มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ฝรั่งเศสออกอาการที่เรียกว่า “ลน” พวกเขาได้เตะมุมท้ายเกมและไม่กล้าที่จะโยนยาว ชิโนลา ที่โดนเปลี่ยนลงมาแทน ปาแป็ง พยายามจะเล่นสั้นกับ คันโตน่า แต่เขาพลาด … บัลแกเรียตัดบอลจังหวะนั้นและวางยาวจังหวะเดียวให้ คอสตาดินอฟ หลุดเข้าไปยิง ก่อนที่ดาวยิงคนเดิมจะใช้โอกาสอันแสนคุ้มค่าซัดแสกหน้าเป็นประตูชัยในนาทีที่ 90 ส่งให้ชาวฝรั่งเศสช็อกกันทั้งประเทศ 

“นอกจากชิโนลาจะเป็นคนก่อระเบิดในแคมป์แล้ว เขายังเป็นคนเสียบอลลูกนั้น หากไม่มีเขาสักคนเราคงผ่านเข้ารอบไปแล้ว” อุลลิเยร์ กล่าวย้อนความ และหลังจากนั้นเขาก็โดนไล่ออกจากตำแหน่ง โดยคนที่มาแทนคือไม้เบื่อไม้เมาของเขาอย่าง เอเม ฌาคเกต์ นั่นเอง

ซ่อมใหม่ อะไรที่เคยพัง 

หลังจากฝรั่งเศสพลาดการไปเล่นฟุตบอลโลกปี 1994 พวกเขาก็ต้องรีบลืมความผิดหวังและกลับมาเตรียมตัวสำหรับฟุตบอลโลกปี 1998 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ 

สื่อฝรั่งเศสทุกเจ้าเห็นจุดอ่อนของทีมชุด 1994 พวกเขาเจาะลึกถึงเหตุผลมากมาย ยิ่งเวลาผ่านไปข้อมูลก็โผล่มาเยอะขึ้น บ้างก็บอกว่า อุลลิเยร์ เอานักเตะไม่อยู่ นอกจากนี้ยังบอกว่า ปาแป็ง เป็นนักเตะที่ไม่มีวินัยเรื่องการรักษาความฟิต ขณะที่ คันโตน่า ก็ขี้โมโหเกินไปจนสร้างความไม่พอใจให้กับเพื่อนในทีม 

สิ่งเหล่านี้ ฌาคเกต์ ที่เป็นกุนซือใหม่รู้และเห็นด้วยตัวเองมาตลอด เขาจึงได้รับการแต่งตั้งเพื่อทำงานนี้ ทว่าสื่อในประเทศคิดว่าเขา “มือไม่ถึง” … แต่คิดจะทำการใหญ่ใจต้องนิ่ง ฌาคเกต์ เริ่มทำงานของเขาแล้ว โดยงานชิ้นแรกคือการถ่ายเลือดใหม่ และสร้างทีมสปิริตซึ่งเป็นสิ่งที่ฝรั่งเศสไม่เคยมี จนกระทั่งโดนสื่อในประเทศกระแนะกระแหนว่าเป็นพวกทีมแฟชั่นโชว์ 

ฌาคเกต์เปลี่ยนนักเตะใหม่และลองผิดลองถูกในช่วงคัดเลือกยูโร 1996 เขาเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การแต่งตั้งกัปตันทีมใหม่โดยเลือกมดงานผู้มีวินัยอย่าง เดส์ชองส์ เป็นกัปตันทีม เรียกนักเตะหลายคนที่ไม่เคยติดทีมชาติอย่าง ฟรองก์ เลอเบิฟ, ลิลิยอง ตูราม, ซาบรี ลามูชี่, ฟาเบียน บาร์กเตซ, ยูริ จอร์เกฟฟ์ และเหนือสิ่งอื่นใดคือสุดยอดจอมทัพคนใหม่แห่งยุคอย่าง ซีเนดีน ซีดาน ที่ตอนนั้นเล่นให้กับบอร์กโดซ์ 

นักเตะกลุ่มที่กล่าวมาคือนักเตะที่ ฌาคเกต์ เลือกแล้วว่าพวกเขามีทัศนคติที่ดี ไม่พังห้องแต่งตัว และเหนือสิ่งอื่นใดคือความยืดหยุ่นที่จะสามารถเล่นตามแทคติกของเขา เขาเริ่มให้ความสำคัญกับเกมรับมากขึ้น ขันหลังบ้านให้แน่น และใช้บอลทะลุทะลวงเป็นอาวุธหลักในการเข้าทำ แนวคิดดังกล่าวทำให้ทีมมีสมดุลมากขึ้น ฝรั่งเศสจบรอบแบ่งกลุ่มด้วยการไม่แพ้ใครเลย ขณะที่รอบ 8 ทีมสุดท้ายและ 4 ทีมสุดท้าย พวกเขาไม่เสียประตูให้กับทั้ง เนเธอร์แลนด์ และ เช็ก เพียงแต่โชคร้ายที่ไปแพ้จุดโทษให้เช็กในรอบตัดเชือก ซึ่งนั่นก็สร้างความไม่พอใจให้กับสื่ออีกครั้ง เพราะเชื่อว่าทีมควรจะเล่นเกมรุกมากกว่านี้ อย่างน้อยก็ควรผ่านเช็กไปให้ถึงรอบชิง 

ฌาคเกต์ไม่เคยออกมาเถียงกับสื่อมากนัก แต่คนที่ออกมาโต้แย้งแทนเขาคือกลุ่มนักเตะของเขาที่โดนด่าพอ ๆ กัน นักเตะทุกคนชื่นชอบความเป็นผู้นำของฌาคเกต์และเชื่อมั่นว่าโค้ชคนนี้คือคนที่ใช่ ตลอดเวลานับตั้งแต่รับงานตั้งแต่ปี 1994 จนฟุตบอลโลก 1998 ฌาคเกต์ลองนักเตะใหม่ ๆ ไปกว่า 40 ราย และ 5 ปีแห่งการหาส่วนผสมที่ดีที่สุดสำหรับฟุตบอลโลกที่บ้านของตัวเอง เขาก็ได้ 22 นักเตะที่เขาคิดว่าดีที่สุด แม้สื่อในประเทศจะสงสัยเรื่องที่ทีมให้ความสำคัญกับกองหลังและมีมิดฟิลด์ตัวรับมากเกินไปก็ตาม

การทดลองหานักเตะที่ใช่ทำให้ฌาคเกต์ได้แข้งหน้าใหม่มาอีกเพียบหลังจากยูโร 1996 และคนที่หลุดมาจนถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็คือ ปาทริก วิเอร่า, เธียร์รี่ อองรี, ดาวิด เทรเซเกต์, สเตฟาน กีวาร์ช และ โรแบร์ ปิแรส … ฌาคเกต์ปกป้องนักเตะทุกคนที่โดนวิจารณ์ในช่วงก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่ม มีไม่บ่อยนักที่เขาออกสื่อ แต่ที่เขายอมทำเช่นนั้นก็เพื่อต้องการลดความกดดันและให้เด็ก ๆ ของเขาสามารถโฟกัสกับเกมฟุตบอลโลกที่รออยู่ได้โดยไม่ไขว้เขว โดยเฉพาะในรายของกองหน้าอย่าง กีวาร์ช นั้น เขาซึ้งใจมากกับเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นคนที่โดนหนักที่สุด เนื่องจากเป็นกองหน้าที่สื่อมองว่าช้าและไม่เฉียบขาดพอสำหรับตำแหน่งของหมายเลข 9 

“ผลงานของทีมไม่ค่อยดีเลยในช่วงก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่ม ผมโดนวิจารณ์เยอะมาก แม้ผมจะไม่ค่อยกล้าอ่านบทความของสื่อ แต่ก็รู้ดีว่าผู้คนคิดกับทีมของเรายังไง … มันเป็นส่วนหนึ่งของงาน ฌาคเกต์บอกว่าคำวิจารณ์ทำให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นเสมอ พวกเราจะต้องเจอและทำความคุ้นเคยกับความกดดันให้ได้ ฌาคเกต์จัดทีมที่เต็มไปด้วยผู้นำที่เป็นแบบอย่างกับพวกเราหน้าใหม่ การได้เห็นรุ่นพี่อย่าง บลองก์, เดส์ชองส์ และ เดอไซญี่ สงบสติอารมรณ์กับสิ่งรอบตัวและทำงานหนักในสนามฝึกซ้อม มันยอดเยี่ยมมาก มันทำให้คุณเหลือโฟกัสเพียงแค่สิ่งเดียว นั่นคือต้องพยายามเป็นให้ได้อย่างพวกเขาด้วยการตั้งใจซ้อมเพื่อยกระดับตัวเองขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับพวกนี้ให้ได้” กีวาร์ช กล่าว 

ขณะที่ บิเซนเต้ ลิซาราซู แบ็กซ้ายของทีมก็ยอมรับว่า ฌาคเกต์ ทำให้นักเตะโฟกัสกับฟุตบอลเพียงอย่างเดียว เหนือสิ่งอื่นใดคือการวางตัวเป็นผู้ใหญ่ เป็นหัวหน้าที่น่าเคารพ ทำให้ทุกคนในทีมพร้อมที่จะเชื่อฟังทุกคำสั่งของเขาจากใจจริง 

“ฌาคเกต์เริ่มออกมารับแทนพวกเราทั้งหมดในแง่ของคำวิจารณ์ เขาทำมันเพื่อที่จะแน่ใจว่าเราจะมีสมาธิกับสิ่งเดียวคือการแข่งขัน เขาเป็นคนมีเกียรติอย่างที่สุด เขาวางเป้าหมายชัดเจนและมีแผนการที่ไม่โลเล ไม่ว่าจะโดนกระทบกระทั่งจากอะไร เขาจะอยู่บนแผนของเขาเสมอ พวกเรารวมใจและตั้งใจกันซ้อมที่ศูนย์ฝึกแกลร์ฟ็องแต็งที่ห่างไกลจากทุกสิ่ง เราถูกฝึกให้ปล่อยวางไม่สนใจโลกภายนอก และยิ่งเวลาผ่านไปเราก็รู้ดีว่าการแข่งขันครั้งนี้พวกเรามีโอกาสจะไปถึงจุดสูงสุดจริง” แบ็กจอมบุกกล่าว

เล่นทัวร์นาเมนต์ให้เป็น

ทัวร์นาเมนต์ ฟรองซ์ 98 เริ่มขึ้น ฝรั่งเศสชุดนี้มาด้วยความสมบูรณ์ที่สุดในแง่ของภาพรวม พวกเขามีนักเตะที่เข้าใจวิธีการ มีกองหลังที่หนาแน่นในแบบที่จำเป็นสำหรับการแข่งทัวร์นาเมนต์ มีมดงานในแดนกลางที่ผลัดเปลี่ยนกันลงสนามได้ตลอดทัวร์นาเมนต์ทั้ง วิเอร่า, คริสติยอง การอมเบอ, เปอตีต์, แบร์กนาร์ ดิโอเมต และ อแล็ง โบโกซิยง นักเตะกลุ่มนี้ถูกเลือกมาเพื่อเป็นกำแพงชั้นแรกก่อนบอลจะถึงกองหลัง 

ขณะที่เกมรุก ซีดาน คือพระเอกของงาน เขาเป็นนักเตะที่สามารถบันดาลความมหัศจรรย์ได้ในจังหวะเดียว โดยตัวรุกอื่น ๆ แม้จะไม่ใช่ตัวทีเด็ดแต่ทุกคนก็มีหน้าที่ที่ชัดเจนในแบบของตัวเอง 

อองรี และ ปิแรส คอยเล่นเกมสวนกลับและยืนริมเส้น ใช้ความเร็วในเกมที่ต้องดวล 1-1, กีวาร์ช เป็นตัวเก็บบอล วิ่งทำทาง และเปิดโอกาสการทำประตูให้กับทีม ขณะที่ จอร์เกฟฟ์ และ คริสตอฟ ดูการ์รี่ จะเป็นตัวสอดแทรกเข้ามาเล่นในกรอบเขตโทษ 

จะเห็นได้ว่าฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับแนวรับมากกว่าที่พวกเขาเคยทำมาตลอด 20 ปีหลัง ขณะที่เกมรุกว่ากันตามตรง นอกจากซีดานแล้ว ไม่มีนักเตะคนไหนที่เรียกว่า “ท็อปคลาส” ได้เต็มปากเลย ณ ตอนนั้น 

แต่เรื่องแบบนี้มันอยู่ในแผนการที่เตรียมมา ฝรั่งเศสเก็บ 9 แต้มเต็มในรอบแบ่งกลุ่มด้วยการเสียเพียงแค่ประตูเดียวให้ เดนมาร์ก .. และยิงได้ถึง 9 ลูก สำหรับทีมที่ถูกวิจารณ์ว่าเกมรุกน้อยเกินไปนี่คือสกอร์ที่ทำให้เสียงด่าเริ่มกลับมาเป็นเสียงชม แม้แต่นักเตะอย่าง กีวาร์ช ที่ยิงประตูไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เป็นกองหน้าตัวเป้าก็กลายเป็นคนสำคัญในการขึ้นเกมรุกของทีมอย่างแท้จริง 

แม้ในรอบแบ่งกลุ่ม ซีดาน จะโดนใบแดงในเกมกับ ซาอุดีอาระเบีย แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ฝรั่งเศส ใช้เกมรับเป็นตัวนำทาง และใช้เกมรุกเป็นอาวุธลับ เมื่อมีโอกาสพวกเขามักยิงประตูได้ 

สิ่งเหล่านี้ ปิแรส ให้สัมภาษณ์หลังจบทัวร์นาเมนต์ว่า มันเกิดจากการซ้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งทุกคนมาเข้าฝักเอาในตอนสถานการณ์จริงพอดี ทุกคนจำหน้าที่ของตัวเองได้ พวกเขาก็แค่ทำเหมือนที่ซ้อม ส่วนเรื่องโชคชะตานั้น ปิแรส ไม่ได้ปฏิเสธ เขาพูดเพียงว่า “มันเกี่ยวแค่เล็กน้อย” เพราะมันมาจากการทำงานหนักอย่างมีแบบแผนมาตลอด 5 ปีก่อนหน้านี้ 

ในฟุตบอลโลกรอบนั้น มีเพียง เดนมาร์ก และ โครเอเชีย เท่านั้นที่เจาะประตูของฝรั่งเศสได้ ส่วนเกมรุกพวกเขามีนักเตะที่ยิงประตูในทัวร์นาเมนต์นี้ได้ถึง 9 คน โดยมีเพียง อองรี คนเดียวที่ยิงได้ 3 ประตู ที่เหลือเป็นหน้าที่ของคนอื่น ๆ แม้กระทั่งกองหลังอย่าง ตูราม, ลิซาราซู และ บลองก์ ยังมีประตูจากการสอดเข้าไปยิงในกรอบเขตโทษเลยด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีทีมเวิร์กที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง

เรื่องราวที่ ฌาคเกต์ เปิดเผยภายหลัง คือทีมชุดนั้นเป็นทีมที่เขาแทบไม่ต้องสอนอะไรในช่วงพักครึ่งเลย เขาปล่อยให้กลุ่มผู้นำอย่าง เดส์ชองส์ และ บลองก์ จัดการได้ ยกเว้นเกมเดียวกับ โครเอเชีย ในรอบ 4 ทีมสุดท้ายที่เขาต้องแทรกแทรงเพราะนักเตะในทีมสติเริ่มหลุด ขาดสมาธิ จนเกิดเป็นความประมาท โดยเฉพาะ ตูราม ที่เป็นคนพลาดทำให้ทีมเสียประตูนั้นเกิดอาการเสียขวัญ ซึ่งการแทรกแซงนั้นเขาไม่ได้บอกว่าเขากระตุ้นอย่างไร แต่ใบ้เพียงว่าเขาใช้คำที่ดุดันและรุนแรงมาก ๆ เพราะนั่นคือก้าวสุดท้ายก่อนถึงนัดชิงแชมป์โลกแล้ว

โครเอเชียเป็นทีมที่ดีมากจริง ๆ มีจิตใจแข็งแกร่ง มุ่งมั่น เทคนิคดี ร่างกายยอดเยี่ยม พวกเขาเล่นงานเราจนเราเป็นทีมที่แย่มากในครึ่งแรก ผมเลยต้องออกโรง ผมจวกพวกเขาไปชุดใหญ่ และหลังจากกลับมาลงสนามเราก็ได้ประตู จังหวะนั้นผมหันไปหาผู้ช่วยของผมแล้วบอกว่า ‘สงสัยจะจัดหนักไปหน่อย’ แต่มันไม่สำคัญอะไรหรอก คำพูดทำให้คุณสั่นคลอนได้ก็ทำให้คุณตื่นได้เหมือนกัน ช่วงครึ่งหลังฝรั่งเศสตื่นขึ้นและกลายเป็นทีมที่มหัศจรรย์อีกครั้ง” ฌาคเกต์ กล่าว

ความมั่นใจและแผนการที่เตรียมพร้อมสำหรับการรับมือทุกสถานการณ์คือปัจจัยหลักของทีมชุดนี้อย่างแท้จริง แม้กระทั่งในนัดชิงชนะเลิศกับเต็ง 1 อย่าง บราซิล ฝรั่งเศสที่เป็นรองเรื่องเทคนิคก็เอาชนะด้วยวิธีการ พวกเขาได้ 2 ประตูจากลูกเซ็ตพีช และอีก 1 ลูกจากการสวนกลับที่ตัวรับอย่าง เปอตีต์ หลุดเดี่ยวเข้าไปยิง ฝรั่งเศสชุดนั้นเป็นชุดที่จะถูกประกบแมนมาร์กไม่ได้เลย เพราะพวกเขามีวิธีการเข้าทำที่หลากหลายและรวดเร็วที่แค่ไม่กี่จังหวะก็เปลี่ยนเป็นประตูได้ 

“พวกเราไม่กลัวใครแม้กระทั่งบราซิล เราเดินทางไปยัง สตาด เดอ ฟรองซ์ (สังเวียนนัดชิง) ด้วยความมั่นใจ แม้ผมจะได้ยินข่าวว่า โรนัลโด้ มีอาการป่วยและอาจจะไม่ได้ลงเล่น แต่ผมเรียนตามตรงว่าต่อให้เขาจะลงหรือไม่ก็ไม่ต่างกัน เรามีแผนของเราที่ซ้อมมาเพื่อเกมแบบนี้โดยเฉพาะ เรารู้สึกพร้อม เข้มแข็ง และกล้าหาญมากพอที่จะเจอกับอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้น” ปิแรส กล่าว

ฌาคเกต์เองก็พูดถึงการเดินลงสนามนัดชิงว่าทีมของเขาปลุกใจกันให้ช่วยกันวิ่งช่วยกันไล่ ห้ามใจลอยหรือสติหลุดเหมือนกับเกมที่พบกับโครเอเชียเด็ดขาด และนักเตะก็ตอบสนองเขา ฝรั่งเศสจับตายตัวรุกของบราซิล ปลิดชีพด้วยลูกตั้งเตะ และปิดเกมด้วยเกมรับในแบบที่เล่นด้วยกันทั้ง 11 คน

“เรารู้ดีถึงวิธีการเล่น หลายสิ่งที่เราเตรียมไว้ถูกจัดวางอย่างเรียบง่าย เราพยายามทำให้พวกเขาอยู่ไกลประตูของเราที่สุด พวกเขาสร้างความยากลำบากให้เราได้ แต่เราก็รอดมาได้เพราะการมีอยู่ของกันและกัน ทุกคนจะต้องช่วยกันเล่นเกมรับ และนั่นนำมาสู่ชัยชนะที่แข็งแกร่ง คุณต้องเล่นให้ได้ตามมาตรฐานของคำว่าเพอร์เฟ็กต์หากคิดจะคว่ำทีมอย่างบราซิล” ฌาคเกต์ กล่าวทิ้งทาย

การเปลี่ยนแปลงภายในเวลา 5 ปี หากให้สรุปความคือ ฌาคเกต์ ทำลายอีโก้ของทีมชุดปี 1993 ออกจนสิ้น เขาเลือกนักเตะที่ถูกต้องและตอบโจทย์กับแทคติกบอลทัวร์นาเมนต์ สร้างนักเตะให้อยู่กับสมาธิ มีความมั่นใจในการเล่น และท้ายที่สุดฝรั่งเศสก็คว้าแชมป์โลกสมัยแรกที่รอคอย ก่อนจะต่อยอดไปถึงยูโร 2000 อย่างยิ่งใหญ่โดย โรเช เลอแมร์

นี่คือเรื่องราวของยอดคนผู้ยืนรับเสียงวิจารณ์ตลอด 5 ปี เพื่อผลลัพธ์ที่หอมหวานที่สุด ที่ทำให้เขาและลูกทีมทุกคนในชุดนั้นคือตำนานอย่างแท้จริง